ไกรฤกษ์

นักเขียน : นพ.ไกรฤกษ์ สินธวานุรักษ์ :

ในบรรดาเครื่องเสียงระดับ High end ของโลกในฝั่งเอเชีย หนึ่งในหัวแถวจะต้องมี Accuphase ยืนอยู่แน่นอน โดย Accuphase เป็นแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์มายาวนานตั้งแต่ปี 1972 เมื่อครั้งแยกตัวออกมาจาก Kenwood และเปลี่ยนชื่อจาก Kensonic มาเป็น Accuphase เมื่อปี 1982 โดยมี concept ของบริษัทคือ enrich life through technology เครื่องเสียงของ Accuphase นั้นเป็นที่ขึ้นชื่อในนักเล่นเครื่องเสียงบ้านเราว่าเป็นเครื่องที่สวยงาม ประณีตอย่างที่สุด มีหน้าตาที่คลาสสิกเป็นเอกลักษณ์ มีความทนทาน แต่ละรุ่นจะไม่มีการออกใหม่ติดกันซ้ำๆ แต่ละรุ่นจะอยู่ในตลาดไม่ต่ำกว่าสี่ปี (บางรุ่นยาวนานถึงสิบปี) จริงๆ ตลาดส่วนใหญ่ของ Accuphase จะอยู่ในประเทศญี่ปุ่น 70% ที่เหลือเป็นการส่งออกไปยัง distributor ที่อยู่หรือผูกพันกับ Accuphase มายาวนาน เช่นประเทศไทยนั้น ทาง Hi-End Audio ก็เป็นผู้แทนจำหน่าย Accuphase มายาวนานหลายสิบปี และครั้งนี้ผมได้รับความกรุณาจากทางบริษัทไฮเอ็นด์ ออดิโอ และพี่หมออุดรของผม ที่เป็นลูกค้า Accuphase อย่างเหนียวแน่น กรุณาให้ยืม Phono stage รุ่นสูงสุดคือรุ่น C-47 ให้มาทดสอบครับ

Physical & function

ตัวเครื่อง C-47 ที่ผมได้รับการทดสอบนั้นมีขนาดกว้างยาวสูงตามมาตรฐานของเครื่องเสียงทั่วไป สามารถเข้าชั้นวางเครื่องได้อย่างพอดี ตัวเครื่องมีน้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม ซึ่งมากพอๆ กับ integrated amp เลยทีเดียว วัสดุที่ใช้เกรดดีมาก ตัวถังเรียบลื่นเงางาม แผงข้างไม้จริงลงน้ำยาขัดเงาสวยจับใจ การสั่งงานเครื่องทุกอย่างทำได้จากปุ่มต่างๆ ด้านหน้า ไม่มี remote control

แผงควบคุมด้านหน้า จากซ้ายมือเป็น power ถัดมาจะเป็น

1.Input เพื่อเลือกว่า input ที่จะเล่นช่องนั้นเป็น MM หรือ MC

2.Gain คือในแต่ละ MM และ MC จะเลือก gain ได้ว่าเป็น Normal gain หรือ High gain (ถ้าเลือก High gain) ไฟจะติด กล่าวโดยสรุปคือ เลือกเกนขยายได้ MM สองค่า และ MC 2 ค่า โดย MM จะเลือกได้ระหว่าง 34 และ 40dB ส่วน MC จะเลือกได้ระหว่าง 64 และ 70dB

3.Subsonic filter เพื่อช่วยลดเรื่องของ rumble เสียงความถี่ต่ำที่ไม่ต้องการ โดยจะตัดที่ 10Hz ลงไป -12dB ตลอดการทดสอบผมไม่ได้ใช้ Subsonic filter นี้

4.Load impedance ตัวนี้จะแปลกนิดนึง ที่ MM ก็สามารถเลือกค่า Impedance ได้เพิ่มจาก 47Kohm ได้อีกสองค่าคือ 100Kohm และ 1000ohm เข้าใจว่าเพื่อรองรับหัวเข็ม MM ยุคเก่าๆ บางรุ่นที่ใช้ load มากกว่า 47Kohm ได้ สำหรับ MC สามารถเลือก Load impedance ได้ตั้งแต่ 10, 30, 100, 200, 300, 1000ohm น่าจะครอบคลุมหัวเข็ม mc ได้ทั้งหมด

5. Input selector ซึ่งเป็นปุ่มใหญ่ขวาสุด ตัวเครื่องรองรับได้ 4 Input โดย Input แรกจะเป็น Balance XLR Input ที่จะต้องเป็น MC เท่านั้น ส่วนอีกสามช่องเป็น Unbalanced RCA Input เราสามารถจะ config ได้อย่างเป็นอิสระในแต่ละช่องให้เป็น MM หรือ MC ก็ได้ โดยตัวเครื่องจะจำ setting สุดท้ายที่ใช้งานไว้

6. ส่วนทางด้านหลัง จะเป็น Input ต่างๆ มี ground แยกให้ครบทุก Input ช่องแรก XLR Input จะทำสำหรับหัว MC เท่านั้น ถัดไปที่เป็น Unbalanced Input เราสามารถเลือกได้อิสระว่าจะเป็น MM หรือ MC และจะจำค่า setting สุดท้าย ฝั่ง Output มีให้ครบ ทั้ง RCA และ XLR และขั้ว XLR เลือกได้ว่าจะให้ pin 2 เป็นบวกหรือลบ (เครื่องของ Accuphase สมัยก่อนมักจะทำกลับเฟสกันกับเครื่องยุโรปอเมริกา)

วงจรการทำงาน

C-47 มีวงจรการทำงานเป็นระบบ Fully balance ตั้งแต่ต้นจนจบ แยกเป็น Dual mono เลยตั้งแต่ภาคจ่ายไฟ (จะเห็น Power Transformer สองลูกใหญ่ทางซ้าย) ไปจนถึง Circuit Board ซ้อนกันสองชั้น เรียกว่าสุดๆ กันไปเลย

วงจรการทำงานเป็น Solid state แบบ Fet ออกแบบแปลกกว่าใครคือ ใช้ Head amp ขยายส่วนต้นทั้ง MM และ MC Input

โดยออกแบบเป็น 2 Gain stage โดยช่วงแรก ถ้าเป็น MM จะขยายขึ้นมาก่อน 20dB และ MC จะขยายส่วนต้นก่อน 50dB จากนั้นไปขยายส่วนที่สอง โดยถ้าเป็น Normal gain จะบวกเพิ่มอีก 14dB แต่ถ้าเป็น high gain จะบวกอีก 20dB ดังนั้นเลยทำให้ MM low gain เป็น 20+14 = 34dB และ MM high gain เป็น 20+20 = 40dB ส่วน MC ก็เช่นเดียวกัน เพียงแต่ขยายส่วนตั้งต้นใน stage แรกที่ 50dB ก็จะเป็น MC low gain 50+14 = 64dB และ MC high gain 50+20 = 70 dB

อุปกรณ์ต่างๆ ล้วนแต่คัดเกรดสูงสุดเพื่อให้ low noise มากที่สุด การเลือกใช้ circuit board หรือ capacitor จะคัดอย่างดี ผลที่ตามมาคือเป็น Phono stage ที่มี signal noise ratio สูงมาก คือ ภาค MM จะมี S/N ratio ที่ 102-108dB และ MC ที่ 91-97dB

ขออธิบายเล็กน้อยตรงนี้นะครับว่า ทำไม Accuphase ถึงไม่ทำ Balanced input สำหรับ MM เพราะเขามองว่า หัว MM ในท้องตลาด จะมีที่สัญญาณไม่ใช่เป็น True balance อยู่ คือมีการเอา ground ของโครงสร้างหัวเข็ม มา short ลงขั้วสัญญาณซีกลบของหัวเข็ม เช่น หัว MM ของ Shure บางรุ่น จะเอาลง pin สีเขียว (สัญญาณซีกลบของ channel ขวา)

ดังนั้นถ้ามันมี noise เขามาจากบอดี้หัวเข็ม ก็จะเข้าสัญญาณซีกลบนี้ ทำให้สัญญาณซีกบวกกับลบมี Amplitude ไม่เท่ากัน และอาจจะสร้าง hum ได้ เขาเลยเลือกไม่ทำ MM XLR Input (สำหรับเรื่อง ground ของอาร์มและสาย Phono กรุณาอ่านในล้อมกรอบนะครับ)

Associated equipments

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบกับ C-47 มีดังนี้

  1. EMT930 ติดตั้งอาร์ม 929 และ Jelco 750L
  2. Dr.Feickert analogue Firebird ติดอาร์ม Denon 308
  3. MM Cartridge ใช้หัว Shure V15 type 4
  4. MC Cartridge สำหรับภาค MC low gain ใช้ EMT TSD 15, Benz Micro WOOD SL, Denon DL103
  5. MC Cartridge สำหรับภาค MC high gain (คือเล่นกับหัวที่ low output มากๆ) ใช้ Denon 302, Audio technical ART1000

แผ่นเสียงที่ใช้ทดสอบ

  1. ภาค MM ใช้แผ่น Shostakovitch piano concerto#2 แผ่นค่าย Impex (IMP6004)
  2. ภาค MC low gain ใช้แผ่นต่อไปนี้ทดสอบ

La Fete De Lane (Harmonia mundi HM1036)

Temptation: Chantal Chamberland (Evosound EVLP027)

Taiwan HiFi show 2014 LP

Paris Texas soundtrack (Warner Bros 9 25270-1E)

  • ภาค MC high gain (ใช้กับหัวเข็ม low output มากๆ) เลือกแผ่นต่อไปนี้มาทดสอบ 

Mixer’s Lab sound series vol.2 (Stereo sound japan SSAR 014-015)

Woong San the best (Universal music group: DU42177)

Captain & Tennille – make your move (Casablanca NBLP7188)

Inger Marie Gundersen – By myself (Stunt records STULP 06111)

แต่ละแผ่นจะเลือกเพลงมาทดสอบ และทั้งหมดได้เล่นผ่าน Phono  C-47 ตัวนี้ ทำการแปลงเป็น Digital files เพื่อสามารถฟังเสียงได้ มีเพลงทั้งหมดสิบเพลง ผมแยกเก็บไว้เป็น folder ย่อยใน Google Drive ตามลิงค์นี้นะครับ bit.ly/3kXnmFg หรือใช้สแกน QR code ตามนี้ได้เลย

The sound

ตัวเครื่อง C-47 ตัวนี้ถึงแม้ว่าเป็นตัวเดโม แต่ว่าเนื่องจากเพิ่งเปิดตัวและนำเข้ามาในไทย เลยยังไม่ค่อยได้มีใครได้ฟัง ดังนั้นจึงถือว่ายังเป็นเครื่องใหม่ ต้องรอระยะเวลาให้พ้นเบิร์นเสียก่อน ซึ่งเสียงของ C-47 ก่อนกับหลังพ้นเบิร์นนั้นแตกต่างกันอย่างมาก เสียงก่อนพ้นเบิร์นนั้นจะออกสว่างไปสักเล็กน้อย เมื่อพ้นเบิร์นแล้วเสียงจะมีความกลมกล่อม อิ่มหนาเหมือนเครื่องหลอดชั้นดีเลยทีเดียว

ประการที่สอง ที่จะเรียนให้ทราบคือ ถึงแม้ว่าเป็นเครื่อง Solid state แต่ว่าการจะได้ฟังเสียงที่ดีเต็มที่นั้นควรจะประเมินหลังจากเปิดเครื่องไว้ต่อเนื่อง 1 ชั่วโมงขึ้นไป จะได้ฟังตัวตนที่แท้จริงของ  C-47 (ตัวเครื่องเมื่อเปิดไว้นานๆ ไม่ได้ร้อนมากมายอะไร อุ่นมือเล็กน้อยเมื่อแตะฝาบน)

ถ้าจะถามว่า C-47 เสียงดีไหม คำตอบคือว่า เครื่องเสียงระดับ Hi-End อย่าง Accuphase นี้เสียงดีแน่นอน แต่จะดีมากน้อยแค่ไหน หรือแนวเสียงเป็นอย่างไร ผมจะมาเล่าให้ฟังพร้อมกับแผ่นเสียงทดสอบในแต่ละ section ของโฟโนตัวนี้ครับ

MM section

ผมเริ่ม shot แรกด้วยการทดสอบภาคหัวเข็ม MM ก่อน สำหรับภาค MM low gain นั้นมีอัตราขยาย 34dB ผมเข้าใจว่าทำเพื่อครอบคลุมหัวเข็มที่มี output ระดับ 5- 10 mV ซึ่งในกรุผมไม่มีหัวเข็มที่แรงขนาดนี้ ตัวแทนของ MM ที่ผมใช้ประจำคือ Shure V15 type 4 มีค่า 4 mV output ก็จะแมตช์พอดีกับ MM high gain ที่ 40dB สังเกตปุ่ม volume ที่ปรีแอมป์ จะเร่งมากกว่าเวลาเล่น CD ขึ้นมาสักเล็กน้อย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี ทำให้เรามี headroom ในการปรับระดับความดังได้เหมาะสมไปตามแผ่นเสียงต่างๆ ที่บันทึกมาอาจจะดังเบาไม่เท่ากัน

ผมชอบเพลง Piano Concerto#2 ของ Shostakovitch นี้มาก ที่มาที่ไปเขาแต่งให้กับลูกชายเล่นในการสอบการแสดงสดตอนเรียนจบจาก Music Conservatory ลองพยายามหาแผ่นเสียงทีเป็น Audiophile Label ก็เลยเจอแผ่นนี้ สังกัด Impex เอางานเก่าปี 1959 ของ Columbia มา remaster เสียงที่ได้จากการเล่นกับหัวเข็ม Shure V15 ผ่านแท่น Dr.Feickert firebird และ C-47 มีความสดใสมีชีวิตชีวาราวกับเพิ่งบันทึกมาไม่นาน เสียงที่เล่นผ่าน  C-47 มีความกระชับ กระฉับกระเฉง เต็มไปด้วยพลังของ Bernstein ในวัยกำลังหนุ่มแน่น สปีดของเสียงที่รวดเร็วมีไดนามิกที่ดีเป็นจุดเด่นของ C-47 เลยทีเดียว เรียกว่าปิดจุดข้อด้อยที่การเล่นแผ่นเสียงถูกกล่าวขวัญถึง ไม่ว่าเรื่องเสียงอืด ช้า เบสบวม เสียงอั้นไดนามิกได้หมด แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่า C-47 ให้เสียงแบบดิจิทัลนะครับ เสน่ห์ของอะนาล็อกยังอยู่ครบ เช่นเสียงกลางที่อิ่มมีน้ำหนัก ยังรายงานให้เราได้ฟังกันครบถ้วน เรียกว่าจุดเด่นของอะนาล็อกยังอยู่ และปิดจุดด้อยของอะนาล็อกที่เคยว่ากันมาได้หมด

MC low gain

ภาคขยาย MC low gain ที่ 64dB นั้นเป็นจุดที่เหมาะสมกับหัวเข็ม MC low ปานกลาง ในช่วงประมาณ 0.4-0.6mV จะเป็นย่านที่ทางสเปกหัวเข็มเข้ากับสเปกโฟโนมากที่สุด ในการทดสอบครั้งนี้ผมเลือกหัวเข็มกับภาคขยายย่านนี้ได้แก่ Benz Micro WOOD SL (0.4 mV), EMT TSD15 (0.8-1 mV) และลอง Denon DL103 (0.3 mV) สิ่งที่ผมกังวลเมื่อเห็นสเปกก่อนที่จะทำการทดสอบภาค MC คือสังเกตไหมครับว่า เกนขยายย่าน 50-60dB นั้นไม่มีให้เราเลือก ดังนั้นหัวเข็ม MC อย่าง EMT TSD15 ที่ถ้าเลือกได้ ใช้เกนขยายสัก 53-55dB จะเป็นช่วงที่กำลังดี ฟังสบาย มี headroom ให้เราเร่งหรือลด volume ได้ตามใจ ทีนี้พอ MC low gain มันเริ่มที่ 64dB เมื่อเล่นกับ TSD15 แล้วเสียงมันจะ “ล้น” เกินไปหรือไม่ และถ้าเล่นกับหัวเข็ม Denon 103 ที่ 0.3 mV แล้วเกนขยายจะพอหรือไม่ คิดไปก็ปวดหัว ต้องลองเล่นแล้วฟังเลยดีกว่า

ผมเลือกเล่นหัว Benz Micro WOOD SL ก่อนเนื่องจากว่าน่าจะแมตช์ที่สุด 0.4 mV กับ 64dB gain เลือกแผ่นเสียงชุด La Fete de Lane แผ่นสังกัด Harmonia Mundi แทร็กที่ 2 หน้า B “Dialogues” แผ่นนี้ถึงแม้เพลงจะฟังยากเนื่องจากในเรื่องของ Image soundstage เป็นเพลงในยุคกลางของยุโรป (ว่าด้วยเทศกาลลา Donkey festival) แต่ว่าการบันทึกเสียงนั้นยอดเยี่ยมสุดติ่งมากๆ เป็นงานในปี 1979 บันทึกเสียงได้เป็นธรรมชาติมากๆ มีรูปวง เหมือนมีเวทีของการแสดงสดอยู่ตรงหน้า เริ่มต้นแทร็กก็เป็นเสียงเคาะประตูที่อยู่ลึกทะลุผนังห้องหลังเราเยื้องไปทางซ้าย สมจริงมากๆ เสียงไดอะล็อกตอบโต้กันของนักแสดงมีแอมเบียนต์เวทีชัดเจน (เสียงร้องของนักร้องชายทางขวาผุดขึ้นมาแบบน่าตกใจเลยทีเดียว) เสียงร้องประสานโต้ตอบกันสามคนตรงกลาง และซ้ายขวาสุดชัดเจนมากๆ ร่วมกับเครื่องดนตรีต่างๆ ที่อยู่ลึกถัดจากระนาบของนักร้องก็สามารถจับได้อย่างไม่ต้องเพ่ง C-47 รายงานทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกบันทึกไว้เมื่อปี 1979 ได้อย่างครบถ้วน เสมือนจริง เหมือนกับย้อนเวลาไปตอนที่เรากำลังฟังนักร้องนักแสดงกำลังเล่นสดๆอยู่ตรงหน้า แผ่นนี้แทร็กนี้กับ C-47 ทำให้ผมต้องฟังแล้วฟังอีกหลายรอบเหมือนคนหิวข้าวที่เจอกับข้าวที่อร่อยแล้วต้องสั่งซ้ำอีกๆ จนอิ่ม C-47 เหมือนกับพ่อครัวระดับมิชลินสามดาวที่กำลังทำอาหารสุดแสนอร่อยให้ผมทานนั่นเอง

ต่อมา ผมก็ลองหัว Denon 103 กับเกนขยาย 64dB และตั้ง Load Impedance ไว้ที่ 100ohm (ซึ่งเป็นค่าที่ผู้ผลิต recommend ให้ใช้) โดยมีสมมติฐานว่า เกนขยายขนาดนี้กับ 0.3 mV จะเพียงพอหรือไม่ เสียงจะฟังแล้ว “หิวโหย” หรือเปล่า เลือกแผ่นเสียงพิเศษที่ออกจำหน่ายเฉพาะในงานแสดงเครื่องเสียงที่ไต้หวัน ปี 2014 เลือกแทร็กที่ 2 หน้า B เพลง Barcarolle ของ Tchaikovsky เป็นการตั้งไมค์บันทึกสดพร้อมกันทั้งวงลง Digital format ด้วยเครื่อง Audio interface ระดับสูงสุดของยี่ห้อ RME จากเยอรมนี

ถ้าท่านฟังคลิปเสียงที่ผมริปไว้ให้ จะได้ perspective ของชิ้นดนตรีตามนี้เป๊ะเลยครับ ต้องขอยกย่องทีมงานบันทึกเสียง การตั้งไมโครโฟนต่างๆ ของค่ายนี้ มีความตั้งใจในการบันทึกเสียงอย่างยิ่ง มันให้เวทีเสียงทั้งความกว้างความลึกได้ดีมากๆ อีกทั้งการ arrange เพลงนี้ของนักดนตรีจากแนวคลาสสิกให้เป็นแจ๊สแบบ Bossanova ก็ฟังสนุกมากๆ C-47 ก็เช่นเคยครับ ถ่ายทอดได้หมดเปลือก เสียงสูดลมหายใจเข้า ของนัก clarinet เสียงเดินเบสและกระเดื่องกลอง การให้จังหวะดนตรีมีความสนุกสนาน กระชับกระฉับกระเฉง lively มาก เรียกว่าครบเครื่องแบบไม่มีที่ติ เรื่องอัตราขยายไม่มีอาการอ่อนแรงเหมือนว่า gain ไม่พอแต่อย่างใด (สังเกตจากตำแหน่ง volume ที่เร่งดังขึ้นกว่าเดิมเมื่อฟัง CD ที่ 9 นาฬิกา ขึ้นมาไม่เกิน 10 นาฬิกาก็ฟังได้ระดับเสียงที่ดังเท่ากับตอนฟัง CD)

ทีนี้ก็มาถึงอีกสเปกตรัมอีกข้างหนึ่ง คือการใช้หัวเข็มที่น่าจะมี output ที่ค่อนไปทางสูง เมื่อเทียบกับเกนขยายโฟโนที่ใช้ คือ EMT TSD15 ที่เกือบๆ 1mV ได้ทดลองค่า Load impedance ที่ 300 ohm ก่อน จากนั้นได้ลองปรับลดลงมาที่ 100 ohm ซึ่งได้เสียงที่กลมกล่อม Tonal balance ที่ดีกว่า ในเรื่องของความแรงสัญญาณนั้น เมื่อใช้หัว TSD15 กับ 64dB gain พบว่าตำแหน่งปุ่ม volume อยู่ที่ระดับเดียวกับการฟัง CD พอดี ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ เลือกแผ่นเสียงแผ่นนี้ในการทดสอบ Chantal Chamberland ชุด Temptation ผมริปให้ฟังสองเพลงรวดจากแผ่นนี้ เป็นแผ่นผลิตใหม่ของค่าย Evosound แคนาดาที่ผมชอบมาก เป็น Studio recording ที่บันทึกเสียงมาได้ดีมาก เพลง Temptation เสียงของ Chantal มีความเข้มข้น solid และโฟกัสตรงกลางเป๊ะระหว่างลำโพง เสียงอิ่มฉ่ำน่าฟังมาก ชิ้นดนตรีต่างๆ มีขอบเขต (boundary) ของตนไม่มั่วทับซ้อนกัน กับเพลงที่สองหน้า A เพลง A beautiful life เครื่องดนตรีน้อยชิ้นลง ยิ่งแสดงความเป็น Audiophile ของแผ่นนี้มากขึ้น เสียงเบสที่ทิ้งตัวเป็นฐานเสียง เสียงร้องที่มี ambient ล้อมรอบ C-47 ให้ความรู้สึกของทั้งวงที่เล่นอยู่ตรงหน้าอย่างน่าทึ่ง มันรายงานสิ่งที่ผู้ผลิตแผ่นเสียงที่ตั้งใจทำในการบันทึกออกมาอย่างหมดจด รวมถึงแผ่น Paris Texas ที่ผมฟังมารับร้อยรอบ แทร็ก Nothing out there เป็นเสียง slide guitar ของ Ry Cooder นั้น ให้ความรู้สึกของ rod ที่รูด บดขยี้บนสายกีตาร์เหล็กชัดเจนอย่างที่ไม่เคยฟังกับ phono ตัวอื่นมาก่อน เสียงที่มีความก้องของกีตาร์กับห้องอัด และเบสที่มีปริมาณและการกระจายตัวที่พอดีๆ ไม่บวมเบลอมากเกินไป

MC high gain phono section

            เป็นการทดสอบภาคโฟโนที่ high gain คือ 70dB gain ในการนี้ผมคัดเลือกและหยิบยืมหัวเข็มที่ low output มากๆ มาลองเล่นสองหัวคือ Audio technical ART 1000 เป็นรุ่นท็อปของยี่ห้อนี้ มี Output voltage ที่ 0.2mV และหัวเข็ม Denon 302 ที่ output 0.25mV ทั้งสองหัวใช้ค่า Load impedance ที่ 30 ohm หัว ART1000 นับเป็นหัวเข็มที่ Hi-End และคู่ควรกับการทดสอบ C-47 เป็นอย่างยิ่ง ผมเลยริปเพลงตัวอย่างไว้สามเพลงเพื่อให้ผู้อ่านได้ทดลองฟัง แผ่นของนักร้องเกาหลี Woong San ชุด The best Woong San เพลง The Days Of Wine And Roses ที่นำมา arrange ใหม่แนว bossa ถึงแม้ว่าหัวเข็มจะ low output มาก แต่ noise floor ของภาคโฟโนก็ต่ำมาก แทบไม่ได้ยินเสียงรบกวนเลย ระดับเสียงและแรงปะทะอัดฉีดของเสียงไม่ได้มีปัญหากับหัวระดับ 0.2mV แต่อย่างใด ระดับ Volume control ของปรีแอมป์ก็ยังไม่ถึง 10 นาฬิกา (ระดับฟัง CD = 9 นาฬิกา) เสียงร้องเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ ของแผ่นนี้ฟังได้อย่างผ่อนคลาย สบายๆ ไม่รู้สึกถึงอาการเกนขยายไม่พอแต่อย่างใด แผ่นอื่นที่เลือกมาลองกับ ART1000 ได้แก่แผ่นเสียงของสังกัด Stereo Sound Japan ชุดบิ๊กแบนด์ Mixer’s Lab เลือกเพลงโปรด Take Five ก็สามารถแสดงคุณภาพการบันทึกเสียงได้อย่างครบถ้วน จนถึงสุดท้ายของการทดสอบ ด้วยหัวเข็ม Denon 302 กับแผ่นเสียงเพลง pop เพราะๆ Captain & Tennille เพลงเอกที่ทุกคนรู้จัก Do that for me one more time จากแผ่นเสียงชุด Make it move ผลงาน mastering ของ Bernie Grundman เป็นแผ่นเพลง commercial ธรรมดาที่บันทึกเสียงได้ดีมาก และ C-47 ก็ถ่ายทอดสิ่งที่บันทึกและเล่นกลับด้วยหัวเข็มที่ low output มากๆ อย่าง Denon 302 สบายๆ เสียงเปิดๆ ผ่อนคลาย ฟังสบายมากๆ

บทสรุป

  • เป็น solid state phono ระดับ Hi-End อย่างแท้จริง วงจร Dual mono fully balance แท้ ชิ้นงานสวยงามมากสมศักดิ์ศรี Accuphase
  • ตัวเครื่องมีน้ำหนักมากกว่าที่ประมาณด้วยสายตา การยกวางต้องระมัดระวังจะหลุดมือ (เพราะตัวถังเรียบลื่นมาก) หรือปวดหลัง
  • รองรับหัวเข็มได้ทั้ง MM และ MC ได้ 4 Input แนะนำว่าควรหาหัวเข็ม MC low output ที่ดีๆ มาเล่นกับมัน ไม่ต้องกังวลเรื่องเกนขยายไม่พอ หรือจะมี Noise floor อัตราขยายเหลือเฟือ และ Background noise แทบไม่ได้ยินเลย
  • ถึงแม้ว่าจะไม่มีอัตราขยายในช่วง 50-60dB ให้เราเลือกใช้ แต่การเล่นหัวเข็ม MC ที่ output กลางๆ ระดับ 0.8-1mV ก็สามารถเล่นได้ไม่เป็นปัญหา
  • การ Load impedance ในหัว MC สามารถช่วยไฟน์จูน Tonal balance ได้ บางครั้งเราสามารถทดลอง Load impedance ลงให้ต่ำกว่า Recommended Load impedance ของผู้ผลิตหัวเข็มแนะนำมาก็ได้ ขึ้นกับ Overall Tonal balance ของซิสเต็มด้วย แต่อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้เลือก Load impedance ที่ต่ำกว่า 5 เท่าของ Internal impedance ของหัวเข็ม เพราะจะเกิด High frequency roll off มากเกินไป
  • ถึงแม้จะไม่มี remote control มาให้ แต่การสั่งงานสามารถทำได้จากปุ่มด้านหน้าได้ทั้งหมด และจอแสดงผลก็เห็นค่าต่างๆ ได้อย่างชัดเจน สิ่งที่ขาดไปถ้าจะควรมีคือปุ่ม mute สำหรับเวลาเรายกหรือวางหัวเข็มจะได้ไม่มีเสียงรบกวนออกลำโพง (ลำโพงบางประเภทจะไวต่อความเสียหายได้เช่นพวก Ribbon tweeter) แต่เราก็สามารถ mute หรือลด volume ที่ปรีแอมป์แทนได้  การเปลี่ยน input ต่างๆ หรือการเปลี่ยน Gain Impedance ของ C-47 นั้นตัวเครื่องจะมีเหมือนกับ Auto mute ให้สัก 1-2 วินาที ไม่เกิดเสียงรบกวนดังออกลำโพงแต่อย่างใด ผู้ใช้งานสบายใจได้ครับ
  • เพลงที่ผมใช้ทดสอบทั้งหมดได้เอาขึ้น Google Drive ไว้แล้ว ผมพบว่าคุณภาพเสียงมีความแตกต่างกันเมื่อเล่นไฟล์เหล่านี้บนเครื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Streaming จาก Google Drive, การฟังบนมือถือหรือบน PC ด้วยหูฟังตัวเดียวกัน, การฟังบน PC, Notebook หรือบน Macbook, การฟังด้วย software ที่แตกต่างกัน ล้วนแต่ส่งผลต่อคุณภาพเสียงที่ฟังออกมาแตกต่างกัน ดีที่สุดคงให้ Download files ลงมาแล้วเล่นกับ DAC ตัวที่ท่านใช้งานประจำน่าจะดีที่สุด หรือไม่ก็เบิร์นลง CD แผ่นเปล่า แล้วฟังกับ CD Player ตัวที่ใช้งานประจำ จะให้ลักษณะเสียงตรงกับต้นทางที่ออกจาก Phono stage ตัวนี้
  • การทดสอบนี้มีข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือ ไม่ได้ทดสอบช่อง Balance input เนื่องจากผมไม่มีสาย Phono tonearm ที่เป็น Din to XLR ใช้ในการทดสอบ สำหรับเรื่อง Grounding ของสายอาร์ม กับขั้วต่อแบบ XLR นั้นได้มีเขียนในบทความล้อมกรอบแล้ว. ADP

Grounding issue ใน Turntable Tonearm System

โดยปกติ สายสัญญาณ Interconnect ระดับ line level ทั่วๆ ไป จะรองรับสัญญาณที่ 2 volt ซึ่งเป็นระดับสัญญาณที่มีความแรงที่สูงพอควร สามารถลากสายได้ยาวมากกว่า 1 เมตรได้สบายๆ ยิ่งถ้าเป็นแบบ XLR แล้วยิ่งสามารถลากสายได้ยาวขึ้น แต่พอเป็นสาย Phono คือสายที่เดินเชื่อมระหว่าง Tonearm ไปยัง Phono stage นั้น ระดับสัญญาณที่ออกจากหัวเข็มมีเพียงแค่ระดับ Millivolt เท่านั้น ความยากคือสายนั้นๆ ไม่ควรจะมีความยาวมากเกินไป (มีผลต่อค่า Resistance และ Capacitance ของสาย ซึ่งจะมีผลต่อ Frequency Bandwidth) คุณสมบัติของตัวนำ การ shield เพื่อลด RFI และ EMI และที่แตกต่างจากสายสัญญาณทั่วไป คือเรื่องของการ grounding จุดประสงค์คือเพื่อให้การถ่ายทอดความถี่จากหัวเข็มแผ่นเสียงช่วงที่หูมนุษย์รับฟังได้นั้นมีความ linear และเบี่ยงเบนไม่เกิน 0.5dB ตลอดย่านความถี่

สาย Tonearm ทั่วไปที่เราเจอนั้นจะมีสองแบบคือ ด้านต้นทางเป็นขั้วแบบ DIN และด้านปลายทางอาจจะเป็น RCA หรือ XLR ก็ได้ (พบน้อย) พร้อมกับมีสาย ground เป็น spade อีกหนึ่งเส้น สายจากท้ายหัวเข็ม จะมีสี่เส้นคือ แดง ขาว เป็นสัญญาณบวกของแชนแนลขวาและซ้าย และ เขียว น้ำเงิน เป็นสัญญาณซีกลบ แต่ DIN นั้นมี 5 pin โดยที่ pin ตรงกลางเป็น ground เคยสงสัยไหมครับว่า เอา ground ตรงนี้มาจากไหน ?

เท่าที่ผมพยายามรีวิว Grounding ของระบบ phono tonearm cable จะมีสองส่วนครับ

  1. จากตัว Body หัวเข็ม, Body Arm หรือจากตัวแท่นเครื่องเองก็อาจจะเอามาต่อกับตรงจุดนี้ตรงใต้ฐานอาร์ม เพื่อต่อกับขั้ว din (แต่เครื่อง Hi-End มักจะแยก ground ของตัวแท่นหรือมอเตอร์แยกไปอีกเส้นนึงต่างหาก ไม่มารวมกับอาร์ม เช่นของ Kuzma)

(สายสีดำจากอาร์มต่อกับ shield ของสายและไป pin กลางของ din) 

ภาพนี้จะมี gnd ของแท่นเครื่องมาแจมด้วยกับ gnd ของอาร์ม (อันนี้เชื่อมต่อแบบออกมาเป็น RCA เลยไม่ได้ผ่าน DIN cable)

2. Ground ต่อกับ shield ของสาย Phono cable สายสัญญาณที่นำมาใช้ทำ Phono DIN cable จะมีสี่เส้น เพื่อต่อเข้ากับสายจากอาร์ม เขามักจะพันสายเข้าด้วยกัน (twisted pair) เพื่อลดสัญญาณรบกวน แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะมีการรบกวนอยู่ดีเนื่องจากเป็น low level signal มากๆ (ระดับ mV) จึงจำเป็นต้องมี shield ของสาย และจะต้องเอา shield ของสายนี้ต่อลง ground เพื่อลดการรบกวน

  • ในกรณีที่เป็น DIN RCA cable ผู้ผลิตจะเชื่อมต่อ ground จาก Tonearm (ที่ต่อตำแหน่ง pin กลางของ DIN) เข้ากับ ground shield ของสาย แล้วอีกด้านก็จะแยกเป็นสายกราวด์ก้ามปูไปต่อกับขั้วกราวด์ของ Phono stage
  • ในกรณีที่เป็น DIN XLR cable ผู้ผลิตจะไม่ต่อแบบ 2.1 จะแยก ground จากอาร์ม (DIN pin กลาง) ไปเป็นสายกราวด์ก้ามปู ส่วน shield ของสาย phono จะเชื่อมเข้ากับ pin1 ของ XLR cable (pin1 = gnd, pin2 = สัญญาณบวก, pin3 = สัญญาณลบ)

เราอาจจะเห็น DIN-XLR cable บางยี่ห้อไม่มีสาย ground แยกออกมา (เช่น Jelco) ผมคาดว่าเขาคงฝากกราวด์อาร์มรวมไปกับ pin1 ของ XLR (ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่นัก) แต่ถ้าฝั่ง Phono stage เขามีการต่อ pin 1 ตัวเมียเข้ากับ ground chassis ของเครื่อง ก็คงไม่มีปัญหาอะไรกระมัง

Rega arm

ท่านที่เล่นเครื่อง Rega จะเห็นว่า เขาไม่มีสาย ground ของอาร์มมาให้ นั่นเป็นเพราะเขาฝาก ground  มากับสัญญาณซีกลบทางซ้ายไว้ครับ

นักเล่นบางท่านอาจจะปรับปรุงเพิ่มได้ ด้วยการรื้อจุดตรงนี้ ต่อสายกราวด์สีดำแยกออกจากสีน้ำเงินเหมือนสายอาร์มทั่วไป

ราคา  290,000 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย Hi-End Audio
โทร. 062-551-2410