ปฤษณ

นักเขียน : ปฤษณ กัญจา :

กว่าสองทศวรรษที่ยังทันสมัยและทรงคุณค่าในตัวเอง

ในอดีตมีลำโพงหลายรุ่นที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษ ทำให้กาลเวลาไม่สามารถลดทอนความพิเศษนั้นให้จางหายไป เช่นเดียวกับลำโพง Celestion 5000 ที่ผมมีโอกาสได้ฟังอย่างไม่คาดคิด บางทีนี่คงเป็นปีที่ดีสำหรับผม เพราะเริ่มต้นปีด้วยเรื่องราวดีๆ แบบนี้ กับการได้สัมผัสลำโพงรุ่นพิเศษของเมื่อวันวาน ซึ่งยังคงขลังอยู่จนทุกวันนี้

CELESTION

ทุกวันนี้ ผมรู้จักยี่ห้อ Celestion ในฐานะผู้ผลิตไดรเวอร์ลำโพงสำหรับนำไปทำตู้แอมป์กีตาร์ หรือลำโพง PA เพราะครั้งใดที่เข้าเว็บไซต์ part-express.com เพื่อค้นหาไดรเวอร์มาทำลำโพง Celestion เป็นยี่ห้อหนึ่งที่ต้องแวะเวียนเข้าไปดู เผื่อว่าจะมีไดรเวอร์ที่สเปกตรงกับความต้องการ

ทว่าหลายสิบปีก่อน Celestion โด่งดังในยุทธจักรลำโพงบ้านอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นลำโพงอังกฤษชั้นแนวหน้าของวงการเครื่องเสียงทีเดียว ลำโพงชื่อดังอย่าง SL6, SL600 หรือ SL700 ถือเป็นลำโพงเซเลบในยุคนั้น ใครมีครอบครอง นับได้ว่าเป็นผู้มีบารมีเลยทีเดียวสำหรับ Celestion 5000 ถ้าจะว่าไป ยุคนั้นจัดว่าเป็นลำโพงที่ทันสมัยมาก (เปิดตัวในปี 1989 ที่งาน Berlin Funkaustellung) เพราะการออกแบบฉีกไปจากลำโพงรูปแบบเดิมๆ เรียกได้ว่าเป็นลำโพงหัวก้าวหน้าก็คงได้ นอกจาก Celestion 5000 แล้ว ในตระกูลเดียวกันยังมีรุ่น Celestion 3000 ที่ทุกอย่างเหมือนกับ Celestion 5000 ต่างกันตรงที่ผิวสีของตู้ที่เป็น Black Ash วีเนียร์ ส่วน Celestion 5000 ผิวตู้เป็นสีไม้ ส่วนพี่ใหญ่คือ Celestion 7000 เป็นลำโพงแบบตั้งพื้นแม้ Celestion 5000 เป็นลำโพงแบบวางขาตั้ง แต่ตัวตู้ก็ไม่ได้มีขนาดที่เรียกว่าเล็ก เพราะมีความสูงถึง 25.6 นิ้ว และหนักถึง 19.5 กิโลกรัมต่อข้าง เวลาที่ยกวางบนขาตั้งก็แทบแย่ แต่ที่แย่กว่าคือ เวลาขยับลำโพง โดยเฉพาะตอนไฟน์จูน เข้าขั้นสาหัสเลยล่ะครับ อย่างไรก็ตาม การที่นำหนักมากๆ ก็ทำให้รู้สึกดีว่าลำโพงมีความแข็งแรง ดังนั้นเรื่องการสั่นค้างภายในตัวตู้ หรือการสั่นสะเทือนของตัวตู้ ที่จะส่งผลต่อความชัดเจนของเสียงจึงไม่ใช่เรื่องน่าวิตกนัก

ความโดดเด่นของ Celestion 5000 อยู่ที่การออกแบบรูปทรงตัวตู้ และการใช้ไดรเวอร์ขับเสียงแบบอะลูมิเนียมริบบอนที่ทำงานตัวย่านความถี่กลางไปจนถึงความถี่สูง ใช่แล้วครับ… ภาษาชาวบ้านก็คือ มิดเรนจ์และทวีตเตอร์เป็นริบบอนนั่นเอง

ทาง Celestion บอกว่า… แทนที่จะออกเป็นลำโพง 3 ทาง แบบตู้ปิด ก็ทำเป็นลำโพง 2 ทาง โดยใช้แถบริบบอนที่บางและยาว ทว่ามีพื้นที่หน้าตัดเทียบเท่ากับไดรเวอร์ที่มีขนาด 5 นิ้ว ซึ่งไดรเวอร์ริบบอนตัวนี้ทำงานตั้งแต่ความถี่ 900Hz ขึ้นไป นอกจากนั้น ริบบอนตัวนี้ยังเป็นแบบ Monopole โดยทำงานในลักษณะยิงเสียงออกไปเป็นมุมตรงๆ ตามทิศทางการวางลำโพง ซึ่งแตกต่างจาก dipole ribbon ที่ใช้ในลำโพง Magnepan ทีนี้เมื่อการทำงานริบบอนของ Celestion 5000 มีมุมกระจายเสียงค่อนข้างแคบ เพราะฉะนั้นตำแหน่งการวางลำโพงให้สัมพันธ์กันทั้งสองข้างจึงต้องเป๊ะมากๆ เพื่อให้เสียงได้โฟกัสมากที่สุด เหมือนที่พูดกันในเชิงเปรียบเทียบว่าคล้ายกับการหาโฟกัสของกล้องถ่ายรูปที่ใช้เลนส์แบบแมน่วลโฟกัสนั่นเอง สำหรับไดรเวอร์ขับความถี่ต่ำของ Celestion 5000 เป็นกรวยแบบ Polyolefin ขนาด 8 นิ้ว ติดตั้งอยู่ในตู้ปิดของตัวเอง ปริมาตรของตู้เท่ากับ 28 ลิตร ส่วนไดรเวอร์ริบบอนก็มีตู้ปิดของตัวเอง มีปริมาตร 8 ลิตร นั่นเท่ากับว่าระบบลำโพงของ Celestion 5000 เป็นแบบตู้ปิด ซึ่งมีความไว 86dB แถมอิมพีแดนซ์ยังเท่ากับ 4 โอห์ม จินตนาการออกใช่ไหมครับ… แอมป์ครับแอมป์ ยิ่งใหญ่ยิ่งดี

ถ้าเป็นของดีและอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์กาลเวลาย่อมไม่สามารถทำลายคุณค่าของสิ่งนั้นๆ ได้เลย เหมือนกับที่ผมได้ฟัง Celestion 5000

สรุปโดยภาพรวมในเบื้องต้นว่าCelestion 5000 ที่ผมได้เห็น ได้จับ ได้สัมผัส เป็นลำโพงที่มีคุณภาพรุ่นหนึ่ง ไม่ว่าจะมองในด้านเทคโนโลยี หรือการผลิต เป็นลำโพงที่เห็นก็อยากได้แล้วครับ

มาลองเล่น ลองฟังกัน

ลำโพง Celestion 5000 คู่ที่ได้มาลองฟังนี้เป็นลำโพง NOS (New Old Stock) แต่เป็นของใหม่เอี่ยม ดังนั้น การปลุกให้ตื่นจากการนิทรากว่ายี่สิบปีจึงเป็นสิ่งจำเป็น ประมาณว่าเหมือนปลุกนักสำรวจอวกาศที่เดินทางกันยาวนานหลายๆ ปี หรือปลุกกัปตันอเมริกาเลยทีเดียว ขั้นตอนนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรมากครับ เปิดเพลงทิ้งไว้วันละ8 ชั่วโมง ราวๆ ครึ่งเดือน ก็น่าจะพอฟังได้ครับ สำหรับแอมป์ที่ใช้งานด้วย มาลงตัวที่ Alluxity Int One อินทิเกรตแอมป์กำลังขับ 200 วัตต์ต่อข้าง ซึ่งก็เข้าขากันได้ดีครับ

หลังจากลำโพงฟื้นคืนชีพแล้ว เรื่องต่อมาที่ต้องทำก็คือ การเซ็ตอัพลำโพง งานนี้ บก. ใหญ่ ลงมาจัดการด้วยตัวเองครับ เนื่องจากพอลำโพงอยู่บนขาตั้งแล้ว ขยับยากมาก ฉะนั้นช่วยกันสองคนย่อมดีกว่าและไหนๆ ก็มาช่วยแล้ว ก็เลยขอให้ช่วยฟังไปพร้อมกันทีเดียว และก็อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่ามุมกระจายเสียงของไดรเวอร์ริบบอนตัวนี้จะยิงตรงไปข้างหน้าการเซ็ตอัพลำโพงคู่นี้จึงต้องค่อยๆ ฟังกันทีละนิด อีกอย่างผมเปลี่ยนทิศการตั้งลำโพงมาเป็นอีกด้าน ดังนั้น ผนังซ้าย-ขวาจึงไม่สมดุลกัน เพราะด้านขวามีประตูอยู่ การวัดตำแหน่งจึงเน้นไปที่ระยะห่างของลำโพงสองข้างเป็นหลัก อีกอย่าง เสียงจากริบบอนจะไม่แผ่ออกไปด้านข้างและด้านหลัง จึงลดปัญหาเรื่องซ้าย-ขวาไม่เท่ากันไปได้บ้าง

นอกจากนั้น การออกแบบมุมตู้ลำโพงของ Celestion 5000 ตรงส่วนที่ติดตั้งไดรเวอร์ริบบอนมีลักษณะเป็นมุมเฉียงอยู่แล้ว นั่นเท่ากับเป็นการโทอินโดยอัตโนมัติ ในการเซ็ตอัพจึงไม่ต้องโทอินใดๆ แค่หาตำแหน่งที่เสียงของริบบอนมาเจอกัน และลงล็อกกัน ก็จะได้โฟกัสที่แม่นยำเป๊ะ … แน่นอนว่าความพยายามและความอดทนเป็นองค์ประกอบสำคัญในเรื่องนี้

เอาล่ะครับ… ขอรวบรัดตัดความมาที่ หลังจากได้ตำแหน่งที่ลงตัวพอสมควรแล้ว ก็ลองฟังกันหน่อยว่าสุ้มเสียงเป็นอย่างไร?

ประการแรก… Celestion 5000 เป็นลำโพงที่ให้เสียงเปิดมากๆ ไม่มีอั้น อีกทั้งมิติเสียงก็ไม่กระจุกอยู่ตรงกลาง เพราะแผ่กว้างออกไปด้านข้าง หรือเลื่อนมาด้านหน้าและด้านหลัง ได้ปกติตามที่แผ่นบันทึกมาจุดนี้ค่อนข้างชัดเจนครับ ฟังไม่ยากเลย ในความเห็นของผม ผมว่าให้เสียงที่ดีตลอดย่านความถี่เลยครับ ไม่ขาดช่วงใดช่วงหนึ่งไป ความถี่ต่ำถ้าอัดมาดีก็หนักแน่น และสะอาด แลกกับการกินวัตต์ของลำโพง

ประการที่สอง… ถ้าเซ็ตลงตัวแล้ว แม้เป็นลำโพงตัวใหญ่ แต่เสียงก็หลุดตู้ครับ ไม่มีมากองอยู่ที่ตู้แน่นอน นอกจากนั้นพวกแผ่นที่บันทึกมามิติดีๆ Celestion 5000 ก็ถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจน

ประการที่สาม… ด้วยความที่ไดรเวอร์ริบบอนทำงานตั้งย่านความถี่ 900Hz ขึ้นไป ซึ่งเริ่มต้นจากเสียงกลางขึ้นไป นั่นเท่ากับว่าริบบอนตัวนี้ทำงานกว้างมาก 900Hz – 20kHz อาจทำให้เกิดความสงสัยว่าแล้วเสียงกลางจะเป็นอย่างไร จริงๆ เรื่องนี้ก็เป็นปกตินะครับ ถ้าใครเคยฟังลำโพงริบบอนอย่าง Magnepan ก็คงเข้าใจว่าเสียงกลางที่มาจากการทำงานของริบบอนก็มีความไพเราะน่าฟังไม่ด้อยกว่าลำโพงที่เป็นกรวยแต่อย่างใด มิหนำซ้ำ ผมว่าเสียงกลางไล่ไปถึงสูงของ Celestion 5000 ยังมีความต่อเนื่องไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นข้อดีด้วยซ้ำไปครับ เสียงกลางของ Celestion 5000 มีเนื้อหนังนะครับ ไม่แบนบางแน่นอน (แอมป์ถึงๆ ด้วยนะครับ) เป็นเสียงกลางที่สะอาด รายละเอียดดี รับรองไม่เจอเสียงที่ขมุกขมัวแน่ๆ

ประการสุดท้าย… เป็นลำโพงที่ทำให้ฟังเพลงได้เพลินมาก อาจเป็นเพราะความกระจ่าง มีเนื้อ และมีรายละเอียดที่ดี จึงทำให้เราติดตามทั้งตัวเพลงและตัวเสียงได้พร้อมๆ กัน เป็นเสน่ห์ของ Celestion 5000 เลยครับ

โพงดีๆ ที่คุณค่ายังอยู่ครบ

พอได้ฟัง Celestion 5000 มาระยะหนึ่ง ทำให้ผมเห็นความเป็นจริงว่าถ้าเป็นของดี และอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ กาลเวลาย่อมไม่สามารถทำลายคุณค่าของสิ่งนั้นๆ ได้เลย เหมือนกับที่ผมได้ฟัง Celestion 5000 ก็ไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นลำโพงอายุจะสามสิบปีแล้วนะ เพราะเสียงที่ถ่ายทอดออกมายังสดสมจริง เข้ากับบทเพลงต่างๆ ได้ดี

ไม่รู้สินะครับ การเลือกซื้อลำโพงสมัยนี้จะว่าไปก็ยากอยู่ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาที่คุณค่าของตัวลำโพง ถ้าจะเอาให้ได้คุณสมบัติแบบนี้จริงๆ ก็หลายอยู่ ผมไม่รู้ว่าตัวแทนจำหน่ายของ Celestion 5000 มีสต๊อกเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้านำมาจำหน่ายอีกครั้ง ในราคาที่สมเหตุผล ผมว่าน่าสนใจทีเดียว สำหรับคนที่ชอบของคลาสสิก คุณภาพดี Celestion 5000 เป็นลำโพงที่ไม่ธรรมดาเลยครับ. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 252