ชุมพล

นักเขียน : ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ :

ครบยิ่งกว่าครบ!!!

ต้นปี ค.ศ.2011 Rotel ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้อนุกรม 15 ทั้งหมด เริ่มจากอินทิเกรตแอมป์รุ่น 1592 ก่อน ส่วน 1572 มาแทนรุ่น 1570 ตัวดังในอดีต นี่คืออินทิเกรตแอมป์ที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน อาทิ iOS Control ชิพถอดรหัส AKM 32-bit/768kHz มีฟีเจอร์การส่งสัญญาณแบบ Bluetooth

รูปลักษณ์ของ Rotel RA-1572 ดูแล้วยังคงเอกลักษณ์เดิมๆ ไว้อย่างเหนียวแน่น เรียบง่ายดูดี …มุมปาดโค้ง สวิตช์โวลุ่มขนาดใหญ่มีวงแหวนเรืองแสงสีฟ้า การปรับแต่งเสียงและฟังก์ชันทุกอย่างควบคุมด้วยไมโครโพรเซสเซอร์ และใช้รีโมตควบคุมได้หมด ที่ผมชอบคือ จอแสดงผลเป็นตัวหนังสือ LED สีฟ้า มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มองเห็นง่าย ไม่ทรมานผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล (สายตายาว) ที่บนแผงหน้าใต้จอแสดงผลเป็นปุ่มกด 12 ปุ่ม (6 บน 6 ล่าง) สำหรับกดเลือกอินพุต, AUDIO MODE และมีช่องเสียบหูฟังให้ด้วย

ที่พัฒนาต่อเนื่องจนเป็นจุดขายของแอมป์ตัวนี้เห็นจะเป็นภาคแปลงสัญญาณดิจิทัลที่ไปไกลถึง 32-bit/768kHz และภาคขยายสัญญาณอะนาล็อกที่มีการปรับปรุงให้ทำงานร่วมกันได้อย่างทรงประสิทธิภาพ คุณสามารถควบคุมการเล่นไฟล์เพลงส่งผ่าน Bluetooth ผ่านสมาร์ทโฟน (ที่จริงต้องบอกว่า iPhone เพราะมันรับเฉพาะ iOS) หรือ iPad ได้อย่างสะดวกสบาย รองรับเพลงที่สตรีมมิ่งได้ในระดับความละเอียดถึง 24-bit/192kHz

เครื่องรุ่นนี้ยังฉลาดขนาดที่เซ็ตระดับความดังที่เราฟังอยู่เป็นปกติได้ โดยแค่ปรับตั้งไว้ครั้งแรก ไม่ต้องปรับกันทุกครั้งที่เริ่มต้นเปิดเครื่องใหม่ แถมยังใจดีให้อินพุตภาคอะนาล็อกที่เป็น Balanced มาให้ 2 ช่อง ทำให้ยกระดับระดับขึ้นไปราวกับจะแตะระดับไฮเอ็นด์ปานนั้น

ภาคขยายใช้หม้อแปลงทอรอยดัลที่ Rotel ผลิตขึ้นเอง มีฝาครอบมาเรียบร้อย อุปกรณ์เซมิ-คอนดักเตอร์ออดิโอเกรดทุกตัว ขนาดกำลังขับ 120 วัตต์ต่อข้างที่ 8 โอห์ม ไม่มากไม่น้อยที่จะขับลำโพงทั่วไปได้สบาย ภาคขยายที่อยู่ภายในเครื่องชนิด A/B Class ใช้ทรานซิสเตอร้เป็นตัวๆ คาปาซิเตอร์หุ้มสติกเกอร์ยี่ห้อ Rotel ไม่แน่ใจใครผลิตให้ครับ สิ่งดีที่ยังคงอยู่เหมือนเดิมคือ ขั้วต่อสายลำโพงมีให้สองชุด Speaker A และ Speaker B และมีอินพุตสำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงชนิดหัวเข็ม MM แถมเวลาที่คุณอยากฟังเพลง คุณยังเลือกต่อเครื่องเล่นซีดีอย่าง Marantz 6006 ที่ราคาสุดคุ้ม หรือเครื่องเล่นแผ่นเสียงคุณภาพกลางๆ เข้าไป แค่นี้ก็ได้ชุดเครื่องเสียงสารพัดประโยชน์แล้วครับ ผมว่าคนออกแบบ Rotel ทำการบ้านมาดีครับ การปรับตั้งค่าต่างๆ ด้วยความที่มันควบคุมด้วยไมโครโปรเซสเซอร์จึงมีความเที่ยงตรงแม่นยำมากกว่าชนิดปุ่มหมุนด้วยมือ สังเกตว่า การเร่งหรือลดจะค่อยๆ ส่งผลต่อเสียง ไม่ใช่ปรับนิดเดียวแล้วเสียงเปลี่ยนไปมาก

ตั้งแต่นำเครื่องออกจากกล่อง เสียบสายไฟ เปิดทิ้งไว้ในห้องนอนแบบเปิดทิ้งไว้ทั้งคืนอยู่ร่วม 2 สัปดาห์ จนกระทั่งนำมาทดสอบด้วยการฟังเพลงจากซีดี และเครื่องเล่นแผ่นเสียง Rotel RA-1572 ไม่เคยงอแง หรือสร้างปัญหาให้ผมเลยสักครั้ง มันเป็นเครื่องที่นิ่งและอึดมากจริงๆ บางทีผมใช้มันดูหนัง เปิดโวลุ่มเกินครึ่งตลอดเรื่อง ก็ไม่พบว่ามีความผิดปกติใดๆ ไม่เคย Shut down ไม่เคยมีความร้อนจนจับไม่ได้ เสียงไม่หยาบกระด้าง ทุกอย่างทำงานได้ดี แสดงว่าภาคจ่ายไฟเขาทำมาได้ดีชนิด “เอาอยู่” จริงๆ ไม่ใช่แค่ “น้ำรอการระบาย” ว้าววว… แล้วมาถึงตรงนี้ไปได้ไงล่ะ กลับมาที่เครื่องเสียงดีกว่า

หลังจากผมเปิดทิ้งเปิดขว้างไป 100 ชั่วโมงแล้ว สุ้มเสียงของ RA-1572 คงตัวไม่เปลี่ยนแปลงอีก ได้เวลารายงานผลการทดสอบแล้วครับ

มีความต่อเนื่องเชื่อมต่อกันระหว่างชิ้นดนตรี บุคลิกเสียงของ RA-1572 ไม่จัดว่าดุดันแต่ก็ไม่ใช่อ่อนยวบ

คุณภาพเสียง

ในคาบแรกของการทดสอบ ผมนำเครื่องเล่นซีดี MARANTZ KI PEARL LITE มาต่อกับ RA-1572 เสียบสายสัญญาณ HIFIDELITY CT-1 สายลำโพงยี่ห้อเดียวกันไปออกลำโพง XAV SMALL ONE 20th + BASS UNIT สายเชื่อมต่อระหว่างลำโพงหลักและ BASS UNIT เป็นของ ZENSONICE สั่งถักพิเศษเพื่อให้เข้ากับลำโพงโดยเฉพาะ เสียงดีกว่าสายเดิมที่เคยใช้ชนิดที่ต้องรีบจ่ายเงิน กลัวว่าจะโดนทวงคืน สายไฟเอซีเข้าเครื่อง RA-1572 ใช้ ZENSONICE รุ่น CLOUD เอาเฉพาะเสียงตรงนี้ก่อน…

ถ้าให้ผมวิจารณ์ตรงๆ คือ Rotel RA-1572 ทำได้ดี ยังไม่ถึงกับโดดเด่น ที่ดีในที่นี้ผมกดคะแนนแล้วด้วยซ้ำไป เพราะหากฟังเทียบกับอินทิเกรตแอมป์ระดับ 4 – 5 หมื่นบาท RA-1572 ไม่มีแพ้ครับ ทุกย่านความถี่เสียง ความอิ่มเข้มของมวลเสียง ไดนามิก อิมแพ็กต์ ทรานเชี้ยนต์ อิมเมจ ซาวด์สเตจ สอบผ่านหมดทุกอย่าง เป็นของหมูๆ สำหรับ Rotel เพียงแต่ว่ามันยังไม่ถึงขั้นขนลุกขนพองตาถลนออกมานอกเบ้าเหมือนกับแอมป์ตัวละล้านกว่าบาทเท่านั้นเอง กับราคาค่าตัวของมัน ผมถือว่าคุ้มเกินคุ้มแล้ว เอาดีได้ทุกอย่างสำหรับราคาน

ลองวิธีใหม่ ผมลองต่อสายดิจิทัล Coaxial ยี่ห้อ Oyaide (ฉนวนสีฟ้า) ออกมาจาก KI PEARL LITE มาเข้าทางอินพุตของ RA-1572 เพื่อจะทดลองประสิทธิภาพของชิพแปลงสัญญาณดิจิทัลในตัวดูว่าจะดีกว่า MARANTZ หรือไม่ ได้เรื่องเลยครับ อัลบั้มเดียวกัน เพลงเดียวกัน เสียงออกมาไม่เหมือนกันครับ ภาคแปลงสัญญาณดิจิทัลของ RA-1572 จะให้ความชัดเจน โฟกัส และทรวดทรงของอิมเมจที่ใกล้เคียงเสียงซีดีระดับไฮเอ็นด์มาก (ขอย้ำว่ามาก) เบสมีแรงปะทะเพิ่มขึ้น แหลมลากปลายขึ้นไปได้อีก และเวทีเสียงฉีกตัวออกไปในทางกว้างมากขึ้น หัวโน้ตชัดคม แต่เอ… มีบางอย่างที่ผมรู้สึกแปลกๆ อยู่ นั่นคือ เสียงคนร้องมันลดฮาร์โมนิกในย่านนี้ลงไป มีอาการกดๆ ไว้อยู่สักหน่อย ต้องฟังกับแผ่นที่คุ้นๆ อย่าง BREAKING SILENCE ของ JANIS IAN หรือ MARY BLACX เพลง COLUMBUS จะจับอาการนี้ได้ครับ นับเป็นสิ่งที่ MARANTZ KI PEARL LITE ยังฟังได้ดีกว่าในประเด็นนี้ ส่วนอื่นๆ นั้น ภาคแปลงสัญญาณดิจิทัลในตัว RA-1572 ทำได้เหนือชั้นกว่า และถ้าคุณคิดว่าจะไม่แยกเครื่องเล่นซีดีออกไปอีกตัว และใช้เครื่องเล่นบลูเรย์เป็นตัวอ่านแผ่นส่งออกมาภาคแปลงสัญญาณดิจิทัลที่ RA-1572 นั่นเป็นความคิดที่ถูกต้องเลยล่ะครับ ไม่ต้องเปลืองงบอีกต่อไปแล้ว มันดีพอจริงๆ ขอเพียงคุณลงทุนกับเครื่องอ่านแผ่นดีๆ หน่อย อย่าง Oppo รุ่นยอดนิยม รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน ไม่ก็เล่นไฟล์เพลงส่งออกมาทางสาย USB ยังได้

การเปลี่ยนสายไฟเข้าเครื่องที่ราคาเส้นละเหยียบแสนบาทจะช่วยยกระดับเสียงให้ดีขึ้นไปอีก แต่นั่นอาจจะกลายเป็นขี่ช้างจับตั๊กแตนไป

ต่อมาเป็นการทดสอบภาคโฟโนสเตจในตัว RA-1572 ผมใช้เครื่องเล่นแผ่นเสียง MUSIC HALL รุ่น MMF 9.1 ติดหัวเข็ม MC GRADO WOOD SL ขยายด้วย SUT: ORTOFON ก่อนส่งเข้าช่อง Phono Input ของ RA-1572 เสียงสู้ตอนใช้มันเป็น DAC แล้วขยายออกลำโพงไม่ได้ ต้องยอมรับครับ ภาคโฟโนที่ให้มาในเครื่องมีระดับเสียงดังพอๆ กับภาคอินพุตอื่นๆ เพียงแต่มวลเสียงจะบางไปสักนิด แบ็กกราวด์เงียบ ไม่มีเสียงฮัม หรือจี่รบกวน RIAA Curve ถูกต้อง ไม่ปรากฏการผิดสำแดงทางเสียงเลยสักนิด ถ้าหากคุณคิดว่าจะไม่ใช้ External Phono แยกออกมาแล้ว แนะนำว่าให้พิจารณาเลือกหัวเข็ม MM ที่เสียงอิ่มเข้มหน่อย เช่น Shure M-44 ที่พวกดีเจเขาชอบใช้กัน น่าจะเหมาะสมกับภาค Phono ของ RA-1572

Rotel RA-1572 ยังทำตัวเป็นปรีแอมป์ส่งสัญญาณไปยังเพาเวอร์แอมป์ที่อาจจะดีกว่า วัตต์สูงกว่าได้ โดยที่มีระดับ Preout Level ที่ 1.5V ครับ คุณสมบัติทางเทคนิคที่ควรทราบ คือ…

Damping Factor: 300
nput Sensitivity: Line (RCA) 270 MV,
XLR 440 MV, Phino MM 2.1 MV
Input Impedance: Line 100 kHz, Digital 75 kHz, Phono 47kHz
Output Impedance: 470kHz
Input Digital: Coax / Optacal / USB
USB Audio Class 1 (24/96)
USB Audio Class 2 (32/389)

* ต้องติดตั้งไดรเวอร์ที่ซัพพอร์ต DSD และ DoP

ในการทดสอบ ผมปรับ Tone Control โดยยกเบสขึ้นไป 2 สเต็ป และเพิ่มแหลมอีกสามครับ ฟังดีกว่าตอนที่ฟังแบบ Bypass ก็เขาทำมาให้ปรับได้ และเมื่อปรับแล้วได้เสียงที่ดีขึ้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะดันทุรังฟังแบบ Flat หรือบริสุทธินิยมจ๋า ผมพบอีกว่า การเปลี่ยนสายไฟ สายเคเบิ้ล ยี่ห้อต่างๆ ที่เสียบต่อเข้ากับ RA-1572 เห็นผลต่างทางเสียงได้ค่อนข้างชัดเจน แม้กระทั่ง Footers หรือขารองเครื่อง 2 – 3 ยี่ห้อที่มีพรรคพวกส่งมาให้ลองก็ได้มีโอกาสช่วยยกระดับเสียงให้กับอินทิเกรตแอมป์ราคาปานกลางเครื่องนี้

สิ่งที่ควรทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของ Rotel ทุกชนิดคือ โรงงานผลิตมีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวดมาก มีการสุ่มตรวจเป็นระยะ สินค้าที่บรรจุใส่กล่องเรียบร้อยแล้วพร้อมที่จะส่งออกไปขายจะถูกสุ่มเลือกมาโยนลงพื้นเพื่อทดสอบว่า บรรจุภัณฑ์สามารถ “ช่วยเครื่อง” ในสภาวะที่ตกหรือกระแทกแรงๆ ได้จริงหรือไม่ แบบนี้ผู้ซื้อสินค้าแบรนด์นี้มาใช้มั่นใจได้เต็มร้อยเลยครับว่าของเขาต้องอึดและทนจริง

ส่วนในเรื่องคุณภาพเสียงนั้นมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเป็นรุ่น RSP-1572 ซึ่งเป็น PRE-Processor นั้น ถึงกับใส่ระบบ Parametric Equalizer เพื่อปรับเสียงให้เข้ากับอะคูสติกส์ของห้องมาให้ด้วย ปกติฟังก์ชันนี้จะมีอยู่ในเครื่องที่มีราคาค่าตัวแพงมากเท่านั้น สิ่งที่ Rotel RA-1572 นำเสนอออกมาได้อย่างเหนือชั้นคู่แข่งในระดับเดียวกัน คือ ความเข้มข้นของเสียงที่น่าจะได้รับอานิสงส์มาจากภาคจ่ายไฟอันมีเสถียรภาพ

ในคาบสุดท้ายที่ได้ทดลองเล่นแบบปล่อยสัญญาณดิจิทัลออกจาก MARANTZ KI PEARL LITE มาแปลงเป็นสัญญาณอะนาล็อกที่ RA-1572 ต่อสายลำโพงออกไป 2 ชุด (ทั้ง SPEAKER A และ SPEAKER B) เข้าที่ขั้วลำโพงของ QUAD 116 ซึ่งเป็นลำโพงวางขาตั้งแบบไบไวร์ ปลดจั๊มเปอร์ออกแล้วลองฟัง ได้เวทีเสียงที่ใหญ่โตมโหฬารดีแท้ ฟังเพลงคลาสสิกวงใหญ่แล้วมาเต็มครับ เร่งโวลุ่มที่ประมาณ 50 ไดนามิกสวิงได้กว้าง เสียงสะอาดสะอ้าน รายละเอียดปานกลาง จัดว่ามาครบ แต่คอนทราสต์จะอ่อนไปนิด (สังเกตจากเสียงไวโอลิน) หัวโน้ตคมชัด มีความต่อเนื่องเชื่อมต่อกันระหว่างชิ้นดนตรี บุคลิกเสียงของ RA-1572 ไม่จัดว่าดุดัน แต่ไม่ใช่อ่อนยวบเด็ดขาดครับ พวกพละกำลังหรือน้ำหนักเสียงนี่ให้ได้ดีมากๆ เสียงกลางไปถึงเสียงแหลมมีความต่อเนื่องลื่นไหลดี เสียงแหลมบนๆ จะย่อหย่อนเนื้อมวลลงไปบ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาครับ จังหวะการโรลออฟมีความลงตัว ฟังแล้วไม่รู้สึกว่าขาดอะไรไป การเปลี่ยนสายไฟเข้าเครื่องที่ราคาเส้นละเหยียบแสนบาทจะช่วยยกระดับเสียงให้ดีขึ้นไปอีก แต่นั่นอาจจะกลายเป็นขี่ช้างจับตั๊กแตนไป เอาแบบพอดีพอเพียงดีกว่าครับ

สรุป Rotel RA-1572 เป็นอินทิเกรตแอมป์ + DAC ยุคใหม่ที่ครบเครื่อง คุ้มค่าคุ้มราคา อึดทนทาน รูปร่างหน้าตาเรียบร้อย ใช้งานง่าย อยากให้คุณหาเวลาไปลองฟัง บางทีมันอาจจะเติมเต็มความต้องการของคุณได้โดยที่กระเป๋าไม่ถึงกับฉีกครับ. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 249