ชานนท์

ต้อนรับการกลับมาของ “ตำนาน” ผู้ผลิตที่มุ่งเน้นพัฒนาลำโพงซับวูฟเฟอร์เพียงอย่างเดียวมาเกือบ 40 ปี ด้วยลำโพงซับวูฟเฟอร์สุดคุ้มรุ่นล่าสุดจาก Velodyne !

Velodyne ห่างหายไปจากบ้านเราอยู่พักหนึ่ง หลายคนคงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ผมจึงขอย้อนประวัติความเป็นมาให้อ่านกันก่อน…

Velodyne Acoustics ก่อตั้งในปี 1983ที่ Silicon Valley เมืองต้นกำเนิดนวัตกรรมระดับโลก โดย “Mr. David Hall” ซึ่งเวลานั้นควบตำแหน่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและหัวหน้าวิศวกรไปพร้อมกัน หากจะพูดว่าเป็นบริษัทแรกที่บุกเบิกเน้นพัฒนาและผลิตลำโพงซับวูฟเฟอร์อย่างจริงจังก็คงไม่ผิดนัก

ด้วยพื้นฐานที่เป็นนักประดิษฐ์ที่เก่งมากคนหนึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องยากที่ David จะนำพาบริษัทให้เติบโต จนมีสิทธิบัตรเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีการออกแบบลำโพงซับวูฟเฟอร์ล้ำ ๆ ถึง 197 ชิ้น! หลายท่านน่าจะเคยผ่านตาเทคโนโลยีเหล่านั้นมาแล้ว ทั้งที่เคยวางจำหน่ายในอดีตจนถึงรุ่นปัจจุบันมากมาย ซึ่งหลายแนวคิดที่บุกเบิกโดย Velodyne ถูกนำมาต่อยอดโดยผู้ผลิตซับวูฟเฟอร์แบรนด์อื่นก็มีให้เห็นไม่น้อย

ในปี 2004 ด้วยความที่เป็นวิศกรและนักประดิษฐ์มากความสามารถ David เริ่มเข้าไปมีบทบาทในแวดวง “ยานยนต์ไร้คนขับ” (Autonomous Car) ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงมากมาย จนกลายเป็นที่มาของ Lidar (Light detection and ranging)

โดยพื้นฐาน Lidar เป็นระบบเซ็นเซอร์ที่ใช้แสง (3D Laser scanning) ตรวจจับพื้นผิวและวัตถุโดยรอบเพื่ออ้างอิงระยะห่าง เพื่อประเมินเส้นทาง ใช้เป็นข้อมูลในการเดินรถ ฯลฯ ล่าสุดได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นหนึ่งเทคโนโลยีสำคัญที่มีบทบาทต่อการสำรวจอวกาศ เป้าหมายของ David ซึ่งเป็นทั้งวิศวกรและผู้บริหารมองการไกล ย่อมอยากให้มวลมนุษยชาติก้าวข้ามขีดจำกัดด้านการสำรวจเพื่อให้เกิดการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต จึงโฟกัสไปที่ Velodyne Lidar และได้แยกแผนกออกมาบริหารอย่างจริงจังในปี 2016

Velodyne Acoustics ยังคงดำเนินงานต่อไปโดยอิสระ ทว่า เวลาในการดูแลของ David ช่วงหลังอาจน้อยลง ไม่ใกล้ชิดเหมือนก่อน ปี 2019 เขาจึงตัดสินใจขายแบรนด์ Velodyne Acoustics (Subwoofer) ให้กับทาง “Audio Reference” ผู้จัดจำหน่ายสินค้าเครื่องเสียงเก่าแก่รายใหญ่จากประเทศเยอรมนีไปดูแล ซึ่งถ้าทราบถึงศักยภาพของบริษัท รวมถึงความสัมพันธ์ที่เป็นทั้งคู่ค้าและกัลยาณมิตรที่ดีมายาวนานตลอด 20 ปี จะไม่แปลกใจกับการตัดสินใจครั้งนี้

เมื่อกระบวนการส่งผ่านธุรกิจ ไปจนถึงส่งมอบ Know-how และสิทธิบัตรต่าง ๆ เสร็จสิ้น ทาง Mr. Mansour Mamaghani หัวเรือใหญ่ของ Audio Reference ทำการสานต่อทันที โดยจัดตั้งทีมออกแบบ พัฒนา ดูแลจัดการผลิต ทำการตลาด และระบบจัดจำหน่าย Velodyne Subwoofer ขึ้นใหม่ เท่ากับว่ากระบวนการทุกอย่างต่อจากนี้ จะเริ่มต้นใหม่โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเยอรมนี และในห้วงแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ Velodyne ห่างหายไปจากประเทศไทย

แต่ก็เป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ปัจจุบันสำหรับประเทศไทย ผู้นำเข้าและดูแลการจัดจำหน่ายของ Velodyne คือ “Inventive AV” หรือที่เรารู้จักคุ้นเคยว่า “IAV” นั่นเองครับ

Impact X Highly efficient and precise

กลับมาที่พระเอกของเรา คือ ลำโพงซับวูฟเฟอร์รุ่นล่าสุดของ Velodyne หากอ้างอิงช่วงที่ทำการทดสอบ  “Impact X” คือ ซีรี่ส์ที่เน้นความคุ้มค่า แน่นอนว่าราคาสบายกระเป๋าที่สุดเมื่อเทียบกับซีรี่ส์อื่น ลักษณะเป็นซับวูฟเฟอร์ตู้เปิด ท่อ Bass-reflex ยิงลงล่าง มี 2 ขนาด อิงตามตัวขับเสียง คือ 10 นิ้ว และ 12 นิ้ว จัดวางแบบยิงหน้า พร้อมภาคขยาย Class D กำลังขับ 250 วัตต์ (10 นิ้ว, 500W Dynamic) และ 300 วัตต์ (12 นิ้ว, 600W Dynamic)

หากเทียบกับเจนเนอเรชั่นก่อน (Impact MKII) พบว่า Impact X ได้รับการปรับปรุงพัฒนาหลายจุด

ตัวขับเสียงดีไซน์ใหม่หมด ด้วยการผสมผสานวัสดุไดอะแฟรม 2 ชนิด แทนที่ Reinforced Coated Paper ล้วน ที่ใช้ในเจนเนอเรชั่นก่อน โดยใจกลางเปลี่ยนวัสดุเป็น “Cotton Polyester Composite” ส่วนรอบนอกยังคงใช้ Reinforced Coated Paperไว้ ผลลัพธ์คือน้ำหนักกรวยวูฟเฟอร์เบาลง ขยับตัวได้ฉับไวขึ้น แต่ยังคงความแกร่งไว้เช่นเดิม

ด้านในยังใช้ Dual Ferrite Magnet และเสริมด้วย Voice-coil ทองแดงความบริสุทธิ์สูงขนาด 2 นิ้ว ซ้อนกันถึง 4 เลเยอร์ด้วยกัน เพื่อเพิ่มแรงผลักดันตอบสนองต่อสัญญาณเบสที่ทั้งลึกและหนักหน่วงได้ดียิ่งขึ้น

ด้วยความที่ถูกออกแบบให้มีช่วงชักยาว (High Excursion) ขอบเซอร์ราวด์ต้องมีความทนทานพร้อม ๆ กับให้ความหยุ่นตัวอย่างพอเหมาะ วัสดุอย่าง “Nitrile Rubber” จึงถูกนำใช้งาน พร้อมกับโครงสร้างที่ตอบรับกับการขยับเคลื่อนตัวของตัวขับเสียงได้มากเป็นพิเศษ หากวัดความหนาของขอบเซอร์ราวด์ก็เกือบ ๆ 2 ซม. และมีระยะชักอยู่ที่ 2.8 ซม. สำหรับรุ่น Impact X12

นอกจากนี้ยังใช้ภาคขยาย Class D และภาคจ่ายไฟแบบสวิตชิ่งประสิทธิภาพสูง ให้กำลังขับแบบ Dynamic Power สูงถึง 600 วัตต์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก MOSFET 18V จำนวนถึง 4 ชุด ในส่วนของภาคขยาย และ MOSFET 650V จำนวน 2 ชุด สำหรับภาคจ่ายไฟ จนได้กำลังสำรองที่สามารถจ่ายกระแสได้สูงถึง 34 แอมป์! สามารถควบคุมผลักดันและหยุดการขยับของตัวขับเสียงได้เป็นอย่างดี

มิติตัวตู้ หากมองด้านหน้าจะดูไม่ใหญ่ แต่ถ้ามองด้านข้างหรือด้านบนจะพบว่ารุ่นนี้ออกไปทางลึก ตัวตู้ประกอบขึ้นจาก MDF ที่มีความหนาถึง 20 มม. มีการลบมุมเพื่อความสวยงาม ปิดผิวโดยรอบด้วยไวนิลที่มีเท็กซ์เจอร์เล็ก ๆ สีออกด้าน

ในส่วนของหน้ากากผ้ามีความหนาประมาณ 15 มม. การยึดติดกับแผงหน้าลำโพงทำโดยใช้หมุดพลาสติกสอดเข้ากับเบ้ายางทั้ง 4 จุด

ท่อเปิด Bass-reflex ขนาดใหญ่ที่ส่วนล่างของตัวตู้ จูนเสียงเบสให้ลงได้ลึกยิ่งขึ้น พร้อมขายางที่ยกตัวลำโพงให้มีระยะห่างจากพื้นพอเหมาะ พร้อมกับเพิ่มความมั่นคง ป้องกันการเลื่อนไถล

การรับสัญญาณอินพุตที่ด้านหลังของรุ่นนี้ให้มาทั้ง “Stereo High-level” (Speaker-level In) เป็นขั้วลำโพงแบบสปริงหนีบ และ “Stereo Low-level” (Line-level In) แบบ Unbalanced RCA (มี Output ให้ด้วย) การใช้งานต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นนะครับ

สวิตช์ควบคุม มี Power On/Auto และ Phase 0°/180° ส่วนการปรับระดับเสียง (Volume) และจุดตัดความถี่ (Crossover 50 – 200 Hz) เป็นแบบหมุน ซึ่งจะหมุนได้รอบเพราะเป็นแบบดิจิทัลอิงร่วมกับการปรับผ่านรีโมตไร้สายครับ

รีโมตคอนโทรลไร้สาย แม้ขนาดดูเล็ก แต่ฟังก์ชั่นนับว่าครบ สามารถสั่ง On/Standby, ปรับระดับเสียง (Volume), จุดตัดความถี่ (Crossover 50 – 200 Hz), สลับ Phase 0°/180° ไปจนถึงปรับระดับความสว่างจอแสดงสถานะหที่แผงหน้าตู้ลำโพง และเลือก Preset Mode ที่ทำหน้าที่เหมือน EQ สำเร็จรูป ได้ 4 + 1 แบบ จากระยะไกลไม่จำเป็นต้องเดินไปปรับที่แผงด้านหลังตู้ลำโพง

แน่นอนว่าพอมีรีโมตก็ต้องมีจอสำหรับอ้างอิงสถานะเพื่อใช้งานควบคู่กันที่ตู้ลำโพงซับวูฟเฟอร์ โดยรุ่นนี้จะอยู่ที่ส่วนล่าง สามารถแสดงตัวเลขสำหรับอ้างอิงระดับเสียง 0 – 9 และ Preset Mode (1 – 4 + ไม่แสดงตัวเลข) ได้ แต่น่าเสียดายที่จอสถานะนี้ไม่สามารถบอกค่าจุดตัดความถี่ จึงต้องใช้วิธีอ้างอิงจากจำนวนครั้งที่กดผ่านรีโมต รวมทั้งหมดคือ 30 steps ทั้งนี้เมื่อปรับ (-) ถึงค่าต่ำสุดที่ 50Hz หรือ (+) ถึงค่าสูงสุด 200Hz จะสังเกตได้จากไฟสถานะจะหยุดกะพริบ

ผลการใช้งาน

การจัดวางตำแหน่งที่มุมห้องจะช่วยเสริมย่านความถี่ต่ำลึกได้มากที่สุด อย่างไรก็ดีกับบางห้องอาจพบว่าย่านความถี่อาจโด่งล้ำขึ้นมาจนเป็นปัญหารบกวนได้ คำแนะนำ (หากทำได้) คือ ทดลองจัดวางในตำแห่งต่าง ๆ ภายในห้องเพื่อสังเกตผลลัพธ์ก่อน ทั้งนี้จุดที่ให้เสียงได้ลงตัวที่สุดอาจไม่ใช่ตำแหน่งเดิมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์รุ่นอื่นก็เป็นได้ เมื่อได้ตำแหน่งเหมาะสมจนได้การตอบสนองของ Impact X12 ที่ลงตัวกับห้องได้ระดับหนึ่งแล้ว ผลคือเบสต้นที่ให้น้ำหนักแรงปะทะได้กระชับ ให้ในขณะที่เบสลึกมีมวลจับต้องได้ ไม่อื้ออึงจนสร้างความคลุมเครือลดทอนความชัดเจนของย่านเสียงอื่น

ย้ำอีกทีว่าการอ้างอิงเสียงในขั้นตอนเซ็ตอัพควรดำเนินการหลังจากเบิร์นอินลำโพงซับวูฟเฟอร์จนเสียงนิ่งดีแล้วครับ

เมื่อเซ็ตอัพจนได้เสียงลงตัว Preset Mode ของรุ่นนี้เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยจูนเสียงให้มีความหลากหลายขึ้นในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งการชดเชยสมดุลย่านเสียงและระดับโวลุ่มที่แตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละโหมดอาจช่วยเติมเต็มอรรถรสเวลารับชมคอนเทนต์หลากหลายแนว อย่างเช่น ภาพยนตร์ เกม ที่ปริมาณเบสบางย่านอาจขับเน้นเพิ่มความสะใจได้ Preset1 หรือ Preset 4 ก็เป็นตัวเลือกที่อาจถูกใจ แต่ขณะเดียวกันในบางสภาพแวดล้อม 2 โหมดข้างต้น อาจจะเป็นตัวขับเน้นให้ปัญหาเบสบวมเด่นชัดขึ้นก็ได้ แนะนำให้ทดลองกันดูครับว่า Preset ไหนที่ให้เสียงลงตัวกับการใช้งานจริง

การทดสอบฟังเพลงและรับชมภาพยนตร์ครั้งนี้ ผมอ้างอิงร่วมกับ Integra DRX-3.4 โดยเชื่อมต่อสัญญาณทาง Low-level (Subwoofer Output) ซึ่งระบบ Dirac Live ของ AV Receiver มีส่วนช่วยย่นเวลาในการปรับเซ็ตเสียงของลำโพงซับวูฟเฟอร์ให้กลมกลืนเข้ากับลำโพงหลักในระบบได้ อย่างน้อยก็ช่วยบาลานซ์ระดับเสียง ดีเลย์ เฟส และอ้างอิงจุดตัดความถี่แม็ตช์กับลำโพงรอบทิศทางที่มีขนาดแตกต่างกันได้ง่ายขึ้น

กับภาพยนตร์ Unbroken (Blu-ray) ระบบเสียง Dolby Atmos/TrueHD แชปเตอร์แรก ฉากเครื่องบินทิ้งระเบิด Impact X12 ให้ปริมาณเบสลึกที่มีมวลหนา น้ำหนักเสียง Shockwave จากแรงระเบิดมีความหนักแน่น เช่นเดียวกับเสียงปืนกลก็ให้แรงปะทะดีสมชื่อ Impact

ลำโพงซับวูฟเฟอร์เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้การเล่นเกมสนุกขึ้น ด้วยการถ่ายทอดเสียงเอฟเฟ็กต์ย่านต่ำลึกที่เต็มอิ่มของ Imapact X12 เสริมบรรยากาศในโลกแฟนตาซีของ Elden Ring ให้ดูอลังการ เพิ่มความหนักหน่วงกดดันเวลาสู้กับบอสจนได้อารมณ์ร่วมที่สมจริงมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่การฟังเพลงเน้นเบสต้นอย่าง Street of Rage 4 – Cinematic Tracks by H-Pi ก็ให้เสียงต่ำที่มีความกระชับ ดุดัน ส่วนตัวผมชอบฟังเพลงร่วมกับ Impact X12 แบบไม่ใช้ Preset (หน้าจอไม่โชว์ตัวเลข) เพราะบาลานซ์ย่านเสียงต่ำได้ง่าย ฟังเพลงเบา ๆ ก็ได้ ไม่รู้สึกว่าเน้นเบสบางย่านให้รู้สึกหนักจนเกินไป แต่ก็ทดลองฟังเทียบกับ Preset อื่น ๆ ดูได้ครับ

ใครที่กำลังมองหาลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่ให้เบสลงได้ลึก แต่ไม่ต้องการตัวตู้ลำโพงที่ใหญ่โตจนเกินไป พร้อม ๆ กับให้แรงปะทะได้ดีสมชื่อ Velodyne Impact X12 คือตัวเลือกที่คุ้มค่า เหมาะสำหรับการนำไปเติมเต็มอรรถรสการรับชมภาพยนตร์ เล่นเกม และฟังเพลงได้เป็นอย่างดีครับ. VDP

References

https://www.velodyneacoustics.com/en/products/impact-x/#impact-x-12
https://stereo-magazine.com/article/audio-reference-buys-velodyne
https://velodynelidar.com/what-is-lidar/

ราคา 38,000 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Inventive AV (IAV)
โทร: 02-238-4078-9