ACCUPHASE (Accurate+Phase) เครื่องเสียงไฮเอ็นด์ที่มีประวัติอันยาวนานจากแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างดีในหมู่ผู้ชื่นชอบเครื่องเสียงระดับไฮเอ็นด์ ผลิตภัณฑ์ Accuphase เป็นสินค้าที่มีมาตรฐานสูง มีเอกลักษณ์ตรงแผงหน้าเครื่องสีทองและเพาเวอร์มิเตอร์อะนาล็อกคู่ขนาดใหญ่ 

เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสสัมภาษณ์บุคคลสำคัญในวงการเครื่องเสียงไฮเอ็นด์มากมาย หนึ่งในนั้นก็มี Mr.Jim S Saito: President/CEO พร้อมทีมงาน Accuphase ซึ่งปกติจะเดินทางลัดฟ้ามาเยี่ยมเยือน คุณมนู ฉัตรเพชรา ผู้บริหารสูงสุดของร้าน Hi-End Audio ในฐานะเพื่อนสนิทในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี ทั้งนี้ก็เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันแนบแน่น มิเพียงในฐานะคู่ค้า แต่ในฐานะเพื่อนสนิท ซึ่งถือปฏิบัติเช่นนี้มากว่าสี่สิบปีแล้ว และหลายครั้งที่ได้ร่วมสนทนากัน ทีมงาน Accuphase ก็เอ่ยปากชวนทุกครั้งว่า ถ้ามีโอกาสไปญี่ปุ่น อย่าลืมแวะไปเยี่ยมกันบ้าง ผมก็บอกว่าต้องไปแน่ เพราะมีแผนการจะไปเที่ยวอยู่แล้ว และเมื่อปลายปี 2018 ที่ผ่านมา ผมได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นอีกครั้ง จึงบุกไปเยือนถึงฐานปฏิบัติการ Accuphase Laboratory Inc. ในโยโกฮามา กันเลยทีเดียว

‘Music is an oasis that refreshes us in our journey of life.’

ปรัชญาที่ Accuphase ยึดถือมาตลอดก็คือ “ดนตรีสามารถผ่อนคลาย, ทำให้ตื่นเต้น, เร้าใจ สามารถกระตุ้นหัวใจของเรา และทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้” ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ Accuphase แสวงหาผ่าน Audio Technology นี่คือแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังสโลแกน “เติมเต็มชีวิตด้วยเทคโนโลยี” โดยได้รวบรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงที่มีทักษะสูงมาก มาร่วมกันคิดและทำงานอยู่ในสายการผลิตของ Accuphase ซึ่งทำให้ประสบความสำเร็จมาก

ส่วนประกอบของ Accuphase ทั้งหมดมีคุณภาพสูงทั้งสิ้น ทำไมต้องใช้ของราคาสูงขนาดนั้น ก็เช่นเดียวกับเครื่องดนตรีชั้นดีที่ให้เสียงที่ยอดเยี่ยม มีคุณค่าเสมอ แน่นอนว่าย่อมมีราคาสูงเป็นพิเศษเช่นกัน เพราะเชื่อว่าแนวคิดเช่นเดียวกันนี้ก็เหมือนกับชิ้นส่วนประกอบเครื่องเสียงชั้นดี ความเชื่อนี้เป็นพื้นฐานของแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ Accuphase มุ่งมั่นจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในแต่ละตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีคุณค่า คงทน และสามารถรับใช้เจ้าของนานๆ 

ไหนๆ ก็มาถึงที่แล้ว ต้องมาดูกับตาว่า เขาทำอย่างไร?

Arrival

การมาญี่ปุ่นครั้งนี้ ผมเดินทางมากับครอบครัว ไหนๆ ก็มาแล้ว ขอแวะเยี่ยมเพื่อนสักคน โดยมีลูกสาวแม่ยายในฐานะผู้จัดการทัวร์วางกำหนดการให้ หลานแม่ยายเป็นไกด์ตัวน้อยสปอนเซอร์หลัก รับหน้าที่เป็นล่ามและมาส่งถึงที่ด้วย ความจริงก่อนหน้าวันนัด เราพักที่โยโกฮามาเหมือนกัน แต่เป็นอีกฟากหนึ่งของโยโกฮามา ช่วงที่นัดหมายไว้เป็นช่วงที่เราพักในโตเกียว วันนัดเป็นช่วงก่อนคริสต์มาส เราออกจากโรงแรมช่วงเช้า ขึ้น Yamanote Line มาต่อ Tokyu Den’entoshi Line (Express) มาลงที่ Tama Plaza คือจุดนัดพบ เราไปถึงก่อนเวลานิดหน่อย รอไม่นาน Nishigawa san ก็มารับที่สถานี จากนั้นก็เดินทางโดยรถยนต์ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาทีเท่านั้นก็ถึงฐานปฏิบัติการ จากนั้นก็พาผมไปที่ห้อง Conference ซึ่งมีแร็กเครื่องเสียงเต็มพรึบไปหมด ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ Accuphase ตั้งแต่ P-300 Amplifier, C-200 Preamp, T-100 Tuner, E-202 Integrated Amp จนถึง T-101 Tuner รุ่นอัพเกรด หลากหลายผลิตภัณฑ์จนถึงรุ่นปัจจุบัน (ที่เห็นจากรูปประกอบบทความเป็นเพียงบางส่วน) จัดโชว์เป็น Museum โดยมี Jim S Saito san – President/CEO ให้การต้อนรับ พร้อมทีมงาน Accuphase กล่าวต้อนรับทักทายกันนิดหน่อย ก่อนจะคุยกันอีกครั้งภายหลัง

Schedule

จากนั้น Mark M. Suzuki san – Executive VP และ Kohei Nishigawa sanฝ่ายการตลาด ก็พาทัวร์โรงงานเพื่อให้เห็นการทำงานในฝ่ายต่างๆ แล้วก็พามาที่ห้องฟังอ้างอิงของ Accuphase เพื่อทดลองฟังเครื่องเสียงรุ่นล่าสุด ต่อจากนั้นค่อยย้อนมา Wrap Up หรือสรุปกับ Saito san อีกครั้ง ถือเป็นการจบกระบวนการ หลังจากนั้นก็ได้เวลาอาหารกลางวัน

Plant Tour

Suzuki san เป็นคนพาทัวร์ กล่าวว่า สัดส่วนของสินค้าถูกส่งออกไปขายนอกประเทศเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นจากเดิม 70/30 เป็น 65/35 การเติบโตของยอดขายประมาณ 20% ในสามปีที่ผ่านมา เยอรมนีเป็นตลาดใหญ่ในยุโรป นอกนั้นก็อเมริกา ในเอเชีย เมืองไทยเป็นตลาดนอกญี่ปุ่นประเทศแรกของ Accuphase และถือว่ามีความแน่นแฟ้นกันมาก

ที่นี่คือฐานปฏิบัติการที่รวบทุกอย่างไว้ในอาคารเดียว มี Staff อยู่ทั้งสิ้น 70 – 75 คน เป็นตัวเลขที่ไม่เคยเปลี่ยนมานานมากแล้ว หลักๆ ประกอบด้วยส่วนต่างๆ เช่น ฝ่ายวิศวกรรมที่รับผิดชอบการวิจัยพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ จัดว่ามีกำลังคนมากที่สุดในทุกฝ่าย คือมีกำลังคนถึงหนึ่งในสามของพนักงานทั้งหมด วิศวกรทั้งวัยเก๋าวัยทีนนั่งคร่ำเคร่งกันทีเดียว แถมค่าตัวยังแพงกว่าทุกฝ่ายอีกด้วย แต่ก็เถอะ เพราะหัวใจอยู่ตรงนี้ รองลงมาก็ต้องฝ่ายผลิตมีอยู่ 17 คน ล้วนเป็นวัยหนุ่ม แต่มากด้วยประสบการณ์ Technicians จะถูกสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งการทำงานในลักษณะ Job Rotation ทุก 6 เดือน เพื่อเสริมสร้างความกระตือรือร้น จะได้ไม่เฉื่อย

ถัดไปก็สำคัญไม่น้อย คือฝ่ายตรวจสอบและรับประกันคุณภาพ รวมถึงฝ่ายบริการซ่อมที่มีอยู่ 5 คน กลุ่มนี้หัวหน้าเก๋า เฮฮา เป็นคนน่ารักมาก ให้บริการซ่อมเฉพาะเครื่องในญี่ปุ่น ถึงตรงนี้ Suzuki san เสริมว่าจะพยายามสร้างหน่วยงานซ่อมและอะไหล่ในทุกประเทศ อย่างที่อเมริกาหรือเยอรมนี รวมถึงที่เมืองไทยก็ท?ได้เช่นกัน

ฝ่ายวัสดุที่ดู materials ทั้งแล้วเสร็จ จนถึงอะไหล่ที่มีสำรองกันยาวๆ นับสิบปี สำหรับผลิตภัณฑ์รุ่นเก่าที่ต้องดูแลกัน เชื่อหรือไม่ P-300 คือแอมป์ตัวแรกอายุมากกว่า 40 ปีแล้ว ถูกส่งมาซ่อมก็ยังซ่อมได้ จากนั้นที่สำคัญไม่เบาก็เป็นฝ่าย Marketing และ Logistics ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ Nishigawa san คนหนุ่มไฟแรงที่คล่องแคล่วคนนี้

สายการผลิตมีกลังการผลิตวันละ 25 ตัว ผลิตเป็น Lot โดยมีตัวเลข Lot ละ 100 ตัว ขณะที่เราทัวร์พบว่า E-480 Integrated Stereo Amplifierตัวล่ากลังอยู่ในสายการผลิตทั้งไลน์ ตั้งแต่ต้นไลน์จะเห็นว่าเป็นสินค้าที่ถูก Pre-Production ประมาณว่าติดตั้งอุปกรณ์หลักแรงงาน เช่น แผงวงจรบนโครงเครื่อง, ใส่เทอร์มินัล และ Wiring เบื้องต้นมาแล้ว โดยวิธี Outsourceมาจากโรงงานภายนอกที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นตามมาตรฐานของ Accuphase ทุกบอร์ดมาแล้ว มีเหตุผลว่า PCB เป็น Process ที่ต้องควบคุมพิเศษจากกรมมลพิษและสิ่งแวดล้อม ประกอบมาเป็นเครื่องเกือบสมบูรณ์ จากนั้นก็เข้าสายพานการผลิต ซึ่งมีสายพานเดียว ก็จะจั๊มป์วงจร, พ่วงป้อนไฟ ทุกเครื่องจะถูกต่อไฟเข้าเครื่อง, ใส่ Dummy load แล้ว Burn-in เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นก็ผ่านไป Process ต่อไปอีกหลาย Station อีกหลายขั้นตอน ใช้เวลาในสายพานการผลิตจนแล้วเสร็จอีก 24 ชั่วโมง รวมเวลา 48 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ งานก็เช่น เชื่อมต่อสาย, ใส่อุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงแผงหน้าปัด รวมถึงกระบวนการ Vibration Test ที่เป็นการเขย่าจริง ตบจริง กระแทกจริง จนถึงทดสอบฟังจริง ต้องไม่พบนอยส์หรือสิ่งผิดปกติใดๆ ปกติแล้วถ้าเป็นโรงงานที่ท?เป็น Mass ตามมาตรฐาน ISO จะใช้วิธีสุ่มตัวอย่างเป็น Sample Size 5-10% แต่ที่ Accuphase ตรวจสอบด้วยมาตรฐานของตัวเองที่ 100% หมายความว่าทุกตัวต้องผ่านกระบวนการเดียวกันทั้งสิ้น สอบถามพบว่ามีเปอร์เซ็นต์ reject ต่ำมากๆ “ถ้ามาก ก็ต้องมีอะไรผิดพลาด คงต้องทบทวนใหม่กันล่ะ..555” เป็นคำตอบของ Suzuki san

ส่วนที่ Outsource งานที่มีความสำคัญน้อย เช่น Pre-Production และ Logistics ที่ใช้ Freight Forwarder ถือว่าต้องใช้กำลังคนมากกว่านี้ ตรงนี้ผมถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะเพิ่ม Productivity ให้กับหน่วยงานได้เป็นอย่างดี ถือว่าเป็นการเพิ่มกำลังการผลิต โดยคงไว้ซึ่ง Fix Cost ถือเป็นโรงงานที่มีแนวคิดทันสมัยทีเดียว

ท้ายไลน์พบว่ามี Packing Materials รอการแพ็ค ล้วนเป็นลังของ E-480 ทั้งสิ้น ได้คำตอบว่าเนื่องจากเป็นแอมป์รุ่นใหม่ ของดี ราคาไม่แรง จึงขายดีมาก มียอดสั่งซื้อรอของอยู่อีก 6 เดือน ประมาณว่าผลิตไม่ทันขายทีเดียว

New Products

E-480 Integrated Stereo Amplifier เป็นอินทิเกรตแอมป์ยอดนิยมใหม่ล่าสุดที่เป็น Core Product เป็นเจเนอเรชั่นที่ 11 แล้ว จากรุ่นแรก E-303 ตั้งแต่ปี 1973 ภาคปรีแอมป์ใช้การขยายเกนแบบ AAVA (Accuphase Analog Vari-Gain Amplifier) โดยใช้การควบคุมในแบบ V-I Converter + Switches + I-V Converter ซึ่งอาศัย Voltage to Current Converters ให้ความแตกต่างจากโวลุ่มแบบเดิมๆ ที่มีปัญหาในเรื่องของ Thermal Noise ซึ่งทำให้เกิดนอยส์ได้ มีกำลังขับ 180 วัตต์ ที่ 8 โอห์ม มีเพอร์ฟอร์มานซ์ไม่ได้เป็นรองเครื่องแยกชิ้นนัก

C-2150 Stereo Control Center เป็นปรีแอมป์เจเนอเรชั่นที่ 4 พัฒนาต่อยอดจาก C-2000 ที่ถูกรีลีสเมื่อปี 2004 โดยที่ C-2150 ออกมาแทน C-2120 ซึ่งออกมาเมื่อปี 2013 ใช้การขยายเกนแบบ AAVA (Accuphase Analog Vari-Gain Amplifier) มีความสงัดของพื้นเสียงมากกว่า 20% ทีเดียว

P-4500 Stereo Power Amplifier คงจ?ำได้ดีกับ P-300 แอมป์ตัวแรกของ Accuphase ซึ่งรีลีสเมื่อปี 1973 ถือเป็นแอมป์ที่สร้างชื่อให้กับ Accuphase อย่างมาก โดย P-4500มาแทน P-4200 ซึ่งรีลีสเมื่อปี 2013 จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์มีอายุราว 5 ปี จึงจะมีรุ่นใหม่ ซึ่งให้เสียงมีไดนามิกส์ดีขึ้น คุ้มค่า เพอร์ฟอร์มานซ์เหนือกว่าแอมป์ในระดับราคาเดียวกัน

Listening Room

สัดส่วนห้องดีเลยครับ คะเนด้วยตาน่าจะราวๆ 5 x 8 x 3.5 เมตร ออกแบบดูเรียบง่าย ปรับอะคูสติกส์อย่างมีชั้นเชิงทางวิศวกรรม ทำให้ห้องมีความสงัด ทั้ง Reflect/Absorb ให้เสียงเป็นกลาง ชอบตรงเพดานที่ทำโครงเป็นลักษณะคล้ายฟันเลื่อย โดยส่วนที่หันทิศทางไปทางหน้าห้องจะใส่แผง Absorb เพื่อลด Standing Wave ส่วนหลังที่หันมาทางจุดนั่งฟังจะเป็น Reflect ให้เสียงมีโฟกัส ส่วนมุมห้องรวมถึงด้านข้างติดตั้งด้วยแผ่นอะคูสสติกส์สำเร็จรูปของ Yamaha ที่เคยเห็นโชว์ในงาน TIAS (ไต้หวัน) เห็นว่าเป็นของดี ราคาไม่แพง

ชุดเครื่องเสียงจัดเต็มด้วยเพาเวอร์แอมป์ Class A Mono Block รุ่นใหม่ พร้อมปรีแอมป์และเครื่องเล่นตัวท็อปทั้งสิ้น ทั้งอะนาล็อกและดิจิทัล พร้อมชุดจ่ายไฟของ Accuphase แต่ก็มิได้ต่อผ่านแต่อย่างใด ส่วนลำโพงอ้างอิงใช้ Bowers & Wilkins 800 D3 ซึ่งก็ใช้ B&W มาตลอด เนื่องจากราคาไม่แรง และคนญี่ปุ่นนิยม ส่วนสายสัญญาณก็สำคัญ แต่ไม่ต้อง Crazy มากนัก พอสมควรก็พอ อ้อๆ เห็นสายไฟเอซีกับสายสัญญาณของ Accuphase ด้วยนะ เราฟังเพลงหลายแนว ตั้งแต่น้อยชิ้นจนถึงออร์เคสตร้า ฟังอยู่ราวเกือบชั่วโมง

Wrap Up

ผมใช้เวลาประมาณ 15 นาทีเพื่อพบกับ Saito san ซึ่งได้กล่าวว่า… แม้ว่าจะมีวิศวกรรุ่นหนุ่มไฟแรงที่มีแนวคิดใหม่ ทุกคนมีความสามารถ มีอิสระที่จะค้นคว้าวิจัยปรับปรุงผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา แต่ถึงอย่างไรก็ต้องผ่านความเห็นชอบของผู้บริหารสูงสุด 6 คน ก่อนที่จะผลิตจริง และจะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันด้วย ตอบข้อซักถามว่า เครื่องของ Accuphase เสียงทันสมัยขึ้นเพราะเหตุใด Saito san บอกว่าเป็นเพราะวัสดุอะไหล่แต่ละยุคอาจมีคุณสมบัติทาง Sonic เท่านั้น ความจริงแล้วไม่ถือว่าเปลี่ยนคาแรกเตอร์หรอกนะ

ปีนี้เป็นปีที่ 45 แล้วของ Accuphase ในพื้นที่นี้ อาคารเดิมต่อขยายเพิ่มเติม พื้นที่โรงงานแห่งนี้ทุกตารางนิ้วได้ถูกใช้จนหมดแล้ว ก็พยายามต่อแร็กขึ้นไป โดยเฉพาะบน Museum มีเครื่องหนักๆ หลายตัววางซ้อนกัน ข้อสำคัญเครื่องรุ่นใหม่ๆ ตัวโตขึ้น หนักมาขึ้นทุกวันด้วย จนเจ้าหน้าที่ตรวจอาคารจากสำนักป้องกันสาธารณภัยเตือนว่า ไม่ปลอดภัย ไม่ยอมให้ขยายแล้ว ก็คงถึงเวลาต้องสร้างอาคารโรงงานใหม่ โดยชี้ให้เห็นตรงลานจอดรถด้านข้าง ซึ่งจะเห็นในไม่ช้านี้

ก่อนกลับท่านประธาน Saito san พร้อมทีมงานได้พาไปเลี้ยงอาหารกลางวันที่ร้านอาหารท้องถิ่นแถบนั้น พร้อมมอบของฝากติดมือไปให้คนที่บ้าน และมาส่งที่ Tama Plaza เช่นเดิม และสั่งว่าครั้งหน้าต้องพาครอบครัวมาด้วยนะ อ้อๆ แจ้งให้ทราบด้วยว่าจะยกทีมมาทานข้าวเหนียวมะม่วงในเดือนมีนาคมนี้เช่นทุกปีที่เคยมา เท่าที่สัมผัส รู้สึกว่าประทับใจกับการต้อนรับมาก ขอบคุณสำหรับการต้อนรับอีกครั้งครับ. ADP

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 264