ชานนท์
นักเขียน : ชานนท์ จุทัยรัศม์

ช่วงงาน BAV HI-END SHOW 2018 ที่ผ่านมา นิตยสาร AUDIOPHILE/VIDEOPHILE ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้บริหารของ AIM Electronics Co.,Ltd. ผู้ผลิตสายสัญญาณดิจิทัลความเร็วสูง นำโดย Mr. Eishi Nakayama ปัจจุบันดำรังตำแหน่ง President & CEO เรียกว่าใหญ่สุดในองค์กรเลยทีเดียว จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้สอบถาม วิสัยทัศน์และแนวโน้มเกี่ยวกับมาตรฐานการส่งผ่านสัญญาณภาพและ เสียงแบบดิจิทัลความละเอียดสูง ในวงการเครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์ ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ และในอนาคตครับ

เผยประวัติ AIM ผู้เชี่ยวชาญคร่ำหวอด
ในวงการอุปกรณ์ระบบสื่อสารความเร็วสูงมาช้านาน

เมื่อทักทายสอบถามชื่อเสียงเรียงนามกันแล้ว Mr. Eishi ก็เล่าประวัติ ความเป็นมาของ AIM ให้ฟัง ซึ่งถึงแม้บริษัทดูใหม่ในสายตาของชาวไทย (หลายท่านอาจไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน) แต่ AIM คร่ำหวอดในวงการสื่อสาร ความเร็วสูง (High Speed Telecommunication) มาช้านานแล้ว รวมอายุ ตั้งแต่ก่อตั้ง (ปี 1983) ก็ 35 ปี ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น เน้นผลิตจำหน่ายอุปกรณ์ส่งผ่านสัญญาณความเร็วสูงด้วยแสง (Optical Devices & Cables), Camera Link Cable, LAN/Serial/Router Cable, HDMI and Audio Cable เป็นต้น

LSII Premium Laser HDMI Cable รุ่นท็อป
การันตีแบนด์วิดธ์เต็ม 18Gbps แม้ที่ความยาวสาย 30 ม.

หากถามว่า สินค้าตัวใดที่เป็นไฮไลต์ของ AIM คำตอบย่อมไม่พ้น HDMI Cable รุ่นท็อป ที่ใช้เทคโนโลยีส่งผ่านสัญญาณด้วยแสง (นี่เป็นที่มาของชื่อ Laser) บนสายไฟเบอร์อ็อพติก ถึงแม้ก่อนหน้านี้มีสินค้าจากผู้ผลิตอื่นออกมาบ้างประปราย แต่ AIM ถือเป็นผู้นำในแง่เทคนิคที่ใช้ในการแปลงสัญญาณไฟฟ้าให้เป็นแสง และแปลงแสงกลับเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่มีความเที่ยงตรงสูง โดยจะติดตั้งอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่นี้ไว้ในคอนเนกเตอร์ที่ปลายสายทั้ง 2 ด้าน นี่เป็นอุปกรณ์จากอานิสงส์ที่คร่ำหวอดในวงการสื่อสารความเร็วสูงมาก่อนนั่นเอง นอกจากนี้ รุ่นใหม่ยังได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเทคนิคที่เรียกว่า VDC (patent pending) ช่วยให้การคุยกันระหว่างเชื่อมต่ออุปกรณ์ต้นทางและปลายทางผ่านสาย HDMI ที่ใช้ไฟเบอร์อ็อพติกมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

ถามว่าทำไมต้องใช้แสง? ตามความเข้าใจทั่วๆ ไปก็แน่นอนว่า แสงเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าสัญญาณไฟฟ้า แต่เหนืออื่นใด คือ แสงไม่ถูกรบกวนด้วยสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าต่างๆ (สัญญาณรบกวนที่มีปะปนอยู่แทบทุกตารางนิ้วบนโลก) อัตราการสูญเสียสัญญาณตามระยะทางก็ต่ำมาก (ค่าความต้านทานสัญญาณต่ำ) เหตุนี้จึงสามารถคงอัตราแบนด์วิดธ์และใช้งานในระยะสายที่ยาวมากๆ ได้ ซึ่งประเด็นนี้นับเป็นจุดอ่อนของสายสัญญาณทั่วไปที่ใช้ตัวนำโลหะ (1)

ผมเห็นความยาวสูงสุดของรุ่น Premium Laser HDMI Cable ในโบรชัวร์ คือ 30 เมตร จึงสอบถามว่า ศักยภาพการส่งผ่านสัญญาณภาพและเสียงความเร็วสูงผ่านสาย HDMI แบบไฟเบอร์อ็อพติกได้ไกลสุดเท่านี้หรือ? Mr. Eishi ตอบว่า… ได้ยาวกว่านี้ แต่ความต้องการของลูกค้าคอนซูเมอร์จำกัดเพียงเท่านี้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องผลิตสายที่ยาวกว่านั้น แต่ก็มีความยาว 70 เมตร และ 100 เมตร ให้เลือกใช้งานด้วย

ส่วนข้อจำกัดของไฟเบอร์อ็อพติกที่ไม่สามารถหักงอได้ยังคงมีอยู่ แต่การเสริมโครงสร้างสายให้มีความแข็งแรงเป็นพิเศษก็ช่วยให้ประเด็นเรื่องความเปราะบางไม่เป็นปัญหา การติดตั้งใช้งานทั่วไปไม่ได้ยุ่งยากกว่าสายตัวนำทองแดง

PALSHUT®MU วัสดุอวกาศช่วยดูดซับลดทอนสัญญาณรบกวน เทคนิคพิเศษสหรับ HDMI Cable ไปจนถึงสายสัญญาณรูปแบบอื่นที่ใช้ตัวนทองแดง

ในแง่ศักยภาพคงไม่มีรุ่นใดเหนือชั้นไปกว่า LSII Premium Laser HDMI Cable รุ่นท็อปที่ส่งผ่านสัญญาณด้วยแสงดังที่กล่าวไปข้างต้น อย่างไรก็ดี HDMI Cable ที่ใช้ตัวนำโลหะก็ยังคงได้รับความนิยม ถึงแม้ศักยภาพในการคงสัญญาณในสายที่มีความยาวมากๆ จะด้อยกว่า Optical HDMI Cable แต่งบประมาณก็ต่ำกว่าพอควร ในจุดนี้ AIM จึงพยายามหาเทคนิคที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของ HDMI Cable ที่ใช้ตัวนำโลหะให้สูงขึ้น

  • อันที่จริงสาย Optical HDMI ของ AIM (รวมถึงของยี่ห้ออื่น) ยังคงมีการใช้งานสายสัญญาณแบบตัวนำทองแดงร่วมด้วย แต่เป็นในส่วนของ Control Lines (CEC Functions) ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่ส่งผ่านดาต้าโดยตรง

หนึ่งในนั้น คือ การเสริมวัสดุพิเศษที่เรียกว่า PALSHUT®MU (ผลิตโดย Asahi Kasei) วัสดุที่มีลักษณะอ่อนหยุ่นเหมือนฉนวนหุ้มสายนี้ มีคุณสมบัติพิเศษสามารถดูดซับลดทอนสัญญาณรบกวนได้เป็นอย่างดี เมื่อผสานกับการจัดวางโครงสร้างตัวนำแบบ Flat จึงเพิ่มพื้นที่โดยรอบตัวนำให้ PULSHUT สามารถจัดการกับการแผ่สัญญาณรบกวนทั้งจากภายในตัวสายและภายนอกได้เต็มศักยภาพยิ่งขึ้น

โครงสร้างสาย AIM HDMI Cable รุ่น RII (Premium Reference) Series

สำหรับ HDMI Cable ของ AIM ที่ใช้ตัวนำโลหะ ปัจจุบันมี 3 รุ่น ได้แก่… Premium Reference (RII) Series, High Performance (SII) Series) และ Basic (EII) Series

ทั้งรุ่น RII และ SII มีการใช้งานวัสดุ PULSHUT ทั้งคู่ จุดต่าง คือ RII ใช้ตัวนำเงินบริสุทธิ์ Sterling Silver Solid Line (99.99% British Silver) ส่วน SII เป็นทองแดงเคลือบเงิน (5N OFC + Sterling Silver Plated)

ในขณะที่รุ่นน้องสุดท้องใช้ตัวนำทองแดง HC-OFC พร้อม Built-in Active Equalizer (เฉพาะรุ่นความยาว 8 – 15 เมตร) สามารถตอบสนองการใช้งานในงบประมาณที่ประหยัดลง

มาตรฐานสัญญาณวิดีโอความละเอียดสูงสุดในปัจจุบันที่ AIM Premium Laser Cable (LSII) ได้รับการันตีว่ารองรับในทุกความยาว (ตรงตาม Requirement ของ HDMI 2.0)

AIM HDMI Cable จะสามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ ฮาร์ดแวร์มาตรฐาน HDMI 2.1 ได้เต็มศักยภาพหรือไม่?

HDMI Cable รุ่นระดับสูงของ AIM การันตีว่า รองรับการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์มาตรฐาน HDMI 2.0 ได้เต็มศักยภาพ (รองรับ HDMI 2.0 Full Bandwidth @18Gbps) อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหลายท่านคงได้ยินข่าวมาตรฐาน HDMI 2.1 แพลมออกมาบ้าง แม้ยังไม่แน่ชัดว่าจะมีฮาร์ดแวร์ออกมาเมื่อใด แต่คาดว่าคงรอไม่นานนัก

ด้วยความสงสัย ผมเลยสอบถาม Mr. Eishi ว่า AIM HDMI Cable รุ่นปัจจุบันจะรองรับกับอุปกรณ์มาตรฐาน HDMI 2.1 หรือไม่ ซึ่งคำตอบ คือ… ได้ (Backward Compatibility) แต่ยังไม่มีการฟันธงใดๆ ว่าจะเต็มศักยภาพหรือไม่ ซึ่งในจุดนี้ ผมเข้าใจนะครับ เพราะตราบใดที่ HDMI 2.1 ยังไม่ออกมาให้เห็นแบบจับต้องได้ ก็ยังยืนยันไม่ได้ 100%

Top of the top LAN Cable กับการส่งผ่านสัญญาณระดับ Zero-Error

ดังที่ทราบกันดีว่า การส่งผ่านสัญญาณผ่านเครือข่าย LAN ความเร็วสูงต้องการเสถียรภาพสูงเป็นพิเศษ และจากประสบการณ์ในวงการสื่อสารมาช้านาน การผลิต LAN Cable ให้ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้งานข้างต้นจึงเข้าทาง AIM อย่างไม่ต้องสงสัย

ปัจจุบันอุปกรณ์เครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์ต่างเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายกันเป็นจำนวนมาก LAN Cable จึงมีความสำคัญไม่แพ้สายสัญญาณรูปแบบอื่น

ภาพหน้าตัดแสดงโครงสร้างภายในของ NA7 Lan Cable รุ่นท็อปของ AIM

ซึ่ง NA7 LAN Cable “รุ่นท็อป” ของ AIM นั้น จัดเต็มมาเลยทีเดียว อาทิ ตัวนำทองแดง Solid OFC ขนาดหน้าตัดเต็มสเปกที่ 22 AWG พร้อมชีลด์ตัวนำภายในแยกแต่ละคู่ด้วย PULSHUT ตลอดทั้งความยาวสาย จึงลดทอนสัญญาณรบกวนทั้งภายในและภายนอกได้เป็นอย่างดี รองรับการส่งผ่านข้อมูลระดับ Ultra High-speed สูงถึง 40Gbps

กระนั้น สิ่งสำคัญนอกเหนือจากความเร็ว คือ เสถียรภาพในการส่งผ่านสัญญาณ แม้ในระยะสายที่ยาวมาก ความมั่นคงสูง โอกาสเกิดข้อมูลผิดพลาดจึงเข้าใกล้ศูนย์

(2) CAT7 ต้องการคอนเนกเตอร์แบบใหม่ที่เรียกว่า ARJ45 เท่านั้น ปัจจุบันยังไม่มีอุปกรณ์คอนซูมเมอร์ที่รองรับมาตรฐานคอนเนกเตอร์ลักษณะนี้

คลายข้อสงสัยเกี่ยวกับ Category (CAT) 7 LAN Cable

ผมสอบถาม Mr. Eishi ว่า ปัจจุบันผ่านตากับสเปก Lan Cable ในตลาดหลายๆ รุ่น เห็นลงข้อมูลว่ารองรับ CAT7 กันให้เกลื่อน แต่เหตุใด LAN Cable รุ่นระดับสูงของ AIM กลับไม่ลงบ้าง Mr. Eishi จึงอธิบายให้ฟังว่า แม้คุณสมบัติด้านแบนด์วิดธ์ของสายจะผ่านมาตรฐาน ทั้งรุ่น NA7 รวมถึงรุ่นอื่นๆ ของ AIM อย่าง NA5 แต่ด้วยความที่จำหน่ายให้กับตลาดคอนซูเมอร์จึงต้องติดตั้งคอนเนกเตอร์แบบมาตรฐานที่คุ้นเคยกันดี คือ RJ45 คอนเนกเตอร์รูปแบบนี้อยู่นอกเหนือข้อกำหนดของ CAT7 (2) จึงไม่สามารถอ้างในสเป็กได้ ดังนั้น หากพบเห็นสาย LAN รุ่นไหนที่บอกว่ารองรับ CAT7 แต่ยังคงใช้คอนเนกเตอร์แบบ RJ45 อยู่ ก็เรียกว่า “มั่ว” ครับ… (ฮา)

Real Performance for Hi-res Audio Transmission

สายสัญญาณดิจิทัลของ AIM รูปแบบสุดท้ายที่จะกล่าวถึง คือ USB Cable ที่คุ้นเคยกันดี เพราะใช้งานร่วมกับ USB DAC และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ Computer Audiophile นั่นเอง

UA3 USB Cable รุ่นท็อป เหนือกว่า USB Cable ทั่วไปตรงที่ใช้ตัวนำเงินบริสุทธิ์แบบแกนเดี่ยวร่วมกับทองแดง OFC แกนเดี่ยว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งผ่านสัญญาณได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องใช้โครงสร้างหน้าตัดตัวนำที่ใหญ่ อีกทั้งยังชีลด์ตัวนำแต่ละคู่ด้วย PULSHUT ตลอดทั้งความยาวโครงสร้างสายที่มีลักษณะกึ่งแบน จึงเพิ่มศักยภาพลดทอนสัญญาณรบกวนทั้งภายในและภายนอกได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือจากคอนเนกเตอร์แบบ Type A to Type B แล้ว AIM ยังมี USB Cable รุ่นที่ใช้คอนเนกเตอร์แบบ Mini และ Micro USB เพื่อรองรับกับอุปกรณ์ดิจิทัลที่หลากหลายยิ่งขึ้นด้วย

USB Cable ของ AIM ที่เน้นใช้งานกับ Audio Devices นั้น เป็นมาตรฐาน USB 2.0 ทั้งสิ้น หลายท่านคงสงสัยเช่นเดียวกับผมว่า เหตุใดจึงไม่ทำUSB 3.0 ออกมาบ้าง คำตอบที่ได้ คือ USB 2.0 มีแบนด์วิดธ์เพียงพอต่อการส่งผ่านมาตรฐาน Hi-res Audio formats (2-channel) ในปัจจุบันได้ทั้งหมด จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรฐาน USB 3.0 ครับ

ก่อนจะลากลับ Mr. Eishi สัญญาว่า หากมีสายสัญญาณที่ใช้เทคนิคใหม่ รวมไปถึงมาตรฐานใหม่ๆ เพิ่มเติม จะมานำเสนอให้ทราบกันอย่างแน่นอน สุดท้ายนี้ ท่านใดที่สนใจสายสัญญาณดิจิทัลความเร็วสูงหลากหลายรูปแบบของ AIM สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ บริษัท Deco 2000 จำกัด โทร. 0-2256-9700. VDP

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับ 255