ชานนท์

นักเขียน : ชานนท์ จุทัยรัศม์ :

Life Audio ไม่ใช่อื่นไกล เป็นแบรนด์ของคนไทยเรานี่เองครับ จุดกำเนิดมาจากแนวคิดที่อยากให้คนไทยได้มีอุปกรณ์เสริมสำหรับชุดเครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์คุณภาพเทียบเท่าของนอก แต่มีราคาย่อมเยากว่า

ปัจจุบัน Life Audio มีแอ็กเซสซอรี่ส์หรืออุปกรณ์เสริมสำหรับเครื่องเสียงจำหน่ายหลากหลาย ตั้งแต่สายสัญญาณ สายลำโพง สายไฟ ปลั๊กรางไฟ ไปจนถึงอุปกรณ์รองรับใต้เครื่องเพื่อสลายแรงสั่นสะเทือน ระดับราคาก็มีให้เลือกตามแต่งบประมาณ เริ่มต้นที่หลักพันบาท ไปจนถึงระดับไฮเอ็นด์… สำหรับรีวิวนี้ผมจะมาแนะนำสายไฟหนึ่งรุ่น คือ Life Audio รุ่น LD-3 MK II ซึ่งมีราคาไม่แพง สามารถจับคู่ใช้งานได้ตั้งแต่ชุดเริ่มต้น ไปจนถึงซิสเต็มเครื่องเสียงระดับแสนเลยก็ยังได้

สายไฟส่งผลกับการเพิ่มหรือลดทอนศักยภาพของชุดเครื่องเสียงโฮมเธียเตอร์ได้อย่างไร?

ความบริสุทธิ์ของตัวนำ (Conductor) คุณภาพของฉนวน (Insulation) และโครงสร้างสาย (Cable Structure) ที่เหมาะสม จะส่งผลให้ค่า Resistance Inductance และ Capacitance เปลี่ยนไป ทั้ง 3 ค่านี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน หากบาลานซ์อย่างเหมาะสมก็จะมีส่วนช่วยให้การเดินทางของกระแสไฟเป็นไปอย่างราบรื่น การเสียบต่อที่มั่นคงยังช่วยเรื่องของความต่อเนื่อง เพิ่มเสถียรภาพได้มากยิ่งขึ้น การใช้งานกับอุปกรณ์ปลายทางที่มีความละเอียดอ่อนอย่างชุดเครื่องเสียงย่อมจะได้อานิสงส์ในจุดนี้ไม่มากก็น้อย

การชีลด์ป้องกันสัญญาณรบกวนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ หลายท่านอาจเคยประสบพบเจอเวลาเอาสายสัญญาณพาดหรือเดินคู่ขนานไปกับสายไฟแล้วเจอเสียงฮัม-เสียงจี่รบกวน นั่นเป็นเพราะสายทุกชนิดที่มีกระแสไฟไหลผ่านจะมีการแพร่กระจายสัญญาณรบกวนทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาด้วย ซึ่งเป็นไปตามกฎมือขวาของตัวนำ (Right-hand Rule of Conductor) แต่ปัญหานี้ป้องกันได้หากสายไฟและสายสัญญาณมีโครงสร้างชีลด์ป้องกันสัญญาณรบกวนที่ดี การรบกวนภายนอกอื่นๆ อย่างเช่น ไฟฟ้าสถิตที่สะสมอยู่โดยรอบฉนวน และเรโซแนนซ์จากการสั่นสะเทือนผ่านโครงสร้างสายก็อาจส่งผลลดทอนเสถียรภาพของระบบลงได้ ซึ่งถ้าหากผู้ผลิตสายสามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ Background Noise ในระบบจะลดต่ำลง สิ่งที่ได้กลับมา คือ ความสงัด สามารถแยกแยะรายละเอียดเสียงได้ง่ายยิ่งขึ้น

แต่ผลลัพธ์ที่กล่าวมานี้ จะมากหรือน้อยจนสามารถแยกแยะความแตกต่างได้ชัดเจนเพียงใดก็ขึ้นกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ การพิสูจน์ที่ดีที่สุดคือการทดลองกับซิสเต็มเครื่องเสียงที่แต่ละท่านใช้งานอยู่ ซึ่งทาง Life Audio มีบริการให้ยืมไปทดลองก่อนได้ครับ หากไม่พอใจ หรือไม่เห็นผลก็ยินดีรับคืน

FBE – Frequency Balance Evolution

จุดเด่นของสายไฟของ Life Audio คือ การใช้เทคนิคพิเศษในการออกแบบเรียกว่า Frequency Balance Evolution หรือ FBE โดยไฟน์จูนผลลัพธ์ด้วยการผสมขนาดและชนิดของตัวนำหลากหลาย เป้าหมายเพื่อ “ความสมดุล” ตลอดย่านเสียง ไม่เน้นย่านใดเป็นพิเศษหรือลดทอนบางจุดให้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นสายรุ่นถูกหรือแพงจะอิงตามคอนเซปต์นี้ เราจึงเห็นสายไฟ Life Audio แต่ละรุ่น มีโครงสร้างภายในแตกต่างกัน แต่มีดุลเสียงที่คล้ายกัน

สำหรับสายไฟรุ่น LD-3 MK II จะใช้ตัวนำเป็น Pure Copper OFC ทั้งหมด ในส่วนของ Line และ Neutral จะผสมขนาดตัวนำที่แตกต่างกัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม เป็นเทคนิคชดเชยเรื่องของโทนัลบาลานซ์นั่นเอง ตัวนำทั้ง 3 กลุ่มนี้ เมื่อรวบเข้าด้วยกันจะมีขนาดหน้าตัดรวมเท่ากับ 6 sq.mm. ส่วน Ground จะใช้ตัวนำขนาดเดียว หน้าตัดรวมอยู่ที่ 4 sq.mm.

ในส่วนของฉนวนภายนอกภายในจะมีการห่อหุ้มอยู่ถึง 3 ชั้น เพื่อป้องกันความชื้น การกดทับ ป้องกันสัญญาณรบกวนแทรกซ้อน ไปจนถึงป้องกันไฟฟ้าสถิต

สุดท้ายการเข้าหัว-ท้ายปลั๊กแบบ Audio Grade ให้ความมั่นคงในการเสียบต่อ โลหะตัวนำมีการเคลือบผิวถึง 3 ชั้น ประกอบไปด้วยชั้นทองแดงบริสุทธิ์ ชุบทับด้วยนิกเกิล และเคลือบทอง 24K ในชั้นสุดท้าย เพื่อเพิ่มการนำไฟฟ้าและให้ความทนทานในระยะยาว

คำแนะนำและผลการใช้งาน

ในเมื่อเป็นอุปกรณ์เสริม ก็ตามชื่อ คือสายไฟจะช่วยส่งเสริมให้ซิสเต็มเครื่องเสียงหรือโฮมเธียเตอร์สามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น แต่แน่นอนก่อนจะมาถึงขั้นนี้การจัดการกับชุดเครื่องเสียงควรต้องลงตัวในระดับหนึ่งก่อน หากโทนัลบาลานซ์หรือดุลเสียงยังไม่ได้ แม้อุปกรณ์เสริมจะเข้าไปเสริมจุดเด่นขึ้นมาแต่ก็อาจจะเป็นการเน้นจุดด้อยให้ชัดเจนขึ้นด้วย ในจุดนี้บางทีก็เป็นการยากที่จะบอกว่าซิสเต็มที่ใช้งานอยู่มีจุดบกพร่องตรงไหนหรือไม่ หากไม่มั่นใจ เห็นว่าทาง Life Audio ยินดีให้คำปรึกษาในจุดนี้ได้ครับ

Life Audio ยังให้ข้อมูลเพิ่มว่า สายไฟทุกรุ่นที่มีจำหน่ายนั้น ไม่มีข้อกำหนดว่าต้องใช้งานกับอุปกรณ์จำพวกไหน จะเป็นชุดดูหนังหรือฟังเพลงก็ได้ เพราะให้สมดุลได้ดีทุกด้าน สามารถใช้กับแหล่งโปรแกรมต้นทาง ปลายทาง แอมป์เล็กแอมป์ใหญ่ได้หมด

แต่ถ้าหากงบไม่มาก มีพอสำหรับอัพเกรดสายไฟได้แค่เส้นเดียว แนะนำให้แทนที่สายไฟต้นทางที่มีความสำคัญก่อน เช่น นำ Life Audio LD-3 MK II ไปแทนที่สายไฟช่วงที่ต่อจากปลั๊กผนังมาเข้าที่เครื่องกรองไฟก่อน อนาคตหากมีการอัพเกรดเพิ่มเติมก็นำเส้นอื่นไปเปลี่ยนที่เพลเยอร์ และแอมป์ ตามลำดับ

ในการทดสอบผมได้รับ Life Audio LD-3 MK II มา 2 เส้น เส้นแรกนำไปแทนสายไฟที่ต่อจากปลั๊กผนังมายัง Clef CleanSOURCE-1SE ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องกรองไฟหลักในระบบ (เพลเยอร์ และคอมพิวเตอร์จะเชื่อมต่อผ่านเครื่องกรองไฟนี้) ส่วน LD-3 MK II เส้นที่ 2 นำไปแทนสายไฟของ NAD D3045 ที่ต่อรับไฟตรงจากปลั๊กผนัง ทำหน้าที่เป็นทั้ง DAC และ Integrated Amp ผลลัพธ์ที่ได้มีความชัดเจนลงตัวดี

ความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับสายไฟแถม คือ พละกำลังมาเต็มยิ่งขึ้น แอมป์เครื่องเล็กๆ อย่าง D3045 ดูจะมีแรงผลักดันเสียงของลำโพงออกมาได้เต็มที่กว่าเดิม รายละเอียดเสียงชัดเจนขึ้นตลอดย่าน ปลายเสียงเปิดเผยจะแจ้งขึ้น เสียงร้องมีน้ำหนัก เบสมีพลังหนักแน่นกว่าเดิม ซึ่งการเปลี่ยนสายไฟช่วงเดียวก็สัมผัสผลลัพธ์ที่ว่านี้ได้ แต่หากใช้ 2 เส้น จะมีน้ำหนักเด่นชัดยิ่งขึ้น ในจุดนี้ก็พิจารณาตามงบประมาณที่มี จะเริ่มจาก 1 ช่วงก่อน แล้วค่อยอัพเกรดเพิ่มก็ทำได้ตามความเหมาะสมครับ

Life Audio LD-3 MK II นับเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์เสริมที่ใช้งบประมาณไม่สูงมากแต่ก็มีส่วนช่วยให้ชุดเครื่องเสียงสามารถแสดงประสิทธิภาพออกมาได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น หากท่านใดสนใจสามารถสอบถามไปยัง Life Audio เพื่อขอยืมสายไฟ รวมถึงอุปกรณ์เสริมรูปแบบต่างๆ มาทดลองกับชุดเครื่องเสียงที่ใช้งานอยู่ก่อนได้ ดีไม่ดีอย่างไรพิสูจน์ด้วยตาและฟังด้วยหูเลยครับ. ADP

ราคา 5,000 บาท
ผลิตจัดจำหน่ายโดย Life Audio
โทร. 084-596-6262