ปฤษณ

นักเขียน : ปฤษณ กัญจา

ก่อนจะถลำลึกอ่านไปมากกว่านี้ ผมขอชี้แจงก่อนนะครับ ว่าบทความนี้ไม่ได้เป็นบทความทดสอบลำโพง Harbeth Super HL5 Plus แต่จะเป็นบทความที่ว่าด้วยประสบการณ์ของผมที่มีโอกาสได้ฟังลำโพงรุ่นนี้กับอุปกรณ์ร่วมที่มั่นใจสามารถทำงานร่วมกันได้ดีในการถ่ายทอดคุณภาพเสียงอย่างที่ควรจะเป็นของลำโพงระดับราคานี้ อันที่จริงบทความที่ผมได้เขียนถึงเครื่องเสียงต่างๆ ก็เป็นไปในรูปแบบนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่อาจจะไม่ได้ลงในรายละเอียดเท่านั้น ทว่าตั้งแต่ครั้งนี้เป็นต้นไป ผมจะเล่าให้ฟังค่อนข้างละเอียดว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ในระหว่างทางที่ผมนำสินค้ารุ่นนั้นๆ มาฟังครับ

สำหรับลำโพง Harbeth นั้น นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ฟังอย่างเป็นเรื่องเป็นราว คือนำมาฟังที่ห้องฟังของนิตยสารออดิโอไฟล์ ที่ผ่านๆ มาผมก็ไปฟังตามร้านบ้าง ตามบ้านคนเล่นบ้าง ซึ่งซิสเต็มก็ต่างกรรมต่างวาระครับ

กลับมาย้อนถึงเรื่องราวของลำโพง Harbeth ในบ้านเรากันก่อน หลายปีที่แล้ว คุณเชิดเกียรติ ไชยงาม หรือ คุณโจ้ ซาวด์บ็อกซ์ คนนี้แหละครับ ได้ก่อตั้ง Hartbeth Club Thailand ขึ้นมาตอนนั้นถือว่าประสบความสำเร็จดีทีเดียว เพราะใครๆ ก็พูดถึงลำโพง Harbeth เรียกว่าเป็นการทำให้ลำโพง Harbeth มีความมั่นคงทางการตลาดในหมู่นักเล่นเครื่องเสียง จัดเป็นลำโพงยอดนิยมไม่แพ้แบรนด์ดังอื่นๆ เลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนย่อมเกิดขึ้นเสมอในแวดวงการค้าขายเครื่องเสียง เพราะวันหนึ่ง Sound Box ก็ไม่ได้เป็นดีลเลอร์ขายลำโพง Harbeth อีกต่อไป ดังนั้น บทบาทของ Harbeth Club Thailand จึงยุติลงโดยปริยายไปพร้อมๆ กระแสความนิยมของลำโพง Harbeth ที่ค่อยๆ จางไป

แต่ก็อีกแหละครับ เมื่อวันหนึ่งฟ้าเปิด ลำโพง Harbeth มีผู้นำเข้ารายใหม่คือ บริษัท Bulldog Audio จำกัด ทาง Sound Box ก็ได้กลับมาเป็นดีลเลอร์ขายลำโพง Harbeth อีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าตามประสาคนที่มีประสบการณ์ในการทำตลาดลำโพง Harbeth มาก่อน คราวนี้ คุณโจ้ ซาวด์บ็อกซ์ ก็มีการวางแผนที่ดีเพื่อจะให้ลำโพง Harbeth กลับมาอยู่ในความสนใจของคนเล่นเครื่องเสียงอีกครั้ง

หลังวันงานเปิดตัวลำโพง Harbeth อย่างเป็นทางการ คุณโจ้บอกผมว่าจะส่งลำโพง Harbeth มาให้ฟัง ผมตอบกลับไปว่าถ้าอย่างนั้นหาแอมป์กับเครื่องเล่นซีดีในระดับที่สมน้ำสมเนื้อกับลำโพงมาให้ด้วย เพราะตอนนี้ซิสเต็มที่ผมใช้งานเป็นชุดเล็กๆ เดี๋ยวคุณภาพจะขี่กันเกินไป ส่วนเส้นสายนั้น ผมจะจัดหาเอง เพราะช่วงหลังนี้ ผมติดใจคุณภาพของสาย Zensonice สายฝีมือคนไทยทำเป็นพิเศษ และยืมมาใช้กับซิสเต็มส่วนตัวของผมอยู่แล้ว จึงพอจะคุ้นเคยในคุณภาพการทำงานของ Zensonice พอสมควร อีกอย่างจะได้สินค้าชาติเป็นกลางเข้ามาผสมในซิสเต็มบ้าง ไม่ได้เป็นของ Sound Box ล้วนๆ

จากนั้นอีกไม่นาน ลำโพง Harbeth พร้อมเครื่องอื่นๆ ก็เดินทางมาถึงมือผม พอเห็นกล่องปุ๊บ นี่มันรุ่น Super HL5 Plus เชียวครับ พอแกะกล่องออกมาเท่านั้นแหละ แหม! มันเป็นลำโพงรูปทรงอย่างที่ผมชอบ คือเป็นลำโพงวางขาตั้งตัวใหญ่เหมือน JBL: Century Gold หรือ Yamaha: NS-1000 ราวๆ นั้นครับ แต่ว่าวูฟเฟอร์ไม่ใหญ่ถึง 12 นิ้ว วูฟเฟอร์ที่ใช้มีขนาด 8 นิ้ว เท่ากับวูฟเฟอร์ของลำโพง Yamaha: NS-100M ของผม แต่ตัวตู้ใหญ่กว่าหลายเท่าทาง Harbeth เรียกไดรเวอร์ตัวนี้เป็น bass/midrange และมีชื่อรุ่นของไดรเวอร์เป็นทางการว่าHarbeth RADIAL2™ เป็นไดรเวอร์ที่ Harbeth ผลิตขึ้นมาเอง และต้นตระกูลของไดรเวอร์ตัวนี้ก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับ Harbeth มาอย่างยาวนาน พูดได้ว่าเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของ Harbeth ส่วนหนึ่งก็มาจากไดรเวอร์ตัวนี้ครับ

กลับมาดูที่ตัวตู้กันต่อ ผิวตู้ลำโพงคู่นี้เป็น Rosewood veneer สีออกเข้มๆ สวยมาก งานผลิตตู้ประณีต ดูสมราคาลำโพงสองแสนบาทครับ

ในส่วนของทวีตเตอร์เป็นแบบโดมโลหะขนาด 25 มม. และมีซูเปอร์ทวีตเตอร์ขนาด 20 มม. อีกหนึ่งตัว การเปลี่ยนแปลงที่เห็นคือ ซูเปอร์ทวีตเตอร์มีการ์ดป้องกันตัวโดมมาให้ด้วย ซึ่งรุ่นเก่าไม่มี อีกจุดที่เห็นด้วยตาคือ ในท่อระบายอากาศจะมีฟองน้ำเอาไว้จูนอากาศที่ไหลผ่านออกมาด้วย

ข้อมูลทางเทคนิคหลักๆ ของ Harbeth Super HL5 Plus ก็คือ… เป็นลำโพง 3 ทาง ตู้เปิด (ท่ออยู่ด้านหน้า) ตอบสนองความถี่ต่ำลงไปได้ 40Hz ส่วนย่านความถี่สูงถึง 20kHz (±3dB free-space, grille on, smooth off-axis response) ดูจากสเปก การที่มีซูเปอร์ทวีตเตอร์ไม่ได้หมายถึงว่าย่านความถี่สูงจะตอบสนองไปได้สูงกว่า20kHz แต่มาเพื่อช่วยเสริมการทำงานของทวีตเตอร์ให้ทำงานสบายขึ้นมากกว่าลำโพงรุ่นนี้มีอิมพีแดนซ์ 6 โอห์ม ผู้ผลิตบอกว่าขับง่าย และมีความไว 86dB

ทางด้านผนังตัวตู้ของ Harbeth Super HL5 Plus เป็นไปในลักษณะให้มีการให้ตัวได้ คล้ายๆ กล่องเสียงของเครื่องดนตรี โดยจูนให้ได้การสั่นที่เหมาะสม ไม่ได้เป็นการสั่นค้างหรือการสั่นสะเทือนที่จะไปลดทอนด้านคุณภาพเสียง ไม่รู้ว่าเป็นเพราะจุดนี้ด้วยหรือเปล่านะครับ ที่ฟังเสียงลำโพงคู่นี้แล้ว จะมีความกลมกล่อมติดมาด้วยตลอด เหมือนฟังเสียงกีตาร์หรือเปียโน (แม้วัสดุที่ใช้ทำตัวตู้ของ Harbeth เป็น MDF ก็ตาม)

สำหรับเครื่องที่ทาง Sound Box ส่งมาให้ใช้งานด้วยก็มีอินทิเกรตแอมป์ Sugden: Masterclass IA-4 และเครื่องเล่นซีดี Symphonic Line รุ่นท็อป ที่แยกภาคเพาเวอร์ซัพพลายอิสระ ซึ่งผมก็ชอบเสียงของทั้งสองยี่ห้อนี้ด้วยเช่นกัน

ลำโพง Harbeth มีประวัติความเป็นมายาวนานถึง 40 ปีแล้ว และตอนนี้ก็มีลำโพงรุ่นพิเศษที่ทำเนื่องในโอกาสนี้ออกมาหลายรุ่น รวมถึง Super HL5 ด้วย โดยมีคำว่า40th Anniversary Edition ต่อท้าย และมีการปรับปรุงคุณภาพในบางจุดที่ดีกว่ารุ่นปกติ

เรื่องราวของลำโพง Harbeth มีความน่าสนใจมาก ตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้ง นอกจากนั้นยังมีความเกี่ยวโยงกับ BBC อย่างแนบแน่น ท่านใดสนใจสามารถเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ของ Harbeth ได้เลยครับ เพราะมีบันทึกไว้อย่างละเอียด (www.harbeth.co.uk)

เซ็ตอัพ

ผมเป็นคนที่ขี้เกียจเซ็ตตำแหน่งลำโพงอย่างที่สุด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ครับ ถ้าต้องการคุณภาพเสียงที่ดีจากลำโพงคู่ใดๆ ก็ตาม ยังไงก็ต้องเซ็ตตำแหน่งลำโพง นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการให้ความสนใจกับเรื่องของไฟที่จะจ่ายให้กับซิสเต็มด้วย บางครั้งผมก็คิดๆ ว่าอะไรมันจะยุ่งยากนักหนาแต่ที่สุดก็ปฏิเสธไม่ได้ครับ ว่าถ้าได้อุปกรณ์ที่ทำงานเกี่ยวกับระบบไฟดีๆ มันช่วยให้เราได้ฟังคุณภาพเสียงของซิสเต็มได้ดีกว่าไม่ได้ใช้ครับ

มาว่ากันที่ตำแหน่งลำโพงกันก่อน ณ ตอนนี้ ผมวางซิสเต็มในแนวขวางของห้องฟังห้องเล็กของนิตยสารออดิโอไฟล์ที่มีความยาว 4.7 เมตร เรื่องของเรื่องที่วางลำโพงแนวนี้ก็มาจากความวิตกจริตของผม ซึ่งเดิมก็วางแนวลึกปกติ แต่วันดีคืนดีนั่งๆ ฟังอยู่ก็มองไปที่เครื่องปรับอากาศที่แขวนอยู่ติดผนังหลังด้านบน เห็นแล้วก็เกิดความไม่สบายใจ เพราะวันไหนเจอแจ็คพ็อต น้ำแอร์หยดโดนเครื่องล่ะก็เป็นเรื่องแน่ๆ เพราะเครื่องส่วนใหญ่ก็ยืมมาทั้งนั้น หรือถึงน้ำไม่หยอด เวลาจะทำความสะอาดแอร์ก็ต้องรื้อซิสเต็มทั้งหมด นับว่าเป็นเรื่องยุ่งยากมากสำหรับผม อย่ากระนั้นเลย ย้ายซิสเต็มมาอยู่แนวขวางของห้องฟังก็แล้ว ปลอดภัยแน่นอน น้ำแอร์หยดก็ไม่โดน หรือเวลาจะล้างแอร์ก็ไม่ต้องย้ายของให้เยอะแยะ คิดๆ ดูแล้ว มีข้อดีมากกว่าเหมาะกับคนขี้เกียจอย่างผม

ทีนี้พอย้ายซิสเต็มมาวางด้านขวางแล้ว จะเซ็ตลำโพงยังไง เสียงมันจะเป็นยังไง เพราะความกว้างของห้องแค่ 2.9 เมตร ตำแหน่งนั่งฟังก็แทบชนกับลำโพง จิตตกอีกรอบครับ 555 เห็นทีต้องหาพระเอกมาช่วยซะแล้ว ก็เลยยกหูปรึกษาพี่ Lam Na Nan เจ้าของสาย Zensonice นี่แหละครับ พี่แหลมบอกสบายมาก คุณอุ้ม เดี๋ยวผมไปช่วยจูนตำแหน่งลำโพงให้ เข้าทางอย่างที่คิดไว้ครับ 555 อันที่จริงก่อนหน้านี้ ผมก็รบกวนพี่แหลมให้มาช่วยปราบลำโพง Yamaha NS-100M หนึ่งรอบแล้ว จากการวางแนวขวางแบบนี้ พอพี่แหลมขยับลำโพงให้ ผมนี่เหมือนถูกหวยรางวัลใหญ่ เพราะลำโพงที่ซื้อมา8,500 บาท ให้ความคุ้มค่าในการฟังไม่ด้อยกว่าลำโพงราคาแพงคู่ใดๆ เลยครับ

ตอนที่จะยก Harbeth Super HL5 Plus มาฟัง ใจก็ยังหวั่นๆ ว่าคุณภาพเสียงของ Harbeth มันจะดีกว่าYamaha ที่เซ็ตอัพลงตัวแล้ว สักแค่ไหนเชียว

เอาเป็นว่าขอรวบรัดนะครับ ในที่สุดพี่แหลมก็มาจัดการตำแหน่งลำโพง Harbeth ได้ลงตัวกับห้องฟัง ความลงตัวที่ว่าคือได้โทนัลบาลานซ์ที่สมดุลของความถี่ทั้งสามย่าน ซึ่งพอโทนัลบาลานซ์ได้ คุณสมบัติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอิมเมจ ซาวด์สเตจ ก็จะตามมาเอง ท้ายที่สุดลำโพงวางห่างกัน 2.20 เมตร ห่างผนังหลัง 72 ซม. โชคดีที่พอร์ตอยู่ด้านหน้าตำแหน่งนั่งฟังห่างลำโพงวัดเป็นมุมสามเหลี่ยมประมาณ 2 เมตร เก้าอี้นั่งฟังชิดผนังหลัง ขยับไปไหนไม่ได้ ลำโพงโทอิน (ฟังเอาว่าควรโทอินแค่ไหน) ณ ตำแหน่งนี้ เสียงไม่โหว่แฮะ มีตื้น มีลึก มีกว้างโอบมาข้างๆ สรุปว่าคุณภาพเสียงสมกับลำโพงราคาสองแสน และถีบตัวออกห่างลำโพง Yamaha ของผมไปไกล แต่ผมก็ยังฟัง Yamaha ได้นะครับ เพราะข้อดีที่มี มันก็ย่อส่วนลงมาไม่ได้เลวร้ายอะไร

ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบไฟ ผมยืมปลั๊กพ่วงของ Zensonice มาใช้ทั้งหมด 2 ตัว สำหรับอินทิเกรตแอมป์หนึ่งตัว และสำหรับเครื่องเล่นซีดีหนึ่งตัว รวมทั้งสายไฟที่เข้าเครื่องทั้งหมด และสายสัญญาณจากเครื่องเล่นซีดีมาเข้าอินทิเกรตแอมป์อีกหนึ่งชุด งานนี้ก็ต้องให้เครดิตกับ Zensonice เพราะเสียงที่ได้ยินมาจากการเชื่อมต่อส่งสัญญาณด้วย Zensonice ทั้งหมดอนึ่ง ทาง Sound Box เป็นตัวแทนจำหน่ายสายยี่ห้อ Tellurium Q จากอังกฤษ ซึ่งก็เป็นสายที่ดีมาก ดังนั้น ใครที่สนใจล􀄞ำโพง Harbeth สามารถซื้อสายและอุปกรณ์อื่นๆ จาก Sound Box ได้ครบทั้งระบบ อีกอย่างก็สามารถลองฟังครบทั้งเซ็ตได้เลยครับ

คุณภาพเสียง

ผมมีความกังขากับเครื่องเสียงราคาสูงๆ มาตลอด ว่าให้เสียงได้แค่นี้เองหรืออย่างไร? หลังจากได้ฟังคุณภาพเสียง แล้วคิดว่าไม่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปแต่ก็ได้แค่กังขาครับ เพราะผมก็คงไม่สามารถสรุปได้ร้อยเปอร์เซนต์ ถ้าไม่ได้ยกมาฟังเอง หรือได้ฟังซิสเต็มที่ผ่านการเซ็ตอัพทุกอย่างลงตัวแล้วแม้แต่ซิสเต็มของผมเอง บางทีกว่าจะได้เสียงที่ลงตัวก็ปล้ำกันนานมาก หรือบางทีก็ถอดใจไปก่อนก็มี เพราะฉะนั้น การได้ฟังเสียงประเดี๋ยวประด๋าว แล้วรีบมาสรุป บางทีก็ไม่ใช่เป็นเรื่องถูกต้องนักครับ

กับ Harbeth Super HL5 Plus คู่นี้ ผมได้ฟังตั้งแต่แกะกล่องใหม่ๆ แล้วก็เปิดไปเรื่อยๆ ให้ตัวไดรเวอร์ได้ขยับตัวให้เข้าที่ ฟังกับอินทิเกรตแอมป์ Sugden IA-4 Class A กำลังขับ 33 วัตต์ โดยส่วนตัว อินทิเกรตแอมป์ของ Sugden ผมชอบรุ่นเล็กๆ ในตระกูล A21 เวอร์ชั่นก่อนจะมาปัจจุบัน เพราะประทับใจกับเสียงกลางที่ฉ่ำๆ พอมาเวอร์ชั่นนี้ ความฉ่ำลดลงมานิดๆ แลกกับไดนามิกส์ที่ดีขึ้น ฟังเพลงได้หลากหลายมากขึ้น ส่วนรุ่นใหญ่ๆ อย่างซีรี่ส์ Masterclass นั้น ผมยังไม่ได้ฟังเป็นเรื่องเป็นราว ก็มีครั้งนี้แหละครับ ที่ได้ฟังอย่างเต็มอิ่ม ก็เลยได้เห็นข้อดีของ Sugden รุ่นใหญ่ๆ ด้วยตัวเอง

เสียงของ Harbeth Super HL5 Plus เป็นเสียงที่ไพเราะตั้งแต่แกะกล่อง แม้รู้ว่ายังไม่เข้าที่ แต่ก็ฟังได้ทันที ถึงเสียงยังแข็ง แต่ก็แข็งแบบน่าฟัง ไม่ใช่กระด้างไปทั้งหมด ยิ่งเวลาผ่านไปเรื่อยๆ หลังจากกรวยได้ขยับมากขึ้น ความแข็งก็ลดลง มีความนุ่มนวลเข้ามาแทนที่ และเริ่มสัมผัสได้กับความประณีตของเสียงที่ Harbeth ถ่ายทอดออกมา

ล่วงนานวันเข้ารายละเอียดก็มีออกมาให้ได้ยินมากขึ้น เสียงแส้ที่ไล้หนังกลองในอัลบั้ม Kind of Blue ของ Miles Davis มีให้ได้ยินชัดเจนมากๆ จนพูดได้ว่าแทรกเข้ามาเป็นจุดให้สนใจไม่แพ้เสียงดนตรีเครื่องอื่นๆ ทีเดียวปกติเสียงแบบนี้มักเป็นพระรองให้ได้ยินแผ่วๆ แต่นี่มันชัดจนต้องหันความสนใจไปฟังอย่างเป็นเรื่องราวเลยครับ

เสียงกลางซึ่งสร้างชื่อให้กับ Harbeth มาเนิ่นนานก็ไม่ทำให้เสียชื่อ เสียงร้องของนักร้องหญิงสามารถแยกบุคลิกของแต่ละคนออกมาได้ดีมาก บางคนเสียงเข้มข้น บางคนเนื้อเสียงไม่ได้อิ่มมาก แต่มีรายละเอียดที่เจือความหวานหน่อยๆ เสียงเหล่านี้ก็ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างไพเราะ เหมือนคำกล่าวที่ว่าผู้หญิงสวยในแบบที่เป็นตัวเธอเอง กับเสียงก็เช่นกันผมก็เขียนได้ว่าเสียงสวยๆ ของเธอเหล่านั้นก็มีความไพเราะในแบบตัวเธอแต่ละคนเช่นกัน

เสียงความถี่ต่ำจากไดรเวอร์ 8 นิ้วที่อยู่ในตู้ทรงวินเทจนี้ เป็นเสียงที่ผมชอบมาก เป็นความถี่ต่ำที่กระชับ มีรายละเอียด หนักหน่วง โดยอยู่บนพื้นฐานของความประณีต ไม่โฉ่งฉ่าง ตอบสนองได้ทันที ไม่ช้าพูดแบบบ้านๆ ก็คือ เป็นเบสแบบ Harbeth ที่ต้องฟังเอาเองครับ แต่กับแนวเพลงที่ผมฟัง เสียงเบสแบบนี้ ผมชอบเลย ไม่มีอะไรต้องติ หรือบ่นว่ากล่าว

คุณสมบัติอื่นๆ เรื่องมิติ อิมเมจ ซาวด์สเตจ บลาๆๆๆๆ นั้น ถือว่าทำได้ขั้นเทพเลย เพราะพื้นเสียงของ Super HL5 Plus มีความใสอยู่เป็นทุนเดิม ความใสในที่นี้ก็ไม่ใช่ใสแบบโปร่งๆ นะครับ เป็นความใสที่แลดูมีบรรยากาศเจือปนอยู่ อธิบายไม่ถูกครับ รู้แต่ว่าพื้นเสียงที่ใสนี้ ถ้าเซ็ตลำโพงได้ดี จะเห็นตำแหน่งของสิ่งต่างๆ ในสนามเสียงได้ชัดเจน ถ้าเสียงโอบล้อมมาด้านข้าง คุณก็จะได้ยินแบบนั้น อีกอย่างก็คือ สเกลเสียงที่ใหญ่ เสียงแซ็กฯ ก็เป็นเสียงแซ็ก มีบอดี้ให้จับต้องได้ ผมว่าจะไม่บรรยายด้วยศัพท์พวกนี้แล้ว แต่ก็หนีไม่พ้น เอาเป็นว่ามันให้เสียงที่เป็นจริงเหมือนเราฟังจากเครื่องดนตรีที่เล่นกันนั่นแหละครับ

ถ้าจะมีอะไรที่ผมสงสัยก็คือ การเพิ่มซูเปอร์ทวีตเตอร์เข้ามาแต่การตอบสนองความถี่ก็เพียง 20kHz ดังนั้นคงไม่ได้ใส่เข้ามาเพื่อให้การตอบสนองความถี่ย่านสูงไปได้ไกลกว่านี้ พอฟังแล้วถึงจะจับความแตกต่างได้ครับ เสียงแหลมของ Super HL5 Plus น่าฟังมากทีเดียว ไม่บาง ฟังจากเสียงไวโอลินที่มักบางๆ ไม่เกิดกับลำโพงคู่นี้ครับ เอาแผ่น The Four Seasons ของค่าย Divox Antiqua มาเปิด สารพัดเครื่องสายที่ประเคนเข้ามาลำโพงคู่นี้รับมือได้สบายๆ ครับ การตอบสนองที่ฉับพลัน การให้เนื้อเสียงที่มีความอิ่มพอดีๆ ทำให้ฟังอัลบั้มนี้จนจบ จากจำนวนน้อยครั้งที่จะรอดไปสักแทร็ก (แผ่นนี้ ค่าย Manger เลือกแทร็ก Winter ไปอยู่ในแผ่นเทสต์ของค่ายด้วย) ทีนี้ก็เลยพอจะเข้าใจครับ ว่าการเพิ่มซูเปอร์ทวีตเตอร์เข้ามามีประโยชน์อย่างไร

บางทีอาจจะเป็นลำโพงคู่สุดท้ายของใครสักคน

ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมาคุณภาพการผลิต หรือคุณภาพเสียง Harbeth Super HL5 Plus เป็นลำโพงที่น่าเป็นเจ้าของจริงๆ ครับ สำหรับใครที่คิดว่าการซื้อลำโพงเป็นเรื่องยุ่งยาก ต้องโน่นนี่นั่น ซื้อแล้วจะอยู่กันได้นานแค่ไหน หรือซื้อแล้วเดี๋ยวก็มีรุ่นใหม่อีก … ผมขอแนะนำนะครับ ให้ปิดหูปิดตากับเรื่องเหล่านี้ แล้วไปลองฟัง Harbeth Super HL5 Plus ที่ร้าน Sound Box ถ้าคุณชอบเสียง กับมีเงินสองแสนที่จะจ่ายได้ ก็ซื้อไปเถอะครับ แล้วค่อยหาอุปกรณ์อื่นๆ ที่เข้าขากันมาเติมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ จากนั้นก็ฟังเพลงอย่างเดียว ไม่ต้องคิดจะอัพเกรดอะไรอีก เพราะเอาเข้าจริงๆ การฟังเพลงที่มีคุณภาพ ไม่ได้ต้องการอะไรที่มากกว่านี้อีกแล้วครับ. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 263