พงศ์ทิพจักร์

พูดถึงโปรเจกเตอร์ SIM2 จำได้ว่า ตอนผมเริ่มเล่นเครื่องเสียงใหม่ๆ ได้แต่มองอ้าปากค้าง เนื่องจากว่าเป็นโปรเจกเตอร์ที่อยู่ไกลเกินฝัน ด้วยราคาที่สูงมาก ใช้กันในกลุ่มผู้เล่นระดับ High End และหาชมภาพจริงยากมาก ได้แต่อ่าน review แล้วนึกภาพตามว่า โปรเจกเตอร์ระดับนี้ ภาพจะออกมาดีขนาดไหน จนเมื่องาน CEDIA EXPO ครั้งล่าสุดสองปีก่อน ได้มีโอกาสสัมผัสกับภาพจากโปรเจกเตอร์รุ่นล่าสุดของ SIM2 คือ Dual Nero 4S ที่ออกแบบให้วาง stack กันสองตัว โดยแต่ละตัวทำงานไม่เหมือนกัน ตัวหนึ่งทำงานในส่วนสว่างมาก ส่วนอีกตัวทำงานในส่วนที่มืดกว่า ทั้งนี้เพื่อให้โปรเจกเตอร์มี Dynamic และความสว่างของภาพสูงสุด จำได้ว่าในวันที่เข้าไปชมมีมือภาพระดับโลกหลายคนเข้าไปนั่งดูพร้อมกัน ผมนั่งอยู่หลัง Joe Kane ที่กำลังนั่งดูอย่างตั้งใจ ภาพที่ผมเห็นจากโปรเจกเตอร์ SIM2 ในงาน CEDIA วันนั้นสะดุดตามากทั้งความสว่าง สีสันของภาพที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

เมื่อวันนี้มีโอกาสได้ทดสอบโปรเจกเตอร์ของ SIM2 ก็ทำให้ได้รู้จักและเข้าใจโปรเจกเตอร์ระดับ High End จากอิตาลีตัวนี้มากขึ้น ใครสนใจและอยากรู้จักโปรเจกเตอร์ตัวนี้ให้มากขึ้น ติดตามอ่านกันได้เลยครับ

Unbox

แกะกล่องเครื่องออกมา สิ่งแรกที่สัมผัสได้ก็คือ ตัวเครื่องหนักกว่าที่คิดไว้ เห็นตัวเครื่องจากรูปภาพก็คิดว่าน้ำหนักคงไม่หนักมาก แต่พอยกออกมาจากกล่องรู้สึกเลยว่าไม่เบา น้ำหนักแจ้งไว้อยู่ที่ 14.5 กก. ขนาดตัวเครื่อง 50.7 x 39.2 x 18.1 ซม. ใครจะติดตั้งแบบแขวนก็ต้องเตรียมขาแขวนโปรเจกเตอร์ที่รับน้ำหนักได้อย่างน้อย 15 กก. กำลังดี รูปร่างลักษณะภายนอกออกแบบได้สวยงาม ดูเรียบๆ ทรง minimalist แต่แฝงไว้ด้วยความหรูหรา ทันสมัย ดูดีมี design ร่วมกับพื้นผิวตัวถังอย่างหนาเป็นแบบ crystal glass-based ถ้าโปรเจกเตอร์เครื่องนี้วางไว้ในห้องนั่งเล่นหรือห้องทั่วไปภายในบ้าน จะเป็นเฟอร์นิเจอร์สวยๆ อย่างหนึ่งได้เลย ความหนาของตัวถัง นอกจากเพิ่มความแข็งแรงมั่นคงให้กับเครื่องแล้ว ยังช่วยลดการ vibration หรือการสั่นของเครื่องลงได้มาก ทำให้ภาพที่ฉายออกมาไม่มีการสั่นไหว เพิ่มความคมชัดให้ดีขึ้น

อุปกรณ์อื่นที่อยู่ในกล่องก็ตามมาตรฐานทั่วไป ไม่มีอะไรมาก

รีโมตก็ตามมาตรฐานโปรเจกเตอร์ มีปุ่มกดเปิดปิดไฟสีฟ้าเพื่อใช้ในที่มืด ที่แอบชอบคือ ปุ่ม F1 F2 ที่สามารถเปลี่ยน aspect ratio จาก 16:9 ไปเป็น 2.35:1 ได้ง่ายเพียงปุ่มเดียว อย่างห้องผมใช้เป็นจอ widescreen ratio 2.35:1 ถ้าตั้ง zoom ให้ขนาดของภาพ widescreen พอดีกับขนาดของจอภาพ ภาพก็จะออกมาเต็มจอพอดี แต่เมื่อเล่น content ที่เป็น 16:9 ภาพก็ล้นจอด้านบนด้านล่าง ซึ่งเมื่อกดปุ่ม F1 ภาพที่ล้นจอบนล่างก็จะถูกปรับให้อัตราส่วนพอดีกับจอภาพอัตโนมัติ โดยมี black bar ด้านข้าง เนื่องจากจอที่ใช้เป็น widescreen ลักษณะคล้ายการปรับ auto aspect ratio ที่อยู่ใน external video processor เพียงแต่ในเครื่องนี้จะใช้การกดปุ่มเลือกสลับไปมาเองตามความต้องการ ใครใช้จอภาพแบบ widescreen ก็ happy ละครับ ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ

Design

โปรเจกเตอร์ตัวนี้ใช้ Blue laser ร่วมกับ Phosphor technology ในการให้แสงสว่าง ดังนั้น สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือ ความร้อนที่เกิดขึ้น แต่การระบายความร้อนของเครื่องนี้ทำได้ดีมาก มีการออกแบบครีบด้านข้างที่สวยงามและมีประโยชน์ในการกระจายความร้อนได้อย่างดี ทำให้เครื่องโปรเจกเตอร์แบบเลเซอร์ตัวนี้มีความเงียบมากที่สุดตัวหนึ่งที่อยู่ในตลาดเลยทีเดียว ผมลองดูในสเปกไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่ามีความดังเท่าไหร่ แต่การลองใช้จริงในห้องที่วางตัวเครื่องห่างจากตำแหน่งนั่งดูไม่กี่ฟุต ผมแทบไม่ได้ยินเสียงเครื่องเลย หรือแม้กระทั่งเปิด Bright mode เร่งความสว่างของเครื่องเต็มที่ เสียงก็ยังเบาอยู่ เคยเจอโปรเจกเตอร์บางเครื่อง ใน mode ปกติเสียงก็เงียบดี แต่พอเร่งไปที่ความสว่างสูงสุด เสียงดังมาก ดังแบบที่ว่ารบกวนการดูหนังเลย แต่ตัวนี้ลองดูแล้วเงียบจริง

ด้านหลังของเครื่องออกแบบมาให้เป็นฝาเปิดปิดได้เพื่อซ่อนความไม่เรียบร้อยของช่องต่อสายต่างๆ ที่บางทีรกรุงรังในการใช้งานจริงเนื่องจากต้องมีการต่อสายต่างๆ เต็มไปหมด โดยฝานี้ออกแบบให้เป็นแผ่น crystal glass อย่างหนา มีบานพับเปิดปิดเพื่อความสะดวกเพิ่มความสวยงาม

เปิดฝาด้านหลังออกมาจะพบกับช่องต่อต่างๆ ที่ให้มา มีช่องต่อสายไฟแบบสามขา, ช่องต่อ LAN สำหรับการเชื่อมต่อเครื่องแบบ Crestron, Extron, PJLink, AMX, HTTP, Telnet นอกจากนั้นสามารถควบคุมเครื่องผ่านทางช่อง RS232-C, ช่อง HDMI ให้มาสองช่อง ช่องแรกเป็น HDMI 1.4 อีกช่องเป็น HDMI 2.0 รองรับภาพ 3840×2160 @60Hz น่าเสียดายที่ยังไม่มีช่องต่อ HDMI 2.1 เนื่องจากว่าเป็นโปรเจกเตอร์ที่เน้นในเรื่องของการดูหนังเป็นหลัก HDMI 2.1 ก็อาจจะยังไม่ได้ใช้ประโยชน์มากนักในปัจจุบัน อย่าง Input Lag ผมวัดได้ที่ 89ms ซึ่งถ้าจะเอาไปเล่นเกมส์ก็แค่พอไหว ทำให้เห็นได้ว่าเครื่องออกแบบมาเน้นการดูหนังจริงๆ ส่วนช่องต่ออื่นๆ ก็มีช่อง VGA, ช่อง USB ที่มีแต่ไฟอย่างเดียวเพื่อต่อกับสาย HDMI ที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้า, ช่องต่อ Optical เพื่อส่งสัญญาณเสียงออกจากโปรเจกเตอร์ และมีช่อง USB อีกช่องเพื่อใช้ในการควบคุมและ firmware update ส่วนด้านข้างทั้งสองข้างมีปุ่มเปิดปิด และควบคุมเครื่องเหมือนบนรีโมต

เลนส์ที่ใช้ในเครื่องโปรเจกเตอร์ใช้เป็นเลนส์แก้วคุณภาพสูงที่มี dispersion ต่ำมาก ตัวเลนส์ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้กับชิพกำเนิดภาพ DMD โดยเฉพาะ เพื่อให้ภาพที่ออกมามีความคลาดเคลื่อนสีน้อย ความสว่างสูง มีความคมชัด และ contrast ที่ยอดเยี่ยมตลอดเหมือนกันทั่วทั้งภาพ ตัวเลนส์มีอัตราส่วน zoom อยู่ที่ 1.6X อย่างในห้องผมใช้จอ ratio 2.35 ขนาด 150 นิ้ว วางตัวเครื่องโปรเจกเตอร์ห่างจากจอห้าเมตรครึ่งก็สามารถฉายภาพเต็มจอได้สบาย เสียแต่ว่าการปรับ zoom, shift, focus ภาพ ใช้แบบ manual ทั้งหมด ทำให้ไม่ค่อยสะดวก แต่ก็พอเข้าใจได้ เนื่องจากโปรเจกเตอร์ตัวนี้ถูกจัดวางอยู่ในระดับ midrange ของ SIM2 จึงมีการตัดฟีเจอร์บางอย่างออกไป เพื่อให้สามารถใช้อุปกรณ์กำเนิดภาพและเลนส์เหมือนกับรุ่นสูงของ SIM2 ภาพที่ออกมาจากโปรเจกเตอร์ตัวนี้จึงใกล้เคียงกับภาพจากโปรเจกเตอร์รุ่นเรือธง แต่ในราคาที่ลดลงมามาก โดยโปรเจกเตอร์ SIM2 Crystal 4SH ตัวนี้ ราคาตั้งอยู่ที่ 599,000 บาท ส่วนรุ่นใหญ่กว่านี้ที่อยู่ในสายการผลิตของ SIM2 ก็มีรุ่น Nero 4S ราคา 1,260,000 บาท, Nero 4S Gold ราคา 1,600,000 บาท และสูงสุด Dual Neo 4S Gold ที่ใช้โปรเจกเตอร์สองตัว stack กัน ราคา 2,300,000 บาท

Technology

SIM2 Crystal 4SH ใช้เทคโนโลยีการกำเนิดภาพแบบ DLP โดย Texas Instruments เช่นเดียวกับรุ่นใหญ่และรุ่นเรือธงของ SIM2 ส่วนแหล่งกำเนิดแสงเป็นแบบ laser-phosphor ใช้ลำแสง blue laser ยิงผ่าน phosphor wheel ที่มีส่วนใส ส่วนสีเหลือง และส่วนสีเขียว โดยส่วนใสให้แสงสีน้ำเงินผ่าน ส่วน yellow phosphor ให้กำเนิดแสงสีเหลืองและสีแดง, green phosphor ให้แสงสีเขียวเพิ่มเติมจากแบบทั่วไปที่ไม่มีส่วน green phosphor เพื่อเพิ่ม dynamic และความเข้มสีของเครื่องโปรเจกเตอร์ หลังจากนั้นลำแสงจะส่งต่อไปยัง color filter wheel ที่แบ่งเป็นสี่ส่วน ได้แก่… สีแดง เขียว น้ำเงิน และ เหลือง (RGBY) ทั้งนี้ไม่มีส่วนสีขาวเพื่อให้ dynamic ของสีต่างๆ มีค่าสูงสุด หลังจากนั้นแสงก็จะเข้าไปยังชิพ DMD (Digital Micromirror Device) ที่เป็นกระจกสะท้อนแสงเล็กๆ สะท้อนแสงผ่านเลนส์ไปรวมกันบนจอกำเนิดเป็นภาพต่างๆ

ชิพ DMD ที่ใช้เป็นชิพตัวใหญ่ 0.66” UHD DMD สามารถแสดงรายละเอียดได้ 3840×2160 pixels โดยมีกระจกอยู่ที่ตัวชิพ 2716×1528 หรือประมาณสี่ล้านบาน และเมื่อมีการใช้การขยับและหมุนกระจกไปมากกว่าแสนครั้งต่อวินาทีทำให้กระจกหนึ่งบานแสดงภาพ 2 pixels (กระจกของชิพ DMD หนึ่งอัน สามารถหมุนให้เกิดการแสดงภาพได้สูงสุด 4 pixels) ทำให้ภาพที่แสดงออกบนจอครบแปดล้านสามแสนเต็ม ส่วนชิพตัวเล็กที่ใช้ใน home projector จะมีขนาด 0.47” มีจำนวนกระจกอยู่ที่ 1920×1080 และขนาด 0.33” มีกระจกอยู่จำนวน 1366×768 ตัว ส่วนมากใช้กับโปรเจกเตอร์ในระดับราคาที่ไม่สูงมากนัก สำหรับข้อดีของการใช้ชิพ DMD ตัวใหญ่นั้น นอกจากจะให้ความคมชัดของภาพมากกว่าตัวเล็ก อีกอย่างหนึ่งของข้อดีก็คือ ให้ความสว่างของภาพ และ Dynamic ของสีได้ดีกว่า โดยโปรเจกเตอร์ระดับ High End ที่ใช้ชิพ DMD ส่วนมากใช้ชิพตัวใหญ่นี้ และการใช้การกำเนิดภาพแบบชิพตัวเดียวก็ยังไม่เกิดปัญหาการเหลื่อมกันของชิพ เช่น ถ้าไม่ได้มีการเช็คการตรงกันของชิพอย่างสม่ำเสมอก็จะทำให้เกิดการไม่ตรงกันของชิพสีต่างๆ ส่งผลถึงความชัดของภาพตามมาได้

Set Up

ผมได้นำเครื่องวางไว้บนชั้นวางที่อยู่ด้านหลังตำแหน่งนั่ง ห่างจากจอภาพประมาณ 5 เมตร จอภาพที่ใช้ในการทดสอบเป็นจอ Stewart FireHawk G5 เกนภาพ 1.1 อัตราส่วนภาพ 2.35:1 ที่ 150 นิ้ว เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมา สิ่งแรกที่รู้สึกคือ ภาพสว่างมาก สว่างจนต้องเอา meter มาวัดเลย เมื่อวัดดูพบว่า Bright mode สามารถทำความสว่างที่อัตราส่วนภาพ 16:9 ขนาด 120 นิ้วได้ถึง 31fL และถ้าลองขยายให้เป็นจอ 16:9 ที่ 160 นิ้ว วัดได้ 23fL ซึ่งก็ใกล้เคียงตาม factory spec ที่ให้มาว่า โปรเจกเตอร์ตัวนี้ปล่อยความสว่างออกมาได้สูงสุด 3,600 Lumens ซึ่งนับว่าเป็นโปรเจกเตอร์ที่ให้ความสว่างสูงมาก เมื่อเทียบกับโปรเจกเตอร์ในระดับเดียวกันที่ส่วนมากความสว่างอยู่ในระดับสองพันกว่า Lumens

โดยทาง SIM2 ได้บอกว่าที่โปรเจกเตอร์ให้ความสว่างได้สูงมากขนาดนี้ เนื่องจากว่าทางบริษัทมี R&D ในการใช้เทคโนโลยี DLP ร่วมกับแหล่งกำเนิดแสงต่างๆ มากว่า 20ปี ร่วมกับมีการศึกษาพัฒนาในเรื่องของภาพ HDR มามากกว่า 17 ปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทแรกๆ ที่ทำการพัฒนาในเรื่องของ HDR นี้ ดังนั้น SIM2จึงให้ความสำคัญกับเรื่องของความสว่างมาก เพราะความสว่างเป็นหัวใจสำคัญของภาพ HDR รวมทั้งในปัจจุบันผู้บริโภคได้หันมาเล่นจอภาพที่มีขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น จึงต้องการความสว่างของโปรเจกเตอร์สูงขึ้น โดยถ้าเป็นโปรเจกเตอร์ SIM2 รุ่นที่ใหญ่กว่านี้ก็จะมีความสว่างมากขึ้น อย่างเช่นรุ่น Nero 4S Gold ทำความสว่างได้ 6,000 Ansi Lumens ส่วนรุ่น Dual Nero 4S นั้นสามารถทำความสว่างขึ้นไปได้ถึง 10,000 Ansi Lumens กันเลยทีเดียว

ทำการเปิดเบิร์นภาพห้าสิบชั่วโมงกว่าๆ จึงเริ่มทำ Fully Calibration โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดแสงจะใช้ Spectrophotometer JETI รุ่น spectraval 1511 เป็นหลัก ส่วน Colorimeter Klein K-10A ใช้ในการทำprofile จาก JETI 1511 แค่ส่วนการวัดที่มีแสงน้อยและการทำ 3D LUT เท่านั้น

ที่ต้องใช้ JETI spectraval1511 ในการปรับภาพ เนื่องจากว่า Spectrophotometer ตัวนี้สามารถวัดความละเอียดของสี (Optical bandwidth) ได้ 4.5nm (ถ้าเป็น 1511 รุ่น Hi-Res version วัดได้ละเอียดถึง 2nm) ในขณะที่ colorimeter ทั่วไปที่ใช้จะวัดได้ละเอียด 10nm การที่ต้องใช้ meter ละเอียดในการวัดเนื่องจากภาพที่เกิดจากแหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์จะมีแบนด์วิดธ์แคบมาก ดังภาพแสดง Spectral Power Distribution ของเครื่องโปรเจกเตอร์ SIM2 Crystal 4SH ที่จะมีความเข้มของพลังงานสีน้ำเงินที่แคบและสูงมาก ถ้าใช้ meter ไม่ละเอียดพอ ทำให้การวัดสีน้ำเงินไม่ตรง ส่งผลถึงการวัดสีต่างๆ ของภาพคลาดเคลื่อนตามไปด้วย เนื่องจากสีน้ำเงินเป็นแม่สีที่เอาไปผสมกับสีอื่นๆ การวัดภาพจากโปรเจกเตอร์หรือทีวีแบบเลเซอร์ จึงแนะนำให้ใช้ meter ที่มีความละเอียด Optical bandwidth ระดับน้อยกว่า 5nm

สำหรับ Display Mode ของ SIM2 Crystal 4SH มีหลาย presets ให้เลือกใช้ ได้แก่ Natural, Dynamic, Bright, Cinema, Sport, HDR, HLG, BrightHDR, BrightHLG และ User โดยภาพ HD/SDR ที่ลองวัดดูพบว่า preset Natural เหมาะสมที่จะใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการปรับมากที่สุด รายละเอียค่าต่างๆ ในการปรับจะอยู่ใน diagram แล้ว โดยส่วนที่ต้องปรับเยอะหน่อยจะเป็นสีน้ำเงินที่ให้ความเข้มและความสว่างเยอะไป ต้องมีการปรับลดลง ซึ่งเมื่อปรับภาพเสร็จแล้วค่า deltaE เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 ถือว่าอยู่ในมาตรฐานที่ดี สำหรับภาพ UHD/HDR เครื่องโปรเจกเตอร์จะรองรับระบบ HDR10 และ HLG (Hybrid Log Gamma) โดยเมื่อมีสัญญาณ HDR เหล่านี้เข้ามาเครื่องจะเปลี่ยนให้เลือกได้เฉพาะ preset HDR/HLG หรือ BrightHDR/BrightHLG อัตโนมัติ ซึ่งการปรับภาพ UHD/HDR แนะนำว่าไม่ควรจะปรับเยอะเกินไปเนื่องจากค่าที่ตั้งมาจะเหมาะสมกับ Tone mapping ที่อยู่ในเครื่องอยู่แล้ว โดยค่า preset HDR จะมีค่าใกล้เคียงมาตรฐานมากกว่า BrightHDR แต่ความสว่างจะไม่เท่า และเท่าที่ลองดูภาพ BrightHDR นั้นถือว่าภาพไม่ได้หลุดมาตรฐานมาก แต่ได้ความสว่างของภาพมาอีกพอสมควรเลยทีเดียว ผมเคยเจอโปรเจกเตอร์หลายเครื่องที่เมื่อปรับภาพไปที่ mode Bright ของภาพแล้ว ภาพสว่างขึ้นก็จริงแต่สีสันของภาพไม่ดี จนในที่สุดต้องเลือกไปใช้ mode HDR ที่มืดๆ แทน แต่ SIM2 Crystal 4SH ไม่เป็นแบบนี้ ภาพใน mode BrightHDR นั้นทำได้ดีเลย ใครที่ใช้จอใหญ่ได้ความสว่างของภาพมาอีกโดยที่ภาพยังคงความสวยงามอยู่

และสำหรับภาพ UHD/HDR นั้น HDR engine ของเครื่องยังมีลูกเล่นในการปรับอีกหลายอย่างเพื่อให้ภาพออกมาได้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแต่ละห้องที่ต่างกัน เด่นๆ ก็จะมี HDR Settings ที่สามารถเลือกได้ว่าจะใช้ค่า EOTF ตามข้อมูลความสว่างที่ใส่ลงมาใน content หรือจะเลือกปรับเป็น HDR1-HDR4 ตามขนาดของจอภาพ ต่อมาก็จะเป็น Auto Adaptive Contrast จะเป็นการปรับความสว่าง contrast แบบDynamic เท่าที่ดูก็คือ Dynamic Tone Mapping ของโปรเจกเตอร์ SIM2 เพียงแต่ใช้ชื่อต่างไป และอีกfunction ที่เวิร์กมากก็คือ Super Hybrid Mode สามารถเลือกได้ทั้ง off, Standard, Enhanced, Deep Black จะเป็นการปรับ contrast ของภาพว่าต้องการให้ภาพนั้นออกมาดำขนาดไหน ผมแนะนำให้ปรับไว้ที่ Standard หรือ Enhanced ก็เพียงพอ แต่ถ้าหนังไม่ได้มีฉากมืดมากเกินไปก็สามารถเลือก Deep Black ได้ ทำให้ภาพ contrast ดีขึ้นไปอีก แต่ถ้าหนังที่ฉากมืดเยอะๆ การปรับไว้ที่ Deep Black จะทำให้บางฉากดูมืดเกินไป ถ้ามีการเลือกใช้ทั้ง Auto Adaptive Contrast พร้อมกับ Super Hybrid Mode ก็จะทำให้การควบคุมในเรื่อง contrast ของภาพทำได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะจะสามารถควบคุมถึงการ dim ความสว่างของแสงเลเซอร์ด้วย ทำให้การไล่ความสว่าง ความมืด contrast ของภาพออกมามีความละเอียดถูกต้องเหมาะสมสูงสุดในเฟรมภาพแต่ละเฟรมกันเลย

Advanced Image Processing จะเป็นการปรับในเรื่องของ Enhanced Detail, Enhanced Colors และMotion Compensation ซึ่งเท่าที่ลองใช้ดูก็พบว่าปรับแล้วเห็นผลต่างของภาพได้ชัดเจน ทั้ง Enhanced Detail ที่ทำให้รายละเอียดภาพมีเพิ่มมากขึ้นโดยไม่มี artifact ของภาพตามมาเหมือนการปรับ sharpness แนะนำปรับไว้ที่1, Enhanced Color สีของภาพก็จะดูเข้มขึ้นตามความต้องการ ปรับไว้ที่ 1 – 2 กำลังสวย ส่วน Motion Compensation จะทำให้ภาพดูลื่น smooth มากขึ้นตามค่าที่ปรับ โดยสามารถเลือกได้ว่าจะoff, 1, 2 หรือ 3 โดยผมเลือกไว้ที่ off หรือ 1

การทำ 3D LUT โดยใช้ External Video Processor ก็สามารถทำได้เช่นกัน ถ้าใครต้องการความถูกต้องของสีแบบใกล้เคียงมาตรฐานที่สุด และเท่าที่ผมลองทำผ่านตัว MadVR และ Lumagen ก็พบว่าในเรื่องความแม่นยำของสีดีขึ้น แต่สำหรับในเรื่องของ dynamic tone mapping นั้นไม่ค่อยเห็นผลชัดเจนเท่าไหร่ เนื่องจากว่า tone mapping processing ในเครื่องโปรเจกเตอร์ SIM2 นั้นทำได้ดีมากอยู่แล้ว

นอกจากนั้นโปรเจกเตอร์ของ SIM2 ยังมาพร้อมกับโปรแกรมปรับภาพอัตโนมัติของตัวเองที่ชื่อ LCC (Live Color Calibration) โปรแกรมที่ผมได้รับมาเป็น version 5.6 ใช้งานโดยการต่อเครื่องโปรเจกเตอร์เข้ากับ PC ผ่านทางวง LAN หรือสามารถต่อตรงผ่านช่อง RS232 แล้วเชื่อมต่อ Colorimeter ไปที่คอมพิวเตอร์ หลังจากนั้น PC ก็สามารถควบคุม ปรับค่า ตั้งค่าต่างๆ ของโปรเจกเตอร์ได้ และเมื่อ calibration เสร็จแล้วก็ทำการ save ไว้ในไฟล์นามสกุล lcc ข้อมูลก็จะเข้าไปเก็บไว้ที่เมนู Color Gamut ชื่อ LCC-DCI เพื่อเลือกใช้หรือเพื่อเปรียบเทียบกับ Color Gamut อื่นที่มีอยู่ในเครื่องแล้ว

Show Time

มาถึงการดูภาพจริงๆ หลังจาก Calibration สิ่งแรกที่อยากดูคือเรื่องของ HDR processing ของเครื่องว่าทำได้ดีขนาดไหน Blu-ray ที่ใช้ทดสอบก็คือ Mad Max: Fury Road เป็นหนังที่ใส่ความสว่างมาถึงเกือบๆ 10,000nits

ฉากที่ผมชอบใช้ทดสอบก็คือฉากเปลวไฟ ฉากการระเบิดต่างๆ ซึ่งถ้า HDR processing ของเครื่องทำได้ไม่ดี ฉากเหล่านี้จะดูแปลกตาไม่สมจริง สีเปลวไฟสีฉากระเบิดก็จะดูเป็นการ์ตูน การไล่สีของแสงไฟก็จะเป็นสีแดงเยอะ ส่วนของสีเหลืองไล่ไปจนถึงเหลืองอ่อนและขาวในส่วนที่ nit สูงๆ ก็จะไม่มี หรือบางทีบางฉากสีขาวที่ nit สูง การ clipping ก็เยอะเกินไป แต่ SIM2 เครื่องนี้ทำส่วนตรงนี้ได้ดีมาก ดู smooth ผ่านไปแบบสบาย ไม่มีการขัดตาแต่อย่างไร สมแล้วที่ศึกษาและพัฒนาภาพ HDR มาอย่างยาวนาน

หรืออย่างในฉากนี้บริเวณขอบกระจกจะเป็น Specular Highlight ที่ใส่ความสว่างของ sub-pixels มาถึงเก้าพันกว่า nits ภาพจริงที่เห็นบนจอนั้นพบว่าบริเวณนี้มีความสว่างมากๆ การ clipping และการไล่สีรอบๆไม่ทำให้ภาพออกมาดูเพี้ยน ดูแล้วชอบเลย โปรเจกเตอร์ความสว่างสูงๆมันได้เปรียบแบบนี้นี่เอง

ลองกับภาพยนตร์ใหม่ Spider-Man: No Way Home (2021) เริ่มฉากแรกมานี่ Wow เลย! ทั้งสีสันสวยใส ความละเอียดของภาพที่เป็น Signature ของ DLP technology อยู่แล้ว รวมถึงฉากการเคลื่อนไหวที่ Spider-Man โหนข้ามตึกต่างๆ นั้นทำได้อย่างยอดเยี่ยม มีความ smooth ต่อเนื่อง แต่ยังคงให้รายละเอียดขณะเคลื่อนที่ได้ดี ต้องบอกไว้ว่าโดยพื้นฐานแล้ว DLP เทคโนโลยีจะมีจุดเด่นเรื่องภาพเคลื่อนไหวเนื่องจากกระจกในการกำเนิดภาพนั้นมีการหมุนเป็นแสนๆ ครั้งต่อวินาที ดังนั้นการเคลื่อนไหวหรือ movement ของภาพ จะมีความต่อเนื่อง ไม่มีอาการค้างของภาพหรือรีเฟรชภาพช้า นอกจากนี้ SIM2 เครื่องนี้ยังมีเมนูเพิ่มความ smooth ของภาพเคลื่อนไหว Motion Compensation อีกสามระดับให้เลือกเพิ่มเติมด้วยว่า ต้องการให้ภาพมีความ smooth ระดับไหนอีกด้วย

ภาพในฉากมืดให้รายละเอียดของสีที่ดี ดูเป็นธรรมชาติ
ด้วยความสว่างของโปรเจกเตอร์ทำให้ฉากที่มีความแตกต่างของแสงมากมีความน่าตื่นตาตื่นใจ ดูหนังสนุกมากขึ้นเยอะเลย

พอพูดถึง DLP Technology บางคนก็จะคิดในใจว่า ความดำของภาพไม่ดีแน่นอน แต่สำหรับ SIM2 Crystal 4SH ตัวนี้นั้น ผมบอกได้เลยว่า เป็นโปรเจกเตอร์ DLP อีกตัวหนึ่งที่ให้ความดำของภาพที่ยอดเยี่ยมสวยงาม คือไม่ได้มีความดำแบบมืดๆ อย่างเดียว แต่เป็นความดำที่ไล่ระดับสีในความมืดได้เนียน สมจริง ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุดตัวหนึ่งเลย

ขอมาลองกับหนังเก่า Shooter (2007) ที่เอามาทำใหม่เป็น UHD/HDR ดูบ้าง เรื่องนี้เป็นหนังที่สมัยก่อนชอบเอามาทดสอบภาพ HD/SDR กันมาก คราวนี้ขอมาลองกับโปรเจกเตอร์ SIM2 Crystal 4SH ดูบ้าง พอหลังจากดูเสร็จอยากบอกว่ารายละเอียดและสีของ Sniper rifles มันติดตามากครับ

สำหรับใครที่ใช้จอภาพใหญ่ๆ หรือไม่สามารถควบคุมแสงสว่างในห้องได้เต็มที่ การใช้ Display Mode แบบ BrightHDR สามารถช่วยได้มาก ภาพที่ออกมายังให้สีสันแทบไม่ต่างกับ HDR mode แต่อาจจะต้องระวังในส่วนของ noise นิดหนึ่ง ในบางฉากที่มืดมากๆ ซึ่งต้องเปิดการใช้งานเมนู Noise Reduction เพิ่มเติมโดยสามารถเลือกปรับได้สี่ระดับคือ off, 1 , 2 , 3

จากภาพยนตร์เรื่อง House of Gucci (2021) เลนส์คุณภาพสูงร่วมกับ DLP Technology ทำให้เห็นถึงรายละเอียดและความคมชัดที่เยี่ยมมาก
ภาพและสีสันของโปรเจกเตอร์ SIM2 น่าจะถูกใจ Francis Ford Coppola ผู้กำกับ 5 รางวัลออสการ์มาก เพราะพี่แกใช้ทั้งที่ Studios และทั้งที่บ้านของแกเลย

หลังจากได้ทดสอบโปรเจกเตอร์ SIM2 Crystal 4SH มาร่วมเดือน ต้องบอกว่าโปรเจกเตอร์ตัวนี้เป็นโปรเจกเตอร์ที่ให้ภาพทั้ง HD/SDR และ UHD/HDR ได้ยอดเยี่ยม HDR processing ที่อยู่ในเครื่องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ภาพ HDR ออกมามีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ สวยงาม การใช้ DLP Technology ในการกำเนิดภาพร่วมกับเลนส์คุณภาพสูงทำให้ภาพมีความคมชัด contrast รายละเอียดดี มีความสว่างของภาพสูงมากเมื่อเทียบกับโปรเจกเตอร์ในระดับเดียวกัน สีสันสวยงามเที่ยงตรง รวมถึงการเคลื่อนไหวของภาพก็ทำได้อย่างสมูธ ดูเป็นธรรมชาติ ตัวเครื่องมีการออกแบบรูปทรงและพื้นผิวอย่างประณีตสวยงามประหนึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีระดับชิ้นหนึ่งในบ้าน ใครที่รักการดูหนังต้องการเครื่องโปรเจกเตอร์สมรรถนะสูง ให้ภาพที่ออกมาสวยงามมีศิลปะสไตล์อิตาลี ผมขอแนะนำโปรเจกเตอร์ตัวนี้เลย ต้องขอขอบคุณทางบริษัท Living Sound ที่ได้ส่งโปรเจกเตอร์ตัวนี้มาให้ทดสอบด้วยครับ. VDP

ราคา 599,000 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่าย Livingsound
โทร. 089-517-2222