ชุมพล

สายประเภทต่างๆ ที่ใช้ในชุดเครื่องเสียงจะแบ่งออกเป็น.. สายไฟ (AC power cord), สายลำโพง, สายนำสัญญาณอะนาล็อก, สายนำสัญญาณดิจิทัล (USB, Coaxial, Lan, Optic, HDMI) ซึ่งการออกแบบสายเคเบิลในระดับสูง มักจะยึดโยงอยู่กับการถ่ายทอดสัญญาณจากต้นทางไปยังปลายทาง โดยไม่ให้มีการปนเปื้อนหรือบิดเบือนใดๆ และถ้าหากเป็นสายไฟ AC ซึ่งป้อนไฟฟ้าให้กับเครื่องเสียง หลักการคือ นำส่งกระแสไฟฟ้าที่สะอาดที่สุด ณ ความถี่ 50/60 Hz เท่านั้น สำหรับอุปสรรคของการออกแบบสายเคเบิลในปัจจุบัน คือ การจัดการกับค่า L,C,R และยังหาตัวนำชนิด superconductor ที่นำกระแสและสัญญาณได้บริสุทธ์ที่สุดไม่ได้ หรือหาได้ก็มีราคาค่าตัวแพงลิบเกินกว่าที่มนุษย์ปุถุชนทั่วไปจะหาซื้อมาได้

สาย EDL  ใช้ตัวนำชนิดทองแดง OFC และ เงินความหนาแน่นสูง ในบางรุ่น หุ้มทับด้วยฉนวนอย่างดี การจัดวางโครงสร้างไม่ได้สลับซับซ้อนเพื่อไม่ให้กระทบต่อคุณสมบัติทางเฟส และไม่ได้มีฉนวนหลายชั้นเพื่อป้องกันการรบกวนจนไปเพิ่มค่าการเก็บประจุไฟฟ้าแทน สาย EDL ทุกเส้นได้ผ่านกระบวนการ Ultra-Molecule Treatment (UMT) ซึ่งคล้ายๆ กับไครโอเจนิค แต่มีกระบวนการที่สลับซับซ้อนกว่าเพื่อทำให้ตัวนำมีการเรียงโมเลกุลกันเป็นระเบียบเรียบร้อย สามารถนำกระแสได้ราบรื่นและเต็มที่มากที่สุด และที่เป็นเทคโนโลยีพิเศษสุด โดยอยู่ระหว่างการจดทะเบียนสิทธิบัตร คือการนำแม่เหล็กแรงสูงมาใช้ในสายเคเบิลทุกรุ่น ในลักษณะของการผลักและดึง (Push & Pull) เพื่อให้อิเล็กตรอนไหลผ่านตัวนำได้อย่างรวดเร็ว เร็วจนไร้การแทรกซึมจากสัญญาณรบกวนต่างๆ ทั้งนี้แม่เหล็กที่ EDL เลือกมาใช้นั้นได้ผ่านการทดสอบแล้วว่า ไม่เกิดการอิ่มตัวในสภาพการใช้งานปกติ

ในส่วนประกอบอื่นๆ ของสายเคเบิล EDL เช่น หัว/ท้ายปลั๊กไฟฟ้านั้น เลือกใช้ของ ATL ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลั๊กไฟฟ้าระดับแนวหน้าของโลก และอัพเกรด Chamber หรือปลอกของหัวปลั๊กขึ้นมาใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโดยนำอะลูมิเนียมเกรดอากาศยานมากลึงขึ้นรูปด้วยเครื่อง CNC และอะโนไดซ์เคลือบสีพิเศษ นับเป็นการจูน Resonance ให้ดีกว่าปลอกปลั๊กไฟฟ้าที่เป็นพลาสติกธรรมดา และในส่วนที่เป็นกระเปาะของสายเป็นที่ติดตั้งแม่เหล็กความแรงสูงถูกซีลด์ป้องกันการรั่วไหลของ Flux แม่เหล็กมาแล้ว มั่นใจได้ว่าไม่เกิดการรบกวนอย่างแน่นอน ผนังของกระเปาะทำด้วยอะลูมิเนียมเกรดเดียวกับที่ใช้กับอากาศยานมีซีลด์ด้านในเป็นทองแดงและวัสดุพิเศษบางอย่าง

จากประสบการณ์การทำงานกับเครื่องอัลตราซาวด์ และ MRI กว่า 30 ปี นำมาสู่การออกแบบสายแม่เหล็กที่ไม่เหมือนใคร สิ่งที่ได้รับจากการใช้สาย EDL คือ ความสะอาดของพื้นเสียง เวทีสงัด เฟสถูกต้อง เวทีเสียงกว้างและลึกอย่างสมดุล พละกำลังและไดนามิกมีมาให้อย่างเหลือเฟือ ขยายแบนด์วิธให้กว้างอย่างที่ควร ได้ยินรายละเอียดต่างๆ ครบถ้วนในทุกระดับความดังที่ฟัง และไม่ว่าฟังดังแค่ไหน คุณจะไม่รู้สึกว่า เกิดการมั่วซั่วตีกลบกันเองจนจับรายละเอียดไม่ได้ สเกลของเสียงถูกต้อง แม่นยำ ลีลาในการนำเสนอเปรียบดั่งการฟังเสียงดนตรีแสดงสด

สายไฟ AC ของ EDL มีให้เลือกใช้ 3 รุ่น คือ Mark IV, Mark V, Mark VI ความแตกต่างของแต่ละรุ่นคือ Mark IV ให้หัวและท้าย IEC ชุบทอง ตัวสายไฟมีหน้าตัด 2.5 sq.mm ตัวนำเป็นทองแดง, รุ่น Mark V ตัวสายมีขนาดหน้าตัด 2.5 sq.mm ตัวนำเป็นทองแดงบริสุทธิ์ single crystal และมีบางส่วนเคลือบเงินด้วย หัวท้าย IEC ชุบเคลือบโรเดียม+ทองคำ, ส่วน Mark VI ใช้ตัวนำชนิดเดียวกับ Mark V แต่มีขนาดหน้าตัด 4 sq.mm และใช้แม่เหล็กที่พลังงานสูงกว่า หัวท้าย IEC เคลือบโรเดียม+ทองคำ

รุ่นที่ผมเลือกมาใช้ทดสอบ คือ Mark V ซึ่งเป็นรุ่นกลาง มีบุคลิกที่เป็นมิตรต่อทุกชุดเครื่องเสียง
ง่ายต่อการแม็ตชิ่ง และสามารถเสียบใช้งานได้กับ source และเพาเวอร์แอมป์ โดยไม่มีอาการผิดปกติทางเสียง หากแต่จะช่วยยกระดับคุณภาพให้กับอุปกรณ์ที่เสียบสายไฟ Mark V ทุกเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น Digital หรือ Analogue ก็ตาม มีข้อแม้เดียวคือ สาย EDL Mark V ที่ทำออกมาส่วนใหญ่ใช้ท้ายปลั๊ก IEC (ช่วงเข้าเครื่อง) ชนิด 15 AMP ถ้าเครื่องของคุณเป็นชนิด 20 AMP จะต้องสั่งพิเศษนะครับ

รูปลักษณ์ของ สายไฟ EDL Mark V

สายไฟยี่ห้อนี้มีรูปทรงสะดุดตาที่กระเปาะทรงเพชร ขนาดเท่าฝ่ามือ 2 กระเปาะ ที่ตีขนาบอยู่กับสายไฟจำนวน 2 กระเปาะ วัสดุทำจากอะลูมิเนียมขุดทั้งก้อน (CNC) ภายในกระเปราะบรรจุด้วยแม่เหล็กนีโอไดเมียมพลังสูงผลิตในยุโรป ด้านนอกอะโนไดซ์สีน้ำเงินสดสวยงาม มีตัวหนังสือ Logo EDL กำกับอยู่ ตัวเส้นสายไฟหุ้มด้วยหนังงูสีดำ หัวปลั๊กและท้ายปลั๊กใช้ Body อะลูมิเนียมอะโนไดซ์สีเดียวกับ Magnetic Chamber เพื่อความสวยงาม และเพิ่มประสิทธิภาพให้เสียงและภาพ สายสามารถดัดตัวได้พอสมควร แต่ต้องเรียนว่าตัวกระเปาะ Magnetic Chamber นั้น มีความหนักพอสมควร จึงไม่เหมาะที่จะเสียบกับเครื่องแล้วปล่อยสายให้ห้อยต่องแต่งอย่างเป็นอิสระ ไม่อย่างนั้นนานๆ เข้า ด้วยน้ำหนักของสายไฟจะดึงรั้งให้ส่วนของปลั๊กเสียบเข้าเครื่องเผยอ จุดสัมผัสไม่เรียบสนิท ซึ่งจะส่งผลต่อเสียงได้ ดังนั้น ในการใช้งาน คุณควรต้องมีตัวรองสายไฟเข้าเครื่องมาช่วย ซึ่งปัจจุบันมีมากมายหลายยี่ห้อ เช่น Furutech NCF หรือ Power Connect

สำหรับท่านที่มีความสงสัย หรือวิตกกังวล ว่าแม่เหล็กที่ติดตั้งมาในสายไฟเส้นนี้จะส่งผลเสียต่ออุปกรณ์เครื่องเสียง ผมขอยืนยันว่า ตลอดเวลาที่ใช้ EDL Ultramag Mark V มาปีเศษ ผมไม่พบปัญหาใดๆ และไม่มีการรั่วไหลของสนามแม่เหล็กออกมา เนื่องจากมันถูกซีลด์ผนึกมาเป็นอย่างดีโดยผู้ผลิต

สายไฟ AC เป็นปราการด่านแรกที่ลำเลียงกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบเครื่องเสียง ยิ่งใช้สายที่มีคุณภาพสูงๆ เท่าไหร่ กระแสไฟฟ้าที่ไหลเข้าระบบก็ยิ่งดีขึ้นเท่านั้น และเนื่องจากมันนำกระแสไฟที่สูงถึง 15 -20 Amp 230 Volt ผลที่จะรู้สึกได้เวลาเปลี่ยนสายไฟ AC ลงไปในชุดเครื่องเสียง จึงรับรู้ได้มากกว่าการเปลี่ยนสายลำโพงหรือสายนำสัญญาณ

สายไฟ AC Ultramag Mark V ถูกออกแบบมาให้ใช้ได้กับอุปกรณ์เครื่องเสียงที่บริโภคกระแสไฟฟ้าน้อยไปหามาก เช่น สตรีมเมอร์, ซีดีเพลเยอร์, โฟโนสเตจ, ปรีแอมป์, อินทิเกรตแอมป์, เพาเวอร์แอมป์  (กำลังขับ ≤ 200 วัตต์) ส่วนพวกเพาเวอร์แอมป์ยักษ์ที่กินไฟฟ้ามากๆ เช่น Class AB 1000 วัตต์ คงต้องขยับไปเล่นรุ่น Ultramag Mark VI ซึ่งเพิ่มขนาดหน้าตัดเป็น 4 sq.mm จึงจะสมน้ำสมเนื้อกัน

ผลการทดสอบ

หลังจากล่วงพ้นระยะเวลาเบิร์นอิน 70 ชั่วโมงแล้ว ผมฟังทดสอบสายไฟ AC EDL Ultramag Mark V ด้วยการเสียบมันเข้าไปที่ปรีแอมป์ Octave HP 700 SE และบางช่วงสลับไปเสียบกับอินทิเกรตแอมป์ CEC 3300 (C-3 RED) ต้นทางเป็น Esoteric P-70 ทำหน้าที่ Transport + DAC 1 ของ Analog Domain เพาเวอร์แอมป์ Acoustic Sound Lab: Hurricane ที่เปลี่ยนหลอด 6550 Quad Match (Mono Block) ส่วนลำโพง Bob Carver Amazing Line Source + Subwoofer M&K ดอก 15 นิ้ว 1 ตู้ สายเคเบิลอื่นๆ ในชุดใช้ของ EDL ทั้งหมด เต้ารับเป็นของ ATL (ปลั๊กตราพระอาทิตย์) รุ่นเคลือบโรเดียม

เพลงที่ใช้ฟังทดสอบ แผ่น Dali Vol. 1 และ 2, Clair Marlo: Let It Go (Brilliance Music), Fiesta: Telarc, Hugh Masekela: Hope, Flamingo: Victor (แผ่นญี่ปุ่น), Poetry of The Sea: JVC (แผ่นญี่ปุ่น), Tutti, (Reference Recordings) ครอบคลุมแนวดนตรีหลากหลายประเภทครับ

ในคาบแรกของการทดสอบพบว่า สายไฟ EDL Ultramag Mark V มิได้เปลี่ยนแปลงดุลน้ำเสียงหรือเปลี่ยนแปลงคาแรคเตอร์ของอุปกรณ์หลัก สิ่งที่รู้สึกขึ้นมาในแวบแรกเลย คือ แบคกราวด์ หรือฉากหลังของเสียงมีความสงัดนิ่ง และไดนามิคสวิงได้กว้างขึ้นราวกับว่าไร้ข้อจำกัด ด้วยคุณสมบัติสองประการนี้ เพียงพอที่จะทำให้ EDL Ultramag Mark V จัดอยู่ในระดับสาย Super Hi-End แล้ว แต่ยังก่อน… สิ่งที่เจ้าของสาย AC ราคาแพง (มาก) ทุกคนต้องถามหานั้นคือ พละกำลัง และแรงปะทะ ผมแถมให้อีกอย่างคือ “แรงส่ง” ที่จะทำให้เสียงหลุดลอยออกจากลำโพงมาเข้าหูของเราอย่างเป็นอิสระ สาย Ultramag Mark V มีคุณสมบัติที่ว่าครบถ้วนบริบูรณ์ ตั้งแต่ต้นที่เสียงสายเส้นนี้เข้าไปในระบบรู้สึกว่าแรงปะทะรุนแรง เบสลงได้ลึก และมีลูกกระเพื่อมตามส่งต่อกันเป็นระลอก ปริมาณและสเกลของเบสไม่ได้เบ่งพองใหญ่ขึ้น แต่กลับตอกย้ำให้รู้สึกถึงความคงอยู่ในทุกๆ ครั้งที่มันอัดออกมา

บุคลิกเสียงโดยรวมของ EDL Ultramag Mark V มีความสะอาดเป็นกลาง ช่วยให้รูปเวทีเสียงแผ่ขยายออกไปทุกๆ ด้าน อาจจะไม่มีความโดดเด่นไป ณ ที่ความถี่เสียงย่านใดย่านหนึ่งเป็นพิเศษ แต่รับรองว่า สายไฟเส้นนี้ทำหน้าที่ของสายไฟ AC ที่ดีได้อย่างสมบูรณ์แบบ เนื้อเสียงเข้มข้นชัดเจนตั้งแต่โน้ตหลักไปจนถึงฮาร์โมนิก ไม่มีตรงไหนอ่อนด้อย หรือบกพร่อง เลยครับ จะฟังเพลงร็อคหรือเพลงร้องหวานๆ ก็ได้อรรถรสครบถ้วนทุกกระบวนอย่างที่ควรเป็น ความที่ EDL Ultramag Mark V ช่วยขยายช่องว่างช่องไฟระหว่างชั้นดนตรีให้กว้างขึ้น ทำให้การจัดวางตำแหน่งของอิมเมจขยับตามเวทีเสียง ฉีกตัวเลยตำแหน่งที่วางลำโพงออกไปอย่างมหัศจรรย์ ก็แค่สายไฟเส้นเดียวทำไมให้อะไรได้เยอะจริง? ระนาบของเสียงมีตื้นลึกสูงต่ำไม่เบียดเสียดทับซ้อน มันขึ้นรูปรับรู้ได้ถึงการคงอยู่อย่างชัดเจนมาก สิ่งที่โชว์ความเหนือชั้นของ EDL Ultramag Mark V อีกประการหนึ่ง คือ Dynamic Contrast  หรือการจำแนกแยกแยะมากกว่าความหนักเบา อ่อนแก่ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสายระดับสูงเท่านั้น คุณสมบัตินี้จะสังเกตุได้ง่ายเวลาที่ฟังเพลงคลาสสิกที่มีการเปลี่ยนแปลงไดนามิกระหว่างเพลงบ่อยๆ เอาง่ายๆ อย่างเพลงอุปรากร Carmen นี่ เสียงสีไวโอลินมีการย้ำหัวโน้ตหนักเบา และมี Vibrate ของสายที่ถูกสีเกือบตลอดเวลา เสียงจากไวโอลินที่ EDL Ultramag Mark V ให้ออกมามีพลัง มีไดนามิคกว้างๆ คอนทราสต์จะแจ้ง เข้าขั้นนำเสนอออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ Timbre ดีงาม เสียงไวโอลินมีออกโอ๊กๆ ไม่ใช่เสียงแหลมเล็กอยู่ในเรนจ์เดียวกันโดยตลอด

อีกประการที่ต้องเขียนถึงคือ Phase + Timing ซึ่งผมพยายามไม่เขียนถึงในสายอื่นใดมาก่อน เนื่องจากมันอธิบายยาก และขืนอธิบายไปก็เข้าใจยากอยู่ดี แต่พอมาทดสอบสาย EDL Ultramag Mark V ผมบอกตัวเองว่า “ต้องเขียน” เพราะสายเส้นนี้มีคุณสมบัติของ Phase และ Timing ที่โดดเด่นมากเหลือเกิน ผมยกตัวอย่างสายที่โดดเด่นเรื่อง Phase เช่น Cardas รุ่นใหญ่หน่อย หรือ รุ่นยอดนิยมในอดีต คือ Golden Reference มันให้มิติเวทีเสียงที่โอ่อ่า สง่างาม กว้างใหญ่มาก แถมจัดวางระนาบตื้นลึกได้อย่างน่าตื่นเต้น แต่หากนึกถึง Timing หรือ สปีดของเสียงแล้ว เราจะพบว่า Cardas ไม่เน้น จะเรื่อยๆ มาเรียงๆ ตรงกันข้ามกับNordost สายที่ยืนหนึ่งเรื่อง Speed หรือ Timing มาตลอด ถึงกับเป็นจุดขายของเขาเลย ซึ่ง Nordost  บอกว่า สายของเขาส่งผ่านสัญญาณได้รวดเร็วฉับพลันทันใจที่สุด คราวนี้ไอ้ที่ว่าความไวนี่มันยังไงกัน.. เพลงจบเร็วกว่าสายอื่นหรือก็ไม่ใช่อีก เพราะเท่าที่เคยทดสอบแบบบ้าคลั่ง ขนาดจับเวลาตั้งแต่เริ่มจนจบเพลงระหว่างสาย Nordost  กับสายยี่ห้ออื่น ผมพบว่า เพลงจบลงในระยะเวลาที่เท่ากัน ความต่างอยู่ตรงจังหวะจะโคน ความสดและแรงปะทะที่มาแบบฉับพลันไม่มียืดยาดอีดอาด คล้ายๆกับ Pitching ของเครื่องเล่นแผ่นเสียง ในเพลงที่จังหวะปานกลางค่อนข้างช้า หาก Pitching ไม่ถูก ฟังแล้วจะรู้สึกอึดอัด เสียงไม่ดีเอาเสียเลย แต่ถ้าอัตราเร่งมันสูงไปก็ฟังแล้วรู้สึกว่าลุกลี้ลุกลนยังไงชอบกล จับสังเกตได้จากเสียงทุ้มหรือเบส ถ้าจังหวะเร็วเกินไปจะรับรู้ได้โดยง่ายว่า ผิดปกติ เพลงที่ฟังออกง่ายๆ คือ Hotel California ของวง The Eagle ชุด Hell Freeze Over (Live) ในการฟังเพลงที่ Timing หรือ Pitching ถูกต้อง เสียงจะดีกว่าไอ้ที่มันผิดชนิดที่ฟังออกง่ายๆ เลยครับ ลองหาประสบการณ์จากเครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือเครื่องเล่นซีดี ที่ปรับ Pitching ได้ คุณจะเข้าใจมันดียิ่งขึ้น

สายของ EDL อาศัยหลักการผลัก (Push ) และ ดึง (Pull) จากแม่เหล็กความแรงเหมาะสมมาจัดการช่วยเร่งอีเล็คตรอนกับการขจัดการรบกวนแทรกซ้อน โดยไม่ต้องใช้ฉนวนหลายชั้นและมีโครงสร้างปกติธรรมดา ไม่ต้องถักไข้วกัน จนเกิดปัญหาเรื่องการเหนี่ยวนำ (Inductance) การสะสม (Capacitance) และความต้านทาน (Resistance) ตัวสุดท้ายนี่ถูกแก้ไขด้วยการใช้ตัวนำที่ดีร่วมกับกระบวนการ Ultra-Molecule Treatment (UMT) ทั้งหมดนี่ทำให้สายไฟ EDL Ultramag Mark V กลายเป็นสายไฟชนิด unconventional ที่ไม่มีใครเหมือน การได้แม่เหล็กมาช่วยอัตราเร่งบวกกับโครงสร้างสายที่ไม่ได้สลับซับซ้อน จึงเหมือนกับเครื่องยนต์ที่มีแรงบิดสูงๆ สามารถออกตัวได้เร็ว ไม่มีอาการเชื่องช้า งุ่มง่าม ที่อาจพบเจอในสายไฟบางเส้นไปได้เลยครับ ตรงกันข้ามสายไฟเส้นนี้จะฟ้องไปถึงว่าต้นทางที่คุณนำมาเปิดฟังนั้น อัดมาผิดสปีดหรือไม่!!! เสียงกลางและเสียงแหลมมีมวลเข้มข้นพอดีๆ โฟกัสชัดเป๊ะ ไม่มีก้าวร้าวเสียดแทงหู แต่กลับไต่ขึ้นไปสุดปลายเสียง พวกเสียงโลหะกระทบกัน หรือเสียงฉาบกลองชุดนี้มีความเหมือนจริง หางเสียงทอดยาวและทิ้งประกายไว้ได้อย่างน่าชื่นชม นอกจากนี้ยังให้ความกังวานรอบๆ ตัวโน้ตชนิดที่เหนือกว่าสายเงินมาตรฐานทั่วไปเสียอีก

สรุป

สายไฟ EDL Ultramag Mark V เป็นสายไฟ AC ที่ดีครบ ไม่ขาดตกบกพร่องสักประการ จุดเด่นคือความสงัด สะอาด ผิวเสียงเกลี้ยงเกลา ในขณะที่ให้พละกำลังแรงปะทะที่หนักหน่วงสะใจ เบสลึกดีมาก ด้วยน้ำหนักตัวของสายที่ค่อนข้างมาก แนะนำให้ใช้ตัวรองสายใต้หัวและท้ายปลั๊กเพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาวครับ นี่เป็นสายไฟที่ผมให้คะแนน 10 เต็ม 10 เส้นแรก ในรอบ 10 ปีมานี้. ADP

สายไฟ EDL รุ่น Ultramag Mark V
ราคา 180,000 บาท

ผลิตและจัดจำหน่าย
Exotech Design Lab
โทร. 098-614-5156
Line : 098-614-5156