วีรเกียรติ จิรัฐการุณธ์

นักเขียน :  วีรเกียรติ จิรัฐการุณธ์ :

ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่แต่ละปีที่ทุกท่านมีโอกาสได้มีส่วนร่วมคัดเลือกสุดยอดทีวีตัวท็อปจากทุกแบรนด์ เพื่อเฟ้นหา “ทีวีที่ดีที่สุด” ในงาน Best of The Best TV Shootout 2017 จัดโดยเว็บ LCDTVTHAILAND โดยปีนี้จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ ที่ 25 พ.ย. 2017 ณ โรงแรมอนันตราสยาม ซึ่งผลการเปรียบเทียบคุณภาพทีวีภายในงานนี้จะถูกนำไปประเมินตัดสินรางวัล VIDEOPHILE LCDTVTHAILAND AWARDS หรือ รางวัลทีวีที่ดีสุดประจำปี 2017 ในแต่ละสาขาอีกด้วย

Line-Up ทีวีที่จะเข้าประชัน แบ่งกรุ๊ปเป็น OLED TV และ QLED TV โดยในแต่ละกรุ๊ปจะเรียกตามตัวอักษร A-Z ทีวีตัวท็อปที่มาประชันในครั้งนี้ จัดกลุ่ม OLED TV 3 รุ่น (เรียง A-Z) และ QLED TV 2 รุ่น (เรียง A-Z) อยู่ด้วยกัน ได้แก่… LG 65W7T / Panasonic TH-65EZ1000T / Sony KD-65A1 / Samsung 65Q9F / TCL 65X3CUS ทุกรุ่นมีจำหน่ายในประเทศไทยจริง ที่สำคัญเป็นขนาด 65 นิ้วทั้งหมดเพื่อให้เปรียบเทียบภาพและเสียงได้ง่ายและเป็นธรรม

สุดยอดตัวท็อปของเมืองไทยทั้ง 5 รุ่น

แฟนเว็บ LCDTVTHAILAND ที่มาร่วมงานครั้งนี้ นอกเหนือจากจะได้ความรู้และความบันเทิงแล้ว จะได้รับสิทธิ์ “โหวต” ว่า… ทีวีตัวไหนดีที่สุดประจำปีนี้ 1 ท่าน = 1 โหวต เท่าเทียมกัน!! ดำเนินรายการโดย “คุณโรมัน” วีรเกียรติ จิรัฐการุณธ์ เจ้าของเว็บไซต์ LCDTVTHAILAND กับ “คุณชานม” ชานนท์ จุทัยรัศม์ บรรณาธิการอำนวยการ เว็บไซต์LCDTVTHAILAND พร้อมด้วยวิทยาการจากทั้ง 5 แบรนด์ดัง ไม่ว่าจะเป็น LG, Panasonic, Sony, Samsung และ TCL ในการน?ำเสนอจุดเด่นทีวีด้วยตนเองให้กับแฟนๆ ผู้สนใจอย่างลึกซึ้ง รวมถึงช่วงไฮไลต์ของงาน ซึ่งก็คือ การเปรียบเทียบคุณภาพของภาพและเสียงอย่างเข้มข้น เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้ใช้ประกอบการพิจารณาโหวตทีวีรุ่นที่คิดว่าดีที่สุด

1. ภาพ : ทดสอบศักยภาพกับภาพความละเอียด 4K HDR แท้ๆ รวมไปถึงการรับชมคอนเทนต์มาตรฐาน SDR ที่ยังแพร่หลายในปัจจุบัน

2. เสียง : จริงอยู่ว่าลำโพงทีวีคงสู้โฮมเธียเตอร์เต็มระบบไม่ได้ แต่หากทีวีตอบสนองจุดนี้ได้ดีก็ถือเป็นกำไรของผู้บริโภค

3. การออกแบบ : ความสวยงามใครว่าไม่สำคัญกับทีวีระดับนี้ การส่งเสริมภาพลักษณ์และการออกแบบที่เอื้อประโยชน์ใช้สอยสำคัญมาก

4. ลูกเล่นการใช้งาน : ฟีเจอร์เสริมที่ส่งผลให้การใช้งานทีวีเข้ากับยุคสมัย ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานได้มากยิ่งขึ้น

5. ราคา : หากประสิทธิภาพไม่ด้อยกว่ากัน ราคาก็เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาถึงความคุ้มค่า

พิเศษสำหรับปีนี้มี “Sony PVM-A170” สตูดิโอมอนิเตอร์ระดับอ้างอิง เพื่อตรวจสอบความเที่ยงตรงของสีสัน หรือ Color Accuracy ของทีวีที่นำมาประชันกันกับมอนิเตอร์ ใครสีตรงหรือไม่ตรง เดี๋ยวได้รู้กัน!!

วิทยากรแต่ละแบรนด์จับฉลากลำดับการพรีเซนต์

“ครึ่งแรก” ของงานจะเป็นการนำเสนอจุดเด่นของทีวี โดยวิทยากรของแต่ละแบรนด์ และเพื่อความเป็นธรรม ตัวแทนแต่ละแบรนด์จับฉลากเพื่อกำหนดลำดับการพรีเซนต์ โดยให้มาลุ้นกันหน้างาน ผลเป็นดังนี้ 1. Samsung, 2. TCL, 3. Panasonic, 4. LG, 5. Sony โดยหลังจากพรีเซนต์ครบทั้งหมดแล้ว ทีมงานจะให้โอกาสแบรนด์ลำดับที่ 1 และ 2 ได้กลับมาพรีเซนต์อีกครั้งเพื่อแก้ต่างในเวลาสั้นๆ ป้องกันการเสียเปรียบเรื่องลำดับก่อนหลังครับ

ถัดมาแนะนำ “กรรมการรับเชิญ”ที่ล้วนมีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งด้าน ภาพ / เสียง / สมาร์ททีวี จะมาช่วยให้ความเห็นเชิงลึกในด้านที่ตนถนัด แบ่งปันมุมมองที่แตกต่างออกไปช่วงท้ายงาน หลังจากการโหวตเสร็จสิ้น

1. คุณพงศ์ทิพจักร เชื้อเจ็ดองค์ (คุณหมอเอก)

– THX & ISF Certified Calibrator และนักเขียนนิตยสาร Audiophile-Videophile ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “ภาพ”

2. คุณณัฐพล แสดงทรัพย์ (คุณนัท)

– THX & ISF Certified Calibrator และเจ้าของ Cinemania ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “ภาพ”

3. คุณทวีศักดิ์ ภู่วิภาดาวรรธน์ (คุณอี๊ด)

– THX & ISF Certified Calibrator และเจ้าของ Theater Solution ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่อง”ภาพ”

4. คุณธรรมนูญ ประทีบจินดา (ป๋านูญ)

– นักเขียนบทความดิจิทัลออดิโอ นิตยสาร Audiophile Videophile ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “เสียง”

5. คุณพิศาล ถ้ำอมร (นายบอส)

– กูรูด้านไอที สมาร์ทโฟน แก็ดเจ็ต ผู้จัดรายการวิทยุ Techno For Life FM 99.0 ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “สมาร์ททีวี”

พร้อมแล้วเริ่มการพรีเซนต์สินค้าจากแบรนด์แรก นั่นก็คือ Samsung !!!

1) แบรนด์แรก Samsung กับทีวีตัวท็อป 65Q9F 4K UHD QLED TV โดยวิทยากรคือ คุณโจ้ ธนิตสรณ์ วานิชสุขสมบัติ Master Trainer จาก Samsung

Samsung QLED TV – Q9F ยังคงความโดดเด่นเรื่องของดีไซน์ นอกจากสวยงามแล้วยังตอบสนองการใช้งานได้ลงตัว ทั้ง One Connect รูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนมาใช้สาย Fiber-optic ขนาดเล็ก จึงสามารถเก็บซ่อนสายได้ง่าย แต่ยังสามารถส่งผ่านข้อมูลภาพและเสียงจำนวนมากได้อย่างไร้ที่ติ (ความยาวมาตรฐาน 5 ม. เพิ่มได้ถึง 15 ม.) การตั้งวางบนขาตั้งก็สวย หรือจะแขวนผนังก็งามด้วย “No Gap Wall Mount” นอกจากนี้ระบบ Smart TV จากระบบปฏิบัติการ Tizen ยังคำนึงถึงผลการใช้งานจริงเข้าถึงง่ายดายเหมาะกับผู้ใช้งานทุกกลุ่ม

2) คุณณรงค์วิทย์ พลเสน (คุณเมย์),Senior Trainer จาก TCL ขึ้นมาพรีเซนต์ TCL 65X3CUS

ถัดมา TCL พูดถึงจุดเด่นของ 65X3CUS 4K UHD QLED TV กับดีไซน์จอโค้งเพียงหนึ่งเดียวในครั้งนี้ พร้อมระบบเสียงไม่ธรรมดาจาก  harman/kardon ซึ่งถึงแม้ภาพเป็นรองแบรนด์อื่น แต่ระดับราคาก็ต่ำกว่าแบรนด์อื่นๆ ถึง 3 เท่าด้วยกัน!! แถมยังเป็นผู้ผลิตทีวีที่ครองอันดับหนึ่งในประเทศจีน แบรนด์นี้มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ปัจจุบันพิสูจน์ตนเองด้วยความคุ้มค่าที่แสดงให้ทุกท่านในงานได้ประจักษ์ โดยเฉพาะระยะเวลารับประกันยาวนานถึง 5 ปีเต็ม รุ่นนี้ยังมาพร้อมระบบปฏิบัติการ Android TV 6.0 ที่ให้ความยืดหยุ่นไม่แพ้แบรนด์อื่น ทิ้งท้ายก่อนหมดเวลาทางวิทยากรได้เผยข้อมูลของทีวี TCL รุ่นใหม่ประจำปี 2018 ที่จะก้าวกระโดดจนท?ำให้แบรนด์อื่นได้หนาวกันอย่างแน่นอน…

3) คุณนิติ จินดาโชติ (คุณนุ) ผู้บริหารฝ่ายการตลาดของ Panasonic ขึ้นมานำ เสนอทีวีตัวท็อป OLED TV TH-65EZ1000T

มาถึง Panasonic 65EZ1000T 4K UHD OLED TV อีกหนึ่งตัวเก็งประจำปีนี้ที่พกความมั่นใจมาด้วยคุณภาพอ้างอิงระดับผู้ผลิตภาพยนตร์จาก Hollywood สิ่งที่ทำให้แตกต่างจาก OLED TV แบรนด์อื่น คือ ชิพประมวลผล กับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันด้านภาพครบทั้ง “THX” และ “ISF” ยืนยันความเที่ยงตรงด้านสีสันและการแสดงผล แต่ที่ไม่กล่าวถึงมิได้ คือ ระบบเสียงจากลำโพง “Dynamic Blade Speakers” กำลังขยายสูงถึง 80 วัตต์ และยังได้รับการจูนเสียงโดย Technics การตอบสนองความถี่และระดับเสียงจึงมีความโดดเด่นกว่าลำโพงทีวีทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด

4) คุณอำนาจ สิงหจันทร์ (คุณเอ) ผู้บริหารฝ่ายการตลาดของ LG ขึ้นมานำ เสนอ OLED TV 65W7T

LG นำ 65W7T 4K UHD OLED TV รุ่นท็อปสุดจากซีรี่ส์ Wallpaper มาประชันในงานนี้อย่างทันควัน หลังจากที่เพิ่งจัดงานเปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ เรียกว่าจอยังอุ่นๆ อยู่เลย วิทยากรเรียกเสียงฮือฮาเป็นอย่างมาก เมื่อถอดจอจากที่แขวน ซึ่งยึดด้วยแม่เหล็กออกมา แล้วยกให้ดูแบบนี้ เพื่อให้เห็นความบางเฉียบของพาเนล ในขณะที่ยังเปิดภาพอยู่ เป็นการตอกย้ำถึงการเป็นผู้นำนวัตกรรม OLED Panel เพียงหนึ่งเดียวเหนือกว่ายี่ห้ออื่นที่ยังคงใช้พาเนลรุ่นเก่าของ LG งอไม่ได้ นอกจากนี้ W7T ยังมาพร้อมระบบเสียง “Dolby Atmos Soundbar” รองรับระบบภาพ “Dolby Vision HDR” เท่าทันตามยุคสมัย เช่นเดียวกับระบบสมาร์ททีวีจาก WebOS ผ่านการควบคุมด้วย Magic Remote ที่สะดวกเหมือนเดิม

5) คุณวันชัย ไทยประยูร (คุณนัท), Product Specialist ของ Sony ขึ้นมาพรีเซนต์ OLED TV KD-65A1

สุดท้ายกับ Sony KD-65A1 4K OLED TV ที่มาขอทวงคืนตำแหน่งผู้ผลิต Consumer OLED TV หลังจากห่างหายจากวงการมานานเกือบ 10 ปี มาคราวนี้ถึงแม้ใช้พาเนลของคนอื่น แต่ก็จัดเต็มกับนวัตกรรมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงแบบ One Slate ดูดีแบบไร้ขารองรับด้านล่าง และชิพประมวลผล X1 Extreme ศักยภาพสูง แต่เหนืออื่นใด คือ ระบบเสียง “Acoustic Surface” ที่แหวกแนว ให้มิติเสียงออกจากตัวพาเนลโดยตรง ระบบปฏิบัติการเวอร์ชั่น 7.0 เรียกว่าทันสมัยที่สุดสำหรับ Android TV มีความยืดหยุ่นสูงในแง่การติดตั้งแอพเพิ่มเติม นอกจากนี้ ลูกเล่นเสริมอย่าง “ค้นหาด้วยเสียง” ก็ตอบสนองได้เป็นอย่างดี ระบบฯ สามารถจับได้ทุกคำที่ผู้ร่วมงานอยากลอง

ช่วง “ครึ่งหลัง” ของงาน เป็นการเปรียบเทียบภาพและเสียงกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้ผู้ร่วมงานทุกท่านได้ใช้พิจารณาโหวตทีวีที่คิดว่าดีที่สุด โดยทีวีทุกตัวได้รับการปรับภาพให้ถูกต้องตามมาตรฐานเดียวกัน ตามหลักอุตสาหกรรมวิดีโอและภาพยนตร์ของ ISF : Imaging Science Foundation และ THX ทั้งการแสดงภาพแบบ SDR และ HDR อย่างไรก็ดี… ทีมงานจะแจ้งในส่วนของผลการทดสอบก่อนปรับภาพเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแม่นยำของทีวีแต่ละตัว ตอนเริ่มแกะกล่อง ใช้โหมดภาพสำเร็จรูปปกติ โดยไม่ได้ Calibrate ภาพ โดยในครั้งนี้ทีมงานทำการอ้างอิงความถูกต้องของสีผ่านสตูดิโอมอนิเตอร์ “Sony PVM-A170” ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ เพื่อให้ทุกท่านได้ทำการเปรียบเทียบภาพได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เครื่องมืออ้างอิงทดสอบได้แก่ Oppo UDP 205, PS4 Pro, Murideo Pattern Generator และ สาย Jericho แพทเทิร์นทดสอบระดับโปรเฟสชั่นแนล เช่น ระดับความดำ / ความสว่าง ถูกส่งมาจาก Murideo เครื่องมือที่ได้รับรองจากสถาบัน ISF อุปกรณ์ทดสอบร่วม ได้แก่… ฮารด์แวร์และซอฟต์แวร์สำหรับการตรวจวัดค่าแสงและสีจาก SpectraCal เพื่อให้เป็นกลางในการทดสอบ คอนเทนต์ต่างๆ เล่นผ่านเครื่องเล่น 4K HDR Blu-ray Player ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือ Oppo UDP-205 ส่งสัญญาณผ่านสาย LCD HDMI : JERICHO ไปยัง HDMI Splitter และทีวีทั้งระบบ ตัวทีวีและเครื่องเล่นเชื่อมต่อผ่าน AC Powerline Conditioner

การทดสอบจะดำเนินการให้ครอบคลุมทุกมิติการรับชม ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบภาพด้วย Test Pattern ระดับโปรเฟสชั่นแนล, การรับชมจริงกับภาพยนตร์ 4K HDR, Full HD SDR ไปจนถึงเกมคอนโซลเพื่ออ้างอิง Input Lag ส่วนเสียงจะอ้างอิงกับแผ่นคอนเสิร์ต

หัวข้อในการทดสอบ

• Peak Brightness : ระดับความสว่าง สูงสุด

• Black Level : ระดับความดำ

• Color : สีสันและขอบเขตการแสดงสี

• Motion : ภาพเคลื่อนไหว

• Viewing Angle : มุมมองรับชม

• High Dynamic Range : คอนเทนต์ HDR

• Input Lag : การตอบสนองเมื่อเล่นเกมส์

• Sound Quality : คุณภาพเสียง

• Power Consumption : อัตราการใช้ พลังงานไฟฟ้า

คอนเทนต์ที่ใช้ทดสอบ

• Test Patterns : แพทเทิร์นทดสอบ ภาพเชิง Lab Test จาก Murideo Fresco Six-G

• 1080p Blu-ray : Journey 2 : Mysterious Island, WWE Summer slam 2016, Susan Wong

• 4K HDR Blu-ray : X-Men Apocalypse, Wonder Woman, Life of Pi

• Game : Marvel vs. Capcom: Infinite

สภาพแสงในห้อง

• ทั้งเปิดไฟสว่างและปิดไฟมืด เพื่อให้ ครอบคลุมทุกสภาพการใช้งาน

เริ่มทดสอบ “ระดับความสว่างสูงสุด” หรือ HDR Peak Brightness อิงตามมาตรฐาน UHD Premium ด้วย 10% Window Pattern พบว่า Samsung 65Q9F ที่เป็น QLED TV ชนะไปอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยระดับความสว่างสูงสุดถึง 1854 nits (Max) และ 1426 nits (Post Calibration) ในขณะที่ OLED TV ทั้ง 3 รุ่น ทำได้ราว 600 – 760 nits ที่สูงสุดในบรรดา OLED TV ด้วยกัน คือ… LG 65W7T ที่สามารถผงาดแตะหลัก 760 nits ได้ ส่วน TCL 65X3CUS ด้วยระดับราคาไม่สูง ความสว่างสูงสุดจึงทำได้เบาะๆ ที่ 344 nits

ทดสอบด้วย 10% Windows และ 100% Windows

ลองที่ยากขึ้นกับ 100% Window Pattern (Full white) ดูบ้าง พบว่า… ความสว่างของ OLED TV ทั้ง 3 รุ่น ตกลงอย่างเห็นได้ชัด เหลือเพียง 130 – 140 nits เท่านั้น อันเป็นผลกระทบของ ABL (Auto Brightness Limitter) ความสว่างในสถานะนี้ของ OLED TV จึงต่ำกว่า QLED TV ทั้ง 2 รุ่น ไม่ว่าจะเป็น TCL 65X3CUS ที่ 366 nits หรือ Samsung 65Q9F ที่ 789 nits

ทดสอบ “ระดับความดำ” ด้วย “Full Black” OLED TV ทั้ง 3 รุ่นจาก LG, Panasonic และ Sony ทำได้ “ดำ สนิท” แบบไร้ข้อกังขา และรวมถึง QLED TV ที่มี Local Dimming อย่าง Samsung 65Q9F จะแสดงสีดำที่ “ดำสนิท” ได้ โดยไม่มีแสงลอดใดๆ แต่หากทดสอบยากขึ้นด้วยแพทเทิร์น“Moving Circle” หรือวงกลมสีขาววิ่งบนพื้นหลังสีดำสนิท (ตามรูป) OLED TV ยังสามารถทำพื้นหลังได้ดำสนิท 100% เช่นเคย แต่จะพบว่า Q9F มีอาการแสงลอดออกมาบ้าง แต่ยังคงผลลัพธ์ระดับความดำที่ดีตามแบบฉบับ Edge LED ที่มี Local Dimming ที่ดิมไฟได้เนียนตา แต่จะให้ดีที่สุดต้องมองในมุมตรง 90 องศา ส่วน TCL ไม่มีฟีเจอร์ Local Dimming จึงคุมระดับความดำสนิทได้ยากกว่าเพื่อน

ทดสอบ “สีสัน” ด้วยแพทเทิร์น 100% Color Bar เพื่อยืนยันความสามารถในการแสดงสีสันตามมาตรฐาน DCI-P3 ซึ่งทำได้ครอบคลุมเกิน 90% ทุกแบรนด์ สมกับเป็น ตัวท็อป กระนั้นที่ทำตัวเลขได้มากสุดคือ Samsung 65Q9F ที่ 98.2% แต่ก็มากกว่า OLED TV ทั้ง 3 รุ่น เพียง 1 – 2% เท่านั้นเอง อย่างไรก็ดี… หากอ้างอิง “Color Volume” ที่อิงระดับความสว่างของสีเข้ามาเกี่ยวข้อง Samsung ดูจะได้เปรียบชัดเจน ทำไปได้ 457 mdc (ICpCt Standard) ส่วน OLED TV ทั้ง 3 รุ่น ทำได้ราว 328 – 350 mdc (แต่เช่นเคยว่า ผลการรับชมกับ QLED TV ต้องมองในมุมตรง)

ทดสอบด้วย 100% Color Bar

การทดสอบ Lab Test ด้วย Pattern ต่างๆ ข้างต้น แม้บอกอะไรบางอย่างได้ แต่อาจไม่สะท้อนผลการใช้งานจริงทั้งหมด จึงจำเป็นต้องยืนยันด้วยคอนเทนต์ที่รับชมจริง ฉะนั้น เรามาเริ่มทดสอบการรับชมด้วยคอนเทนต์จริงไปพร้อมกัน ณ บัดนี้ ! เริ่มด้วย 1080p Blu-ray เรื่อง Journey 2 : Mysterious Island ซึ่งทีวีทุกตัวในที่นี้ ผ่านการปรับภาพตามมาตรฐาน ISF และ THX โดยทีมงานแล้ว พบว่ามีศักยภาพให้ผลลัพธ์การแสดงสีสันเมื่อรับชม SDR ได้ถูกต้องเที่ยงตรงใกล้เคียงกับจอภาพอ้างอิง (Studio Monitor) ที่วางอยู่ด้านล่างมากๆ (ตามรูป) อย่างไรก็ดี หากอ้างอิงจากผลการทดสอบค่าความผิดเพี้ยน (Delta E) ก่อนทำการปรับภาพ จะพบว่า Panasonic TH-65EZ1000T ทำได้ยอดเยี่ยมที่สุด อาจไม่มีความจำเป็นต้องทำการปรับภาพเพิ่มเติมก็ได้ ส่วน OLED TV อีก 2 รุ่น แม้ผลลัพธ์ไม่โดดเด่นเท่า แต่ก็ไม่ห่างกันแบบมีนัยยะแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ทีมงานได้เปิดภาพเคลื่อนไหวเพื่อให้เปรียบเทียบแต่ละจอดูด้วย ซึ่งผลลัพธ์สูสีกันมาก แต่หากสังเกตดีๆ Sony A1 จะได้เปรียบแบรนด์อื่นเล็กน้อย ไม่ว่าอ้างอิงตอนเปิดหรือปิด “ฟังก์ชั่นแทรกเฟรมภาพเคลื่อนไหว”

ทดสอบกับภาพยนตร์ SDR เรื่องเดิม แต่ลองกับฉากเวลากลางคืนดูบ้าง แน่นอนว่า OLED TV ทั้ง 3 รุ่น ได้เปรียบในแง่การคงระดับ Black Level ได้ดีมาก ส่วนรายละเอียดในที่มืด หรือ Shadow Detail ก็เปิดเผยมาแบบพอดีๆ ไม่เห็นอะไรที่ไม่ควรเห็น ในขณะที่ QLED แม้ว่าเป็นรอง แต่ด้วยความสามารถของ Edge LED Local Dimming ก็ไม่ทำให้ดูห่างชั้นมากนักเมื่อรับชมในมุมตรง

ทดสอบกับฉากระเบิดพลัง X กากบาทสีส้มเจิดจรัสจากหนังเรื่อง Wonder Woman

ทดสอบกับ 4K HDR ซึ่งถือเป็นไฮไลต์สำคัญของทีวีในปัจจุบันกันบ้าง ผลลัพธ์ที่ได้จากภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่… X-Men Apocalypse, Wonder Woman และ Life of Pi ไปในทิศทางเดียวกัน คือ Samsung 65Q9F ให้ความเจิดจ้าของแสงสว่างมาเป็นอันดับหนึ่ง ความเข้มของแสงสีก็ทำได้ดี หากมองในมุมตรง แต่ก็มีข้อจำกัดในมุมเฉียง ในขณะที่ OLED TV ทั้ง 3 รุ่น แม้ความสว่างเป็นรองแต่ได้เรื่องระดับความดำที่ดำสนิท ทำให้คอนทราสต์สูงกว่า ช่วยส่งเสริมสีสันให้มีความเข้มข้น อิ่มแน่น และสดใสเรืองรองทุกมุมมอง โดยเฉพาะจุดไฮไลต์ลำแสงสีต่างๆจะทำได้เจิดจรัสวาววับเป็นพิเศษ เป็นจุดเด่นของเทคโนโลยี OLED TV ที่หาตัวจับยาก

สีน้ำเงินน้ำทะเลสว่างเรืองรองจากหนังเรื่อง Life Of Pi แบบ 4K HDR

ทดสอบ Marvel VS Capcom : Infinite โดยเปิด Game Mode ให้ทีวีทุกตัว เพื่อดูความถูกต้องของแสงสีเทียบกับจอมอนิเตอร์อ้างอิง พร้อมสังเกต Input Lag ไปด้วยกัน

ทดสอบการเล่นเกมเมื่อเปิดใช้งาน “Game Mode” เนื่องจากโหมดนี้ มักให้การตอบสนองในแง่ลดทอนระดับ Input Lag ต่ำที่สุด ผลลัพธ์ที่ได้สูสีมาก อยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีเยี่ยมทั้งหมด (ตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งดี) LG มาอันดับหนึ่ง 21.2 ms ตามมาด้วย Samsung 23.7 ms, Panasonic 25.7 ms, TCL 29.7 ms และ Sony 47.3 ms อย่างไรก็ดีในแง่การคงความถูกต้องของสีสันในโหมดเกม พบว่า Panasonic และ Sony ทำได้ใกล้เคียงจอสตูดิโอมอนิเตอร์มากที่สุด ตามมาด้วย TCL ในขณะที่ LG จะเร่งแสงและสีในโหมดเกมให้ดูฉูดฉาดขึ้นเล็กน้อย ส่วน Samsung จะเร่งแสง สี และ Brightness ขึ้นมามากไปสักหน่อย อย่างไรก็ตาม Game Mode ของทุกยี่ห้อเราสามารถปรับค่าอุณหภูมิสีให้ถูกต้อง ตลอดจนลดความจัดจ้านของภาพด้วยการลดทั้ง Sharpness, Contrast และ Color ให้เหมาะสมได้ด้วยตัวเองโดยแทบไม่กระทบค่า Input Lag ที่ดีอยู่แล้วในโหมดนี้ตั้งแต่ต้น

ทดสอบคุณภาพของเสียงจากคอนเสิร์ตของ Susan Wong

กรรมการพิเศษทดสอบฟังกันหลายรอบมากทั้งนั่งและยืนเพื่อประเมินให้ครอบคลุมทุกมิติการรับฟัง

อีกประเด็นสำคัญ ขาดไม่ได้ คือ การทดสอบคุณภาพเสียง โดยทีมงานจะทำการเปิดเสียงทีวีให้ผู้ร่วมงานฟัง 2 รอบ รอบแรก กำหนดระดับโวลุ่มเสียงเท่ากันทั้งหมด เพื่อตัดประเด็นคลาดเคลื่อนที่ว่าเสียงดังคือเสียงดีจากนั้นรอบที่สอง จะเพิ่มระดับเสียงของทีวีแต่ละตัวให้ดังที่สุดโดยที่เสียงไม่เพี้ยน เพื่อดูศักยภาพด้านการถ่ายทอด “กำลังเสียง” อ้างอิงด้วยแผ่นคอนเสิร์ตของ Susan Wong ในเพลง Do that to me one more time ที่ให้เสียงที่ชัดเจนครบทุกย่านทั้งสูง-กลาง-ต่ำ อ้างอิงเพื่อฟังเปรียบเทียบได้ไม่ยาก

กรรมการเริ่มลงความเห็น

คุณหมอเอก พงศ์ทิพจักร เชื้อเจ็ดองค์ จากนิตยสาร Audiophile Videophile ให้คอมเมนต์เรื่องภาพแบบเจาะลึก ทั้งประเด็น SDR, HDR, Peak Brightness, Black Level ซึ่งสำหรับ OLED TV ทั้ง 3 รุ่น ถือว่าสูสีมากๆ แต่ Panasonic จะได้เปรียบตรงที่ผลลัพธ์ใกล้เคียงจอภาพอ้างอิงมากที่สุดในหลายๆ ด้าน คุณภาพเสียงก็ทำได้โดดเด่นกว่าตัวอื่นทั้งย่านการตอบสนองความถี่ และระดับความดังสูงสุด จึงขอโหวตให้ “Panasonic TH-65EZ1000T” เป็น Best of The Best TV ประจำใจ

คุณนัท ณัฐพล แสวงทรัพย์ แห่ง Cinemania Home Theater Studio ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาพ ช่วยคอมเมนท์เรื่องภาพแบบเข้มข้น โดยมีความเห็นว่า Panasonic EZ1000T ให้คุณภาพของภาพได้ใกล้เคียงกับ Studio Reference Monitor มากที่สุด ส่วนระบบ Smart TV จะชื่นชอบ Android TV ของ Sony เป็นพิเศษ แต่โดยรวมแล้วขอยกให้ “Panasonic TH-65EZ1000T” คือทีวีที่ดีที่สุดเป็น Best of The Best TV ในดวงใจ

คุณอี๊ด ทวีศักดิ์ ภู่วิภาดาวรรธน์ แห่ง Theater Solution ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาพ ให้ความเห็นว่า OLED TV ทั้ง 3 ตัวหากรับการ Calibrate ภาพอย่างถูกต้องแล้ว คุณภาพของภาพก็จัดว่าสูสีกันแบบหายใจรดต้นคอ อย่างไรก็ตาม Panasonic EZ1000T ได้ภาษีดีกว่าในแง่ความถูกต้องของแสงสีตั้งแต่แกะกล่องออกมาโดยไม่ปรับภาพ จึงกุมความได้เปรียบด้านคุณภาพของภาพเอาไว้ ตลอดจนคุณภาพเสียงของ EZ1000T ให้ความจัดจ้าน ชัดเจน โดดเด่นกว่าเพื่อน จึงขอเลือก “Panasonic TH-65EZ1000T” เป็น Best of The Best TV ในดวงใจ

คุณธรรมนูญ ประทีบจินดา จากนิตยสารเครื่องเสียง Audiophile Videophile ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลออดิโอและเครื่องเสียงไฮไฟ ช่วยวิเคราะห์วิจารณ์คุณภาพเสียงของลำโพงทีวีแต่ละตัว ซึ่งทีวีที่มีซาวด์บาร์แยกก็ให้เสียงได้ดีน่าประทับใจ จะแตกต่างกันที่คาแรกเตอร์เสียง รวมถึงชมเชยลำโพงของ Sony ที่คุณภาพอีกนิดจะเทียบเท่าพวก Soundbar แต่มีข้อดีที่สุดเลยคือเสียงออกมาจากหน้าจอไม่จำเป็นต้องมีลำโพงเป็นชิ้นให้เกะกะ ก่อนจะทิ้งท้ายชื่นชมเสียงของลำโพง harman/kardon ของ TCL ที่ผลลัพธ์ไม่ธรรมดาเลยเมื่อเทียบกับค่าตัวที่ต่ำกว่าแบรนด์อื่น 3 เท่า! อย่างไรก็ดีหากพิจารณาในทุกๆ ด้านแล้ว ขอโหวต “Sony KD-65A1” เป็น Best of The Best TV ประจำใจ

นายบอส แห่งรายการ Techno For Life FM 99.0 วิเคราะห์ระบบปฏิบัติการ Smart TV แต่ละตัว โดยมองว่า Android ได้เปรียบเรื่องความยืดหยุ่น กับความคุ้นเคยจากระบบของสมาร์ทโฟน รวมถึงการค้นหาวีดีโอด้วยคำสั่งเสียงที่แม่นยำมาก แต่ถ้ามองในแง่ใช้งานง่าย (ผู้สูงอายุก็ใช้ได้) Tizen ของ Samsung ดูจะลงตัวกว่า แถมมีซีรีส์เกาหลีให้ดูฟรีอีกด้วย… สุดท้ายหากพิจารณาในทุกๆ ด้านแล้ว ขอโหวต “Sony KD-65A1” เป็น Best of The Best TV ประจำใจ

และแล้วก็ถึงเวลาประกาศผู้ชนะเสียที ผลโหวตจาก “ผู้เข้าร่วมงาน” + “กรรมการพิเศษ” = ผลโหวตสูงที่สุดคือผู้ชนะเลิศ ผลอยู่ในกระดาษที่คุณโรมันถืออยู่แล้ว และผู้ชนะก็คือ ????

“The Winner is Sony KD-65A1 : OLED TV “

คุณปรัชญา นันทปถวี, คุณสุพล วิเศษพจนกิจ และ คุณวันชัย ไทยประยูร จากทีม Sony Thai
ให้เกียรติรับถ้วยรางวัล The Winner : Best Of The Best TV Shootout ประจำปี 2017
จาก คุณโรมัน และ คุณชานม LCDTVTHAILAND ขอแสดงความยินดีด้วย !!!!

สรุปผลโหวต
• จำนวนโหวตจาก “แฟนเว็บ” ที่มาร่วมงานรวม 59 ท่าน
• จำนวนโหวตจาก “กรรมการรับเชิญ” 5 ท่าน
• รวมทั้งสิ้น 64 ท่าน ในจำนวนนี้โหวตให้ Sony OLED TV KD-65A1 ไปทั้งสิ้น 29 ท่าน คิดเป็น 45.3% สูงที่สุดในบรรดาทีวีทั้ง 5 ตัว จึงคว้า “รางวัลทีวีที่ดีที่สุดประจำปี 2017” ไปครองอย่างเป็นเอกฉันท์
• The Winner of Thailands Best of The Best TV Shootout 2017 is “Sony OLED TV KD-65A1”!!

บทสรุปจากทีมงาน LCDTVTHAILAND

ภาพจาก OLED TV ทั้ง 3 รุ่น สูสีมากๆ โดย Panasonic TH-65EZ1000T ดูมีน้ำหนักกว่าในแง่ความถูกต้องของสีสันตั้งแต่แกะออกจากกล่อง ได้เปรียบ OLED TV อีก 2 แบรนด์เล็กน้อย แต่ถ้าหากปรับภาพอย่างถูกต้องจะพบว่าการสังเกตความแตกต่างของ OLED TV ทั้ง 3 รุ่น ทำได้ยาก เพราะความต่างเป็นเพียงจุดเล็กๆ แทบจะเรียกว่าต้องจับผิดจริงๆ ความต่างของแต่ละแบรนด์ก็เด่นคนละด้าน เช่น LG 65W7T มีระดับความสว่างสูงสุดสูงกว่าแบรนด์อื่น ในขณะที่ Panasonic ไล่ระดับ Gamma ได้ถูกต้อง เปิดเผยรายละเอียดส่วนมืดและสว่างใกล้เคียงสตูดิโอมอนิเตอร์มากกว่า ส่วน Sony KD-65A1 ให้ภาพเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จึงไม่สามารถชี้ขาดได้อย่างชัดเจนว่าใครดีกว่ากันในเรื่องของภาพจะเรียกได้ว่าดีเลิศแบบเชือดเฉือนกันคนละมุม

หลายท่านจึงให้น้ำหนักประเด็นอื่นเพิ่มเติมเพื่อหาข้อตัดสิน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าท่านที่โหวตให้น้ำหนักเรื่องของ ดีไซน์ คุณภาพเสียง ลูกเล่น Smart TV มากกว่ากัน และจากเหตุผลส่วนใหญ่ที่ถูกเขียนลงใบโหวต จะค่อนข้างให้น้ำหนักกับนวัตกรรม “ไร้ลำโพง” ที่ยิงเสียงพุ่งออกจากหน้าจออย่าง Acoustic Surface ที่แปลกแหวกแนว แต่ก็ยังให้คุณภาพของเสียงได้สูสีกับ Soundbar ตัวเป็นๆ, ดีไซน์ที่เรียบหรูดูดี ไม่มากและน้อยไป ไม่ว่าจะตั้งโต๊ะหรือแขวนผนังก็สวยทั้งคู่ และรวมถึงลูกเล่น Android TV ที่เป็นระบบปฏิบัติการที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูงทั้งเรื่องของแอพส์และการสั่งงานด้วยเสียงที่แม่นยำที่สุด จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Sony OLED TV A1 เข้าวินในครั้งนี้

จุดเด่นด้านอื่นของ OLED TV อีกสองเจ้าอย่าง LG 65W7T จะได้เรื่องความเป็นต้นตำรับของ OLED Panel พร้อมเป็นเจ้าเดียวในตอนนี้ที่รองรับระบบภาพอย่าง Dolby Vision และระบบเสียง Dolby Atmos ส่วนดีไซน์ถอดแผงจอที่บางเฉียบจนลอกออกมา “สะบัดได้” นี่ก็ได้ใจผู้โหวตไปหลายท่าน ส่วน Panasonic TH-65EZ1000T เจ้าของลำโพง Soundbar แบบ Dynamic Blade จะให้เสียงที่ชัดแจ้งและรุกเร้า พร้อมกำลังขับสูงสุดกว่า 80 Watts ถูกใจคนชอบแนวเสียงแบบนี้มิใช่น้อย

สำหรับ Samsung 65Q9F QLED TV ในแง่ความเจิดจรัสนั้นไม่แพ้ OLED TV กลับดูจะเหนือกว่าด้วยซ้ำเรื่องของระดับ Peak Brightness ที่สว่างทะลุ 1800 nits ทำลายสถิติทีวีที่สว่างที่สุดเมื่อปี 2016 ไปเป็นที่เรียบร้อย ส่วนการคุมระดับสีดำอาจจะเป็นรองบ้าง แต่ด้วยฟีเจอร์ Edge LED Local Dimming ก็ช่วยได้ดีเกินคาดทำได้ดีกว่า KS9000 ในปีที่ผ่านมา แต่จุดที่โดดเด่นสุดจากผล Lab Test คือค่า “ความกว้างขอบเขตของสี” (Color Space) และ “ปริมาตรสี” (Color Volume) ที่วัดออกมาได้ดีที่สุดในบรรดาทีวีทุกตัว ก็จัดว่าเป็น จอ 4K LED TV ที่ดีที่สุดในปีนี้หากนับเทียบกับ LED TV ด้วยกัน

TCL ดูจะได้ใจทุกปี กับแนวความคิดพอเพียง ด้วยระดับราคา 65X3CUS ที่ต่ำกว่าแบรนด์อื่นเกือบ 3 เท่า! ถึงแม้คุณภาพโดยรวมอาจจะไม่โดดเด่นเท่าทีวีระดับพรีเมียมของท็อปแบรนด์ แต่ก็เชื่อว่าหลายท่านน่าจะเห็นความคุ้มค่าชัดเจนก็คราวนี้แหละ คุณภาพเสียงนับว่าไม่ธรรมดาเลยเมื่อต้องชนกับทีวีเครื่องอื่นที่มีค่าตัวสูงกว่าหลายเท่า ในส่วนของภาพ หากชนกับรุ่นระดับราคาเดียวกันก็คงไม่แพ้เป็นแน่ แถมยังใจป้ำให้ระยะเวลารับประกันยาวนานถึง 5 ปีเต็ม สิ่งหนึ่งที่ทีมงานบอกได้คือ หาก TCL คงพัฒนาการแบบนี้ไว้ เชื่อว่าใช้เวลาไม่นานก็คงจะไล่ทันแบรนด์หลักได้ไม่ยากครับ สุดท้ายนี้ทีมงาน LCDTVTHAILAND ขอขอบคุณแบรนด์ทีวีทั้ง 5 และผู้เกี่ยวข้อง กรรมการพิเศษทั้ง 5 ท่าน รวมถึงแฟนๆ เว็บฯ ทุกท่านที่มาร่วมงานประชันสุดยอดทีวีที่ดีที่สุด Best of The Best TV Shootout 2017 แน่นอนว่าการแข่งขันประชันคุณภาพในลักษณะนี้ก็ย่อมต้องมี “ผู้แพ้และผู้ชนะ” หลายแบรนด์ต้องพลาดตำแหน่งผู้ชนะ แต่เชื่อว่าสิ่งที่ท่านมอบเป็นความรู้ให้แก่ส่วนรวมนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าประเมินค่าได้ จุดนี้เองที่ที่จะนำพาให้แฟนๆ สนับสนุนสินค้าต่อไปต่อไป เพื่อเป็นกำลังใจในการพัฒนาสินค้าดีๆ แก่วงการความบันเทิงด้านภาพและเสียง นี่แหละที่เรียกว่า “น้ำใจนักกีฬา” ที่น่าชืนชม!. VDP

ส่งท้ายด้วยภาพ “ประสานพลังคนรักทีวีประจำปี 2017”

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 251