วิศัลย์

นักเขียน : วิศัลย์ เอกธรรมกุล :

GIYA G1 SPIRIT

เมื่อใดที่หยิบเพลงจากอัลบั้มไหนขึ้นมาฟัง หูก็จะพาสมองให้สื่อไปถึงเพอร์ฟอร์มานซ์ของนักดนตรี ผู้ควบคุมการเล่น และผู้ประพันธ์ จนมองข้ามความเป็นตัวตนของลำโพง หรือสลัดอรรถรสการฟังเพลงจากเครื่องเสียงออกไปเลย

VIVID AUDIO: GIYA G1 SPIRIT

VIVID Audio ถือกำเนิดเมื่อปี 2000 ออกแบบไดรเวอร์ ประกอบ และผลิตตู้เองทั้งหมด ในโรงงาน Durban ที่อาฟริกาใต้ ผู้ออกแบบคือ นาย Laurence Dickie มันสมองจากลำโพง B&W ที่สร้างสรรค์ลำโพง Nautilus ซึ่งแน่นอนว่าลำโพง VIVID ก็เป็นการต่อยอดพื้นฐานเดียวกัน รู้สึกเขาจะชอบหอยมาก ๆ เลยนะครับ

ลำโพงของ VIVID นั้นมีจุดเด่นที่จัดว่าเป็นลายเซ็นของเขาเลย ก็คือ การออกแบบตู้ลำโพง โดยยึดพลังธรรมชาติเป็นสำคัญ ลองคิดตามกันครับ ท่านสังเกตดูว่าอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติไม่มีมิติที่มีความเป็น “เหลี่ยม” ให้เห็นเลย ตามทฤษฎี Golden Ratio เหลี่ยมมุมที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจากการประดิษฐ์ขึ้นจากสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น เช่น รังผึ้งหกเหลี่ยมที่คุ้นตาก็มาจากการประดิษฐ์ของผึ้ง สารพัดเหลี่ยมมาจากมันสมองของมนุษย์เราทั้งนั้น ซึ่งท่านจะไม่เห็นเหลี่ยมมุมของตู้ลำโพง VIVID GIYA เลย

ลำโพงในอนุกรม GIYA เป็น Reference Line ของค่าย โดยมีรุ่น G1 Spirit เป็นรุ่นใหญ่สุด ตามมาด้วย G1, G2, G3 และ G4 น่ายินดีตรงที่ว่าตั้งแต่รุ่น G1 Spirit ลงมาถึง G4 นั้นเป็นการ “ย่อส่วน” ลำโพงให้เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ห้องฟังที่มีขนาดแตกต่างกัน ดังนั้น กล่าวได้ว่าคุณอยากได้ลำโพง G1 Spirit ในห้องเล็กกว่าก็ซื้อ G1 Spirit ในเวอร์ชั่น “ย่อส่วน” ลงมาอันนี้ผมชอบมาก

ไดรเวอร์แบ่งออกเป็นสี่ทาง ได้แก่… ทวีตเตอร์โดมโลหะอะลูมินั่มอัลลอยขนาด 26 มม. มิดเรนจ์ทวีตเตอร์โดมโลหะอะลูมินั่มอัลลอยขนาด 50 มม. มิดเรนจ์ไดรเวอร์ความถี่ต่ำโดมโลหะอะลูมินั่มอัลลอยขนาด 125 มม. ไดรเวอร์ทั้งสามตัวนี้มีโครงสร้างเหมือนกันตรงที่ใช้ตัวถังเป็นหลอดหางยาวเพื่อสลายพลังงานส่วนเกิน และดักไม่ให้ย้อนกลับมาที่ไดรเวอร์คอนเซ็ปต์เดียวกับลำโพง B&W Nautilus1 ส่วนตัวสุดท้ายเบสไดรเวอร์โคนอะลูมินั่มอัลลอยจะใช้สองตัววางด้านข้างของผนังตู้ในทิศทางตรงข้ามกันเพื่อสลายแรงสั่นสะเทือนที่ไม่ต้องการทิ้งไปตามกฎของฟิสิกส์ แม่เหล็กที่ใช้บอกว่ามีความเข้มข้นกว่าที่ใช้กันทั่วไปราว 2.5 เท่าซึ่งเขาเรียกว่าSuperflux เข้าใจว่าใช้แม่เหล็กนีโอไดเมียมเป็นตัวฐานในการเปรียบเทียบครับ ที่น่าสังเกตคือ ไดรเวอร์ทุกตัวใช้วัสดุที่ทำโคนชนิดเดียวกัน เบสไดรเวอร์ของ G1 Spirit เป็นขนาด 225 มม.สองตัวครับ

ลำโพงในอนุกรม GIYA ทุกตัว จัดวางและใช้ไดรเวอร์เสียงกลาง-เสียงสูงเหมือนกันหมด แตกต่างกันตรงที่ มิดเบสกับเบสไดรเวอร์ที่มีขนาดต่างกัน ซึ่งก็ส่งผลให้ปริมาตรตู้ (ขนาดตู้) ต่างกันนั่นเอง ลำโพง GIYA ยังคงแยก Crossover Network ที่ทำขึ้นเองออกมาจากตัวตู้เช่นเดียวกับลำโพง B&W Silver Anniversary และ Nautilus เลือกใช้ มันดีแน่นอนครับ ไม่มีการสั่นสะเทือนทางกลไปอินเตอร์แอ็กกับการสั่นสะเทือนทางไฟฟ้าโดยเด็ดขาด (ความถี่ของสัญญาณเสียง ก็คือความสั่นสะเทือนทางกลชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กและอ่อนไหวมาก) ตัวตู้ลำโพงขึ้นรูปพิเศษแบบ Sandwich Composite ซึ่งผมใช้เป็นจุดสังเกตว่ามันจะมีบุคลิกของตู้เปิดเผยออกมาหรือไม่ในระหว่างการทดสอบ

ปรัชญาหลักของการออกแบบลำโพง VIVID คือ การขจัดคลื่นเรโซแนนซ์ และการสะท้อนของเสียงจากตู้ลำโพงและแหล่งกำเนิดเสียงออกไปให้หมด เหลือแต่เสียงจากไดรเวอร์เท่านั้นที่ผู้ฟังจะได้ยิน แน่นอนว่าการออกแบบไดรเวอร์นั้น ใครๆ ก็สามารถทำได้ดี แต่พอเอามาประกอบขึ้นมาเป็นตู้ อันนั้น คนละเรื่อง เรโซแนนซ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของไดรเวอร์นั้น VIVID ใช้วิธีควบคุมตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างไดรเวอร์โดยตรง เช่น การใช้ตัวถังหลอดหางยาวที่เขาเรียกว่าTaper Tube Loading (TTL) สำหรับลำโพงเสียงกลาง-เสียงสูง

โครงสร้างของเบสไดรเวอร์อยากจะพูดถึงสักหน่อย เพราะว่าน่าสนใจดี เขาใช้ “เสาเชื่อม” เพื่อให้การสั่นสะเทือนของเบสไดรเวอร์หักล้างกันเอง ซึ่งเขาเรียกว่าRCCM (Reaction Cancelling Compliant Mount) ดังนั้น เมื่อเบสไดรเวอร์ทำงานปั๊มอากาศไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหนก็ตาม ตู้จึงนิ่งสนิทครับ

โครงสร้างตัวถังของเบสไดรเวอร์ขึ้นรูปจากอะลูมินั่มหล่อแข็งแกร่งลักษณะเป็นเทเปอร์มีโครงค้ำยันเป็นกระดูก 12 จุด ได้ทั้งความแกร่ง และใช้วัสดุนำความร้อนเพื่อระบายความร้อนให้กับวอยซ์คอยล์ไปในตัว หรือแม้แต่การสลายพลังงานส่วนเกินจากการปั๊มอากาศของไดรเวอร์ผ่านแกนวอยซ์คอยล์ที่เจาะรูเป็นแถวๆ เพื่อสลายพลังงานอากาศด้วยหลักการของ Helmholtz Resonator ผมว่าเป็นการออกแบบที่ละเอียดอ่อนมากนะ

ส่วนการกำจัดการสะท้อนของเสียง VIVID ใช้วิธีทำให้ตู้มีลักษณะหรือมิติที่ป้องกันการสะท้อนของเสียงที่จะสร้างความถี่พ้องที่เพี้ยนออกมาผสมโรง คือไม่มีเหลี่ยมมุม และที่แบ็ฟเฟิ้ลด้านหน้าก็มีความโค้งมนสลักเสลาเพื่อให้การกระจายเสียงราบเรียบและกลมกลืนราวกับมาจากไดรเวอร์ตัวเดียว ลำโพงตู้เหลี่ยมส่วนใหญ่จะใช้วัสดุแดมป์มาช่วย ซึ่งมีผลมากกับความสดและไวของลำโพง รวมไปถึงการทวีคครอสโอเวอร์ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง นี่คงเป็นเหตุผลหลักว่าตู้ลำโพงแบบนี้ไม่สามารถขึ้นรูปด้วย Sandwich Composite ที่มีความแข็งแกร่งมากเหมือนเหล็กแต่เบาเหมือนกระดาษที่ใช้ในรถแข่ง Formula 1 ที่มีราคาสูงมาก ใครที่ชอบลำโพงแบบอนุรักษ์นิยมก็อาจจะไม่ปิ๊งกับลำโพงนี่เท่าไหร่ เพราะจะไปทางโมเดิร์นสักหน่อย ฟินิชชิ่งลายไม้คงไม่มี ส่วนผมก็เห็นว่าไปเล่นกับเฉดสีที่พ่นได้ตามที่คุณชอบ เลือกเป็นสีเงาหรือสีด้านก็ได้ อันนี้ผมว่าก็ไม่เลว ผมชอบสีส้มจี๊ดๆ แบบ Lamborghini สีด้านๆ ก็คงจะเท่สุดๆ ส่วนตัวที่ส่งมาทดสอบเป็นสีเหลืองด้านครับ สุภาพไปหน่อยผมว่าในรูปตัดที่เห็นเป็นแผ่นฉลุตามแนวขวางตู้ นั่นไม่ใช่วัสดุแดมป์นะ มันคือโครงสร้างค้ำยันคันภายในตัวตู้ต่างหาก

ก่อนที่จะจบการสาธยายส่วนเทคนิค มันต้องมีคำถามเด็ดๆ ว่าไดรเวอร์ลำโพงสำหรับเสียงกลางและเสียงสูงมีหางยาวเรียวเพื่อสลายความถี่ไม่พึงประสงค์แล้ว ที่ด้านบนสุดของตัวตู้ยังมีการขดหางคล้ายม้าน้ำ หรือจะเรียกขดหอยก็ได้ มันมีประโยชน์อะไรหรือมีแค่ให้สวยงามราวกับเอเลี่ยนจุติ VIVID เลยมีผลการทดสอบความถี่ประกอบ มีใจความว่าเรโซแนนซ์พีคที่ความถี่ราว 180 – 200Hz นั้น เมื่อใช้ตู้ที่ส่วนปลายมีลักษณะขดม้วนอย่างที่เห็น ช่วยลดเรโซแนนซ์พีคได้มหาศาลขนาดนี้ เท่าที่ดูก็ 20dB นะครับท่าน ไม่น้อยเลยทีเดียว

เห็นว่าเป็นตู้ Sandwich Composite น้ำหนักต่อข้างก็ 80 กิโลกรัมนะ สำหรับผม น้ำหนักกำลังสวย จะอุ้มจะกอดก็ยังได้ ทั้งมีสัดส่วนโค้งเว้ามองข้างหน้าก็ดูเพรียวลมดีออก ความไวของลำโพงระบุที่ 92dB อิมพีแดนซ์ปกติ 6 โอห์ม ต่ำสุด 4 โอห์ม ก็จัดว่าเป็นมิตรกับเพาเวอร์แอมป์พอสมควร ให้ความถี่ 29 – 33Hz/KHz เบี่ยงเบนแค่ 2dB แหม ตัวเลขมันช่างวิเศษดีแท้

SET UP

เมื่อชายไม่ค่อยฉกรรจ์สามหน่อ ค่อยๆ ยกลำโพง G1 Spirit เข้าห้องฟัง ผมเชื่อมต่อด้วยเพาเวอร์แอมป์ Hovland Radia ที่มีกำลังขับประมาณ 160 วัตต์ที่ 6 โอห์ม ผ่านสายลำโพง Tellurium Q Silver Diamond2 แล้วก็ต้องพูดตรงๆ ว่าวันนั้นน่ะ ทั้งเหนื่อยทั้งง่วง สุ้มเสียงที่ได้ยินก็พบว่ามันค่อนข้างปลดปล่อย ไม่ทำตัวเป็นภาระกับเจ้าแอมป์ Hovland เลย ฟังสบายๆ ไม่เครียด ผมเปิดทิ้งๆ ไว้ด้วยเครื่องเล่นซีดี Ayre C5xeMP ผ่านปรีแอมป์ Audiovalve Conductor ผ่านสายสัญญาณบาลานซ์ทั้งชุด ใช้เวลาราวหนึ่งสัปดาห์ให้ลำโพงคลายตัว เมื่อถึงคราวจะทดสอบจริง ผมใช้แอมป์ Constellation Centaur ซึ่งมีกำลังขับราว 400 วัตต์ที่ 6 โอห์ม ให้ขยับตัวยืดเส้นยืดสายทั้งแอมป์และ VIVID G1 Spirit อีกสักหนึ่งสัปดาห์ แล้วในระหว่างนั้นก็ขยับลำโพงนิดๆ หน่อยๆ ก็ฟังดีแล้ว ระยะลำโพงวางห่างกันที่ 1.93 เมตร วางห่างผนังหลังถึงหน้าลำโพง 1.65 เมตร โทอินน้อยมากกว่าทุกครั้งครับ เพราะปกติผมจะโทอินให้เฉียดที่หลังใบหู (ชอบบรรยากาศคลุกวงใน) คราวนี้แค่เบี่ยงเข้าหาระยะสายตาเล็กน้อยเท่านั้น

OVERTURE

หลังจากจรดหัวเข็ม PP1000 ลงบนแผ่นเสียง ลำเลียงความสั่นสะเทือนจากปลายเข็มผ่านโทนอาร์ม SME V และจักรกลขับเคลื่อน Oracle Delphi VI ขยายสัญญาณต้นกำลังด้วย ASR Basis Exclusive ผ่าน Pre Audio­valve Conductor และ Constellation Amp จบปลายทางที่ลำโพง G1 Spirit สิ่งที่เรียกว่าเป็นจุดเด่นของ VIVID GIYA G1 Spirit SPIRIT คือ ความใสและสะอาดชนิดสุดขีดคลั่ง! ลืมไปเลยว่ากำลังฟังเสียงจากลำโพงที่เป็นตู้สังเคราะห์ ลำโพงตั้งตระหง่านเป็นสง่าในห้องหายตัวไป ตู้และไดรเวอร์เทคโนโลยีอะไรที่ว่ามันหายไปหมดแล้ว และมันไม่มีความสำคัญอีกต่อไปแล้วนับจากนี้ มันสามารถจำลองความยิ่งใหญ่ของซิมโฟนีหมายเลข 5 ออกมาได้หมดจด ไม่ว่าจะเป็นสเกลที่โอ่โถงที่เนรมิตห้องฟังให้มีความห้อมล้อมด้วยพลังของดนตรีวงใหญ่อบอวลราวกับเป็นบรรยากาศของคอนเสิร์ตฮอลล์ ช่องไฟในการซ้อนทับใกล้ไกลของเครื่องดนตรีแต่ละหมวดหมู่ ชัดเจนสุดแต่ประสาทการรับรู้ของผมเลือกที่จะหยิบมาพิจารณาคล้ายๆ กับผมเป็นวาทยากรซะเอง คือมองไปที่เครื่องดนตรีกลุ่มไหนก็พร้อมที่จะขานรับคำสั่งตามที่ผมประสงค์ ทุกอย่างของดนตรีดูจะเชื่องช้ามีเนื้อหามีลีลางดงามน่าติดตาม คล้ายๆ กับเวลาคุณดูวิดีโอจากดีวีดีเทียบกับบลูเรย์ แม้ว่าคอนเทนต์ยาวเท่ากัน แต่คุณรู้สึกได้ว่ามีรายละเอียดให้เก็บเกี่ยวและดื่มด่ำได้ลึกซึ้งมากกว่าชัดเจน แม้ใช้จอภาพแค่ 60 นิ้ว ไดนามิกส์ของเพลงคลาสสิก เฉียบขาด ดุดัน และมีลีลางดงามอ่อนช้อย เมื่อต้องการจะสื่อความไปในทำนองนั้น (Deutche Grammphon SMG-2001, Beethowen Symphony no.5, Berlin Philharmonic Orchestra, Herbert Von Karajan

ในระหว่างที่ฟังลำโพง G1 Spirit ผมไม่ได้พิจารณาความเที่ยงตรงหรือแม่นยำของเสียงดนตรีที่ลำโพงตัวนี้นำเสนออะไรแบบนั้นเลย โสตสัมผัสผมเปิดรับพลังของการบรรเลงในแง่มุมที่ย้อนกลับในลักษณะว่าโสตประสาทที่รับรู้การตีความของบทประพันธ์ การเข้าถึงแอ็กติ้งของวาทยากร ความเชื่อมโยงระหว่างวาทยากรไปถึงนักดนตรี ความสัมพันธ์ของโทนของดนตรีแต่ละกลุ่มที่ทั้งสอดประสานความหนักเบาความแตกต่างใน Timbre ของเครื่องดนตรีแต่ละกลุ่ม (ดีด สี ตี เป่า ในวงใหญ่คือเครื่องเป่าไม้ เครื่องเป่าทองเหลือง เครื่องสาย และเครื่องเคาะ) ที่แต่ละประเภทกลุ่มดนตรีก็แยกย่อยออกไปได้อีกสามโทน คือ ทุ้ม กลาง สูง ผ่านการบรรเลงของนักดนตรี เหล่านี้คงจะเป็นตัวบ่งชี้ให้สังเกตได้ว่านี่คือ สื่อในการถ่ายทอดการเสพดนตรีที่สมบูรณ์แบบ โดยก้าวพ้นความเป็น “เครื่องเสียง” ไปแล้ว ผมเปิดดังมากโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะไม่ได้รู้สึกถึงอาการเครียด คล้ายๆ กับคุณขยับเข้าไปนั่งใกล้วงมากขึ้น คือนักดนตรีเขาก็อยู่ตรงนั้น เล่นกันดังเท่าเดิม แต่พลังงานที่คุณได้รับจากการเข้าใกล้มากกว่าทำให้รู้สึกว่าพลังของมันแทรกซึมไปทางผิวหนังมากกว่าพูดตรงๆ ไม่มีข้อวิจารณ์ในเรื่องคุณภาพเสียงเบส มิดเรนจ์ หรือทวีตเตอร์ อีก มันปราศจากเสียงที่เป็นคาแร็กเตอร์เฉพาะตัว มันปลดปล่อยคุณภาพของอุปกรณ์ต้นทางที่นอกเหนือไปจากสื่อบันทึกและการเล่นกลับ นั่นคือ มันปลดปล่อย “วิญญาณ ความเป็นตัวตนของมนุษย์” และ “ห้วงเวลาและอากาศ” ที่ถูกบันทึกเสียงในวันนั้นให้กลับมามีชีวิตชีวาให้ผมได้เสพในห้องฟัง ทั้งๆ ที่เขาเล่นกัน(แสดงสด) ในปี 1961 – 1962 ผมยังจะต้องการอะไรที่มากกว่านี้? (แผ่นนี้วางจำหน่ายปี 1963)

ไหนๆ ก็อารมณ์พาไปขนาดนี้ ก็ต้องดื่มด่ำสุดๆ กับแผ่น Amadeus WAM-1791 เสียงโอเปร่าหญิงนั้นมีชีวิตชีวารู้สึกถึงความมีเนื้อหนังในเส้นเสียงในระดับที่อิ่ม มีพลัง และหางเสียงสวยแบบสาวใหญ่ลีลาเด็ด ขอโทษที่ต้องบอกว่าเป็นการขับเสียงร้องของนักร้องหญิงที่ทำให้ผมประทับใจมากที่สุดเท่าที่เคยฟังจากอัลบั้มนี้ ให้เสียงที่เป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อตัวอุ่นๆ ชนิดที่ลืมการฟังเพลงจากเครื่องเสียงได้เลย ความก้องของฮอลล์นั่นมันช่างชัดเจนหมดจดจริงๆ ยิ่งฟังเพลง Requiem ที่ตัดออกมาจากบทเต็มเพื่อให้สอดรับกับบทภาพยนตร์ ยิ่งรู้สึกถึงความอัจฉริยะของโมสาร์ทโดยแท้ โดยเฉพาะการติดตามวิวัฒนาการของตัวโน้ต การสลับ timbre ของแต่ละช่วง การสื่อความหมายของความน่ากลัว ความเศร้าโศก ความยิ่งใหญ่ เมื่อถึงคราวต้องอำลาโลก และสวามิภักดิ์จำนนมอบตัวต่อพระผู้เป็นเจ้าโอ้ว สุดๆ ครับ การต่อยอดความสูงของคอรัส ชายหญิงสูงต่ำที่ไล่โทนเสียงประสานกัน ไพเราะมากครับ จะเพราะกว่านี้ก็ต้องฟังการร้องสดกันในโบสถ์แล้วครับท่าน นึกถึงการกังวานของโบสถ์คริสต์หลังคาสูงสิท่าน เจ้าG1 Spirit นี่จำลองออกมาได้ชนิดที่ผมกลืนน้ำลายเอื๊อกๆ ในบทส่งท้าย Lacrimosa ผมต้องสดุดีฝีมือวาทยากรของท่าน Sir Neville ที่ผมยกให้เด็ดกว่าKarajan ในแง่การตีความให้กับบทประพันธ์ชิ้นสุดท้ายของโมสาร์ท ให้โทนของเพลงเยือกเย็น ปลอบประโลม สวยงาม ยิ่งใหญ่มาก พูดอย่างไม่อาย ฟังจบผมหลับตาน้ำตาซึมครับท่าน อิ่มเอมมาก

งานเลี้ยงก็ต้องมีวันเลิกราSheffield Lab 15 West of Oz, Amanda Mcbroom/Lincoln Mayorga นอกจากความครบถ้วนของสาระดนตรี รวมถึงการเคลื่อนไหวจะเป็นไปในทางที่ผมเคยได้ฟังผ่านหลายๆ ซิสเต็มมาแล้ว สิ่งที่ G1 Spirit จัดมาให้เพิ่มเติม เห็นจะเป็นความ “เต็มตัว” หรือเรียกว่าFull body ขององค์รวม คล้ายๆ กับความแน่นหรือความละเอียดของเนื้อเสียงมันครบเครื่องมากกว่ากัน ทั้งๆ ที่การเซ็ตลำโพงผมก็ไม่ได้โทอินอะไรกันมากมาย แสดงว่าความเป็นหนึ่งเดียวของทรานส์ดิวเซอร์แต่ละตัว (ข้างละห้าตัว) กับตู้ลำโพง มันทำงานอย่างไร้ตะเข็บและหลอมเป็นหนึ่งเดียว แผ่นนี้เป็นแผ่น Direct disc ที่อัดได้สด และไดนามิกส์ดีมาก แม้เป็นเพลงพ็อพในยุค 80 มีเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น แต่การให้จังหวะ การกำหนดสีสัน พลังของดนตรี จัดว่าครบเครื่องและไพเราะน่าฟังมากผ่าน G1 Spirit คู่นี้ อ่าขอตัวไปฟังอัลบั้มอื่นต่อครับท่าน เดี๋ยวก็จะสว่างคาตาอีกแล้ว

สรุป

ลำโพง VIVID GIYA G1 Spirit ไม่ทำให้ผมเกิดความรู้สึกบ่งชี้หรือแยกแยะว่ามันเป็นลำโพงแบบออดิโอไฟล์หรือมิวสิกเลิฟเวอร์ แน่นอนมันเป็นลำโพงที่ให้ความเพี้ยนต่ำ เทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสุดยอด ฟังเพลงเพราะได้ดุดันหรือได้หวานกลมกล่อมตามแต่บทเพลงจะพาไป ทั้งนี้และทั้งนั้นและยิ่งไปกว่านั้น มันทำให้ผมฟังเพลงได้อย่างมีความสุข และเมื่อใดที่หยิบเพลงจากอัลบั้มไหนขึ้นมาฟัง หูก็จะพาสมองให้สื่อไปถึงเพอร์ฟอร์มานซ์ของนักดนตรี ผู้ควบคุมการเล่น และผู้ประพันธ์ จนมองข้ามความเป็นตัวตนของลำโพง หรือสลัดอรรถรสการฟังเพลงจากเครื่องเสียงออกไปเลย (แน่นอนว่ารวมไปถึงส่วนประกอบองคาพยพที่ดีมากพอ) มาถึงจุดนี้ ผมคงจะต้องยกให้ VIVID GIYA G1 Spirit เป็นลำโพงที่เสียงดีติดอยู่ในลิสต์ “ลำโพงที่ดีที่สุดในโลก” อีกคู่ สมดังคำที่ผู้ผลิตแกคุยไว้ก่อนหน้านี้ ไม่ผิดครับ ผมหมายความอย่างนั้นจริงๆ ต่อจากนี้คือข้อแนะนำ

1. ท่านควรจะใช้เวลาในการฟังมากสักหน่อย แม้ว่ามันเป็นลำโพงที่เสียงดีติดหูง่าย มันดีมากกว่านั้นมากมาย จงฟัง ฟัง และฟัง ก่อนจะเชื่อผม ยิ่งบทเพลงมีความสลับซับซ้อนเท่าไหร่ เจ้าVIVID GIYA G1 Spirit ยิ่งจะเปิดเผยความไร้ตัวตนและความวิเศษของมันได้มากอย่างที่ผมบรรยายไว้มากเท่านั้น

2. อย่าตัดสินมันอย่างมีอคติจากตัวตู้ที่รูปร่างแหวกแนว คุณรู้ไหมว่าตัวตู้ทำจากวัสดุพิเศษสุด Sandwich Composite ที่ใช้ในรถแข่ง Formula 1 เพราะเมื่อฟังเสียงของมันแล้ว ตู้ลำโพงมันไม่มีความหมายอะไรเลย บทเพลงที่มันนำเสนอต่างหากที่มันจะมีความหมายให้คุณได้ฟัง ตีความ และซาบซึ้งไปกับดนตรี

3. การจัดวางไม่ยากไม่ง่าย ถึงแม้มันไม่บริโภคแอมป์เท่าไหร่ แต่ผมคงไม่สามารถคาดหวังคุณภาพในระดับที่ผมพอใจได้ ถ้าอุปกรณ์ประกอบห่างชั้นกับมันมาก คงเข้าใจตรงกันนะครับ

4. ราคาจัดว่าดุเดือด แต่ถ้าเป็นไปได้ ผมก็อยากจะเก็บไว้ใช้เอง มันดีขนาดนั้นครับ. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 246