ชานนท์

ทุกคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า หน้าที่ของลำโพงซับวูฟเฟอร์มีไว้ “เสริมย่านเสียงความถี่ต่ำลึก” ซึ่งเป็นย่านเสียงที่มีความสำคัญ แต่ลำโพงส่วนใหญ่ไม่สามารถให้ได้สมบูรณ์เต็มที่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่หลายคนสงสัย คือ ซับวูฟเฟอร์ก็มีตั้งหลายรุ่น ดูแตกต่างทั้งรูปลักษณ์ไปจนถึงสเปก แล้วจะเลือกอย่างไรให้เหมาะกับซิสเต็มของเรา วันนี้มีแนวทางมาให้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ อ้างอิงกันด้วยลำโพงซับวูฟเฟอร์ 3 รุ่น 3 สไตล์ จาก KEF ครับ

ลำโพงซับวูฟเฟอร์จาก KEF ทั้ง 3 รุ่น ที่จะนำเสนอต่อไปนี้ มีรูปลักษณ์แตกต่างกันอย่างชัดเจน ถึงแม้ทำหน้าที่เดียวกันคือ ใช้เสริมย่านเสียงความถี่ต่ำ แต่ก็มีคุณสมบัติเด่นที่เอื้อกับซิสเต็มลำโพงและการติดตั้งใช้งานภายในห้องที่แตกต่างกัน ซึ่งจะส่งผลไปถึงคุณภาพเสียงที่อาจจะแตกต่างกันด้วย

KEF: T2 Uniquely Slim Subwoofer

ลำโพงซับวูฟเฟอร์สไตล์แบนบาง ติดตั้งวูฟเฟอร์ใหญ่ถึง 10 นิ้ว แต่ตู้ลำโพงบางเพียง 17.7 ซม. เท่านั้น (ในขณะที่ลำโพงซับฯ 10 นิ้ว ทั่วไป ตู้หนากว่านี้เกิน 2 เท่า) ถามว่า “บาง” แล้วได้อะไร? บางกว่าก็ดูกะทัดรัด หาที่วางเหมาะๆ ได้ง่ายกว่า ซึ่งประเด็นนี้ หากเป็นการใช้งานในห้องฟังเพลง/โฮมเธียเตอร์ ที่ให้ความสำคัญกับตำแหน่งตั้งวางลำโพงแต่แรก คงไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล แต่ถ้าใช้งานในห้องเอนกประสงค์ตามบ้าน (เช่น ห้องรับแขก, ห้องนั่งเล่น, ห้องนอน) จะวางอย่างไรให้ดูลงตัวไม่เกะกะขวางทางเป็นเรื่องสำคัญ (บางทีแม้เราไม่แคร์ แต่คนอื่นในบ้านอาจไม่คิดอย่างนั้น) ซึ่งลักษณะบางๆ ของ T2 ย่อมตอบโจทย์ได้ดีกว่า

อันที่จริงเป้าหมายของรูปลักษณ์ T2 ที่เห็น มาจากการออกแบบให้ดูกลมกลืนกับ KEF T Series Speakers ซึ่งเป็นลำโพง Satellite สไตล์แบนบาง นำไปติดตั้งจัดวางคู่กับทีวีจอบางตามสมัยนิยมดูสวยลงตัวสุดๆ และไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ที่เข้ากัน แต่เสียงก็ออกแบบมาให้มีความต่อเนื่องกลมกลืนกันเป็นอย่างดีด้วย

วูฟเฟอร์ของ T2 ใหญ่ถึง 10 นิ้ว ทว่าให้ความกระชับฉับไวกลมกลืนต่อเนื่องเข้ากับวูฟเฟอร์เล็กขนาด 4.5 นิ้ว ของลำโพงแบนบาง T Series Satellite Speakers ได้เป็นอย่างดี ฟังแล้วต้องทึ่งว่าเป็นเสียงเบสจากลำโพง Satellite แบนบาง แต่เสียงใหญ่เหมือนลำโพงตั้งพื้น เพราะ T2 ช่วยเพิ่มน้ำหนักเสียงเบส เสริมแรงปะทะที่หนักหน่วงได้โดดเด่น แต่เน้นย้ำว่าต้องผ่านขั้นตอนการปรับจูนเสียงของลำโพงซับวูฟเฟอร์ให้กลมกลืนเข้ากับลำโพงในระบบเสียก่อนนะครับ

ทั้งนี้ศักยภาพของ T2 ไม่ได้เจาะจงว่าต้องใช้งานกับ KEF T Series Satellite Speakers เท่านั้น เพราะสามารถใช้งานกับลำโพงอะไรก็ได้ ด้วยจุดเด่นคือ ความสามารถเติมเต็มย่านเสียงครอบคลุมตั้งแต่เบสลึกขึ้นไปจนถึงย่านกลางต่ำ (ราวๆ 250Hz) ส่งผลให้นำไปใช้งานร่วมกับลำโพงได้หลากหลายกว้างขวาง ตั้งแต่ Satellite ขนาดเล็กจิ๋ว ย่านเบสจำกัดมาก ไปจนถึงลำโพงวางขาตั้งและลำโพงตั้งพื้น ซึ่ง T2 ยังคงถ่ายทอดย่านเสียงที่มีความต่อเนื่องฉับไวและกลมกลืนเข้ากับลำโพงทั้งหลายเหล่านั้นได้ดีมาก

สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนนำ T2 มาใช้งาน เนื่องจาก T2 ออกแบบให้รับสัญญาณทางช่อง Low-level Input แบบ Mono/LFE RCA เป็นหลัก และไม่มีวงจรตัดแบ่งความถี่แบบปรับค่า (Variable Low-pass Crossover) รวมถึงวงจรปรับชดเชยระดับเสียง (Volume/Gain Control) ในตัว จึงเหมาะกับการใช้งานร่วมกับ “ระบบโฮมเธียเตอร์” ที่มีฟีเจอร์ Bass Management ในการปรับจูนเสียง T2 ให้กลมกลืนเข้ากับลำโพงอื่นๆ ในระบบ

กรณีที่จะนำ T2 ไปใช้งานกับซิสเต็มฟังเพลง (เชื่อมต่อสัญญาณกับ Pre/Integrated Amplifier หรือ Active Speakers) สามารถทำได้  แต่ต้องมั่นใจว่า อุปกรณ์เหล่านั้นมีช่อง SUB Out  พร้อมกำหนดจุดตัดความถี่ (Low-pass Crossover) และชดเชยระดับเสียง (Volume/Gain Control) ในส่วนของลำโพงซับวูฟเฟอร์ด้วย

ตัวอย่าง Hi-Fi Stereo Active Speakers ที่สามารถเชื่อมต่อกับ T2 (รวมถึงลำโพงซับวูฟเฟอร์รุ่นอื่นๆ) เช่น KEF LSX, LS50 Wireless, LS60 คุณสมบัติลำโพงคือ มีช่อง SUB Out พร้อมกำหนดจุดตัดความถี่ และชดเชยระดับเสียงของซับวูฟเฟอร์ โดยตั้งค่าผ่านแอพ KEF Control

สรุป KEF: T2 Subwoofer เหมาะกับใคร?

T2 มีศักยภาพเติมเต็มย่านเสียงเบสต่อเนื่องไปถึงย่านกลางต่ำ จึงใช้งานร่วมกับลำโพงได้หลากหลาย สามารถเซ็ตอัพให้เสียงกลมกลืนร่วมกับลำโพงไซส์เล็กจิ๋วไปจนถึงลำโพงตั้งพื้น และด้วยตู้ลำโพงที่บางกว่าลำโพงซับวูฟเฟอร์ทั่วไปจึงใช้พื้นที่น้อยกว่า จัดวางในห้องทั่วไปได้สะดวก วางแนบผนังแล้วยิ่งดูลงตัวไม่เกะกะ

สามารถอ่านรายละเอียดรีวิวการใช้งาน T2 Subwoofer ร่วมกับชุดลำโพง KEF T Series Slim Satellite Speakers เพิ่มเติมได้ที่ลิงค์นี้ครับ (https://www.audiophile-videophile.com/videophile-review/kef-t205/)

KEF: Kube 12b Outstanding Level of Depth and Dynamics Subwoofer

ซับวูฟเฟอร์ 12 นิ้ว ที่มีขนาดตู้ลำโพงใกล้เคียงมาตรฐานซับวูฟเฟอร์ทั่วไปในท้องตลาด แต่แตกต่างที่ดีไซน์ “ทรงลูกบาศก์” ดูเก๋ไก๋ทันสมัย มีการลบขอบมุมตู้ให้โค้งมน พร้อมหุ้มผ้ารอบด้านอ้อมไปถึงด้านหลัง และปิดผิวด้านบนด้วยวัสดุสีดำเงาวับสะท้อนเหมือนกระจก พร้อมโลโก้ KEF สีขาวตัดกับเท็กซ์เจอร์ผิวด้านของผ้าสีดำ ยิ่งขับเน้นให้โดดเด่น

Kube 12b รับสัญญาณได้ทั้ง Low-level Input แบบ Stereo/LFE RCA และ High-level Input (Speaker-level) ใช้คู่กับอะแดปเตอร์ในการเข้าสายลำโพง (มีแถมมาในกล่อง) พร้อมปรับจูนในส่วนของ Variable Low-pass Crossover, Gain/Volume Control และ Phase 0°/180° เพิ่มความยืนหยุ่นให้ใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ในชุดดูหนังหรือฟังเพลงได้หลากหลาย

ไฟ LED บอกสถานะ (RED = Standby, Green = On) ของ Kube 12b ติดตั้งอยู่ที่แผงควบคุมด้านหลัง จึงอาจสังเกตได้ยากจากตำแหน่งนั่งฟัง แต่มีข้อดีตรงที่แสงไฟไม่แยงตา เมื่อใช้งานในห้องมืด

สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนนำ Kube 12b มาใช้งาน แม้ไม่ใช่ซับวูฟเฟอร์ 12 นิ้ว ที่ตู้ลำโพงใหญ่โตเทอะทะ แต่เมื่อเทียบกับอีก 2 รุ่น ก็ชัดเจนว่า Kube 12b ต้องการเนื้อที่ตั้งวางมากกว่า ขนาดจึงอาจเป็นอุปสรรคสำหรับใครที่มีห้องเนื้อที่ตั้งวางจำกัดมากๆ เพราะนอกจากห้องเล็กแล้วอาจมีเฟอร์นิเจอร์-สิ่งของอื่นๆ จัดวางอยู่แน่น และไม่อยากเคลื่อนย้าย การจะหาที่วางซับวูฟเฟอร์ไซส์นี้ก็อาจกลายเป็นปัญหาได้ แต่เรื่องนี้คงไม่เป็นประเด็นสำหรับห้องฟังเพลงหรือห้องโฮมเธียเตอร์

ด้วยพื้นฐาน Kube 12b ที่ติดตั้งวูฟเฟอร์ 12 นิ้ว และขนาดตู้ลำโพงที่ใหญ่กว่าอีก 2 รุ่น นับเป็นข้อดี เพราะเอื้อต่อการเติมเต็ม “มวลเสียงเบสย่านลึก” ได้หนาแน่นเต็มที่ ทั้งนี้ด้วยระดับเสียงสูงสุดที่เปิดอัดได้ดังกว่า (114dB Max SPL) จึงเหมาะกับสภาวะที่ต้องเปิดดังเป็นพิเศษ อย่างเช่น การใช้งานร่วมกับซิสเต็มโฮมเธียเตอร์ขนาดใหญ่ หรือห้องฟังเพลงกับลำโพงไซส์ใหญ่

ด้านการแม็ตชิ่ง Kube 12b เหมาะกับการเติมเต็มเสียงย่านความถี่ต่ำลึกให้กับลำโพงวางขาตั้งที่มีขนาดวูฟเฟอร์ตั้งแต่ 5 นิ้วขึ้นไป  (หรือ 4 นิ้ว บางรุ่น) แต่จะลงตัวกับลำโพงตั้งพื้นได้ง่ายเป็นพิเศษ ความกระชับฉับไวทำได้ใกล้เคียงไม่ย่อหย่อนกว่า T2 (เมื่อผ่านการไฟน์จูนเสียงได้กลมกลืน) ทว่าให้เสียงเบสลึกเต็มที่กว่า อย่างไรก็ดี Kube 12b ดูจะไม่เหมาะกับการใช้งานร่วมกับลำโพง Satellite หรือลำโพงขนาดเล็กที่การถ่ายทอดย่านเสียงต่ำจำกัดมาก (กรณีนี้ T2 หรือ KC62 ให้ความลงตัวดีกว่า)

สรุป KEF: Kube 12b Subwoofer เหมาะกับใคร?

ด้วยศักยภาพของ Kube 12b ที่ให้เบสลงได้ลึก ขณะเดียวกับก็รองรับใช้งานในระดับเสียงที่ดังเป็นพิเศษ อย่างการใช้งานร่วมกับโฮมเธียเตอร์ชุดใหญ่ หรือลำโพงไฮไฟแบบตั้งพื้นในห้องที่ค่อนข้างใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นใช้งานร่วมกับลำโพงวางขาตั้งขนาดกลางๆ ในห้องขนาดทั่วไปได้อย่างกลมกลืน ขอเพียงมีพื้นที่ตั้งวางเหมาะๆ และจัดการไฟน์จูนเสียงให้ลงตัวได้

KEF: KC62 Small Subwoofer, Biggest Sound

KC62 ไม่ใช่ซับวูฟเฟอร์ที่ให้เสียงเบสได้ลึกที่สุด หากเทียบกับตัวเลือกซับวูฟเฟอร์ทั้งมวลที่มีในท้องตลาด แต่มันคือ “ซับวูฟเฟอร์ขนาดเล็ก” (ย้ำว่าขนาดเล็ก!) ที่ให้คุณภาพเบส (ไม่ใช่แค่ลงลึก) ได้ดีมากที่สุดรุ่นหนึ่ง ด้วยตู้ลำโพงขึ้นรูปจากอะลูมิเนียมทั้งชิ้น มิติพอๆ  กับลูกฟุตบอล ทว่าศักยภาพหลายๆ ด้าน สามารถท้าชนซับฯ ขนาดใหญ่กว่า 2 – 3 เท่า ได้สบาย

คำกล่าวอ้างข้างต้นคงไม่เกินเลย หากพิจารณาเทคนิคการออกแบบของ KEF เพื่อให้ได้มาซึ่งศักยภาพที่แทบจะเป็นไปไม่ได้จากข้อจำกัดของซับวูฟเฟอร์ขนาดเล็กในอดีต ไม่ว่าจะเป็นวูฟเฟอร์คู่ขนาบข้างแบบ Uni-Core Force Cancelling เสริมด้วยขอบเซอร์ราวด์แบบ P-Flex และภาคขยาย Class-D กำลังขับสูงถึง 1000W (2 x 500W RMS)

ความยืดหยุ่นในการเชื่อมต่อสัญญาณของ KC62 ก็โดดเด่นเช่นกัน นอกจาก Low-level Input แบบ Stereo/LFE RCA แล้ว ยังรับสัญญาณทาง High-level Input (Speaker-level) ได้ด้วย โดยใช้คู่กับอะแดปเตอร์ในการเข้าสายลำโพง (มีแถมมาในกล่อง) พร้อมปรับจูนในส่วนของ Variable Low-pass Crossover, Gain/Volume Control และ Phase 0°/180° อีกทั้งยังมี Line Output (Stereo RCA) ที่สามารถกำหนดตั้งค่า High-pass Filter ได้ จึงเพิ่มทางเลือกใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ในชุดดูหนังหรือฟังเพลงได้ยืนหยุ่นหลากหลาย

ไฟสถานะ Standby แสงสีส้ม และจะเปลี่ยนเป็นแสงขาว เมื่อซับวูฟเฟอร์เปิดทำงาน โดยตำแหน่งจัดวางที่หน้าตู้ลำโพงมองเห็นง่าย ทั้งนี้ไฟสถานะขณะใช้งานซับวูฟเฟอร์จะติดสว่างพักหนึ่ง แล้วดับลงอัตโนมัติ จึงไม่มีแสงแยงตาเมื่ออยู่ในห้องมืด

สรุป KEF: KC62 Subwoofer เหมาะกับใคร?

ซับวูฟเฟอร์ขนาดเล็กที่ศักยภาพเทียบเท่าซับฯ ใหญ่ อาทิ การถ่ายทอดเบสลึกทำได้ไม่ย่อหย่อนกว่า Kube 12b (เมื่อเปิดเสียงในระดับที่ใช้งานในห้องตามบ้านทั่วไป ไม่ได้เปิดอัดดังแบบสุดลิ่มทิ่มประตู) แต่ที่เหนือกว่า คือ เสียงเบสที่สะอาด กระชับฉับไว ให้รายละเอียดอิมแพ็คต์ของเสียงที่คมชัดกว่า ขณะเดียวกันก็ให้ความยืดหยุ่นของช่องต่อได้ครอบคลุม ประสิทธิภาพก็รองรับการใช้งานร่วมกับลำโพงขนาดเล็กตั้งแต่ Satellite ลำโพงวางขาตั้ง ไปจนถึงลำโพงตั้งพื้นขนาดกลางได้เป็นอย่างดี สามารถปรับจูนให้เสียงมีความกลมกลืนได้ง่าย ที่สำคัญ.. ไม่ต้องกังวลเรื่องของขนาดตู้ลำโพง ความที่เล็กกะทัดรัดจึงหาที่วางได้ง่าย ตั้งตรงไหนก็ดูลงตัวไม่เกะกะ

ทว่าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ย่อมแลกมาด้วยค่าตัวที่สูงเป็นเท่าตัว KC62 จัดเป็นตัวเลือกซับวูฟเฟอร์เล็ก แต่ศักยภาพโดดเด่นลำดับต้นๆ  ที่ควรต้องนำมาพิจารณา หากว่างบประมาณถึงครับ

ใครที่สนใจ KC62 Subwoofer สามารถอ่านรายละเอียดรีวิวการใช้งานเพิ่มเติมได้ ที่ลิงค์นี้ครับ (https://www.audiophile-videophile.com/videophile-review/kef-kc62-active-subwoofer/)

คุณสมบัติเสริมพิเศษ จาก KEF Subwoofer

Wireless Connection

การเชื่อมต่อสัญญาณซับวูฟเซอร์ด้วย RCA Cable (Low-level) หรือ Speaker Cable (High-level) ให้เสถียรภาพได้ดีที่สุดก็จริง แต่บางคนอาจไม่สะดวกที่จะใช้ บางทีสายยาวๆ ก็ดูพะรุงพะรัง เก็บซ่อนยาก ทางออกนี้จึงเป็นที่มาของ “KW1 Wireless Subwoofer Kit” อุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้ซับวูฟเฟอร์ของ KEF เชื่อมต่อแบบไร้สายได้

กรณีที่ต้องการใช้งาน รุ่น Kube 12b และ KC62 จะรองรับ KW1 ได้ครับ

Room Position EQ

KEF Subwoofer ทั้ง 3 รุ่น มาพร้อม EQ สำเร็จรูปที่ใช้ชดเชยย่านเสียง ลดทอนผลกระทบจากตำแหน่งตั้งวาง โดย T2 และ Kube 12b ให้มา 3 Presets ส่วน KC62 ให้มา 5 Presets นับเป็นทางเลือกเพื่อช่วยให้เสียงของลำโพงซับวูฟเฟอร์ลงตัวได้ในหลากหลายสถานการณ์มากยิ่งขึ้น

ทิ้งท้ายไว้สักนิด ซับวูฟเฟอร์เสียงจะดี ศักยภาพของลำโพงเองนั้นสำคัญก็จริง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ เสียงที่มีความกลมกลืนเข้ากันกับระบบที่ใช้งาน ข้อมูลการเลือกซื้อนี้เป็นเพียงคำแนะนำประกอบการตัดสินใจเบื้องต้น ทั้งนี้ลำโพงซับวูฟเฟอร์นับเป็นอุปกรณ์ที่อ่อนไหวกับปัจจัยแวดล้อมค่อนข้างมาก ทั้งสภาพห้อง (Room Mode) ไปจนถึงกระบวนการเซ็ตอัพ จึงควรให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ก่อนการใช้งานกันด้วยนะครับ. VDP

ราคา KEF T2
เมื่อซื้อ T Series ทั้งเซ็ตจากราคา 125,500 บาท เหลือเพียง 79,700 บาท
เมื่อซื้อ T101 (25,900 บาท) ,T301 (35,900 บาท) และ T301C (17,900 บาท) พร้อมกัน
แถม T2 Sub (มูลค่า 31,900 บาท) + T Floor stand (มูลค่า 13,900 บาท)

ราคา KEF KC62
69,900 ลดเหลือ 59,900

ราคา KEF Kube 12b
สามารถสอบถามราคาจากตัวแทนจำหน่าย

ติดต่อสอบถามสั่งซื้อและทดลองเสียงได้ที่ตัวแทนจำหน่ายของ KEF ได้แล้ววันนี้ที่

– The Gadget by Vgadz สาขา Central World ชั้น 4 โซน IT Gadget และสาขาเดอะมอลล์บางกะปิ ชั้น 2 ติดกับร้าน Big Camera
– ร้าน Piyanas ทุกสาขา
– ร้าน HD HiFi
– ร้าน Theater House
– ร้าน Audiomate BKK
– ร้าน LCDTVTHAILAND
– ร้าน Munkong สาขา พารากอน (Here by Munkong) และ สาขาออดิโอคาเฟ่ สเตเดียมวัน
– Mercular Online

และร้านเครื่องเสียงชั้นนำทั่วประเทศ

ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท วีแกดซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
https://www.vgadz.com/kef/
โทร. 02-692-5216
Line OA: @kefthailand