ชานนท์

โฮมเธียเตอร์ชุดเล็ก ประหยัดงบ รองรับ 4K HDR และ Dolby Atmos/DTS:X !!

Onkyo ทำความฝันของคนงบน้อยแต่อยากได้ชุดโฮมเธียเตอร์ที่รองรับคุณสมบัติยุคใหม่อย่าง 4K HDR Pass-through พร้อมถอดรหัสเสียง Dolby Atmos และ DTS:X มาพิสูจน์กันว่า HT-S3910 Home Theater in a Box ชุดนี้ มีศักยภาพน่าสนใจเพียงใด…

HT-S3910 คือ Home Theater in a Box รุ่นคุ้มค่าของ Onkyo ในชุดประกอบไปด้วย HT-R398 AV Receiver รองรับสัญญาณภาพ 4K HDR ถอดรหัสเสียงยุคใหม่อย่าง Dolby Atmos/DTS:X ได้ มี Bluetooth ในตัว พร้อม HTP-398 ชุดลำโพง 5.1 ขนาดกะทัดรัดที่ให้เสียงเกินตัว รายละเอียดจะเป็นเช่นไร ติดตามอ่านต่อได้เลยครับ

อุปกรณ์ในกล่อง นอกจาก AVR และชุดลำโพง 5.1 แล้ว ยังมีรีโมตคอนโทรลไร้สาย เอกสาร Quick Start Guide (สามารถดาวน์โหลดคู่มือใช้งานฉบับเต็มได้จากเว็บไซต์) และสายอากาศรับสัญญาณวิทยุ AM/FM อีกทั้งยังให้สายลำโพงมาครบทุกแชนเนล (ยาว 3 ม. 4 เส้น, 8 ม. 2 เส้น) หลังจัดวางติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อสายครบ ก็พร้อมใช้งานเลย

HT-R398 AV Receiver โดยพื้นฐานก็คือ TX-SR393

HT-R398 AV Receiver ในชุด HT-S3910 นี้ โดยพื้นฐานก็คือ TX-SR393 AV Receiver รุ่นน้องเล็กที่ Onkyo จัดจำหน่ายแบบแยกชิ้นในปี 2020 นั่นเอง รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนกันแล้ว ช่องต่อรับสัญญาณต่างๆ ก็มีความหลากหลายครบครันไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น HDMI 2.0 In จำนวน 4 ช่อง, HDMI 2.0 Out (with ARC) 1 ช่อง, ช่องรับสัญญาณเสียง Digital S/PDIF ทั้ง Coaxial และ Optical อย่างละ 1 ช่อง และช่องรับสัญญาณเสียง Analog อีก 3 ช่อง

อุปกรณ์ภายในก็ถอดแบบมาเลย อย่าง High-current amp ที่ Onkyo แจ้งว่าสามารถจ่ายกระแสรองรับค่าความต้านทานของลำโพงได้ต่ำถึง 4 โอห์ม ให้กำลังขับที่ 135 วัตต์ (6 ohms, 1 kHz, 1% THD, 1 channel driven, IEC) จำนวน 5 แชนเนล ภาคจ่ายไฟใช้ EI Transformer พร้อมตัวเก็บประจุขนาด 6800uF จำนวน 1 คู่ ในส่วนของชิพถอดรหัสเสียงรอบทิศทาง, DAC รายละเอียดสูง 384kHz/32-bit จาก AKM ไปจนถึง Video Processor ก็เป็นสเป็คเดียวกับ TX-SR393

จุดที่ HT-R398 แตกต่างจาก TX-SR393

แต่ถึงกระนั้นก็มีจุดที่ต่างจาก TX-SR393 อยู่บ้าง จุดแรก เนื่องจาก HT-R398 ถูกออกแบบมาให้ใช้งานร่วมกับ HTP-398 ชุดลำโพง 5.1 ขนาดกะทัด ซึ่งในส่วนของลำโพงซับวูฟเฟอร์จะไม่มีภาคขยายในตัว ทาง Onkyo ก็เลยเพิ่มภาคขยายสำหรับลำโพงซับวูฟเฟอร์ กำลังขับ 100 วัตต์ (6 ohms, 100 Hz, 1% THD, IEC) มาให้ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคง Subwoofer Pre out ไว้ เผื่อใครต้องการอัพเกรดเปลี่ยนไปใช้ Active Subwoofer ในอนาคต ก็สามารถทำได้เหมือน TX-SR393

ทว่าจุดที่ถูกตัดออกไป คือ HT-R398 จะไม่มีระบบ Auto Speaker Calibration กล่าวคือ ไม่มีไมโครโฟนเซ็ตเสียงตั้งค่าลำโพงอัตโนมัติ ความสะดวกในจุดนี้จึงเป็นรอง TX-SR393

ขั้นตอนการเซ็ตเสียงลำโพงนี้ถือว่ามีความสำคัญ หากทำได้อย่างลงตัว ชุดโฮมเธียเตอร์ก็จะปลดปล่อยศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสำหรับชุดนี้ถ้ามีอุปกรณ์เสริมอย่าง Sound Level Meter ในการอ้างอิงบาลานซ์ระดับเสียงของลำโพงแต่ละแชนเนล (โดยเฉพาะใช้อ้างอิงระดับเสียงของลำโพงซับวูฟเฟอร์) ก็จะช่วยให้ได้เสียงที่มีความลงตัวกลมกลืนง่ายขึ้น ส่วน Distance หรือการชดเชยระยะห่างของลำโพง เบื้องต้นสามารถใช้ตลับเมตรอ้างอิงได้ครับ

HTP-398 ชุดลำโพง 5.1 ขนาดกะทัดรัด

จุดเชื่อมต่อสายลำโพงด้านหลัง HT-R398 เป็นแบบ Binding post เฉพาะคู่หน้า (Front L/R) นอกนั้นเป็นแบบสปริงหนีบ ในขณะที่ลำโพงในชุด HTP-398 ติดตั้งจุดเชื่อมต่อสายลำโพงแบบสปริงหนีบทั้งหมด

ลำโพงเล็กแบบ Satellite ในชุด HTP-398 ใช้ตัวขับเสียง Full-Range cone ขนาด 7.7 ซม. ออกแบบเป็นลำโพงตู้ปิดขึ้นรูปจากพลาสติก น้ำหนัก 0.5 กก. (Front/Surround) และ 0.6 กก. (Center) สามารถยกแขวนผนังได้ง่ายๆ ด้วยการยึดสกรูที่ผนังเพียงตัวเดียว

ลำโพงซับวูฟเฟอร์ติดตั้งตัวขับเสียงขนาด 16 ซม. ออกแบบเป็นลำโพงตู้เปิดซึ่งประกอบขึ้นจากไม้อัด (Particle Board) ทั้งตัวขับเสียงและท่อ Bass-reflex จัดวางที่ส่วนล่างของตัวตู้ น้ำหนักลำโพงอยู่ที่ 4.6 กก.

เลือกติดตั้งลำโพงแบบ 5.1 หรือ 3.1.2

HT-S3910 เป็นชุด HTiB พร้อมลำโพง 5.1 แชนเนล แต่ก็สามารถถอดรหัสเสียง Dolby Atmos ได้ หากทำการติดตั้งลำโพงแบบ 3.1.2 แชนเนล เวลาใช้งานจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งว่าจะติดตั้งลำโพงแบบ 5.1 หรือ 3.1.2 ซึ่งทั้งคู่มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ผมจะรายงานอีกครั้งช่วง ผลการทดสอบ แต่ก่อนอื่นมาดูก่อนว่าสามารถกำหนดตั้งค่าลำโพงอย่างไรได้บ้างครับ

รูปแบบ 5.1 คงเป็นที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่สำหรับรูปแบบการติดตั้ง Dolby Atmos 3.1.2 นั้น หลักๆ จะมี 3 ลักษณะ อิงตามการติดตั้งลำโพงที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดมิติเสียงด้านสูง (Height Speaker) ได้แก่ Front High, Top Front/Middle/Rear, Up-firing/Enabled speakers)

รูปแบบ Height Speaker ที่แนะนำให้ใช้งาน คือ Top Middle เพราะการติดตั้งลำโพงเหนือศีรษะผู้ฟังจะให้ผลลัพธ์ชัดเจนที่สุด ทว่ารูปแบบที่ดำเนินการติดตั้ง “ง่ายที่สุด” สำหรับชุดลำโพงในระบบ HT-S3910 คือ Front High ครับ ซึ่งการแขวนลำโพงที่ผนังนั้นจะทำได้ง่ายกว่าการยึดลำโพงกับฝ้าเพดาน การเก็บสายลำโพงให้ดูเรียบร้อยก็ทำได้ง่ายกว่าด้วย ในรีวิวนี้ ผมจะอ้างอิง 3.1.2 รูปแบบ Front High ครับ

มีข้อสังเกตนิดหนึ่ง กรณีที่กำหนด Speaker Configuration เป็น 3.1.2 หากสัญญาณเสียงต้นทางเป็น Dolby Atmos/TrueHD ระบบจะถอดรหัสเสียงเป็น Atmos ตามปกติ

แต่ถ้ากำหนด Speaker Configuration เป็น 5.1 ถึงแม้ระบบเสียงต้นทางจะเป็น Dolby Atmos/TrueHD ระบบจะถอดรหัสเป็น DTHD (Dolby TrueHD) ไม่โชว์ Atmos ซึ่งเป็นปกติไม่ได้มีปัญหาอะไรนะครับ นี่เป็นเพราะว่า การรับฟังระบบเสียง Dolby Atmos นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งลำโพงที่ใช้ถ่ายทอดมิติเสียงด้านสูง (Height Speakers) ด้วย จึงจะสามารถถ่ายทอดความแตกต่างของระบบเสียง Immersive Audio รูปแบบนี้ออกมาได้

หากเลือกติดตั้งลำโพงแบบ 5.1 แล้วอยากให้ AVR โชว์การถอดรหัส Dolby Atmos อาจด้วยความสบายใจ หรือต้องการให้รู้ว่าระบบสามาถถอดรหัสเสียง Dolby Atmos ได้จริง ก็แค่เปิดใช้ฟีเจอร์ Speaker Virtualizer ร่วมด้วย

ตัวเลือก Speaker Virtualizer นี้โดยคอนเซ็ปต์เป็นการ “จำลอง” สร้างมิติเสียงด้านสูงแม้จะไม่มีลำโพง Height Speakers ติดตั้งอยู่ อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวผมเห็นว่า *ฟีเจอร์นี้ไม่ได้ทำให้เสียงดีขึ้น ตรงกันข้าม นอกจากไม่ช่วยให้มิติเสียงด้านสูงชัดเจนขึ้นแล้ว กลับทำให้มิติการโยนเสียงต้นฉบับในแบบ 5.1 ดูคลุมเครือขาดความเด็ดขาด* แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับรสนิยมของแต่ละบุคคลและสภาพแวดล้อมการติดตั้ง แนะนำให้ทดลองเปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่าง Speaker Virtualizer – On และ Off กับระบบ 5.1 ด้วยตนเองดูก่อนครับ

ส่วน DTS:X ไม่มีตัวแปรเรื่องของรูปแบบการกำหนดคั้งค่าติดตั้งลำโพงครับ ไม่ว่าจะเลือก 5.1 หรือ 3.1.2 ก็สามารถถอดรหัสได้ (โชว์ DTS:X ปกติ) แต่แน่นอนว่าการติดตั้งลำโพงทั้ง 2 แบบ เวลาใช้งานจริงจะให้ผลลัพธ์จาก DTS:X ที่ไม่เหมือนกัน (แปรผันเหมือน Dolby Atmos)

ผลการทดสอบ

การทดสอบคุณสมบัติด้านภาพ ยืนยันว่าช่องต่อ HDMI ของ HT-R398 เป็นมาตรฐาน HDMI 2.0 จริง สามารถ “Pass-through” สัญญาณภาพ 4K 60Hz 8-bit 4:4:4 และ 4K 60Hz 12-bit 4:2:2 พร้อมคุณสมบัติ HDR (High Dynamic Range) อย่าง Dolby Vision, HLG และ HDR10

แต่มีข้อแม้ว่าต้องกำหนดตั้งค่า HDMI 4K Signal Format เป็น “Enhanced Mode” เสียก่อน ซึ่งทำได้ขณะที่ AVR อยู่ในสถานะ On ให้กดปุ่ม BD/DVD ค้างไว้ ตามด้วยปุ่ม On/Standby ซ้ำๆ เพื่อเปลี่ยนตัวเลือกจาก Std. (Standard) เป็น Enh. (Enhanced)

รุ่นนี้ยังสามารถ “อัพสเกล” สัญญาณภาพผ่านตัวเลือก 1080p to 4K Video Upscaling เช่นเดียวกับ AVR รุ่นอื่นๆ ของ Onkyo โดยในส่วนของการกำหนดตัวเลือก Super Resolution อย่างเหมาะสม จะช่วยให้ภาพดูคมชัดขึ้นได้

ทดลองเชื่อมต่อเล่น Netflix ร่วมกับ Smart TV รุ่นที่รองรับ พบว่า HT-R398 สามารถรับสัญญาณเสียง Dolby Atmos/DD+ ผ่านทาง HDMI ARC ได้

มาถึงช่วงทดสอบคุณภาพเสียง HT-S3910 โดยผมจะเริ่มจากรูปแบบลำโพง 3.1.2 Front High โดยยึดแขวนลำโพงที่ผนังในตำแหน่งเหนือลำโพง Front Left และ Front Right หลังจากตั้งค่าลำโพงจนได้ความกลมกลืนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลลัพธ์ก็เป็นดังคาด คือรูปแบบนี้ช่วยให้สัมผัสจับต้องมิติเสียงด้านสูงจาก Immersive Audio ยุคใหม่ อย่าง Dolby Atmos และ DTS:X ได้ชัดเจนกว่า 5.1 เสียงฟ้าร้อง เสียงเฮลิคอปเตอร์ ให้ตำแหน่งที่อยู่สูงขึ้นกว่าระบบ 5.1 เวทีเสียงดูมีความลึกและสูงกว่า

อย่างไรก็ดีข้อจำกัดของ 3.1.2 โดยเฉพาะรูปแบบ Front High คือ ทิศทางเสียงจะจำกัดอยู่ทางด้านหน้าเท่านั้น ความโอบล้อมรอบตัวจึงเป็นรอง 5.1 หากสามารถเปลี่ยนตำแหน่ง Front Height Speakers เป็น Top Middle ซึ่งแขวนฝ้าขนาบเหนือศีรษะพอดีหรือเยื้องไปด้านหลังเล็กน้อย ก็จะช่วยเติมเต็มข้อจำกัดตรงนี้ได้

ถัดมา ทดสอบเสียง HT-S3910 กับการติดตั้งลำโพงรูปแบบ 5.1 กันบ้าง… ก่อนอื่นเมื่อมีการเปลี่ยนตำแหน่งลำโพง อย่าลืมกำหนด Speaker Configuration และตั้งค่าระยะห่าง (Distance) และบาลานซ์เสียง (Level) อิงกับสภาพติดตั้งจริงด้วยนะครับ หากใช้ค่าเดิมของ 3.1.2 ทิศทางเสียงจะตีรวน บรรยากาศขาดความกลมกลืน เพราะการถอดรหัสเสียงกับตำแหน่งลำโพงไม่สัมพันธ์กันครับ

5.1 เป็นรูปแบบลำโพงรอบทิศทางที่คุ้นเคยกันมานานตั้งแต่ระบบเสียงยุคก่อน ถึงแม้การถ่ายทอดบรรยากาศเสียงด้านสูงจากระบบเสียง Immersive Audio จะไม่ชัดเจนเท่า 3.1.2 ก็จริง ทว่าให้เสียงรอบตัว ครอบคลุมไปถึงด้านหลังผู้ฟังได้ดีกว่าจากลำโพงเซอร์ราวด์ที่ตำแหน่งจัดวางเยื้องไปด้านหลัง บรรยากาศเสียงมีความโอบล้อมกว้างใหญ่ ซึ่งช่วงการโยนเสียงที่มีทิศทางจากหน้าไปหลัง หรือหลังไปหน้าสร้างอารมณ์ร่วมได้น่าตื่นตาตื่นใจกว่า 3.1.2 ที่การถ่ายทอดทิศทางเสียงจะจำกัดอยู่เฉพาะทางด้านหน้ากับด้านสูงเป็นหลัก

และเมื่อทดสอบกับการเล่นเกม ระบบ 5.1 ยังช่วยให้แยกแยะตำแหน่งของศัตรูที่มาจากทางด้านหลังได้ชัดเจนกว่า 3.1.2 ด้วยครับ

ในส่วนความหนักแน่นของย่านเสียงเอฟเฟ็กต์ความถี่ต่ำจากลำโพงซับวูฟเฟอร์ในชุดก็ทำได้ดี ด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่ เบสอาจจะลงได้ไม่ลึกมากเท่าลำโพงแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ขนาดใหญ่ แต่ก็มีข้อดีตรงที่หาตำแหน่งตั้งวางในห้องได้ง่ายกว่า และที่สำคัญ คือ จูนเสียงให้กลมกลืนเข้ากับลำโพงหลักขนาดเล็กแบบ Satellite ได้ลงตัวกว่า

เคล็ดลับนอกจากการกำหนดระดับเสียงของลำโพงซับวูฟเฟอร์ให้พอเหมาะแล้ว การกำหนด Crossover หรือจุดตัดความถี่ก็สำคัญ ซึ่งซิสเต็มนี้แนะนำให้ลองตัดที่ 150 Hz – 200 Hz ไม่ควรตัดต่ำกว่านี้ครับ และอาจทำการไฟน์จูนเรื่องของเฟสเพิ่มเติมโดยการกำหนดชดเชย Distance ของลำโพงซับวูฟเฟอร์ หรือใช้การกลับเฟสสายลำโพงซับวูฟเฟอร์ (ผลลัพธ์จะคล้ายสวิตช์ปรับ Phase 0° – 180°) กรณีที่พบปัญหาการหักล้างทางเฟสระหว่างลำโพงซับวูฟเฟอร์กับลำโพงหลักได้อีกทางหนึ่งครับ

จุดนี้หากทำได้ลงตัว นอกจากการรับชมภาพยนตร์มัลติแชนเนลจะได้คุณภาพเสียงที่เต็มที่ขึ้นแล้ว การฟังเพลงผ่านลำโพง 2.1 ก็จะลงตัวมากยิ่งขึ้น ในแง่การถ่ายทอดย่านเสียง โดยเฉพาะเบสจะทำได้ไม่แพ้ลำโพงตั้งพื้นขนาดย่อมเลยครับ เมื่อผนวกกับน้ำเสียงที่ออกไปทางนุ่มนวล ไม่ติดรุกเร้ามากนักของ Onkyo ซิสเต็มเล็กๆ นี้ ก็สามารถให้ความผ่อนคลาย ฟังเพลงหลากหลายได้น่าฟังทีเดียวครับ

แม้ไม่มีเสาอากาศคู่ทางด้านหลัง แต่ HT-R398 ก็รับสัญญาณเสียงแบบไร้สายผ่าน Bluetooth v4.2 ได้ กรณีที่ต้องการรับฟังเพลงแบบ Online Music Streaming อย่าง iTunes, Spotify, Tidal ที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบัน ก็ใช้วิธีเล่นด้วย Smartphone แล้วเชื่อมต่อสัญญาณ Bluetooth มาฟังกับโฮมเธียเตอร์ชุดนี้ได้ คุณภาพเสียงอาจจะย่อหย่อนลงบ้างเมื่อเทียบกับการสตรีมมิ่งเสียงผ่าน Network โดยตรง แต่ข้อได้เปรียบของคุณภาพ AVR (DAC, ภาคขยาย) และชุดลำโพงที่สามารถใช้ฟังเพลงแบบ 2.1 ถ่ายทอดน้ำเสียงได้น่าฟัง รายละเอียดผ่อนคลายไม่จัดกัดหู ย่านเสียงครอบคลุมโดยเฉพาะย่านต่ำ เวทีเสียงกว้าง และลึกกว่าลำโพง Bluetooth สำเร็จรูปทั่วไปแน่นอนครับ

ด้วยคุณสมบัติที่มีของ AVR และชุดลำโพง 5.1 ขนาดกะทัดรัด การใช้งาน HT-S3910 HTiB ชุดนี้จึงครอบคลุม ตอบสนองความบันเทิงได้ทั้งดูหนังและฟังเพลง ซึ่งเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ต้องจ่าย นับว่าคุ้มค่าเลยทีเดียวครับ. VDP

ราคา 19,900 บาท

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
Power Buy Call Center: 02-904-2120