ชุมพล
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์

มาแล้วครับ อินทิเกรตแอมป์รุ่นใหม่ล่าสุดจาก Rotel ผู้ผลิตแอมป์คุณภาพเหนือสเปกที่มีชื่อเสียงมายาวนาน ทบทวนความจำกันนิดหนึ่งว่า Rotel เป็นเครื่องเสียงสัญชาติญี่ปุ่น ที่มีปรัชญาในการออกแบบแอมป์ของเขาว่า “BALANCED DESIGN CONCEPT” นั่นคือ… รักษาสมดุลของวงจรระหว่างซีกซ้ายและซีกขวาให้มากที่สุด

จุดเด่นของ Rotel ทุกๆ ชุด คือ…
1. ใช้หม้อแปลงที่ทำเองในโรงงานของเขาเพื่อให้มั่นใจว่าได้ภาคจ่ายไฟที่แข็งแรงและราบเรียบ
2. คัดเกรดคุณภาพของอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ โดยมีคุณภาพสูงพอสมควรโดยเฉพาะมีสเปกที่เข้ากันได้มากที่สุด
3. ทดสอบเสียงด้วยการฟัง นอกจากการวัดด้วยเครื่องมือ
4. การควบคุมคุณภาพการผลิต QC อย่างเคร่งครัด …ทั้งหมดนี้ทำให้เครื่องเสียง Rotel ที่ส่งถึงมือผู้บริโภคมีคุณภาพได้มาตรฐาน และแข็งแรงทนทาน แทบจะไม่มีปัญหาเครื่องเสียเลยครับ

A14 เป็นอินทิเกรตแอมป์รุ่นใหม่ล่าสุดที่รวมเอา Features ของภาคถอดรหัส หรือ DAC ที่เหนือล้ำกว่า External DAC ราคา2 หมื่นเสียอีก นอกจากนั้นยังรองรับการส่งจาก Device ทาง Bluetooth โดยที่ไม่ลืมใส่ภาคขยายหัวเข็ม (Phono) ชนิด MM เอาไว้ด้วย

ผมคิดว่าคนออกแบบ A14 ต้องการให้เครื่องนี้รองรับอินพุตหลากหลาย ครอบคลุมต้นกำเนิดเสียงได้ทุกชนิด ลองไล่ไปดูแล้วจะพบว่ามีโฟโน, ซีดี, จูนเนอร์, Aux สองช่อง, Digital อินพุตอีก 7 ช่อง (รวม Bluetooth) ช่องอินพุตที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ของ A14 คือ… ช่องอินพุต USB-B ที่อยู่บนแผงท้ายเครื่อง เพราะว่ามันสามารถรองรับสัญญาณที่ส่งมาได้ถึงระดับ DXD 352.8kHz / 384kHz และยังรับสัญญาณ DSD ในระดับ DSD256 อีกด้วย จะเห็นว่าภาค DAC ในตัวของ A14 นี่รองรับไฟล์เพลงชนิดไฮเรสอย่างจริงจัง ส่วนการส่งสัญญาณทาง Bluetooth นั่นก็ไม่ธรรมดาเพราะมันรับรองสัญญาณได้ทั้งฟอร์แมต SBC และ aptX ซึ่งได้คุณภาพเสียงดุจเดียวกับการฟังซีดีปกติ นั่นคือ ความละเอียดของไฟล์ที่ 16 bit/44.1kHz

ขั้วต่อต่างๆ ที่เป็น RCA ชุบทองมาสวยงาม แถมด้วยช่อง USB Power ที่จ่ายไฟออกมา5V/0.5A สำหรับอุปกรณ์ที่นำมาเล่นกับ A14 อย่าง iPod หรือเครื่องเล่นไฟล์ Hi-Res หรือโทรศัพท์มือถือก็ใช้ได้เช่นกัน นอกจากนั้นยังมีช่อง Ethernet สำหรับการเชื่อมต่อกับ Router เพื่อทำงานในระบบ Network โอ๊ย!!! ยังมีอีกมากครับ บรรยายไม่หมด เดี๋ยวจะกลายเป็นการแปลคู่มือการใช้งาน ไม่ใช่บทความทดสอบเครื่องไป

วงจรภาคขยายของ Rotel A14 ทำงานในแบบ A/B Class กำลังขับ 80 วัตต์ต่อข้าง ที่ความต้านทานปกติ 8 โอห์ม วัดที่ช่วงความถี่ 20Hz – 20kHz ความเพี้ยนไม่เกิน 0.03% มีทริกในการเล่นอยู่นิดหนึ่งคือ ขั้วต่อสายลำโพงของ A14 มีมาให้ 2 ชุด คือ SPEAKER A และ SPEAKER B ถ้าหากคุณใช้กับลำโพงแค่ชุดเดียวก็กดเลือกเฉพาะชุดที่ต่อสายไว้ ภาคจ่ายกำลังจะปล่อยกราวด์ออกมาได้เต็มที่กว่าตอนที่กดเลือกให้ปล่อยออกมาทั้งสองชุด

สำหรับความสนุกมากของการมี SPEAKER A และ B คุณอาจจะเลือกใช้สายลำโพงที่ต่างกันสองชุดต่อเข้าไปที่ลำโพงขั้วต่อ Bi-wire (โดยถอด Jumper ออก) ขั้วของเสียงต่ำอาจจะใช้สายแกนเดี่ยวหน้าตัดใหญ่หน่อย ส่วนขั้วต่อเสียงสูงหรือทวีตเตอร์อาจเป็นสายแกนฝอยเคลือบเงินแบบนี้ก็ได้ แต่ไม่ควรเป็นสายที่มีคุณภาพต่ำเด็ดขาด เพราะว่ามันจะสู้สายลำโพงดีๆ ชุดเดียวที่ต่อแบบ Single Wire ไม่ได้นั่นเอง

บนแผงหน้าของ A14 มีจอแสดงผลตัวอักษรดิจิทัลสีดำบนพื้นสีฟ้าอ่อน หรี่ไฟลงได้ การควบคุมทั้งหมดแน่นอนว่าเป็นดิจิทัล มีช่องเสียบแจ๊คหูฟังขนาด 3.5 มม. มาให้ด้วย (ไม่ลืม) และถ้าหากกำลังขับ 80 วัตต์น้อยเกินไปสำหรับลำโพงของคุณ A14 มีช่องต่อ Pre-out มาให้ใช้สำหรับต่อไปออกเพาเวอร์แอมป์ที่มีพละกำลังมากยิ่งขึ้น โดยใช้ A14 เป็นปรีแอมป์อย่างเดียว ขั้วต่อสายไฟชนิดถอดได้แบบสองขาตามแบบญี่ปุ่นเป๊ะ ฟิวส์กันช็อตอยู่ภายในเครื่อง ต้องเปิดฝาเครื่องออกมาจึงจะเจอครับ

การใช้งาน A14 นี่ต่างกับอินทิเกรตแอมป์ในรุ่น 1520 ลิบลับเลย เพราะอย่างที่เรียนไว้ตอนต้นว่าการเลือกช่อง Input แสดงปรับตั้งค่าต่างๆ ต้องอาศัยปุ่ม Menu เป็นหลักเลย รวมทั้งการปรับตั้งระดับความทุ้ม/แหลมที่สามารถเลือก By pass ได้ ส่วนที่เพิ่มเข้ามาคือ เลือกหรี่ไฟ LED ที่ปุ่ม POWER และปุ่มเลือกลำโพง A/B ได้ แรกๆ ใช้งานอาจจะงงๆ อยู่ แต่พอใช้ไปสักพักแล้วจะชิน ไม่ยากครับ

ในส่วนที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญ และน่าจะเป็นจุดขายของ A14 คือ… การเล่นไฟล์เพลงไฮเรส ซึ่งถ้าคุณคิดจะใช้งานอินพุตช่อง USB-B ของ A14 กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ภาคปฏิบัติการ Windows และต้องการเล่นไฟล์เพลงเรโซลูชั่นสูงกว่า24-bit/96kHz คุณต้องทำการลงไดรเวอร์ ASIO ให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณเสียก่อน (อยู่ในแผ่นซีดีที่อยู่ในกล่องบรรจุเครื่อง) ซึ่งในไดรเวอร์ ASIO ตัวนี้มันแซ่บมาก เพราะถูกเขียนซอฟต์แวร์พิเศษที่ชื่อ Rotel Audio Control Panel สำหรับการปรับตั้งค่า Buffer และ Format ของการเล่นไฟล์เพลงได้ด้วย คล้ายๆ กับเป็น EQ กลายๆ นะครับ มีผลต่อเสียงอย่างมีนัยสำคัญ

ไฮไลต์ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ช่องเสียบ Ethernet ด้านหลังที่มีไว้สำหรับอัพเดตเฟิร์มแวร์ของเครื่องผ่านทางอินเทอร์เน็ต และนอกจากนี้ยังใช้ app ของ Rotel ในการควบคุมสั่งงาน โดยผ่านระบบ Wi-Fi รองรับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องเลยครับ

ผมเลือกลำโพง QUAD 11L มาใช้กับ Rotel A14 เนื่องจากว่าลำโพงขับไม่ยากมาก ด้วยกำลัง 80 วัตต์ต่อแชนเนล น่าจะไหวสบายๆ ต้นทางแน่นอนว่าต้องลองเล่นไฟล์ไฮเรส และ 16/44.1 ธรรมดาผ่านคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และเครื่องเล่นแผ่นเสียง LINN LP12 + SUT EAR MC-4 เปิดฟังเสียงครั้งแรกรู้สึกบางเบาต้องเร่งทุ้มแหลมช่วย คิดว่าเครื่องคงจะผ่านการใช้งานมาน้อย จึงรอให้เวลาผ่านไปอีก 40 ชั่วโมง คราวนี้เสียงโดยรวมดีขึ้นมาก ลองเอามือสัมผัสตัวเครื่องในขณะที่ใช้งานมาสักชั่วโมง รู้สึกแค่อุ่นๆ เท่านั้นเองครับ

จุดที่ต้องชมสำหรับ A14 คือ เสียงจากการเล่นไฟล์เพลงผ่านทางช่อง USB-B ดีสมราคาคุยจริงๆ ชิพตัวใหม่ที่ใช้ในภาค DAC คือ AKM เบอร์ AK4490 ที่มีความสามารถขั้นเทพ รองรับสัญญาณตระกูล DSD ได้สูงถึง 11.2MHz และ PCM ที่ 768kHz ซึ่งสูงสุดของการถอดรหัสในปัจจุบันนี้แล้ว ชิพตัวนี้ทำให้การแปลข้อมูลออกมาเป็นเสียงเพลงทำได้ดีกว่าการฟังผ่านทางช่อง CD Input เอาแค่ไฟล์ 16/44.1 นี่ก็ต่างชัดแล้ว พอเปลี่ยนไปเล่นไฟล์ 24/96 นี่ ซีดีตายไปเลยครับ เสียงมันเข้มข้นประดุจกำลังฟังจากมาสเตอร์ที่ใช้ปั๊มแผ่นออกมารายละเอียดและไดนามิกคอนทราสต์ดีมาก

การที่ผมมีไฟล์ 24/96 อยู่แค่ 4 – 5 อัลบั้ม ทำให้ไม่ต้องคิดมาก ลองฟังมันหมดทุกชุดทั้งไทย-เทศที่มีอยู่ ฟ้องกันออกมาชัดๆ นะครับ ว่าการ Edit และมิกซ์เสียง ใครทำมาดีไม่ดีอย่างไร สำหรับการเล่นไฟล์ความละเอียดทั่วไป หรือ 16/44.1 นั้น คุณภาพเหนือกว่าเครื่องเล่นซีดีราคาต่ำกว่าแสนแน่นอน อันนี้ยิ่งชวนให้เล่นไฟล์ + DAC มากขึ้นไปอีกระดับ คือไม่อยากจะบรรยายว่าดีกว่าตรงไหน แต่ต้องบอกว่าเหนือกว่าทุกกระบวนท่าเลยครับ นี่คือวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะชิพถอดรหัสที่ยิ่งมายิ่งพัฒนาคุณภาพมากขึ้น และมีราคาที่ไม่แพงจนน่าตกใจอีกต่อไปแล้วครับ

การทดสอบต่อไปคือ ฟังแผ่นเสียง ภาคโฟโนในตัว A14 รองรับสัญญาณ MM เท่านั้น ผมจึงต้องใช้ Step up transformer มาช่วยขยายความแรงสัญญาณจากหัวเข็ม MC ที่ใช้อยู่เป็น 4.7 mV ซึ่งพอถ่ายทอดออกมาแล้ว พอฟังได้น้ำได้เนื้อ แต่จะเอาไปเทียบกับโฟโนสเตจแยกราคาตัวละหลายหมื่นคงไม่ได้ครับ คุณภาพของภาคโฟโนใน A14 คล้ายกับ Rotel รุ่น 1520 ผมคิดว่าน่าจะเป็นวงจรเดียวกัน โดยรวมๆ มีความสงัด ไม่มีเสียงซู่ซ่ารบกวน เวทีเสียงไม่มีอะไรตื่นเต้น ฟังแผ่นดำแล้วไม่มี “ความเหนือ” กว่าตอนที่เล่นไฟล์เพลงไฮเรส

คุณภาพเสียงโดยรวมของ Rotel A14 ออกไปทางสุภาพ แฟลต ไดนามิกกลางๆ อิมแพ็คไม่รุนแรงมาก เสียงกลางสะอาดสะอ้าน ฟังได้นานๆ ไม่รุกเร้าหรือเอาแต่ยัดเยียดกันอย่างเดียว เสียงเบสจัดว่าดี เมื่อเทียบกับอินทิเกรตแอมป์ในระดับเดียวกันและระดับราคานี้ จังหวะดนตรีถูกต้อง ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป เนื้อเสียงไม่ถึงกับเข้มข้น สอดแทรกด้วยความกังวานรอบๆ ตัวโน้ตที่มีพอ ไม่ทำให้ฟังแล้วมีอาการแห้งหยาบ แต่ต้องถือว่าเป็นแอมป์ที่ค่อนข้างนิ่มนวล กลมกลึง มีรายละเอียดที่แจกแจงถ่ายทอดออกมาได้อย่างครบครัน ความรู้สึกเดิมๆ ที่เคยสัมผัสมาในรุ่นก่อนหน้าอย่าง 1520 หรือ 1570 (สดใส จะแจ้ง แฝงไว้ด้วยพละกำลัง) ดูจะเปลี่ยนไปในรุ่น A14 เนื่องด้วยลีลาการนำเสนอที่สุขุม ลุ่มลึก ลดความสดสมจริงลงมาบ้าง แลกด้วย Features นานาชนิดมากเกินพอที่ทางโรงงานบรรจง “ใส่” มาไว้ในอินทิเกรตแอมป์ตัวเดียว เมื่อพิจารณาร่วมกับศักยภาพด้านพละกำลังขับ 80 วัตต์ต่อแชนเนล. ADP

ราคา 45,900 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท มิวสิค พลัส ซีนีมา จำกัด
โทร. 0-2681-7509

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 242