ปัญหาของคนเล่นลำโพงใหญ่ เรื่องของขนาดและระยะการจัดวางภายในห้องเป็นเรื่องที่ควรพิจารณา ซึ่งส่วนใหญ่มักวางลำโพงเอาไว้ใกล้กับผนังด้านหลังเพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยกันแทบทั้งสิ้น ปัญหาที่ตามมาคือ หากลำโพงมีขนาดใหญ่เกินไป ไม่เหมาะสมกับปริมาตรห้อง โอกาสที่จะเกิดคลื่นค้าง หรือ standing wave ในห้องมาเสริมกัน จนทำให้เสียงเบสบูม อื้ออึง ก็เป็นไปได้สูง ซึ่งวิธีแก้ปัญหาที่ดีสุด ก็คือการเลือกลำโพงให้เหมาะสมกับปริมาตรห้องตั้งแต่เริ่มต้น

KEF Q550 ลำโพงทรงทาวเวอร์จากอังกฤษ รุ่นเล็กสุดของ Q ซีรี่ส์ เหมาะสำหรับใครที่อยากเล่นลำโพงตั้งพื้นในห้องขนาดเล็ก ด้วยดีไซน์ที่ค่อนไปทางกะทัดรัด ตอบสนองความถี่ 58Hz-28kHz (±3dB) ซึ่งย่านต่ำอยู่ในเกณฑ์ไม่ลึกมาก และใช้ระบบตู้เบสพาสซีฟเรดิเอเตอร์ อาศัยแรงดันอากาศภายในตู้ทำงานเพื่อเสริมย่านความถี่ต่ำ เสียงเบสที่ออกมาจะกระชับ เก็บตัวได้ดี และมีเอฟเฟ็กต์กับห้องน้อยกว่าการใช้ท่อพอร์ต หากเทียบกับรุ่น Q350 หรือ Q150 ซึ่งเป็นลำโพงวางขาตั้งในซีรี่ส์เดียวกัน Q550 จะได้การตอบสนองไดนามิกเรนจ์ที่สวิงได้กว้างกว่าพอสมควร จากชุดไดรเวอร์ที่เสริมเข้ามา

เทคโนโลยีการผลิตของ KEF ถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าของวงการออกแบบลำโพงยุคใหม่ เราจึงแทบไม่เห็นการเปลี่ยนโมเดลรุ่นบ่อยนัก อย่าง Q ซีรี่ส์เจนเนอเรชั่นที่ 8 นี้ เปิดตัวครั้งแรกปี 2017 ห่างจากซีรี่ส์ก่อนร่วม 6 ปี การันตีด้วยรางวัลกับยอดขายต่อเนื่องทั่วโลก และสิ่งหนึ่งที่ส่งให้ KEF เป็นที่จดจำและมีฐานแฟนคลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ เทคโนโลยีเอกสิทธิ์ที่เรียกว่า “Uni-Q” ภาพจำของไดรเวอร์มิดเรนจ์ที่มีทวีตเตอร์อยู่กึ่งกลาง ซึ่งถูกประยุกต์ใช้อยู่ในลำโพง KEF ทุกโมเดล ไม่ว่าจะเป็น LS50 ตัวดัง หรือ Blade ซีรี่ส์ระดับไฮเอ็นด์ราคาหลักล้านบาท

ความท้าทายอย่างหนึ่งของ Dr.Jack Oclee-Brown หัวหน้าฝ่ายอะคูสติกส์คนปัจจุบันของบริษัท ที่ต้องนำเทคโนโลยีระดับไฮเอ็นด์จาก Blade มาประยุกต์ใช้กับ Q ซี่รีส์ซึ่งเป็นระดับ entry-level ให้ลงตัว แต่โจทย์สำคัญคือ ต้องทำให้นักเล่นเข้าถึงได้ง่าย และมีความคุ้มค่าต่อราคาสูง จึงเป็นเหตุผลให้ลำโพง Q ซีรี่ส์ถูกส่งไปผลิตที่โรงงาน Gold Peak ของ KEF ในประเทศจีน ซึ่งมีมาตรฐานการผลิตที่เข้มงวดไม่ต่างกันแทน ต่างจากโมเดลอื่นๆ ของ KEF ที่ออกแบบและผลิตในโรงงานที่ เมดสโตน รัฐเคนท์ สหราชอาณาจักร ทั้งหมด

รูปลักษณ์และดีไซน์    

Q550 มีสัดส่วน 873 x 180 x 278 mm ตู้ทำจาก MDF คาดโครงคร่าวภายใน ฐานส่วนล่างมีขารองทำจากพลาสติกเนื้อดีมาให้ข้างละสองชิ้น พร้อมสไปก์ 4 จุด ผิวตู้รวมถึงไดรเวอร์เป็นสี satin black ไม่มีหน้ากากลำโพงแม่เหล็กมาให้ (ต้องซื้อแยกเป็นอ็อปชั่นเสริม) ขั้วต่อลำโพงไบดิ้งโพสต์ชุบทองแบบซิงเกิ้ลไวร์

ออกแบบเป็นระบบ 2.5 ทาง (วูฟเฟอร์ 2 ตัว + ทวีตเตอร์) จุดตัดความถี่ 2.5kHz ไฮไลต์คือ Uni-Q ไดรเวอร์เบส/มิดเรนจ์กรวยอะลูมิเนียม 5.25 นิ้ว ที่ฝังทวีตเตอร์ 1 นิ้วไว้ตรงกึ่งกลาง มี damped loading tube ไว้สลายคลื่นหลังตัวโดมทวีตเตอร์อย่างราบรื่น และ ‘tangerine’ เวฟไกด์ทรงเกลียวใบพัดช่วยเพิ่มเอาต์พุตย่านเสียงแหลม ทำให้การกระจายเสียงของไดรเวอร์มีความเป็นจุดกำเนิดเดียว (point-source) มากที่สุด และให้ sweet spot ที่กว้างครอบคลุมตำแหน่งนั่งฟังมากกว่าลำโพงแยกดอกกลางแหลมทั่วไป

ย่านต่ำเสริมด้วยด้วยวูฟเฟอร์กรวยอะลูมิเนียม 5.25 นิ้ว ที่ทำงานร่วมกับ Auxiliary Bass Radiator (ABR) พาสซีฟเรดิเอเตอร์กรวยอะลูมิเนียม 5.25 นิ้ว อีกสองตัว จัดเรียงในลักษณะประกบบน-ล่างดอกวูฟเฟอร์ตรงกลาง ภายในซีลแยกตู้ส่วนบนที่ติดตั้ง Uni-Q ไดรเวอร์ออกจากตู้เบสส่วนล่างเพื่อลดภาระโหลดของกรวยลำโพง และไม่มีการใช้ DC blocking คาพาซิเตอร์บนเน็ตเวิร์ก ทำให้ได้ความกระจ่างชัดและรายละเอียดที่ดี รวมถึงให้การโรลออฟของจุดตัดความถี่ครอสโอเวอร์ที่ smooth ยิ่งขึ้น

เซ็ตอัพ

หลังเปิดท้ายกล่องลำโพง ให้ทำการติดตั้งฐานรองและสไปก์ให้ครบก่อน จึงนำลำโพงออกจากกล่อง KEF: Q550 เป็นลำโพงที่เซ็ตอัพง่าย และมีเอฟเฟ็กต์กับสภาพห้องน้อย เริ่มต้นด้วยเบสิคที่ระยะห่างระหว่างลำโพง 1.8 เมตร ส่วนระยะห่างกับผนังหลังสามารถจัดวางได้ใกล้มากที่สุดถึง 0.225 เมตร (วัดจากขอบหลังลำโพง) ส่วนผนังข้างระยะใกล้สุด 1 เมตร หรือถ้าพื้นที่จำกัดมากก็อนุโลมได้ไม่ควรใกล้เกิน 0.5 เมตร (วัดจากขอบนอกลำโพง) ส่วนการ Toe-in ด้วยความที่ Uni-Q มีมุมกระจายเสียงกว้างมาก ทางผู้ผลิตแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการวางลำโพงแบบหน้าตรงก่อน เพราะจะได้ sweet spot ที่กว้างมากที่สุด แต่จากการลองฟัง ผู้เขียนพบว่า การโทอินลำโพงเข้าหาตำแหน่งนั่งฟังเล็กน้อยไม่เกิน 10 องศา จะได้อิมเมจของชิ้นดนตรีที่ฟังแล้วขึ้นรูปเป็นสามมิติมากกว่า รวมทั้งเวทีเสียงด้านลึกที่ชัดเจนขึ้นกว่าการวางแบบหน้าตรง ซึ่งแลกกับ sweet spot ที่แคบลงมาหน่อยถือว่าคุ้ม จากนั้นตั้งระดับน้ำให้ลำโพงทั้งสองข้างอยู่ในระนาบใกล้เคียงกันก็เป็นอันเสร็จพิธี ตัวลำโพงที่ได้มาทดสอบผ่านการใช้งานมาแล้วพอสมควร จึงไม่ต้องเสียเวลาเบิร์นอิน

เรื่องของการแม็ตชิ่งกับแอมปลิฟายเออร์ ธรรมชาติของลำโพงตู้ปิด ต้องการกำลังขับที่มากสักหน่อยเพื่อพลักไดรเวอร์ให้เสียงเบสออกมาเต็มที่ แต่สำหรับ Q550 ซึ่งใช้ระบบพาสซีฟเรดิเอเตอร์ มีวูฟเฟอร์ ABR สองตัวเสริมเสียงย่านต่ำ จึงไม่จำเป็นต้องเร่งโวลุ่มมากก็ได้ยินเสียงเบสที่เต็มอิ่มชัดเจน คู่มือระบุค่าความไว 87dB (2.83V/1m), อิมพีแดนซ์ 8 โอห์ม (ต่ำสุด 3.5 โอห์ม) และต้องการกำลังขับสูงสุด 130 วัตต์ เท่าที่ทดลองจับคู่อินทิเกรตแอมป์และเพาเวอร์แอมป์ 2-3 ตัว พบว่าใช้กำลังขับสัก 100 วัตต์ขึ้นไป ถึงจะรีดประสิทธิภาพของลำโพงคู่นี้ออกมาได้อย่างเต็มที่ เมื่อจับคู่กับเพาเวอร์แอมป์ NAD216 THX ที่มีกำลังขับต่อเนื่อง 125 วัตต์ที่โหลด 8 โอห์ม สามารถขับ Q550 ออกมาได้น่าพอใจมาก ให้สมดุลของโทนัลบาลานซ์ที่ดี ไม่ว่าจะฟังดังหรือเบา และให้ชิ้นดนตรีที่หลุดตู้ออกมาและขึ้นรูปชัดเจนและนิ่งสนิทไม่วูบวาบ

คุณภาพเสียง


จุดเด่นของ Q550 คือการถ่ายทอดชิ้นดนตรีที่มีทรวดทรงเป็นสามมิติได้ดีทั้งสามย่านความถี่ ให้ความชัดเจนและแยกแยะรายละเอียดต่างๆ ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเฉพาะย่านเสียงแหลมที่มีความละเอียดเป็นฝอยแต่ไม่ฟุ้ง มีทรวดทรงไม่แบนราบ มีพลังดีดตัวโดยที่ไม่แสดงอาการสะบัดจัดจ้านให้เห็นเลยแม้เป็นทวีตเตอร์โดมโลหะก็ตาม ให้ความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันไปกับย่านเสียงกลางแบบไร้รอยต่อ อารมณ์คล้ายกับการฟังลำโพงฟูลเรนจ์ดอกเดียว เวลาฟังเสียงคนร้องแล้วได้ความต่อเนื่องลื่นไหล มีการย้ำเน้น มีลีลาการถ่ายทอดอารมณ์ที่น่าฟัง ให้ความเปิดโปร่ง มีหางเสียงที่พริ้วเป็นระลอก

ถ้าเปรียบเทียบเสียงกลางกับ LS50 ซึ่งใช้ไดรเวอร์ Uni-Q กรวยอัลลอยที่ผสมแมกนีเซียมที่ John Atkinson ยกย่องให้เป็นหนึ่งในลำโพงที่ให้เสียงร้องหญิงออกมาดีที่สุด Q550 ก็มีบุคลิกไปในทางนั้น แม้รายละเอียดหยุมหยิม การทอดปลายหางเสียง และความสด อาจเป็นรอง แต่ได้ความอบอุ่นและเนื้อเสียงของย่านกลางต่ำที่อิ่มเอิบกว่าเข้ามาทดแทน หรืออีกนัยหนึ่ง LS50 โทนเสียงจะออกไปทางมอร์นิเตอร์ที่มีความตรงไปตรงมามากกว่า

ย่านเสียงทุ้มออกไปทางเน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ ให้ความกระชับแน่นและเก็บตัวได้ดี การเสริมวูฟเฟอร์อีกหนึ่งตัวและ Auxiliary Bass Radiator ที่ใช้วัสดุกรวยอะลูมิเนียมเหมือนกันหมด รวมถึงขนาดที่เท่ากัน ทำให้การเติมฐานเสียงย่านต่ำมีความกลมกลืนและยังมีความฉับไวตามย่านกลางแหลมทัน ที่สำคัญคือ พอไดรเวอร์ทุกตัวทำงานสอดคล้องกันทางเฟสมากที่สุด มันจะให้น้ำหนักความควบแน่นที่ดีในทุกความถี่ทั้งทุ้มกลางแหลม และมีรายละเอียดที่ครบชัดไม่คลุมเครืออย่างเท่าเทียมกัน ได้ความใสระหว่างช่องไฟ การแยกแยะตำแหน่งชิ้นดนตรีต่างๆ ที่แม่นยำ มีตื้นลึกทีชัดเจนใกล้เคียงกันทั่วทั้งเวทีเสียง

กับบางอัลบั้มให้เสียงดับเบิ้ลเบสที่ลอยขึ้นรูปฉีกตัวลอยห่างลำโพงได้เกือบเมตรเลยทีเดียว และมี ลักษณะของอิมเมจเสียงที่ครบถ้วน ไม่ใช้เสียงเบสลอยๆ แต่ขาดฐานเสียงต่ำรองรับ ให้สเกลของเสียงที่ใหญ่สมจริง เวทีเสียงแผ่ออกเป็นทรงกลมวงรี ที่มีด้านกว้างฉีกตัวเลยลำโพงออกไปไกลมาก (จึงควรมีระยะห่างจากผนังข้างเยอะหน่อย) ตรึงตำแหน่งชิ้นดนตรีได้นิ่งและมั่นคงเป็นพิเศษ ให้เวทีเสียงทีมีความชัดเจนดี แม้วางลำโพงใกล้ผนังหลังมากกว่าปกติ แต่ถ้าเซ็ตอัพแบบพิถีพิถัน การดึงลำโพงหนีห่างจากผนังก็ได้ความคมชัดของอิมเมจแบบ pinpoint เพิ่มมากขึ้นตามมา

ไดนามิกเรนจ์ของลำโพงคู่นี้กว้างเอาเรื่อง โดดเด่นกว่าลำโพงตั้งพื้นขนาดไล่เลี่ยกันหลายคู่ที่เคยทดสอบ สามารถเร่งระดับโวลุ่มที่ปรีแอมป์ Bryston ขึ้นไปได้มากกว่าระดับความดังปกติที่ฟังอีกพอสมควร จากที่ฟังอยู่ประมาณ 10-11 นาฬิกา สามารถเร่งขึ้นไปได้อีกเกือบๆ เที่ยง โดยที่โทนัลบาลานซ์ไม่เสียสมดุล หรือเริ่มออกอาการเสียงอั้นตื้อ ซึ่งปกติที่ระดับความดังขนาดนี้ในห้องฟังของผู้เขียน เบสจะเริ่มอื้ออึงกลบรายละเอียดกลางแหลมแล้ว เมื่อฟังในระดับความดังสูงได้โดยไม่เสียสมดุลก็ช่วยให้ได้สนามเสียงที่แผ่กว้างเต็มอิ่มอยู่ภายในห้องแบบ room-filling sound นั่งฟังเยื้องมาจากตำแหน่งตรงกลางระหว่างลำโพง ก็ยังคงได้ยินรายละเอียดและมิติเสียงที่ใกล้เคียงกัน ตามคอนเซ็ปต์ของ KEF ที่สัมผัสอารมณ์ของดนตรีได้แบบเต็มๆ โดยเฉพาะเวลาฟังอัลบั้มเพลงคลาสสิกหรือการแสดงสด

ส่วนของไดนามิกคอนทราสต์หรือความเปรียบต่างระหว่างช่วงความดัง Q550 นำเสนอออกมาซอยยิบย่อยได้ละเอียดไม่เลว และมีลักษณะค่อนไปทางค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้ไม่รุกเร้า ฟังแล้วมีความผ่อนคลายผสมอยู่ในสัดส่วนมากกว่าความดุดัน อย่างเสียงไม้ที่หวดลงบนกลองใหญ่ ก็ยังคงรับรู้ได้ถึงน้ำหนักแรงประทะหัวเสียงที่อิ่มแน่น มีจังหวะจะโคนแม่นยำ แต่จะมีความนุ่นนวลเข้ามาผสม ทำให้หัวโน้ตไม่ถึงขั้นคมชัดเปรี๊ยะเสียทีเดียว ต่างจาก LS50 ที่ให้ความจะแจ้งชัดเจน แสดงออกถึงความสดของแรงปะทะหัวเสียงมากกว่า

ภาพรวมโทนัลบาล้านซ์ของ Q550 ให้ย่านแหลมที่ค่อนไปทางสว่าง แต่ไม่มากจนเกินไป กลายเป็นเสียงแหลมที่สุกสว่าง แต่มีความเนียนละเอียดฟังสบายอยู่ในที ทอดหางเสียงไปได้ไกล เสียงกลางเปิดโปร่ง มีรายละเอียดแบบชัดถ้อยชัดคำ เจือความอบอุ่นเอาไว้ในปริมาณพอเหมาะ ส่วนย่านทุ้มให้เนื้อมวลมีความทึบเข้ม อิมแพ็กต์ออกไปทางนุ่มแน่นกระชับ โดยที่ยังคงความใสของพื้นเสียง และเนื้อเสียงที่สะอาดเกลี้ยงเกลาตลอดย่านความถี่ เอาไว้ได้อย่างโดดเด่น ยิ่งมองว่าเป็นลำโพงตั้งพื้นด้วยแล้ว หายากทีเดียวสำหรับในพิกัดราคานี้

สรุป

ใครที่กำลังมองหาลำโพงตั้งพื้นที่ให้เสียงย่านกลางแหลมดีๆ เบสมาครบ แต่ไม่เน้นปริมาณ ให้มิติที่ชัดเจนไม่แพ้ลำโพงขนาดเล็ก จัดวางง่าย โดยเฉพาะห้องที่มีพื้นที่จำกัด และพร้อมจะลงทุนกับแอมปลิฟายเออร์วัตต์สูง หรือชุดปรี-เพาเวอร์กำลังสัก 100 วัตต์ขึ้นไป รับรองว่า ท่านจะได้อะไรกลับไปจากลำโพงโพงคู่นี้มากมายเกินคาด เหมาะอย่างยิ่งกับสไตล์การฟังเพลงที่หลากหลายโดยเฉพาะแนวเพลงร้อง แจ๊ส ป็อป คลาสสิค หรือกับแนวดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกมาดีมากจนน่าแปลกใจ รองลงไปคือแนวร็อก หรือเฮฟวีเมทัล ซึ่งมีความสุภาพขึ้นมาหน่อย หากคุณมีไลฟ์สไตล์การฟังเพลงประมาณนี้ แนะนำให้เล่นได้ครับ ADP

ราคาขาย 59,900 บาท

โปรโมชั่นลดเหลือ 43,900 บาท ภายในเดือนตุลาคมนี้

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
Vgadz Corporation
โทร. 02-692-5216