ไกรฤกษ์

นักเขียน : นพ. ไกรฤกษ์ สนิธวานุรักษ์ :

เมื่อสองปีก่อน ผมมีโอกาสได้ไปงานสัมมนาเกี่ยวกับเครื่องเล่น แผ่นเสียงยี่ห้อหนึ่งที่ยุโรป และมีโอกาสพบเจอ Roy Gregory นักวิจารณ์เครื่องเสียงชื่อดังของอังกฤษ ผู้ก่อตั้ง HiFi Plus และ The Audio Beat แกได้กระซิบว่า ให้ผมหาโอกาสไปฟังหัวเข็มของญี่ปุ่นยี่ห้อ Fuuga และโทนอาร์มยี่ห้อ Thales ให้ได้ “You will amazing!” แกย้ำเตือน เมื่อกาลเวลาผ่านไป ผมได้แวะเวียนไป ร้าน Audio Absolute ของอาจารย์วิพล ก็ได้พบว่าอาจารย์ได้ เป็นตัวแทนเครื่องเล่นแผ่นเสียงยี่ห้อ Thales ของสวิสเรียบร้อยแล้ว เลยเกิดความกระตือรือร้นอยากจะลองเล่นลองฟังเครื่องเล่น แผ่นเสียงและอาร์มของยี่ห้อนี้ ว่าดีสมคำร่ำลือที่ Roy ว่าไว้จริงหรือไม่ (ปล.หัวเข็ม Fuuga ก็มีตัวแทนจำหน่ายในบ้านเราแล้ว) 

อาจารย์วิพล เล่าว่า… ตอนที่ได้ทำแบรนด์ EMT ของเยอรมนีนั้น ทาง EMT กับ Thales มักออกงาน ร่วมกันอยู่เสมอ โดยการเดโมของเมืองนอก ทาง Thales ใช้หัวเข็ม EMT ตลอด จึงเป็นเหตุที่อาจารย์ วิพลได้เป็นตัวแทนทั้งสองยี่ห้อนี้ ผมไปเยี่ยมเยือน ร้านของอาจารย์บ่อย พอได้เห็นเครื่องเล่นแผ่นเสียง ยี่ห้อนี้แล้วก็รีบออกปากขอยืมอาจารย์มารีวิวทันที ตอนแรกยังไม่ได้ถามราคาหรอกครับ แต่พอมาค้น ดูราคาทีหลังก็ตกใจเล็กน้อยว่า เทิร์นฯ ตัวเล็กๆ ขนาดนี้ราคาเอาเรื่องเหมือนกันทีเดียว แสดงว่าต้องมีอะไรดีแน่ๆ

THALES CONCEPT 

Thales เป็นนักปราชญ์ ชาวกรีกโบราณ Thales of Miletus ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 620 – 546 ก่อนคริสตกาล เขาได้ให้ทฤษฎีว่า ภายใต้ครึ่งวงกลม เมื่อเรากำหนดสามเหลี่ยม ลากจากแต่ละข้างของจุดเส้นผ่านศูนย์กลาง ไปยัง ขอบวงกลมจะเป็นมุมฉากเสมอ ตามรูป… 

โดยปกติทฤษฎีนี้ เรานำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสามเหลี่ยมมุมฉาก หรือในกรณีที่มีมาตรวัดมุมฉากอยู่แล้ว ก็นำมาประยุกต์ในการหา center ของวงกลม ทีนี้ ถ้าเราเอาภาพดังกล่าวมา flip กลับ จะเป็นดังนี้ 

Micha Huber นักประดิษฐ์ชาวสวิส เอา ทฤษฎีดังกล่าวมาประยุกต์ โดยการสร้างวงกลมอีกวงหนึ่งขึ้นมา โดยสมมติให้ระยะ AC คือระยะแนว รัศมีของ platter เครื่องเล่นแผ่นเสียง เมื่อเราวาด วงกลมอีกวง ก็จะเป็นดังนี้ 

วงกลมทางซ้าย เทียบเท่ากับตัว platter ระยะ AC คือ ระยะที่เราต้องการให้หัวเข็มเดินทาง เสมือนเป็น linear tracking วงกลมใหญ่ทางขวา คือ วงกลมเสมือน จุด M คือจุดกึ่งกลางวงกลมใหญ่ และเป็นจุดที่เราจะติดตั้งอาร์ม Micha เขาต้อง อาศัยการคำนวณ และสร้างแกนก้านอาร์มอีก อันหนึ่งในแนว BC และเพิ่มจุดหมุนตรงตำแหน่ง C (คือ headshell) เพื่อให้ชดเชยมุมตลอดเวลาที่ แนวอาร์ม MC กวาดไปตามแนว AC ดังภาพนี้ ผลที่ตามมาก็คือ การเดินทางของหัวเข็มจะวิ่ง ในแนวรัศมีของ platter ประหนึ่งว่าเป็น linear tracking arm 

และนี่คือหน้าตาอันแปลกประหลาดล้ำของ Thales tonearm ตัวต้นแบบ ชื่อว่า Thales Original arm 

จริงๆ อาร์ม Thales Original นั้นได้รับรีวิวว่า ให้เสียงที่ดีมาก ตั้งแต่ตอนที่ออกมาใหม่ๆ แต่ด้วย หน้าตาที่แปลกประหลาด และยากลำบากในการ ติดตั้งกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงในท้องตลาดทั่วไป ทาง Micha เลยออกแบบและคำนวณใหม่ ผลที่ได้ มาคือ อาร์มลักษณะก้านคู่ ที่มีจุดหมุนตรงตำแหน่ง headshell อีกจุดหนึ่งเพื่อปรับมุม offset ตลอด เวลาในการเล่น เพื่อให้เสมือนกับว่าเป็น linear tracking สิ่งที่ได้มาก็คือ Thales Simplicity arm นั่นเอง 

หลังจากที่ทาง Micha ประสบความสำเร็จ กับ tonearm แล้ว ก็ได้ริเริ่มที่จะทำ turntable ออกจำหน่าย โดยได้ให้บริษัท Steuri Industrial Design (www.steuri.net) ของสวิส เป็น ผู้ออกแบบเครื่องเล่นแผ่นเสียง ซึ่งมีรุ่นเล็กคือ รุ่น Slim และรุ่นใหญ่คือ Compact เดี๋ยวเราจะ มาเจาะลึกกันในแต่ละส่วนในตอน setup นะครับ 

THALES SETUP 

เราว่ากันด้วยเรื่องตัวแท่นก่อน (เพราะส่วนของ อาร์มค่อนข้างซับซ้อนสักนิด) Thales Compact II ออกแบบเป็นประเภท non suspension design ตัวแท่นขนาดกลางๆ สิ่งแรกที่ผมนึกถึงเมื่อผมเห็น แท่นนี้คือ แท่นยี่ห้อ Immedia RPM2 ของอเมริกา เลย หน้าตาคล้ายกันมาก น้ำหนักตาม datasheet บอกไว้ว่า 16 กิโลกรัม แต่ความรู้สึกของผมเวลา ยกพร้อมกับ platter แล้ว เชื่อว่าหนักมากกว่า 20 กิโลกรัมแน่ๆ ลักษณะเด่นๆ ของแท่นนี้ คือ… 

• Solid aluminum body 

• Belt drive design (ใต้ sub platter) 

• Battery power supply 

• Heavy platter 8 kg with damping matt 

เมื่อเรายก platter ออก (หนักมาก และยกออก ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่มีที่ให้เกี่ยวจับตัว platter เลย) เราจะเห็น sub platter และ drive unit อยู่ ข้างล่าง ภาพนี้เป็นตัว motor drive unit รุ่นเก่า

รุ่นใหม่นี้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยมี pulley อีกสองตัวด้านข้าง เพื่อทำการล็อกตัวสายพานให้ไม่มีการโก่งหรือสะบัดเวลาหมุน ตัว belt แนบกับ subplatter อย่างมั่นคง (ผมว่า ด้วย belt เส้นใหญ่ และกดแนบกับ subplatter มันทำให้กลไกการหมุนใกล้เคียงกับแท่นแบบ idler wheel แล้วล่ะครับ) ตามภาพ

ภาคระบบขับเคลื่อน ได้มีการ setup และ calibrate มาอย่างดีแล้วจากโรงงาน ดังนั้น เวลาติดตั้งหลังจากการขนย้ายจะต้องปลดล็อกสกรูเกลียวหกเหลี่ยมเสียก่อน โดยต้องถอดน็อตสองตัวตรงกระบอกกลมด้านบนและด้านล่าง รวมถึงมีน็อตและตัวประกบ sub platter main bearing อีกสองจุด ตรงตำแหน่ง 12 และ 6 นาฬิกาของตัว sub platter ตรงนี้ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวนี้มีการทำงานที่แม่นยำและชิ้นส่วนเล็กน้อยข้างในมากมายเหมือนกับนาฬิกาสวิส และราคาสูง การเคลื่อนจากจุดติดตั้งจะทำให้เสียหายได้ ดังนั้นไม่ควรประมาทครับ

เมื่อเราหาที่จัดวางแท่นได้เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนแรกก็ตั้งตัว plinth ให้ได้ระนาบมากที่สุด ด้วยการปรับระดับขาทั้งสามจุดใต้แท่น (ตลอดการทดสอบ ผมใช้ plate ของ soundeck รองใต้ขาของแท่นอีกทีหนึ่งก่อนเพื่อช่วยสลายแรงสั่นสะเทือนจากด้านล่าง) เช็คตัวสายพาน ปลดล็อกชุดมอเตอร์และ main bearing เรียบร้อย ก็ทำการวาง main platter ลงไปได้ละครับ ตัว main platter ผิวบนมีวัสดุคล้ายๆ ยางสังเคราะห์ทำหน้าที่เป็น mat เพื่อลด resonance จากด้านล่างขึ้นมาได้ด้วย ผิวสัมผัสของตัว disc clamp ก็ปะด้วยวัสดุแบบเดียวกับ mat นี้

ตัวแท่นมีปุ่มเลือกสปีด 33 และ 45 ตรงมุมหน้าด้านซ้าย ปุ่มจะกะพริบๆ จนกว่ารอบจะนิ่ง สามารถเลือกจาก 33 ไป 45 ได้ทันที ไม่ต้องรอ platter หยุดก่อน ถ้าหากว่าแบตเตอรี่เริ่มอ่อน ไฟที่ปุ่ม 33 และ 45 จะกะพริบเตือนพร้อมกัน ขอบเครื่องด้านหน้าทางขวามี pod ให้ fine tune speed ได้ (แต่ผมไม่ได้ปรับ เนื่องจากรอบได้ตรงเป๊ะทั้งสองสปีดแล้ว) ด้านหลังของแท่นมีจุดเสียบ charger และมีปุ่มเลือกสถานการณ์ทำงานสามแบบ คือ… ตรงกลางคือ off ผลักขึ้นจะเป็น standby พร้อมใช้งาน ผลักลงคือการ charge เครื่องไม่สามารถชาร์จไฟไปและเล่นไปพร้อมกันได้ คือถึงแม้ว่าผลักสวิตช์ขึ้นแล้วเสียบที่ชาร์จ แท่นหมุน แต่ก็เป็นการใช้งานจากแบตฯ อย่างเดียว ไม่ได้มีการชาร์จไฟเข้าแบตฯ ด้วย เวลาเล่นไม่ควรเสียบตัว charger ไว้ เนื่องจากอาจจะมีคลื่น หรือระบบไฟรบกวนได้ ตัวแบตฯ ไม่มี memory effect สามารถชาร์จเมื่อไหร่ก็ได้ 

SIMPLICITY II ARM

ชื่ออาร์มมัน simple แต่ว่าการออกแบบและการ calibrate นั้น ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ดังที่กล่าวในตอนต้นแล้วว่า การออกแบบของอาร์มนี้ใช้หลักการของ Thales circle โดยให้การหมุนของอาร์มเป็นแบบ pivot แต่ว่าการเคลื่อนที่ของ headshell และหัวเข็มเป็นแบบ linear tracking อาร์มนี้ได้รับการปรับปรุงมาจากรุ่น Original โดยไม่ต้องมีก้านยาวๆ ทางขวาให้เกะกะและน่าเกลียด เปลี่ยนมาเป็นใช้ก้านอาร์มคู่แทน ก้านแต่ละก้านมี pivot และ counterweight ของตัวเอง เมื่อสวิงไปมาจะมีการเคลื่อนที่เหลื่อมกันไปมาระหว่างก้านอาร์มทั้งสอง และตรงตำแหน่ง headshell ก็มีจุดหมุนอีกจุดหนึ่งที่คอยชดเชยให้ตัว headshell เบี่ยงมุม offset ไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา 

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ตรงตำแหน่งปลายสุดของก้านอาร์มที่เป็นที่ยึดของ headshell นั้น ห้ามเอาไขควงอะไรไปไขเล่นโดยเด็ดขาด จุดนี้เป็นจุดที่เขาปรับตั้งมาอย่างดีแล้ว มีชุด bearing เล็กๆ อยู่ในนั้น การเปลี่ยนหัวเข็มต้องถอด headshell ออกทางด้านล่าง โดยการคลายตัวสกรูหกเหลี่ยมเล็กๆ ตรงหัว แล้วสไลด์ออกเท่านั้น (ดังภาพแรกข้างบน) รูปต่อไปนี้เป็นกลไกชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ติดตั้งตรงปลายอาร์มนี้

ตรงท้ายของก้านอาร์มแต่ละก้านมีตัว counterweight แบบติดตายแบ่งกันไปข้างละครึ่งลูกอยู่ เมื่อขยับอาร์มเข้าออก ตัวก้าน pivot ทั้งสองก็จะเบี่ยงกันไปมา รวมถึงตัว fix counterweight นี้ด้วย

ถัดจากตัว fix counterweight ก็มีตัว slide counterweight (มี 3 + 2 ชิ้น) ให้มาอีก เราจะต้องใช้สองชิ้นประกบกันเพื่อตั้งน้ำหนักด้วยการ slide เข้าและออก 

ตัว move counterweight ต้องใช้สองชิ้นประกบกัน ชิ้นหลักที่มีเดือยมีสามขนาด ส่วนชิ้นที่มาประกบมีลักษณะเป็นแหว่งเสี้ยว มีให้สองชิ้น เมื่อเอามาใช้งานร่วมกัน เราจะสามารถเลือกน้ำหนักที่แตกต่างกันได้ถึงหกแบบเลยทีเดียว ตัว counterweight แบบเสี้ยว ที่เขาต้องทำแบบนั้นมีเหตุผลครับ เนื่องจากหัวเข็มแผ่นเสียงจะติดตั้งกับก้านอาร์มทั้งสองอัน เมื่อหัวเข็มอยู่ตำแหน่งแทร็กนอก ก้านอาร์มชิ้นนอกจะรับน้ำหนักมากกว่าก้านอาร์มชิ้นใน และเมื่อหัวเข็มเดินทางถึงแทร็กในๆ ของร่องแผ่นเสียง ก้านอาร์มอันในจะรับน้ำหนักมากกว่าก้านอาร์มอันนอก ทำให้ค่า tracking force มีความแปรเปลี่ยนไป ดังนั้น ตัว countertweight แบบเสี้ยวจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ ถ้าหากว่าเราลองวัดค่า tracking force ที่แทร็กนอก มีค่า tracking force น้อยกว่าแทร็กใน ก็ให้เราจัดการหมุนตัว counterweight ชิ้นเล็กที่ตัดเว้าเป็นตามภาพครับ

จะเห็นได้ว่า ลูกเบี้ยวมันให้น้ำหนักไปทางก้านอาร์มด้านใน ขณะที่ส่วนที่เว้าว่างเปล่า อยู่ทางฝั่งก้านอาร์มตัวนอก วิธีนี้เมื่อใช้ร่วมกับการปรับตุ้มเข้าออก จะทำให้เราได้ค่า tracking force ที่เราต้องการ และมีค่าคงที่ตลอดการ sweep ของอาร์มได้

ส่วนสเปกของอาร์มอื่นๆ นั้น มีดังนี้ครับ… มีค่า pivot-spindle distance 230 มิลลิเมตร, ค่า effective arm mass 19 กรัม, ค่ามุม offset จะแปรเปลี่ยนตลอดเวลาที่อาร์มกวาดไป (ดังที่อธิบายข้างต้น) ตั้งแต่ 8-19 องศา, คำนวณค่า tracking error เพียง 0.006% (อันนี้ไม่รู้ว่าเขาโม้หรือเปล่านะครับ ต้องลองฟังดู) และเหมาะกับหัวเข็มน้ำหนักตั้งแต่ 7 – 23 กรัม (ตรงนี้มีนัยสำคัญ ซึ่งจะกล่าวต่อไป)

การติดตั้งหัวเข็ม

อย่างที่เรียนให้ทราบนะครับ ว่าอาร์มนี้ได้ถูกสร้างโดยการคำนวณอย่างละเอียด มีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวหลายจุด ดังนั้น ควรศึกษาวิธีการใช้งาน และการติดตั้งหัวเข็มอย่างถูกวิธีเสียก่อน มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ เริ่มต้นเราต้องถอด headshell ข้างล่างก่อน ด้วยการคลายสกรูหกเหลี่ยมตัวเดียวตรงหัว แล้วติดตั้งหัวเข็มตามปกติ จากนั้นก็ทำการวัดระยะ overhang และแนวก้านเข็มด้วย jig ที่เขาให้มาด้วย เมื่อตั้งได้เป๊ะแล้ว ก็ติดตั้งกลับเข้าไปที่อาร์มและต่อสาย lead wire 

ตัว jig ที่เขาให้มานั้น มีจุดวงกลมเล็กๆ สำหรับเล็งให้ stylus อยู่ตำแหน่งนั้น และแนวก้านเข็มอยู่ตรงเส้นแนวดิ่ง จุดมุมมองสายตาเขามี reference ให้ โดยให้มองให้เส้นแนวตั้งและแนวขวาง ตรงกับจุดอ้างอิงที่เขากำหนดไว้ ตามภาพ

ตรงนี้ต้องใช้เวลาในการเล็งพอสมควรนะครับ ข้อคิดคือ ถ้าหัวเข็มที่ติดตั้งกับ body ไม่ได้เป๊ะ หรือแนวก้านเข็มมันไม่ได้อยู่ center ของบอดี้หัวเข็ม หรือก้านเข็มเอียงมากๆ ตรงนี้จะทำให้เราไม่สามารถตั้งได้ตรงตำแหน่ง และทำให้เกิดอาการ tracking error ให้ได้ยิน หลังจากนั้น เราก็เอามาติดตั้งกับอาร์ม แล้วไขสกรูหกเหลี่ยมให้ fix กับแป้นรับ headshell ตามภาพ (ในภาพจะเห็นไขควงหกเหลี่ยม ปักอยู่ตรงจุดสกรู fix headshell ผมเอาถาดรองไว้ข้างใต้ เผื่อว่าพลาดเกิดไขน็อตหกเหลี่ยมหลุดร่วงลงมาจะได้ไม่กลิ้งหายไป เพื่อความไม่ประมาท)

สิ่งต่อไปที่ต้องทำก็เหลือเพียงแค่การตั้ง tracking force ครับ เราจะต้อง mix and match ตัวตุ้มหลังที่เลื่อนได้ ต้องเลือกตุ้มแบบตันหนึ่งลูก (จากสามลูก) มาประกบกับตุ้มแบบเว้าเจาะช่องหนึ่งลูก (จากสองลูก) เพื่อให้ตั้งได้พอดี หัวเข็ม Benz Micro SL Wood คือหัวแรกที่ผมลองติดตั้ง (เนื่องจากคุ้นเสียง ฟังทุกวัน และเป็นหัวน้ำหนักกลางๆ) ด้วยน้ำหนักหัวเข็ม 9 กรัม ผมต้องใช้ตุ้มตันลูกเบาสุด ประกบกับตุ้มแบบเจาะช่องตัวบางสุด ถึงจะตั้งค่า tracking force ที่ 1.9 gram ได้พอดี การจะตั้งให้ได้ 1.9 gram เป๊ะๆ นั้นต้องใช้ความอดทนพอควร เพราะขยับเข้าออกนิดเดียวก็เปลี่ยนมากแล้ว เรื่องการกะขนาดน้ำหนักตุ้มหลังนี้เป็นสิ่งที่มีนัยสำคัญในการเลือกหัวเข็มที่จะมาเล่น เพราะถ้าหัวเข็มเบาเกินไปจะไม่สามารถตั้งค่า tracking force ได้ ถึงแม้ว่าเลือกตุ้มขนาดเล็กสุดแล้วก็ตาม อาร์มนี้ชอบหัวเข็มที่มีน้ำหนักสูงหน่อยครับ เกินกว่าสิบกรัมนี่สบายเลย ถ้าต่ำกว่า 7 หรือ 8 กรัม อาจจะตั้งน้ำหนักไม่ได้นะครับ หัวเข็มบางรุ่นที่เบาๆ อย่างเช่น Zyx, Denon Mc Low บางรุ่น , Dynavector รุ่นเล็กๆ อย่าง 10X5 อาจจะไม่เหมาะกับอาร์มนี้

หลังจากที่ตั้ง tracking force และปรับตัวถ่วงน้ำหนักให้ค่า tracking force เท่าๆ กันทั้งแทร็กร่องนอกและร่องในเสร็จแล้ว เราก็มาเช็ค VTA กันสักหน่อย สำหรับหัว Benz นี้ เราเริ่มกันที่ nominal VTA คือ ปรับให้อาร์มขนาน แล้วค่อย fine tune ทีหลัง

ในช่วง 2 – 3 อาทิตย์ของการทดสอบ ช่วงแรกผมใช้หัวเข็ม Benz Micro Wood ตัวเก่าของผม และมีสลับมาลองหัว Phase Tech P3 (ที่มีน้ำหนักมากขึ้น และน่าจะแม็ตช์กับอาร์มได้ดีกว่า) และสุดท้ายที่ฟังยาวๆ คือ หัว EMT รุ่นรองท็อป คือ S75 บอดี้สีดำ

ลองฟังเสียง

หลังจาก setup และทวนสอบจนแน่ใจแล้วว่า ทุกอย่างถูกต้อง ก็จัดการหาแผ่นเสียงมาลองฟัง ด้วยหัวเข็ม Benz Micro SL Wood ที่ถึงแม้ว่าเก่าหลายปีแล้ว แต่ก็ฟังมานานจนคุ้นหูบนแท่น EMT 930 สิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นว่า เทิร์นฯ EMT คือสิ่งที่ดีที่สุดนั้นได้สั่นคลอน หัว Benz Micro บนแท่น Thales มัน amazing มากๆ มันให้ sound scale ที่ใหญ่โต ชัดเจน เสียงกลางเด่นมากๆ แผ่นเสียงชุดนี้ของค่าย Analogue Production (AAPJ 105) เป็นแผ่นที่ผมแนะนำอย่างยิ่งในการฟังเพื่อประเมิน analog playback ย่านเสียงกลาง เสียงของ Johnny Hartman อิ่มใหญ่(มาก) มี hall ambient ทุกอย่างดูเหมือนว่าจะขยายตัวออกไปทั้งด้านข้าง และเสียงกลางที่เด่นขึ้นมาข้างหน้า เมื่อเทียบกับ EMT 930 ที่ฟังแล้วจะมัวกว่าในย่านเสียงกลางสูง ฟังแล้วตกใจมากครับ ว่าแท่นตัวไม่ใหญ่ (แต่ราคาใหญ่) นี้ทำได้ขนาดนี้เชียวหรือ นับว่าที่ราคาสูงนั้นไม่ถือว่าโอเวอร์ไปจริงๆ เสียดายเพลงนี้ไม่สามารถนำมาเดโมให้ฟังบน soundcloud ได้ครับ เนื่องจากติดเรื่องลิขสิทธิ์เพลง

ผมก็ไปหาแผ่นเสียงแผ่นอื่นที่เสียงดีๆ และน่าจะผ่านระบบคัดกรองของ soundcloud มาให้ฟังเป็นตัวอย่าง ท่านสามารถไปฟังได้บน playlist อันนี้นะครับ https://soundcloud.com/emt930/sets/thales-compact-turntable 

ต่อไปเป็นแผ่นของบริษัท Yamaha ชื่อแผ่น Epicurus 1 เป็นชื่อของห้องบันทึกเสียงของ Yamaha ที่ทางค่าย Three Blind Mice ใช้ในการบันทึกเสียง เลือกเอาเพลงเด็ดๆ มาให้ฟังสองเพลง คือ Auqa marine https://soundcloud.com/emt930/aqua-marine กับ Georgia on my mind (Mari Nakamoto) https://soundcloud.com/emt930/georgia-on-my-mind แท่น Thales ให้ image และ soundstage ได้กว้างจากซ้ายจรดขวาของเวทีเสียง เบสและ harmonic ของสายเบสทำได้อย่างดีมาก และไม่มีอาการมัว หรืออั้นของเสียงกลางแหลม โปรดลองฟังใน soundcloud นะครับ 

ในแทร็กที่หนึ่งของแผ่นตัวอย่างของค่าย Chasing the dragon ของอังกฤษ เพลง Concerto for 2 Mandolin (https://soundcloudcom/emt930/concerto-for-2-mandolin) น้ำหนักของเสียงการดีดสายทั้งไวโอลิน และเชลโล่ รวมถึงตัวแมนโดลินมีมวลหนาชัดเจน เบสทำได้ดีมากๆ เสียงเครื่องสายแบบสีเดี่ยวๆ อย่าง Cello suite ในแทร็กที่สองของแผ่นนี้ https://soundcloud.com/emt930/cello-interior-and-exterior-rondo ชัดเจน โฟกัส หนา อิ่มใหญ่มากเมื่อเทียบกับขนาดเครื่องเล่นแผ่นเสียง ไล่ไปจนถึง full scale orchestra อย่างเพลง Rhapsody on a theme of Paganini https://soundcloud.com/emt930/rhapsody-on-a-theme-of-paganini แผ่นเสียงสังกัด Chesky Record (CR41) มันให้สเกลเสียงและไดนามิกที่สุดยอดมาก เสียงร้องของนักร้องหญิงที่เป็นเงาของ Teresa Teng คือ Chen Jia กับแผ่นเสียงชุด We Meet Again Teresa Teng เพลง Story of Small Town https://soundcloud.com/emt930/story-of-small-town ให้เสียงที่ไพเราะมากๆ สดชื่นลื่นไหล ผมมีความประทับใจกับ Thales Compact II และ Simplicity arm มากๆ และได้ติดต่อให้ อาจารย์วิพล แห่งบริษัท Audio Absolute (ร้านของอาจารย์อยู่ห่างจากบ้านผมแค่ขับรถสิบนาทีถึง) มาช่วยฟังด้วยกันอีกคน อาจารย์ก็ชอบน้ำเสียงมาก และได้นำหัวเข็ม EMT รุ่น JSD S-75 ซึ่งเป็นรุ่นรองท็อปของ EMT มาให้ลองฟังบนแท่นนี้

ผลที่ได้นั้นยิ่งดีกว่าเสียงจากหัว Benz Micro ขึ้นไปอีก รายละเอียดของเสียงกลางและปลายแหลมมาอีกเพียบ ผมเลยจัดทำเพลงที่ริปจากหัวเข็มนี้ขึ้นมาอีก 1 playlist ตามนี้ครับ https://soundcloud.com/emt930/sets/thales-turntable-with-emt-s75 เลือกแผ่นเสียงดีๆ อีกหลายแผ่นมาอัด ที่เอาลง soundcloud ผ่าน แผ่นนี้ของ Eiji Kitamura เป็นแผ่นเสียง direct cut ของค่าย RCA ญี่ปุ่น https://soundcloud.com/emt930/what-a-little-moonlight-can-do ฟังสนุกมากๆ (เวลาฟังอยากแนะนำว่าให้ download ตัว wav file มาฟังนะครับ เสียงดีกว่าฟังบน soundcloud) กับหัวเข็ม S75 มันมีความกระฉับกระเฉง เสียงย่านกลางสูง และเสียงแหลมเปิดกระจ่าง ได้รายละเอียดที่หัว Benz Wood ให้ไม่ได้ ย่านเสียงกลางสูงในบางแผ่นอาจดูเหมือนล้นนิดๆ อันนี้น่าจะเนื่องมาจาก output gain ของหัวเข็ม EMT สูงกว่าหัว Benz Wood เกือบเท่าตัว หยิบอีกแผ่นเสียงมาฟังของค่าย Analogue Production ยุคเก่า แผ่นสีแดงสดใส รหัสแผ่น APJ 019 (เพลงนี้จะเล่นกันสามชิ้น ไม่มีทรัมเป็ต) มันให้เสียงที่ดีกว่าเวลาเล่นบนแท่น EMT 930 อย่างชัดเจน เสียงแน่น ใหญ่หนากระจายเต็มห้องฟัง ผมเชื่อว่า image และ soundstage ของเครื่องดนตรีที่บรรเลงทั้งซ้ายขวาของเวทีเสียง มันชัดเจน อิ่มหนา ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของอาร์ม Simplicity ที่หมุนกวาดแบบ linear tracking แน่นอน

บทสรุป

Thales Compact II + Simplicity arm เครื่องเล่นแผ่นเสียงจากสวิส ราคาไม่ถูกนัก แต่คุณภาพเสียงนั้นสมราคาทุกบาททุกสตางค์ ออกแบบสวยเรียบๆ งานเนี้ยบมาก ตัวอาร์มถือว่าเป็นจุดแข็งของยี่ห้อนี้ เป็น innovative design สิ่งที่เป็นข้อคิดสำหรับแท่นนี้ คือ…

1. เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ใช้งานได้ไม่ยุ่งยาก เหมาะกับทั้งมือใหม่และมือเก่า (ความยุ่งยากจะอยู่ที่การ setup หัวเข็มเข้ากับอาร์ม ถ้าไม่มั่นใจแนะนำให้ทางร้านค้าทำการติดตั้งให้จะดีกว่า)

2. ก่อนการติดตั้งหัวเข็ม ต้องอ่านคู่มือให้เข้าใจเสียก่อน เพราะตัวอาร์มมีจุดรายละเอียดเล็กน้อยมาก ทุกอย่างได้รับการปรับตั้งอย่างเที่ยงตรง ถ้าไปไขผิดจุดจะทำให้เกิดปัญหาแน่นอน 

3. อาร์มไม่ชอบหัวเข็มที่มีน้ำหนักเบา ควรเลือกหัวเข็มที่มีน้ำหนักมากกว่า 7 กรัมขึ้นไป

4. หัวเข็มที่นำมาใช้งานต้องมีการติดตั้งระบบก้านเข็ม และ coil magnet system ที่ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อเทียบกับตัว body หัวเข็ม หรือตัวหัวเข็มที่ใช้ควรมีก้าน cantilver ที่ตรง ไม่เอียง

5. ต้องใช้ความตั้งใจสักนิดในการตั้งจุด overhang บน jig และการตั้งค่า tracking force ที่ใช้วิธีการ slide ตุ้มน้ำหนัก การจะตั้งค่า tracking force ให้พอดีเป๊ะถึงทศนิยมตำแหน่งที่สองต้องใช้ความอดทนพอสมควร

6. อย่าลืมแวะไปฟังเพลงที่ผมริปจากแท่นนี้ที่ผมทำเป็น playlist ไว้นะครับ เพื่อจะได้เข้าใจแนวเสียงของแท่น หัวเข็ม และภาคโฟโนที่ใช้รีวิว ที่ soundcloud.com/emt930 เลือกฟัง playlist ได้ทั้งสองชุด สองหัวเข็ม

อยากให้ท่านที่พอมีเวลา ลองไปขออาจารย์วิพล ฟังได้นะครับ ที่ร้าน Audio Absolute ที่ The Walk ตรงวงเวียนราชพฤกษ์ ตัดกับเส้นนครอินทร์ อาจารย์วิพลยินดีต้อนรับนักเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียงทุกท่านแน่นอนครับ ลองหาโอกาสไปลองฟังดูครับแล้วท่านจะทึ่ง. ADP

THALES COMPACT II & THALES SIMPLICITY TONEARM 
ทั้งชุดราคา 919,000 บาท 

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Audio Absolute
โทร. 0-2489-8954, 081-845-4321, 086-307-9480

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 250