วุฒิศักดิ์

นักเขียน : วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์ :

Vivid Audio อาจถือเป็นผู้ผลิตลำโพงไฮเอ็นด์ประเภทกลางเก่า-กลางใหม่ เพราะก่อตั้งมาได้ไม่นานมากนัก แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่ผู้ผลิตหน้าใหม่อย่างแน่นอน เพราะก่อตั้งมามากกว่า 10 ปีแล้ว ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอควร และยิ่งถ้าได้ย้อนไปดูรายละเอียดของผู้ก่อตั้งและทีมงาน ที่เรียกได้ว่า “ขั้นเทพ” จะรู้ได้ทันทีว่า ลำโพงที่พวกเขาทำออกมาต้องให้เสียงไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ซึ่งในรายละเอียดส่วนนี้ แนะนำว่าให้ย้อนไปอ่านบทสัมภาษณ์ผู้บริหารที่ลงในออดิโอไฟล์ฉบับที่แล้ว จะได้เป็นการประหยัดเวลา ไม่ต้องมาฉายหนังซ้ำอีกรอบครับ

สำหรับลำโพงที่ได้รับมาทดสอบคราวนี้คือ Vivid Audio V1.5 SE ซึ่งถือได้ว่าเป็นลำโพงสำหรับการฟังเพลงแบบเป็นเรื่องเป็นราวรุ่นเล็กสุดจากทาง Vivid Audio ที่บอกอย่างนี้เพราะจริงๆ แล้วมีลำโพง V1 รุ่นต่างๆ แยกย่อยอีกหลายรุ่น ที่แม้ว่าใช้ตัวขับเสียงเหมือนกัน หากมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันเล็กน้อย และเน้นการออกแบบให้รองรับการติดตั้งในลักษณะแขวนกับผนัง หรือใช้เป็นชุดโฮมเธียเตอร์เป็นหลัก ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้เป็นรุ่นเล็กสุด และใช้ตัวขับเสียงชุดเดียวกัน ทว่ามีการออกแบบให้ใช้งานในลักษณะติดผนังกับตั้งพื้น ที่มีพื้นที่โดยรอบของตัวลำโพง ซึ่งมีผลต่อการทำงานของลำโพงต่างกัน ถ้าเป็นผู้ผลิตปกติทั่วไปก็คงออกแบบลำโพงมารุ่นเดียวให้รองรับการใช้งานทั้ง 2 ประเภทได้ในตัวเดียว เพื่อลดความยุ่งยากในการผลิต แต่เนื่องจากรูปแบบการวางที่แตกต่างกันทำให้มีผลโดยตรงต่อการที่เสียงเบสที่ออกจากลำโพงจะต้องไปสะท้อนผนังหลังลำโพงที่มีระยะห่างที่แตกต่างกันมาก ซึ่งทาง Vivid ยืนยันว่ามีผลต่อเสียงแน่นอน จีงไม่ปล่อยผ่านเรื่องแบบนี้ให้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบที่เห็นได้ทั่วไป แต่เลือกออกแบบลำโพงขึ้นมาหลายรุ่นเพื่อรองรับการติดตั้งในแบบต่างๆ หลายๆ ท่านอาจสงสัยว่าเขาออกแบบใหม่จริงไหม หรือแค่ทำหน้าตาให้มันดูต่างกัน แล้วโม้ว่าต่าง ซึ่งเท่าที่ผมได้เข้าไปดูข้อมูลโดยละเอียด พบว่าแต่ละรุ่นของ V1 แม้จะใช้ตัวขับเสียงเดียวกัน แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันเล็กน้อย เช่น น้ำหนักของตัวตู้ ปริมาตรตู้ และความถี่ตอบสนองต่ำสุด ดังนั้นเข้าใจว่าทาง Vivid ได้มีการออกแบบให้แตกต่างกันตามลักษณะการติดตั้งอย่างที่อ้างไว้จริงๆ ถือเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในคุณภาพเสียงเป็นอย่างมาก 

V1.5 SE ที่ได้รับมาทดสอบเป็นลำโพงสองทาง แบบตั้งพื้น ที่มีการออกแบบคล้ายลำโพงสองทางวางขาตั้งที่มีขาในตัวเป็นชิ้นเดียวกัน ซึ่งทำให้ดูสูงเพรียว สวยงามดี แถมไม่ต้องเสียเวลาหาขาตั้งมาใช้งานร่วมกันกับตัวลำโพง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะด้วยการดีไซน์ลำโพงที่มีความโค้งมน มีรูปทรงต่างจากลำโพงทั่วไปอย่างชัดเจน คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถหาขาตั้งลำโพงที่สวยงามเข้าชุดกับลำโพงคู่นี้ได้ โดยเฉพาะกับลำโพงคู่ที่ได้รับมาทดสอบนี้ที่เป็นสี Lamborghini Orange เป็นสีพิเศษที่สามารถสั่งได้ ต้องบอกว่าดู “สวย” และ “แรง” มากๆ 

ในส่วนของการออกแบบ จากที่บอกไป V1.5 SE เป็นลำโพงสองทาง ตั้งพื้น มีท่อระบายเบสด้านหน้าเป็นทรงรี มีขาตั้งในตัว ความแตกต่างของรุ่นเดิมกับรุ่น SE อยู่ที่การเปลี่ยนตัวขับเสียงใหม่ ซึ่งในส่วนของทวีตเตอร์เป็นโดมอะลูมิเนียมที่มีการเสริมความแข็งแรงด้วยวงแหวนคาร์บอนบริเวณขอบโดม ตรงแถวรอยต่อที่โดมต่อเข้ากับวอยซ์คอยล์ และยังมีตะแกรงป้องกันการถูกกระแทกปิดไว้ด้านหน้าด้วย นอกจากนี้ยังคงมีการเจาะช่องระบายอากาศทะลุชุดแม่เหล็ก และทำท่อด้านหลังโดม ซึ่งทำหน้าที่เหมือนตู้ลำโพงที่ออกแบบมาเพื่อช่วยสลายคลื่นเสียงที่ไม่ต้องการด้านหลังโดมให้หมดไป ไม่ให้มีความเพี้ยนย้อนกลับไปหาตัวโดมได้ ทวีตเตอร์ตัวนี้เป็นตัวเดียวกับที่ใช้ใน Giya G1 Spirit รุ่นสูงสุดของ Vivid Audio เลยทีเดียว ดังนั้น ในส่วนของเสียงแหลม นับว่าหวังผลเรื่องคุณภาพได้อย่างแน่นอน

ในส่วนของวูฟเฟอร์ใช้รุ่น C125 เหมือนกันทั้งซีรี่ส์ Oval โดยในรุ่นเล็กอย่าง V1.5 SE ใช้ตัวเดียว แต่ถ้าเป็น B1 ใช้ 2 ตัว และ 4 ตัว ในรุ่นสูงสุดอย่าง K1 โดยในรุ่นที่ใหญ่กว่านี้ วูฟเฟอร์ทำงานในช่วงเสียงต่ำกว่า 900Hz ลงมาเพราะเป็นลำโพง 3 ทาง แต่ใน V1.5 SE ต้องรับภาระเสียงกลางขึ้นไปถึง 3000Hz ด้วย ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะเป็นวูฟเฟอร์ที่ออกแบบมารองรับความถี่เสียงกลางอยู่แล้ว ยิ่งได้ถูกติดตั้งในตู้รูปทรงรีคล้ายเปลือกหอยที่ต่างจากตู้ลำโพงทั่วไป เหตุผลของการออกแบบตู้หน้าตาแปลกนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของความสวยงามเท่านั้น แต่จากการศึกษาและทดลองมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทาง Vivid ได้ข้อสรุปแล้วว่าตู้ลำโพงที่ดีต้องเป็นตู้ที่ไม่สร้างเสียงรบกวนเข้ามากวนการทำงานของตัวขับเสียง การที่จะทำเช่นนั้นได้ ตัวตู้ลำโพงต้องไม่ได้เป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยมทั่วๆ ไปเหมือนที่คุ้นเคย นอกจากนั้น ทาง Vivid ยังได้มีการพัฒนารูปทรงไปถึงขั้นที่มีส่วนปลายแหลมที่เป็นเหมือนกรวยที่ช่วยสลายคลื่นรบกวน ซึ่งในรุ่นใหญ่ๆ อย่าง Giya มีส่วนแหลมที่ยาวเป็นเมตรๆ จนต้องม้วมเป็นวงกลมๆ อยู่ที่ส่วนบนของตู้ แต่ของ V1.5 SE ไม่ได้ออกแบบให้มีท่อที่ยาวขนาดนั้น แต่ก็ยังมีการทำตู้ให้มีปลายด้านบนและล่างที่ลู่เป็นโค้งเล็กๆ เพื่อช่วยขจัดความเพี้ยนจากคลื่นอากาศในตู้ลำโพง 

Vivid Audio V1.5 SE แม้เป็น ลำโพงเล็กสุด แต่คุณภาพเสียง อยู่ในระดับที่เป็นการการสร้าง มาตรฐานใหม่ ถือว่าค่อนข้างสูง มากสำหรับลำโพงระดับราคาน้ี และไม่เพียงเฉพาะกับลำโพง วางขาต้ัง แต่ลำโพงตั้งพื้นท่ีอยู่ ในงบนี้ก็ต้องระวังตัวไว้ให้ดี 

นอกจากนี้ ในการยึดตัวขับเสียงเข้ากับผนังตู้ลำโพงก็แตกต่างจากลำโพงทั่วไป เนื่องจากใช้การสวมอัด โดยด้านหลังตู้มีสกรูไขเพื่อดึงตัวขับเสียงที่มีขอบเป็นวงแหวนยางรองอยู่ให้กดลงบนบ่าของตัวตู้ ไม่ได้ใช้สกรูขันยึดแบบลำโพงอื่นๆ เพื่อตัดขาดแรงสั่นสะเทือนจากตัวขับเสียงและตู้ลำโพงออกจากกัน เพื่อไม่ให้มีการกวนซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นที่มาของเสียงที่มีความสะอาดอย่างโดดเด่น นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงของรุ่น V1.5 SE ที่ปรับจาก V1.5 รุ่นเดิม ก็มีในส่วนของวงจรตัดแบ่งความถี่ ถือเป็นเรื่องปกติเมื่อมีการเปลี่ยนตัวขับเสียงก็ต้องมีการปรับแต่งวงจรตัดแบ่งความถี่เพื่อให้เหมาะสมกับการทำงานของตัวขับเสียงใหม่ที่เปลี่ยนเข้าไป 

ในส่วนฐานของตัวลำโพงมีขั้วต่อสายลำโพงไบไวร์ติดตั้งไว้ที่ด้านหลัง โดยส่วนตัว ผมไม่ชอบการออกแบบลักษณะนี้เท่าไหร่ จริงอยู่ที่การซ่อนขั้วต่อแบบนี้จะทำให้เกิดความสวยงามเวลาจัดวาง แต่เนื่องจากมีความเห็นว่าลำโพง 2 ทาง คงไม่มีใครเล่นไบแอมป์อยู่แล้ว จริงๆ ให้ขั้วต่อลำโพงมาคู่เดียวก็พอ และเนื่องจากสายลำโพงที่ผมใช้เป็นขั้วต่อแบบหางปลาจึงทำให้การต่อสายลำโพงอ้างอิงที่ใช้อยู่ประจำ ที่มีตัวสายค่อนข้างแข็งไม่สามารถต่อได้ จึงต้องเลี่ยงไปใช้สายลำโพงอื่นและใช้จั๊มเปอร์ ซึ่งเมื่อเป็นคนละรุ่นกันก็จะพบปัญหาเรื่องความกลมกลืนในน้ำเสียงระหว่างทวีตเตอร์และวูฟเฟอร์ได้ ซึ่งตรงจุดนี้ ในช่วงแรกๆ ที่ทำการเบิร์นอินก็ไม่ได้รู้สึกมากมายนัก เพราะตัวขับเสียงทั้งสองสามารถทำงานสอดประสานกันได้เป็นอย่างดีมากแล้ว แต่เมื่อได้สายลำโพงไบไวร์ที่เหมือนกันทั้งเบสและแหลม ความกลมกลืนที่เคยรู้สึกว่าดีแล้วก็ยังสามารถดีขึ้นไปได้อีกจนน่าตกใจเลยทีเดียว ดังนั้น แนะนำเป็นอย่างยิ่งว่าต้องใช้สายลำโพงไบไวร์หรือใช้จั๊มเปอร์ที่เหมือนกับสายลำโพงเป๊ะๆ เท่านั้น แล้วจะได้รับรู้ความพิเศษของ Vivid V1.5 SE 

ในการเล่นในช่วงแรก เนื่องจากเป็นลำโพง 2 ทาง วางขาตั้ง ความไว 89dB@1m รองรับกำลังขับสูงสุด 150 วัตต์ ไม่น่าจะขับยากมากมายอะไร จึงเริ่มทำการลองด้วยแอมป์หลอด Cary V12 ที่เป็น 50 วัตต์ ไตรโอด เสียงที่ได้ออกมาจริงๆ ก็เพียงพอต่อการฟังเพลงทั่วๆ ไปแล้ว ถ้าห้องไม่ได้ใหญ่มากมายก็น่าจะเอาอยู่ เพราะเสียงที่ได้มีความอิ่มหนาน่าฟัง แถมยังไม่มีอาการช้ายานคราง ของเสียงเบสให้ได้ยิน นับว่าเป็นลำโพงที่เสียงอิ่มสะอาด เบสกระชับ หนักแน่น เสียงกลางอิ่มหนาไม่เพียงเสียงร้อง แต่หมายรวมถึงเสียงกลองสแนร์ในแผ่น The Super Jazz Trio ที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นสแนร์ที่บอดี้กลองทำจากไม้ (กลองสแนร์มีทั้งที่ทำจากไม้และโลหะ ให้เสียงตามแต่มือกลองจะเลือกใช้ให้เข้ากับแนวเพลง), เสียงกลองกระเดื่อง ใหญ่ แน่น แต่แน่นอนที่ความถี่ต่ำไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าลึกสุดๆ ซึ่งเป็นข้อจำกัดด้วยขนาดลำโพง แต่เท่าที่ V1.5 SE ให้ออกมาได้ก็เกินความคาดหมายจากลำโพงสองทางขนาด 5 นิ้วไปไกลมากแล้ว เสียงกระเดื่องถึงขนาดที่ลำโพง 3 ทาง ตั้งพื้น วูฟเฟอร์ 8 นิ้ว มีหนาวๆ เลยทีเดียว จุดที่ยังสังเกตว่าน่าจะลองเพิ่มกำลังขับดูคือ ความสะอาด และการแยกแยะช่องไฟ การถ่ายทอดรายละเอียดหยุมหยิม ที่หากต้องการฟังอย่างซีเรียสก็ยังน่าจะหวังผลได้อยู่ ดังนั้นจึงมีการตัดสินใจเปลี่ยนแอมป์มาเป็นโซลิดสเตท 350 วัตต์ ซึ่งก็เป็นไปตามคาด เสียงต่างๆ เปิดกระจ่างมากขึ้นจนโทนเสียงบางลงเล็กน้อย ต้องมีการถ่างระยะห่างระหว่างลำโพงออก และเลื่อนถอยหลังเข้าหาผนังหลังอีกเล็กน้อย (ราวๆ ด้านละ 1 – 2 นิ้ว) เพื่อให้เสียงลงตัว ซึ่งหลังจากที่ได้เซ็ตตำแหน่งลำโพงใหม่แล้ว สิ่งที่ได้เพิ่มมาคือ ความสะอาด สงบนิ่งในทุกลีลาช่องว่าง ช่องไฟระหว่างแต่ละตัวโน้ตมีการเว้นระยะชัดเจนขึ้น เพลงช้าๆ รู้สึกได้ว่าเหมือนเพลงช้าลง คือเราสามารถซึมซับกับโน้ตแต่ละตัวได้ตั้งแต่หัวเสียง ไล่มาถึงบอดี้ของเสียงเครื่องดนตรีชิ้นนั้นๆ พร้อมทั้งหางเสียงที่ค่อยๆ จางหายไปก็ยังคงสามารถติดตามได้ ไม่ได้ถูกโน้ตตัวใหม่กลบทับจนติดกันไปหมด รูปวงกระจายตัวเป็นสามมิติมากขึ้น มีความลึกเข้าไปในผนังหลังมากขึ้นอย่างชัดเจน 

ในระหว่างทดสอบ Jocelyn B. Smith: Hear I am เป็นแผ่นที่ถูกหยิบมาฟังบ่อยมาก เพราะเสียงร้องที่อิ่มกำลังดี มีความสะอาดมาก เสียงเปียโนมีบอดี้ของไม้กำลังดี แม้กระทั่งเสียงดีดนิ้วยังรู้สึกถึงเนื้อ เหมือนเสียงดีดนิ้วที่ควรจะเป็น ไม่เป็นเสียงแป๊ะๆ บางๆ ลีลาการร้องมีรายละเอียดให้ฟังมากมาย เมื่อเปลี่ยนมาเป็น Chie Ayado: Live ซึ่งเป็นแผ่นแรกที่เล่นใน Jazz Club พบว่าเสียงเปียโนมีการวางไมค์เน้นการจับหัวเสียงที่ค้อนกระแทกสายเข้ามามากกว่าแผ่น Jocelyn อย่างชัดเจน เรียกได้ว่าเสียงบอดี้เปียโนน้อยลงไปเลย เข้าใจว่าเป็นที่เปียโนอยู่คนละห้อง และรสนิยมของผู้อัดที่ถ่ายทอดมาต่างกัน ในส่วนของเสียงร้องก็มีความดิบของการแสดงสดออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ไม่ใช่ว่าเสียงจัดจ้านไม่น่าฟังนะครับ แต่มันเป็นเรื่องของการเลี้ยงลม การเปล่งเสียง ซึ่งป้าชิฯ ต้องนั่งเล่นเปียโนไป ร้องเพลงไปด้วย แถมต้องร้องหลายเพลงติดกันด้วย จะไปเน้นกันทุกโน้ตแบบร้องทีละเพลงในห้องอัดคงไม่ได้ ในส่วนของเสียงคนดูที่มีแทรกเข้าไมค์มาต้องบอกว่ามีความเป็นธรรมชาติมากๆ จุดที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ขนาดรูปวงของ Vivid V1.5 SE ที่สามารถเติมเต็มห้องขนาด 5 x 7 เมตร ได้สบายๆ ไม่มีความรู้สึกว่าลำโพงเล็กเกินไป หรือใหญ่เกินไป ที่สำคัญคือ มันสามารถเปลี่ยนไปตามแผ่นที่บันทึกมาได้อย่างน่าสนใจ ที่บอกอย่างนี้เพราะเมื่อเปลี่ยนแผ่นป้าชิฯ อัลบั้มเดียวกันเป็นแผ่นที่ 2 ที่แสดงในคอนเสิร์ตฮอลล์ ซึ่งปกติก็รับรู้ได้ว่าเสียงออกจะก้องกว่าโดยมากก่อนหน้านี้เมื่อฟังแผ่นที่ 2 จะออกแนวก้องๆ ฟุ้งๆ จนรู้สึกว่ามากเกินไป จึงไม่ค่อยได้หยิบมาฟังเท่าไหร่ แต่เมื่อเล่นผ่าน V1.5 SE ก็พบว่าความรู้สึกเหมือนความฟุ้งรวนมั่วที่เคยได้ยิน จริงๆ แล้วเป็นความเพี้ยนของลำโพง เพราะเมื่อฟังผ่าน V1.5 SE จะพบว่าลำโพงสามารถถ่ายทอดความนิ่ง เงียบ ของโถงฮอลล์ที่แสดงออกมาได้ มันไม่ได้ก้องฟุ้ง มันแค่เป็นเสียงสะท้อนที่มีระยะเวลานานกว่าเนื่องจากขนาดฮอลล์ที่ใหญ่ ทำให้เสียงต้องใชเวลาในการวิ่งนานขึ้น สามารถรับรู้ถึงความใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างชัดเจน และเป็นธรรมชาติ ทำให้แผ่นนี้มีความน่าฟังเพิ่มขึ้นมาอีกหลายเท่าตัวเลยทีเดียว แล้วคงต้องจำเสียงไว้เป็นเสียงอ้างอิงในการเซ็ตลำโพงให้ได้โถงที่มีความเป็นธรรมชาติเช่นนี้กับลำโพงอื่นๆ ด้วย เรียกว่าจากแผ่นที่ไม่ค่อยได้หยิบมาฟัง กลับกลายเป็นแผ่นที่เอาเข้ากลุ่มแผ่นที่น่าหยิบมาฟัง เช็คความเรียบร้อยในการเซ็ตเลยทีเดียว (ปกติในการเซ็ตเครื่องเสียง ผมจะใช้เพลงหลายๆ แผ่น หลายๆ แนว ฟังไปเรื่อยๆ ไม่ได้เน้นฟังเจาะแค่แผ่นใดแผ่นหนึ่ง เสียงใดเสียงหนึ่ง เพราะผมมีความเชื่อว่าชุดที่ดีควรต้องให้ค่าOver all ได้ดีในทุกแนวเพลง) 

และเมื่อโถงใหญ่ขึ้น เสียงเปียโนก็ถูกบันทึกมาเป็นธรรมชาติมากขึ้นด้วย ไม่ได้เน้นหัวเสียงมากเหมือนแผ่นแรก แถมยังมีเสียงความถี่ต่ำๆ ของบอดี้เปียโนที่ก้องกังวานในฮอลล์ใหญ่ๆ ให้ได้สัมผัสความรู้สึกอิ่มฉ่ำน่าฟังมากดีทีเดียว อีกจุดที่น่าสนใจคือ เป็นลำโพงที่ผมสามารถเปิดม่านฟังเพลงได้ ซึ่งถ้าใครตามอ่านบททดสอบของผมบ่อยๆ จะทราบว่าห้องของผมมีหน้าต่างกระจกขนาดเกือบเต็มพื้นที่หลังลำโพง ซึ่งปกติต้องปิดม่านฟังเพื่อช่วยซับเสียงสะท้อนหลังลำโพง ยกเว้นเฉพาะลำโพงที่มีการออกแบบต่างออกไป อย่างเช่น Electrostatic ที่ใช้อ้างอิงส่วนตัว หรือพวกลำโพงฮอร์นที่มีมุมกระจายเสียงแคบๆ มาเฉพาะด้านหน้าแต่กับ V1.5 SE จริงๆ ก็เป็นลำโพงตู้ธรรมดายิงเสียงด้านหน้าและออกรอบตัววนไปด้านหลังด้วย จึงต้องการผนังหลังที่ซับเสียง แต่เนื่องจากมีตัวตู้โค้งมนค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ไม่เกิดความเพี้ยนของการกระจายตัวของเสียงที่วิ่งอ้อมตู้ไปด้านหลัง ดังนั้น เสียงสะท้อนจากผนังหลังจึงมาเสริมความรู้สึกถึงความลึกของรูปวงได้ โดยไม่ทำให้เสียคุณภาพไป เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก เรียกได้ว่าถ้าใครมีห้องฟังที่มีหน้าต่างมองเห็นสวนแบบผม แล้วเจอปัญหาในการเลือกลำโพงเข้าประจำการ Vivid V1.5 SE เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมาก และแนะนำเป็นอย่างยิ่งว่าต้องไปฟังให้ได้ ก่อนตัดสินใจ

และจากที่บอกไปตอนต้น เรื่องสายลำโพงไบไวร์ที่ต้องเหมือนกัน เพราะเมื่อได้ลองเปลี่ยนเป็นสายลำโพง Nordost: Heimdall biwire ก็พบว่ามันสามารถเข้ามาช่วยให้ความต่อเนื่องของการทำงานระหว่างวูฟเฟอร์และทวีตเตอร์ ต่อกันได้อย่างเนียนสนิทแนบแน่นไร้รอยต่อมากขึ้นไปอีก สังเกตได้จากความสะอาดของเสียงที่สะอาดมากขึ้นไปอีก คือไม่มีคำว่าเสียงแหลมเป็นยังไง เบสเป็นไง มันหล่อหลอมรวมเป็นเสียงดนตรีที่มีความต่อเนื่องกลมกลืนกัน มันมีแค่แรงปะทะของหัวเสียงที่เป็นคลื่นที่มีการเปลี่ยนแปลงแรงดันอย่างรวดเร็วรุนแรง กับหางเสียงเป็นระลอกคลื่นที่กระเพื่อมแผ่ตามออกมาจากต้นกำเนิดเสียง ซึ่งเราสามารถรับรู้ได้ว่ามันมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น และมีอัตราการเปลี่ยนแปลงความดันที่ช้าลง (ความถี่และความดัง ค่อยๆ ลดลง) โดยทั้งสองส่วนที่ว่ามันแค่ทำงานต่อเนื่องกันเป็นธรรมชาติ ไม่ได้มีความจำเป็นต้องไปสนใจว่าเสียงแหลมที่มาจากทวีตเตอร์เป็นอย่างไร เสียงเบสมาจากตัวขับเสียงชนิดไหน มันแค่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันเฉยๆ 

กับแผ่น the super jazz trio เสียงกลองและฉาบต่างๆ มีรายละเอียดที่เป็นธรรมชาติดี มีความรู้สึกถึงอิมแพ็คที่ไม้กลองตีลงบนหนังกลองแต่ละใบในแต่ละที รายละเอียดของการตีในส่วนต่างๆ ของฉาบแต่ละใบ ทั้งส่วนหัวฉาบที่ได้เสียงกังวาน และตัวฉาบที่ได้เสียงแผ่ใหญ่ เพื่อให้ได้เสียงแตกต่างกันไปในแต่ละท่อนของเพลง หรือแม้กระทั่งเสียงการไล้ฉาบและผิวกลองสแนร์ด้วยแส้ ก็ให้รายละเอียดได้ดี โดยเฉพาะท่อนที่มีการโซโล่กลอง เสียงกลองหนักแน่นเกินความคาดหวังจากลำโพงสองทาง วูฟเฟอร์ 5 นิ้วไปไกลโข ชนิดที่ว่าลำโพงสามทางวางพื้นหลายตัวยังต้องหลบไปให้ไวเลย เสียงเปียโนมีทั้งความกังวานสดใส และความอิ่มของบอดี้เนื้อไม้ของตัวเปียโน ที่จะย่อหย่อนไปบ้างนิดหน่อยก็คือ แรงกระเพื่อมของเสียงดับเบิลเบสที่ธรรมชาติของเสียงจริง เราต้องรับรู้ได้ถึงพลังงานความถี่ต่ำที่แผ่มาตามพื้น ซึ่งถ้าสามารถให้ออกมาได้สมส่วนกับเสียงย่านอื่นก็คงไม่เหลืออะไรให้ติแล้ว แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเรากำลังฟังลำโพง 2 ทาง วูฟเฟอร์ 5 นิ้ว ในห้องขนาด 5 x 7 เมตร แล้วสิ่งที่รู้สึกขาดมีเพียงความรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนไล่มาตามพื้น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความถี่ระดับช่วงก้ำกึ่งระหว่างคำว่า“เสียง” กับ Infrasound!!! ดังนั้น มันเป็นเพียงสิ่งที่ยังไม่มีให้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ขาดสำหรับลำโพงตัวเท่านี้ จริงๆ แล้วจากสเป็กที่ลำโพงสามารถให้ความถี่ต่ำลงไปได้ถึง 40Hz ก็เท่ากับว่าลำโพงคู่นี้ออกแบบมาให้ใช้ในห้องที่มีด้านยาวสุดไม่เกินราวๆ 4 เมตร ถึงไม่เกิน 4.5 เมตรแค่นั้น ซึ่งถ้าไปอยู่ในห้องขนาดนั้นก็ไม่น่าจะรู้สึกว่าขาดอะไรแล้ว 

แม้กระทั่งกับเพลงที่หนักหน่วงอย่าง Dahlia ของ X-Japan ก็ยังสามารถเล่นได้เสียงเต็มห้องขนาด 5x 7 เมตร ได้เป็นอย่างดี แถมยังได้เสียงที่เต็มอิ่ม มีแรงปะทะของกระเดื่องกลองที่รวดเร็วกระชับฉับไวได้ หรือแม้กระทั่งแผ่นโหดๆ อย่างแทร็ก The Imperial March ในแผ่น Telarc Great Film Fantasies ที่ให้เสียงเครื่องสายและเครื่องเป่าที่มีความรู้สึกยิ่งใหญ่เกรียงไกรได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกต่างออกไปทุกทีที่ได้ฟังเพลงนี้คือ เสียงกลองใหญ่ที่ปกติจะรุกเร้าออกมาด้านหน้ามากเกินจริง เหมือนเอาไมค์ไปจ่อที่หนังกลอง แล้วมีการเร่งความดังให้มีการเน้นเสียงมามากเกินจริง แต่ในคราวนี้พบว่าเสียงกลองมีความลึกเข้าไปด้านหลังของวงอย่างที่ควรจะเป็น และมีความดังเหมาะสมกลมกลืนกันเครื่องดนตรีอื่นๆ ในวงมากขึ้น และอีกแทร็ก เช่น Duel of the Fates ที่มาจาก Star Wars Ep. 1 ฉากดวลดาบเลเซอร์ที่มีดนตรีประกอบที่ตื่นเต้นมาก มีเสียงนักร้องผสานเสียงเป็นระยะๆ Vivid V1.5 SE ก็สามารถคุมโทนของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นให้มีความกลมกลืนสอดผสานไปตามลีลาเพลงที่รุกเร้าตื่นเต้นได้ดี จัดวางตำแหน่งเสียงร้องประสานเสียงเป็นกลุ่มๆ ในจุดต่างๆ ของเวที ผลัดกันผุดขึ้นมาในแต่ละช่วงของเพลง 

ในแผ่น Robert Stanton: Acoustic Storm เสียงกีตาร์มีความสะอาด รู้สึกได้ถึงสายแต่ละเส้นที่ถูกดีด ในขณะที่มีความอบอุ่นของตัวบอดี้ไม้เป็นตัวเสริมฐานเสียง เสียงเครื่องเคาะต่างๆ ในเพลง Highway Hypnosis ให้ความสดเป็นธรรมชาติกำลังดี เสียงเบสก็มีเนื้อมีหนัง มีความชัดเจน ติดตามโน้ตได้ดี เสียงเบสมีขนาดใหญ่เกินตัวลำโพงไปมากกว่าที่คิดไว้เยอะ กับแผ่น Eric Clapton: Pilgrim ที่ถือเป็นเรื่องง่ายของลำโพงอย่าง V1.5 SE ก็พบว่านอกจากจะให้โทนบาลานซ์ที่น่าฟังมากแล้ว ยังสามารถถ่ายทอดความต่างของการมิกซ์เสียงในแต่ละเพลงของอัลบัมนี้ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากในอัลบัมนี้มีการใช้ซาวด์เอ็นจิเนียร์หลายคน และในแต่ละเพลงที่เรียงต่อกันใช้ซาวด์เอ็นจิเนียร์ในการมิกซ์ต่างคนกัน โดยปกติก็ควรต้องพยายามมิกซ์ให้มีความต่อเนื่องกัน แต่ในคราวนี้เมื่อฟังผ่าน Vivid Audio V1.5 SE พบว่ามีการสะดุดของอารมณ์เล็กน้อย เนื่องจากแนวเสียงในการมิกซ์แต่ละเพลงที่ใช้ซาวด์เอ็นจิเนียร์ต่างคนกันมีความแตกต่างกันเล็กน้อย นั่นแสดงให้เห็นว่าไม่มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่จะหลุดรอด V1.5 SE ไปได้ง่ายๆ แต่ไม่ได้เป็นในแบบ “ขี้ฟ้อง” ที่หลายๆ คนกลัวกัน เพราะอาการ “ขี้ฟ้อง” ที่คนส่วนมากกลัวกันนั้น แท้ที่จริงแล้ว มักไม่ได้เกิดจากการที่ชุดเครื่องเสียงถ่ายทอดรายละเอียดยิบย่อยออกมาจนเห็นข้อบกพร่องในเพลง หากแต่มักเป็นเพราะการจัดชุดที่มีโทนเสียงออกบาง ขาดฐานเสียงมาเติมเต็มความน่าฟัง จึงออกอาการเสียงจัดกร้าวได้ง่าย เมื่อเจอบางแผ่นก็จะได้ยินเสียงที่จัดจ้าน ก็พาลคิดว่าลำโพงชุดนี้มีอาการ “ขี้ฟ้อง” แต่ความสามารถในการแสดงรายละเอียดของ V1.5 SE จะต่างออกไป คือ ในแต่ละเพลงยังคงมีโทนบาลานซ์ที่ดี มีฐานเสียงที่อิ่มน่าฟัง เพียงแต่ว่าเราฟังได้ถึงความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละเพลง ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันสามารถขุดคุ้ยข้อมูลที่ถูกบันทึกมานำเสนอให้เราได้ยินอย่างที่ควรจะเป็น 

ดังนั้น มาถึงตรงจุดนี้ เท่าที่ได้ลองฟัง Vivid Audio V1.5 SE แม้เป็นลำโพงฟังเพลงรุ่นเล็กสุด แต่พบว่าคุณภาพเสียงอยู่ในระดับที่ต้องเรียกได้ว่าเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานที่ค่อนข้างสูงมากสำหรับลำโพงในระดับราคานี้ไม่เพียงแต่เฉพาะกับลำโพงสองทางวางขาตั้ง แต่ลำโพงตั้งพื้นที่อยู่ในงบนี้ก็ต้องระวังตัวไว้ให้ดี หากท่านกำลังมองหาลำโพงสำหรับฟังเพลงที่มีคุณภาพเสียงที่สูงมาก เพื่อใช้กับห้องที่ขนาดไม่เกิน 4 x 5 เมตร ท่านต้องไปฟังให้ได้ เพราะสามารถจบที่ V1.5 SE ได้สบายๆ ถ้าคิดจะมองข้าม V1.5 SE ไป ก็แสดงว่าท่านน่าจะมี Giya อยู่ในลิสต์ลำโพงที่อยากไปฟังแล้วเท่านั้น ถึงจะมองข้าม V1.5 SE ไปได้ โดยไม่ถือว่าพลาดของดี สิ่งที่อยากจะฝากทางตัวแทนไปถึงผู้ผลิตคงมีเพียงเรื่องของขั้วต่อสายลำโพงที่น่าจะยุบให้เหลือคู่เดียว และจัดวางให้ต่อสายได้ง่ายกว่านี้ แต่ ณ ตอนนี้ สิ่งที่จะแนะนำในการจับคู่กับ Vivid Audio V1.5 SE ก็คงมีเพียงแค่ ควรหาแอมป์คุณภาพสูงให้รายละเอียดได้ดี มีกำลังดีๆ สักตัว ไม่จำเป็นต้องเจือความหวานแบบหลอดก็ได้ เนื่องจากแนวเสียงของลำโพงมีความอิ่มหวานในตัวของมันแล้ว และเชื่อมต่อด้วยสายลำโพงไบไวร์ที่มีการออกแบบให้ตัวนำของทั้งย่านสูงและต่ำเป็นแบบเดียวกัน และควรจะเป็นขั้วบานาน่าเพื่อความสะดวกในการเชื่อมต่อ หากท่านจะใช้สายลำโพงซิงเกิ้ลไวร์ต้องแน่ใจว่าต้องใช้คู่กับจั๊มเปอร์ยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกันเท่านั้น ถึงจะได้เสียงที่เป็นที่สุดจาก V1.5 SE คู่นี้ 

นับเป็นลำโพงหนึ่งคู่ที่ต้องตัดใจส่งกลับ ว่าแล้วคงต้องไปลองหาเพลง “แจกัน” ของ สุเมธ แอนด์ เดอะปั๋ง มาฟังก่อนส่งคืนละกัน เนื้อเพลงมันโดนจริงๆ

ปล. ตอนแรกกะจะหาแผ่นซีดี สุเมธ แอนด์ เดอะปั๋ง มาฟังเพลง “แจกัน” ขำๆ ให้มันเข้ากันกับบทความ แต่พอฟังแล้วถึงกับต้องแถมรีวิวส์เพิ่มอีกนิด เพราะตอนแรกกะจะฟังเพลงเดียว กลายเป็นฟังทั้งแผ่น เพราะมีการถ่ายทอดลีลาการเล่นที่มีความรู้สึกถึงการสอดผสานหยอกล้อกันระหว่างเครื่องดนตรีชิ้นต่างๆ ได้อย่างมีจังหวะจะโคน แถมเสียงร้องยังมีรายละเอียดของการเลือกออกเสียงในแต่ละคำให้มีความน่าติดตามได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าฟังเพลินไปเลย หัวเสียงของกีตาร์ เปียโน และพวกเพอร์คัสชั่น ก็มีพลังดีดดิ้นขึ้นมาในอากาศได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีความสากเสี้ยน สดจัดจ้านเลยแม้แต่น้อย เรียกได้ว่าสดแต่เนียน น่าฟังจริงๆ. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 250