ชุมพล

นักเขียน : ดร.ชุมพล มุสิกานนท์

มิตรรักนักเล่นเครื่องเสียงทั้งหลาย อันว่าการเปลี่ยนฟิวส์ดีๆ เข้าไปในเครื่องเสียงนั้น ย่อมจะทำให้สุ้มเสียงแปรเปลี่ยนไปตามบุคลิกของฟิวส์แต่ละตัว และตามค่าความต้านทานที่เพิ่มขึ้น (หรือลดลง) ด้วย ประเด็นนี้ ถ้าหากท่านไม่เชื่อ กรุณาอย่าอ่านบทความนี้ครับ เพราะไม่งั้นจะกลายเป็นว่าผมลืมรับประทานยาระงับประสาทไปเสียฉิบ มานั่งเพ้อเจ้ออะไรไม่รู้ ทำตัวเป็น 18 มงกุฎ มาเชียร์ขายฟิวส์ตัวละเกือบหมื่นบาท!!!

เอาเถิด สมมติว่า ท่านเชื่อว่าฟิวส์มีผลต่อเสียง ผมจะขยายความต่อไปว่า เมื่อสายไฟราคาแพงของท่านถูกเสียบเข้ากับเครื่องเสียงแล้ว จุดที่ไฟฟ้าจะไหลผ่านต่อไปก็คือฟิวส์กันช็อตนี่เองครับ ดังนั้น จะพูดอีกอย่างว่า มันเป็นคอขวดของพลังงานไฟฟ้าก็ไม่น่าจะผิดความจริงไปซักเท่าใด ฟิวส์ที่ผลิตออกมาและใช้กันอยู่ในเครื่องเสียงจะเป็นที่เบ้า Socket IEC หรือติดตั้งอยู่บนแผงวงจร จะแบ่งออกเป็นชนิดขาดช้าและขาดเร็ว และยังแยกกันระหว่างฟิวส์ AC และ DC ด้วย สำหรับผมแล้วไม่แนะนำให้สลับกันเด็ดขาด เพราะมันใช้แทนกันไม่ได้ แต่ระหว่างฟิวส์แก้วหรือฟิวส์เซรามิก อันนั้นสามารถใช้แทนกันได้ หากมีค่าของฟิวส์ที่ใกล้เคียงกันซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ฟิวส์เซรามิกจะให้เสียงที่หนากว่าฟิวส์แก้ว และฟิวส์แก้วจะให้เสียงที่ใสมีรายละเอียดระยิบระยับ

ผมเคยเขียนบทความทดสอบฟิวส์ออดิโอเกรดมาหลายยี่ห้อ ที่ยังไม่เคยรีวิวแบบเป็นทางการเห็นจะมีฟูรูเทค และ เพาเวอร์เฮาส์ คราวนี้สมใจอยากเลย เพราะได้รับ Power House รุ่นใหม่ล่าสุด ราคาแพงที่สุดในโลกของฟิวส์มาทดสอบ!!!

Power House มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกระแสไฟฟ้าอย่างอื่นด้วย อาทิ เบรกเกอร์คุณภาพสูง ส่วนฟิวส์รุ่นล่าสุดของเขาทำออกมาสองอนุกรม คือ Zero และ Titan LX ราคาขายพอๆ กันครับ ข้อแตกต่างน่าจะอยู่ที่ Titan LX เหมาะสำหรับชุดดูหนังฟังเพลง ส่วน Zero นั้น เน้นมาที่คุณภาพเสียง ขนาดของฟิวส์มีให้เลือกหลากหลายทั้ง 20 มม. 25 มม. และ 30 มม. เยี่ยมเลยครับ เครื่องที่ใช้ฟิวส์ 25 มม. ได้เฮกันเสียที ส่วนค่าความทนกระแสไฟฟ้านั้นมีให้เลือกใช้กันตั้งแต่ 160 mA ไล่ไปจนถึง20A นั่นเลย ซึ่งถามว่าค่า 20A นี่เอาไปใส่อะไร ผมว่าน่าจะเป็นปลั๊กรางที่ไม่มีวงจรกรองไฟฟ้าอยู่ภายใน ส่วนฟิวส์ที่ผมได้รับมาทดสอบมีขนาด 20 มม. ค่า 2A, 6.3A และ 20A อ่านดูสเปกแล้ว บอกว่าไส้ในของฟิวส์เป็นวัสดุ Silver Alloy หรือเงินผสมโลหะอื่น ขั้วฟิวส์ที่เห็นสีเงินมันวาวนั้นเป็นทองแดงบริสุทธิ์ชุบอะไรบางอย่าง ซึ่งผมเดาว่าน่าจะเป็นแพลตตินัม ส่วนบอดี้หรือหลอดทำจากคริสตัลควอทซ์ ซึ่งมีคุณสมบัติเหนือกว่าแก้วธรรมดาทั่วไปมาก ที่ตัวหลอดของฟิวส์ค่าต่ำๆ มีสีดำส่วนไอ้เจ้าตัว 20A นั้น มีสีทองครับ

ในการทดสอบ ผมทำการเบิร์นฟิวส์ทั้งหมดอยู่ราว 50 ชั่วโมง โดยตัว 2A ใส่ในเครื่องเล่นซีดี Nobsound สำหรับตัว 6.3A ใส่ในอินทิเกรตแอมป์ Audiospace Galaxy II (หลอด) ส่วนตัว 20A ใส่ในปลั๊กรางทำเอง เต้ารับ Furutech GTX

พอเบิร์นเสร็จ ผมทยอยฟังทีละตัว โดยไล่จากใส่ Zero ที่เครื่องเล่นซีดีก่อน ส่วนที่อินทิเกรตแอมป์และปลั๊กพ่วงใส่ฟิวส์ยี่ห้ออื่นที่ผมใช้งานประจำไล่ไปจากเครื่องเล่นซีดีแล้วสลับที่ตัวอินทิเกรตแอมป์ แล้วจึงไปปลั๊กพ่วง เพื่อจะหาว่าใส่ที่ไหนได้ระดับความเปลี่ยนแปลงทางเสียงมากที่สุด ทีแรกผมเดาว่าน่าจะเป็นที่ปลั๊กพ่วง แต่พอเอาเข้าจริงๆกลับกลายเป็นว่า ตอนใส่เปลี่ยนเข้าไปในอินทิเกรตแอมป์เห็นผลต่างมากที่สุด ส่วนที่เครื่องเล่นซีดีก็ฟังออกชัด แต่ระดับความแรงจะลดทอนลงมาจากแอมป์อยู่บ้าง

หลักการพิจารณาใช้งานฟิวส์ออดิโอเกรด สำหรับท่านที่ยังไม่เคยซื้อหามาใช้งาน ขอให้ดูว่า ฟิวส์เดิมที่ติดเครื่องมานั้นมีขนาดความยาวกี่ มม. และทนไฟได้กี่ A. นั่นคือค่าที่คุณต้องจำไว้ แล้วเลือกหาซื้อฟิวส์ออดิโอเกรดมาใช้ให้ตรงตามนั้น จะมีการเพิ่มขนาดของ A. ในกรณีที่ฟิวส์เดิมเป็นชนิดขาดช้า เช่น ที่ขั้วฟิวส์สลักไว้ว่า T2A. หากคุณมีฟิวส์ออดิโอเกรดชนิดขาดเร็ว ซึ่งไม่มีตัว T แล้วล่ะก็ คุณอาจจะเพิ่มค่าเป็น 3A – 4A ได้ หรือในกรณีที่ต้องการจูนเสียงให้มันหนาๆ อิ่มเข้มขึ้น ก็อาจจะเพิ่มค่าของฟิวส์ขึ้นไปอีกสักเล็กน้อย อย่างไรเสีย ไม่แนะนำให้เพิ่มมากเกินไป เช่น จาก 1A เป็น 7A หรือจาก 2A เป็น 10A เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันไฟฟ้าช็อตเข้าเครื่องหมดไป ซึ่งยังไงๆ ซะ ก็ไม่ควรมองข้ามประเด็นนี้ไปนะครับ

ผลการทดสอบ

หลังจากที่แยกฟังและจับรวมร่างแล้ว ฟิวส์ Power House Zero มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงเสียงได้ชัดเจนมากๆ จนกระทั่งเทียบได้กับการเปลี่ยนสายไฟราคาหลายๆ หมื่นเข้าไปในชุดเครื่องเสียงนั่นแหละครับ ผมเดา (อีกแล้ว) ว่า ฟิวส์ Zero ต้องผ่านกระบวนการไครโอเจนิกมาแน่ๆ ไม่อย่างนั้นมันคงไม่ให้เสียงที่สุดฤทธิ์สุดเดชได้อย่างนี้ จุดเด่นมากๆคือ พละกำลัง แรงปะทะ ความสด และ ไดนามิก ซึ่งมันเรียกได้มาชนิดที่แอมป์หลอด 12 วัตต์ของผมขับลำโพง Elac B6 ออกมาได้สบายๆ ทั้งๆ ที่คนที่เคยฟังหรือใช้ลำโพงรุ่นนี้อยู่จะทราบดีว่า มันต้องการแอมป์ดีๆ มีกำลังวังชาสูงๆ มาขับถึงจะออก ไม่เช่นนั้นเสียงจะอุดอู้ ฟังไม่ได้เลยครับ แต่ตอนทดสอบจริง ผมต้องสลับเอา XAV Small One 20th มาเสียบฟัง เพื่อเป็นตัวบ่งชี้บุคลิกเสียงของฟิวส์ออกมาให้ตรงไปตรงมาที่สุด ดุลน้ำเสียงของ Zero มีความเปิดเผยเหมือนมองผ่านกระจกใสบานใหญ่ๆ มันช่วยยืดขยายแบนด์วิธของเสียงออกไป ทั้งย่านล่างและย่านบน ตรงนี้ผมของยกย่องว่าหาได้ยากมากที่อุปกรณ์เสริมตัวไหนจะทำได้ แสดงว่ามันช่วยทะลวงจุกคอขวดของกระแสไฟฟ้าออกไปได้อย่างเป็นมรรคเป็นผล พอย่านเสียงถูกพัฒนาขึ้น ไดนามิกก็สวิงได้กว้างตามไปด้วยอย่างหมดห่วงเลยครับ สิ่งที่ผมห่วงๆ อยู่คือ ไดนามิกคอนทราสต์ หรือความแตกต่างในช่วงเสียงดังค่อยหนักเบาจะเป็นเช่นไร เพราะฟิวส์ที่โดดเด่นเรื่องพละกำลัง แรงปะทะดีๆ มักจะเจอปัญหาเกี่ยวกับคอนทราสต์ของเสียง ซึ่ง Zero ทำให้ผมแปลกใจอีกครั้ง เนื่องจากไดนามิกคอนทราสต์สอบผ่านฉลุยด้วยคะแนนสูงครับ เพลงช้าๆ ที่มีเสียงเครื่องดนตรีเปียโนและไวโอลิน ฟังออกได้ชัดเลยว่า จังหวะไหนนักดนตรีเล่นหนักหรือเบา ความสมจริงในอารมณ์เพลงนี่ไม่ได้มีอะไรจะติติงได้เลยครับ ในส่วนของเบส-กลาง-สูง คิดว่าสมบูรณ์แบบ มีความสมดุลกัน ไม่มีย่านไหนๆ ที่โด่งล้ำหรือหลุบหาย ทุกย่านมีความเสมอภาค และย้ำหัวโน้ตได้หนักแน่นชัดเจน เสียงเล็กเสียงน้อย รายละเอียดทุกๆ detail สามารถติดตามได้ยินโดยง่าย ไม่ต้องเงี่ยหูฟังกันอีกต่อไป ผมชักเริ่มคิดว่า ฟิวส์ตัวนี้ราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพแล้ว

สิ่งที่ Zero ทำได้ดีเกินหน้าเกินตาฟิวส์ Power House รุ่นก่อนๆ คือ 1. การจัดสมดุลเสียงที่ไม่ได้เน้นเฉพาะเบสและอิมแพ็กต์แรงๆ เท่านั้น 2. เสียงกลางดีขึ้นมาก ฟังเพลงร้องแล้วไม่เครียด ผิวเสียงเรียบลื่นไร้ความหยาบกระด้าง 3. เสียงแหลมขึ้นได้สูงจริง ให้ฮาร์โมนิกส์ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้เน้นเฉพาะหัวเสียงเท่านั้น 4. มีค่าความทนต่อกระแสไฟฟ้าและขนาดให้เลือกหลาย

คุณสมบัติเกี่ยวกับอิมเมจและเวทีเสียง

ฟิวส์ Power House Zero ให้เวทีเสียงที่กว้าง และเดินเข้าหาตำแหน่งที่นั่งฟัง (Forward) ให้ความรู้สึกว่าเสียงหลุดลอยออกมาอยู่หน้าลำโพงชนิดที่ยกมาทั้งแผง เวทีด้านลึกมีลักษณะคล้ายรูปพัด การขึ้นรูปและการจัดวางตำแหน่งอิมเมจทำได้ดี มีความชัดเจน คงอยู่เป็นตัวเป็นตนอย่างเข้มข้นมากๆ จนผมต้องต้องเซ็ตอัพลำโพงใหม่เลยก็แล้วกัน ซึ่งพอดึงลำโพงห่างจากกันอีกเล็กน้อย พบว่าเวทีเสียงเป็นอิสระและเบสสะอาดขึ้น

Power House Zero มีแนวทางเฉพาะตัวที่โดดเด่น คือ พละกำลัง ไดนามิก และอิมแพ็กต์ในขณะที่ลีลาการนำเสนอและสากเสี้ยนต่างๆ ได้รับการปรับปรุงให้ดีกว่าเดิมเยอะมาก

บุคลิกเสียงที่ Zero ให้ออกมาได้ทั้งหมดนี้ ดูเหมือนจะถูกโฉลกกับเพลงคลาสสิกที่ไดนามิกกว้างๆ เป็นพิเศษ แต่สำหรับเพลงร้องช้าๆ ที่บันทึกมาดี ผมพบว่ามันก็ให้ความไม่ธรรมดาออกมาเหมือนกัน โดยเฉพาะบรรยากาศที่ห่อหุ้มอยู่ทั้งหมด หรือจะเรียกว่า Airy พอถอดฟิวส์ Zero ออกแล้ว กลับไปใช้ลูกฟิวส์ตัวละพันกว่าบาทนี่ กลับหายวูบไปเฉยๆ เสียยังงั้นแหละ

บทสรุปของฟิวส์ Power House Zero คือ มันเป็นฟิวส์ออดิโอเกรดอย่างแท้จริง มีแนวทางเฉพาะตัวที่โดดเด่น คือ พละกำลัง ไดนามิก และอิมแพ็กต์ ในขณะที่ลีลาการนำเสนอและสากเสี้ยนต่างๆ ได้รับการปรับปรุงให้ดีกว่าเดิมเยอะมาก ผมคงไม่แนะนำให้ใช้กับเครื่องเสียงที่ราคาหลักหมื่น เพราะดูเหมือนจะเป็นการลงทุนที่บ้าระห่ำไปหน่อย แต่กับเครื่องเสียงในระดับหกหลักขึ้นไปที่เสียงเรียบๆ ไม่ค่อยตื่นเต้น ลองใส่ Power House เข้าไปสักเม็ด ชีวิตคุณจะมีสีสันขึ้นอีกเยอะครับ. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 273