ธรรมนูญ

พวกเราคลุกคลีอยู่ในแวดวงเครื่องเสียง เล่นเครื่องเสียง นักทดสอบ นักฟัง ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เราคือผู้ที่ชื่นชอบในความสุนทรีของเสียงดนตรี เพียงแต่อยู่ในฐานะผู้เสพมากกว่า จริงอยู่ที่ผมมักชื่นชอบแนวเพลงคลาสสิกร็อก โปรเกรสสีฟร็อก จู่ๆ คุณปฤษณ ก็แนะนำให้ผมฟังเพลงของ The ISAN Project ถึงกับอ้าปากค้าง ดนตรีดี อึ้งกับแนวคิด… คิดได้ไง 

จากนั้นไม่นานนับเป็นโอกาสดีที่ผมได้พูดคุยกับ Mr. Will Robinsonแห่ง TUNE ASIA Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์งานชิ้นนี้ เราลองมาฟังทรรศนะของมืออาชีพกันดูครับ

“ผมมาเที่ยวเมืองไทยแล้วก็ติดใจ รักและหลงเสน่ห์ในวัฒนธรรม ผู้คนที่นี่ ก็เลยเข้ามาอยู่เมืองไทย 4 -5 ปีได้แล้ว ซื้อบ้านอยู่เสียเลย มีที่พักอยู่ที่หัวหิน พูดภาษาไทยได้นิดหน่อย อย่าง… สบายๆ เป็นต้น”

BACKGROUND

ผมเป็นชาวแมนเชสเตอร์ ครอบครัวดนตรี เป็นครูสอนเปียโน พวกเราเป็นนักร้อง เป็น Producer ผมคลุกคลีอยู่ในวงการเพลงมานาน เคยร่วมงานกับศิลปินมามาก ถ้าเอ่ยชื่ออย่างเช่น เกว็น ดิกกี้, ลีโอ เซเยอร์, เดอะ พาซาดีน่า, เจมส์ บราวน์, เจอร์รี่ ลี ลูอิส ได้พบปะผู้คนมากมายในแวดวงดนตรี รวมถึงค่ายแผ่นเสียงอย่าง RCA, Universal รวมถึง Motown

ผลงานเพลง “Glory Glory” Full version เป็นความภาคภูมิใจของผมนะ เพลงนี้ขายดีมาก แน่นอน… มันเปิดกระหึ่มใน โอลแท็ฟฟอร์ด อยู่แล้ว ข้ามไปฝั่งอเมริกาก็ยังขายดี ถือเป็น Best Seller เลยครับ

เคยตั้งบริษัทร่วมกับ โรบิน กิบบ์ แห่งวงบีจีส์ เพื่อพัฒนาดนตรีแนวทางใหม่ เกิดมีความสัมพันธ์อันดีกับ วิล และ ไมเคิล เกรฟ Producer ของ โรบิน กิบบ์ มีผลงานกับนานาชาติในหลายๆ กิจกรรม การร่วมงานกับ โรบิน กิบบ์ เขาได้สอนให้รู้ถึงความสำคัญของท่อนฮุค ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ซึ่งเป็นผมในวันนี้

 PHYSICAL / DOWNLOAD / STREAMING

iTunes ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป และเป็นที่ทราบดีว่าเป็นยุคดิจิทัลโดยแท้ จากDigital Download จนถึง Music Streaming ทำให้ทุกวันนี้อุตสาหกรรมผลิตแผ่น physical ถึงทางตัน โดยเฉพาะกับแผ่นซีดี ซึ่งในยุโรป เรียกว่าจบไปแล้ว เขาไม่ซื้อกันเลย แม้ว่าแผ่นไวนิลกำลังกลับมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำยอดขายเป็นกอบเป็นกำเหมือนเช่นสมัยเมื่อยี่สิบปีก่อนหน้านี้…ไม่มีวันเสียหรอก ลองคิดดูว่า ต้นทุนผลิตมันต่างกันเพียงไร ทำแผ่นมีต้นทุนมหาศาล ไหนจะค่าแผ่น แพ็กเกจจิ้ง ค่าขนส่ง ถ้าขายไม่ได้ก็เจ็บหนัก ขายได้ก็ดีไปก็แบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ผู้ขาย ขายไม่ได้ก็ขนกลับมากองเต็มบ้าน ทำเพลงสองเพลงก็ไม่ได้ ต้องทำทั้งอัลบั้ม ผมจึงไม่คิดจะทำแผ่นไง Digital Downloadหรือ Streaming Service คือทางออกของวันนี้ เพราะมันเข้าถึงทุกซอกทุกมุมในโลกใบนี้ ตราบใดที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต เท่าที่ทราบมีกระจายมากกว่า 50 ประเทศกันแล้ว มันเป็นหน้าร้านที่มีอยู่ทั่วโลกจริงๆ จริงอยู่ที่ค่าส่วนแบ่งต่อครั้งในการฟังมันน้อยนิด เราก็ทำให้เขากดฟังเยอะๆ สิ ก็ต้อง PR ผ่าน Mediasให้ทั่ว ถ้าผลงานเราดี ดังพอ คนเขาก็เปิดเป็นล้านครั้ง ก็ได้เงินเอง ลงทุนครั้งเดียว ต้นทุนไม่ได้เพิ่มตามเลยนะ

Download/Streaming ต่างกันตรงที่ Digital Download มันเป็นของคุณ ได้ฟังเท่าที่ซื้อ Streaming ฟังเท่าไหร่ก็ได้ หยุดจ่ายค่าสมาชิกก็ฟังไม่ได้ Streamingโตขึ้นทุกวัน Spotify มีสมาชิก 140 ล้าน, Apple Music 30 ล้าน, Joox กับ Tidalและที่เหลือเป็นยี่สิบล้าน คิดดูสิว่ามันใหญ่เพียงไร เมื่อเป็นเช่นนี้จะเห็นว่ากับ The ISAN Project เราจึงส่งถึงมือลูกค้าเราในทุกดิจิทัลแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Digital Download หรือ Music Streaming ซึ่งมีอยู่ทุกค่าย เอ่ยชื่อกันได้เลย Tidal, Qobuz, Spotify, Deezer, Apple Music, Joox, … มีครบ ส่วน Digital Download ก็มีอย่างเช่น iTunes, Amazon music เป็นต้น ทุกสิ่งที่พูดมาเข้าถึงผู้ซื้อง่ายมากกว่าไปวางที่ร้านค้ามากมาย แต่ทำอย่างไรพวกเขาจะรู้ว่ามีผลงานดีๆ ของเราอยู่ล่ะ ก็ต้องอาศัย PR ผ่านสื่อ (Medias)

MEDIA..

ยุคนี้ต้องพูดถึง Digital Marketing ซึ่งสำคัญมาก ต้องใช้หลากหลาย ให้ทั่วถึงเราใช้สื่อ มี Radio, DJ ตามผับ, รายการวิทยุ… MV, Media, YouTube, Download/Streaming retails ที่จะเข้าถึงผู้ฟังทั่วโลกได้ไม่ยาก อย่างเพลง Amazing Thailand ที่ได้ยินจาก Thai Airway ใครๆ ก็รู้จัก เราก็ใช้ Website, Facebook, Line, สื่อสิ่งพิมพ์, สื่อดนตรี อย่างออดิโอไฟล์นี่ก็ใช่ ถือเป็นสื่อดนตรีที่ช่วยได้

FINALLY….THE ISAN PROJECT
“It was just a simple drum set and this tiny wooden guitar,”

เราเห็นโอกาสที่ตลาดในเอเชียยังมีอีกกว้าง จริงๆ ก็เคยทำงานร่วมกับศิลปินมาเลเซีย จนจู่ๆ ต่อมาจึงได้นำมาสู่ The ISAN Project ซึ่งก็มีเรื่องน่าประทับใจที่อยากเล่าให้ฟัง The Spirit of ISAN เป็นผลงานอัลบั้มแรกของ The ISAN Project มีเรื่องราวดังนี้ บังเอิญผมได้มีโอกาสมาพักผ่อนในเมืองไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้มา

….ผมไม่เคยได้ยินดนตรีอีสานมาก่อนเลย ขณะเดินอยู่ริมถนนสุขุมวิท ได้ยินเสียงเครื่องดนตรีที่คล้ายกีตาร์ ซึ่งก็เพิ่งทราบว่ามีชื่อเรียกว่า “พิณ” กับกลองชุดเล็กๆ ว้าว! มันยอดมาก… รีบคว้า iPhone3 ในขณะนั้นมาอัดเสียงไว้ แล้วเอากลับไปให้ ไมเคิล เกรฟ โปรดิวเซอร์ทีี่สนิทกับผม ว้าว… มันเจ๋งแฮะ อะไรฟะ ซึ่งมิได้จบแค่นั้น

หลังจากกลับไปลอนดอน ราวต้นปี จากนั้นเรากลับมาที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง ก็เลยมาค้นหาตามร้านขายซีดี ซื้อเพลงหมอลำไปนับร้อยเพลง เรื่อยไปจนศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์อันยาวนานของคนอีสาน วัฒนธรรม จนถึงดนตรีอีสาน ต่อมาได้รู้จักศิลปินชาวไทย ฟอร์ด – สบชัย ไกรยูรเสน และ คุณโก้ มิสเตอร์แซ็กแมน ผู้ให้ความรู้ในเรื่องดนตรีอีสานต่อผม เพื่อซึมซับในวัฒนธรรมของพวกเขา เราไปโคราช ขอนแก่น ที่นั่นฟังเพลงหมอลำในหมู่บ้านหมอลำซึ่งเป็นคนอีสาน ทำวิดีโอบล็อกเก็บภาพเพื่อพัฒนาสู่การผสมผสานเพลงอีสานกับเพลงสากลของโลกตะวันตกต่อไป

NOT JUST WORLD MUSIC BUT BRING ISAN MUSIC TO THE WORLD

“but it was nothing like I’d ever heard before, and I knew right then that I wanted to do something to promote the Isan sound for people on the other side of the world to enjoy.”

จากจุดเล็กๆ ของ The ISAN Project กลายเป็นอัลบั้ม The Spirit of ISAN หาใช่อัลบั้มแนว World Music แต่เป็นดนตรีอีสานสำหรับคนทั้งโลกต่างหาก ISAN Projectมีเป้าหมายที่จะผสมผสานดนตรีพื้นบ้านเข้ากับดนตรีสมัยใหม่ พาบทเพลงเหล่านี้สู่ระดับสากล จะได้ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวให้กับเมืองไทยด้วย

MAKING

เราใช้บุคลากรในการสร้างสรรค์ผลงานมาก ผมรับบทบาทผู้อำนวยการผลิต ทั้งดนตรี รวมถึงมิวสิกวิดีโอ ผู้แต่งเพลงในอัลบั้มด้วย จับมือกับศิลปินสุดยอด ผู้เชี่ยวชาญทางดนตรีถึง 26 คน รวมถึง ไมเคิล เกรฟ โปรดิวเซอร์ของโรบิน กิบส์, นักดนตรีอีกแปดคน รวมถึง เอริค ฮาร์โกรฟ มือกลองของ เจมส์ บราวน์

VOICE ,TUNE

ผมติดใจนักร้องลูกทุ่งหญิงคนหนึ่งชื่อ รัชนก ศรีโรพันธ์ ชอบเสียงเธอมาก แต่ไม่สามารถติดต่อเธอได้ ก็ได้นักร้อง คุณมาเรียม อัคคาลาลี่ แห่ง B5 กับคุณปุ้ย ดวงพร ผาสุข, คุณจอมขวัญ, นักร้อง นักดนตรีอีสาน, ศิลปินชาวไทยท่านอื่น กับศิลปินอเมริกัน, อังกฤษ เรียกว่านานาชาติ เราบันทึกเสียงในห้องบันทึกเสียงของ คุณโก้ แถวเมืองนนท์ รวมถึงสตูดิโอในโคเปนเฮเกน, พัทยา, กรุงเทพฯ และ อังกฤษ ถ่ายวิดีโอในแถบอีสาน และในนิวยอร์ก ทั้งหมดใช้เวลาราวสองปีครึ่ง กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ที่จะรีลีสออกสู่ตลาดโลกได้

MIX UP ..CROSS OVER ,EDM, FEATURING,….COVER ,…HAVE FUN.

จริงครับที่ดนตรีของเรามีทุกอย่างที่คุณบอก นี่คือส่วนผสมที่ลงตัว ถึงจะประสบความสำเร็จ แน่นอนว่าไม่ใช่สูตรตายตัว EDM ป็อปปูล่าในยุโรป ดนตรีของเราจึงเข้าถึงพวกเขา แน่นอนว่าในยุโรป กับอเมริกาใต้ แถบชิลี ถือว่าดังมาก พวกเขาชอบดนตรีสนุก ดนตรีอีสานมีบีตที่ชวนสนุก ไม่มี DJ คนใดไม่รู้จัก The ISAN Project จริงๆ มันเข้าถึงประเทศค่อนโลกไปแล้ว ตราบใดที่ Streaming เข้าถึง ตอนนี้เราหวังที่จะเจาะตลาดในรัสเซียและยุโรปตะวันออก ซึ่งยังเปิดกว้าง สำหรับผู้ฟังชาวไทย เราเพิ่งรีลีสไม่นาน คิดว่าต้องเรียนเชิญให้ฟัง คงต้องใช้เวลาสักนิด คนไทยเป็นคนรักเสียงดนตรี รับลองว่าติดหูแน่นอน

The ISAN Project เป็นLong term project ก็อาจจะมีผลงานออกมาอีก โปรดอดใจรอ

STORY TELLER..

ผมไปดูเทศกาลบั้งไฟที่ยโสธร ถามเขา “Why they call Rocket Festival?”ถามว่ายิงขึ้นไปบนฟ้าทำไม เขาขอฝน โอ.. ผมมาจากแมนเชสเตอร์ มันตกทั้งวัน ไม่เห็นต้องขอเลย แต่นั่นแหละเป็นวิถีชีวิตของคนอีสาน เพราะอีสานแล้งจึงมีเทศกาลเช่นนี้ ผมก็เข้าใจนะ ว่าชีวิตของคนอีสานเป็นอาชีพเกษตรกรรมต้องพึ่งดินฟ้าอากาศ ถ้าฝนแล้งก็จะขัดสน

Stranger เพลงเมโลดี้สวยๆ ฟังง่าย ส่วนเพลง NA NA.. ก็ถือเป็นการท้าทาย ก้ำกึ่ง ออกจะติดเรตนิดๆ ถือเป็นอีกมุมมองของคนต่างชาติที่เข้ามาเห็นอีกแง่มุมของกรุงเทพฯ เราใช้เสียงจิงเกิลของรถไฟฟ้า BTS สื่อถึงความเจริญทางด้านวัตถุของคนกรุงเทพฯ แต่ในอีกมุมก็มีคนอีกกลุ่ม ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุง ผมเองยังไม่ค่อยกล้าไปเดินคนเดียว… ฮา

เพลง Fire เป็นชีวิตของนักมวยเด็กอีสานที่เหมือนเล่นกับไฟ เหมือนกับ Rocky ก็เล่นกับไฟ Ep.1 อาจจะมีภาคต่อก็ได้นะ ส่วน Wishing Well เป็นอีกเพลงที่ผมชอบ อยากให้ฟัง

อย่างแทร็กสุดท้าย “I’ve never been to me” เป็นเพลงแบบผสมผสาน ผมได้ฟังเสียงร้องอันแสนไพเราะนี้ที่โรงแรมเวสติน กรุงเทพ ครั้งแรกเราเถียงกันว่า เขาเปิดแผ่นหรือว่าเล่นสด โอ้ว! ขณะที่เธอกำลังเล่นเปียโนและร้องเพลง นาทีนั้นผมรู้สึกได้ทันทีว่า นี่แหละเสียงที่ผมต้องการ เธอโปรเฟสชั่นแนลมาก ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็ได้งานที่สมบูรณ์แบบ และนี่คือ The Isan Project แทร็กสุดท้าย ที่ขับร้องโดยคุณ Prayer Worakanที่เรียกได้ว่าเป็น Fantastic cover ทีเดียว

KEY TO SUCCESS

จุดยากทำอย่างไรที่จะผสมผสานอย่างลงตัว ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่มากไม่น้อยเกินไป ต้องอาศัยความร่วมมือที่ลงมาช่วยทำดนตรีต้องมีพลัง เราต้องทำอะไรที่ใหม่ ถ้าเรามีอะไรใหม่ๆ ก็มี “โอกาส” ที่จะประสบความสำเร็จ แน่นอน… เราไม่สามารถย่ำอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ ได้ ต้องกล้าที่จะลองสิ่งใหม่ ท่อนฮุคคือจุดที่คนฟังจะติดหู มันไม่ง่ายเลย แต่ก็ไม่ยาก ถ้าคุณกล้าพอ

TO THAI ARTISTS: IDEA , COLLABORATION , MAKE A SOMETHING NEW.

โลกมันเปลี่ยน การจะย่ำอยู่กับที่คงยาก ต้องนำเสนอสิ่งใหม่ แน่นอนว่าไม่รับประกันว่าสำเร็จหรือไม่ ไม่มีกฎตายตัว นำเสนอสิบอาจจะดังเปรี้ยงแค่หนึ่ง นักศึกษาดนตรีในมหาวิทยาลัยในเมืองไทยมีตั้งเยอะ ไม่จำเป็นต้องตามใคร ไอเดียดีๆ ต้องมีก่อน ผสมผสาน กล้านำเสนอ กล้าเปลี่ยน Collaboration, Make a something new ก็ควรต้องนำเสนอสู่สากลให้ได้

“Make a Something new …Dare with new idea …More Idea, More chance to get.” ขอบคุณอีกครั้ง. ADP

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 247