วุฒิศักดิ์

นักเขียน : วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์

 เริ่มต้นปี 2019 ด้วยความรู้สึกว่าน่าจะเป็นปีที่ดีมากอีกปีหนึ่ง เพราะแค่เดือนแรกของปีก็ได้รับเครื่องเสียงที่มีความสามารถรอบด้านอย่างเจ้าอินทิเกรตแอมป์รุ่น STR จาก Anthem มาทดสอบแล้ว หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมผมถึงสนใจในตัวอินทิเกรตแอมป์ที่มาจากผู้ผลิตที่โด่งดังด้านปรีโปรเซสเซอร์และแอมป์สำหรับการดูหนัง เมื่อ Anthem ทำแอมป์สำหรับฟังเพลงออกมา ทำไมจึงมีความน่าสนใจ? คำตอบของคำถามนี้ต้องเท้าความไปถึงที่มาของ Athem ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเป็นแบรนด์ลูกของ Sonic Frontiers แบรนด์เครื่องเสียงหลอดที่โด่งดังมาก และไม่เพียงมีชื่อเสียงในด้านหลอดเท่านั้น แต่ในเรื่องดิจิทัลก็โด่งดังไม่แพ้กัน สินค้า

 สร้างชื่อสมัยนั้นจึงมี DAC จาก Sonic Frontiers รวมอยู่ด้วย แต่เมื่อมีการควบรวมกิจการโดย Paradigm จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับ Anthem ที่แต่ก่อนเป็นแค่แบรนด์ลูก คอยติดสอยห้อยตาม Sonic Frontiers ก็ถูกดันขึ้นมาเป็นหัวหอกหลักในการทำตลาด พร้อมกับเบนเข็มไปเอาดีด้านโฮมเธียเตอร์เป็นหลัก ซึ่งก็พอเข้าใจได้ เพราะบริษัทแม่อย่าง Paradigm คงเล็งเห็นแล้วว่า ตลาดโฮม-เธียเตอร์สมัยนั้นมีความคึกคักมากกว่า ทั้งยังเป็นผลดีต่อยอดขายลำโพงของตัวเองด้วย ซึ่ง Anthem ก็ไม่ได้พึ่งใบบุญเก่าในการทำเครื่องเสียงหลอดแต่อย่างใด แต่ใช้ความสามารถในการออกแบบที่สามารถให้เครื่องที่มีแนวเสียงหนักแน่นถูกใจคอหนังทั่วโลกได้เป็นอย่างดี นอกจากแนวเสียงที่เป็นจุดแข็งแล้วยังได้พัฒนาระบบ Anthem Room Correction (ARC) ที่เป็นของตัวเอง ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ในฝั่งโฮมเธียเตอร์เป็นอย่างมาก ซึ่งการกลับมาของอินทิเกรตแอมป์สายฟังเพลงอย่าง Anthem STR ก็มาตามการมาของลำโพงซีรีส์ใหม่ๆ ของ Paradigm ที่มีเป้าเป็นลำโพงระดับไฮเอ็นด์ เน้นการฟังเพลงมากขึ้นกว่าสมัยก่อนค่อนข้างมาก ดังนั้น Anthem STR น่าจะถูกวางตัวเป็นใบเบิกทางหวนคืนสู่วงการเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ ซึ่งทาง Anthem ก็จัดมาให้เต็มที่สมราคาค่าตัวดีทีเดียว

เริ่มจากความเข้าใจในกระแสโลกดิจิทัลที่คนส่วนใหญ่ฟังเพลงจากสื่อที่เป็นข้อมูลดิจิทัลเป็นหลัก ไม่ว่าจากแผ่นซีดี หรือเครื่องเล่นไฟล์ทั้งหลาย รวมถึงพวก Network Streamer ด้วย นอกจากนี้ยังมีนักเล่นบางส่วนที่ชอบสื่อที่จับต้องได้ก็จะเล่นแผ่นเสียงด้วย และจากความสามารถในการทำปรีโปรเซสเซอร์ของ Anthem ที่สั่งสมวิชามาอย่างยาวนาน ทำให้เห็นว่าแนวทางการเล่นสมัยใหม่ต้องการความยืดหยุ่นในการจัดวางมากขึ้น เนื่องจากที่พักอาศัยของคนสมัยนี้มีขนาดเล็กลง คนส่วนมากไม่ได้มีห้องฟังเพลงที่ปรับอะคูสติกส์เป็นอย่างดีเพื่อการฟังเพลงโดยเฉพาะกันแล้ว แนวทางการออกแบบของ Anthem STR จึงอิงมาทางการใช้ประโยชน์จากทางเดินสัญญาณที่เป็นดิจิทัลเป็นหลัก ซึ่งมีข้อดีตรงที่สามารถเพิ่มเติม Digital Signal Processor (DSP) เข้ามาจัดการปัญหาต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย และหวังผลได้กว่าการออกแบบทางเดินสัญญาณให้เป็นอะนาล็อกแบบอินทิเกรตแอมป์ทั่วไป โดยโหมดการทำงานปกติของ STR จะแปลงสัญญาณอะนาล็อกจากทุกอินพุตที่รับมาให้เป็นดิจิทัลที่ความละเอียด 32/192 ก่อน เพื่อให้สามารถใช้งาน DSP ต่างๆ ได้ ต้องบอกว่า Anthem ได้ใช้ความชำนาญจากการทำปรีโปรเซสเซอร์ในระบบโฮมเธียเตอร์ที่จำเป็นต้องจัดการกับลำโพงเป็นสิบตัวที่จัดวางกระจายกันอยู่รอบห้อง มีสภาพอะคูสติกสารพัดแบบแตกต่างกัน ทั้งยังต้องมีการตัดแยกความถี่เสียงต่ำไปออกลำโพงซับวูฟเฟอร์ หรือที่เราเรียกกันว่า Bass Management ก็เป็นเรื่องที่ Anthem มีความถนัดทั้งสิ้น

ดังนั้นในตัว Anthem STR จึงออกแบบมาให้สามารถฟังเพลงในแบบ 2.2 คือมีลำโพงหลัก 1 คู่ ทำงานร่วมกับซับวูฟเฟอร์ได้อีก 2 ตัว โดยในส่วนของแอมป์ที่ขับลำโพงหลักมีกำลังขับ 200 วัตต์ที่โหลด 8 โอห์ม และ 400 วัตต์ที่ 4 โอห์ม รองรับอินพุตดิจิทัลครบครันทั้ง AES/EBU, Optical และ Coaxial ที่ความละเอียด 24/192

ส่วนช่อง USB ก็สามารถรองรับสัญญาณ PCM ที่ความละเอียด 32/384 และยังสามารถรองรับข้อมูล DSD ที่ 5.6MHz ได้อีกด้วย นับว่าครอบคลุมการใช้งานอย่างเหลือเฟือแล้วครับ เพียงแต่ว่าในส่วนของช่อง Network มิได้ถูกออกแบบมาให้รองรับการเล่น Streaming แต่อย่างใด เป็นเพียงแค่ช่องทางสำหรับเชื่อมต่อเข้ามาตั้งค่าการทำงานเท่านั้น ในส่วนนี้ ผมว่าถ้าหากมีการอัพเกรดให้รองรับการเล่น Streaming Audio ได้ น่าจะตอบโจทย์ผู้ใช้ส่วนใหญ่ได้มากขึ้น แต่เท่าที่ได้ลองใช้งานปัจจุบันก็พบว่าสามารถใช้ช่อง USB เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้หลากหลาย มีอยู่ช่วงหนึ่งผมได้ลองเอากล่อง Android Box มาต่อกับ STR ทางช่อง USB ก็พบว่าสามารถทำงานร่วมกันได้ดี สามารถใช้บริการ Streaming อย่าง Spotify ได้ แถมยังเปิดหนังจาก Netflix ในแบบ 2.1 Ch ได้สบายๆ เลยทีเดียว ในส่วนของอินพุตแบบอะนาล็อกก็มีมาให้ครบทั้ง XLR, RCA นอกจากนี้ที่ถือว่าเป็นทีเด็ดของ Anthem STR ที่ผมคิดว่าไม่น่าจะได้พบในเครื่องระดับราคานี้

Anthem เข้ามาอยู่ในรายชื่อ ผู้ผลิตเครื่องเสียงสำหรับการฟังเพลงที่น่าจับตามองได้อย่างสวยงาม

ช่องโฟโน MM, MC ที่แยกกันมาอิสระ ท่านสามารถเล่น 2 อาร์มได้พร้อมๆ กัน และไม่เพียงแค่มีช่องโฟโนแยกกัน แต่ด้วยความที่การออกแบบได้มีการแปลงสัญญาณเป็นดิจิทัลก่อน ทำให้สามารถใช้ DSP เข้ามาเสริมการทำงานของ Phono EQ ซึ่งต้องอธิบายก่อนว่า ถ้าเป็นแผ่นสมัยใหม่ก็มีมาตรฐานการ EQ ในการบันทึกแบบ RIAA แต่แผ่นที่ผลิตก่อนช่วงปี 1960s ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานกลางออกมาใช้กันทั่วโลก ดังนั้น แผ่นยุคก่อนหน้านั้นจึงมีการ EQ ตามแบบของค่ายใครค่ายมัน ซึ่ง Anthem STR มีให้ทั้ง RIAA, AES, CCIR, NAB, Capitol LP, Columbia LP และ London LP ก็ลองคิดดูแล้วกันครับ ถ้าเราจะหาปรีโฟโนที่เป็นอะนาล็อกที่มี Phono EQ ครบครันขนาดนี้ และยังรองรับทั้ง MM, MC ด้วย ราคาค่าตัวผมว่าน่าจะสูงกว่าค่าตัวของ STR เสียอีกครับ

ส่วนนักเล่นบางท่านที่รู้สึกตะขิดตะขวงใจกับการที่ต้องแปลงสัญญาณอะนาล็อกเป็นดิจิทัล ก็ขอบอกว่า Anthem STR สามารถปรับตั้งให้ทำงานในรูปแบบบายพาสภาคดิจิทัลให้เป็นการทำงานแบบอะนาล็อกสมบูรณ์แบบได้ แต่ก็ต้องยอมแลกกับข้อจำกัดที่ไม่สามารถใช้งาน DSP ใดๆ ได้เลย ซึ่งในการทดสอบครั้งนี้ ผมได้ลองเปิดใช้งานในรูปแบบอะนาล็อกอยู่บ้าง แต่เนื่องจากในช่วงแรกลองต่อใช้งานกับลำโพงอ้างอิงที่ใช้อยู่ประจำพบว่าลำโพงมีขนาดใหญ่เกินแอมป์ไปมาก คือสามารถเปิดฟังในลักษณะแบ็กกราวด์มิวสิกได้ แต่ถ้าเพิ่มความดังขึ้นมาในระดับการฟังปกติจะพบว่า แอมป์ไม่สามารถควบคุมลำโพงได้ เสียงจะอับทึบ มั่วรวน ดังนั้น ในการทดสอบครั้งนี้จะจัดชุดที่ดูสมน้ำสมเนื้อกับกำลังขับของแอมป์ โดยเลือกใช้ลำโพง XAV Small One HQX และใช้งานร่วมกับซับวูฟเฟอร์ REL Stadium II ใช้งานร่วมกันในรูปแบบ 2.1 ซึ่งในรูปแบบการใช้งานนี้ก็เหมาะที่จะใช้งานในโหมดดิจิทัลเพื่อให้ใช้งาน DSP ได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งผมพบว่าเป็นการใช้งานที่ให้ผลออกมาน่าพอใจที่สุด

ทดลองใช้งาน

เมื่อเลือกใช้งานเป็นระบบ 2.1 ในช่วงแรกที่ยังไม่ได้ลองใช้งานระบบ ARC พบว่า การเซ็ตจุดตัดระหว่างซับวูฟเฟอร์และลำโพงหลักอยู่ที่ 65Hz ได้ผลเป็นที่น่าพอในระดับหนึ่ง ต่อมาได้ทดลองเปิดระบบ ARC พบว่า การใช้งานก็ไม่ได้ยุ่งยากนัก โดยมีทางเลือกให้ใช้งานแบบแรกคือการลงแอพ Anthem ARC ในอุปกรณ์ Smart phone ก็สามารถใช้งานระบบ ARC ในการทำAuto Calibration ได้ แต่มีข้อจำกัดตรงที่แอพใช้ไมค์ในตัวโทรศัพท์ในการวัดเสียง เท่าที่ลองก็พอใช้งานได้ในระดับหนึ่ง แต่ในเมื่อ Anthem STR เครื่องที่ส่งมาทดสอบมีไมค์วัดเสียงของระบบ ARC ติดมาด้วย จึงได้ลองโหลดโปรแกรม ARC สำหรับ PC มาลองใช้งาน ก็จะสามารถวัดค่าได้ละเอียดกว่าแบบแอพในมือถือ และด้วยความที่ไมค์วัดเสียงมีคุณภาพสูงกว่า ทำให้ผลที่ได้ออกมาดีกว่าอย่างชัดเจนมาก โดยเมื่อลองใช้งาน Anthem STR ARC ตามโปรแกรมมาตรฐานจะคำนวณจุดตัดความถี่ระหว่างลำโพงหลักและซับวูฟเฟอร์ มาตัดที่ 80Hz และจะ EQ เสียงในลำโพงแต่ละตัวตั้งแต่ย่ายต่ำสุดขึ้นมาถึง 5000Hz ซึ่งพบว่าหากปล่อยให้โปรแกรมทำการปรับเสียงขึ้นมาจนถึงย่าน 5000Hz จะมีผลต่อเสียงกลางที่เกิดอาการเสียงไม่อิสระ มีความรู้สึกว่าเสียงอั้น คลุมเครือ เมื่อใช้งาน ARC ที่วัดจาก PC จะสามารถปรับแต่งค่าการทำงานของระบบ ARC ได้ค่อนข้างมาก เมื่อลองปรับดู พบว่ามาลงตัวกับการเลือกจุดตัดความถี่ซับฯ ที่ 65Hz และให้ระบบ ARC ทำงานชดเชยความถี่ถึงแค่ 500Hz จะช่วยให้เสียงกลางมีความน่าฟังกำลังดี แต่เมื่อต้องการ

Anthem STR ให้ความมีชีวิตชีวาได้เป็นอย่างดี เสียงเปียโนมีความร่าเริง ไม่ได้สดคมจนเสียงบางกัดหู และไม่หนานุ่มบอดี้ใหญ่เกินจริง

ความเป็นที่สุด ก็พบว่าสุดท้ายการปิด ARC ก็ยังได้เสียงที่มีไดนามิกอิสระมากกว่าอยู่ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องของความละเอียดพิถีพิถันในการตั้งไมค์เพื่อวัดค่าในการ Calibration ระบบด้วย ซึ่งจากการได้ลองใช้งานในส่วนของระบบ ARC สรุปได้ว่าสามารถช่วยให้คุณภาพเสียงดีเป็นที่น่าพอใจได้ หากพื้นที่วางจำกัด แต่หากมั่นใจว่าไม่มีปัญหาเรื่องอะคูสติกส์ก็สามารถปิด ARC แล้วเซ็ตเองให้ได้ผลที่ดีกว่าได้

โดยความเห็นส่วนตัว ในเมื่อการใช้งาน Anthem STR มีเพียงลำโพงคู่เดียวกับซับฯ อีกตัว ก็มักจะเซ็ตไม่ยากนัก แต่ถ้ามีลำโพงหลายๆ ตัวแบบชุดดูหนัง ค่อยใช้ ARC ก็จะช่วยได้เยอะครับ กรณีพื้นที่การจัดวางจำกัดหรือสภาพอะคูสติกส์ไม่อำนวย การใช้งานระบบ ARC จาก Anthem ก็นับว่าเป็นระบบ Room Correction ที่มีความยืดหยุ่นในการปรับตั้ง และหวังผลได้ดีระบบหนึ่ง ไม่เสียชื่อมือเก๋าในแวดวงโฮมเธียเตอร์แน่ๆ

ในส่วนของการทดลองฟัง เริ่มต้นด้วยแผ่น Pat Coil Gold ก็พบว่า Anthem STR ให้ความมีชีวิตชีวาได้เป็นอย่างดี เสียงเปียโนมีความร่าเริง ไม่ได้สดคมจนเสียงบางกัดหู และไม่หนานุ่มบอดี้ใหญ่เกินจริง สิ่งที่โดดเด่นเป็นที่น่าสนใจในแผ่นนี้คือ ไดนามิกของเครื่องเคาะชนิดต่างๆ ที่ทำให้ดนตรีมีชีวิตชีวา มีความสนุกสนาน เครื่องเป่าก็มีความสดน่าฟังกำลังดี ไม่มากจนเกินไป เสียงย่ำกระเดื่องมีพลังหนักแน่น กระชับ ได้ความคึกคักเป็นอย่างดี มาต่อด้วยอีกอัลบั้มสนุกไม่แพ้กันอย่าง The Standard จาก The Super Jazz Trio ที่จะพบว่ามีความหนักแน่นน่าฟังดี จะมีก็เพียงความรู้สึกถึง ช่องว่าง ช่องไฟ ระหว่างโน้ตเบสแต่ละโน้ตอาจมีย่อหย่อนไปบ้างจากที่คุ้นเคย แต่แน่นอนว่า มันเทียบกันไม่ได้ เพราะชุดนี้ราคาห่างจากชุดอ้างอิงอยู่เป็นสิบๆ เท่าตัว ดังนั้น ในส่วนของภาค DAC เรียกได้ว่า ไม่ได้เทพขนาดจะเอา STR มาใช้งานเป็นดิจิทัลฟรอนต์เอ็นด์ต่อเล่นกับเครื่องเสียงชุดอื่น แต่ก็บอกได้ว่า คุณภาพภาค DAC ในตัว Anthem STR มีความเหมาะสมกับการเล่นกลับข้อมูลดิจิทัลในทุกรูปแบบ แถมยังทำตัวเป็น DSP เพื่อตัดความถี่ของลำโพงหลักและซับฯ ให้ชุด 2.1 มีความลงตัวน่าฟังมาก

และไหนๆ ก่อนหน้านี้ก็พูดถึงเรื่องแผ่นเสียงแล้ว จึงได้มีการเปลี่ยนมาลองด้วยแผ่นเสียง ลุงโทน (Tony Bennett) กับ ป้าได๋ (Diana Krall) ชุด Love is here to stay ที่พบว่าภาคโฟโน MC ของ STR ทำงานได้ค่อนข้างดี มีความเงียบสงัดอย่างที่โฟโนโซลิดสเตจชั้นดีควรมี ถึงแม้ว่าเกนขยายและโหลดหัวเข็มจะเซ็ตเป็นค่าตายตัวที่โหลด 100 โอห์ม และเกนขยาย 55dB แล้วก็ปรับอะไรไม่ได้ (แผ่นใหม่ๆ แบบนี้เป็น RIAA อยู่แล้ว ก็ไม่ต้องปรับอะไรเพิ่ม) แต่ก็พบว่าสามารถทำงานลงตัวกับหัวเข็ม Linn Kandit ได้เป็นอย่างดี ส่วนช่อง MM ไม่ได้ลอง แต่ด้วยค่าโหลด 47kOhms, 270pF และเกนขยาย 35dB ก็น่าจะจับคู่กับหัว MM ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน และทำให้ผมนึกถึงแท่นที่มี 2 อาร์ม อาร์มหนึ่งใส่หัว MC อีกอาร์มใส่หัว MC Mono น่าจะลงตัวกับการใช้งานมากๆ เลยทีเดียว กลับมาที่เสียงร้องของ ลุงโทนที่มีโทนแหบเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เป็นแหบแบบนุ่มนวลชวนฝัน ไม่ได้เป็นแบบมีเสลดติดคอตลอดเวลาแบบลุงหลุยส์ (Louis Armstrong) ส่วนป้าได๋ที่เริ่มต้องเรียกป้า เพราะชุดหลังๆ โทนเสียงมีความอิ่มหนามากขึ้น บ่งบอกถึงอายุที่มากขึ้น ก็เรียกได้ว่า เสียงเริ่มแก่ตามทันลุงโทนแล้ว การมาร้องคู่กันจึงไม่รู้สึกว่าโทนเสียงต่างกันจนเกินงาม ถือว่าลงตัวกำลังดี และก็ไม่ใช่ว่าภาคโฟโนจะให้เสียงหนาๆ เพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อเจอแผ่นเสียง Utada Hikaru Hatsukoi ที่น่าจะทำมาสเตอร์มาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็พบว่าในอัลบั้มเดียวกันนี้ เมื่อเปิดไฟล์ที่ริปจากซีดีมาที่ STR กลับให้เสียงที่อิ่มกว่า เบสมีน้ำหนักกว่าอย่างชัดเจน เสียงร้องก็มีความอิ่มชัดเป็นสามมิติมากกว่า แสดงถึงความเป็นเครื่องเสียงที่ดีของ Anthem STR ที่มีความเที่ยงตรงพอที่จะแสดงข้อแตกต่างของคุณภาพการบันทึกในแต่ละฟอร์แมตได้เป็นอย่างดี

สรุป

Anthem STR เป็นอินทิเกรตแอมป์ประเภท All in One ที่มีการออกแบบให้ใช้งานในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างน่าสนใจ ถ้าสามารถ Streaming ผ่านช่อง LAN ได้ คงไม่ขออะไรมากไปกว่านี้แล้ว เพราะด้วยการใช้งานทั้งความสามารถด้าน DSP และแม้กระทั่งภาคโฟโนยังมีคุณภาพดี อีกทั้งภาคขยายที่มีกำลังขับเหลือเฟือสำหรับขับลำโพงสองทางวางขาตั้งทั่วไปได้เสียงออกมามีน้ำหนัก เป็นธรรมชาติแล้ว ยังสามารถจัดการกับเสียงเบสและการทำงานของซับวูฟเฟอร์ได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากสำหรับใครที่กำลังมองหาชุด 2.1 หรือ 2.2 สำหรับใช้งานได้มีคุณภาพดีทั้งดูหนังและฟังเพลงก็สามารถให้ความเพลิดเพลินได้เป็นอย่างดี จนผมอยากรอวันที่จะได้ทดสอบเครื่องเสียงที่เป็นตัวแทนในฝั่งเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ที่เน้นการฟังเพลงเป็นหลักจาก Anthem จริงๆ เพราะต้องบอกว่า Anthem STR สามารถเปิดทางให้ชื่อของ Anthem เข้ามาอยู่ในรายชื่อผู้ผลิตเครื่องเสียงสำหรับการฟังเพลงที่น่าจับตามองได้อย่างสวยงามเป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 263