วุฒิศักดิ์

นักเขียน : คุณวุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์ :

ที่คราวนี้ใช้ชื่อขึ้นหัวเป็น CXA81+CXC เนื่องจากดูจากการใช้งานแล้ว CXA81 เป็นอินทิเกรตแอมป์ที่มีความครบเครื่องในตัวของมันเองดีอยู่แล้วในระดับหนึ่ง แต่ทาง Cambridge ก็ยังคงมองเห็นตลาดที่นักเล่นยังคงมีแผ่นซีดีสะสมไว้ในคอลเลกชันส่วนตัวอยู่ไม่น้อย ไม่ได้ฟังแค่จาก Streaming เพียงอย่างเดียว จึงมีการผลิต CXC ที่เป็น CD Transport เพียวๆ ออกมาให้ใช้งานคู่กัน ซึ่งถึงแม้ในความจริงแล้ว CXC จะสามารถเล่นกับ DAC ตัวอื่นๆ ได้ แต่ผมว่าโดยส่วนมากก็คงจะซื้อให้เข้าชุดกับ CXA81 ใช้งานร่วมกันมากกว่า เพราะเมื่อวางอยู่ในชุดเดียวกันก็ดูสวยงามกลมกลืนกันดี

Cambridge Audio CXA81

เป็นอินทิเกรตแอมป์ Class AB กำลังขับ 80 วัตต์ ซึ่งนับว่าหาได้ยากในระดับราคานี้ เพราะโดยส่วนมากก็จะถูกแทนที่ด้วย Class D เกือบหมดแล้ว ซึ่งตรงนี้ ถึงแม้ในเครื่องที่มีราคาระดับนี้เมื่อให้ภาคขยาย Class D อาจได้เปรียบเรื่องกำลังขับ ได้เบสที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่า แต่มักจะพบว่าความต่อเนื่องอิ่มฉ่ำของเสียงกลางมักจะยังเป็นรอง Class AB อยู่ แน่นอนว่าแอมป์โซลิดสเตท Class AB คงไม่ได้หวานฉ่ำหยดย้อยแบบเครื่องหลอดแน่นอน แต่ก็มีความเที่ยงตรงในน้ำเสียงมากกว่า ไม่ได้ปรุงแต่งจนเกินงาม เท่าที่ดูเครื่องเคราภายในจัดมาให้ค่อนข้างเต็มพื้นที่และมีน้ำหนักพอควรสำหรับเครื่องในราคานี้ มีการออกแบบแผงฮีตซิงก์อยู่รอบหม้อแปลง เพื่อใช้คุณสมบัติในการป้องกันสนามแม่เหล็กของอะลูมิเนียมมาป้องกันสัญญาณรบกวนที่เกิดจากหม้อแปลงไม่ให้มากวนวงจร และยังเป็นการแยกภาคขยายช่องซ้ายและขวาออกจากกันเพื่อป้องกันการรบกวนกัน ซึ่งถือเป็นการออกแบบที่ดี ในส่วนของพื้นฐานเท่าที่ดูการออกแบบเป็นเหมือนอินทิเกรตแอมป์อะนาล็อกแบบดั้งเดิมที่เติมบอร์ดดิจิทัลเพิ่มเข้ามาเพื่อให้พอจะรองรับการเล่นไฟล์เพลงตามยุคสมัยได้บ้าง ไม่ใช่เครื่องที่ออกแบบอยู่บนพื้นฐานของดิจิทัลทั้งระบบแล้วมาเติมภาคขยายตอนจบอย่างพวก Network AVR สมัยใหม่ที่ออกแบบให้รองรับการเล่นเพลงผ่าน Network ไม่ว่าจะเป็น LAN หรือ WiFi ได้โดยตรง แถมยังมีพวก DSP และ Auto EQ มาช่วยมากมาย แล้วค่อยแปลงสัญญาณไปเข้าภาคขยาย ซึ่ง CXA81 ออกแบบโดยตัดสิ่งอำนวยความสะดวกพวกนั้นออกไปหมด โฟกัสที่ความเป็นดนตรีจริงๆ สังเกตได้จากภาค DAC ก็ปิดฟังก์ชัน DSP ทั้งหมดออกไปเพราะไม่สามารถปรับความดังจากมือถือเมื่อเล่นผ่านบลูทูธได้ ให้ทำหน้าที่เพียงแปลงจากดิจิทัลมาเป็นอะนาล็อกที่ความแรงมาตรฐานเหมือนเครื่องเล่นซีดีทั่วไป การปรับความดังจะต้องหมุนปุ่มหน้าเครื่องหรือกดรีโมต เพื่อสั่งงานปุ่มหน้าเครื่องให้หมุนเพื่อให้ภาคปรีทำการลด เพิ่มความแรงของสัญญาณเท่านั้น ฟังก์ชั่นอื่นๆ ก็ให้มาแค่พอให้คนชอบฟังเพลงสามารถใช้งานได้ ไม่มีแม้กระทั่งปุ่มปรับบาลานซ์ ซ้ายขวา หรือ ทุ้ม แหลม เรียกว่าให้ใช้ฝีมือเซ็ตกันเองแบบเดิมๆ ดิบๆ กันเลย มีแค่ XLR 1 ช่อง RCA 3 ช่อง 2 Optic 1 Coaxial 1 USB และ Bluetooth  นับว่าน่าชมเชยในความกล้าที่จะตัดฟังก์ชันเอาใจมือใหม่ในเครื่องระดับราคานี้

Cambridge Audio CXC

เป็น CD Transport ที่ออกมาตอบโจทย์คนที่มีแผ่นสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ถึงแม้การฟังเพลงกระแสหลักของโลกในปัจจุบันจะไปทางการสตรีมมิ่งไฟล์กันเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงมีแผ่นซีดีอยู่เป็นจำนวนมาก และในหลายๆ ครั้งพบว่าถึงแม้บริการสตรีมมิ่งจะมีเพลงเป็นสิบๆ ล้านเพลง แต่ดันไม่มีเพลงที่เรามีแผ่นอยู่และอยากฟัง ดังนั้น CXC จึงเข้ามาอุดช่องว่างนี้ด้วยแนวคิดที่ต้องการโฟกัสทรัพยากรที่อยู่ในงบให้ได้ผลทางเสียงที่ดีที่สุดด้วยการตัดฟังก์ชันที่ไม่จำเป็นออกหมดเช่นกัน เพราะ CXC จะทำหน้าที่แค่อ่านแผ่นซีดีเท่านั้น ไม่อ่านแผ่นชนิดอื่นเลย แถมอ่านมาแล้วก็ไม่แปลงสัญญาณด้วย ส่งให้มาแปลงที่ CXA81 แทน เพื่อให้ไม่ต้องเปลืองงบไปกับภาค DAC ที่ซ้ำซ้อนอยู่ในแต่ละเครื่อง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดี เพราะกระแสหลักเล่นสตรีมมิ่งกันเยอะกว่า จึงเอาภาคดิจิทัลไปไว้ในอินทิเกรตแอมป์ เพื่อให้คนที่เล่นแต่สตรีมมิงก็ซื้อแค่ตัวเดียวจบได้เลย หากใครจะเล่นแผ่นก็ไม่ต้องซื้อเครื่องเล่นซีดีให้เปลืองค่า DAC ใช้เป็นทรานสปอร์ตก็เพียงพอแล้ว ซึ่งผลจากการโฟกัสการใช้งานนี้เห็นได้จากอุปกรณ์ภายในที่ในส่วนของภาคจ่ายไฟยังให้เป็นหม้อแปลงเทอรอยด์และภาคจ่ายไฟลิเนียร์เพื่อให้มีสัญญาณรบกวนที่ต่ำกว่าแบบสวิตชิ่ง แม้กระทั่งฟังก์ชันกดเลือกเลขแทร็กยังถูกตัดออก เวลาจะเลือกเพลงต้องกดไล่ทีละแทร็กเอา แสดงว่าคิดมาแล้วว่าคนที่ยังฟังแผ่นซีดีอยู่ น่าจะมีพฤติกรรมการฟังแบบไม่ข้ามแทร็กไปมามากนัก เพราะถ้าชอบข้ามเพลงไปมา คงจบที่สตรีมมิ่งไปนานแล้ว

การจะเล่น Streaming มาที่ตัว CXA81 สามารถทำได้ 3 ทาง อย่างแรกง่ายสุด ก็คือเปิดเพลงจากมือถือ แล้วเชื่อมต่อกับ CXA81 ทาง Bluetooth ซึ่งการเชื่อมต่อทำได้ง่ายมาก เหมือนการเชื่อมต่อลำโพงบลูทูธทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมีการใส่รหัสใดๆ ทั้งนั้น ง่ายยิ่งกว่าการแพร์โทรศัพท์เข้ากับวิทยุติดรถด้วยซ้ำไป แต่ในการทดลองกับมือถือ iPhone 11 ที่ผมใช้งานปกติ พบว่าสามารถเปิดเพลงมาออก CXA81 ได้ง่ายอย่างที่บอกจริง แต่ไม่สามารถควบคุมความดังจากมือถือได้ทำได้เพียงแค่ปิดเสียงไม่ให้ออกลำโพง เมื่อเปิดเสียงที่มือถือ แต่เมื่อปรับเสียงขึ้นลง จะไม่มีผลต่อความดังเสียงที่ออกมาทาง CXA81 เข้าใจว่าการทำงานของภาค DAC ในตัว CXA81 จะไม่มี Digital Volume คือเมื่อมีสัญญาณเข้ามาจะแปลงที่ระดับความดังมาตรฐานออกมาเลย และมาปรับความดังด้วยภาคปรีที่เป็นอะนาล็อกที่หน้าเครื่อง ซึ่งปุ่มนี้จะต้องใช้มือหมุน หรือสั่งงานด้วยรีโมตที่แถมมากับเครื่องเท่านั้น โดยตัวรีโมตมีขนาดกำลังดี และสามารถควบคุมได้ทั้ง CXA, CXN และ CXC ได้ในรีโมตอันเดียว แถมยังจัดกลุ่มปุ่มกดต่างๆ มาอย่างเป็นระเบียบใช้งานง่ายมาก แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบเปิดเพลงจากมือถืออย่างผม เพราะมันทำให้แบตหมดเร็ว และบางทีเมื่อเดินไปทำอย่างอื่นในห้องอื่นที่เกินระยะของบลูทูธจะทำให้สัญญาณหลุด ต้องมาคอยต่อใหม่ ก็สามารถเชื่อมต่อทางช่อง USB ได้ ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อจะเป็นพวกคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นไฟล์อะไรก็แล้วแต่จะสะดวกเลยครับ แม้กระทั่งพวก Android box และ Smart TV ก็สามารถเสียบได้ เมื่อเชื่อมต่อแล้วโดยปรกติก็จะเห็นเป็นเหมือน Audio Interface เพิ่มขึ้นมาหนึ่งตัวให้เลือกใช้งานได้เลย โดยในการทดสอบนี้ผมก็ใช้ Notebook Windows 10 ธรรมดา 1 ตัว เสียบสายปุ๊บก็เจอ CXA81 ทันทีแบบไม่ต้องไปเซ็ตอะไร เปิด Spotify ก็เสียงออกลำโพงเลย ซึ่งตรงนี้พบว่าสามารถปรับลดเสียงจาก Notebook ได้ คือ Windows 10 สามารถคำนวณ Digital Volume ให้ก่อนที่จะส่งสัญญาณไปที่ CXA81 แต่ก็ทำการลดได้อย่างเดียว เพราะถึงจะเพิ่มความดังจนสุดก็ไม่ได้ไปมีผลทำให้ลูกบิด Volume หน้าเครื่องหมุนแต่อย่างใด และเนื่องจากตัว CXA81 ไม่มีเสา WiFi หรือช่อง LAN ทำให้เข้าใจว่าไม่น่าจะสามารถลง app ในมือถือเพื่อสั่งงานได้เหมือนพวก Network AVR รุ่นใหม่ๆ ซึ่งหากต้องการความสามารถในการเล่นสตรีมมิ่งเพลงผ่านเน็ตเวิร์กแบบจริงจัง และมีภาค DAC ที่มีคุณภาพมากขึ้น แนะนำให้ซื้อ CXN V2 มาใช้งานร่วมกัน ซึ่งหากยังต้องการเล่นแผ่นซีดีอยู่ก็สามารถนำ CXC ไปต่อเข้าที่ CXN V2 เพื่อใช้งาน DAC ที่มีคุณภาพสูงขึ้นได้ น่าเสียดายที่คราวนี้ไม่ได้รับตัว CXN V2 มาร่วมทดสอบให้ครบเซ็ตไปด้วย ซึ่งถ้ามองที่ราคาค่าตัวของ CXC+CXN V2+CXA81 รวมกัน ต้องบอกว่าเหมาะกับคนที่ชอบฟังเพลงแบบไม่สนใจเรื่องดูหนังเลยแม้แต่น้อย เพราะในงบเท่าๆ กันสามารถซื้อหาเครื่องบลูเรย์ใช้งานร่วมกับ AVR ได้สบายๆ แต่แน่นอนว่า Cambridge Audio มีความมั่นใจในเรื่องการทำเครื่องเสียงสำหรับการฟังเพลงที่มีคุณภาพเสียงที่ดีไม่เป็นรองใครในระดับราคานี้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นการโฟกัสสินค้าให้ไปในแนวทางที่ตนถนัดได้อย่างชัดเจนดี แค่แอบเหลือบไปเห็นพี่ร่วมค่ายอย่าง EDGE NQ ที่มีความครบเครื่องในการใช้งานที่รองรับทั้งดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นสตรีมมิ่งหรือแผ่นซีดี รวมทั้งอะนาล็อก ถ้าได้ความสามารถแบบนั้นก็เหมือนการจับเอา CXN V2+CXA81 มารวมในตัวถังเดียวน่าจะดีไม่น้อย เพราะไม่ต้องต่อสายเยอะแยะให้วุ่นวาย ถ้าเล่นแผ่นก็แค่เติม CXC มาตัวเดียวจบ ไม่เยอะชิ้นเกินไป

การทดสอบ

ในการทดสอบครั้งนี้ ต่อใช้งาน CXC เข้ากับ CXA81 เล่นกับลำโพง B&W 600 S3 ซึ่งพบว่ากำลังขับ 80 วัตต์ของ CXA81 สามารถขับลำโพงได้สบายๆ กำลังดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป ส่วนในเรื่องความกังวลว่าเครื่องเสียงจากเกาะอังกฤษจะให้เสียงที่ออกเน้นแต่รายละเอียดแต่โทนเสียงออกไปทางโปร่งๆ บางๆ ผมพบว่าคำกล่าวนั้นน่าจะมาจากการจัดอุปกรณ์ร่วมชุดที่ไม่เหมาะสมเสียมากกว่า เพราะเมื่อได้ลองจัดเส้นสายทั้งสายไฟ และสายลำโพงที่มีโทนเสียงค่อนมาทางอิ่มหนาหน่อย (สายลำโพงหน้าตัด 10 sq.mm.) ก็สามารถได้ส่วนผสมที่ลงตัวดีเช่นกัน ถึงแม้แนวเสียงจะไม่ได้ใหญ่โตเน้นเบสกระแทกออกมาเป็นลูกๆ แต่ก็มีความต่อเนื่องมีรายละเอียดน่าฟังดี และด้วยความที่ CXA81 มี Subwoofer Out ซึ่งดูจะเป็นการเหมาะมากที่จะเล่นอินทิเกรตแอมป์ที่กำลังขับเท่านี้กับลำโพงเล็ก เพื่อไม่ให้ฝืนการทำงานของแอมป์ แล้วเมื่อลำโพงเล็กย่อมต้องมีข้อจำกัดเรื่องความถี่ต่ำ ก็ใช้ Subwoofer เข้ามาเสริมการทำงานได้ ซึ่งได้ทดลองในช่วงท้าย

ขอเริ่มต้นด้วยการฟัง Soundtrack Beauty and the Beast เสียงร้องมีรายละเอียดดี มีการกระจายตำแหน่งหลุดออกมาจากลำโพงอย่างเป็นอิสระ แสดงให้เห็นถึงระดับสัญญาณรบกวนที่ต่ำอย่างที่ควรคาดหวังจากเครื่องที่ออกแบบมาใช้ฟังเพลง มีกำลังเพียงพอที่จะคุมลำโพง B&W 600s3 ได้เป็นอย่างดี เมื่อได้ลองว่าแอมป์สามารถคุมลำโพงได้อยู่ก็ถึงเวลาเซ็ตลำโพงหลักให้ลงตัว คือให้เสียงเบสมีการโรลออฟที่ค่อนข้างราบเรียบ แล้วจึงค่อยเติมซับฯ เข้ามาในระบบ โดยต่อจากช่อง Sub Out สัญญาณโมโน (หรือจะต่อจาก Pre Out เล่นได้ถึง 2.2 เช่นกัน) โดยคราวนี้ต่อกับซับฯ Whafedale SR10 ปรับจุดตัดไว้ที่ 65Hz ซึ่งเมื่อฟังเพลงป๊อป เพลงไทยทั่วไป ควรจะต้องได้น้ำหนักการเหยียบกระเดื่องกลองที่มีเนื้อกำลังดี เสริมฐานเสียงร้องให้อิ่มเนียนขึ้นอีกเล็กน้อย ช่องไฟระหว่างชิ้นดนตรีฟังดูนิ่งขึ้น อย่าง Playlist “ฟังเพลินตอนทำงาน” ก็จะมีความเพลิดเพลินดี อย่างเพลง ทิ้งแต่เก็บ ของ The Toys ก็สามารถถ่ายทอดเสียงร้อง และเสียงเปียโนได้มีอารมณ์และรายละเอียดที่น่าติดตามทั้งคู่ คือไม่มีใครเด่นเกินหน้ากันจนกลบอีกเสียงไป แต่ในปริมาณเบสที่เพิ่มขึ้นมา ต้องไม่มากเกินไปเช่นกัน อย่างเช่นแผ่น Chick Corea Rendezvous in New York ซึ่งหลักๆ จะเป็นเสียงร้องกับเสียงเปียโนเป็นหลัก แต่ความพิเศษของแผ่นนี้ที่ผมชอบคือการร้องจะมีเรนจ์เสียงที่ค่อนข้างกว้างตั้งแต่โน้ตต่ำๆ จนสูงๆ และพวกรายละเอียดบรรยากาศการบันทึก เช่นเสียงปรบมือที่บันทึกมาได้ดีมาก มีความเป็นเนื้อเป็นหนังของมือที่เป็นเนื้อกระทบกัน ซึ่งถ้าชุดเครื่องเสียงที่มีการจูนเสียงให้ เน้นความระยิบระยับ จนมีแนวเสียงโปร่งบาง เมื่อเปิดแผ่นนี้ เสียงปรบมือจะไม่มีความเป็นเนื้อคนให้รู้สึกได้ แต่กับ CXA81 พบว่า ไม่ว่าจะเปิด หรือปิดซับฯ ก็ยังคงให้เสียงปรบมือที่มีความถูกต้องอยู่ แสดงถึงการที่เราสามารถใช้ CXA81 ขับลำโพงวางขาตั้งให้ออกมามีแนวเสียงตั้งแต่เบสขึ้นไปให้มีความถูกต้องสมดุลในน้ำเสียงได้เป็นอย่างดี การเดินเบสก็สามารถติดตามโน้ตดนตรีได้เป็นอย่างดีแล้ว แค่ถ้าเติมซับฯ เข้ามาจะทำให้บอดี้ของเบสใหญ่ขึ้น เสียงกระเดื่องกลองแน่นขึ้น การฉีกตัวของชิ้นดนตรีให้รู้สึกถึงขนาดอะคูสติกส์ของห้องที่ทำการบันทึกมีความสมบูรณ์ขึ้น ดังนั้นขอยืนยันว่า Cambridge Audio CXA81 ไม่จัดเป็นเครื่องเสียงที่มีโทนเสียงโปร่งบางไร้เบสแน่นอน กลับมาที่ CXC อาจจะเกิดข้อสงสัยว่า พ.ศ. นี้ ใครยังเล่นแผ่นซีดีกันอยู่อีก ต้องบอกว่าโดยส่วนตัว ในชุดอ้างอิงที่บ้านผมก็ยังเล่นแผ่นอยู่เป็นหลัก เพราะมีแผ่นสะสมอยู่ไม่น้อย และยังชอบหยิบจับแผ่น เสพงานดนตรีแบบอัลบัมเต็ม เหมือนการทางอาหารฟูลคอร์สที่ต้องค่อยๆ ชิมไปทีละอย่างตามลำดับที่เชฟสร้างสรรค์เมนูมาให้ชิม เวลาเล่นไฟล์แล้วเหมือนกินบุฟเฟต์ มีของให้เลือกเต็มไปหมด จนไม่รู้จะกินอะไรก่อนหลังดี ซึ่งผมก็ยังอยู่ในกลุ่มที่เชื่อว่าเสียงจากแผ่นซีดียังคงให้คุณภาพดีกว่าอยู่ ซึ่งในคราวนี้ลองฟัง The Blackwood ของ Emily Barker & The Red Clay Halo จากแผ่นครบรอบ 40 ปี Linn ซึ่งเทียบกับเพลงเดียวกันใน Spotify พบว่า CXC ยังแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของเสียงที่มีมากกว่าอยู่ค่อนข้างชัดเจน เสียงเบสก็มีน้ำหนัก และสามารถติดตามรายละเอียดได้ดีกว่า ไม่เสียชื่อการเป็น CD Transport นับว่าทำได้ดีในระดับค่าตัวนี้  

สรุป

Cambridge Audio CXA81+CXC อาจไม่ใช่เครื่องเล่นที่มีลูกเล่นแพรวพราวอย่างการสั่งงานจาก App ในมือถือ หรือสั่งด้วยเสียงผ่าน Alexa  หรือมี DSP ทำ Room correction ได้แบบที่ Network AVR สมัยใหม่ทำได้ แต่ด้วยจุดประสงค์ที่มุ่งมั่นมาเพื่อการฟังเพลง 2 หรือ 2.1 แชนแนลอย่างแท้จริง เรียกได้ว่าตัดของเล่นต่างๆ ออกเพื่อให้เหลืองบทุ่มมาที่ภาคเสียงอย่างเต็มที่ ซึ่งก็ให้ผลได้เป็นที่น่าพอใจ เหมาะกับนักเล่นที่ต้องการจ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์เพื่อซื้อเครื่องเสียงมาใช้ฟังเพลงเท่านั้น หรือนักเล่นมากประสบการณ์ที่ชอบเครื่องแบบบริสุทธินิยมจะไว้เล่นเป็นชุดเล็กอีกชุดก็เข้าท่าไม่น้อย ถ้าผมเป็นคนที่มีแผ่นซีดีเก็บไว้เพียบ ต้องการหาชุดฟังเพลงในห้องราว 4 คูณ 6 เมตร มีงบไม่เกิน 8 หมื่นบาท ผมว่าการจับคู่ Cambridge Audio CXA81 + CXC ใช้งานกับลำโพงวางขาตั้ง woofer 4 – 6 นิ้ว ราคาราวๆ 2 หมื่นต้นๆ และซับวูฟเฟอร์ 10 – 12 นิ้ว ราคาราวๆ หนึ่งหมื่นถึงหมื่นปลายๆ เล่นเป็นชุด 2.1 น่าจะเหลืองบไว้ซื้อสาย และขาตั้งได้พอดีๆ ควรจะหวังผลทางเสียงได้เทียบเท่ากับลำโพง 3 ทางตั้งพื้น ที่มี Woofer 8 นิ้ว แล้วขับด้วยแอมป์ 150 – 200 วัตต์ ได้สบายๆ ซึ่งแบบหลังราคาน่าจะทะลุแสนไปพอควรกว่าจะได้เสียงดีกว่า Cambridge Audio CXA81 + CXC คู่นี้ หรือถ้าไม่มีแผ่นซีดีสะสมไว้ก็ใช้แค่ CXA81 จัดชุด 2.1 ในงบ 6 หมื่นแบบหวังผลได้สบายๆ. ADP

ราคา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด
โทร. 0-2904-2120