วุฒิศักดิ์

นักเขียน : วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์ :

ก่อนอื่น ขอกล่าวสวัสดีปีใหม่กับผู้อ่านทุกท่านอย่างเป็นทางการ สำหรับปี 2018 นี้ ผมจะพยายามให้มากขึ้น เนื่องจากปีที่ผ่านมา ทดสอบเครื่องไม่ได้ตามจำนวนที่ตั้งใจไว้ ในปีนี้ก็เลยเปลี่ยนเป้าหมายนิดหน่อย จากเดิมที่จะทดสอบเครื่องให้ได้อย่างน้อย 12 ชิ้นในรอบปี ปีนี้ขอเปลี่ยนเป็น 12 บทความแทน (เผื่อมีเครื่องไหนที่อยากขยายเป็น 2 ตอน หรือมีบทความที่น่าสนใจรูปแบบอื่นรวมด้วย) ถึงแม้เป้าจะดูง่ายขึ้น แต่รับรอง เนื้อหาสาระยังเข้มข้นเหมือนเช่นเดิม ขอให้ท่านผู้อ่านสบายใจได้

เริ่มชิ้นแรกของปี 2018 ด้วยการทดสอบลำโพง Bowers & Wilkins 703 Series 2 ซึ่งในคราวนี้ ถือเป็นงานยากต้อนรับปี 2018 สำหรับผมทีเดียว เนื่องจากว่าพอจะเริ่มเขียนจริงๆ จังๆ ก็พบว่า มันเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะอธิบายความแตกต่างระหว่าง 703 Series 2 กับ CM9 Series 2 ที่เพิ่งถูกแทนที่ไป ซึ่งเป็นลำโพงที่ผมทดสอบไปในปี 2015 เท่านั้นยังไม่พอ ยังมี 804 D3 ที่ทดสอบไปในปี 2016 เรียกได้ว่าเป็นตัวพี่ที่ใกล้เคียงกับ 703 S2 มากที่สุด ทั้งในเรื่องขนาดตัว และเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดมา!!! คือในเรื่องเสียง มันมีความแตกต่างกันให้รู้สึกได้อย่างชัดเจน แต่การอธิบายด้วยตัวหนังสือ นับว่าเป็นเรื่องยากจริงๆ ที่จะทำให้ท่านเห็นความแตกต่าง โดยที่ไม่เห็นว่าเป็นการเอาหนังซ้ำมาเปลี่ยนปกใหม่ให้โดนท่านผู้อ่านด่าเอา 

เริ่มต้นด้วยที่มาที่ไปของชื่อ 703 S2 ก็เป็นเรื่องน่าสับสนแล้ว เพราะซีรี่ส์ 700 รุ่นเก่าได้ห่างหายจากไลน์ผลิตของ Bowers & Wilkins ค่อนข้างนานมากแล้ว ก่อนหน้านี้ถ้าจะให้ร่ายยาว น่าจะต้องท้าวความไปสมัยรุ่น CDM ที่เป็นรุ่นรองลงมาจากพวก 800 ได้มีการพัฒนามาหลายรุ่น ต่อมาก็มี CM รุ่นแรก ที่เข้าใจว่าออกแบบมาแทรกตัวระหว่าง 600 กับ CDM NT แต่ขายไปขายมา CM ก็เงียบหายไป แล้วก็มี 700 ซีรี่ส์แรกออกมาแทน โดยดูเหมือนจะวางตลาดอยู่สูงขึ้นกว่า CM แต่แล้วอยู่ดีๆ 700 ก็หายไป กลายมาเป็น CM Series 2 ที่ผมได้ทดสอบไป แล้วตอนนี้ CM ก็ถูกถอดออกจากไลน์ไปอีกแล้ว โดย 703 Series 2 เทียบได้ว่ามันคือตัวตายตัวแทนของ CM9 Series 2 โดยดูจากการออกแบบ ไม่มีเค้าโครงของตู้ที่มีการออกแบบเพื่อขจัดผนังตู้ที่ขนานกันเหมือนที่เคยทำกับ CDM และ 700 เดิม เรียกได้ว่า หน้าตาการออกแบบตู้ดูน่าจะเรียกเป็น CM Series 3 มากกว่า แต่ก็ได้เทคโนโลยีดีๆ ที่น่าสนใจจากซีรี่ส์ 800 มาไม่น้อย ทั้งในส่วนของตัวขับเสียงกลางแบบ Continuum Cone ที่ได้แสดงความเหนือชั้นกว่ากรวยเคฟล่าร์เดิมๆ ไปตั้งแต่สมัยที่ผมได้ทดสอบ 802 และ 804 D3 ไปเมื่อปีก่อนๆ อีกทั้งยังได้ตัวขับเสียงเบสแบบ Aeorfoil profile ที่ต้องบอกว่ามีการออกแบบที่ล้ำลึกจริงๆ ทำให้กรวยมีความแข็งแรง และยังน้ำหนักเบาลง ทำให้เสียงเบสมีสปีดฉับไว ให้เสียงที่รวดเร็วกลมกลืนกับเสียงกลางได้เป็นอย่างดี แต่ในเมื่อเป็นรุ่นเล็กลงมาจึงจำเป็นต้องมีการลดต้นทุนการผลิตลง ซึ่งส่วนที่แพงมากๆ อย่างทวีตเตอร์โดมเพชร และตู้ทรงหัวจุกที่ขึ้นรูปด้วยอะลูมิเนียม ไม่ได้รับการถ่ายทอดมา ยังคงเป็นลำโพงตู้เหลี่ยมๆ หน้าตาธรรมดาอยู่ ตรงจุดนี้ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะราคาขายก็ลดลงมาได้มากจริงๆ แต่ก็ทำให้เสียงกลางลดความสะอาดกระจ่างตีแผ่รายละเอียดลดลงไปอยู่พอควร ถึงแม้เสียงกลางจะสะอาดกว่า CM9 อยู่พอควร และด้วยความที่ได้วูฟเฟอร์แบบ Aeorfoil profile ซึ่งทำงานได้เร็วเข้ามาเสริมทัพ น้ำเสียงที่ได้จึงมีความคล้าย 802 D3 ในแง่ที่ได้ความต่อเนื่องของกลางต่ำที่รวดเร็วขึ้น ทำให้เสียงกลางต่ำต่อเนื่องกับเสียงกลางดียิ่งขึ้น จึงให้ความรู้สึกอิ่มเอม นุ่มนวล น่าฟังมากขึ้น เสียงแหลมเน้นการทำงานที่เข้าขากับเสียงกลางเป็นหลัก ไม่รู้สึกถึงความพยายามจะเสนอเสียงแหลมให้มีปริมาณนำหน้ามาให้รู้สึกถึงการแจกแจงรายละเอียดหยุมหยิม และแน่นอนที่ยังเป็นรองโดมเพชรที่ใช้ใน 802 ที่ให้รายละเอียดได้แจกแจงเป็นธรรมชาติกว่า แต่กับลำโพงราคานี้ นับว่าเสียงแหลมเป็นธรรมชาติดีแล้ว 

กับแผ่น Lisa Ono: My Favorite Songs ที่เอาเพลงหลากหลายแนวมาเรียบเรียงแบบ Bossa Nova ในแบบ Lisa Ono ก็สามารถถ่ายทอดความน่าสนใจในการเรียบเรียงได้เป็นอย่างดี มีเสียงเบสคุมโทนอยู่ตลอด ต่างจาก Bossa Nova ปกติที่มักจะให้โทนเสียงบางเบา ไม่ค่อยมีเบส แต่ในแผ่นนี้ต่างออกไปมาก ทำให้ 703 S2 ได้แสดงความสามารถในการถ่ายทอดความลื่นไหลต่อเนื่องจากเบสกลางๆ ขึ้นมา เพราะไม่ได้มีเบสลึกให้ลำโพงต้องลำบาก 

ถือเป็นลําโพงที่มีความน่าสนใจมากตัวหนึ่งในระดับราคานี้ ด้วยคุณภาพเสียงที่อยู่ในโทนอิ่มหนา อบอุ่น ซึ่งหลายคร้ังคนมักตีความผิดว่า มันต้องอุ้ยอ้าย เบสช้า ต้องบอกว่าไม่ไกล้เคียงคําาว่าเบสช้าเลย

กับแผ่น Chick Corea: Rendezvous in New York เสียงปรบมือมีความอิ่ม รู้สึกถึงเนื้อหนังได้ดี เสียงร้อง และเสียงเปียโน มีความถูกต้องน่าฟังดี โดยเฉพาะหัวเสียงของเปียโนมีความชัดเจน มีพลัง ไม่บางเป็นเส้นลวด แต่ในส่วนของบอดี้ความใหญ่โตของตัวเปียโนและความรู้สึกถึงโถงที่บันทึกก็พอมีบ้าง แต่ยังถูกสงวนไว้ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เพราะจะหวังความถี่ต่ำๆ ที่เป็นส่วนที่ใช้แสดงความรู้สึกถึงสภาพโถงที่บันทึกจากลำโพงตัวเท่านี้ และระดับราคานี้ก็นับว่าขอมากเกินไปนิด 

สิ่งที่ 703 S2 ให้ได้เป็นเสียงเปียโนที่อิ่มหนา มีความถูกต้องน่าฟัง มีหัวเสียงของสายที่ถูกเคาะ และความอิ่มหนาของตัวเครื่องดนตรี แค่ไม่ได้แสดงเสียงสะท้อนที่ความถี่ต่ำไปสะท้อนวัตถุต่างๆ ในห้องเพื่อบอกขนาดห้อง และขนาดเปียโนเพียงแค่นั้น แต่แน่นอน ตำแหน่งของคีย์เปียโนแต่ละคีย์ที่ไล่ไปตามโน้ตยังมีทิศทางและระยะห่างที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้ ผมไม่ได้หมายถึงว่า ผมสามารถบอกตำแหน่งเสียงของคีย์เปียโนแต่ละคีย์ว่ามันห่างกันกี่ ซม. กี่ มม. นะครับ อันนั้นมันไม่เป็นเสียงเปียโนในธรรมชาติจริงๆ แล้ว เพียงแค่จะบอกว่า 703 S2 ยังให้ตำแหน่งเสียงได้ดีอยู่ 

กับแผ่นเสียง Pause: Rewind 703 S2 ได้แสดงให้รู้สึกว่า การรีมาสเตอร์ในอัลบัมนี้จะเน้นให้เสียงอิ่มขึ้นกว่าตอนเป็นซีดีเล็กน้อย แต่ไม่มากจนกระทั่งกระทบต่อเสียงร้อง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องในการรีมาสเตอร์ที่ไม่ควรปรุงใหม่จนมากเกินไป เพราะจะทำให้ความเป็นดนตรีเสียไปเปล่าๆ 

ขอแวะเข้ามาในโซนเพลงโหดๆ อย่าง Telarc – Tchaikovsky 1812 Overture สามารถให้สเกลเสียงได้ใหญ่เต็มห้องขนาดราว 5 คูณ 7 เมตรได้ เสียงนักร้องผสานเสียงช่วงต้นเพลงมีการแยกแยะเป็นกลุ่ม มีระดับความลึกต่างกันลึกเลยผนังหลังเข้าไปได้อย่างเป็นธรรมชาติ เสียงปืนใหญ่รุนแรงใช้ได้ แรงกระเพื่อมของความถี่ตำๆ ไม่ได้มีให้สุดๆ แบบลำโพงใหญ่ แต่ก็เป็นเรื่องปกติของลำโพงตั้งพื้นตัวขนาดนี้ที่ตอบสองความถี่ลงมาได้ถึง 46Hz 

กับแผ่น Pirates of the Carribian: Dead Man Chest นับว่าทำได้ดีพอควร ถึงแม้แทร็กโหดๆ อย่าง the Kraken จะไม่ถึงกับทำให้ใจเต้นตามเพลง แต่โดยรวมแล้วนับว่าทำได้ดีสำหรับลำโพงระดับราคานี้ เสียงเบสต่ำๆ ลึกๆ ปริมาณมากๆ อาจส่ออาการคลุมเครือให้เห็นบ้าง และแรงปะทะของหัวเสียงแหลมยังไม่เป็นประกายเท่าโดมเพชรที่อยู่ในรุ่นใหญ่กว่าอย่างซีรี่ส์ 800 แต่ตลอดช่วงเสียงตั้งแต่เหนือช่วงเบสต่ำมากๆ ขึ้นมา จนถึงย่านบนของเสียงแหลมสามารถทำงานสอดประสานกันได้อย่างกลมกลืน ถ้าไม่ใช่เพลงที่เป็นพวกออร์แกนท่อที่มีโน้ตต่ำสุดขั้ว หรือเพลงที่มีพลังงานความถี่ต่ำซับซ้อนสุดขั้ว ก็ไม่พบจุดอ่อนดังกล่าว ซึ่งตรงนี้มีจุดที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ในช่วงแรกๆ ของการลองฟังที่ผมเล่นด้วยแอมป์ 100 วัตต์ ไม่พบอาการขุ่นมัวของเบสลึกๆ แต่เมื่อเปลี่ยนมาเล่นกับแอมขนาด 350 วัตต์ จึงจะพบอาการ 

ซึ่งจากความเห็นส่วนตัวพบว่า 703 S2 เป็นลำโพงที่ออกแบบมาให้ขับง่าย การตอบสนองก็ไม่เน้นให้ลงลึกมากมายเกินตัว จึงเข้าใจว่าไปกันได้ดีกับแอมป์ที่ไม่เกิน 200 วัตต์อย่างที่ผู้ผลิตแนะนำมามากกว่า เพราะเมื่อเล่นด้วยแอมป์ระดับ 350 วัตต์ แอมป์จะมีกำลังพอที่จะขับดันวูฟเฟอร์ให้ขยับตัวเข้าออกตามสัญญาณเพลงต้นฉบับ ซึ่งมากเกินกว่าที่ระบบตู้และท่อเบสของ 703 S2 จะรับมือไหว ผลที่ตามมาคือ ความเพี้ยนที่ออกมาในรูปเบสต่ำที่มีปริมาณ แต่คลุมเครือ แต่ถ้าท่านเล่นแอมป์ที่ไม่เกินตัวลำโพง เสียงเบสที่ได้จะโรลออฟไปก่อนจะถึงจุดนั้น ทำให้น้ำเสียงโดยรวมสะอาดกว่า และในช่วงเสียงกลางก็ยังคงได้ความอิ่มหนา ต่อเนื่อง น่าฟังอยู่เช่นเดิม เรียกได้ว่า ถ้าท่านจะเอา 703 S2 ไปใช้เป็นคู่หน้าในชุดดูหนังฟังเพลง แนะนำว่าเวลาดูหนังให้ตั้งลำโพงไว้เป็น Small ตัดเบสต่ำๆ ไปเป็นหน้าที่ของ Subwoofer จะดีกว่า

เมื่อลดดีกรีความแรงมาเป็นแผ่นเสียง the Jazz King ที่เป็นการอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเรียบเรียงและถ่ายทอดผ่านนักดนตรีระดับโลกอย่าง Larry Carlton พบว่า 703 S2 สามารถถ่ายทอดบทเพลงออกมาได้เป็นอย่างดี เสียงกีต้าร์ของ Larry มีความนุ่มนวล อ่อนหวาน เข้ากับความอ่อนช้อยในแบบไทยๆ ได้เป็นอย่างดี เป็นอัลบั้มที่ต้องมีเก็บไว้ฟังให้ได้ ในตอนที่เป็นซีดี โทนเสียงโดยรวมดูจะสดสว่างกว่าเล็กน้อย แต่เมื่อเป็นแผ่นเสียงได้ลดดีกรีความสดลงมา เติมความน่าฟังในลีลาดนตรีเข้ามาแทน ซึ่งก็เข้าทางกับแนวการนำเสนอของ 703 S2 ได้เป็นอย่างดี 

สรุป 

Bowers & Wilkins 703 Series 2 ถือเป็นลำโพงที่มีความน่าสนใจมากตัวหนึ่งในระดับราคานี้ ด้วยคุณภาพเสียงที่อยู่ในโทนอิ่มหนา อบอุ่น ซึ่งหลายครั้งคนมักตีความผิดว่า มันต้องอุ้ยอ้าย เบสช้า ต้องบอกว่าไม่ไกล้เคียงคำว่าเบสช้าเลยแม้แต่น้อย เพราะน้ำเสียงโดยรวมมีความสะอาด ซึ่งก็มักถูกเข้าใจผิดเหมารวมไปอีกว่าจะต้องมีโทนเสียงบาง จัดจ้าน ขึ้นขอบ ก็ต้องย้ำอีกว่าไม่ใกล้เคียงข้อเสียพวกนั้นโดยสิ้นเชิง ถ้ายิ่งอ่านยิ่งงง ยิ่งไม่เข้าใจว่าผมหมายถึงอะไร แนะนำว่าให้หาโอกาสไปลองฟังดูด้วยตนเอง ถึงแม้ไม่ใช่ลำโพงที่ดีที่สุดในสามโลก แต่ด้วยราคาที่เจียดโบนัสมาซื้อหากันพอได้ ก็นับว่า Bowers & Wilkins 703 Series 2 มีความน่าสนใจมากในระดับราคาแสนกลาง เสียดายที่ Product of the Year 2017 ดันเป็นดอกไม้ที่ปักไว้ในแจกันของช่วงราคา 1 – 5 แสนไปเรียบร้อยแล้ว ถ้ามีการตัดช่วงราคาใหม่ จะขอแถม Bowers & Wilkins 703 Series 2 ไปอีกรางวัล. ADP

ราคา 172,900 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท Music plus Cinema จำกัด
โทร. 0-2681-7500