วิศัลย์
วิศัลย์ เอกธรรมกุล

ALUMINE FIVE

กลับมาอีกครั้งในคอลัมน์ WJ ผมเขียนบทความนี้หลังจากที่เกิดโศกนาฏกรรมย่างสดเครื่องเสียงเป็นๆ มูลค่าหลายสิบล้านบาทที่ฟอร์จูน รัชดา สักสองสัปดาห์เห็นจะได้ คงต้องขอกล่าวคำว่า เสียใจและขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบเหตุให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตและดำเนินธุรกิจเหมือนเดิมและเป็นปกติสุขโดยเร็ววัน ก็ยังถือว่าโชคดีที่เสียทรัพย์ ดีกว่าเสียอวัยวะและเสียชีวิตครับ ส่วนแผนการสนับสนุนฟื้นฟูจากคนในวงการและผองเพื่อน คงจะมีตามกันมาเป็นระยะๆ ก็ขอให้เพื่อนๆ ในวงการติดตาม และสนับสนุนอุปถัมภ์ค้ำจุนกันไปครับ

เรื่องประชาสัมพันธ์ต่อมา คือ ในงาน TAV SHOW 2017 ที่กำลังจะมาถึง WJ จะจัดชุดเครื่องเสียงฟังเล่นๆ ไปเซ็ตให้ฟังกันในงาน เพราะว่างเว้นกันไปหลายขวบปี คิดว่าจะเปิดให้ฟังกันได้วันศุกร์ – วันอาทิตย์ ก็ขอถือโอกาสเชิญชวนแวะไปฟังเพลงเพราะๆ ได้ครับ เปิดแผ่นเสียงและดีเจ โดย WJ ทั้งวันครับ เข้ามานั่งฟังเพลงและพูดคุยกัน ส่วนสปอนเซอร์เครื่องดื่มเห็นว่าท่าน บก. จัดเต็ม 555

เรื่องสุดท้าย ผมได้มีโอกาสทราบมาว่ามีแผ่นเสียงบ็อกเซ็ตของ อัสนี-วสันต์ ที่ตัดแผ่นมาจากมาสเตอร์เทป เลยรีบจองโดยพลัน คือผมมีแผ่นเสียงเวอร์ชั่นแผ่นตัดจากสถานีวิทยุที่ค่ายเพลงส่งให้ดีเจเปิด เอาไว้จะเปรียบเทียบคุณภาพเสียง และจะกลับมาเล่าให้ฟังอีกทีครับ

ฉบับนี้ WJ ทดสอบลำโพงจากประเทศส่งออกสินค้าไฮเอ็นด์ ได้แก่… นาฬิกา และช็อกโกแลต เป็นลำโพงชื่อว่า STENHEIM สนนราคาพอๆ กับรถยนต์เมอร์เซเดสเบนซ์ C-Class นี่ตั้งแต่เกิดโศกนาฏกรรมเผาหมู่ที่ฟอร์จูน WJ ก็มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ ครับ ถ้าเกิดขึ้นกับตัวเองบ้างก็ถึงกับหมดตัวกันเลยทีเดียว ไอเดียที่เคยรันอินทิ้งๆ ไว้คงใช้ไม่ได้แล้ว ก็หวังว่าแฟนๆ คงเข้าใจข้อจำกัดในเรื่องการรันอินแบบต่อเนื่องนะครับ

STENHEIM ::: ALUMINE FIVE

อันว่าลำโพง STENHEIM นั้น ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2010 โดยทีมวิศวกรผู้ก่อตั้งห้านาย ทั้งหมดเคยทำงานกับเครื่องเสียงยี่ห้อ Goldmund ของสวิตเซอร์แลนด์ แบรนด์นี้ก็สุดโต่งเรื่องอภิมหาไฮเอ็นด์ของสวิสก็ว่าได้เลยนะ สำหรับผมถือว่าเป็นแบรนด์น้องใหม่ แต่ออกแบบโดยรุ่นเก๋า เป็นลำโพงที่ผลิตในสวิตเซอร์แลนด์ (เกือบทั้งหมด) หลังจาก STENHEIM ซุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้สองปี ก็ได้เวลาปล่อยลำโพงรุ่นแรกเป็นลำโพงสองทาง คือ ALUMINE TWO ในปี 2011 ซึ่งก็ดังเป็นพลุแตก ขนาดที่สำนักวิจารณ์เครื่องเสียงบางเจ้าถึงกับออกปากว่าเป็นลำโพงสองทางที่ดีที่สุดเท่าที่เคยได้ยิน (ผมว่ามุกนี้แป๊กแล้ว) ขณะนี้ STENHEIM ได้วางจำหน่ายลำโพงสามรุ่น ได้แก่… ALUMINE (มี 4 รุ่นย่อย), REFERENCE ULTIME และ REFERENCE STATEMENT ผมพบว่า ปรัชญาในการทำลำโพงของ STENHEIM ถูกสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นอัตลักษณ์สองเรื่อง เรื่องแรก คือ วัสดุทำตู้ลำโพงที่เป็นอะลูมินั่ม เรื่องที่สอง การเน้นให้ลำโพงมีความไวสูง (มากกว่า 91dB จัดว่าเป็นลำโพงความไวสูง) ส่วนรุ่นที่ทดสอบคือ ALUMINE FIVE เป็นรุ่น Entry ของค่าย ราคาไม่แพงครับ คู่ละ 3 – 4 ล้านบาทไทยเท่านั้นเอง ส่วนรุ่น REFERENCE STATEMENT ผมไม่อยากจะคิดว่าราคาเท่าไหร่ เอาเป็นว่าผู้นำเข้ายังบอกม่ายหวายๆ ก็พอจะเดาๆ กันได้นะพี่น้อง แต่ผมว่าไม่เกินกำลังนักเล่นเครื่องเสียงชาวไทยเป็นแน่ มาเมื่อไหร่จะขอไปฟังเป็นบุญหู

ALUMINE FIVE LOOK

ก่อนอื่น ผมขอเรียกลำโพง STENHEIM ALUMINE FIVE นี้ว่า SA5 นะครับ

เจ้า SA5 เป็นลำโพง 3 ทาง ไดรเวอร์ 4 ตัว ประกอบด้วย… ไดรเวอร์วูฟเฟอร์ขนาด 10 นิ้ว 2 ตัว และมิดเรนจ์ขนาด 6.5 นิ้ว ใช้ดอกลำโพงจากฝรั่งเศส PHL กรวยกระดาษ ขอบไดรเวอร์เป็นยาง ส่วนไดรเวอร์ทวีตเตอร์ซอฟต์โดมผ้าได้จาก Seas ของ Norway แม่เหล็กของมิดเรนจ์และทวีตเตอร์เป็นนีโอไดเมียมพลังสูง ตัวตู้ออกแบบให้เป็นตู้เปิด ตู้ลำโพงเป็นอะลูมินัมขึ้นรูปทำให้มีน้ำหนักข้างละ 120 กิโลกรัม แน่นอนว่า ตัวตู้ทรงเหลี่ยมแบบนี้กับวัสดุแบบนี้ ไอเดียเดียวกับลำโพง Magico ที่ผมใช้ มีข้อได้เปรียบเรื่องความสามารถในการคำนวณออกแบบที่แม่นยำมากกว่าลำโพงรูปร่างประหลาด รวมไปถึงวิธี “กำจัด” เสียงตู้ออกไปได้เด็ดขาด “มากที่สุด” ผมขอใช้คำนี้ ที่สำคัญครับท่าน ความไวกระโดดขึ้นไปอยู่ทื่ 94dB อันนี้ท้าทายครับ คือ ราคาลำโพงระดับนี้กับความไวระดับนี้ คุณสามารถหาแอมป์และสายลำโพงในงบประมาณที่น้อยกว่า เนื่องจากลำโพงต้องการกำลังขับที่ต่ำกว่า กรณีนี้ ซิงเกิ้ลเอ็นด์ คลาส A เป็นตัวเลือกลำดับแรก เมื่อจะต้องแม็ตชิ่งลำโพง SA5 ตัวนี้ เพราะโดยธรรมชาติของซิงเกิ้ลเอ็นด์ คลาส A มักมากับกำลังขับที่ไม่สูงมากนัก สำหรับแอมป์ระดับราคาต่ำกว่าล้านน่าจะไปกับลำโพงคู่ละสามล้านกว่านี่ได้อย่างสบายบรื๋อ ตู้ลำโพงเป็นซิงเกิ้ลไวร์ มาในโทนขาวของอะลูมินัมเปลือย ด้านหน้าเป็นสีดำเพื่อประโยชน์ในการล่องหนของไดรเวอร์ ตัวตู้ผมให้เนี้ยบกว่า Magico Q3 ครับ ทั้งดีไซน์ (เล่นสี เล่นขอบ) และเนื้องานสมศักดิ์ศรี Swiss made ครับ

ALUMINE 5 SET UP

ผมใช้ฟรอนต์เอ็นด์ในการรันอินด้วย Ayre: C5xe MP เป็นต้นทาง ส่วนการทดสอบใช้เทิร์นเทเบิ้ล Oracle: Delphi Mk VI + หัวเข็ม Phasemation 1000 และอาร์ม SME V ผ่านโฟโนสเตจ ASR Basis Exclusive ผ่านปรีแอมป์ Nat Audio: Symetrical และเพาเวอร์แอมป์ซิงเกิ้ลเอ็นด์โมโนบล็อกของ Nat Audio: Magma New รุ่นเรือธง สายสัญญาณจากโทนอาร์มไปโฟโนเชื่อมต่อแบบบาลานซ์ด้วยสาย Nordost สำหรับสายลำโพง สายไฟ และ สายสัญญาณจากปรีมาเพาเวอร์แอมป์ใช้ของ Tellurium Q และมีสายไฟของ Nat Audio เองสำหรับเพาเวอร์แอมป์ด้วย เชื่อมต่อสายลำโพงซิงเกิ้ลไวร์เข้ากับลำโพง SA5 ห้องฟังปรับอะคูสติกด้วย Accoustic System ประกอบด้วยถ้วยจูนและแท่นไม้ เซ็ตอัพโดย คุณโจ้ แห่ง Sound Box วางลำโพงในตำแหน่งตรง ระยะห่างซ้าย-ขวาอยู่ที่ 1.97 เมตร และห่างผนังหลัง 1.77 เมตร ใช้เวลารันอินราว 100 ชั่วโมงครับ แต่ไม่ได้เปิดต่อเนื่อง ผมพบว่า การรันอินยาวสำหรับ SA5 ไม่สำคัญเท่ากับการฟังในแต่ละครั้งที่ใช้เวลานาน คือลำโพงแบบนี้ร้อนเร็วและเย็นเร็ว ต่อให้คุณรันอินมามากกว่า 100 ชั่วโมง แล้วหยุดเล่น ก็ไม่มีผลเท่าการนั่งฟังหลังจากที่ลำโพงทำงานไปสองสามชั่วโมงต่อเนื่อง มองเห็นภาพนะครับ อีกอย่างขอบไดรเวอร์เป็นยางขอบนิ่ม ไม่ต้องการการเบรกอินมากเท่าไหร่ 

OVERTURE

SA5 เปิดเผยความโดดเด่นของตู้ลำโพงโลหะในยุคใหม่ (ของลำโพงราคาแพง) นั่นคือ ไม่มีสีสันหรือเสียงของตู้ลำโพงมาเจือปนเลย ลำโพงคู่นี้ให้เสียงที่สะอาด ใส และรูปวงที่โอ่โถงมาก คำว่า… โอ่โถงในที่นี้ คือรู้สึกถึงการนำเสนอรูปวงที่ครบทั้ง กว้าง ลึก และ สูง พูดถึงสีสันนี่ ต้องบอกว่า มันเป็นลำโพงที่ถ่ายทอด “สีสัน” ของซิสเต็มร่วม มากกว่าการเติมสีสันของมันลงไปด้วย นั่นน่าจะเป็นคำจำกัดความที่ดีกว่า ยิ่งใช้ร่วมกับแอมป์หลอดซิงเกิ้ลเอนด์ของ Nat Audio ต้องบอกเลยว่า ซึมซับความหวานของหลอดจนลืมไปเลยว่าเสียงมันมาจากลำโพง แปลกไหม 

แผ่น Amadeus สามารถระบุความใหญ่โต กว้างขวางของเวทีได้เป็นอย่างดี จังหวะอันสลับซับซ้อนที่สามารถแจกแจงวิวัฒน์ของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น และโน้ตแต่ละออกเตฟ ให้ทุกอย่างที่ลำโพงอ้างอิงที่ผมใช้อยู่ครับ แต่มันแจกแจงได้ละเอียดกว่าขึ้นไปอีก มีการเอื้อนของหางเสียงที่ราวกับ “เน้น” อย่างประณีตและบรรจงกว่า (ยังคงเป็นสเน่ห์ของทวีตเตอร์โดมผ้าไหม) ไทมิ่งและไดนามิกส์เด็ดขาดใน REX และ Confutatis การจัดวางเสียงร้องของคอรัสให้ความละเอียดในการจัดวางได้ชัดเจนเป็นชั้นๆ ทั้งแนวกว้างและลึก ราวกับจำลองบรรยากาศในฮอลล์มาเล่นกลับในห้อง อุ๊บส์! พูดผิด ต้องบอกว่า ทำให้ผมเกิดภวังค์ภาพเหมือนกับการนั่งฟังอยู่ในฮอลล์น่าจะเหมาะกว่า 

Lacremosa ก็ฟังแล้ว โหยหวนและเยือกเย็นกว่าที่เคยฟัง ยิ่งใหญ่มาก เสียงบาซูนที่ให้เสียงเบสความถี่ต่ำๆ ของเครื่องเป่าที่มักจะกลืนไปกับเสียงก้องสะท้อนของฮอลล์และกลองที่ประโคมแบบทั้งตีกระแทกหรือแค่ตีกระทบลงบนหน้ากลอง SA5 สามารถแยกแยะความแตกต่างได้ชัดเจนมาก บ่งบอกความสะอาด ปลอดจากเสียงตู้ และครอสโอเวอร์คุณภาพสูงที่ให้ความฉับไวและเด็ดขาดชัดเจนในการตัดความถี่สำหรับลำโพงสามทาง และยังปลอดการสูญเสียเชิงสัญญาณด้วย ฟังโอเปร่าและคลาสสิกดีมากจริงๆ 

จะรอช้าอยู่ไย SA5 ทำให้ผมต้องขุดแผ่น DECCA ปั๊มอังกฤษ หมายเลขแผ่น 11BB 188-96 มาบรรเลงล้างหูสักหนึ่งรอบ ว่ากันด้วย Symphony No 9 ของวาทยากรหูตึงขี้โมโหเจ้าอารมณ์เป็นที่สุด แต่อัจฉริยะสูงได้จากการฝึกฝน และทรนงไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา นาย Beethoven ซึ่งคนนี้ผิดจากนาย Mozart อัจฉริยะพระเจ้าประทาน ทำให้อายุสั้นเหลือเกิน (อายุขัย 35 เกี่ยวกันไหม?) 

เมื่อฟังอัลบั้มนี้ผ่าน SA5 ทำให้ผม “เข้าถึง” การตีความของท่าน Sir Georg Solti ได้มากกว่าเดิม และเริ่มเกิดการเปรียบเทียบฝีมือการอำนวยเพลงของนาย Karajan ได้ชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือ นาย Karajan จะเน้นความยิ่งใหญ่ เด็ดขาด ดุดัน ไม่ประนีประนอม ส่วน Sir Solti จะมีลูกเล่นพลิ้วไหวสลับช่องไฟได้ลึกล้ำกว่าเพิ่มเติมเข้ามา ผมว่ามีชั้นเชิงมากกว่า โอ้! ฟังสนุกครับ ผมฟัง Symphony No 9 มาก็ไม่น้อย ครั้งนี้เมื่อฟังผ่าน SA5 ผมว่ามีเนื้อหาของดนตรี ฝีมือนักดนตรี ช่องไฟ การสลับไปมาของกลุ่มเครื่องดีด สี ตี เป่า ที่ผลัดกันแสดงฝีมือ รุกเร้าและถดถอย ตลอดจนการอำนวยเพลงที่ทำให้เสียงดนตรีห้อมล้อมดูน่าชวนฟัง น่าค้นหา และยิ่งใหญ่ตระการตา(หู)มาก ขอกระซิบดังๆ ว่า ฟังจากแผ่นเสียงเท่านั้นนะครับ แผ่นนี้ผมได้มาจากเยอรมนีโดยการหิ้วมา ราคาไม่แพงเลย เพื่อนๆ หาเก็บทางอีเบย์ได้เลย ไม่ผิดหวังทั้งแพ็กเกจ คุณภาพการบันทึก ฝีมือผู้อำนวยเพลง และเพอร์ฟอร์มานซ์ของนักดนตรี ผมว่า Chicago Symphony เล่นได้ไม่แพ้ Berlin Philharmonic เลยนะเนี่ย แลกกันคนละหมัด ยิ่งลีลาที่โชว์ความเด็ดขาดของการตีกลองสลับกับเครื่องสายก่อนจะถึงช่วงคอรัสดวลกับเครื่องเป่าอย่างสง่างาม ถ้าซิสเต็มไม่ถึง รับรองแย่งกันตะเบ็งเสียง ฟังยังไงก็หนวกหู พาลจะหูหนวกตามผู้ประพันธ์ เพราะงานชุดนี้ Beethoven แกปล่อยของแบบดุเดือดเลือดพล่านเหลือเกิน เข้าทำนองทิ้งทวนสำหรับซิมโฟนีลำดับสุดท้าย แต่ถ้าซิสเต็มถึงๆ เปิดวอลลุ่มสักบ่ายสอง มันส์พะยะค่ะ สุดโต่งจริงๆ ก็พวกเล่นประโคมเครื่องดนตรีทุกชิ้นบวกคอรัสเข้าไปอีกโขยงหนึ่งหลายสิบชีวิต ขอบอก ช่างเป็นการประกาศศักดาความยิ่งใหญ่และศักดิ์ศรีของมนุษยชาติที่ท้าทายต่อพระเจ้าโดยแท้ องอาจทรนงมาก ก็อยากจะฝากว่า ฟังเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ทั้งทีต้องซึมซาบสิ่งเหล่านี้ให้ได้นะครับท่าน ในลีลาสุดท้ายที่เบียร์ไฮเนเก้นเอาไปทำซาวด์แทร็กโฆษณาสุดๆ ครับ สง่างามเกรียงไกรมาก ผมจะพกแผ่นนี้ไปเปิดให้ฟังในงาน TAV SHOW 2017 ครับ แต่ลำโพงที่เอาไปเดโมอาจจะถ่ายทอดบรรยากาศไม่ได้เท่ากับ SA5 นะครับท่าน แต่ท่านจะได้ฟังลีลาของนักดนตรี คอรัส ตลอดจนการอำนวยเพลงที่ผมว่า ที่ว่าสุดโต่งนั้น มันคืออาการยังไง พอให้ได้กลิ่นครับ

ขอส่งท้ายกับแผ่น Casino Royale ในแทร็กแรก Casino Royale Theme ผมชอบใช้ทดสอบเครื่องเสียงเพื่อดูความสดใสร่าเริงเจิดจ้าของเครื่องเป่าที่ให้สีสันสลับเข้าสลับออกตลอดคอยล้อกับเครื่องเคาะ SA5 ไม่ทำให้ผิดหวังในข้อนี้ การให้จังหวะการเป่า การหยุดลม การเป่าลม การผ่อนลม สามารถติดตามได้ครบถ้วน ทำให้ผมรู้สึกสนุกกับลีลาที่ว่านั้น และคอยโยกตัวตามนักดนตรีอย่างสนุก ให้รูปวงที่กว้าง เสียงสดมากครับ ฟังจบเมื่อยคอเลย เพราะมัวแต่ผงกหัวตามเขาซะนี่ 

ในแทร็กต่อมาของ Dusty Springfield ที่ขับร้อง The Look of Love เสียงร้องของ Dusty สะอาด เกลี้ยงเกลา ไม่อวบใหญ่มากเกินไป อบอุ่น เซ็กซี่ และออดอ้อนตามแบบมารยาหญิงเลื้อยไปตามลีลาดนตรี เสียงเปียโนดูจะกระจ่างสุกปลั่งเป็นพิเศษกว่า Q3 เสียงลมที่วกวนในเครื่องเป่าสามารถติดตามการเดินทางของลมอากาศอัดผ่านช่องลมอันวกวนของลำกล้องโลหะขัดเงานั้น จนบังเกิดลมอัดอากาศออกมาเป็นตัวโน้ตให้เราได้ยิน ฟังแทบจะขาดลมซะให้ได้ ขนลุกขนพองซะ ฟังแล้วผมรู้สึกถึงฝีมือการบรรจงสร้าง งานดนตรี และคุณภาพการบันทึกผ่าน SA5 ซะจริงๆ สุโค่ยครับท่าน 

สรุปความ 

มาถึงบรรทัดนี้ WJ คงจะต้องกล่าวว่า Stenheim Alumine Five เป็นลำโพงที่ท้าทายกาลเวลาอย่างแท้จริง กล่าวคือ มันไม่ง้อเทคโนโลยีหรือการอัพเกรดใดๆ เลย นอกจากคุณจะก้าวกระโดดไปเล่นตระกูล Reference ของค่าย (ซึ่งจะมีโอกาสได้ฟัง หรือไม่ก็ยังไม่ทราบ) เสียงจากลำโพงตัวนี้ให้ความสะอาดและบริสุทธิ์มาก แทบจะ เป็นเสียงน้ำกลั่นเลย ไดนามิกส์ยอดเยี่ยม เฉียบขาด ไร้ขอบเขตให้จับสังเกตได้ โทนัล บาลานซ์สมดุลมาก ไม่มีความรู้สึกขาดหรือเกิน มันให้ความรู้สึกถึงการถ่ายทอดพลัง เสียงจากต้นทาง นับตั้งแต่ซอฟต์แวร์ เส้นสาย แอมปลิฟายด์ มายังโสตประสาทที่รับรู้ แทนที่จะรู้สึกว่าเป็นเสียงที่เปล่งออกมาจากตัวลำโพงเอง มันเป็นกลางแบบมอนิเตอร์ อย่างไม่ต้องสงสัย ข้อจำกัดเดียวของ Stenheim Alumine Five คือ ท่านจะต้อง แม็ตชิ่งซิสเต็ม และใช้ซอร์สคุณภาพดีครับ สิ่งหนึ่งที่ผมต้องยกย่องคือ เมื่อเราพูดถึง ลำโพงที่ให้ความเป็นมอนิเตอร์ หรือความเที่ยงตรงสูง มักจะขาดความน่าฟังหรือความ น่าติดตาม ไม่น่าหลงใหล แต่กับ Stenheim Alumine Five นี้ สามารถให้อารมณ์ร่วม ในการเข้าถึงดนตรีได้อย่างยอดเยี่ยม ถ้าผิดไปจากนี้ก็แปลว่าแม็ตชิ่งซิสเต็ม หรือเซ็ตอัพ ไม่ลงครับ เป็นหนึ่งในอัพเกรดลิสต์ของ WJ เลยทีเดียว ผมคงต้องให้เครดิตกับลำโพง Stenheim Alumine Five ในระดับนี้ แนะนำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคอ Ultimate Hi-End ทั้งหลายที่ชอบเพลงคลาสสิกเป็นพิเศษ Highly Recommended! 

ข้อเด่น 

การลงทุนกับเพาเวอร์แอมป์จะประหยัดได้มาก เพราะด้วยความที่เป็นลำโพงความไวสูง สามารถใช้แอมป์ที่มีกำลังขับต่ำได้ ในขณะเดียวกัน แอมป์ที่มีคุณภาพ ที่ไม่สูงพอ หรือไม่แม็ตชิ่งจะถูกลำโพงฟ้องเอาได้ง่ายๆ งานตู้ที่สวยเนี้ยบเฉียบขาด แบบดีไซน์โมเดิร์นสุดๆ ทั้งมิติ การใช้สี และการเซาะร่อง โชว์ความแม่นยำของการ โปรดักชั่น การเซ็ตอัพตำแหน่งการวางลำโพงไม่ง่าย ไม่ยาก น้ำหนักตัวเป็นข้อดีในแง่ของการให้เสียงลำโพงไร้ตู้ แลกกับความพยายามสักหน่อยในการเคลื่อนย้าย 

ข้อสังเกต 

แม็ตชิ่งกับแอมป์กำลังขับต่ำที่จ่ายกระแสสูง ดูจะเข้าทาง SA5 มากที่สุด จะเป็นโซลิดสเตทคลาส A หรือหลอดซิงเกิ้ลเอ็นด์ คลาส A ร้อนๆ ดูจะเข้ากันได้ดี น่าจะ ไปได้กับแอมป์ Class A ของ Vitus ด้วยนะครับ ใช้เวลาวอร์มอัพในการฟังแต่ละครั้ง พอประมาณสัก 45 นาทีก็ไปโลดแล้ว 

สายลำโพงควรเลือกใช้สายที่มีโครงสร้างทองแดงเส้นโตๆ 

สำหรับลำโพงความไวระดับนี้ ระยะนั่งฟังควรห่างจากลำโพงพอสมควร พูดอีกนัยหนึ่งคือ เหมาะกับห้องใหญ่ครับ 

ราคาค่าตัวที่แพงเอาเรื่องสำหรับลำโพงน้องใหม่ จึงควรจัดเป็นการลงทุนสังหาริมทรัพย์ชนิดหนึ่ง อาการแบบนี้มักจะเกิดจากแนวคิดที่ว่า วิศวกรรมให้ล้ำเลิศก่อน ส่วนราคาขายค่อยตามมาทีหลัง. ADP

ราคา 2,500,000 บาท 

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Discovery Hi-Fi 
โทร. 0-2102-2610, 0-2747-6710 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 242