ธีรวัฒน์

นักเขียน :  ธีรวัฒน์ โชติสุต :

ใครจะไปเชื่อว่า อดีตครูสอนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ระดับมัธยม เกษียณออกมาออกแบบผลิตลำโพงเพียงรุ่นเดียว ก็ได้กลายเป็นรุ่นที่เป็นตำนาน และดังมากๆ ในวงการเครื่องเสียง ซึ่งนั่นก็คือ Totem: Model One นั้นเอง

นับจาก Totem Model One ได้ปิดไลน์การผลิตลง ทำให้ Totem Sky ซึ่งหลายคนบอกว่า เปรียบเสมือนตัวตายตัวแทนของ Totem Model One แต่ในความเห็นของผม Totem Sky ไม่ได้เป็นตัวตายตัวแทนของ Totem Model One แต่น่าจะเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่จะสร้างความแตกต่าง และสร้างตำนานขึ้นมาใหม่ เพื่อให้โด่งดังไม่แตกต่างจาก Totem Model One จากประสบการณ์ของผมคิดว่า Totem Sky จะดัง และมียอดขายสะสมต่อเนื่องมากกว่า Totem Model One แน่ๆ ด้วยเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญก็คือ เล่นง่ายกว่า Totem Model One เยอะครับ

อิมพีแดนซ์ปกติ 8 โอห์ม ความไว 87dB ทำให้ Totem Sky น่าสนใจขึ้นมาไม่น้อยทีเดียว ยิ่งเมื่อได้ทดลองเซ็ตอัพและวางได้ค่อนข้างง่าย เป็นมิตรต่อสภาพห้อง คือไม่จำเป็นต้องเป็นมือทองในการเซ็ตอัพลำโพงก็ยังได้เสียงที่ดีออกมาจาก Totem Sky เช่นกัน

ทวีตเตอร์ของ Totem Sky เปลี่ยนมาใช้เป็นโดมผ้าไหมขนาด 1.3 นิ้ว ไม่ได้ใช้โดมโลหะอย่างเช่น Model One มิดเรนจ์/เบสใช้ขนาด 5 นิ้ว ดูจากสเป็กความถี่เสียงลงได้ถึง 48Hz และตอบสนองความถี่ด้านเสียงได้สูงถึง 29.5kHz

ความถี่ด้านต่ำผมไม่ได้คาดหวังหรอกนะครับ ว่าต้องลงได้ลึกขนาดนั้นจริงๆ เพราะในความจริงก็ยังมีสภาพอะคูสติกของห้องมาช่วยเช่นกัน แต่เมื่อได้ลองเล่นแล้ว ยอมรับว่า ความถี่ตำตอนต้นและกลางของ Totem Sky นั้น น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

Totem Sky ไม่ได้เป็นลำโพงเบาหรือหนักมากนัก ถือเป็นลำโพงวางขาตั้งน้ำหนักกลางๆ พอประมาณ ขนาดของลำโพงก็ไม่ได้จัดเป็นลำโพงวางขาตั้งไซส์ใหญ่ ด้วยสัดส่วนของลำโพง (กว้าง x สูง x ลึก) 6.35 นิ้ว x 12 นิ้ว x 9 นิ้ว หรือ 16.2 ซม. x 30.5 ซม. x 22.9 ซม. เหมาะสมกับห้องขนาดเล็กมากกว่าห้องขนาดใหญ่ๆ

เซ็ตอัพ

ถึงแม้ว่า Totem Sky จะขับง่ายเล่นง่ายกว่า Totem Model One แต่อย่าลืมว่า Totem ก็ยังเป็น Totem เป็นลำโพงที่ไร้จริต ซึ่งต้องใส่ใจในเรื่องแม็ตชิ่งซิสเต็ม

ทำไม? ผมถึงเรียกว่าลำโพงไม่มีจริต ถ้าเปรียบเทียบกับลำโพง Habeth P3ESR ซึ่งผมเคยเล่นมาก่อนหน้านี้ หากเป็นเพลงร้อง ไม่ว่าจะเป็นยุคเก่าและยุคใหม่ ลำโพง Harbeth P3ESR ให้เสียงร้องที่น่าฟังมาก ย่านเสียงกลางเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของลำโพงรุ่นนี้ ไม่ว่าเราจะใช้แอมป์อะไร เสียงกลางก็ยังคงน่าฟังอยู่เสมอ

ซึ่งต่างจาก Totem ซึ่งเป็นลำโพงที่ไร้จริต ความหมายของคำว่าไร้จริตก็คือ Totem ทำหน้าที่ถ่ายทอดเสียงจากซิสเต็มต้นทาง จะให้เสียงออกมาทิศทางไหน ซิสเต็มต้นทางทั้งหมดจะมีผลค่อนข้างมากทีเดียว

นั่นก็คือ หากจะให้ Totem Sky ให้เสียงร้องของนักร้องยุคเก่าอย่างเสียงร้องของ คุณศรีไศล ให้ออกมาน่าฟังมากยิ่งขึ้นก็ต้องใช้ร่วมกับอินทิเกรตแอมป์หลอด อย่างเช่น Unison Research: Triode25 จะให้เสียงร้องออกมาไพเราะน่าฟังกว่าอินทิเกรตแอมป์โซลิดสเตทมากทีเดียว

 ถึงแม้ว่าสเป็กของ Totem Sky ระบุไว้ว่าใช้ร่วมกับแอมป์ซึ่งมีกำลังขับตั้งแต่ 30 – 125 วัตต์ แต่เอาเข้าจริง การใช้ร่วมกับแอมป์โซลิดสเตทกำลังขับสูงจะให้เสียงออกมาดีกว่าแอมป์ที่มีกำลังขับน้อยกว่า

อินทิเกรตแอมป์ของผมที่มีใช้งานอยู่นั้น อย่างเช่น Rega Mira3 และ CEC 3300R C3 RED ซึ่งมีกำลังขับ 61 วัตต์ และ 64 วัตต์ตามลำดับ ก็ไม่สามารถขับ Totem Sky ให้แสดงศักยภาพออกมาให้หมด

ผมเชื่อว่า หลายท่านคงสงสัยว่า อย่างไรจึงจะบอกว่า อินทิเกรตแอมป์ที่มาขับนั้นใช่หรือไม่ใช่ ให้ลองจับเรื่องความใหญ่ของเสียงก่อนเป็นอันดับแรก หากแอมป์กำลังขับไม่ถึง สเกลเสียงจะออกมาเล็กไม่ได้ให้เสียงใหญ่เกินขนาดของตู้ลำโพง อย่างที่สองก็คือ เสียงเหมือนยังไม่หลุดตู้ อย่างที่สามก็คือ หัวเบสจะนุ่ม ไม่คมหนักแน่นมากนัก

เมื่อได้แอมป์ที่มีกำลังขับมากยิ่งขึ้น ความแตกต่างของเสียงใน 3 ข้อข้างต้นจะให้ออกมาแตกต่างกันอย่างชัดเจน ยิ่งตอนที่ใช้อินทิเกรตแอมป์ CEC 3300R C3 RED แล้ว ผมนำตัวบาต็อกมาใช้งานร่วมในลักษณะเหมือนหม้อแปลงเอาต์พุตในแอมป์หลอด เพียงแต่บาต๊อกออกแบบใช้งานร่วมกับแอมป์โซลิดเตทกำลังขับไม่เกิน 150 วัตต์ เสียงของ Totem Sky เป็นไปอย่างที่บอกข้างต้นทั้ง 3 ประการ

เมื่อมองลิสต์ของอินทิเกรตแอมป์ที่ผมเคยทดสอบ อาทิ Pass Lab: INT250 นั้น เหมาะสมกับ Totem Sky มากที่สุด เนื่องจากกำลังขับและสไตล์เสียงของ Pass Lab: INT250 กับ Totem Sky เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากกว่า แต่เมื่อมองตัวเลือกอื่นในราคาสมเหตุสมผลมากขึ้น และสร้างจริตเสียงบางอย่างเล็กน้อยใน Totem Sky แล้วทำให้ฟังเพลงของ คุณศรีไศล ได้ไพเราะมากยิ่งขึ้น ผมก็หันไปจับคู่กับอินทิเกรตแอมป์หลอด Unison Research: Triode25 แทน ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการคือ… ช่วยให้เสียงร้องและปลายแหลมเปิดน่าฟังมากยิ่งขึ้น และประการที่สองก็คือ ฟังก์ชั่นของตัวอินทิเกรตแอมป์ Unison Research: Triode 25 นั้นเอง ซึ่งสามารถปรับเลือกการขยายให้เป็นแบบ Triode หรือ Pentode ให้สอดคล้องกับกำลังขับที่ต้องการ 45 วัตต์ หรือ 25 วัตต์ และสามารถกำหนด Negative Feedback Control 5dB หรือ 1.8dB ได้อีกด้วย ถือว่าเป็นจุดเด่นในการใช้งานได้หลากหลายขึ้นอย่างมากทีเดียว

เมื่อได้อินทิเกรตแอมป์เรียบร้อยแล้ว สายลำโพงผมก็ใช้สายทองแดงฝอยขนาดตัวนำ2.5 sq.mm อย่างที่บอกไว้เสมอๆ อินทิเกรตแอมป์หลอดไม่ได้ต้องการสายลำโพงขนาดใหญ่ เพียงแค่สายลำโพงขนาดนี้ ความหนักแน่นของความถี่เสียงต่ำๆ ก็สุดจะบรรยายแล้ว

การเซ็ตอัพลำโพงนั้น สำหรับ Totem Sky ผมฟังแบบ Nearfield ลำโพงซึ่งใช้มิดเรนจ์/เบส ยูนิตไม่เกินขนาด 5 นิ้ว ส่วนใหญ่แล้วผมฟังในลักษณะ Nearfield แบบนี้แหละ เพราะจะได้สัมผัสถึงคลื่นความถี่ต่ำได้มากขึ้น ส่วนลำโพงก็มีการโทอินเล็กน้อย

“จากประสบการณ์ของผมคิดว่า Totem Sky จะดัง และมียอดขายสะสมต่อเนื่องมากกว่า Totem Model One แน่ๆ ด้วยเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญก็คือ เล่นง่ายกว่า Totem Model One เยอะครับ”

คุณภาพเสียง

เท่าที่มีโอกาสทดสอบลำโพงเล็กมาหลายครั้ง ลำโพงแต่ละคู่ก็มีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันออกไป บุคลิกเสียงก็แตกต่างกัน ทวีตเตอร์ก็แตกต่างกัน บ้างก็ใช้ริบบ้อนทวีตเตอร์ บ้างก็ใช้โดมโลหะ บ้างก็ใช้โดมผ้าไหม แต่สิ่งหนึ่งที่ออกมาคล้ายๆ กันสำหรับลำโพงวางขาตั้งขนาดเล็กในปัจจุบันนี้ก็คือ การออกแบบให้ลำโพงเสียงใหญ่เกินตัวจนรู้สึกไม่น่าเชื่อว่า ลำโพงขนาดเล็กจะให้ออกมาในลักษณะนี้ได้ ล้วนเป็นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้เห็นจนถือว่าเป็นเรื่องปกติของลำโพงเล็กกันแล้ว เพราะเรื่องนี้มักจะถูกหยิบมาพูดถึงเป็นอย่างแรกเสมอๆ และเป็นประเด็นแรกๆ เสมอที่จะนำมาพูดถึงกัน

Totem Sky คู่นี้น่าจะผ่านการใช้งานมาบ้างแล้ว ผมก็ยังนิยมทำเหมือนเดิมคือ เปิดเพลงทิ้งเอาไว้ก่อนเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ต่อเนื่อง ไม่ปิดเครื่องเลย แล้วจึงใช้แผ่นซีดี System Condition­ing And Degaussing CD ของ Sheffield Lab เปิดล้างซิสเต็ม แล้วทดลองฟังกันอย่างจริงจัง

Totem Sky ทำให้ผมต้องฟื้นความทรงจำในอดีต เพราะเมื่อก่อนผมรู้สึกทึ่งในคุณภาพของ Totem Model One ก็จากแผ่นซีดี “Give and Take” / Eric Tingstad and Nancy Rumbel นี่แหละ ตอนนั้นรู้สึกทึ่งว่า ลำโพงวางขาตั้งขนาดเล็กทำไมให้เสียงกีตาร์เสมือนจริงมากๆ ด้วยความเข้มข้นของเนื้อเสียง ไดนามิกของเส้นสายกีตาร์ที่ถูกกระตุกสายขึ้นมา ณ ช่วงเวลานั้น รู้สึกคุณภาพเสียงสุดแสนบรรยายมากๆ

พอมายุคของ Totem Sky ผมก็ได้หยิบเอาเพลงของ Eric Tingstad และ Nancy Rumbel ขึ้นมาฟังอีกครั้ง ก็ยังรู้สึกเหมือนกับได้กลับไปในช่วงเวลาเดิมๆ อีก ลักษณะเสียงกีตาร์จาก Totem Sky และ Totem Model One มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากทีเดียว

ผมเคยติดใจในไดนามิกหัวเสียง น้ำหนัก ความเข้มข้นของเนื้อเสียง สปีดความฉับไวอย่างไรใน Totem Model One ผมก็ยังได้รับคุณภาพเสียงแบบนั้นใน Totem Sky เช่นกัน ลำโพง Totem ค่อนข้างเหมาะกับเสียงเส้นสายอะคูสติกมากๆ

 พูดถึงหลังๆ มานี้ นับราคาลำโพงที่ต่ำกว่าแสนแทบทุกยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งลำโพงที่มาจากยุโรป หรือลำโพงที่มาจากฝั่งอเมริกา/แคนาดา โดยส่วนใหญ่ลำโพงจากอเมริกา/แคนาดาจะให้เสียงคุณภาพความถี่ต่ำโดดเด่นกว่าเสมอ แต่เมื่อมองในแง่ความถี่เสียงกลางสูง ฟังแล้วไพเราะชวนน่าฟังน่าหลงใหลนั้น ลำโพงฝั่งยุโรปทำได้ดีกว่า นี่คือข้อมูลในเชิงสถิติ

Totem Sky ในแง่ของคุณภาพเสียงด้านความถี่ต่ำแล้ว ให้คุณภาพเหนือกว่าลำโพงเล็กขนาดวางขาตั้งทุกคู่ในระดับราคาตำกว่าแสนที่ผมเคยฟังมา พูดถึงในแง่ของคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ

จริงอยู่ ในระดับราคาลำโพงต่ำกว่าแสน มีลำโพงหลายยี่ห้อที่ให้เสียงความถี่ต่ำใหญ่และลงได้ลึกกว่า Totem Sky แต่หากพูดถึงคุณภาพของเสียงย่านความถี่ต่ำแล้ว Totem Sky เหนือกว่าค่อนข้างมากทีเดียว

แผ่นซีดีของ He Xun-Tian ชุด Tathagata / XRCD2 แนวเพลงนิวเอจ เพลงที่สื่อสารถึงแนวพระพุทธศาสนานิกายมหายานของทิเบต เพลงเหล่านี้บอกได้เลยว่า ความถี่ต่ำค่อนข้างโหดสำหรับลำโพงเล็กๆ ขนาดวางขาตั้งทั้งหลาย เนื่องจากความถี่ต่ำที่บันทึกมานั้นเอาเรื่องทีเดียว ลำโพงเล็กขนาดวางขาตั้งหลายคู่ หากพยายามจะฝืนศักยภาพทางฟิสิกส์ของตนเอง พยายามทำให้ลำโพงตอบสนองความถี่เสียง และรายละเอียดเสียงของความถี่ต่ำได้ลึกมากขึ้น เมื่อเจอแทร็กแรก The Heaven Outside Heaven ก็ถึงกลับแสดงความผิดเพี้ยนของสัญญาณออกมาแล้ว

ลำโพงวางขาตั้งลักษณะนี้ หากโฟกัสเฉพาะย่านความถี่ต่ำตอนบนและความถี่ต่ำกลางๆ สักหน่อย เน้นแค่นี้ก็ไม่ได้รู้สึกว่าขาดเบสแล้ว การควบคุมรายละเอียดเสียงต่างๆ ของความถี่ต่ำบรรยากาศ และมีความผิดเพี้ยนของสัญญาณที่ตำมากๆ จะให้ออกมาดีมากยิ่งขึ้นเหมือนที่ลำโพง Totem Sky เป็นอยู่

แน่นอนว่า แทร็กนี้เมื่อเทียบกับลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่อย่าง Heco: Direkt Dreiklang ปริมาณของเบส และสเกลเสียงนั้น คงเทียบกันลำบาก แต่สิ่งที่ Totem Sky ตอบสนองออกมาไม่ได้รู้สึกว่าขาดเบสหรือพละกำลังแต่อย่างไรเลย สเกลเสียงและมวลเสียงขนาดใหญ่นั้นยังสัมผัสความใหญ่ของมวลคลื่นพลังงานความถี่ต่ำได้ ไม่ได้รู้สึกว่าขาดแคลนหรือต้องการให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเลย ยิ่งรายละเอียดเสียงก็ยังสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่ได้หวนคิดจะถามหาเบสลึกๆ เลย ผมคิดว่า หาก Totem Sky พยายามออกแบบให้ลำโพงตอบสนองความถี่ต่ำได้ลึกมากกว่านี้ ในเพลงนี้ก็จะส่งผลร้ายดีกว่าผลดีแน่ๆ

ยิ่งเมื่อเปิดแผ่นซีดีของ Patricia Barber / Café Blue แทร็กแรก “What A Shame” ช่วงต้นเพลงซึ่งมีเบสเล่นนำมา มวลและน้ำหนักของเบสนั้น ถือว่า Totem Sky เป็นลำโพงที่ให้เสียงช่วงนี้ออกมาดีมากทีเดียว ยิ่งช่วงกลางๆ เพลงซึ่งมีช่วงโซโล่กีตาร์เล่นพร้อมไปกับเครื่องดนตรีอื่นๆ ทั้งกลอง เบส เปียโน รายละเอียดของเสียงต่างๆ ความกังวานของกีตาร์ไฟฟ้า แยกแยะรายละเอียดทุกอย่างออกมาได้ดีมาก หัวโน้ตของเสียงแต่ละเสียงนั้น คมแน่นชัดเจน เรนจ์เสียงจากหนักไปหาเบาค่อนข้างกว้างทีเดียว และที่สำคัญก็คือ เป็นลำโพงเล็กที่ให้สเกลของเวทีเสียงใหญ่ กว้างและลึกมากทีเดียว

ตรงนี้ ถือว่าเป็นจุดเด่นของลำโพง Totem Sky ก่อนหน้านี้ผมเคยฟังลำโพงวางขาตั้งจากประเทศอังกฤษในระดับราคาต่ำกว่าแสน ซึ่งเป็นลำโพงที่ให้เวทีเสียงกว้างและลึกดีเช่นกัน ส่วนมวลเสียงความหนักแน่นเข้มข้นของเนื้อเสียงนั้น Totem Sky ให้ขนาดของมิดเรนจ์/เบสที่มีขนาดเล็กกว่า แต่กลับให้ออกมาดีกว่าเสียอีก

ตรงนี้ต้องยอมรับกึ๋นในการออกแบบลำโพง Totem Sky มากๆ ที่ทำให้ลำโพงซึ่งใช้กรวยมิดเรนจ์/เบสขนาด 5 นิ้ว แต่ให้เสียงออกมาดีกว่าลำโพงที่มีกรวยใหญ่กว่าเสียอีก แถมยังมีความผิดเพี้ยนของเสียงที่ต่ำมากๆ

ส่วนหนึ่งผมคิดว่า เกิดจากความไม่พยายามจะทำให้การตอบสนองความถี่ต่ำของ Totem Sky ลงลึกมาเกินไป เอาแค่เบสต้น เบสกลาง แต่เน้นให้คุณภาพออกมาดีมากที่สุด เมื่อเราฟังเพลงก็ไม่รู้สึกว่าขาดความถี่ต่ำๆ เลย อีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อลำโพงทำงาน กรวยมิดเรนจ์/เบสยูนิตขยับน้อยมาก จึงทำให้ตอบสนองความถี่เสียงได้อย่างรวดเร็วฉับไว รายละเอียดของเสียงต่างๆ จึงอยู่ครบ เสียงออกมากระจ่างชัดเจน

Inger Marie Gundersen นักร้องหญิงชาวนอร์เวย์ ในสาขา Vocal Jazz ที่ผมชื่นชอบเป็นการส่วนตัว เพราะเสียงมีพลังและมีความอ่อนช้อยอยู่ในที แรกเริ่มนั้น Inger Marie โด่งดังจากการนำเพลงพ็อพมาร้องในสไตล์แจ๊สจากชุดแรกก็คือ “Make This Moment” แต่สำหรับบ้านเรา งานของ Inger Marie ที่นักเล่นหลายคนรู้จักก็น่าจะเป็นชุด “Be Myself ” ที่ยกงานของ Inger Marie มาอ้างก็เพื่อจะบอกว่า จะเซ็ตให้เสียงของ Totem Sky ไปในทิศทางไหนก็ขึ้นกับต้นทางแล้วล่ะครับ

จำที่ผมบอกไว้ตอนต้นได้ไหมครับ ผมได้บอกว่า Totem Sky คือลำโพงที่ไร้จริต เพราะฉะนั้น เรื่องเสียงบางอย่างของ Totem Sky การแม็ตชิ่งซิสเต็ม และซิสเต็มที่ใช้งานจะมีผลค่อนข้างสูงทีเดียว

ก่อนหน้านี้ เมื่อ Totem Sky ขับด้วยแอมป์พวกโซลิดสเตท เสียงของ Inger Marie จะออกไปทางเสียงที่มีพลัง แต่ความอ่อนช้อยที่ทำให้เรารู้สึกหลงใหลในตัวเสียงมากยิ่งขึ้นนั้น ถ้าจะมีก็ต้องเล่นกับแอมป์หลอด อย่างเช่น Unison Research: Triode25 ที่ผมได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้

ถามว่า แอมป์หลอดทำให้เสน่ห์ในเรื่องพละกำลังของย่านความถี่ต่ำของ Totem Sky หดหายหรือเปล่า? เปล่าเลย แต่แอมป์หลอดช่วยเติมเสน่ห์ในย่านกลางแหลมของ Totem Sky ให้น่าฟังมากยิ่งขึ้น

อย่าลืมนะครับ ว่า Inger Marie เป็นนักร้องที่มีความสามารถสูงมาก เสียงมีพลัง สามารถเก็บลมในปอดได้เยอะ จึงสามารถเล่นคีย์เสียงได้หลากหลาย แอมป์หลอดซึ่งช่วยให้รายละเอียดของเสียงผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด การดึงเสียงมาเติมลมในช่วงแอดลิบนั้น ยอมรับเลยว่า แอมป์หลอดช่วยให้เสียงของ Totem Sky น่าฟังมากๆ ใครจะหาว่าผมชอบลำโพงที่มีจริตหน่อยๆ ผมก็ไม่เถียงอะไร ส่วนเนื้อเสียงและความเข้มข้นของเสียงก็เป็นไปตามแผ่นตามซอฟต์แวร์ที่จะนำมาเล่นอยู่แล้ว

แต่ถามว่า แอมป์หลอดช่วยให้นักร้องเพลงร็อกออกมาแต๋วแตกหรือเปล่า มันก็ไม่ใช่นะ

เพียงแต่แอมป์หลอดช่วยเติมพลังในการฟังเพลงร้องจากลำโพง Totem Sky ได้หลากหลายขึ้นต่างหาก หากจะถามหลายๆ คนเรื่องคุณภาพเสียงร้องของ Totem Sky เป็นอย่างไร ผมเชื่อได้เลยว่าแต่ละคนจะตอบไม่เหมือนกัน แต่หากถามเรื่องพละกำลัง มิติเวทีเสียง ทุกคนจะให้คำตอบออกมาเหมือนกัน โดยไม่ต้องสนใจว่า ซิสเต็มจะเป็นอย่างไร

ถ้าผมจะบอกว่า ซิสเต็มที่ใช้งานร่วมกับลำโพง Totem Sky มีผลต่อเสียงกลางแหลมค่อนข้างมากกว่าความถี่เสียงต่ำความพลิ้วกังวาน ส่วนไดนามิกทรานเชี้ยนต์ไม่ใช่ปัญหา เพราะเป็นคุณสมบัติที่ดีของลำโพง Totem Sky อยู่แล้ว

ทวีตเตอร์ของ Totem Sky ไม่ได้เป็นโดมโลหะเหมือน Totem Model One เพราะฉะนั้น เมื่อเทียบเคียงเสียงแหลมระหว่าง Totem Model One กับ Totem Sky จะรู้สึกได้ทันทีว่า ย่านความถี่เสียงสูงของ Totem Model One จะใสกระจ่าง และปลายเสียงพลิ้วมากกว่า Totem Sky อย่างรู้สึกถึงความแตกต่างได้ไม่ยาก

จริงๆ ในแง่ของสมดุลของจริง ผมรู้สึกว่า การที่ Totem Sky เดินมาถูกทาง ที่หันไปใช้โดมทวีตเตอร์ผ้าไหม เพราะหากใช้โดมโลหะแล้วอาจจะทำให้รู้สึกว่า แหลมมันจะพุ่ง หรืออาจจะรู้สึกความเข้มของย่านความถี่เสียงสูง ทำให้บาลานซ์ของเสียงเอนเอียงไปทางด้านความถี่เสียงสูงก็ได้ แต่เมื่อมาใช้ทวีตเตอร์โดมผ้าไหม เสียงก็เลยกลับมาสู่ความสมดุลในทุกย่านความถี่เสียงมากยิ่งขึ้น

Totem Sky ในดวงใจ

            ในความรู้สึกส่วนตัวของผมเองนั้น ผมก็ยังรู้สึกเหมือนเดิมว่า Totem Sky ไม่ได้มาแทนที่ Totem Model One เลย

การออกแบบลำโพงวางขาตั้งโดยใช้กรวยมิดเรนจ์/เบสขนาด 5 นิ้ว แล้วให้ความเข้มข้น ความหนักแน่นของความถี่ต่ำยอดเยี่ยมได้ขนาดนี้ ก็เห็นมีแต่ยี่ห้อ Totem เท่านั้นที่ทำได้ และผมยังไม่เคยได้ยินลำโพงยี่ห้อไหนจะให้ได้อย่าง Totem เลย และ Totem Sky ก็ยังคงตอกย้ำความเป็น Totem อยู่เช่นเดิม

            อย่างที่บอกเสมอในบททดสอบ Totem Sky เรื่องกำลังขับ การแม็ตชิ่งซิสเต็มเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง และผมบอกได้อย่างเดียวว่า Totem Sky ก็คือ Totem ที่ไม่เคยทำให้ใครผิดหวังในเรื่องคุณภาพเสียงได้เลย. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 247