ธีรวัฒน์
ธีรวัฒน์ โชติสุต

Audia Flight ชื่อนี้ได้ยินเมื่อไรก็นึกอยากลองฟังตลอด ส่วนตัวแล้ว ผมค่อนข้างติดใจในเสียงของ Audia Flight มากๆ 

เพราะมีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ และบ่งบอกถึงความเป็นอิตาลีสูงทีเดียว ที่สคัญก็คือ Audia Flight ยังคงผลิตในประเทศอิตาลี ไม่ได้ย้ายถิ่นฐานโรงงานประกอบมายังแถบเอเชียแต่อย่างไร

 ถึงแม้ว่ายังไม่ย้ายฐานการผลิต/ประกอบ แต่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง คือ Audia Flight ได้ตัดสายการผลิตสินค้าพวกเครื่องเล่นซีดีออกไป โดยเน้นพวกปรีแอมป์ เพาเวอร์แอมป์ และอินทิเกรตแอมป์มากขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 4 ซีรี่ส์ด้วยกัน คือ Strumento, FLS, FL Three S และ Classic โดยที่รุ่น Classic นั้นเป็นปรีโฟโน ส่วน FLS มีเฉพาะเพาเวอร์แอมป์ หากจะเลือกเล่นอินทิเกรตแอมป์ก็คือ FL Three S ที่ทดสอบครั้งนี้ มีอยู่รุ่นเดียว ซีรี่ส์เดียว

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวว่า ในเดือนธันวาคม 2012 เคยมีบททดสอบ Audia Flight FL Three มาแล้ว แต่ผมยังไม่เคยได้ลองฟังรุ่นนั้น จึงไม่สามารถบอกได้ว่า ความแตกต่างระหว่าง FL Three กับ FL Three S มีอย่างไรบ้าง ในเรื่องของคุณภาพเสียง แต่หลังจากปรับปรุงอัพเกรดส่วนต่างๆ ให้ดีขึ้นแล้ว กำลังขับจะแตกต่างจากเดิม 25 วัตต์ ของเดิมนั้นกำลังขับ 75 วัตต์ ที่ 8 โอห์ม ส่วนรุ่นใหม่ Audia Flight FL Three S ให้กำลังขับ 100 วัตต์ ที่ 8 โอห์ม

Audia Flight มีรูปร่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คือเห็นเส้นเหมือนโลโก้อยู่ด้านหน้าเสมอ และมักนิยมใช้ LED สีฟ้าในการแสดงผลอินทิเกรตแอมป์ Audia Flight FL Three S ก็เช่นเดียวกัน ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักพอตัวทีเดียว เนื่องจากใช้หม้อแปลงเทอลอยด์ขนาด 600 VA ภาคจ่ายไฟแยกเป็นส่วนๆ ในแต่ละภาค แยกย่อยลงไปอีก

ถึงเป็นอินทิเกรตแอมป์ แต่ภาคแอมป์ขยายภายในออกแบบในระบบโมโนเพื่อลดการรบกวนซึ่งกันและกัน หากจะใช้ร่วมกับชุด Home Theater ก็มีคำสั่ง By Pass ซึ่งต้องสั่งจากรีโมตคอนโทรล Audia Flight FL Three S มีอ็อปชั่นเพิ่มเติม 2 อย่าง คือ ภาคปรีโฟโน และ DAC ซึ่งตัวที่ทดสอบนี้ไม่มีให้มา 

ฟังก์ชั่นการต่อใช้งานถือว่าครบครันทีเดียว ไม่ว่าจะช่องต่อหูฟังด้านหน้า, ช่องบาลานซ์ XLR 1 ชุด, Pre Out, REC และ Monitor อย่างละชุด พร้อมช่องต่ออินพุต RCA อีก 4 ชุด หน้าจอแสดงผลสามารถปรับความสว่างได้อีกด้วย 

จับสายมาคู่ Three S 

เรื่องนี้ดูเหมือนไม่ค่อยมีอะไร ก็แค่จะใช้สายอะไรก็ได้มั้ง แต่เท่าที่เจอจากหลายๆ ห้อง หลายๆ ซิสเต็ม มักใช้ขนาดของสายเกินกำลังขับของแอมป์ ซึ่งล้วนส่งผลเวลาเซ็ตอัพลำโพง และคุณภาพเสียงค่อนข้างมากทีเดียว สายที่กำลังพูดถึงอย่างแรกก็คือ สายลำโพง

ช่วงหลังๆ หากใครติดตามงานรีวิวของผมมาตลอด ผมจะย้ำเรื่องนี้ค่อนข้างบ่อย แม้แต่ในงาน BAV HI-END SHOW 2017 ซึ่งผมได้บรรยายในห้องของ บริษัท วันพัฒน์ 59 จำกัด เรื่องนี้ผมก็หยิบขึ้นมาเน้นยำอีกครั้งเช่นกัน กำลังขับของลำโพงจะเลือกสาย บางครั้งลำโพงก็เป็นตัวเลือกสายเช่นกัน บางยี่ห้อในคู่มือผู้ผลิตลำโพงจะระบุเลยว่า ลำโพงของเขานั้นควรจะใช้สายลำโพงขนาดเท่าไร 

Audia Flight FL Three S ให้กำลังขับ 100 วัตต์ ที่ 8 โอห์ม และ 160 วัตต์ ที่ 4 โอห์ม สายลำโพงที่จะใช้ควรมีหน้าตัดไม่เกิน 4 sq.mm คือให้อยู่ในช่วง 2.5 sq.mm – 4 sq.mm ไม่ควรใช้สายลำโพงที่มีขนาดหน้าตัดตัวนำมากกว่านี้ เพราะเสียงจะติดหนามากเกินไป ส่งผลต่อการเซ็ตอัพลำโพง เพราะหากต้องการให้เสียงโปร่งขึ้นมาก็ต้องชดเชยอะไรบางอย่างเช่นกัน

การเลือกสายลำโพงขนาดพอดีกับกำลังขับของแอมป์ก็ไม่ต้องกลัวว่าเสียงจะบาง เนื้อเสียงจะไม่มี เนื่องจากอินทิเกรตแอมป์ของ Audia Flight FL Three S นั้น น้ำหนักเบสไม่ได้บางเลย อิมแพ็คและแรงปะทะถือว่าดีมากทีเดียว ลองฟังจากแผ่นซีดีหรือแผ่นเสียงหลายแผ่น Audia Flight FL Three S ให้ความถี่ต่ำค่อนข้างดีมาก เมื่อใช้ขนาดสายลำโพงเหมาะสมกับแอมป์เวลาเซ็ตลำโพงก็สามารถช่วยลดเวลาได้มากทีเดียว เพราะไม่ต้องชดเชยเสียงบางอย่าง ปล่อยให้ลำโพงทำหน้าที่ในการส่งผ่านเสียงเพลงเสียงดนตรีได้อย่างเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น สายลำโพงตลอดการทดสอบ ผมใช้สายลำโพงขนาด 4 sq.mm เป็นสายละเอียดฝอย ไม่ได้เป็นสายแกนแข็ง ส่วนสายนำสัญญาณใช้ของ Acoustic Zen ทั้งหมด เป็นสายบาลานซ์รุ่น Wow

อีกเรื่องหนึ่งที่ส่งผลต่อเสียงค่อนข้างมากทีเดียวคือ สายไฟเอซี เพราะ Audia Flight FL Three S ค่อนข้างไวต่อสายไฟเอซีที่ใช้งานค่อนข้างมาก หากเลือกสายไฟเอซีพวกสายอ่อน หัวเสียงก็จะติดนุ่มนิดหน่อย ในกรณีนี้ ผมเลือกใช้สายไฟขนาดหน้าตัดตัวนำ10 AWG และหัวปลั๊ก IEC Wattgate 320EVO, 5266EVO ชุบแพลตินัมโกลด์เพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง จะลงตัวในแง่ความไพเราะและพละกำลังของเสียง เสียงออกมาเต็มและเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ มากกว่า 

สายไฟเอซีเสียบเข้าไปยังบล็อกเต้ารับไฟฟ้าของ Oyaide R0 ชุบแพลตินัม ซึ่งมีอยู่จำนวน 2 ตัวบนบล็อกนี้ ต่อกราวด์ฝั่งหนึ่ง ไม่ต่อกราวด์ฝั่งหนึ่ง ไม่ได้ ใช้เครื่องกรองไฟฟ้าใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนซอร์สทุกประเภทก็เสียบที่บล็อกนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เครื่องเล่นซีดี Audionet Art G3, เครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือปรีโฟโนก็ตาม โดยที่เครื่องเล่นซีดีและเครื่องเล่นแผ่นเสียงต่อกับเต้ารับฝั่งที่ไม่ได้ต่อกราวด์ ส่วนสายไฟเอซีที่ออกจากบล็อกเต้ารับไฟฟ้าก็ต่อเข้ากับเต้ารับ ไฟฟ้าผนังบ้านโดยตรง ซึ่งก็ใช้เต้ารับ Oyaide R0 ชุบแพลตินัม พูดง่ายๆ ให้ เห็นภาพก็คือ ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์อะไรก็ตามก็เชื่อมต่อบนบล็อกเต้ารับไฟฟ้าชุดเดียว แล้วสายไฟจากบล็อกเต้ารับไฟฟ้านี้ก็ไปเสียบที่เต้ารับไฟฟ้าจากผนังบ้านอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้การอ้างอิงของ N และ G เป็นจุดเดียวกันทั้งหมด ไทมิ่ง ของเสียงดนตรีที่ออกมาจะดีกว่า และลงตัวมากกว่า ซึ่งแนวทางการต่อแบบนี้ ผู้ผลิตเครื่องเสียงไฮเอ็นด์จากต่างประเทศแนะนำมา เมื่อลองแล้วเสียงก็ดีขึ้น อย่างที่เขาแนะนำจริงๆ ก็เลยใช้อย่างนี้มาตลอดในช่วงหลังๆ 

คุณภาพเสียง 

ผมไม่แน่ใจว่า อินทิเกรตแอมป์ Audia Flight FL Three S ที่ได้รับมา ผ่านการเล่นมาบ้างหรือเปล่า แต่ส่วนใหญ่ก่อนทดสอบ ผมก็เปิดฟังไปเรื่อยๆ ทุกวันอยู่แล้ว แต่ก่อนจะลองฟังจริงจัง ผมก็จะเปิด 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกัน และพักเครื่อง 1 วัน ก่อนจะเริ่มฟังอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง 

ก่อนหน้านี้ ผมเคยฟังชุดใหญ่ของ Audia Flight มาก่อน แต่ก็ผ่านมานานแล้ว ชอบมากในเรื่องของเสียงเครื่องสายและเปียโนที่ Audia Flight ให้ออกมาดีมากๆ ฟังแล้วยังรู้สึกติดหูอยู่เลย แต่น่าเสียดายที่เมื่อขึ้นระดับนั้นแล้ว นักเล่นส่วนใหญ่มักจะหันไปนิยมเล่นสินค้าไฮเอ็นด์เจ้าประจำที่ตลาด บ้านเราคุ้นเคยกันมากกว่า ซึ่งมีด้วยกันไม่กี่ยี่ห้อ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่เครื่องเสียงไฮเอ็นด์บางยี่ห้อต่อให้เสียงดีก็ไม่เป็นที่นิยม ด้วยเหตุผลเดียวไม่ใช่ ว่าเสียงไม่ได้ แค่ตลาดไม่นิยม ไม่คุ้นเคยกับชื่อเท่านั้นเอง 

Audia Flight FL Three S กำลังขับ 100 วัตต์ ที่ 8 โอห์ม, 160 วัตต์ ที่ 4 โอห์ม ดูเหมือนว่ากำลังขับขนาดกลางๆ จะมีปัญหาในเรื่องของเบส พละกำลังของเบส และการปั๊มพลังงานของความถี่เสียงออกมาหลายท่าน มักมีภาพเหล่านี้ในใจจึงมักจะเล่นสายลำโพงเส้นใหญ่ๆ หรือสายไฟเอซีเส้น ใหญ่ๆ แต่หลงลืมไปว่า ลักษณะของเสียงเหล่านี้ก็อยู่ที่การเซ็ตอัพลำโพงหาตำแหน่งของลำโพงให้ลงตัวด้วย ไม่ใช่ว่าลำโพงวางอยู่กับที่ตลอด ไม่ว่าจะ เล่นอินทิเกรตแอมป์ของอะไร หรือใช้สายไฟเอซี สายนำสัญญาณ สายลำโพง อะไรก็ตาม ไม่มีการขยับลำโพงเลย อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้องดีนัก เพราะทุกครั้งที่ เปลี่ยนอะไรลงไปในซิสเต็มก็ต้องลองดูด้วยว่าตำแหน่งเดิมๆ ของลำโพงมันใช่หรือเปล่า ยิ่งการเปลี่ยนระบบไฟฟ้า สายไฟเอซี หรือเปลี่ยนอินทิเกรตแอมป์ลงไป เปลี่ยนซอร์สตัวใหม่ลงไป นั้นคือการเปลี่ยนบุคลิกของเสียงโดยสิ้นเชิง ก็จะต้องขยับหาตำแหน่งของลำโพงใหม่เช่นกัน แต่จะเลื่อนมากหรือน้อย หรือไม่ได้แตกต่างจากเดิมก็ได้ 

เช่นเดียวกัน เมื่อผมเปลี่ยนอินทิเกรตแอมป์ CEC: 3300R C3 RED ซึ่งใช้ประจำออก แล้วนำ Audia Flight FL Three S มาแทน ผมต้องขยับ ลำโพงลงไปจากเดิม ขยับลำโพงกว้างขึ้นกว่าเดิม และเปลี่ยนมุมโทอินจากเดิม เพราะไดนามิกของเสียงที่ได้ยิน รวมทั้งความกว้าง – ลึกของเวทีเสียง เปลี่ยนแปลงไป ก็เลยต้องขยับลำโพงใหม่ ไม่อย่างนั้นเสียงก็จะแออัดอยู่ตรงกลางๆ มากเกินไป พอปรับตำแหน่งลำโพงใหม่ บาลานซ์ของเสียงก็ดียิ่งขึ้น สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นไปอีก 

ส่วนตัวผมชอบอินทิเกรตแอมป์กำลังขับประมาณไม่เกิน 160 วัตต์ พูดง่ายๆ คือ 160 วัตต์ลงมา เพราะเป็นช่วงที่ฟังเพลงได้ไพเราะมากที่สุด ลงตัวทั้งความไพเราะและพละกำลัง เป็นการผสมผสานกันลงตัวอย่างมาก ในแง่ของน้ำหนักเสียงเบส เวลาเซ็ตอัพลำโพงผมก็เริ่มต้นจากการหาโลว์เบสเช่นกัน สำหรับ Audia Flight FL Three S ในเรื่องพละกำลัง ผมเชื่อว่าหลายท่านคงไม่ได้คาดหวังว่า อินทิเกรตแอมป์ระดับกำลังขับเพียง 100 วัตต์จาก ประเทศอิตาลี จะสามารถให้พละกำลังของเบสได้หนักแน่นแน่ๆ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เบสและพละกำลังของ Audia Flight FL Three S ให้ออกมา อย่างเหลือเฟือมากๆ ฟังแล้วเสียงไม่ได้บาง กลับให้เสียงได้ยิ่งใหญ่ เบสมีพละกำลังออกมาอย่างเหลือเชื่อทีเดียว 

เหตุผลที่ผมบอกว่า เหลือเชื่อนั้น เพราะปกติเวลาเล่นแผ่นเสียงโดยใช้ ปรีโฟโนตัวเล็กสุดของ Soundsmith และเครื่องเล่นแผ่นเสียง Thorens ซึ่ง ใช้หัวเข็มติดมากับเครื่องจากโรงงาน ไม่ว่าจะเล่นคู่กับอินทิเกรตแอมป์ตัวไหน เสียงจะออกไปทางโทนนุ่ม อิมแพ็คหัวเสียงซอฟต์สักหน่อย ฟังแล้วรู้สึกว่า ไดนามิกไม่ได้รุนแรงอะไรมากนัก ฟังแล้วก็นุ่มๆ ไปหมด แต่เมื่อเปลี่ยนมาเล่นคู่กับ Audia Flight FL Three S เสียงกลับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีมากๆ อย่างแรกเลย… เสียงเบสจะใหญ่ขึ้นมาอย่างมาก ขณะที่แรงขับเคลื่อน พละกำลังความถี่ต่ำๆ เมื่อก่อนฟังกี่รอบยังไงก็ไม่ค่อยมี แต่ Audia Flight FL Three S กลับให้ออกมาดีมาก เบสใหญ่ เบสแน่นมากยิ่งขึ้น อิมแพ็คหัวเสียงของเบสก็เริ่มมีการส่งแรงกระแทกออกมามากยิ่งขึ้น ไดนามิกของเสียงก็กว้างมากขึ้น ไม่ได้รู้สึกว่าให้เร้นจ์เสียงแคบแต่อย่างไร เสียงก็ออกมากระจ่าง แยกแยะแต่ละเสียงได้อย่างเด่นชัดอีกด้วย ไม่ได้ฟังเหมือนเสียงเกาะ กลุ่มกันอย่างเมื่อก่อนที่เคยรู้สึกเลย คือฟังแล้วดีขึ้นกว่าเดิมมาก ยิ่งเปลี่ยนซอร์สต้นทางดีๆ อย่างเครื่องเล่นซีดี Audionet Art G3 พละกำลังของ ย่านความถี่ต่ำก็ยิ่งโดดเด่นขึ้นไปอีก หัวเสียงอิมแพ็คใหญ่ และรับรู้ถึงพละกำลังอย่างมากทีเดียว ฟังเพลงแนวนิวเอจอย่างเช่นแผ่นซีดี Dafos- HART/AIRTO/PURIM พละกำลังของเสียงจากเสียงกลองที่ฟาดกระหน่ำลงมานั้น ตอบสนองออกมาได้อย่างถึงอารมณ์มากๆ ความใหญ่ของเสียงมีให้ล้นเหลือ แรงกำลัง ความหนักแน่น มวลเสียง รวมถึงพลังงานความถี่ต่ำๆ ที่ส่งออกมานั้น ถือว่าทำให้ตอบสนองการฟังเพลงได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว 

ฉะนั้นในเรื่องของเบส กำลังขับ 100 วัตต์ ไม่ได้เป็นเรื่องน่าห่วงหรือน่ากังวล แต่อย่างไร แต่ครับแต่ สิ่งที่ส่งเสริมเรื่องความถี่ต่ำแบบนี้มีด้วยกันหลายองค์ประกอบ คือ คุณภาพของซอร์สต้นทาง, การเซ็ตอัพลำโพง, การเลือกสายลำโพง, การเลือกใช้สายไฟเอซี, เลือกลำโพงให้เหมาะ ซึ่งจะสามารถดึงศักยภาพของอินทิเกรตแอมป์ Audia Flight FL Three S ออกมาได้หมด แต่อย่าลืมนะครับ พอบอกว่า กำลังขับของ Audia Flight FL Three S ออกมาดีแล้ว ทุกคนจะหันไปใช้ลำโพงขนาดใหญ่ๆ กรวยเบส 8 นิ้วขึ้นไป หรือเป็นกรวยแบบเซรามิก ซึ่งเสียงก็จะแย่ลง ออกไปทางนุ่มนวลได้เช่นกัน ยิ่งเป็นกรวย เซรามิกควรหลีกเลี่ยงเลย เพราะการควบคุมกรวยลำโพงขนาดใหญ่นั้นมีอะไรมากกว่านี้อีกเยอะ แต่ที่ชอบอย่างหนึ่งก็คือ การตอบสนองความถี่เสียงของ Audia Flight FL Three S นั้น ทำได้ฉับไวมากๆ 

เมื่อพิจารณาลงลึกไปถึงคุณภาพของเสียงเบส ผมรู้สึกว่า Audia Flight FL Three S ให้ออกมาดีอย่างมาก คือ เบสต้น และเบสกลางที่คุณภาพเสียงนั้นไม่มีที่ติ สามารถแยกแยะรายละเอียดเสียงต่างๆ ได้อย่างน่าเหลือเชื่อทีเดียว แต่พอระดับพละกำลังของความถี่เสียงที่ต่ำกว่านั้นอาจเป็นข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่นั่นเป็นเรื่องของความรู้สึกทางด้านอารมณ์ เพราะความถี่ต่ำๆ ไม่ใช่เรื่องของการได้ยิน แต่เป็นเรื่องของการสัมผัสที่ส่งผลต่อความรู้สึก ซึ่งตอบสนองสอดคล้องกับความถี่เสียงที่ได้ยินให้รู้สึกสมจริงสมจัง กับบางแผ่นที่ผมรู้สึกนั้น ความโอ่อ่าของห้องที่ใช้บันทึกเสียงจากความถี่ต่ำที่ส่งผลสอดคล้องกับเสียง ดนตรีที่ได้ยิน ค่อนข้างมีสเกลเล็กลงไปนิดหน่อย เมื่อเทียบกับชุดปรีเพาเวอร์ของ Audia Flight เอง ที่ผมเคยฟังคู่กับลำโพง Quad 22L มาก่อน ที่ให้ความโอ่อ่าของห้องที่ใช้ ในการบันทึกเสียงมากกว่านี้ แน่นอนว่ากำลังขับของแอมป์ยิ่งมากก็ยิ่งจะทำให้รู้สึกถึงความโอ่อ่าของห้องใหญ่มากขึ้นไปด้วย 

ถ้าถามว่า ในบรรดาอินทิเกรตแอมป์ระดับใกล้เคียงกันระหว่าง Audia Flight กับ ยี่ห้ออื่นๆ ที่กำลังขับพอๆ กัน ไม่นับพวกหลอด ความแตกต่างนั้นไม่ได้มีกันมากมาย แต่ ผมรู้สึกว่า Audia Flight ให้ออกมาดีกว่า และยังมีเรื่องดีๆ อื่นอีกด้วย นั่นก็คือ ไดนามิก และรายละเอียดของเสียง ส่วนหนึ่งมาจากเกนเสียงของ Audia Flight FL Three S ค่อน ข้างต่ำแต่นั่นก็คือข้อดีที่หลายๆ ท่านมองข้ามไป เพราะการที่เกนเสียงต่ำเวลาเปิดฟัง ต้องเร่งโวลุ่มมากกว่าทั่วไปเล็กน้อย ทำให้รายละเอียดเสียงและไดนามิกของเสียงออกมา มากกว่า ผมเคยพูดหลายครั้งในเรื่องนี้ ผมเป็นคนไม่ชอบอินทิเกรตแอมป์หรือปรีแอมป์ ที่เกนของเสียงค่อนข้างสูง คือเปิดโวลุ่มเพียงเล็กน้อย เสียงก็ดังออกมาเต็มห้องแล้ว ราย ละเอียดและไดนามิกจึงสู้อินทิเกรตแอมป์ที่เกนเสียงต่ำกว่าไม่ได้ พอเกนเสียงต่ำต้องเร่ง โวลุ่มมากกว่าปกติ รายละเอียดเสียงจึงให้ออกมามากกว่า มีรายละเอียดของเสียงปลีก ย่อยเยอะกว่า รวมถึงไดนามิกของเสียงที่ดีกว่าค่อนข้างมากอีกด้วย เวลาฟังเพลงที่เน้น รายละเอียดปลีกย่อยเยอะๆ อินทิเกรตแอมป์ประเภทนี้มักจะให้เสียงออกมาดีกว่าเสมอๆ 

Audia Flight FL Three S ก็เช่นเดียวกัน คือ เกนเสียงต่ำเวลาเปิดที่ระดับความดังปกติก็ต้องเร่ง เสียงมากกว่าปกติ อย่างเช่น หากต้องการให้เสียง ออกมาเต็มห้อง ผมต้องเร่งถึงระดับ 10 นาฬิกากว่าๆ เสียงถึงจะดังเต็มห้อง ดังนั้น เวลาฟังเพลงร้องจาก นักร้องต่างๆ ช่วงแอดลิบจะได้ยินถึงเสียงรายละเอียด เสียงลม ไดนามิกของเสียงที่มีหนักเบา มีความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน ไดนามิกของเสียงเวลากระแทกออกมา หรือเสียงหลบ เช่น เสียงของ Rickie Lee Jones จะเห็นค่อนข้างแตกต่างอย่างมากทีเดียว 

นักร้องที่ผมชอบหยิบขึ้นมาฟังในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นแผ่นของ Rickie Lee Jones เกือบแทบ ทั้งนั้น เพราะวิธีการร้องของเธอช่วยให้เปรียบเทียบได้ ง่ายกว่า วิธีการร้องจะกระแทกโน้ตออกมาหน่อยหนึ่ง ดังนั้น นอกเหนือจากไดนามิกแล้ว มวลเสียงและพีคที่ ออกมานั้นจะประเมินเสียงได้เป็นอย่างดี เมื่อลองฟัง เสียงของ Rickies Lee Jones ไดนามิกหนักเบาและรายละเอียดของเสียงต่างๆ Audia Flight FL Three S ให้ออกมาอย่างน่าชื่มชมมากๆ แจกแจงออกมาได้ดี ทีเดียว เสียงมีความกระจ่าง ชัดเจน น้ำหนักเสียง การผ่อนหนักเบา ถือว่าเป็นอินทิเกรตแอมป์ที่โดดเด่น ในเรื่องเสียงร้องตัวหนึ่งทีเดียว 

Audia Flight FL Three S ถือเป็นอินทิเกรตแอมป์ อีกตัวหนึ่งที่อยากจะบอกว่า หากชอบเสียงร้องอย่ามอง ข้ามเด็ดขาด เสียงร้อง ย่านความถี่เสียงกลางถือว่าเป็น จุดเด่นอย่างมากทีเดียว ไม่ต้องใช้ลำโพงอย่าง Roger LS3/5 อินทิเกรตแอมป์ Audia Flight FL Three S ก็ให้ คุณภาพเสียงร้องไม่ได้แตกต่างจากลำโพง Roger LS3/5 เลย เสียงร้องที่ได้ยินนั้นจะช่วยให้เสียงร้องโดดเด่นกว่า เสียงดนตรีอย่างมากทีเดียว ช่องว่างระหว่างเสียงร้อง ห่างจากเสียงดนตรีพอควร ฟังแล้วไม่รู้สึกว่าเสียงร้อง ถูกดูดกลืนไปกับเสียงดนตรีแบ็กอัพหลัง เสียงมีความกระจ่างชัด โปร่ง ฟังแล้วรู้สึกโล่งไม่อึดอัดแต่อย่างไร ยิ่งฟังก็ยิ่งเพราะ ยิ่งอยากฟังเพลงต่อไปเรื่อยๆ ทั้งวัน ไม่ได้เพราะมีสีสันชวนน่าหลงใหล แต่เป็นความน่าหลงใหลที่เกิดจากคุณภาพเสียงล้วนๆ 

จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ Audia Flight FL Three S คือ เสียงพวกเครื่องสาย ผมชื่นชอบแอมป์ที่มาจาก ประเทศอิตาลีอย่างหนึ่งก็คือ ส่วนใหญ่มักให้เสียงพวก เครื่องสายออกมาโดดเด่นอย่างมาก เสมือนว่ากำลังฟัง เสียงเครื่องสายนั้นๆ ตรงหน้าเลย อย่างเช่น แผ่น JVC-XRCD24 / RUGGIERO RICCI – CARMEN FANTASIE มวลเสียงของเสียงไวโอลิน เสียงหนักเบา รายละเอียดของเสียง การผ่อนหรือกดเสียงคันชักของไวโอลิน สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจน ฟังแล้วความรู้สึกเหมือนต้องมนต์เลย เพราะเสียงไวโอลินจะโดดเด่น แล้วถูกแบ็กอัพด้วยเสียงดนตรีอื่นๆ เสียงสะอาด ชัด ให้ความเสมือนจริงของเสียงมากๆ ส่วนเสียงเครื่องดนตรีอื่นๆ ก็มีความโดดเด่นอยู่ในตัวเช่นกัน ช่วงที่มีเครื่องเสียงอื่นมารองรับนั้น ถ้าเร้นจ์ของไดนามิกแคบ เสียงจะออกไป ทางนุ่มนวลไม่พุ่งขึ้นมาอย่างนี้ แต่ถ้าเร้นจ์เสียงกว้างจะได้ยินของเสียงมากยิ่งขึ้น 

น่าเสียดายที่ Audia Flight Three S ไม่ได้พกอ็อปชั่นติดมาด้วย นั่นก็คือภาคโฟโนสำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียง และ DAC ซึ่งผมอยากลองเล่นดูเสียหน่อยว่า หากต้องการซื้อภาคโฟโนเป็นอ็อปชั่นเพิ่มเติมนั้น คุณภาพเสียงจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่ก็ไม่เป็นไร เพียงเท่านี้ก็รู้สึกว่า Audia Flight FL Three S โดดเด่นมากทีเดียว ถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็ต้องบอกว่า Audia Flight Three S เหมือนเป็นการรับประกันว่า หลังจากนี้ ช่องว่างระหว่างตัวเรากับเสียงเพลงไม่มีวันห่างหายจากลากันไป จะอยู่ด้วยกันตลอดทุกๆ วัน จริงๆ… ADP 

ราคา 145,000 บาท 
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด 
โทร. 0-2238-4078-9 

นิตยสาร AUDIOPHILE VIDEOPHILE ฉบับที่ 241