นักเขียน : ธรรมนูญ ประทีปจินดา

LISTENING EXPERIENCE with
ELLA-LOUIS 4th generation
“XAV signature’s flagship monitor speakers”

ในเนื้อหาของบทความ ” WE ARE AN AUDIOPHILE” ในเว็บไซต์ AUDIOPHILE-VIDEOPHILE คุณผู้อ่านอาจเคยพบเห็นคำกล่าวที่ว่า “เพราะลำโพงคู่เดียวแท้ๆ” สามารถ… ระเบิดซิสเต็มได้ทั้งซิสเต็ม หรือได้ห้องฟังใหม่ หรือแม้บ้านใหม่ทั้งหลังก็ยังได้ หลายคนบอก “ห้องเลือกลำโพง” และ เครื่องเสียงบอกตัวตนของเจ้าของ

การเล่นเครื่องเสียงคือการลงทุน ในทำนองเดียวกัน ขึ้นชื่อว่าการลงทุนย่อมต้องการผลตอบแทน ในที่นี้คือได้คุณภาพเสียงตามต้องการมิใช่เหรอ จะทำอย่างไรให้ลำโพงสนองความต้องการของเจ้าของได้ดีที่สุด ได้ความพึงพอใจ ความคุ้มค่า และความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าของ

บทความต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ในการฟังลำโพงสัญชาติไทยในรูปแบบของผมนะครับ

The SINGER?

ในงานแสดงเครื่องเสียง หรือ ในห้องฟังห้องใดก็ตาม จะเห็นว่าลำโพงมีความโดดเด่นที่สุด ซึ่งคงไม่มีใครปฎิเสธว่า ลำโพงนั้นสะดุดตาที่สุด และในความเป็นจริง ลำโพงคือปราการด่านสุดท้ายที่รับหน้าที่ถ่ายทอดเสียงจากสื่อผ่านตัวเล่นต้นทาง จากนั้นก็มาที่แอมป์ แล้วส่งผ่านด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ สู่ขดลวดวอยซ์คอยล์แปลงเป็นพลังงานกลผลักกรวยลำโพงเป็นคลื่นเสียง ผลิตความถี่เป็นเสียงดนตรีให้มนุษย์ได้ยิน และที่ทำหน้าที่ยิ่งกว่านักร้องนำของวงเสียอีก คือ ถ่ายทอดเสียงของเครื่องเสียงทั้งชุดนั่นเอง

ว่ากันไปแล้ว ลำโพงมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด นอกจากนั้น ในบรรดาอุปกรณ์เครื่องเสียงด้วยกัน ลำโพงใช้อุปกรณ์ชิ้นส่วนน้อยชิ้นที่สุด แต่ไม่น่าเชื่อว่า ลำโพงกลับเป็นเครื่องเสียงที่น่าจะมีราคาแพงที่สุด ลำโพงรุ่นเรือธงของบางแบรนด์ค่าตัวคู่ละหลายสิบล้านก็มี ส่วนเครื่องเล่นอื่นๆ แม้ว่าต้องใช้เทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมสุดยอดยังไงก็ตาม กลับเป็นพระรองซะงั้น ที่แน่ๆ ลำโพงจะกระเด็นออกจากห้องฟังช้าสุด ดังนั้น การเลือกลำโพงก็เหมือนกับเลือกตัวแทนของเครื่องเสียงที่ยากจะเปลี่ยน เพราะมันจะบอกตัวตนของเจ้าของนั่นเอง

ในโลกนี้มีแบรนด์ลำโพงนับพัน แต่ผู้ผลิตลำโพงที่ผลิตไดรเวอร์เอง กลับมีไม่กี่เปอร์เซนต์หรอกครับส่วนใหญ่ก็ออกแบบ แล้วซื้อไดรเวอร์ลำโพงจากผู้ผลิตไดรเวอร์มาใช้กันทั้งนั้น ถ้าเป็นลำโพงระดับไฮเอ็นด์ก็ต้อง “ทำมือ” จูนเสียงอย่างละเมียดละมัยกว่าจะถึงมือลูกค้า และมียอดผลิตปีละไม่มากนัก เนื่องจากไม่ได้ทำเป็น mass ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มี XAV Audio ลำโพงแบรนด์ไทยอยู่ด้วย

XAV

ผู้ผลิตลำโพงแบรนด์ไทยที่มีอายุมากกว่าสามทศวรรษ ปัจจุบันสร้างชื่อด้วยการส่งออกไปขายทั่วโลก บัดนี้ทั่วโลกรู้จักลำโพง XAV เป็นอย่างดี ไฉนเลยจะมองข้ามไม่หาโอกาสมาฟังตามคำขอ นานๆ จะถูกขอให้รีวิวลำโพงสักครั้ง ขอเล่นของใหญ่ซะเลย เพื่อพิสูจน์คำว่า “ลำโพงดี คนไทยก็ทำได้” XAV รุ่น Ella-Louis “ลำโพง Flagship ของค่าย เกิดจากประสบการณ์มากกว่า 30 ปีของ XAV เป็นลำโพงมอนิเตอร์ที่ให้เสียงเที่ยงตรงที่สุด อันเป็น Signature ของลำโพง XAV” 

บัดนี้ Ella-Louis ได้มาเยี่ยมเยือนห้อง Home Studio แถบชานเมือง จะได้เห็นลำโพงใหญ่ในห้องเล็กก็คราวนี้ล่ะ จริงๆ ผมเคยได้ฟังมาบ้างแล้วในงานเครื่องเสียง แต่นี่เป็นโอกาสที่จะได้ฟังแบบเต็มอิ่มนานเป็นเดือนกันเลยทีเดียว  ก่อนอื่นมาไล่เรียงกันดูหน่อยสิว่ามีความเป็นมาเช่นไร

Ella-Louis’ Timeline

Ella-Louis ถูกวางตำแหน่งเป็นลำโพงรุ่นเรือธงของ XAV แว้บแรกเห็นเป็น 2 ตู้ วางซ้อนแยกอิสระจากกัน  คุ้นๆ นะ ที่เห็นโครงสร้างลำโพงสไตล์นี้ ยิ่งมาดูเบื้องลึกถึงแนวคิด บอกเลยว่าคู่นี้ราคาต้องเป็นล้านเท่านั้นนะที่จะทำแบบนี้ได้ มาย้อนดูนิดว่ามี Generation อะไรบ้าง

ปี 2542 Generation ที่ 1 ออกแบบมาแยกขายเป็น 2 ส่วน ส่วนบนหรือที่เรียกว่า Ella เป็นลำโพงสองทาง เบส/มิดเรนจ์ ขนาด 7 นิ้ว ทวีตเตอร์ซอฟต์โดมขนาด 1 นิ้ว กับส่วนล่างที่ทำตัวเป็นซับวูฟเฟอร์ ใช้วูฟเฟอร์ขนาด 8 นิ้ว เบสโหลดดิ้งแบบตู้เปิดเหมือนกัน

ปี 2548 Generation ที่ 2 ออกแบบโครงสร้างและเหลี่ยมมุมของตู้ใหม่ ตัววูฟเฟอร์มีขนาด 8 นิ้ว เพิ่มเป็นสองตัว โดยแยกปริมาตรตู้ภายในออกจากกันเด็ดขาด ทำงานแบบตู้เปิด หรือ Vented box อันเป็นที่มาของชื่อ V2

ปี 2554 Generation ที่ 3 Version 3 (Sweet Ella-Louis) ออกแบบโครงสร้างและเหลี่ยมมุมตู้ใหม่ เปลี่ยน มิดเรนจ์กลับไปเป็นไดรเวอร์หรูของ Vifa ซึ่งเป็นไดรเวอร์ NOS ที่กว้านซื้อเก็บไว้ XAV พัฒนาในส่วนที่เกี่ยวกับทวีตเตอร์ โดยการเพิ่มเวฟไกด์และปรับเปลี่ยนแอร์เชมเบอร์ด้านหลังโดมใหม่ ออกแบบวงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กใหม่เป็นระบบ 3.5 ทาง คือ วูฟเฟอร์ทั้ง 2 ตัว ตัดความถี่ซ้อนกัน กลายเป็นลำโพงแนวเสียงหวาน เอาใจคออะนาล็อก Sweet Ella-Louis เน้นความนุ่มนวล ผ่อนคลาย

ปี 2562 Generation ที่ 4 รุ่น 20th Anniversary ปรับเปลี่ยนเวฟไกด์ ตัวตู้เท่าเดิม แต่ปรับปรุงโครงสร้างภายในของตู้ รวมถึงเปลี่ยนวงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กใหม่ทั้งหมด ให้เสียง Full Body คาแร็กเตอร์เที่ยงตรงแบบลำโพงมอนิเตอร์ มีสปีดฉับไว จัดได้ว่าเป็น Signature ของ XAV ที่จะดีทั้งอะนาล็อกและดิจิทัลออดิโอ ตามสมัยนิยม โดยยังคงความหวานแบบอะนาล็อกไว้แบบไม่เสื่อมคลาย

Ella-Louis Gen. ที่ 4 ออกแบบเป็นลำโพงมอนิเตอร์ 2 ทาง (Ella) ใช้ร่วมกับ Louis ซึ่งทำหน้าที่เป็นซับวูฟเฟอร์ ทำงานโดยผ่านครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์ก รวมเป็นระบบลำโพง 3.5 ทาง แม้เป็นลำโพงสัญชาติไทย แต่การออกแบบและการผลิตนั้นเป็นงานวิศวกรรมที่เกิดจากประสบการอันยาวนานของทีมงาน คอนเซ็ปต์ล้ำๆ เช่นเดียวกับลำโพงแบรนด์ดังรุ่นใหญ่ราคาหลักล้าน ที่ว่าหลักล้านก็เพราะค่าการตลาดหลายขั้นตอน รวมภาษีเข้าไปอีก ทำให้ค่าตัวเพิ่มไปเท่าไหร่แล้วนั่น

Cabinet

ตัวตู้ทั้งสองตู้ทำจาก MDF และไม้อัด (Plywood) ผสานเป็นตัวตู้ด้วยรูปทรง 8 เหลี่ยมแบบไม่สมมาตรเพื่อ “ตัดปัญหาเสียงจากตู้” การเชื่อมต่อยึดไม้แน่นหนาที่มีความแข็งแกร่งเข้ากับ Baffle ด้านหน้าที่หนาพิเศษ จึงได้ตู้ที่แข็งแรง อีกทั้งยังถูกติดตั้งบนฐานไม้อย่างหนาพิเศษ เพื่อความนิ่ง สงัด เก็บอาการ Vibration ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไร้เสียงก้องกำทอน ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้เสียงเปิดและบริสุทธิ์ ผิวตู้แบบไฮกลอส พ่นสีโพลี่ยูรีเทนมาตรฐานอุตสาหกรรมส่งออก สวยงาม ล้ำค่า มี 3 สีมาตรฐานให้เลือก คือ ส้มเมทัลลิก, ดำไฮกลอส, ดำด้านลายเสี้ยนไม้ หรือจะสั่งสี Custom ก็ยังได้ แต่อาจต้องรอนานนิดหนึ่ง

ตัวตู้ของ Ella-Louis ออกแบบให้มีปริมาตรอากาศภายในตู้เป็นของตัวเอง แยกอิสระออกจากกันเด็ดขาด เพื่อกำจัดปัญหา อันจะทำให้ความถี่เสียงไปรบกวนไดรเวอร์ตัวอื่น ซึ่งส่งผลให้เสียงขุ่น พร่ามัว ไดรเวอร์ทุกตัวติดตั้งตรงกันในแนวดิ่ง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะเข้าถึงสมรรถนะด้านอิมเมจ/ซาวด์สเตจ โดยการทำงานทั้งระบบของ Ella-Louis สามารถตอบสนองความถี่ 26 25000 Hz ครับ

Drivers

แผงหน้าของ Ella-Louis ลาดเอียงเพื่อผลทางด้าน Time Alignment ส่วนที่ติดตั้งทวีตเตอร์แบบ Silk Dome นั้น จัดอะคูสติกส์เซ็นเตอร์ของไดรเวอร์ทั้ง 2 ตัว และอีกตัวด้านล่างเป็นมิดเรนจ์ ใช้ไดรเวอร์ของ Vifa กรวยทำจาก Mineral filled poly-cone อันโด่งดัง ซึ่งทั้งหมดถูกติดตั้งให้ตรงกันในแนวดิ่ง ดังนั้นเสียงทุกเสียง ทุกย่านความถี่จึงกำเนิดมาจากระยะห่างจากผู้ฟังที่เท่ากัน

Ella-Louis ใช้ไดรเวอร์ขนาด 220 mm แบบ Carbon Fiber/Paper Cone จำนวน 2 ตัว เมื่อใช้ไดรเวอร์ขนาดไม่ใหญ่มากนัก เมื่อทำงานประสานกันก็จะได้สปีดของความถี่ต่ำที่ดี เบสจึงกระชับฉับไว ได้แรงผลักปริมาณอากาศมากกว่าไดรเวอร์ขนาดใหญ่ 300 mm เสียด้วยซ้ำ ส่งผลให้การตอบสนองต่อ Deep Bass (ต่ำกว่า 36Hz) ดีมากขึ้น ในเมื่อใช้วูฟเฟอร์ขนาดไม่ใหญ่นัก สามารถทำให้ตู้หน้าแคบลงก็จะส่งผลงดีต่อ Image และ Sound Stage ไปด้วย

Crossover Network

ออกแบบแยกจากกันเด็ดขาดกันตั้งแต่อินพุต จึงสามารถเล่นได้ทั้งแบบซิงเกิ้ลแอมป์และไบแอมป์ โดยทำงานอย่างเที่ยงตรงแม่นยำ ไดรเวอร์แต่ละจึงทำงานถูกต้องสมบูรณ์แบบ ความเพี้ยน Inter Modulation Distortion ต่ำมาก และออกแบบให้เฟส (Phase) ของไดรเวอร์แต่ละตัวให้เสียงไม่ Roll Off เกินไป มีความเหลื่อมกัน เสียงจึงกลมกลืนต่อเนื่อง ผลที่ได้คือ เสียงที่ไร้ซึ่งเสียงของวูฟเฟอร์ (ทุ้ม) มิดเรนจ์ (กลาง) ทวีตเตอร์ (แหลม) มีแต่ความไหลลื่นต่อเนื่อง ที่รู้สึกได้คือเสียงดนตรีที่สมจริงนั่นเอง  

ขั้วต่อสายลำโพงแบบ Biding Postใช้ของ Michell แบบ gold plate ส่วนสายเชื่อมต่อภายในและจั๊มเปอร์เป็นสาย custom made สูตรของ XAV เอง Ella-Louis เหมาะกับแอมป์ที่มีกำลังขับตั้งแต่ 100 – 500 วัตต์ ที่ 8 โอห์ม

Set up

ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเจ้าบ้านอย่าง VITUS + WEISS นั้น ดีพอที่จะแม็ตชิ่งกับ Ella-Louis เพราะด้วยชาติตระกูล ส่วนตัวผมเชื่อว่า Ella-Louis ควร “ต้องกินของดี” ต้องไม่คิดว่าลำโพงคู่ละไม่ถึง 3 แสนบาท ราคานี้ถ้าเป็นแบรนด์ฝรั่งดังๆ จะได้เพียงลำโพงวางขาตั้งเท่านั้น ต้องมองว่ามูลค่าจริงมันคือลำโพงราคาหลักล้านเชียวนะ ลองคิดดู ลำโพงแบรนด์นอกนั้น ราคาหลักล้านนั้น จริงๆ เป็นราคา ex-worked แล้วยังต้องบวกราคากันหลายทอด ผ่านมากี่มือกว่าจะถึงเรา ดังนั้นคุณภาพต้องสู้ได้ด้วย

Ella-Louis มาด้วยกันสองตู้ของแต่ละข้าง เชื่อมกันด้วย Jumper สายยาวเฟื้อย เป็นสาย custom made ที่ทำมาให้ สายค่อนข้างยาวเพราะ biding post ตัวบนกับตัวล่างระยะห่างกันพอควร เมื่อขั้วต่อห่างกันขนาดนี้คงหนีไม่พ้นต้องใช้ Jumper ที่ XAV เตรียมมา น่าเสียดายที่อดใช้ Jumper ของ Tellurium Q รุ่น Ultra Silver ที่ใช้อยู่เพื่อจูนเสียง

Ella-Louis จับมาแม็ตชิ่งกับเจ้าบ้านอย่าง Vitus RI100, สาย Tellurium Q Ultra Silver, สาย Tchernov  XLR Classic MK II ส่วนตัวต้นทางเล่นไฟล์เพลงโดยใช้ Network Transport จากเดิมคือ Aurender ACS100 ที่เพิ่งเปลี่ยนเป็น SOtM sMs200 Ultra Neo + sCLK-OCX10 Master Clock พร้อม sPS500 Power Supply Unit ปล่อยสัญญานไปยัง DAC ของ Weiss MEDEA+DSD และยังต่อพ่วงด้วย Universal Player Pioneer LX500 ไว้ฟังแผ่นบ้าง นี่ยังไม่รวมสายสัญญาณอื่นๆ อย่าง USB, LAN รวมถึง Audiophile Network Switch เป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับนักฟังสายสตรีมใน พ.ศ. นี้

ด้วยพื้นที่จำกัดของห้องที่ออกแบบไว้ฟิตพอดี แทบขยับอะไรไม่ได้เลย ตำแหน่งลำโพงจึงวางตามตำแหน่งเดิมของลำโพง Manger ZeroBox และขยับเลื่อนเดินหน้าออกมาเล็กน้อย วางบนทิปโทสามจุด เสียดายที่ลำโพงคู่นี้เป็นคู่ต้นแบบสำหรับไว้เดโม่ ทิปโทจึงวางรองไว้เฉยๆ ไม่ได้สวมเข้ากับรูตามมาตรฐาน ตัวคนเดียวจึงขยับไม่ง่าย  ทำได้แค่ไฟน์จูนด้วยการเปลี่ยนสาย 2 – 3 เส้นเท่านั้น จะว่าง่ายก็ไม่เชิงหรอก เพราะถ้าพื้นฐาน Room Acoustics ของห้องฟังไม่ดีพอ คงต้องใช้เวลามากกว่านี้ ไหนๆ ก็พูดถึงแล้ว ขอคุยเรื่องห้องนี้อีกนิด เพราะพื้นที่เดิมเป็นโรงรถจึงสร้างขนาดได้เท่านี้

ว่าด้วย Room Acoustics ก็ต้องจัดการกันหน่อย อย่าได้สงสัยว่าทำไมลำโพงใหญ่อย่าง Ella-Louis สามารถอยู่ในห้องเล็ก ขนาดพื้นที่วัดจากภายใน 3 x 4.25 x 2.95 เมตร จะเอาอยู่ให้เสียงดีได้อย่างไร คอนเซ็ปต์ของห้องนี้คือ “ใหญ่ถูกทำให้เล็ก” ด้วยวิธีการติดตั้งพื้นแบบ ConCORE ACCESS Panel สูงจากพื้นโรงรถจริงราวครึ่งเมตร ปูด้วย Modular Carpet เพดานทำเป็น Curve ผนังทั้ง 3 ด้าน ทำเป็นผนังล้ม ไม่มีขนานด้านใดเลย ทั้งเพดานและผนัง ทะแยงทำมุมเข้าหาจุดนั่งฟังเพื่อผลของโฟกัส ผนังและพื้นยังทำหน้าที่เสมือนมี 2 ชั้น มีช่องเปิดเพื่อให้พลังงานคลื่นเสียงผ่านคล้ายระบบ Transmission Line ในตู้ลำโพง แม้ว่าทำให้ห้องเล็กลง แต่ก็ไม่ทำให้ห้องมีปริมาตรลดลง ในทางกลับกันจะใหญ่ในแง่ของปริมาตร ภาพของห้องค่อนข้างหลอกตา ความจริงมีปริมาตรมากกว่าที่ตาเห็น 25 30 % ทีเดียวนะ ห้องนี้ถ้ามองภายนอกสัดส่วนจะกะทัดรัด Compact แต่ถ้าคิดเป็นปริมาตรอากาศจะมากกว่าที่เห็น วิธีนี้สามารถจัดการกับพลังงานเสียงได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้เสียงไม่ล้น หรืออุดอู้ ทั้งยังถูกจัดระเบียบคลื่นเสียงด้วยการเสริม Bass trap ด้านหน้าผนังสองข้าง ทำหน้าที่เป็น Reflector บนผนังล้ม ติดตั้ง Custom Diffuser ของ XAV ใต้จอและด้านข้างตรงจุดนั่งฟัง และอัดด้วย Absorber ในจุดบางจุด โดยเฉพาะผนังหลังที่เป็นผนังล้มเช่นกัน งานปรับปรุงครั้งล่าสุดหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ทำตามแนวทางของ คุณวิชัญ ฮาสุวรรณกิจ Designer แห่ง Mason Acoustics ที่ออกแบบห้อง Home Studio ห้องนี้ พร้อมติดตั้ง Duct Silencer ให้ความสงัดสำหรับระบบปรับอากาศในห้องนี้ไว้ตั้งแต่เวอร์ชั่นแรกก่อนน้ำท่วม งานปรับปรุงครั้งนี้เสร็จก่อนห้องอื่นในบ้านด้วยฝีมือช่างชุ่ย ช่างบ้านๆ เท่าที่หาได้ในขณะนั้น งานจึงออกมาดิบอย่างที่เห็น หวังผลในแง่อะคูสติกส์ก็เป็นที่น่าพอใจตัวเองก็พอหายเหนื่อยบ้างล่ะ ยืนยันว่าห้อง Home Studio นี้ รับลำโพงใหญ่ได้ดีพอควร ไม่ใช่ไม่เคยเล่นลำโพงใหญ่ และครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ได้ต้อนรับลำโพงใหญ่ และสำหรับ Ella-Louis ก็ถือว่าเป็นเกียรติ

Sound

หลังปรับสภาพด้วยการนวด เผาหัวด้วยไฟล์ Sound Format เสียหนึ่งคืน ก็ได้เวลา ไหนๆ ก็มาถึงถิ่นกันทั้งทีต้องต้อนรับด้วยของดีระดับอ้างอิง ในที่นี้คือไฟล์ Hi-Res/DSD จาก NAS และ Cloud Service TIDAL MASTER (MQA) สุดท้ายคือ CD ผ่าน Weiss MEDEA+DSD อัลบั้มเพลงที่พลาดไม่ได้คือ อัลบั้มดนตรีแนวหลงเสียงนาง  ผลงานของนักร้องสาวเสียงสวย ตัวก็สวยด้วย อย่าง Shelby Lyne: Just a Little Lovin’ ด้วยเพลงไตเติลแทร็ก  รับรู้ถึงเสียงร้องของแม่นางออกไรฟัน ดนตรีมีไดนามิกส์ของเบสและเสียงกลอง ปลายแหลมพลิ้วของสแนร์ แม้ไม่ไปไกลเท่า Manger Transducer แต่ก็ไม่ถึงกับกุดห้วน ดนตรีของหนุ่มใหญ่สมัยที่เป็นหนุ่มน้อย วง America กับอัลบั้ม Debut เสียงอะคูสติกส์กีตาร์มีชีวิตชีวาจริงๆ

Ella-Louis ชื่อชั้นบอกถึงความเก๋าลายคราม ฟังเอาจริงไม่ใช่ฟังแบบฉาบฉวย จะฟังแบบจับผิดแนวโอ้ฟายคือทางเขาเลย เพราะ Ella-Louis เกิดมาเพื่อเป็นมอนิเตอร์นี่นาแต่ก็ไม่ยั่นกับการฟังเพลินๆ แบบมิวสิคเลิฟเวอร์กับเพลงของอินทรีเฒ่าก็ฟังสนุก ถึงตรงนี้อยากฟังดนตรีเข้มข้นของลุง Roger Waters: Amused to Death อัลบั้มนี้มิกซ์แบบ Q Sound มิติเสียงรายล้อมยังกับระบบ 5.1 ทั้งๆ ที่เป็น 2 แชนเนล บันทึกได้ดีมาก รายละเอียดพรั่งพรูที่ลุงแกใส่มานั้นสุดๆ มีครบตั้งแต่หมาเห่าไกลๆ คนพูดข้างหูด้านซ้าย เสียงขวานสับฟืน ยิงขีปนาวุธ เสียงระเบิด ให้ความสมจริงเหมือนดูหนังได้อารมณ์มาก

เปลี่ยนมาฟังวงใหญ่ดนตรีของป๋า Hans Zimmer: Live in Prague ดนตรีมีรายละเอียด Ella-Louis ถ่ายทอดได้อลังการมาก ให้บรรยากาศสดสมจริงของคอนเสิร์ตฮอลล์ ที่มีดนตรีซับซ้อนหลายสิบชิ้นบรรเลงในฮอลล์ใหญ่ ฟังเพลินจนลืมไปว่าจริงๆ แล้วนั่งบน Lonely Seat ในห้อง Home Studio ห้องเล็กๆ นี่เอง

Ella-Louis สามารถเปล่งศักยภาพออกมาได้น่าทึ่งมาก ลองจินตนาการว่า ถ้าได้ห้องใหญ่กว่านี้จะอลังการสักเพียงไร เชื่อว่าลำโพงถ้าเซ็ตองค์ประกอบโดยรวมได้ดีพอ ต้องประมาณว่าให้สมศักดิ์ศรีลำโพงคู่ละล้านหน่อย จะต้องได้รายละเอียดและมีไดนามิกอิมแพ็คที่ดีมาก จริงๆ แล้วแค่ฟังแว้บแรกก็พอจะรู้ถึงความไม่ธรรมดาของลำโพงคู่นี้ เนื่องจากไดรเวอร์ทำงานอิสระ ไร้การรบกวนจากดอกอื่น จึงมีความสงัด ให้มิติชัด เวทีเสียงกว้าง หัวโน้ตชัด จะแจ้ง ส่งผลให้เสียงร้องหวาน เนื้อเสียง Full Body มีเนื้อมีหนัง ด้วย Deep Bass ที่ลงลึกสามารถรับมือกับดนตรีได้ทุกแนว เพลงร้องแนวหลงเสียงนาง ร็อก แจ๊ส ออร์เคสตร้า เอาอยู่หมด ทั้งหมดที่ว่ามาเกิดจากการตกผลึกจากประสบการอันยาวนานของทีม XAV แถมอีกนิด ถ้าใช้แอมป์หมัดหนักพลังถึงๆ เน้นคุณภาพ มันจะสุดยอดมากแต่ถ้าแอมป์กำลังไม่ถึงอาจต้องเล่นแบบ Bi Amp จะให้ความดุดันจะแจ้งได้ดีขึ้นไปอีก

Wrap up

เริ่มรีวิวส์เครื่องเล่นแนว Digital Audio มานานนับสิบปี ผ่านเครื่องเล่น Digital Stream มาทุกรูปแบบ ใครจะเชื่อว่า วันนี้เราต้องมาเงี่ยหูฟังความแตกต่างของสาย LAN, Network Switch ซึ่งต้องบอกว่าไม่ต่างจากรีวิวส์สาย USB หรอกครับ มันคือเส้นเลือดของระบบเครื่องเสียง เปลี่ยน Front End ชุดใหม่ เพิ่ม Master Clock เข้าไปโดยใช้ DAC + Amp ตัวเดิมขับกับ Ella-Louis คู่เดิม ฟังออกสบายๆ แยกแยะให้ทราบว่าต่างกันเพียงไร นั่นคือความสามารถของซิสเต็มและการเป็นลำโพงมอนิเตอร์อย่างสมบูรณ์แบบของ Ella-Louis ที่ต้องยอมรับว่าเกินคาดจริงๆ

ใครก็ตามเป็นคนที่มีความเป็นตัวตนสูง ไม่ติดแบรนด์ ใช่ก็แปลว่าใช่ Ella-Louis เป็นตัวเลือกที่อยากแนะนำ ซื้อลำโพงต้องฟังเสียง ตัดสินใจด้วยหูตนเองดีที่สุด แนะนำให้ฟังเสียงดนตรีจากลำโพงที่คุณเลือกด้วยหูตนเอง คนตัดสินใจที่จะซื้อก็คือคุณเอง “ฟังเสียงจากลำโพงแทนที่จะฟังเสียงเชียร์จากคนขาย” ราคาอาจไม่ใช่ข้อกำหนดว่าจ่ายแพงแล้วต้องดีเสมอไป ก็แค่ได้คุยว่าเล่นลำโพงรุ่นดังของแบรนด์ดัง สำหรับ Ella-Louis ไม่เรียกว่าถูกนักหรอก เอาเป็นว่า “จ่ายน้อยและดีก็มี คนไทยทำของดีก็ได้” ความจริงราคาต่ำก็เพราะเราซื้อจากผู้ผลิตในราคา Ex-worked โดยตรง ไม่บวกหลายขั้นหลายตอนซ้ำซ้อน

Ella-Louis ลำโพงไฮเอ็นด์สัญชาติไทย คุณภาพหลักล้านในราคาจับต้องได้ ที่ต้องฟังด้วยหูตนเองสักครั้ง “เสียงจะดีที่สุดของจุดด้อยของระบบนั่นแหละ” วลีนี้คงใช้ได้เสมอ การแม็ตชิ่งสำคัญตรงนี้ ลำโพงดีขนาดนี้ แม้เหมือนว่าไม่ต้องจ่ายมากเหมือนแบรนด์ฮิตที่แพงโคตรๆ ก็ตาม จ่ายเท่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ดี แม็ตชิ่งให้ดีตั้งแต่ต้นทาง สวรรค์เลยนะ ตัดสินใจซื้อ Ella-Louis แล้วเอาส่วนต่างที่กันงบไว้ไปทุ่มให้แอมป์ที่ส่วนตัวให้น้ำหนักมากที่สุด รวมถึงตัวต้นทางเพลเยอร์ชั้นดี และรวมถึงสายดีๆ มีชื่อชั้นสักหน่อย ผลออกมาจะทำให้ได้อึ้งกันเชียว  อยากชวนให้นึกถึงองค์ประกอบโดยรวมมากกว่าติดแบรนด์นะครับ

เมื่อได้ฟัง Ella-Louis 4th Gen. แล้ว แอบฝันว่าได้ฟัง Ella-Louis Limited หรือ XAV NEW FLAGSHIP จะให้เสียงเลิศขึ้นสักเพียงไร อยากให้ปล่อยหมัดเด็ดให้โลกสะเทือนไปเลย  จะได้รู้เสียบ้างว่า “ลำโพงดี คนไทยก็ทำได้” ประมาณว่าเป็น F1 ยังมี Alex Albon นักแข่งชาวไทยแห่ง Red Bull Racing ได้ แล้วทำไม XAV จะผงาดให้ติดทำเนียบลำโพงดีที่ต้องฟังไม่ได้ล่ะ เอาใจไปเลย. ADP

ราคา 280,000 บาท

ผลิตและจัดจำหน่ายโดย
XAV AUDIO โทร. 0-2279-2418
Line @xavaudio