ธีรวัฒน์

นักเขียน : ธีรวัฒน์ โชติสุต :

ก่อนหน้านี้ คุณวิศัลย์ เอกธรรมกุล นักทดสอบเครื่องเสียงมือฉมังได้ทดสอบ ลำโพง Stenheim Alumine Five ทำให้ผม มีความรู้สึกอยากฟังลำโพงวางขาตั้งรุ่น Stenheim Alumine Two อย่างมาก จดๆ จ้องๆ มาตลอด จะเอ่ยขอยืมมาทดสอบก็ปาก หนัก เพราะมัวแต่คิดว่าลำโพงก็ไม่ได้ถูกเนอะ พอทางหนังสือบอกว่าจะมีลำโพงคู่นี้มาให้ ทดสอบ เกือบเผลอลืมตัวโยนโทรศัพท์ทิ้งเลย

เหตุผลก็คือ… ผมเห็นและได้ฟังลำโพงคู่นี้มาหลายครั้ง ทั้งในโชว์รูมและในงาน BAV Hi-End Show ในปีก่อนๆ รู้สึกติดใจในน้ำเสียง และชอบในการทำ ลำโพงด้วยมือ งานสวิสเมดนั้นรับรองไม่เคยสร้าง ความผิดหวังใดๆ อยู่แล้ว เป็นลำโพงที่ผลิตและ ประกอบด้วยมือในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงรักษาเรื่องคุณภาพของงานสวิสเมดได้อย่างยอดเยี่ยม

ตอนแรก ผมนึกว่าตัวตู้คงหนักมาก เพราะ โครงสร้างเป็นอะลูมิเนียม แต่ดูจากแพ็กเกจแล้ว แยกเป็นกล่องๆ ไม่ได้ใส่รวมกัน ทำให้ยกได้ง่าย ภายใน ถึงเป็นกล่องกระดาษ แต่ซ้อนกันมาเยอะมาก และ กล่องก็แข็งแรงจริงๆ ครับ

ตัวลำโพงออกแบบเป็นแบบตู้เปิด มีพอร์ตอยู่ ด้านหน้าใช้ทวีตเตอร์โดมผ้าขนาด 1 นิ้ว ส่วนกรวย มิดเรนจ์/เบสยูนิต ขนาด 6.5 นิ้ว ที่ทนต่อแรงดึงสูง ทำให้การบิดของกรวยจากการทำงานนั้นต่ำมากๆ ลำโพงออกแบบให้มีขั้วลำโพงคู่เดียว ตอบสนองความถี่ เสียง 45Hz – 30kHz ความไวลำโพง 93dB ตาม สเปกลำโพงหนัก 17 กก. ต่อข้าง ตัวตู้มีหลายสีให้เลือก ตามความเหมาะสม และความชอบของแต่ละท่าน

เรื่องประวัติความเป็นมาคุณวิศัลย์ได้มีการกล่าว ถึงบ้างแล้วในบทรีวิว Stenheim Alumine Five เลยไม่ขอกล่าวถึงอีก ขอข้ามไปยังเซ็ตอัพและคุณภาพ เสียงกันเลยนะครับ

เซ็ตอัพ

บ้างครั้งความไวของลำโพงก็ไม่ได้บ่งบอกว่าเล่นง่ายขับง่ายเสียทีเดียว ต้องดูองค์ประกอบของ แอมป์ด้วยเช่นกันว่ามีกำลังสำรอง และภาคจ่ายไฟของ แอมป์นั้นเป็นอย่างไร ไม่งั้นเรื่องที่ดูว่าง่ายอาจจะพาล เอาปวดหัวได้เช่นกัน

ลำโพง Stenheim Alumine Two อธิบาย ข้อความข้างต้นได้ชัดเจนมากๆ เพราะเมื่อดูจากสเปก ความไว 93dB (90dB บนสติ๊กเกอร์หลังล ำโพง) มันน่าจะเป็นเรื่องหวานหมู สวรรค์ในใจของคนที่มีแอมป์ กำลังขับต่ำๆ แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจ นั่นอาจจะกลายเป็นเรื่องฝันร้ายไปเลยก็ได้ เพราะถึงแม้ลำโพงขับได้ไม่ยาก กำลังขับจากอินทิเกรตแอมป์ Rega Mira 3 ก็ขับได้ เสียงดังเหมือนกัน แต่ดูเหมือนยังไม่ลงตัวนัก คือ เสียงดัง แต่เมื่อพิจารณาถึงฐานเสียงตอนล่าง เนื้อเสียง มีมวลออกก้อนใหญ่ ความกระจ่างของน้ำหนัก เนื้อเสียงแตกต่างจากที่เคยได้ยินจากลำโพง Quad 22L มาก่อน ในเพลงเดียวกัน ระดับโวลุ่มตำแหน่ง เดียวกัน ลำโพง Quad 22L ให้เนื้อเสียง เบส แรงปะทะ สั่นสะเทือนมากกว่าขับลำโพง Stenheim Alumine Two เสียอีก เปรียบเทียบกับเสียงที่ได้จาก Stenheim Alumine Two เมื่อขับด้วย Rega Mira3 เนื้อเสียง อมเนื้อ นุ่ม ไดนามิกของเสียงออกไปทางซอฟต์ เสียมากกว่าและที่สำคัญก็คือ เสียงไม่ได้หลุดตู้เลย (หมายเหตุ: สามารถฟังเสียงประกอบได้จาก https:// youtu.be/8yKkGfCOi5M)

ถามว่าเมื่อนำแอมป์กำลังขับสูงๆ มาขับ เสียง หลุดตู้มากยิ่งขึ้น แต่เนื้อเสียงก็ไม่ได้ดีกว่าRega Mira 3 เลย นั่นหมายความว่าไม่ใช่เรื่องกำลังขับแล้วล่ะ แต่ลำโพง Stenheim ยังต้องการกำลังสำรอง และการ ควบคุมการท ำงานของล ำโพงเช่นกัน ลองดูอย่างง่ายๆ หม้อแปลงภายในแอมป์ Class A ระดับหลักแสน ปลายๆ หรือล้านนั้น สองมืออุ้มยังไม่หมด กับอินทิเกรต แอมป์ Class A หลักหมื่น ภาคจ่ายไฟใช้หม้อแปลง ระดับเท่ากำมือ อินทิเกรตแอมป์ทั้ง 2 ตัว สามารถขับ ให้คุณภาพเหมือนกันหรือเปล่า? ในแง่ความดัง ดังเหมือนกัน ถึงแม้ว่ากำลังขับไม่ได้แตกต่างกัน แต่แอมป์ที่มีกำลังสำรองมากกว่าหม้อแปลงใน ภาคจ่ายไฟลูกใหญ่กว่าก็สามารถปั๊มให้กรวยมิดเรนจ์/ เบสทำงานได้ดีกว่าเสียงจึงมีเนื้อเสียงที่ดีกว่าลำโพง Stenheim Alumine Two จึงต้องการ แอมป์ที่มีคุณภาพมากกว่าตัวเลขเรื่องกำลังขับ กำลัง ขับจะมากจะน้อยก็ขอให้ภาคจ่ายไฟมีคุณภาพที่ดี และสามารถควบคุมการทำงานของลำโพงได้อย่าง ยอดเยี่ยม ก็จะส่งผลต่อคุณภาพเสียงมากๆ ถ้าเป็น ไปได้ แนะนำว่าขับกับแอมป์คลาส A ซึ่งมีภาคจ่ายไฟดี หรือไม่ก็แอมป์หลอด ดูจะลงตัวเหมาะสมมากกว่าเพราะเสียงที่ออกมาดีที่สุด อินทิเกรตแอมป์ที่ผมใช้ขับ ลำโพง Stenheim Alumine Two ก็คือ อินทิเกรต แอมป์ CEC 3300R C3 RED แต่ก็เล่นเอาCEC 3300R C3 RED ของผมพังไปเลยเช่นกัน ผมเลยแนะนำว่าการเล่นด้วยแอมป์คลาส A ค่อนข้างลงตัวมากๆ หรือไม่ก็อินทิเกรตแอมป์หลอดพวกพุชพูลครับผม

ลำโพง Stenheim Alumine Two ออกแบบให้ มีพอร์ตด้านหน้าและพอร์ตก็อยู่ติดกับริมขอบลำโพง ด้านหน้าเวลาวางลำโพงจะวางให้พอร์ตให้อยู่ด้านใน ทั้งคู่หรืออยู่ด้านนอกทั้งคู่นั้น ก็ขึ้นกับปัจจัย 2 อย่าง ถ้าห้องมีพื้นที่มาก ขนาดของห้องใหญ่ สามารถวางลำโพงห่างกันมากได้ แนะนำให้พอร์ตอยู่ด้านนอก แต่หากพื้นที่ของห้องไม่ได้ใหญ่ ความกว้างไม่ได้มีมากนัก แนะนำให้วางพอร์ตอยู่ด้านในแทน เพราะลำโพง Stenheim Alumine Two ให้สนามเสียงกว้างใหญ่มาก หากห้องไม่ได้ใหญ่หรือกว้างมากนัก ก็แนะนำให้วางลำโพงโดยพอร์ตอยู่ด้านในเสียงจะออกมาดีกว่าถ้าวางลำโพงในห้องเปิดโล่งอย่างเช่นห้องนั่งเล่นก็วางลำโพงโดยให้พอร์ตของลำโพงอยู่ด้านในเช่นกัน

ขาตั้งลำโพงที่มีน้ำหนักมากย่อมให้เสียงดีกว่าขาตั้งมวลเบาแนะนำว่าสำหรับลำโพง Stenheim Alumine Two ควรใช้ขาตั้งมวลหนักจะดีกว่าส่วนความสูง ผมใช้ขาตั้งที่ความสูง 25 นิ้วครับ

คุณภาพเสียง

ลำโพง Stenheim Alumine Two ให้เสียงเหนือกว่าลำโพงวางขาตั้งทุกตัวที่ผมเคยฟังมาหากต้องการลำโพงประเภทนี้ที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม ซื้อแล้วจบเลย ผมก็ไม่มีคำแนะนำอื่นใด จิ้มไปที่ Stenheim Alumine Two ได้เลย อีกทั้งลำโพง 2 ทางของ Stenheim คือ Benchmark ของลำโพงรุ่นอื่นๆ ของ Stenheim เช่นกัน เพราะลำโพงรุ่นแรกที่ออกมาก่อนรุ่นอื่นของ Stenheim นั่นก็คือลำโพงวางขาตั้งแบบ 2 ทาง ดังนั้น ถ้าต้องการเสียงจาก Stenheim แท้ๆ ก็ต้องเล่นลำโพง 2 ทางนี่แหละ

ถ้าจะถามว่าลำโพง Stenheim Alumine Two เหนือกว่าลำโพงวางขาตั้งอื่นๆ อย่างไร

อย่างแรกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนก็คือ Stenheim Alumine Two พร้อมจะแสดงสมรรถนะของซิสเต็มออกมาได้เยอะกว่าอะไรที่ไม่ลงตัวก็จะฟ้องออกมาได้อย่างชัดเจน คือไม่ต้องมีข้อสงสัยเลยว่าจะใช่หรือไม่ใช่

ขนาดว่าใช้สายลำโพงขนาดไม่แม็ตช์กับกำลังขับของแอมป์ ก็จะฟ้องความแตกต่างของเสียงออกมาเลย ถ้าเป็นลำโพงวางขาตั้งอื่นๆ ก็อาจจะแสดงออกมาไม่ชัดเจน แต่สำหรับ Stenheim Alumine Two แสดงออกมาได้อย่างชัดเจนกว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าลำโพง Stenheim ค่อนข้างหนัก และมีน้ำหนักมากกว่าเมื่อมีน้ำหนักมากกว่าก็จะทำให้ผลเรื่องการสั่นสะเทือนทางอะคูสติกของลำโพงมีปัญหาน้อยกว่าเมื่อมีปัญหาน้อยกว่าเสียงจึงนิ่งกว่าและถ่ายทอดเสียงต่างๆ ออกมาได้จะแจ้ง ถูกต้องมากกว่านั่นเอง

นิ่ง สะอาด คือความประทับใจแรกจากลำโพง Stenheim Alumine Two คู่นี้ เสียงนิ่งมากๆ เปรียบเทียบกับลำโพงวางขาตั้งระดับไฮเอนด์อีกคู่อย่าง Paradigm Persona B ซึ่งผมเคยประทับใจอย่างมากมาก่อนนั้น ความนิ่งและความสะอาดของเสียงถือว่ายังเป็นรอง Stenheim อย่างชัดเจน

นิ่ง สะอาด จะให้ผลดีอย่างไร?

ผลดีแรกก็คือ Texture ของเสียงก็จะดีขึ้นมาอย่างมากทีเดียว จับต้องได้ง่ายขึ้น และเสียงก็เป็นธรรมชาติ เสมือนว่าเราเข้าไปนั่งฟังนักดนตรีเล่นดนตรีต่อหน้าเลย

แผ่นซีดีรวมฮิตของ TBM แผ่น The TBM Sounds! (UltraHD/32-bit Mastering/Limited Edition) ภายใต้สังกัด Fim แผ่นซีดีแผ่นนี้เมื่อเทียบกับแผ่นดั้งเดิมของ TBM แผ่นนี้เสียงจะเคลียร์ สะอาดกว่าแผ่นซีดีดั้งเดิมของ TBM รวมถึงแผ่นสังกัด XRCD เช่นกัน แผ่นของ XRCD เสียงมีน้ำหนักมากกว่าแต่แผ่นของสังกัด Fim ออกไปทางแนวสะอาด เคลียร์ และมีรายละเอียดที่มากกว่านั่นคือสิ่งที่กำลังจะบอกให้นึกภาพคล้อยตามว่าลำโพง Stenheim Alumine Two ก็เปรียบเสมือนแผ่น TBM ในสังกัดของ Fim นั่นเอง

ถ้าจะถามว่าอ้าว!!! แล้วลำโพง Paradigm Persona B ไม่สะอาด กระจ่างหรือ? ก็ใสสะอาด กระจ่าง เช่นกัน แต่ความหมายของ Stenheim Alumine Two คือ เหนือกว่าและดีกว่านั่นเอง และต้องจ่ายแพงกว่าอีกด้วย

จากแผ่น The TBM Sound นี้ ในเรื่องของ Texture ถือว่ายอดเยี่ยมมาก ผมเป็นคนชอบในเรื่อง Texture เพราะคำว่าTexture ทำให้เราเข้าถึงความเป็นดนตรีที่สูงมากขึ้น มันจะมีความหมายเหนือคำว่าTimber และ Tone Color เสียอีก บุคลิกของเสียงจากเครื่องดนตรีต่างๆ ได้อย่างชัดเจน (หมายเหตุ: สามารถฟังเสียงวิดีโอคลิปเรื่องนี้ได้จาก https://youtu.be/bRjXuH5lGMA)

Texture ในความหมายของเสียง จึงไม่ใช่แค่เนื้อเสียงซึ่งเป็นความหมายพื้นๆ เท่านั้น แต่หมายถึงลักษณะทางกายภาพของเสียงที่เกิดขึ้นทุกอย่าง จากทุกรายละเอียดเสียงของเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากเครื่องดนตรีนั้นตรงๆ และเสียงที่เกิดจากโครงสร้างทางอะคูสติกส์ต่างๆ ผมเคยบอกไว้เสมอว่าเวลาบันทึกเสียง ไมค์ที่ใช้บันทึกเสียงจะเก็บรายละเอียดออกมาทุกอย่าง แต่ในหลายกรณี ซิสเต็มเครื่องเสียงและลำโพงกลับกลายเป็นตัวบั่นทอนในเรื่อง Texture ลงเสียเอง

ในเพลง Aqua Marine เป็นเพลงที่ชอบมากที่สุดในแผ่นซีดีแผ่นนี้ เพราะเป็นเพลงที่ผมมักเอามาทดสอบเรื่องของ Texture เสมอๆ ช่วงต้นเพลงมีเสียงเบส เปียโน และเสียงของ Wind Chimes พอฟังเพลงนี้แล้วรู้เลยว่าลำโพง Stenheim Alumine Two ให้เสียงเหนือกว่าลำโพงวางขาตั้งอื่นๆ ที่ผมเคยฟังมาจริงๆ เราจับต้องในเรื่องรายละเอียดของเสียงต่างๆ ได้มากขึ้น รับรู้ถึง

เสียงเปียโน เสียงเบส มีรายละเอียดของเสียงที่ ประกอบกันมากมาย ทั้งเสียงหลักที่เกิดจากการกด ลงบนคีย์ การสีลงไปบนเส้นสาย และเสียงอื่นๆ ที่ตาม มาก็คือ เสียงจากโครงสร้างทางะอคูสติกส์นั้น ความก้องกังวานของเสียงภายในเครื่องดนตรี บรรยากาศที่เส้นสายสั่นกระเพื่อมแหวกว่ายในอากาศ หรือเรียกว่าบรรยากาศนั้น ลำโพง Stenheim Alumine Two ถ่ายทอดเสียงออกมาได้อย่างเหนือชั้น มากๆ ยิ่งเสียงดนตรีพวก Chime ซึ่งนักดนตรีเอามือ กวาดลูบลงเพื่อให้เกิดเสียงก้องกังวาน ความพลิ้ว กังวานของเสียงมีรายละเอียดระยิบระยับมาก การ แยกแยะเสียงต่างๆ รวมถึงเสียงเบสและเปียโนยังคง ดังอยู่นั้น ลำโพง Stenheim Alumine Two ถ่ายทอด รายละเอียดของเสียงออกมาได้ครบถ้วน ไม่มีส่วนหนึ่ง ส่วนใดขาดตกบกพร่องเลย

เหตุผลที่ Stenheim Alumine Two ให้เสียงออก มาได้อย่างดีเยี่ยมเช่นนั้น อย่างแรกเลยต้องยกความดี ในเรื่องโครงสร้างของลำโพงซึ่งหันมาใช้อะลูมิเนียม ที่ประกอบด้วยมือทั้งหมด ทำให้ได้โครงสร้างตู้ลำโพง ที่ดี และมีน้ำหนักค่อนข้างมาก เมื่อลำโพงมีโครงสร้าง ที่แข็งแรงก็จะทำให้ควบคุมทุกอย่างได้นิ่งมากขึ้น การจัดการของคลื่นตกค้างต่างๆ ภายในก็จัดการได้ ดีมากขึ้น ทำให้การก่อเกิดปัญหาในแง่ลบที่ส่งผลต่อ การทำงานของกรวยลำโพงนั้นหมดไป กรวยลำโพง ทำงานได้อย่างอิสระมากยิ่งขึ้น จึงทำให้มีคุณภาพเสียง ดีขึ้นมาอย่างมากมาย

ปกติลำโพงซึ่งมีโครงสร้างหนักๆ เช่นนี้ มักกิน กำลังขับของแอมป์ คือแอมป์ต้องมีกำลังขับมากๆถึงจะขับไหว แต่ลำโพง Stenheim Alumine Two โครงสร้างลำโพงหนักก็จริง แต่ในเรื่องการขับลำโพงนั้น ยอมรับว่าไม่ยาก แอมป์กำลังขับน้อยๆ ก็ขับได้ แต่จะ ให้เสียงออกมาดี แอมป์ก็ต้องมีอะไรมากกว่านั้นเช่นกัน

Alumine Two สืบทอดสายพันธุ์การเป็นลำโพงมอนิเตอร์สำหรับบันทึกเสียง

ผลอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความสะอาดของพื้นเสียง ลำโพง Stenheim Alumine Two ให้เสียงที่สะอาด มากๆ ปราศจากความขุ่นมัวใดๆ โดยสิ้นเชิง เปรียบเทียบ กับลำโพงอื่นๆ ลำโพงอื่นให้เสียงขุ่นไปเลย แต่สำหรับ Stenheim Alumine Two ไม่มีความขุ่นใดๆ เหลืออยู่ เลย ความรู้สึกของผมเหมือนฟังเสียงจาก StromTank S5000 ในโหมด Off Grid โดยใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว เสียงจึงสะอาดมากๆ รายละเอียดของเสียงต่างๆ จึงออกมาได้อย่างพร่างพรายระยิบระยับ เหมือนดาว เป็นล้านดวงที่ส่องแสงระยิบระยับอยู่บนท้องฟ้า

เมื่อลำโพงได้แอมป์ที่แม็ตช์กัน ความอิสระของ เสียงจากโครงสร้างตู้ และเสียงดนตรีที่หลุดลอยจาก ตู้ลำโพงนั้น ถือว่าเป็นงานง่ายและเบาที่สุดของ Stenheim Alumine Two แล้วครับ เสียงแต่ละเสียง หลุดตู้ออกมาเสมือนว่าเสียงไม่ได้ออกมาจากลำโพง เลย และที่สำคัญอย่างมากก็คือ Stenheim Alumine Two เป็นลำโพงที่ให้เรนจ์เสียงออกมากว้างมาก ไม่รู้สึกว่าเสียงจะอั้น หรือกดปลายเสียงลงเลย แต่ละ เสียงถ่ายทอดออกมาได้อย่างอิสระ แม้ว่าช่วงดนตรีมี ความสลับซับซ้อนทางโครงสร้างดนตรีสูงๆ ก็ไม่ได้ แสดงอาการวูบวาบแต่อย่างไรเลย ยังควบคุมทุกอย่าง ได้นิ่ง และมีความเพี้ยนของเสียงต่ำมากๆ โฟกัส อิมเมจ ซาวด์สเตจ ยังคงนิ่ง ไม่ส่ออาการวูบวาบเลย

เรื่องความผิดเพี้ยนของลำโพงนี้ยอมรับเลยว่าStenheim Alumine Two ทำได้ยอดเยี่ยมมากๆ ไม่มี อาการแกว่ง หรือลักษณะเสียงที่แสดงถึงความผิดเพี้ยน ออกมาเลย หลายแผ่นที่คิดว่าโหดมากๆ ลำโพงบางคู่จึงพยายามกดเรนจ์เสียงลง หรือทำให้เสียงโรลออฟขึ้นเล็กน้อยเพื่อลดความผิดเพี้ยนลง แต่ไม่ใช่สำหรับ Stenheim Alumine Two เลย

หลายๆ แผ่นที่ขึ้นชื่อว่าโหด ไม่ว่าจะเป็นแผ่นสังกัด Reference Recordings, Telarc หรือแผ่นนิวเอจ ที่มักระบุว่าให้ระมัดระวังในการเปิดฟัง เพราะไดนามิกเรนจ์ของเสียงสูงมาก เรื่องนี้ไม่น่าเป็นห่วงสำหรับลำโพง Stenheim Alumine Two แม้แต่น้อย สามารถเปิดดังได้อย่างปกติ ไม่ต้องวิตกกังวลใดๆ ทั้งสิ้น ยามดนตรีโหมขึ้นมาในสภาวะที่เรนจ์เสียงและไดนามิกเรนจ์กว้างๆ นั้น ยังคงควบคุมในเรื่องรายละเอียดของเสียงไว้ได้อย่างครบถ้วน ความผิดเพี้ยนของเสียงเป็นศูนย์ รายละเอียดของเสียงต่างๆ ถ่ายทอดออกมาได้อย่างครบถ้วน ไม่มีลักษณะเสียงอึมครึมหรือแยกแยะอะไรแทบไม่ออกเลย ทุกอย่างโปร่งใสกระจ่างเช่นเดิม นิ่งสนิทเหมือนไม่มีอะไรต้องมาวิตกกังวลทั้งสิ้น

ถึงโครงสร้างตัวตู้แข็งแรง และความผิดเพี้ยนของเสียงต่ำ เบสก็ควรจะลงได้เยอะ และลึกมากยิ่งขึ้นหรือเปล่า

เรื่องนี้ต้องขอบอกอย่างนี้ว่าถึงแม้ว่าโครงสร้างของลำโพงแข็งแรง ไร้ซึ่งความผิดเพี้ยนของเสียงโดยสิ้นเชิง แต่โครงสร้างทางศักยภาพของขนาดกรวยมิดเรนจ์/เบสขนาด 6.5 นิ้วนั้น บวกกับโครงสร้างของลำโพงที่แข็งแรงก็จะได้คุณภาพของเบสและปริมาณที่สูงกว่าปกติแน่นอน

คนออกแบบลำโพง Stenheim Alumine Two ค่อนข้างล้ำลึกทีเดียว คือไม่พยายามให้กรวยมิดเรนจ์/เบสทำงานเกินศักยภาพของตัวเอง แต่อาศัยโครงสร้างของลำโพงมาเสริม ทำให้เบสและย่านความถี่ต่ำของ Stenheim Alimine Two สะอาด หนักแน่น ทำงานได้อย่างฉับไว และความเพี้ยนของเสียงต่ำ

คุณภาพของเบสทั้งช่วงเบสต้นและเบสกลาง ยอดเยี่ยมมากๆ ทั้งปริมาณและคุณภาพ ผมบอกเสมอว่าเบสนั้น ลำโพงวางขาตั้งไม่ว่าคู่ใด หากทำให้เสียงคุณภาพของเบสต้นและเบสกลางออกมาดี แทบจะไม่รู้สึกว่าขาดเบสต่ำเลยๆ ครับ ส่วนเบสลึกก็อาศัยสภาพของโครงสร้างลำโพงส่งต่อมาอีกหน่อย

เบสของ Stenheim Alumine Two เลยสะอาด ไดนามิกของเสียงฉับไว เนื้อเสียงแน่น และตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว

เปิดเพลงบทสวดของทิเบตในชุด “tathaga­ta” ชุดนี้มีลำโพงหลายคู่ ไม่ว่าทั้งวางขาตั้งหรือตั้งพื้น ไม่สามารถรองรับความถี่ต่ำๆ ได้ มักจะบ่งบอกถึงการควบคุมไม่อยู่ เสียงความถี่ต่ำเลยเกิดอาการผิดเพี้ยนไปในบางส่วน และทำให้สูญเสียรายละเอียดในช่วงความถี่อื่นๆ เช่นกัน

สำหรับลำโพง Stenheim Alumine Two เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้ครับ คือสามารถควบคุมความถี่ต่ำในแผ่นนี้ได้ดี ไร้ซึ่งความผิดเพี้ยนต่างๆ รายละเอียดไดนามิกของเสียงถ่ายทอดได้ดีมาก เวทีเสียง มิติ ตื้นลึก ไม่มีแกว่งหรือวูบวาบเลย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะโครงสร้างตู้ลำโพงที่แข็งแรง และการไม่พยายามให้กรวยมิดเรนจ์/เบสลงลึกไปถึงความถี่ต่ำลึก แค่ตอบสนองความถี่ต่ำต้นและกลางให้ออกมาดีสมบูรณ์มากที่สุด ก็จะทำให้เราไม่รู้สึกว่าขาดเบสแต่อย่างไร ผมเลยบอกก่อนหน้านี้ว่าคนออกแบบลำโพงคู่นี้ฉลาดล้ำลึกมากที่เดียว

ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ของมวล น้ำหนัก แรงปะทะ การตอบสนองได้อย่างสะอาด ความผิดเพี้ยนต่ำ ทำให้เรื่องความถี่เสียงต่ำของ Stenheim Alumine Two ทำได้เหนือกว่าลำโพงวางขาตั้งทุกคู่ที่ผมเคยฟังมามวลบรรยากาศและฮาร์โมนิกส์ของเบส ตอบสนองได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เก็บตัวสั้นหรือเร็วแต่ประการใดเลย

เรื่องการตอบสนองความถี่ต่ำค่อนข้างน่าแปลกอย่างมากสำหรับ Stenheim Alumine Two คู่นี้ กล่าวคือ ถึงแม้ว่าความไวลำโพงสูงจริง การขับด้วยแอมป์กำลังขับต่ำอย่าง Rega Mira 3 เสียงเบสออกมนๆ หนาโฟกัสไม่คม และเสียงไม่หลุดตู้ แต่การเอากำลังขับสูงไปขับลำโพง แทนที่เราจะได้เนื้อเสียงที่ดีขึ้น กลับไม่ใช่อย่างนั้น เสียงหลุดตู้จริง แต่เนื้อเสียงก็ไม่ได้หนาเพิ่มขึ้นแต่อย่างไร ลำโพงแบบนี้บอกได้เลย เหมาะกับแอมป์คลาส A ระดับไฮเอนด์หรือพวกแอมป์หลอดมากกว่าหากเป็นแอมป์หลอดก็ขอเป็นพวกพุชพูล แต่ถ้าเป็นแอมป์โซลิดสเตทพวกคลาส A ก็ขอกำลังสำรองสูงๆ หม้อแปลงขนาดใหญ่เสียหน่อยจึงจะเหมาะสม

ผมชอบการตอบสนองความถี่เสียงต่ำของลำโพง Stenheim Alumine Two อย่างหนึ่ง ในเรื่องสเกลเสียงของความถี่เสียงต่ำไม่ได้เล็กหรือใหญ่เกินขนาดของลำโพงมากเกินไป แต่สิ่งที่สำคัญของความถี่เสียงต่ำก็คือ Texture และความถูกต้องของเสียง ความผิดเพี้ยนต่ำ ดูเหมือนว่าลำโพง Stenheim Alumine Two ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างมากทีเดียว

ด้านเสียงร้องบอกได้เลยว่าStenheim Alumnine Two ถ่ายทอดออกมาได้อย่างเที่ยงตรง และเป็นธรรมชาติมากๆ ความหมายว่าเที่ยงตรง ไม่ใช่พวกลำโพงมอนิเตอร์นะครับ แต่เป็นความเที่ยงตรงที่ถ่ายทอดจากสัญญาณต้นทางจริงๆ ไม่ได้เสริมแต่งแต่อย่างไร บางครั้งก็ดูเหมือนจะสะอาดมาก แต่บางอารมณ์ก็ให้ความฉ่ำของเสียงออกมาเสมือนว่ากำลังฟังแอมป์หลอดอยู่ แต่นั่นเป็นเพราะแผ่นที่ใช้เล่นต้นทางเสียงมากกว่า

ย่านความถี่เสียงกลางของลำโพง Stenheim Alumine Two เปิดเผยออกมาในทุกรายละเอียดเสียง เสียงแต่ละเสียงก็ไม่ได้รู้สึกถึงความคลุมเครือหรือขุ่นมัวแต่อย่างไร ความโดดเด่นคือ การวางเลเยอร์ของเสียงร้องตามแผ่นนั้น ไม่ได้ขยายออกมาจากเสียงดนตรีแบ็กอัพ หรือร่นถอยไปกองแถวเสียงดนตรีแบ็กอัพแต่อย่างไรเลย กลับถ่ายทอดออกมาได้อย่างพอเหมาะพอเจาะอย่างมากทีเดียว

สำหรับย่านความถี่เสียงสูงก็ออกมาในลักษณะใส กระจ่างเช่นกัน ความใสกระจ่างนั้นไม่ได้บอกถึง ความคมชัดแต่อย่างไร แต่เป็นเรื่องการเปิดเผย ในทุกรายละเอียดเสียงออกมาได้อย่างหมดจด รายละเอียดของเสียงนั้นยอดเยี่ยมมาก และสามารถ ตอบสนองความถี่เสียงได้อย่างฉับไวมากๆ

บทสรุป

ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมในช่วงแรกที่ลำโพง วางขาตั้ง 2 ทางของ Stenheim ออกมาจึงได้รับ คำชมและกล่าวเยินยอค่อนข้างมากทีเดียว

ถ้าถามผม ผมรู้สึกอย่างไรต่อลำโพงคู่นี้

ถ้างบถึงและเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหาสามารถหาแอมป์คลาส A คุณภาพระดับไฮเอนด์ หรือแอมป์หลอด พุชพูลคุณภาพดีสักตัวอย่างไม่มีปัญหาใดๆ ผมก็จะบอกว่าลำโพงวางขาตั้งระดับไฮเอนด์ที่ควรจะมองนั้น ไม่มียี่ห้ออื่นใดเลย ต้อง Stenheim Alumine Two คู่นี้คู่เดียวจริงๆ

เป็นลำโพงที่ให้ออกมาเหนือคำว่าคุณภาพ เหนือคำว่าพึงพอใจ เพราะเป็นลำโพงที่สามารถทำให้ เรารู้สึกเข้าใจในความหมายของคำว่า“ดนตรี” ได้อย่าง แท้จริง โดยไม่มีข้อสงสัยหรือกังขาอีกต่อไป แนะนำ เป็นอย่างยิ่งสำหรับ Stenheim Alumine Two คู่นี้ Highly Recommended. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 253