ชานนท์

นักเขียน : ชานนท์ จุทัยรัศม์

พูดถึง SVS หลายท่านคงคุ้นเคยกับลำโพงแอ็กทีฟซับวูฟเฟอร์ หลากหลายรูปแบบ ทั้งตู้ปิด ตู้เปิด ไปจนถึงทรงกระบอก ที่ให้พลัง เสียงถล่มทลายในราคาที่เอื้อมถึงได้ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ทยอยนำเสนอสินค้าใหม่ๆ มาเสริมทัพ อาทิ ซิสเต็มลำโพง คุณภาพสูงสำหรับจับคู่ใช้งานร่วมกับลำโพงซับวูฟเฟอร์แบบเต็มระบบ นั่นเอง ล่าสุดยังได้พัฒนาลำโพงแอ็กทีฟรุ่นแรกของแบรนด์ที่อัดแน่น ไปด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตอบรับไลฟ์สไตล์การฟังเพลงในปัจจุบัน จบครบได้ในเซ็ตเดียว…

ซิสเต็มลำโพงไร้สายดังกล่าวของ SVS มาในชื่อ Prime Wireless Speaker เห็นก็เดาได้ว่าเป็นการนำลำโพงพาสซีฟตระกูล “Prime Series” ที่ขึ้นชื่อลือชามาต่อยอด โดยบรรจุภาคขยายพร้อมความสามารถ รับสัญญาณแบบไร้สายเข้าไป

ลักษณะภายนอกของ Prime Wireless Speaker ดูกึ่งๆ ระหว่าง Prime Bookshelf กับ Prime Satellite ที่วางจำหน่ายก่อนหน้านี้ ตัวตู้และส่วนประกอบต่างๆ ได้รับการออกแบบประเมินผลลัพธ์ด้วยระบบ คอมพิวเตอร์ (FEA –Finite Element Analysis) แบบเดียวกัน ตัวขับเสียง ก็ใช้ขนาดและสเปกเดียวกับ Prime Satellite คือ Aluminum Dome Tweeter ขนาด 1 นิ้ว พร้อมตะแกรงโลหะครอบปิดป้องกันความเสียหาย จากการกระทบกระแทกโดยไม่ตั้งใจ ขณะเดียวกันก็ผสานโครงสร้าง ในการควบคุมมุมกระจายเสียงเพื่อให้ได้ผลการตอบสนองความถี่ ในแนวแกนและนอกแกนที่เที่ยงตรง

Midrange Driver ขนาด 4.5 นิ้ว ขึ้นรูปจาก Polypropylene น้ำหนักเบาแต่แข็งแรงทนทาน พร้อมโครงวัสดุผสม ABS-fiberglass ที่ทาง SVS เคลมว่าสามารถสลายเรโซแนนซ์ได้ดีและไม่เข้าไปเสริมหรือบิดเบือน ฮาร์มอนิกบางย่านความถี่ ทางผู้ผลิตยังคำนึงถึงรูปแบบการยึดตัวขับเสียง เข้ากับแผงหน้าอย่างมั่นคง จึงเป็นที่มาของตำแหน่งสกรูอย่างที่เห็น

ตัวขับเสียงทั้งคู่ได้รับกำลังผลักดันจากภาคขยาย Dual Class-D แยกขับแบบ Bi-amp กำลังขับรวม 50W x 2 ทาง SVS แจ้งว่ารุ่น Prime Wireless Speaker นี้ จะไม่มีวงจรตัดแบ่งความถี่แบบรุ่นลำโพงพาสซีฟ แต่จะใช้ Digital Controlled Tweeter-to-Woofer Crossover ซึ่งไฟน์จูนจุดตัดความถี่และอัตราลาดชันด้วยระบบดิจิทัลเพื่อให้แม็ตช์กับ ตัวขับเสียงได้อย่างพอดิบพอดี

มิติตัวตู้ของ Prime Wireless Speaker จะใหญ่กว่าPrime Satellite เล็กน้อย เนื่องจากต้องเผื่อพื้นที่ภายในสำหรับบรรจุภาคขยาย และวงจร ต่างๆ แต่โดยรวมยังค่อนข้างกะทัดรัด ไม่เทอะทะ จะวางบนโต๊ะทำงาน บนหิ้ง หรือตั้งใจวางบนขาตั้งแบบทางการสไตล์ออดิโอไฟล์ก็ได้ ตัวตู้ ส่วนบนมีการปาดลบมุมเล็กน้อยเพื่อลดทอนผลกระทบจากเสียงสะท้อน กับแผงหน้ าที่จะย้อนกลับมารบกวนเสี ยงหลั กภายในมีคาดดามโครงสร้าง เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ออกแบบเป็นตู้เปิดติดตั้งท่อ Wide-flared port ขนาดใหญ่ 2.36 นิ้ว(1) ทางด้านหลัง ผิวตัวตู้เลือกได้ 2 แบบ คือ ดำเงาและขาวเงาแบบเปียโน แต่ไม่มีลายไม้ Black Ash แบบ Prime Satellite

ด้วยลักษณะที่เป็นลำโพงแบบแอ็กทีฟ จึงติดตั้งภาคขยายและวงจร รับสัญญาณต่างๆ มาพร้อม โดยทำการบรรจุไว้ที่ลำโพงข้างขวาการเชื่อม ต่อสัญญาณไปยังลำโพงข้างซ้ายที่เป็นแบบพาสซีฟ (ไม่มีวงจรภาคขยาย ภายใน) ดำเนินการผ่านสายยาว 3 ม. เข้าหัว Connector แบบเฉพาะ

ซ้าย – สายความยาว 3 ม. สำหรับเชื่อมต่อสัญญาณจากลำโพงหลักข้างขวา (Active) ไปยังลำโพงข้างซ้าย (Passive) ติดตั้ง Connector รูปแบบเฉพาะ; ขวา – ส่วนล่างของลำโพงหลักข้างขวาในชุด SVS Prime Wireless Speaker ติดตั้งปุ่มควบคุมคู่ขนาบข้างจอแสดงผลที่มีไฟเรืองแสงสีน้ำเงินเข้ม

ที่บริเวณส่วนล่างของลำโพงข้างขวาติดตั้งปุ่มควบคุมคู่ขนาบข้าง จอแสดงผล ปุ่มควบคุมฝั่งซ้ายใช้สำหรับหมุนเปลี่ยนอินพุตแหล่งโปรแกรม ไล่ตั้งแต่ AUX, Optical, Bluetooth และ Wi-Fi (DTS Play-Fi) และถ้ากดปุ่มซ้ายนี้ 1 ครั้งแล้วหมุน จะเป็นการเลือก Preset ออนไลน์คอนเทนต์ ที่บันทึกไว้ เพื่อให้ Prime Wireless Speaker เชื่อมต่อสถานีวิทยุออนไลน์ (Internet Radio) หรือผู้ให้บริการ Music Streaming ต่างๆ โดยอัตโนมัติ เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึง ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อผ่าน Smart Phone ทุกครั้งที่ใช้งาน สามารถเก็บค่าได้ถึง 6 Presets

ส่วนปุ่มควบคุมฝั่งขวาหากปรับหมุนจะทำหน้าที่เพิ่มลดระดับเสียง (Volume) ถ้ากดจะเป็นการหยุดหรือเริ่มเล่นเพลงกรณีที่เชื่อมต่อสัญญาณ Bluetooth หรือ Wi-Fi (DTS Play-Fi)

แม้ว่าPrime Wireless Speaker ถูกออกแบบให้รองรับการเชื่อมต่อ สัญญาณแบบไร้สาย แต่ยังคงให้ความสำคัญกับช่องต่อรับสัญญาณเสียง แบบใช้สายที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคยกัน Analog Audio Input ให้มาทั้ง แบบ RCA และ 3.5mm ส่วน Digital Audio Input ให้รูปแบบ Optical จุดเด่นที่เหนือกว่าแบบ Coaxial คือ อัตราสูญเสียสัญญาณน้อยกว่ามากๆ เมื่อต้องเชื่อมต่อใช้สายที่มีความยาวมากกว่าปกติ

กรณีที่ต้องการเพิ่มเติมลำโพงแอ็กทีฟซับวูฟเฟอร์เข้ามาในระบบ ร่วมกับ Prime Wireless Speaker เพื่อเสริมย่านเบสลึก สามารถทำได้ นะครับ มีช่องต่อ Sub Out มาให้พร้อม หรือหากเพิ่มเติมอุปกรณ์เสริม ของ SVS ที่เรียกว่าSoundPath Wireless Kit จะสามารถเชื่อมต่อลำโพง ซับวูฟเฟอร์แบบไร้สายด้วยเช่นเดียวกัน

การเชื่อมต่อสู่ระบบเครือข่ายออนไลน์ นอกจากรับสัญญาณไร้สาย ทาง Wi-Fi แล้ว ยังมี Ethernet (LAN) Input ให้ด้วย เพิ่มทางเลือก ที่ให้เสถียรภาพความต่อเนื่องของสัญญาณได้ดีกว่าในบางสถานการณ์ ส่วนจุดเชื่อมต่อสายไฟเป็นมาตรฐาน C7 หรือหัวเลข 8 ถอดเปลี่ยนสายได้

ปุ่มควบคุมด้านหลังจะมีสวิตช์ Wi-Fi และ Bluetooth Setup พร้อมไฟ LED แจ้งสถานะ หากไฟกะพริบหมายถึงกำลังอยู่ในโหมดรอเชื่อมต่อ ถ้าไฟติดค้างหมายถึงเชื่อมต่อสำเร็จพร้อมใช้งาน

สวิตช์ Mono/Stereo สำหรับปรับเลือกการใช้งาน Prime Wireless Speaker แบบ Stereo (Default) เป็นรูปแบบปกติเมื่อเชื่อมต่อใช้งาน แบบเต็มระบบ 2.0/2.1 ส่วน Mono จะใช้ลำโพงเพียงข้างเดียว เพิ่มความ ยืดหยุ่นให้กับระบบ Multi-room สามารถยกอุ้มไปวางในห้องต่างๆ ในบ้าน ได้ง่ายๆ หรือหิ้วไปเปิดเพลงประกอบปาร์ตี้เล็กๆ นอกบ้านก็ทำได้ไม่เกะกะ พื้นที่บนโต๊ะ ไม่ต้องเชื่อมต่อสายสัญญาณ ขอให้มีจุดต่อสายไฟก็พอ

การติดตั้งใช้งาน

สายลำโพงความยาว 3 ม. ของ Prime Wireless Speaker เพียงพอ หรือจะเรียกว่าเหลือเฟือกับการใช้งานแบบลำลองทั่วไป อาทิ ตั้งวาง บนโต๊ะทำงาน หรือวางบนหิ้งบนชั้น แต่ถ้าเซ็ตอัพใช้งานจริงจังบนขาตั้ง ในห้องทดสอบแบบซิสเต็มฟังเพลง 2 แชนเนล โดยวางลำโพง 2 ข้าง ห่างกันไม่มากเกินไป สัก 1.8 – 2.0 ม. ก็ถือว่ากำลังดีไม่ตึงไม่หย่อนนัก แต่ถ้าห่างกว่านั้นสายจะตึงไปหน่อย จุดนี้หากต้องการสายที่ยาวขึ้น เห็นทาง SVS มีสายยาว 4.5 และ 6 ม. ด้วย แต่ต้องสั่งซื้อเพิ่มครับ

สิ่งที่น่าคำนึงกว่าคือความยาวของสายไฟ ถ้าไม่ได้เผื่อตำแหน่งปลั๊ก ไว้พอดีกับความยาวสายไฟที่ให้มาอาจต้องเพิ่มปลั๊กพ่วง หรือถ้าจะโม สายไฟยาวเฉพาะกิจใช้คุณภาพตัวนำดีๆ ขนาดพอเหมาะก็ช่วยอัพเกรด เสียงให้ดีขึ้นได้ด้วย แต่จุดหนึ่งที่ห้ามละเลย คือ การตรวจสอบเฟส Live-Neutral ของปลั๊กไฟเอซี เนื่องจากขั้ว C7 มีโอกาสสลับผิดตำแหน่ง และจะส่งผลกับคุณภาพเสียงของ Prime Wireless Speaker เนื้อเสียง จะบาง ความถี่ต่ำขาดน้ำหนัก และมิติเสียงแบนลง

หากมี Amazon Alexa อยู่ สามารถใช้รับคำสั่งเสียงเพื่อควบคุม สั่งการ SVS Prime Wireless Speaker ได้ด้วยนะครับ สมกับเป็น Smart Wireless Speaker

ผลทดสอบคุณภาพเสียง

ข้อดีของ Prime Wireless Speaker คือ การเชื่อมต่อรับสัญญาณ แบบไร้สายที่ไม่ยุ่งยาก แค่มี Smart Phone เครื่องเดียวก็เอาอยู่ ซึ่งเป็น อุปกรณ์คู่กายของผู้คนยุคนี้อยู่แล้ว ส่วนการเชื่อมต่อรูปแบบไหนดีกว่ากัน Bluetooth และ Wi-Fi (DTS Play-Fi) จะมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกัน เลือกให้เหมาะกับสถานการณ์

Bluetooth โดยพื้นฐานอาจย่อหย่อนเรื่องของคุณภาพเสียง เมื่อเทียบกับรูปแบบการสตรีมมิ่งผ่าน Wi-Fi หรือเชื่อมต่อแบบใช้ สายสัญญาณ แต่ให้ความสะดวกมากที่สุด เพราะอุปกรณ์รองรับมากมาย การเชื่อมต่อเป็นแบบ Direct ไม่ต้องผ่านเครือข่าย หรือแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต ซึ่งเทคโนโลยี Bluetooth ของ Prime Wireless Speaker รองรับการเข้ารหัสเสียงแบบ aptX (อุปกรณ์ต้นทางต้องรองรับด้วย) ช่วยให้การส่งผ่าน สัญญาณเสียงไร้สายรูปแบบนี้มีความสมบูรณ์น่าฟังขึ้น

การเชื่อมต่อสตรีมมิ่งผ่าน Wi-Fi ด้วยแอพ DTS Play-Fi มีศักยภาพ สูงกว่ารองรับฟอร์แม็ตถึงระดับ Hi-res ในแง่คุณภาพเสียงใกล้เคียงการ เชื่อมต่อแบบใช้สายมาก แต่ที่ถูกใจเป็นพิเศษเห็นจะเป็นความหลากหลาย ของผู้ให้บริการ Online Music การรับบทเพลงจะไม่จำเจเฉพาะ อัลบั้มเดิมๆ ที่สะสมไว้ แต่เปิดโลกทัศน์ทางดนตรีให้มีโอกาสพบ เจอแนวเพลงหรือศิลปินใหม่ๆ ยิ่งได้การส่งเสริมจาก 192kHz/24-bitHi-resolution DAC ของ Prime Wireless Speaker การเข้าถึงดนตรี ก็ดูลงตัวเหมาะเจาะ อย่างไรก็ดีการใช้งาน DTS Play-Fi ให้ได้ประสิทธิภาพ สูงสุด ระบบเครือข่ายต้องมีเสถียรภาพ และจำเป็นต้องมีแพ็กเกจ อินเทอร์เน็ตกรณีที่ต้องการรับฟัง Online Music

ซ้าย – ในส่วนของการเชื่อมต่อสัญญาณ Bluetooth กับ Prime Wireless Speaker นั้นง่ายมาก แค่เปิดฟังก์ชั่น Bluetooth ของ Smartphone และกด ค้นหาอุปกรณ์ จะพบตัวเลือก “SVS SPEAKER xxxx” สามารถแตะ Connect เพื่อทำการเชื่อมต่อได้เลย; ขวา – การเชื่อมต่อสัญญาณ Wi-Fi ผ่านแอพ DTS Play-Fi ซับซ้อนกว่าเล็กน้อย แต่จะมีคำแนะนำสามารถดำเนินการตาม ขั้นตอนได้ไม่ยาก

ได้ฟังน้ำเสียง Prime Wireless Speaker ครั้งแรก ประเด็นที่ต้อง พูดถึงก่อนเพราะฉายแววเด่นมาก คือ ย่านความถี่ต่ำที่ถูกผลักดันออกมาได้เกินตัว ทั้งน้ำหนัก ปริมาณ และย่านการตอบสนองความถี่ แน่นอนที่ว่าเกินตัวนี้คงมิอาจแทนที่ลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ หรือระบบ 2.1 ที่มีลำโพง ซับวูฟเฟอร์รับหน้าที่ย่านต่ำเฉพาะได้ แต่ถ้ามองจากขนาดซิสเต็มที่เห็น วูฟเฟอร์เล็กเพียงแค่ 4.5 นิ้ว แต่ได้เบสขนาดนี้บอกเลยว่าไม่ธรรมดาจริงๆ จุดนี้ยิ่งตอกย้ำแนวทางการออกแบบไฟน์จูนต่างๆ ที่ SVS ทำกับลำโพง แอ็กทีฟรุ่นนี้เพิ่มเติมจากรุ่นลำโพงพาสซีฟเดิม อาทิ ภาคขยายแบบ Class-D แยกขับมิดเรนจ์วูฟเฟอร์โดยเฉพาะแบบ Bi-amp ควบคุม การทำงานตัวขับเสียงผ่านระบบดิจิทัล และไฟน์จูนด้วยท่อ Bass-reflex ขนาดใหญ่กว่ารุ่นปกติ อะไรที่ดูจะเป็นไปไม่ได้กับลำโพงเล็กก็เกิดขึ้นได้

จุดเด่นด้านนี้ช่วยให้ Prime Wireless Speaker รองรับแนวเพลง หลากหลาย จะฟังเพลงผ่อนคลายสบายๆ ก็ได้ หรือจะไปแนวกระฉับกระเฉง คึกคักก็เข้าทาง

ศักยภาพของ Prime Wireless Speaker หากนำไปประกอบรับชม ภาพยนตร์ดูบ้างจะตอบสนองได้ดีเพียงใด… ทดสอบโดยเชื่อมต่อสัญญาณ Optical Audio Output จาก Smart TV (2) รับชมภาพยนตร์และ ความบันเทิงออนไลน์ อย่าง Netflix YouTube หรือแม้แต่รายการข่าว- ละครบนดิจิทัลทีวีได้อรรถรสมากยิ่งขึ้น ลักษณะลำโพง 2.0 แยกตำแหน่ง อิสระซ้าย-ขวาชัดเจน พร้อมภาคขยายและ DAC ที่เหนือกว่าเป็นการ อัพเกรดเสียงจากลำโพงของทีวีได้ดีขึ้นทุกด้าน ในแง่มิติการโยนเสียง เซอร์ราวด์ในแบบลำโพงสเตอริโอก็ทำได้ดีกว่าซาวด์บาร์หลายๆ รุ่นเสียอีก จุดหนึ่งเป็นเพราะเวทีเสียงที่แผ่ขยายเติมเต็มบรรยากาศด้านกว้างดีกว่าเสียงสนทนามีน้ำหนัก รายละเอียดเสียงเปิดเผยจะแจ้ง ต้องยกอานิสงส์ ให้ Aluminum Dome Tweeter ที่ให้ความกระฉับกระเฉง มีชีวิตชีวาเปิดเผยรายละเอียดยิบย่อยดี

ถึงแม้ Prime Wireless Speaker จะเป็นลำโพงเล็กที่ให้ปริมาณเบสดี แต่สำหรับคอภาพยนตร์ฮาร์ดคอร์ ลำโพงซับวูฟเฟอร์ยังเป็นอุปกรณ์เสริม ที่เพิ่มอรรถรสได้ และ Prime Wireless Speaker ก็พร้อมอัพเกรดในจุดนี้ ใช้เวลาไฟน์จูนระดับเสียง จุดตัดความถี่ และเฟสของซับวูฟเฟอร์นิดหน่อย เสียงเอฟเฟ็กต์ย่านต่ำจากภาพยนตร์ผ่านระบบ 2.1 จะหนักแน่นสมจริง ดูสนุกยิ่งขึ้น

หากต้องการซิสเต็มลำโพงไฮไฟเล็กๆ ที่จัดครบจบในตัว ติดตั้งง่าย ไม่ต้องพ่วงอุปกรณ์และสายสัญญาณพะรุงพะรังมากมาย แต่รับฟังความ บันเทิงได้หลากหลาย คุณภาพเสียงเกินตัว Prime Wireless Speaker เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ถามว่ามีข้อจำกัดไหม ก็เป็นปกติของลำโพงเล็ก หากปรับเพิ่มระดับเสียงดังกว่าปกติ เสียงอาจจะตีรวนบ้าง แต่โดยสภาพ ใช้งานทั่วไปน้อยนักที่จะฟังดังขนาดนี้ ซึ่งด้วยความที่มันเป็นลำโพง แนวไลฟ์สไตล์ จุดนี้ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องติติง

ในแง่พื้นฐานลำโพงไฮไฟที่อัดแน่นเต็มเปี่ยมเป็นส่วนสำคัญที่ส่งให้ Prime Wireless Speaker เป็นลำโพงเล็กอเนกประสงค์ที่ให้ทั้งคุณภาพเสียง ผสานการใช้งานอย่างลงตัวตามยุคสมัย. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 272