ชุมพล

นักเขียน : ดร.ชุมพล มุสิกานนท์  :

 Zonotone เป็นผู้ผลิตสายเคเบิลสำหรับเครื่องเสียง ทุกอย่างประกอบขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งคือคุณ Toshihiko Maezono ซึ่งเคยทำงานอยู่ในบริษัทผลิตเครื่องเสียงของญี่ปุ่นมาก่อน ต่อมาเขาได้ย้ายไปอยู่กับ Ortofon Japan ซึ่งผลิตหัวเข็มสำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียง ที่นี่เองทำให้เขาได้สัมผัสเกี่ยวกับคุณสมบัติความสำคัญของลวดที่นำมาพันคอยล์ของหัวเข็ม เขาเป็นนักเล่นเครื่องเสียงตัวจริง และแล้วคุณ Maezonoก็ออกมาตั้งบริษัทผลิตสายยี่ห้อ Zonotone เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ซึ่งสายของแกนับว่ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของนักเล่นเครื่องเสียง อย่างเช่น ในผลิตภัณฑ์สายลำโพง ปัจจุบันมีให้เลือกกัน 12 รุ่น เริ่มตั้งแต่ SP-300 Meister, Royal Spirit, Grandio, Supreme X สนนราคาหลักพันยันหลักแสน รุ่นที่เป็นขวัญใจมวลมหาประชาชน คือ 6NSP-Granster 7700α และรุ่นน้อง 5500α ไอ้ผมก็ดันไปชอบรุ่น 2200α ซึ่งเป็นรุ่นเกือบเล็ก แต่ยังใช้ตัวนำ4 ชนิด และโครงสร้างที่คล้ายกับรุ่น 5500 หรือ 7700 เพียงแต่ลดขนาดและกลุ่มของตัวนำลงมา

Zonotone เป็นผู้ผลิตสายเคเบิลมากกว่าสายลำโพง แน่นอนว่าเขามีทำสายสัญญาณ สายดิจิทัล สายไฟ AC สาย USB สายโฟโน ปลั๊กพ่วง และอุปกรณ์เสริมกระจุกกระจิกจำพวกขั้วต่อสายลำโพง สาย Headshell และยังมีเฮดเชลขายด้วย ตัวประธานบริษัทเป็นคนที่ชอบฟังแผ่นเสียง และมีคอลเลกชันเครื่องเสียงดีๆ ส่วนตัวเอาไว้ฟังเองหลายชุดด้วยครับ

สิ่งที่เป็นปรัชญาหรือหัวใจในการทำสายของ Zonotone คือ “Purity and Power” (ความบริสุทธิ์และพละกำลัง) Purity มาจากการเลือกใช้ตัวนำที่ดีที่สุด อย่างทองแดงเกรดสูง 99.999999% 6NCu หรือ 7NCu, PCOCC ทองแดงผลึกเดี่ยว, Silver OFC Power มาจากโครงสร้าง DMHC (Discrete Multi-Conductor Helical – Parallel Construction) คือแยกกลุ่มตัวนำออกเป็น 2 – 8 กลุ่ม แล้วแต่รุ่น ในแต่ละกลุ่มประกอบด้วยตัวนำต่างชนิดกัน หุ้มด้วยฉนวนโพลีเอทิลีน มีการหุ้มฉนวนภายในด้วยใยฝ้าย ซึ่งช่วยซับแรงสั่นสะเทือน ชีลด์อีกชั้นด้วยฟอยล์และฉนวนด้านนอกเป็น PVC สีฟ้าใส

สายลำโพงรุ่น 6NSP-Granster 7700α ใช้ตัวนำ4 ชนิด คือ 6NCu หรือทองแดงความบริสุทธิ์สูง 99.999999% HiFC ทองแดงที่บริษัท Hitachi ผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยีพิเศษ, PCUHD ทองแดงของบริษัท ฟูรูกาว่า ที่ค่อยๆ รีดออกมา โดยไม่ใช้ความร้อน และ OFC อันนี้เราท่านคุ้นๆ กันดีอยู่คือ Oxygen Free Copper ทองแดงที่ปราศจากออกซิเจนแทรกอยู่ในเนื้อมวล

โครงสร้างของสายภายในแยกออกเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีขนาดหน้าตัด 3.1 sq.mm เส้นผ่า-ศูนย์กลางสาย 14.0 mm ชุดที่ได้รับมาทดสอบมีความยาว 2.0 เมตรต่อข้าง เข้าหัวมาเรียบร้อย ต้นทางเป็น Banana ปลายทางเป็นหางปลาชุบโรเดียม ตัวนำเป็นทองเหลืองครับ

สายมีน้ำหนักไม่มาก ดัดตัวได้ดีพอสมควร ใช้ระยะเวลาในการเบิร์นอินไม่นานมาก พ้น 40 ชั่วโมงไปแล้วเป็นอันใช้ได้ ในการทดสอบ ผมเสียบสาย  Zonotone 6NSP-Granster 7700α กับลำโพง 2 คู่ คือ… B&W 702 S2 และ XAV 20th + Bass Unit โดยใช้บริการสายจั๊มเปอร์ Zensonice รุ่น White Fairy เพาเวอร์แอมป์ที่ใช้มี C-3 MM (TS Audio) และ XAV 120A อุปกรณ์ต้นทางชุดเดิมๆ ที่ใช้งานอยู่ประจำครับ เพื่อตัดตัวแปรอื่นๆ ออกไปให้น้อยที่สุด เพลงที่ใช้ฟังหลากหลายมาก ทั้งป๊อป ร็อก แจ๊ส บรรเลงเก่าๆ คลาสสิก และเพลงไทยหลายอัลบั้ม รวมทั้งแผ่นเสียงด้วย

 คุณภาพเสียง

บุคลิกเสียงของ Zonotone 6NSP-Granster 7700α ดุลน้ำเสียงโดยรวมทำให้ผมนึกถึงคนที่มีบุคลิกเปิดเผย ร่าเริง แต่ไม่โฉ่งฉ่างหรือขี้โอ่ครับ นี่เป็นสายลำโพงญี่ปุ่นที่เสียงเปิดมาก ผิดกับสายแดนอาทิตย์อุทัยหลายๆ ยี่ห้อที่ผมฟังแล้วต้องขอผ่านไป สายลำโพง Zonotone มีไดนามิกเรนจ์ที่กว้าง เสียงเปิดโล่ง แต่มีเนื้อเสียงอิ่มเข้มตลอดทุกๆ ย่านความถี่เสียง ตั้งแต่บนลงมาหาทุ้มลึกนู่นเลยครับ

ผมสงสัยว่า การที่ Zonotone ใช้ตัวนำ4 ประเภทมารวมกันในสายแต่ละกลุ่มจะทำให้เฟสเสียงมีอาการผิดปกติหรือไม่ ผลการทดสอบด้วยการเล่นแผ่นซีดีบันทึกสดอย่าง Belafonte: Live at the Carnegie Hall หรือ Jazz at thePawn Shop เวทีเสียงและอิมเมจยังคงขึ้นรูปลอยเด่นออกมาจากฉากหลัง การจัดวางตำแหน่งแห่งหนยังคงอยู่ในปริมณฑลเดิมที่เคยได้ยินมานับครั้งไม่ถ้วนก่อนหน้านี้ ที่จะย่อหย่อนลงไปบ้าง คือความลึกของโถงเวทีที่ยังทำได้ไม่เท่ากับสายลำโพงค่าตัวหกหลัก กับสายลำโพง Zonotone Supreme X พบว่ามีมิติเวทีเสียงไร้ที่ติครับ แต่ก็เอาเหอะ นั่นมันสายราคาเกือบสามแสน จะมีนักเล่นสักกี่คนที่สามารถควักกระเป๋าจ่ายได้ขนาดนั้น ในโลกของความเป็นจริง สายลำโพงราคาไม่เกินสามหมื่นบาทที่คุณภาพดีๆ หน่อย น่าจะเป็นทางเลือกของชมรมฉลาดซื้อ ประหยัดทรัพย์อย่างเราๆ ท่านๆ มากกว่า แหม ออกนอกเรื่องไปหน่อย… สรุปว่า Granster 7700α มีคุณสมบัติเกี่ยวกับเฟสได้ถูกต้องเหมาะสมครับ

เสียงเบสหรือเสียงต่ำมาแบบผิดฟอร์มสายลำโพงญี่ปุ่นจริงๆ กล่าวคือ มันให้เบสที่หนักแน่น มีทั้งปริมาณ สเกล การทิ้งตัวลงพื้น แรงปะทะประเคนมาให้อย่างหนักจัดเต็ม ชนิดที่ไม่แพ้สายฝรั่งเลย เสียงกระเดื่องกลองหรือเสียงทิมปานี มีน้ำหนักและการกระเพื่อมตามจังหวะโรลออฟที่จะค่อยๆ หายไป ชนิดที่ไม่รู้สึกเลยว่าขาดตรงไหน ยิ่งย่านมิดเบสนี่ของชอบของสายเส้นนี้เลยครับ ใครที่ใช้อินทิเกรตแอมป์วัตต์กลางๆ ไม่เกิน 100 วัตต์ต่อข้าง กับลำโพงวางขาตั้ง น่าจะพิจารณาสายลำโพงรุ่นนี้ครับ มันจะช่วยให้เสียงมีเนื้อหนังมังสาขึ้นมาพอสมควร เสียงกลางกลมกลืน ชัดแต่ไม่เข้มมากจนเน้นขอบ ฟังสบายมาก บางคนอาจจะบอกว่า เสียงย่านนี้จะมีปริมาณมากกว่าย่านอื่นอยู่นิดๆ นั่นขึ้นอยู่กับชุดที่คุณใช้อยู่ด้วยครับ กับอุปกรณ์ร่วมทดสอบที่ผมใช้ในคราวนี้ ไม่พบว่าเสียงกลางของ Zonotone 7700α จะอวบอ้วน หากแต่ควรนิยามมันว่าเป็นเสียงกลางที่อิ่มเอิบเจือปนอยู่ด้วยความหวานนิดๆ มากกว่า ฟังเสียงเครื่องดนตรีชนิดเครื่องสายอย่างไวโอลิน วิโอลา ฮาร์พ หรือเชลโล มีฮาร์โมนิกถูกต้องเป็นธรรมชาตื เสียงเปียโนในคีย์กลางๆ และสูงนี่ ไร้ข้อกังขา เสียงค้อนที่เคาะลงไปบนเส้นลวดมีความกังวาน แหง่งหง่าง ย้ำหัวโน้ตได้อย่างหนักแน่น ที่ยังมีจุดอ่อนอยู่บ้าง (เทียบกันกับสายรุ่นสูงของเขาเอง) คือ ไดนามิกคอนทราสต์ หรือลีลาที่ยังไม่ค่อยจะสวิงสวายมากนัก แต่กับสายในระดับราคาเดียวกันแล้ว ไม่ได้น้อยหน้ายี่ห้อไหนครับ

คุณสมบัติของเสียงแหลมทำคะแนนได้ 8.9 เต็ม 100 เกือบๆ จะดีเด่นครับ แหลมต้นไม่มีปัญหา ให้รายละเอียดที่ดี มีประกายกังวานเปิดโล่ง หากแต่สุภาพไม่เจิดจ้า ปลายหางเสียงบนๆ ลากขึ้นไปได้สูง แล้วค่อยๆ โรลออฟ ไม่ทิ้งไว้ในอากาศนานเท่าไหร่ สปีดเสียงไม่เร็วไม่ช้า ฟังเพลงได้หลากหลายแน่ๆ สายที่สปีดเสียงเร็วมาก (การส่งผ่าน) บางทีไปเจอแผ่นที่มีเสียงเครื่องดนตรีหลายๆ ชิ้นเล่นพร้อมๆ กัน จะฟังแล้วเครียด ผมลองฟังเพลงร้องกับ Zonotone 7700α โดนเลยครับ ผิวเสียงสะอาดเกลี้ยงเกลา มีวรรณะผ่องใสไพเราะน่าฟังมาก พวกวงเครื่องสายนี่ก็เอาเรื่องครับ ไหลลื่น ถูกจังหวะจะโคน ซึ่งหากมานั่งฟังจับผิดเรื่องเกี่ยวกับ Impact และทรานเชียนต์ ปรากฏว่ามันก็สอบผ่านฉลุยอีก เสียงฟาดกลองเพอร์คัสชันสด สะใจ เต็มไปด้วยพละกำลังและรายละเอียด

สรุป

Zonotone 6NSP-Granster 7700α เป็นสายลำโพงที่เป็นมิตรกับทุกซิสเต็ม ราคาสมเหตุสมผล มีคุณสมบัติของสายลำโพงที่ดีทุกประการ และค่อนข้างเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปในทางหนึ่งมากเป็นพิเศษ ไม่แปลกที่สายรุ่นนี้ได้รับรางวัลจากนิตยสารเครื่องเสียงญี่ปุ่นหลายฉบับ คาดว่าหนังสือเครื่องเสียงไทยก็น่าจะให้รางวัลด้วยครับ!!!. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 253