วิศัลย์

นับเป็นเกียรติอย่างมากสำหรับ WJ และ นิตยสาร AUDIOPHILE/VIDEOPHILE ที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์เจ้าของและผู้ออกแบบลำโพง VIVID AUDIO จากแอฟริกาใต้ แบบเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งเราทราบมาว่า เขา (Robert Trunz, Owner) อายุก็ค่อนข้างมาก และสุขภาพก็โรยราตามวัย ส่วนอีกคนหนึ่งก็คือ Mr. Philip Guttentag CEO และวิศวกรผู้ออกแบบลำโพง ที่มาบอกเล่าเรื่องราวด้วยตัวเอง 

Mr. Robert Trunz เป็น President ของ Bowers & Wilkins ในยุคก่อตั้ง และเป็นผู้ริเริ่มโปรเจ็กต์ Nautilus โดยให้ Mr. Laurence Dickie เป็นคนออกแบบลำโพงหอยโข่งนอติลุส ซึ่งเป็นลำโพงสี่ทางสี่ไดรเวอร์ต่อข้าง แยกครอสโอเวอร์ออกมาและใช้แอมป์ขับสี่ตัวต่อข้าง ซึ่งยังจัดว่าเป็น Flagship ของค่าย Bowers & Wilkins แม้ว่าเป็นโมเดลที่มีอายุเกือบ 20 ปีแล้ว

ADP: ทราบมาว่าคุณเป็นผู้ร่วมก่อตั้งลำโพง Bowers & Wilkins

VIVID AUDIO: ไม่ครับ แต่ผมทำงานกับ Bowers & Wilkins ตั้งแต่ยุคแรกเลย และเป็นอดีต President ของ Bowers & Wilkins

ADP: คุณเป็นคนออกแบบลำโพงนอติลุส

VIVID AUDIO: ผมเป็นผู้ริเริ่มโครงการนอติลุส ส่วน ลอเรนซ์ เป็นผู้ออกแบบ ตอนนี้ผมทำลำโพง VIVID โดย ลอเรนซ์ กับ ฟิลลิปส์ ก็มาร่วมงานกับผมด้วย ผมคิดว่าผมเกษียณตัวเองแล้วล่ะ

ADP: ไม่หรอกครับ อย่างมากก็เกษียณจากงานหนึ่งไปเริ่มอีกงานหนึ่ง

VIVID AUDIO: ก็คล้าย ๆ กับเกษียณไปครึ่งตัวครับ

ADP: ผมสังเกตว่าตู้ลำโพงของ VIVID ไม่มีลักษณะเป็นตู้กล่องหรือมีเหลี่ยม ส่วนใหญ่มีรูปโค้ง พอจะเล่าให้ฟังได้ไหมว่ามันได้รับแนวความคิดจากลำโพงนอติลุส

VIVID AUDIO: มันเป็นแนวคิดแบบไหนล่ะ น่าจะเป็นแบบของนอติลุสในอีกสิบปีถัดมานะ คล้ายๆ กับคุณมีเฟอร์รารี่แบบเก่าเทียบกับเฟอร์รารี่แบบใหม่ ลอเรนซ์ พัฒนาตู้และไดรเวอร์ตลอดมาโดยต่อยอดจากนอติลุส เพราะ B&W ไม่ได้ทำอะไรกับลำโพงนอติลุสอีกเลย หลังจากที่ ลอเรนซ์ ออกมาแล้ว ลำโพงนอติลุสที่คุณเห็นวันนี้ก็เป็นตัวเดียวกับนอติลุสที่คุณเห็นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว 

ADP: สองสัปดาห์ที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ฟังลำโพง VIVID GIYA 1 Spirit ในห้องฟังของผม ผมอยากจะบอกว่านี่เป็นลำโพงที่เสียงดีที่สุดในห้องฟังของผมเลยนะ โดยเฉพาะผมไม่ได้ยินเสียง “ตู้” ลำโพงเลย เยี่ยมมาก ตัวผมใช้ลำโพง Magico Q3 ซึ่งใช้ตู้ลำโพงอะลูมินัม เสียงก็ดีนะ ไม่มีเสียงตู้ ส่วนลำโพง VIVID ตัวตู้ทำจากวัสดุคอมโพสิต ตอนแรกผมคิดว่าจะได้ยินเสียงตู้ แต่มันไม่มีเลยนะ น่าประทับใจมาก

VIVID AUDIO: เรากลับมาที่จุดเริ่มก่อน เสียงที่เราได้ยินควรจะเป็นเสียงที่ไดรเวอร์เปล่งออกมาโดยที่ไม่ถูกขยายเสียงเพิ่มเติมจากตู้ลำโพง หลักการเดียวกับนอติลุส ถ้าคุณลองสัมผัสตู้ลำโพงในระหว่างเล่น คุณจะรู้เลย

ADP: ผมลองดูแล้ว ไม่มีอาการสั่นของตู้เลย

VIVID AUDIO: ไดรเวอร์เราไม่ได้ยึดกับตัวตู้ (decouple) มันยึดกับตู้โดยการใช้การประกอบโดยวิธีการสวมอัดเข้าไป และมียางโอริงกั้นกลาง ลักษณะของไดรเวอร์จะลอยและเป็นอิสระจากตู้ ผมทดลองให้คุณดู ถ้าคุณยึดไดรเวอร์เข้ากับตู้ด้วยสกรู เสียงจะดังกว่าไดรเวอร์ที่แขวนลอย เพราะตู้ลำโพงช่วยเติมหรือขยายเสียงจากไดรเวอร์นั่นเอง มาดูความพิเศษของไดรเวอร์นะครับ เราใช้อะลูมินั่มชนิดพิเศษเป็นโคนไดรเวอร์ แกร่งและเบาดูอย่างทวีตเตอร์ เราไม่ใช้โดมเพชรหรือเบริลเลียม ลอเรนซ์ เชื่อว่าอะลูมินั่มเป็นวัสดุที่พิสูจน์กันได้ว่ามีความคงรูป และเริ่มมีอาการเสียรูปที่ความถี่ที่สูงกว่า40kHz ในขณะที่เพชร แม้ว่ามีอาการเสียรูปที่ความถี่สูงกว่านั้น แต่ก็มีมวลมากกว่าเช่นกัน เอาแค่ทวีตเตอร์ตัวนี้ก็ให้ความไวที่สูงกว่าโดมเพชรถึง 9dB ไดรเวอร์ทุกตัวถูกยึดกับตู้ที่ด้านหน้าและด้านหลังที่เป็นฮอร์นโหลดก็ยึดกับตู้ด้วยเทคนิคเดียวกัน กล่าวคือ ไดรเวอร์ไม่ยึดตรึงกับตู้ลำโพงเลย ตู้ลำโพงจึงไม่มีโอกาสขยายความถี่ใดๆ จากความถี่หลักของตัวไดรเวอร์เลย 

ADP: หลักการง่ายมาก ผมสังเกตว่าลำโพงของคุณใช้วัสดุทำโคนไดรเวอร์แบบเดียวกันทุกตัว ต่างกับผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่ใช้วัสดุต่างกันกับไดรเวอร์ต่างกัน

VIVID AUDIO: ไดรเวอร์ทุกตัวออกแบบโดยใช้โปรแกรม FEA ให้ทำงานได้ดีที่ความถี่ที่มันทำงาน เราใช้แม่เหล็กชนิดพิเศษ เรียกว่าSuperflux ดูอย่างทวีตเตอร์ขนาด 26 มม. มีความเข้มของสนามแม่เหล็ก 2.6 เทสล่าร์ ในขณะที่ของคนอื่นที่ใช้นีโอไดเมียมได้ความเข้มที่ 1 – 1.2 เทสล่าร์เท่านั้น ไดรเวอร์ของเราวัดความไวได้ 97dB ส่วน G1S มีค่าความไวของระบบอยู่ที่ 92dB โดยเราตั้งใจให้มันลดความไวลงมาเพื่อรองรับความดังได้มาก โดยที่ไดรเวอร์ยังทำงานสบายๆ คุณจะได้ฟังเสียงที่ไม่เครียดเลย แม้ว่าฟังในระดับที่ดังมาก มันรับกำลังขับได้สูงมาก วอยซ์คอยล์ที่ใช้ เราใช้ขดลวดแบนชนิดอะลูมินั่มเคลือบทองแดง ทำให้พันขดลวดได้ชิดขึ้น ไม่มีช่องอากาศ ได้สนามแม่เหล็กที่ข้นขึ้น

ADP: ทำไมไม่ใช้ทองแดงเลยครับ เรื่องการพันขดลวด เคยได้ยินเทคนิคการใช้ขดลวดหน้าตัดหกเหลี่ยมจากค่าย Morel เหมือนกัน น่าจะหลักการเดียวกัน

VIVID AUDIO: ทองแดงหนักครับ อีกอย่างการเคลือบผิวด้วยทองแดงนั้น ก็เพราะความถี่มันวิ่งไปบนผิววัสดุมากกว่า90% ครับ 

ADP: คุณทำไดรเวอร์เองทุกตัว

VIVID AUDIO: ใช่แล้ว เราประกอบที่นี่ทุกตัวด้วยมือ คุณจะสังเกตว่าช่องว่างระหว่างวอยซ์คอยล์และโครงสร้าง ช่วยในการระบายความร้อน และยังทำให้อากาศที่ถูกไดรเวอร์ปั๊มนั้น ถูกระบายความดันออกมาทำให้ขยับตัวได้สะดวกด้วย

ADP: ถ้าเราเห็นรูเกลียวที่ด้านหลังแม่เหล็ก แปลว่ามันจะมีฮอร์นยึดตรงนี้

VIVID AUDIO: ใช่แล้ว ไดรเวอร์ทุกตัวเราใช้แบบนี้ หลายคนเข้าใจว่าเสียงจะเปล่งออกไปด้านหน้าของโดมเท่านั้น ความจริงมันไปทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สิ่งที่คุณได้ยินคือ เสียงที่ผสมกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง (ส่วนเกิน) วิธีการของเราคือ ติดตั้งฮอร์นที่ทำงานซับพลังงานในทิศทางตรงกันข้ามกับเสียงที่ไปด้านหน้าอย่างเหมาะสม คุณก็จะได้ยินเสียงของไดรเวอร์จริงๆ ทีนี้ ถ้าคุณไปอุดอากาศด้านหลังโดม ความดันมันไม่ออก มันก็จะไปต้านการเคลื่อนที่ของโดม ดังนั้น คุณต้องคุมให้พอดีระหว่างการถ่ายเทพลังงานส่วนเกินออกไป โดยที่จะไม่วกกลับมากวนการปั๊มอากาศของโดมอีก 

ADP: ใช้อะไรซับเสียงในฮอร์นครับ

VIVID AUDIO: ใช้ Wool (ผ้า) ขนยาวทำงานร่วมกับความยาวของฮอร์นที่เหมาะสม 

ADP: ทวีตเตอร์ มิดเรนจ์ ใช้หลักการเดียวกันด้วยฮอร์นโหลด คุณจัดการกับเบสไดรเวอร์อย่างไรครับ เพราะไม่มีฮอร์น

VIVID AUDIO: มันก็เป็นหลักการเดียวกัน เราจัดการกับเบสสองอย่าง อย่างแรก เราเพิ่มความยาวของฮอร์น (เสมือน) โดยเพิ่มความยาวของการเดินทางของคลื่นเสียงในตู้ ซึ่งจากรูปทรงของตู้ทำให้มีช่องที่ว่าความยาวประมาณ 3.5 เมตร อย่างที่สอง เราติดตั้งเบสไดรเวอร์ในทิศทางตรงกันข้าม และมีเสาเชื่อมต่อกันเพื่อประโยชน์ในการหักล้างเรโซแนนซ์จากการกระพือที่ไม่ต้องการ นอกจากเบสให้เสียงที่สะอาดแล้ว ยังมีการทำงานที่เที่ยงตรงมาก ตัวตู้ก็ไม่สั่นสะเทือนด้วย เพราะแรงสะเทือนหักล้างกันเอง 

ADP: คุณใช้อะไรแดมป์ลำโพงด้านในตู้บ้าง

VIVID AUDIO: เราใช้น้อยมากครับ ที่มีก็บริเวณครอสโอเวอร์ 

ADP: หลังจากที่คุณออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์โมเดลแล้ว ต่อมาก็ต้องทำตัวต้นแบบ คุณมีตัวต้นแบบกี่ตัวครับ ก่อนจะผลิตจริง

VIVID AUDIO: เรามีต้นแบบสองตัวที่เราชอบ (จากไม่รู้กี่ตัว) 

ADP: ขอทราบไอเดียในการแยกครอสโอเวอร์ของรุ่น Spirit ออกจากตู้ลำโพง

VIVID AUDIO: หลายคนเชื่อว่าเสียงมันจะดีขึ้น เพราะได้เปรียบเรื่องแรงกดอากาศในตู้ที่จะไม่กระเทือนกับมัน 

ADP: มีเฉพาะ G1S เหรอครับ แล้ว G2S ไม่ทำ แหม! ถ้าทำ ผมอาจจะเป็นลูกค้า G2S คนแรกก็ได้นะ

VIVID AUDIO: จริงๆ เราไม่มีแผนสำหรับรุ่นอื่นนะ แต่ถ้าลูกค้าต้องการก็สั่งทำได้เลยครับ 

ADP: สำหรับผม ความถี่คือ การเคลื่อนไหวทางกลรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่มันเล็กมากเท่านั้นเอง ดังนั้น ถ้าเราแยกครอสโอเวอร์ออกมาจากการสั่นสะเทือนนั้นแล้ว เสียงก็ควรจะดีขึ้นแน่นอน

VIVID AUDIO: ผมก็เห็นว่าถูกต้องนะ กับสมมติฐานของคุณ ผมมีแผ่นอะคูสติกแดมป์ที่กล่องครอสโอเวอร์ของเราด้วยนะ ก็สนับสนุนความคิดตรงกันแหละครับ 

ADP: (พอดีเปิดนิตยสารออดิโอไฟล์ ฉบับที่ทดสอบ GIYA 1S พอดี) นี่รูปผม 555

VIVID AUDIO: คุณใช้แอมป์อะไรขับครับ? 

ADP: ผมใช้ Constellation ครับ แฮปปี้มาก ว่าแต่ที่โรงงานของคุณใช้แอมป์อะไรขับ?

VIVID AUDIO: เราใช้แอมป์กำลังขับตั้งแต่ 6 วัตต์ขึ้นไปจนถึงกำลังสูง หลายตัวมากครับ เล่นกันได้ดี 

ADP: 6 วัตต์นี่แอมป์หลอด

VIVID AUDIO: ใช่แล้ว ลำโพงของเราให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ที่แอมป์มองเห็นลำโพงเป็นพิเศษ 

ADP: กำลังจะบอกว่าอิมพีแดนซ์ของลำโพงมีการสวิงน้อย เลยไม่กินกำลังแอมป์มากนัก

VIVID AUDIO: ไม่เชิงครับ ผมอยากจะบอกว่าเมื่ออิมพีแดนซ์ต่ำ แอมป์จะจ่ายกระแสสูง ในขณะที่แรงดันจะต่ำตามกฎของโอห์ม เราออกแบบครอสโอเวอร์และการทำงานของไดรเวอร์เพื่อรักษาสมดุลนั้นให้ดีมากที่สุด เพื่อให้แอมป์ทำงานได้ดีที่สุด

ADP: ครอสโอเวอร์ใช้รูปแบบอะไร และตัดที่ความชันเท่าไหร่

VIVID AUDIO: เราใช้ลิงค์วิทซ์ ไรลีย์ ออร์เดอร์ที่ 4 ความชัน 18dB/Oct ทุกไดรเวอร์ครับ ชันมากทีเดียว เราแยกแผงวงจร Low pass และ Hi-pass ออกจากกัน เพื่อป้องกันการเหนี่ยวนำกันเองด้วย 

ADP: การทำตู้ลำโพงใช้เวลาทำนานเท่าไหร่ ใช้เครื่องจักรอะไร และใช้สีอะไรเคลือบตู้ (ที่ถามเพราะว่าคงจะไม่มีฟินิชชิ่งเป็นไม้)

VIVID AUDIO: ราว 100 ชั่วโมงครับ ทำเองด้วยมือทุกขั้นตอน หล่อเรซินต่างๆ หรือการพ่นสี เราใช้สีรถยนต์ พ่นทั้งหมด 7 ชั้น ไพร์เมอร์โค้ตสองชั้น เก็บงานขัดกระดาษทรายน้ำด้วยมือ จากนั้นก็พ่นสีจริง ตามด้วยเคลียร์โค้ต งานเนี้ยบมาก สั่งเบอร์สีได้ตามแคตตาล็อกสีรถยนต์ก็ได้ ถ้าเราจะใช้โรงงานผลิตตู้ที่จีน ต้องผลิตมากกว่า1,000 คู่ต่อเดือน โรงงานเราไม่ใหญ่โตขนาดนั้น 

ADP: มีโครงการขึ้นรูปตู้ลำโพงด้วยคาร์บอนหรือไม่ เดี๋ยวนี้ฮิตกันมาก

VIVID AUDIO: เราใช้คาร์บอนเฉพาะวัสดุฐานตู้ ในอุตสาหกรรมรถแข่งหรืออากาศยาน ความแข็งแรงและน้ำหนักสำคัญมาก จึงต้องใช้คาร์บอน สำหรับลำโพง ผมคิดว่าไม่จำเป็น และมันก็ทำให้แพงขึ้นมากเท่านั้นเอง คือ G1S Carbon น่าจะขายได้คู่ละ 130,000 USD มีน้ำหนักเบากว่าG1S ปัจจุบันสัก 6 กิโลกรัม แล้วเราก็จะได้เสียงที่เหมือนกัน เราคงไม่ทำนะ ไม่มีอะไรได้เปรียบในเชิงวิศวกรรม ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วยที่ลำโพงไฮเอ็นด์ต้องมีน้ำหนัก 200 กิโลกรัมนะ มันไม่จำเป็นขนาดนั้น ถ้าออกแบบได้ดี

ADP: ผมก็ไม่ชอบน้ำหนักขนาดนั้น บอกตรงๆ ว่าตอนเซ็ตอัพนี่ ทรมานมาก เกือบลืม ผมคิดว่าลำโพง VIVID เป็นลำโพงที่จัดวางง่ายนะ

VIVID AUDIO: ใช่แล้ว เพราะมันไม่มีความถี่ของตู้มาineract หรือ amplify ครับ เสียงที่คุณฟัง คือเสียงจากไดรเวอร์ล้วนๆ 

ADP: เนื่องจากการยึดไดรเวอร์ของคุณกับตู้ใช้การสวมอัดโดยมีโอริงประคอง เคยเจอไหมที่ไดรเวอร์หลุดจากตู้

VIVID AUDIO: ไม่เคยครับ แล้วก็จะบอกว่าการสวมอัดนี่ทำยากนะครับ ต้องพอดีเป๊ะเลย 

ADP: ตัวขอบไดรเวอร์เบสใช้วัสดุโฟม เจออากาศร้อนนี่ไหวเหรอ แล้วอายุการใช้งานเป็นไงบ้างครับ

VIVID: ขอบโฟมทั่วไปมีอายุ 4 ปี ขอบโฟมของเราถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2007 จนวันนี้ก็สิบปีแล้ว ไม่มีวี่แววการเสื่อมครับ เราพบว่าสาเหตุที่โฟมมันเปื่อย เนื่องจากอิทธิพลของ UV ขอบโฟมของเราทน UV ครับ ไม่มีปัญหาอะไร เราเลือกใช้เพราะว่าต้องการลดน้ำหนัก และลดความเฉื่อยของโคนขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเปลี่ยนไดรเวอร์เพราะโดนเด็กๆ ที่บ้านจิ้มเป็นรูซะมากกว่านี่ขนาดเราใส่ตะแกรงครอบแล้วนะ

ADP: ผมจำได้ว่ารุ่นก่อนๆ ไม่มีตะแกรง แม้แต่ลำโพงรุ่นเล็กก็ยังทำตู้โค้ง ไม่เป็นกล่อง

VIVID AUDIO: ไม่ๆ ๆ อย่าทำตู้เป็นกล่อง ผมจะบอกให้ ผมเคยทดลองด้วยตัวเอง โดยใช้ไดรเวอร์ทุกอย่างเหมือนกัน ต่างกันแต่ตู้กลม (โค้ง) กับตู้ทรงกล่อง คุณเอ๊ย เสียงต่างกันฟ้ากะเหว เรื่องนี้มีการทดสอบกันมาตั้งแต่ยุค 1951 แล้ว ผู้ทดสอบเป็นวิศวกรอเมริกัน ชื่อ “วิลลี่ โอลสัน” เขาทดสอบแล้วว่าตู้ลำโพงที่ให้เสียงดีที่สุด คือทรงกลม (ลูกบอล) ส่วนแย่สุด คือ ทรงลูกบาศก์ (ลูกเต๋า) เมื่อไหร่คุณใช้ตู้ลำโพงเหลี่ยม คุณจะได้ยินเสียงตู้ทันทีเลย แต่ถ้าเป็นตู้โค้ง เสียงจะหลุดตู้โอบล้อมคุณเลย 

ADP: คุณรู้ไหม ตอนที่เห็นลำโพงคุณครั้งแรก ผมว่ามันเอเลี่ยนดีๆ นี่เอง ลำโพงเขาก็เป็นทรงกล่อง – ทรงตู้ทั้งนั้น

VIVID AUDIO: 555 คุณสามารถซื้อลำโพงทรงกล่องขนาดใหญ่ได้ ข้อดีก็คือ เวลาคุณเสียชีวิต คุณก็ยัดตัวลงไปในตู้นั้นเลย 

ADP: ผมคงจะต้องซื้อลำโพงใหญ่มากเลย 555

VIVID AUDIO: ผมก็เหมือนกัน 555 

ADP: มีโครงการจะทำลำโพงที่ราคาจับต้องได้ง่ายกว่านี้หรือไม่

VIVID AUDIO: ในขณะนี้ เรายังไม่มีวิธีที่จะทำลำโพงที่ให้เสียงในแบบที่เราอยากจะได้ในราคาที่ต่ำมากกว่านี้ ลำโพงทุกรุ่นของเราใช้ไดรเวอร์ที่มีคุณภาพสูงเท่ากัน เกรดของอุปกรณ์ครอสโอเวอร์ต่างๆ ก็เหมือนกัน เลยไม่รู้ว่าจะทำให้ถูกกว่านี้ได้อย่างไร 

ADP: เคยคิดจะลดต้นทุนโดยการ OEM driver ไหม เช่นไปทำที่จีน

VIVID AUDIO: ผมเคยออกแบบแล้วยื่นให้กับผู้ผลิตลำโพงในยุโรปชื่อดัง เขาบอกทำไม่ได้ครับ เราเลยทำเอง ยกตัวอย่างเช่น การประกอบลำโพง เราใช้แม่เหล็กถาวรในการประกอบไดรเวอร์ ซึ่งทำยากมาก ในขณะที่ทั่วไป เขาจะประกอบเสร็จก่อน แล้วถึงแปรสภาพให้เป็นแม่เหล็ก 

ADP: อันนี้สำคัญมาก กลับมาที่ตู้ลำโพงอีกครั้ง เรื่องตู้ลำโพงหนักๆ และการใช้วัสดุในการลดเรโซแนนซ์ โดยเฉพาะลำโพงไฮเอ็นด์

VIVID AUDIO: ผมคิดว่าแก้ปัญหาไม่ถูกจุด การใช้น้ำหนักหรือวัสดุ มันเป็นแค่การลดแอม-ปลิจูดของเรโซแนนซ์เท่านั้น โดยเฉพาะเบส คุณดูรถปอร์เช่ที่ใช้เครื่องวางนอนยันแบบบ๊อกเซอร์ นั่นก็เรื่องเดียวกัน การที่เราวางเบสไดรเวอร์ในทิศทางการทำงานตรงกันข้ามกันเพื่อหักล้างแรงสะเทือน นั่นก็เป็นการตัดปัญหาที่จุดเริ่มต้น คุณจะไม่ได้ยินเสียงตู้เลย

ADP: ทำไมถึงทำช่องเปิดลำโพงออกด้านข้าง แทนที่จะออกด้านหน้าทั้งๆ ที่การวางลำโพงส่วนใหญ่จะวางตามแนวยาวของห้อง?

VIVID AUDIO: ง่ายมาก เราลองทำทั้งสองอย่าง เราพบว่าช่องเปิดออกด้านข้างเสียงดีกว่าด้านหน้าครับ

ADP: เคยลองทำตู้ปิดไหมครับ?

VIVID AUDIO: ไม่ครับ เพราะคุณจะลดประสิทธิภาพของเบสไป คุณต้องทำตู้ลำโพงที่มีปริมาตรที่ใหญ่กว่านี้ ตู้ลำโพงที่เราทำมีประสิทธิภาพสูงมาก เพราะมีความยาวคลื่นให้ไดรเวอร์เบสทำงานที่ความถี่ต่ำในตู้ถึง 3.5 เมตร 

ADP: กลับมาที่สีตู้ครับ ทำสีอะไรได้?

VIVID AUDIO: ทุกสีได้หมดครับ

ADP: ผมชอบสีส้มลัมโบร์กินี่ ไม่ว่าจะเป็นสีด้านหรือสีเงาคุณก็พ่น 7 ชั้น?

VIVID AUDIO: ใช่ครับ

ADP: ส่วนใหญ่คนเล่นเครื่องเสียงชอบการทวีคให้เสียงดีขึ้น บางคนซื้อสายลำโพงแพงมากกว่าลำโพงซะอีก คุณคิดว่าเราควรจะจ่ายเงินเท่าไหร่กับสายลำโพงเทียบกับราคาลำโพง

VIVID AUDIO: ตอบยากนะ เหมือนกับถามว่าแอมป์อะไรที่ดีที่สุด ผมว่าเป็นเรื่องรสนิยม ผมคิดว่าราคาสายทุกวันนี้มันแพงจนน่าเกลียด 

ADP: คุณใช้สายลำโพงในตู้อะไร มีทรีตเมนต์อะไรไหม

VIVID AUDIO: เราใช้สายเบอร์ 12 ของ van den Hul เป็นสายเงิน ไม่มีการทรีตอะไรเพิ่มเติม ที่ต้องพูดถึงคือ เราบัดกรีสายนี้เข้าไปที่วอยซ์คอยล์โดยตรง นี่สำคัญมาก ลองคิดดูว่าเราใช้สายเงิน บัดกรีด้วยตะกั่วเงิน มันเยี่ยมนะ 

ADP: แหม ยังงี้ผมใช้สายลำโพง VDH ตั้งแต่ต้นทางเลยไหม ประหยัดดี

VIVID AUDIO: ใช้สายที่คุณภาพดีก็เพียงพอแล้ว ผมคิดว่าทุกวันนี้ สายลำโพงมันแพงมากเกินไป โดยที่ไม่ต้องมีคำอธิบายทางวิศวกรรมกันซะด้วย

ADP: ในลำโพง VIVID G Series รุ่นไหนขายดีที่สุดครับ

VIVID AUDIO: G3 ครับ ไม่ใหญ่มาก เสียงดี คุณภาพเดียวกับรุ่นเรือธงครับ

ผมประทับใจนะครับ ที่ชายหนุ่มน้อยและหนุ่มใหญ่ต่างก็สนทนากันอย่างไม่มีข้อจกัดเลย และ Mr. Robert Trunz เป็นกันเองมากครับ ไม่น่าเชื่อว่า WJ จะได้มีโอกาสสนทนากับอดีต President ของ Bowers & Wilkins ผมแอบหวังว่าคงจะได้มีโอกาสไปเที่ยวแอฟริกาใต้ แล้วก็ไปพบกับ โรเบิรต์ ทรุนซ์ อีกครั้ง เพราะเขาว่าปลาที่โน่นรสเด็ดขาดมากมาย

พบกันใหม่ฉบับหน้ากับ การทดสอบเครื่องเสียงที่ต้องบอกว่าเป็นอภิมหาเครื่องเสียงที่ใครเล่นเฟซบุ๊กและเป็นเพื่อนแฟนเพจกับออดิโอไฟล์ คงจะพอทราบกันแล้ว สวัสดีครับ. ADP

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 249