ธรรมนูญ ประทีปจินดา

ได้ยินเสียงเพลง “ริมน้ำคืนหนึ่ง” จากแผ่นเสียง เล่นผ่าน เทิร์นเทเบิ้ล EMT ใช้ชุดเครื่องเสียงหลอด NAT จากเซอร์เบีย ขับลำโพง Gauder Acoustic RC-11 ซึ่งถือเป็นลำโพงคู่ที่สี่ ที่เคยได้ฟังจะจะ จากการทำคอลัมน์เยี่ยมห้องฟัง ‘WE ARE AN AUDIOPHILE’ พูดได้เลยว่าไม่เคยได้ยินเสียงแนวนี้จากลำโพง RC-11 คู่อื่นที่เคยได้ยินมาก่อนเลย ไม่ว่าที่ไหน เพราะที่ได้ยิน ครั้งนี้ให้เสียงอุ่น อิ่มฉ่ำ อ้อยอิ่งได้อารมณ์เพลง เช่นที่ศิลปิน ตั้งใจทำมาเป็นสไตล์เสียงของแอมป์หลอดซิงเกิ้ลเอ็นด์ คลาส A ที่ถูกถ่ายทอดผ่านลำโพงเยอรมันที่มีความแม่นยำ เที่ยงตรง สมบูรณ์แบบ ได้บรรยากาศของ “ริมน้ำ” มาก บังเอิญเหลือเกิน ว่าเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ชุดนี้ยู่บนเรือเอี้ยมจุ๊นลำใหญ่ ที่ตัวเรือถูก ตกแต่งอย่างวิจิตร แต่หาได้อยู่ที่ริมน้ำไม่ 

เมื่อเห็นภาพเปิดคอลัมน์ก็อย่าได้แปลกใจ หรือสงสัยว่าพี่อุ้มกินยาผิดหรือเปล่าเอ… นี่มันคอลัมน์อะไรกันแน่ “บ้านและสวน” หรือเปล่า… ไม่ผิดหรอกครับ เพียงแต่คอลัมน์ WE ARE AN AUDIOPHILE ฉบับเดือนสิงหาคม 2558 ที่คุณกำลัง อ่านอยู่นี้ ขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีออดิโอไฟล์ของท่านเจ้าของ ห้องฟังบนเรือเอี้ยมจุ๊นลำที่เห็นอยู่นี้ จอดอยู่กลางกรุงเทพฯ นี่เอง ไม่ง่ายเลยกว่าจะเป็นห้องฟังอย่างที่เห็นนี้ ไอเดียทำห้องฟังบนเรือ นั้นเลิศมาก ยิ่งชุดเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ซึ่งถูกติดตั้งอยู่บนเรือลำนี้ ต้องขอบอกเลยว่าไม่ธรรมดาจริงๆ 

เจตนารมณ์ของคอลัมน์ WE ARE AN AUDIOPHILE หวังให้ พื้นที่นี้เป็นการแชร์ประสบการณ์และแนวคิดในการเล่นเครื่องเสียง ของท่านผู้นี้มาสู่ผู้อ่านออดิโอไฟล์หลายๆ รุ่น เพื่อจะได้ทราบ ความเป็นมาว่ากว่าจะเป็นอย่างที่ได้เห็นกันนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง และสำหรับบทความครั้งนี้ต้องขออภัยที่มิอาจเอ่ยนามของเจ้าของ ห้อง เพราะต้องการสงวนความเป็นส่วนตัวของท่านไว้ครับ

ผมและทีมงานออดิโอไฟล์มีนัดหมายจะไปเยี่ยมห้องฟังของนักเล่นเครื่องเสียงในกลุ่มก๊วน นักเล่นรุ่นใหญ่ของวงการเครื่องเสียงเมืองไทยท่านหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในห้องฟังหลายห้องของท่าน ก็คือ ห้องฟังบนเรือเอี้ยมจุ๊นลำนี้ที่อยู่ใจกลางเมืองกรุงนี่เอง จากการนัดหมายมาร่วมสองปี เพิ่งจะลงตัววันนี้ ซึ่งต้องขอขอบคุณมายังท่านเจ้าของห้องฟัง รวมถึง คุณโจ้ Sound Box อย่างมาก สำหรับการประสานงานเพื่อให้เราได้ถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์จากห้องฟังของท่านผู้นี้ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวอันเป็นสาระต่อพวกเราเหล่าออดิโอไฟล์นั่นเองครับ

ตัวตน

ช่วงอายุยี่สิบถึงสี่สิบ ผมลุยงานเต็มที่เลยนะ มาถึงจุดหนึ่งรู้สึกไม่ใช่แล้ว พอผ่านช่วงต้มยำกุ้ง ปี 40 ก็รู้แล้วว่าทำมากไป ตอนนั้นเราก็ over expand ไปเยอะ จึงทำพอประมาณก็พอ ทำแบบพอเพียง ทำแล้วมีความสุข ผมไม่มีลูก มีแต่หลาน อยู่สองคนกับภรรยา ก็เลยต้องขอ enjoy กับชีวิตไป ปกติเป็นคนชอบฟังเพลง ชอบเล่นกีฬา มีฮอบบี้หลายอย่าง รวมถึงชอบรถโบราณ พวก classic car, พวก Mercedes Benz รุ่นคลาสสิก มากกว่า เช่น Pagoda 230SL, 190SL, W111 Coupe’ ส่วนรถสปอร์ตแรงๆ ผมไม่เล่นแล้วล่ะ เนื่องจากเคยลองแล้ว ไอ้สามร้อยแรงม้านี่มันเอาไม่อยู่ เบรกทีก็แว้บแล้ว ประสาท เราเป็นพาโนรามา คงไม่เหมือนสมัยหนุ่มๆ ผมว่ามาชดเชยเล่นเครื่องเสียงแทนจะดีกว่า อย่างน้อยได้ enjoy ไปกับมัน ไม่อันตรายด้วย ที่สำคัญภรรยาเขาแฮปปี้ อย่างน้อยเราก็อยู่ในบ้าน ผมชอบดูคอนเสิร์ต คอนเสิร์ตต่างประเทศ มาบ้านเราไม่พลาดอยู่แล้ว หรือเมื่อต้องเดินทางไปเมืองนอกก็มักชอบไปดูคอนเสิร์ตในคอนเสิร์ตฮอลล์ดังๆ ที่บ้านเขา เราก็ได้ไปฟังดนตรี แสดงสดในฮอลล์ที่เขาบอกว่าเสียงดี อย่างในปราก เวียนนา เช่น ลา สกาลา ในอิตาลี เขาก็ว่ามันสุดยอดแล้ว แล้วมันดียังไง อย่างงานเทศกาลคอนเสิร์ตช่วงคริสต์มาส ซึ่งคนจากทั่วโลกชอบไปฟังคอนเสิร์ตกันตรงนั้น เพราะว่าคิดว่าเป็นแหล่งกำเนิดของดนตรีคลาสสิก พวกเราก็ไปลองฟังดูก็ได้ข้อคิดมาว่า นั่งห้าแถวหน้ามันก็ได้อีกเสียงหนึ่ง คือได้ความแรง เวลาศิลปินเล่นเบส เล่นไวโอลิน เราเห็น Emotion ของนักดนตรี เราสัมผัสได้ถึงอารมณ์ของเขา พอเราไปนั่งสิบแถวหลัง หรือสิบห้าแถวหลัง มันก็เปลี่ยนไป ค่อยๆ นุ่มขึ้น แล้วค่อยๆ สมดุลของมันไปเรื่อยๆ พูดถึงที่นั่งในคอนเสิร์ตฮอลล์ มีเพื่อนผมคนหนึ่ง เขาจะดูคอนเสิร์ตตามที่ Dave Wilson นั่งแกเล่นไปดูคอนเสิร์ตแล้ววงกลมไว้เลยว่าตรงนั้นดี ตรงนี้เป็นอย่างไร เราก็ตามไปนั่งตรงที่เขาว่า ก็พบว่า… จริงสินะด้านหน้า ตรงกลางอย่างหนึ่ง หรือหลังมันก็อีกอย่าง ก็แล้วแต่ชอบ แต่เรายังชอบดูอยู่ ไม่ใช่แค่ฟังแต่เสียง คิดว่าไม่เกินสิบแถวหน้า นี่แหละเหมาะสมสุดแล้ว เพราะเราได้เห็นสีหน้า รวมถึงเพอร์ฟอร์มานซ์ของศิลปินด้วย ผมว่ามันใช่นะ ถ้าถามว่า ดูคอนเสิร์ตทั่วไป แถวนั่งที่ดีที่สุด (Best Seat) ความเห็นผมนะ ผมชอบแถวที่ 8 – 10 ราวๆ นั้นแหละ ผมว่ามันมีความสมดุลดนตรีมีความเป็นสามมิตินะ บางทีผมอาจจะอายุมากแล้วก็ได้

อยากมีพิพิธภัณฑ์แผ่นเสียงจัดเป็นคอลเล็กชั่น
เน้นที่ความสุนทรี พูดคุยในเรื่องเดียวกัน

ความใฝ่ฝัน

ชุดเครื่องเสียงที่เรามีกันอยู่หลายชุด เคยคุยกับรุ่นพี่ว่า วันหนึ่ง ไม่น่าเกินห้าปีจากนี้ อยากทำพิพิธภัณฑ์เครื่องเสียง ซื้อที่มาสักสองร้อยตารางวา สร้างอาคาร 6 – 7 ชั้น เอาเครื่องเสียง เอาหลอดชนิดต่างๆ แผ่นเสียงคอลเล็กชั่นที่เรามีใส่ไว้ตรงนั้น ใจผมนะ อยากมีพิพิธภัณฑ์แผ่นเสียง จัดเป็นคอลเล็กชั่น แล้วมีเครื่องเสียงดีๆ ให้คนที่รัก คนที่ชอบพอกัน เน้นที่ชอบพอและรักในเครื่องเสียง นัดกันมาฟัง มีไวน์ให้จิบ ไม่ใช่เพื่อเงิน หรือเอามัน เน้นที่ความสุนทรี enjoy พูดคุยในเรื่องเดียวกัน เมื่อฟังแล้วจะทราบว่า อ้อ… มันเป็นอย่างนี้นี่เอง เหมือนเล่นรถเก่า ความรู้สึกมันขับโย่งๆ หนึบๆ สบายๆ ไม่เร่งรีบ ต่างจากรถสมัยใหม่ ที่จะแน่นมั่นคง มีอิเล็กทรอนิกส์ช่วยก็ทำให้ขับสบายขึ้น เครื่องเสียงก็เช่นเดียวกัน พอดีกำลังสร้างบ้านที่เขาใหญ่ อยากรู้เหมือนกันว่า แผ่นเสียงที่เรามีอยู่ราวสามหมื่นแผ่น มันจะมากสักแค่ไหน ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะมีมากพอ และมีคุณค่าพอไหม ความจริงเพิ่งมาตั้งใจเก็บแบบจริงจังราว 7 – 8 ปีนี้เอง และยังตามล่าหาต่อไป

The Collectors

ระยะหลัง ผมจะไปหาพวกคอลเล็กเตอร์ที่เขาอายุมาก แล้วก็รีไทร์แล้ว แถมไม่มีลูกหลานที่จะสืบทอด คุยกับเขา พวกคอลเล็กเตอร์พวกนี้จะเอาแผ่นที่มีค่าสักสี่ห้าแผ่น เดินไปตามงานเครื่องเสียง แล้วไปขอเปิดตามห้อง พอแผ่นมันฟังดี เดี๋ยวก็จะมีคนขอซื้อ ตรงกันเลย ก็ที่งานนั่นเลย ต่อมาผมก็ถามว่ามีแผ่นอะไรบ้าง เขาก็เอามาโชว์ คือมีอยู่เพียบเลย เขาอายุเจ็ดสิบแล้ว คงแบกใส่ลังมาเยอะๆ แบบเปิดท้ายขายของไม่ได้แล้ว เขาเล่นเดินตามงานแบบนี้ดีกว่า เพราะคนมาเดินงานเครื่องเสียงมีศักยภาพที่จะซื้อได้อยู่แล้ว เราก็เลยคุยแบบเหมายกล็อต เอามาเลย ราคาเฉลี่ยสัก 3 – 5 ยูโร ซื้อเป็นพันๆ แผ่นยังไงก็ขาย แล้วเรามาคัดเอาทีหลัง ก็ต้องดู pressing อยู่แล้ว ผมอาจจะไม่เปรี๊ยะมากนัก แต่ผมมีคนช่วยดูให้ เราก็คัดแบ่งเกรดออกมาเป็น A-B-C อะไรทำนองนี้ จริงๆ ที่ผมซื้อยกล็อตนั่นหมายถึง “ผมซื้อประสบการณ์ทั้งชีวิตของคนๆ หนึ่งที่เขาเก็บมาทั้งชีวิต” เลยนะ คนๆ หนึ่งอย่างน้อยต้องมียี่สิบถึงสามสิบปีขึ้นไป เขาอาจไม่มีลูกหลานหรือคนที่จะมารับช่วงต่อ ถือเป็นเรื่อง “สมบัติผลัดกันชม” เขาน่าจะดีใจด้วยซ้ำ เพราะเรารัก เราถึงช่วยรับมาดูแลต่อ อย่าว่าแต่ฝั่งยุโรปเลย ตอนนี้แผ่นอเมริกันทะลักมา บ้านเราเยอะมาก รู้ไหมกันเป็นตันๆ แผ่นทางยุโรปเป็นเพลงคลาสสิก ซึ่งผมกลับชอบมากกว่า ก็ไม่รู้ว่าใครจะมาสืบทอดต่อจากเราเหมือนกัน อยากมีพิพิธภัณฑ์แผ่นเสียงจัดเป็นคอลเล็กชั่น เน้นที่ความสุนทรี พูดคุยในเรื่องเดียวกัน ทราบได้อย่างไร ว่าจะได้ของดีจริง อย่างแผ่นเสียงก็เหมือนกัน 1st Press นี่นะ ยังไงก็ดีกว่ารุ่นสามรุ่นสี่ อย่างน้อยความรู้สึกมันหลอกเราไปแล้ว บางทีรุ่นใหม่ๆ บอกว่า Sound Engineer ดีขึ้น ผมว่ามันไม่ใช่ เหมือนดื่มไวน์ ผมก็ซื้อมาก ก็โดนบ้างเหมือนกัน คนจีนนี่เก่ง ขวดเก่าของไวน์ดังๆ เขาเก็บหมด แม้แต่จุกยังเก็บเลย เขาเก็บไปทำไม ปรากฏว่าเอาไป refilled ไวน์ขวดเดียวกัน เราดื่มที่ปารีส กับฮ่องกง คนละรสชาติเลย มันมีโอกาสที่จะหลอกเราได้ มีเพื่อนผมคนหนึ่งซื้อเครื่องลายครามจาก Christy เขาว่าเขาก็เจ๋ง มีฝรั่งออกใบ certified ให้ ทีหลังเขาสงสัยว่าทำไมมันเพอร์เฟ็กต์นัก ก็ให้พ่อค้าคนจีนที่เป็นมือหนึ่งในเรื่องเครื่องลายครามมาดู เขาบอกว่าเป็นของปลอม รู้ได้ไง ยูลองทุบดูสิ ตกลงเขายอมทุบ เนื้อมันมีสองชั้น เอาดินขาวอยู่ข้างใน ของเก่าอยู่ด้านนอก ฝรั่งขูดยังไงก็ยังเจออยู่ ตกลงต้องฟ้อง Christy ต้องชดใช้ วกมาที่แผ่นเสียง ถ้าเป็นแผ่นละหมื่นเหรียญล่ะ เรื่องปก เรื่อง Label หมูๆ เลย ทำได้ทั้งนั้น ผมเชื่อว่าต้องมีคนกล้าทำ จะแจ็คพอตเจอหรือเปล่าเท่านั้น

ห้องฟังบนเรือเอี้ยมจุ๊น

ที่ต้องเป็นเรือก็เพราะผมเป็นคนที่ชอบอนุรักษ์ เมื่อราวสิบปีที่แล้ว เรือเอี้ยมจุ๊นแบบนี้ไม่มีใครใช้แล้ว เขาหันไปใช้เรือเหล็กหมด ดูแลรักษาไม่ไหว ก็ปล่อยร้างจมน้ำอยู่ ดีที่เป็นไม้สักทองด้วย เรือลำนี้เป็นเรือเอี้ยมจุ๊นที่เขาขนข้าวสารขนาดกลาง จริงๆ อยากได้ขนาดใหญ่กว่านี้ แต่ขนย้ายไม่ได้ ผมซื้อไว้สามแสนบาทจากอยุธยาเมื่อสิบปีที่แล้ว เจอค่าขนย้ายอีกสามแสนลากมายากมาก ขึ้นรถมาปล่อยในคลอง ลากมาตามคลองเอกมัย แล้วเอาขึ้นรถเทลเลอร์วิ่งมาในซอย ใช้เครนยกข้ามรั้วบ้านมาวางบนฐานรากที่ทำ รอไว้อย่างที่เห็น ต้องใช้ฝีมือมากทีเดียวกว่า จะวางให้ได้ระดับขนาดนี้ แล้วจึงค่อยๆ บูรณะ จากซากเรือที่มีแต่ลำเรือ ตกแต่งให้เป็นเรือ สองชั้นอย่างที่เห็น ใช้ช่างต่อเรือจากอุทัยธานี ทำด้วยฝีมือล้วนๆ ด้วยวิธีดั้งเดิม เช่น ใช้ไฟดัด ไม้ซึ่งเป็นไม้สักทองทั้งลำกับรายละเอียดปลีก ย่อยก็มึนมากพอ มาเจออารมณ์ศิลปินของช่าง ที่มีหลายอารมณ์เข้าอีก ทั้งงานบวช งานแต่ง กลับไปทำนา ใช้เวลาเนิ่นนานไปสองปีกว่า จนเสร็จ เสียเงินไปหลายอยู่ 

ที่เห็นนี่กู้ชีพมาแล้วนะ ที่พูดแบบนี้ เพราะเมื่อปีกว่าๆ เจอปลวกบุก ปลวกมี การพัฒนา เมื่อเราใช้ยามากขึ้น พอเราใช้ ยา มันก็ย้ายรังไปฝั่งโน้น พอยาเจือจางลง มันก็กลับมาฝั่งนี้ ที่บ้านต้นไม้เยอะด้วย แถมเงียบ มันก็เลยชอบ ก็เชื่อว่าเปิดเพลง แล้วมันจะไม่อยู่ ปรากฏว่ามันพัฒนาจนหูทอง ขึ้นอีก ต้องวางท่อกำจัดปลวกแบบเต็มระบบ กันเลยทีเดียว 

จนแล้วจนรอดเราก็ได้ห้องฟังที่มีลักษณะเป็นรูปถังเบียร์ผ่าครึ่งขนาด 4 เมตรกว่าๆ โดยวัดจากส่วนกว้างที่สุดยาว 7 เมตร เพดานสูง 2.5 เมตรโดยประมาณ มีห้องน้ำในตัว 

ตอนแรกก็กลัวเรื่องอะคูสติกส์เหมือนกัน แต่ก็มานึกดูว่าห้องฟังบนเรือลำนี้เป็นไม้ ทั้งหมด อย่างน้อยก็ต้องได้ความอุ่นล่ะ แล้วก็ค่อยมาปรับอะคูสติกส์เอา ครั้นจะใส่ diffuser เป็นห้องปิดก็คงทำไม่ได้ เพราะเราตกแต่งไปหมดแล้วด้วยไม้และกระจก เพื่อให้มองเห็น สวนภายนอกด้วยอย่างที่เห็น ก็ต้องพึ่งการปรับอะคูสติกส์สมัยใหม่ อย่างเช่นอุปกรณ์ไฟน์จูน เสียของ Acoustic System มาช่วยที่คุณโจ้เอามาไฟน์จูนดู ซึ่งก็ได้ความสงัด ได้โฟกัสที่ แม่นยำขึ้น ดนตรีเป็นตัวตน…ซึ่งก็ได้ผลดี เทียบกับก่อนที่จะปรับก็พบว่าบวมๆ ฟุ้งๆ เป็น เพราะเพดานอาจจะเตี้ยไป แต่ก็ยังดีที่ลำเรือมีส่วนโค้งของห้องช่วยก็แก้เรื่อง standing wave ไปในตัวเลยเอาอยู่โดยไม่ยากนัก 

ระบบไฟที่บ้านนี้มีปัญหาค่อนข้างเยอะ เพราะบ้านเราอยู่ท้ายซอย แรงดันบางทีขึ้นไป ถึง 240V ทีเดียว แก้ปัญหาแบบตู้เอทีเอ็มเลย ติด inverter แปลงไปเป็น DC แล้วจ่ายเข้า แบตเตอรี่ จ่ายจากแบตเตอรี่แปลงกลับมาเป็น AC อีกที ฝังระบบกราวด์ให้ดี ไฟก็นิ่งขึ้น ก็ดีกับแอมป์หลอดด้วย ปลอดภัยขึ้น 

ด้วยประสบการณ์ผมนะ “มีเงิน ทำห้องให้ดี ระบบไฟต้องดี ใส่อะไรลงไปก็จะดีตาม” อะไรก็จะง่ายไปหมด ทำให้ดีซะตั้งแต่ต้น จะมาแก้ปลายทางยากกว่า 

แต่ถ้าคุณไม่มีห้องฟัง ใส่ใจสักนิดเรื่องอะอคูสติกส์ ผ้าม่าน หนังสือชั้นวางซีดีข้างผนัง ห้องก็ช่วยเป็นรูมจูนได้นะ ระบบไฟไม่แพงหรอก ไม่จำเป็นต้องใช้สายแพงๆ ลากสายไฟแยก ต่างหากจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อาจรบกวน ถือว่าไม่แพงเลย แทนที่จะไปลงทุนเปลี่ยนสายดีๆ ซึ่งจะจ่ายมากกว่ากันเยอะ 

เครื่องเสียง 

ชุดเครื่องเสียงของผม เอาหลักๆ มีอยู่สามชุด ชุดเล็กๆ น้อยๆ ข้ามไปนะ อยู่คนละที่ปกติผมอยู่พระรามสี่ อีกชุดก็ที่เขาใหญ่ ส่วนเรือลำนี้คือบ้านคุณแม่ ก็มาฟังสัปดาห์ละสามสี่วัน วันละสอง สามชั่วโมง บ่ายๆ ผมมาหาคุณแม่ก็จะเปิดฟัง เดินดูโน่นนั่นบ้าง 

ผมมีทั้งแอมป์โซลิดสเตทและหลอด ความจริงไม่มีอะไรที่ สมบูรณ์แบบหรอก มีสองด้านเสมอ อย่างพวกเบสต่ำๆ เพลงร็อก หรือเพลงคลาสสิกที่ซับซ้อน หลอดคงจบข่าว สำหรับทรานซิสเตอร์ มันทำได้สบายๆ แต่กลับไม่หวาน ขาดเสน่ห์ โดยเฉพาะเพลงร้อง เสียงแซ็กโซโฟนไม่มีลม ฟืดๆ ออกมา ยังไงซะผมก็ยังชอบความ เพี้ยนของแอมป์หลอด เพี้ยนแล้วมันเพราะซะอย่าง ทราบนะว่ามันมีข้อจำกัดก็เลยต้องมีสองซิสเต็มเสมอ คือมีทั้งสองประเภทเลย แต่สำหรับชุดในเรือนี้เป็นหลอดอย่างเดียว ความจึงมี Veloce Hybrid อีกตัว ยังไม่ได้เอามาใส่ไว้ 

เมื่อเรือเสร็จ เพื่อให้เข้ากับสไตล์การตกแต่งห้องฟัง ก็เอาแอมป์หลอดสิ และ NAT เหมาะสุด เลยจัดลงก่อน ตอนนั้นเล่น Harbet 40.1 ซึ่งก็ดีนะ แล้วค่อยย้าย 40.1 ไปอยู่ที่บ้านที่หัวหิน หมายถึงชุดเล็กๆ ที่โน่นอีกชุดก่อน ที่จะมา Gauder RC-11 ไปเอา Tannoy Westmins-ter จากปิยะนัส เป็นคู่แรกๆ ซึ่งตัวใหญ่และสวย ตอนนั้น โดนคุณเฉลิมพรที่ปากน้ำ ปราณบุรีปาดหน้าไปนิดหนึ่ง พอมา ถึง ฟังเสียงร้อง ดนตรีน้อยชิ้นก็ดีเลย แต่เพลงซับซ้อนกลับ ไม่ใช่ทางของมัน พอดีปิยะนัสเขามี RC-11 คู่นี้เข้ามา ก็เลย เป็นคู่แรกๆ เหมือนกัน ได้คุยกับ Dr. Roland มันน่าสนใจ ที่ออกแบบได้ดีทีเดียว คิดเหมือนร่างกายคน โครงสร้างดีแถมเป็นดอก ไดมอนด์ด้วย โอเค จัดการเทรดเลย วันที่ลำโพงมาส่ง ห้องยังไม่พร้อม เลย ที่มันแคบ จะลงไปในตัวเรือต้องขนแบบกองทัพมด เพราะลำโพงเป็น แท่งเดียวกันทั้งหมด ถือว่าเก่งเลย ต้องชม ผมว่าเขาต้องปิดสาขามาแน่ เลย เห็นใจเขานะ สำหรับ RC-11 ไม่ผิดหวังครับ ผมชอบนะ ลำโพงมันดี แต่คนที่ชอบควรต้องชอบสไตล์เป็นคนแบบเยอรมันนะ ให้เสียงสะอาด แม่นยำตรงไปตรงมา ดีก็ดี ไม่ดีก็ไม่ดี ติดขี้ฟ้องเอาด้วย เสียงฉับไว หางเสียงห้วนไม่ถึง กับหวาน จังหวะฉับไว ฉับๆ เลย ถ้าเราเข้าใจคนเยอรมัน เขานิสัยแบบนี้แหละ มันมีคาแรกเตอร์ของมัน ผมซื้ออะไรต้องมี story ไม่งั้นไม่ซื้อหรอก 

เมื่อเข้ามาในห้องฟังได้สัมผัสเสียงดนตรีจากชุดเครื่องเสียง อะนาล็อก เสียงร้องอันฉ่ำหวาน ปลายเสียงแหลมพลิ้ว มีประกายไม่ห้วนกุด เบสต่ำกลมกลืน อ้อยอิ่ง มีลีลาได้ อารมณ์เพลง ชวนฟัง และสื่อความหมายของเรื่องราวนี้ได้ ชัดเจนยิ่งนัก… Fine music on the exotic boat.

NAT เป็นอะไรที่ผมติดใจมันตรงเป็นแอมป์หลอดซิงเกิ้ลเอ็นด์ คลาส A ที่เขาเคลมกันว่าใช้หลอดใหญ่ มีพลังที่สุดในโลก GM100 ซึ่งน่าจะเป็นคู่ที่สอง ของโลก ให้เสียงเนียนกริ๊บ และมีพลังด้วย เห็นว่าเป็นหลอดที่ใช้ในสถานีวิทยุ แน่นอนว่าหายากและแพงมากด้วย ยังไงซะก็ต้องซื้อหลอดสำรองไว้ เพราะ เคยมีประสบการณ์ 300B เคยจะซื้อแสนกว่าบาท แล้วยึกยักไม่ซื้อ ตอนนี้ สามแสนยังไม่มีเลย ผมเอาแอมป์หลอดกับต้นทางเป็นอะนาล็อกมาแม็ตช์กับ ลำโพงเยอรมัน ก็ถือว่าลงตัวดีแล้วครับ พอใจเลย 

ถ้าพูดถึง “งาน” นะ คุยเล่นๆ เบอร์หนึ่งชอบ Dan D’Agostino, เบอร์สองชอบ Boulder, สาม Constellation เน้นว่างานทางวิศวกรรมโลหะนะ ชอบลุคแบบอเมริกันสไตล์ทั้งหมดเลย แต่ถ้าคุณภาพเสียง กลับมาตายแอมป์หลอดเซอร์เบีย ยุโรปตะวันออก ก็คือรัสเซียไปเสียอีก เป็นไปได้ว่า คนยุโรปอยู่กับเรื่องงานศิลปะ 

Source First 

ผมชอบเลือกต้นทางดีที่สุดไว้ก่อน เชื่อว่าถ้า source ดี มันก็ควรออกมาดี ลำโพงให้น้ำหนักรองลงมาด้วยซ้ำไปๆ มาๆ พอเล่นถึงระดับหนึ่งไป แล้ว กลับชอบฟังเพลง หรือเรื่องราวของเพลงมากกว่าฟังเครื่องไปแล้ว นะแล้วมันสนุก ต้องยอมรับนะว่า เครื่องเสียงเล่นให้ตายยังไงก็ไม่มีทาง ได้ดีเท่ากับคอนเสิร์ตฮอลล์หรอก มันขาดชีวิตชีวา เพียงแต่ว่าเราต้องเล่นเครื่องเสียง เพราะว่าเราไม่สามารถบินไปฟังในคอนเสิร์ตฮอลล์ได้ทุกวัน ดังนั้นถึงเทไปทีี่ source โดยเฉพาะแผ่นที่หายากๆ มันมีเรื่องราวที่น่าจดจำด้วย เทิร์นต้องมีสองตัวเสมอ แล้วแต่อารมณ์ ผมมี EMT กับ VPI เพราะขึ้นอยู่กับแผ่น แผ่นเก่าก็เล่น EMT ใหม่ก็เล่น VPI แต่เทิร์นผมมีหลายตัวที่บ้าน พระรามสี่ มี Clearaudio Statement, Air Force One, Kronos ก็มี 

เครื่องเสียงมีหลายชุด จะเทรดออฟก็น้อย ส่วนใหญ่เก็บไว้ บางทีให้เขาไปใช้ก็มี สายนี่เล่นเยอะมาก อย่าง Vahalla 2, Ansus ก็ไม่เลวนะ ราคาก็ถูกกว่า แต่ต้องสร้างแบรนด์หน่อยล่ะ ไม่น่าเชื่อว่าสายของ Kondo ไม่แพง แต่ดี มาเจอสาย Tellurium Q ที่โจ้ทำก็ตรงความเป็นธรรมชาติ  ไม่เจือสี ราคาสมเหตุสมผล พูดถึงสาย แนะนำว่าเล่นแบรนด์ไหนก็ควร ไปทางนั้นอย่าไปปนกัน ถ้าเป็นนักเล่นก็ควรมีสองหรือสามชุดสำรองไว้ เป็นการทดลอง เพราะแอมป์ก็ชอบแล้ว ลำโพงก็ใช่แล้ว ก็ต้องเป็นสายนี่แหละที่จะมาช่วยจูนเสียงตามที่เราชอบ แต่มันไม่ง่ายนะที่จะขึ้นจากเจ็ดสิบหรือแปดสิบเปอร์เซ็นต์ไปทีละห้าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันแพงขึ้นเป็นทวีคูณเลยนะ 

คำแนะนำสำหรับมือใหม่ 

จะเริ่มยังไงเหรอ อินทิเกรตแอมป์ ซีดีตัวหนึ่ง ลำโพงคู่หนึ่งก็จบเลย ส่วนใหญ่จะโดนลำโพงก่อน เพราะคือตัวตนของเขา แล้วจึงเป็น อินทิเกรตแอมป์ จากนั้นก็สาย ตามด้วยซีดี พูดถึงซีดีสมัยนี้สามารถ ต่อ USB เล่นกับ CAS (Computer As Source) ได้ด้วยก็จะสนุก ใหญ่หรือแม้แต่แอมป์เทรนด์สมัยใหม่ ตัวหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ อินทิเกรตที่มีโฟโนกับ DAC ในตัวผมว่ายอดมากเลยนะ แฮปปี้ ประหยัดค่าสายเล่นง่ายด้วยชิ้นเดียวจบ แฮปปี้ ภรรยาไม่บ่นเลย อย่าง Aavic ที่ขับ Raidho D5 ตัวนั้นน่ะของผม คล้ายๆ ของ Dan D’Agostino เลย แต่ถูกกว่ามาก งานดีทีเดียว 

เพลงที่ชอบ และอื่นๆ 

เพลงไทยก็ฟังเยอะ ผมเก็บทั้งเก่าและ ใหม่ ชอบฟังลูกกรุงเก่าๆ ชอบแผ่นศรีไศล อย่างแผ่นใหม่ๆ ของ “สุดแรงม้าเรคคอร์ด” ก็ยังฟังเลย เขาเอาเพลงอีสานมิกซ์กับ เร็กเก้ มีผับอยู่ซอย 51 ไปทัวร์ยุโรปปีละ สองครั้ง ครั้งหนึ่งเป็นเดือน ไปแถวเนเธอร์- แลนด์ เพลงร็อกอย่าง Scorpions ก็ชอบนะ ส่วน Progressive ก็ฟังบ้างแต่ไม่ลึก อย่าง ใครเขาคุยถึงอัลบั้ม The Wall ผมก็มี 

ส่วนเรื่อง Streaming Music ตอนนี้ ผมฟัง Tidal ผ่าน Burmester 113 กับ 151 ผมว่าเสียงดี เพลงเยอะมาก ดีเลยนะ ภรรยาผมเขาก็ชอบที่เล่น Burmester เพราะ ผมกับคุณป้อม Komfortsound คุยกันตลอด ผมก็มี Magico Q7 ตอนนี้กำลังรอ เทรดอยู่ Mark II น่าจะมาสิ้นปี ไปฟัง ที่ CES มา ที่ซื้อก็เพราะชอบงานโลหะ ของเขา มันอลังการดี เรียกว่าบึ้มเลย แ ต่เว ลา ย ก ทีเ ห็น ใจ เ ล ย ต้อ ง ถึง ใช้ หกคน ทีแรกก็ใช้ Audio Research 160T ขับ ก็พอได้อยู่ แต่เบสไม่ลง ตอนหลังเปลี่ยนเป็น Veloce Hybrid เป็น Class D พอเอาอยู่ แต่ตอนนี้เอา Aavic มาเล่นแทน 300 วัตต์ขับสบายๆ เรียกว่าหมูเลย เห็นว่าปีหน้า Aavic จะออก Mono block มาอีกผมว่า Michael นี่เก่ง และบ้ามากด้วย แล้วเจ้านี่ก็มาเซ็ต ลำโพงให้บ้านผมแหละ 

Specialist need ! 

อันที่จริง ผมเป็นลูกค้าแทบทุกร้านเลย ผมสนใจตัวสินค้าว่าสินค้าเขาดี ดูเอ็นจิเนียริ่งที่ดี มีเรื่องราว จริงๆ แล้ว ต้องบอกว่าไม่มีอะไรดีที่สุดหรอก ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมิกซ์แอนด์แม็ตช์อย่างไรจึงจะออกมาได้สมดุล ร้านค้ากับนักเล่นก็น่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เจ้าของเงินก็ต้องการการบริการที่ดี 

เนื่องจากเล่นเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ไม่เหมือนซื้อมินิคอมโปมาฟัง จำเป็นต้องใช้มือเซ็ตอัพมาช่วย ดังนั้นนอกจากซื้อของจากร้านค้าแล้ว ถามว่า ใช้บริการอะไรบ้าง อย่าง Clearaudio: Statement นี่ก็ต้องให้เขามาช่วย Fine Tune ทุกหกเดือนต้องมาเช็คที อย่างคุณโจ้ก็ Set up กับ Acoustics พูดได้เลยว่าห้องฟังในบ้านเรือหลังนี้ คุณโจ้ดูแลทั้งหมด ส่วนที่พระรามสี่ ก็อีกคนหนึ่ง อะไรแบบนี้ ก็ไม่ต่างกับเอารถไปเซอร์วิสกับอู่ประจำนั่นแหละ แล้วงานพวกนี้ ผมถือว่าเป็นงานศิลปะ เอกลักษณ์แต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ผมจะปล่อยให้เขาทำโดยไม่ไป Mixed up อะไรกับเขาเลย ปล่อยอิสระ ให้เขา ทางใครทางมัน แค่นี้ก็จบ ผลงานออกมาดี พอใจเลย เราพอใจกับงานที่เขาทำก็แฮปปี้ครับ 

ส่วนโจ้ดูเขามีความสุขที่ได้ทดลองโน่นนี่นั่น ละเอียดด้วย ก็คุยกับ เขาว่าอย่าชอบอะไรมากไป ต้องมีพาณิชยศิลป์ด้วย อย่างชุดที่เล่นอยู่ มันแคบอยู่กับผู้ใหญ่ที่มีจำนวนน้อย นานๆ จะปล่อยได้ที แต่ค่าใช้จ่ายมี ทุกวันน่าจะหาสินค้าอย่างอินทิเกรตสมัยใหม่ คุณต้องหาอะไรที่มี DAC/ Phono ด้วยนะแล้วมันจะดี เพราะใครๆ ก็เล่นได้ มันจะทำตลาดได้ เราต้องหาตลาดนักเล่นรุ่นเด็กลงมานิดหนึ่ง มันก็จะกว้างขึ้น ผมคิดว่าอายุสัก 30 – 40 เขากล้าจ่ายนะ 

เมื่อเล่นมาถึงระดับนี้ ตอนหลังถึงขั้นถามเลยว่า ตกลงแอมป์ของคุณน่ะ ใช้ลำโพง สายอะไรที่โรงงาน “ก็เล่นเหมือนกับเขานั่นแหละ จบแล้ว” ไม่งั้น “โดน” มันไม่จบ …ยาว วงการนี้เขามีพันธมิตร อย่าง Wilson, VTL, Transparent, Nordost ยังไงก็เจาะไม่ลงหรอก เขาไม่มีทางพลาดหรอก เขาฟังเก่ง เราก็น่าจะเชื่อเขา 

ผมว่าคนไทยเซ็ตอัพเก่งที่สุดในโลก ละเอียดรอบคอบ เป๊ะๆ แต่เรื่องฟัง คิดว่ายังไม่ใช่ เพราะเราฟังเพลงไทย แต่ฝรั่งมันโอเปร่ามาเลย ดังนั้น การเซ็ต ลำโพงมันก็ไม่เหมือนกัน อย่าง Michael มาเนี่ย เขาเคาะตามผนังห้อง เคาะไปเรื่อย วางลำโพงปุ๊บ กะระยะด้วยสายตา เอาแอมป์วางตรงกลาง แล้วก็ต่อสาย แค่นั้นเสร็จ แล้วก็ไปกินข้าวเฉยเลย เราก็อยากรู้ว่าเขาวางระยะ ห่างเท่าไหร่ ปรากฏว่าจากที่เราวัดข้างซ้าย – ข้างขวาจากผนังได้ต่างกัน 0.05 เรียกว่าเกือบเป๊ะ ขนาดกะด้วยตา ทำไมทำได้ เขาบอกว่า “ง่ายมาก ไปงานโชว์ บ่อยมาก จำเสียงได้ ว่าประมาณนี้ แล้วมีเวลาไม่เยอะ ก็ต้องแบบนี้แหละ” 

กับรุ่นน้องๆ 

นอกจากเราจะมีก๊วนในกลุ่มนักเล่นหลักแล้ว กับน้องๆ กลุ่ม Thai DIY เราก็สนับสนุนเขานะ พวกนี้เขาเก่งนะ เราก็สนับสนุนเขาในเรื่องปัจจัย อยากทำอะไรบอก เขาทำโครงการมา ก็อยากรู้เหมือนกันว่า เจ๋งแค่ไหน เขาทำออกมาให้เราฟัง เขาเคลียร์ เราเคลียร์ก็จบ อย่าง 212 Push Pull ตัวนั้น น้องๆ เขาทำกัน ผมก็สนับสนุนเขา 

เล่นเครื่องเสียงได้อะไร 

“วัยเดียวกับผมบางคนเข้าวัดเพื่อฝึกสมาธิ แต่สำหรับผมเล่นเครื่องเสียงเป็นการทำสมาธิ ผมฝึกสมาธิโดยการปล่อยเข็มลงบนร่อง แผ่นเสียง อาศัยดนตรีเป็นสื่อในการบำบัด ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน มันเป็นธรรมชาติบำบัดที่ดีที่สุด” 

สำหรับผู้ที่ไม่เคยสัมผัสเครื่องเสียง 

การที่จะชวน “คนที่ไม่เคยสัมผัส” การเล่นเครื่องเสียงเข้ามา ในวงการ น่าจะเป็นการจัดอีเวนต์แนวกึ่งๆ เวิร์กช็อปแบบที่โจ้เพิ่งทำ Afternoon Tea หรือแนว Linn Lounge จัดบรรยากาศสบายๆ เป็น Theme แล้วลูกค้าของร้านก็ชวนเขา หมายถึง “คนที่ยังไม่เคยสัมผัส” ให้มาลองฟังดู มาปาร์ตี้กัน ได้พบปะ พูดคุยกัน ค่อยๆ ทำร้านโน้นทำบ้าง ร้านนี้ทำบ้าง มันก็จะซึมซับไปเรื่อยๆ ทำกรุ๊ปเล็กๆ ก่อนก็ได้ จะได้ดึงคนนอก เข้ามาก็ดีนะ วงการจะได้โตขึ้น 

จากประสบการณ์ในการเล่นเครื่องเสียงมายาวนาน และการได้เป็น เจ้าของชุดเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ที่มีความหลากหลาย ทำให้ท่านเจ้าของ ห้องฟังมีประสบการณ์ในการฟังอย่างมาก รวมถึงการได้เห็นความแตกต่าง ของเครื่องเสียงไฮเอ็นด์แต่ละแบรนด์ กระทั่งได้ข้อสรุปว่าไม่มีอะไรที่ดี ที่สุดในทุกด้าน แต่ดีที่สุดในจุดที่ตัวเครื่องเองทำได้ ซึ่งข้อสรุปนี้ น่าจะเป็นคำตอบให้กับนักเล่นเครื่องเสียงที่กำลังแสวงหาความเป็นที่สุดได้เป็นอย่างดี 

และที่เราได้ทราบเรื่องราวดีๆ เช่นนี้ก็เพราะ… WE ARE AN AUDIOPHILE. ADP

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 222