ชุมพล

นักเขียน : ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ :

 แฟนๆ Cary ตั้งแต่สมัย CAD-300 SE I, CAD-805 คงจะรู้สึกแปลกใจที่ Cary ทำแอมป์โซลิดสเตท + ภาค DAC + บลูทูธ + WiFi สุดล้ำ ซึ่งมีกำลังขับตั้ง 300 วัตต์ต่อข้าง!!! ออกมามันคืออินทิเกรตแอมป์ รุ่น SI-300.2d ที่ได้รับความนิยมชมชอบมิใช่น้อย ผมเคยฟัง Cary มาหลายบ้าน ติดภาพลักษณ์ความเป็นหลอดของแบรนด์นี้มานาน พอต้องมาทดสอบ SI-300.2d เลยเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายไปมาก เหมือนกับ Cary ตั้งใจออกสินค้ามาจับตลาดนักเล่นเครื่องเสียงยุคใหม่ กลุ่มพวก Lifestyle ที่อาจจะมีความต้องการผลิตภัณฑ์สำหรับใช้งานกับดิจิทัลได้ และให้สุ้มเสียงในแบบอะนาล็อก ซึ่งผมคิดว่ามันยังคงมี Market Gap อยู่ และ Cary ก็เข้ามาเสียบตรงนี้เป็นเจ้าแรกๆ ต่อไปเราคงจะเห็นแบรนด์ไฮเอ็นด์ออกอินทิเกรต + DAC ขั้นเทพ รับบลูทูธ + ภาคโฟโนออกมากันเต็มตลาดไปหมดก็เป็นได้ครับ

ให้มาครบทั้งสมรรถนะและคุณภาพเสียง การใช้งานไม่ยุ่งยาก แม้แต่มนุษย์อะนาล็อกเช่นผมยังใช้มันได้

ถอยหลังกลับไปนิด เราท่านได้เห็นว่า Cary ทำเครื่องเล่นซีดีมาขาย (ไม่แปลก), ทำDAC และ Network Players (ชักแปลก), ทำโฟโนสเตจ (ไม่แปลกอีก) ทำแอมป์หูฟัง เฮ้ย!! จริงดิ๊!! ครับ ผมว่าแล้วไหม เครื่องเสียงเจ้านี้เขาเอาจริงกับ Lifestyle Products ประเด็นคือ… แล้วคุณภาพเสียงจะยังคงมีบุคลิกแบบ Cary อันเป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ ยุคดั้งเดิมอีกหรือไม่? คำถามนี้กำลังจะได้รับคำตอบจากผลการทดสอบอินทิเกรตแอมป์ SI-300.2d ในครั้งนี้ครับ

การออกแบบ

รูปร่างหน้าตาของ SI-300.2d ผมว่าดูคล้ายกับรีซีฟเวอร์รุ่นกลางๆ แผงหน้าอะลูมิเนียมปัดลายเสี้ยน ลูกบิดปรับวอลลุ่มขนาดใหญ่วางอยู่ตรงกลาง จอแสดงผลด้านซ้ายเป็นตัวหนังสือแสดงว่าอยู่ใน Mode หรือ Input ใด ส่วนจอทางด้านขวาเป็น VU มิเตอร์ (วัดระดับสัญญาณ) แบบเข็มกระดิก มีไฟ LED สีฟ้าย้อมไว้ สามารถหรี่ความสว่างหน้าจอได้ ที่ด้านล่างเป็นปุ่มกดเม็ดกลม ไล่มาจากด้านซ้ายมือ คือ… สวิตช์ Power On/Off ต่อด้วยปุ่มเล็กๆ อีก 14 ปุ่ม ไล่ไปเรื่อยๆ Display, Mute, Sample Rate Converter, Cinema By-Pass, Bluetooth ต่อด้วยปุ่มกดเลือก Input ประกอบด้วยช่อง USB, Coaxial 1, Coaxial 2, Optical (Toslink), AES/EBU และช่อง Line 1 – Line 4 สำหรับสัญญาณขาเข้าประเภทอะนาล็อก

แผงหลังเครื่องมีช่อง Input และขั้วต่อสายลำโพง 1 ชุด ช่อง IEC Inlet (เสียบสายไฟ AC) ที่ไม่มีรังฟิวส์ มี XLR Input มาให้ 2 ชุด ช่อง Output สำหรับซับวูฟเฟอร์!!! (ครบจริง)

กลุ่ม Digital Input, XMOS USB สำหรับสัญญาณ Native DSD up to 256 และ PCM/DXD up to 32-bit/384kHz, Optical, Coaxial 1 และ 2 และ AES/EBU (XLR) มี Digital Output ด้วยครับ… ซึ่งมีทั้ง Optical และ Coaxial

ช่อง RMS Ethernet แจ็ค และช่อง USB สำหรับอัพเกรต Firmware ในอนาคต เยอะจนขี้เกียจบรรยาย อ้อ!!! มีสายอากาศเล็กๆ สองอันที่ต้องติดตั้งด้วยการหมุนเกลียวที่ท้ายเครื่องสำหรับ WiFi และ Bluetooth ครับ ที่ผมชอบมากๆ เลย คือ Mode สำหรับเพิ่มระดับเสียงจาก Input ขึ้นมาอีก 6dB สำหรับต้นทางที่มาจากเสียงเบาๆ อย่างการฟังเพลงที่ส่ง Bluetooth มาจากโทรศัพท์มือถือ

ฟังก์ชันเด็ดของ SI-300.2d อีกอย่างคือ ตัวมันสามารถใช้เป็นแค่ปรีแอมป์ (ตัดภาคขยายในตัว) หรือจะไม่ใช้ภาค DAC ในตัวก็ได้อยู่แล้ว แต่ทางที่ดีแล้ว ผมว่าแค่ภาค Bypass Cinema Mode นี่ก็โอเคแล้ว รีโมตคอนโทรลที่ให้มาทำด้วยอะลูมิเนียม + พลาสติกสีเงินทั้งตัว ขนาดไม่ใหญ่โตจนเทอะทะ มีน้ำหนักเบา สะดวกต่อการใช้งาน และเครื่องตอบสนองคำสั่งได้รวดเร็วดีครับ

ภาคปรีแอมป์ของ Cary SI-300.2d เป็นคลาส A (Pure) ส่วนภาคขยายเป็นคลาส A/B ขณะทำงานพบว่าตัวเครื่องอุ่นๆ ไม่ถึงกับร้อนจัด ผมบอกตัวเองว่า สิ่งที่ผมจะทำการทดสอบแอมป์อเนกประสงค์ตัวนี้ คือ… 1. ภาคปรี + ภาคขยาย 2. ภาค DAC 3. คุณสมบัติในการ Up sampling 4. คุณภาพเสียงตอนที่ต่อ Bluetooth

ดังนั้น อุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบร่วม จึงประกอบด้วย… เครื่องคอมพิวเตอร์ MacBook Proใช้โปรแกรม Amarra ในการเล่นไฟล์เพลง, เครื่องเล่นซีดี NEC CD-300 (ปล่อยสัญญาณอะนาล็อกออกทางช่อง XLR) และโทรศัพท์ iPhone 6 เครื่องเก่าแก่ เพื่อส่ง Bluetooth ในบางช่วงได้ต่อฟังแผ่นเสียงจาก Linn LP12 + van den Hul: Grasshopper Exim IV + Graham Slee: Reflect X ด้วย

สิ่งแรกที่ต้องเรียนคือ ตอนที่ใช้ฟังก์ชัน Bluetooth เสียงค่อนข้างเบา การปรับใช้ Mode เพิ่มระดับความแรงของ Input จึงช่วยได้มากตรงนี้ เมื่อ Adjust เสร็จแล้ว เสียงไม่เลวเลยครับ แค่ไฟล์ MP3 ธรรมดาๆ นี่ก็ฟังได้อย่างไพเราะพอควรแล้ว ตอนที่ผมเริ่มต้นทดสอบได้เล่นเพลงจาก Macbook Pro สลับกับเครื่องเล่นซีดี เบิร์นอยู่ 30 กว่าชั่วโมง ได้เวลาต้องส่งต้นฉบับแล้ว จึงต้องมาฟังแบบจริงจัง ทั้งที่ใจคิดว่า น่าจะไปได้ไกลกว่าอีก หากเบิร์นต่ออีกสัก 10 ชั่วโมง

ล้างตับกันหน่อย…

ในภาคปรีแอมป์ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่หมด ส่วนภาคขยายนั้น วงจรมาจากเพาเวอร์แอมป์ Cary ในรุ่น CAD-200 ส่วนภาคดิจิทัลของรุ่น SI-300.2d ถอดแบบมาจากตัว DAC ปรีแอมป์รุ่น Cary DAC-200ts หัวใจของ DAC คือ ชิพ Asahi Kasei (AKM) AK4490 EQ ซึ่งใช้อยู่ในเครื่องเสียงชั้นนำหลายยี่ห้อ ความสามารถของชิพตัวนี้สามารถทำให้ไฟล์เพลงปกติที่ 16/44.1kHz อัพแซมปลิ้งขึ้นไปได้ถึง 32-bit/768kHz!!! (จะมีอะไรที่สูงกว่านี้อีกไหม) ผู้ใช้งานเลือกได้ว่าจะเล่นไฟล์ตามที่ถูกบันทึกมา หรือจะแปลงสัญญาณ PCM ให้กลายเป็น DSD64, 128 และสำหรับไฟล์ DSD เจ้าชิพตัวนี้ยังเพิ่มความสามารถขึ้นไปได้ถึง 256 โดยผ่านสาย USB ไม่ใช่ SPDIF สิ่งที่SI-300.2d ไม่ได้ให้มาด้วยคือ ภาคโฟโน และช่องเสียบหูฟังครับ เข้าใจว่าผู้ผลิตต้องการเอาใจนักเล่นไฟล์เพลงเป็นพิเศษจึงเน้นไปที่ภาค DAC

ผลการทดสอบ

หลังจากใช้งาน Cary SI-300.2d อยู่ 30 ชั่วโมง ผมพบว่า บุคลิกเสียงโดยรวมมีความอิ่มเอิบ ทรงพลัง ทว่าสุภาพ ไม่รุกเร้ามากนักแต่ให้รายละเอียดออกมาครบถ้วน เป็นเสียงแบบที่ฟังได้นานๆ โดยไม่ล้าหู ในขณะที่ยามใดต้องการศักยภาพของไดนามิกและทรานเชี้ยนต์ มันก็เรียกออกมาได้โดยมิขาดตกบกพร่องไปแต่ประการใดเลย เริ่มจากแผ่นทดสอบของ เดเนียล เฮิร์ท โดยนายมาร์ค เลวินสัน อัดมาเสียงดีมาก ผมปล่อยสัญญาณอะนาล็อกออกมาจากเครื่องเล่นซีดี NEC โดยใช้สาย XLR เดินไปเข้า SI-300.2d สุ้มเสียงที่ปรากฏออกมาเข้มข้นด้วยเนื้อมวล จังหวะพอดีๆ ไม่รู้สึกว่าเร็วหรือช้ากว่าที่ควรจะเป็น แผ่นซีดี DH นี่มี 3 ชุดครับ เพลงที่บันทึกเอาไว้มีหลากหลายแนวเพลงเหลือเกิน แต่ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีจริง จึงใช้ทดสอบประสิทธิภาพเครื่องเสียงได้เป็นอย่างดี

ผมลองเปลี่ยนไปฟังเสียงร้องหวานๆ ของ คุณสุภัทรา อินทรภักดี จากอัลบั้ม “เพลงโปรด” ที่รีมาสเตอร์ออกมาในฟอร์แมต UHQ CD เสียงไพเราะจับใจเหลือเกิน SI-300.2d ขับดันเสียงออกมาได้อย่างลื่นไหล ต่อเนื่อง แหลมไปได้ไกล โดยที่ไม่ซี้ดซ้าด เบสปรากฏออกมาเป็นลูกใหญ่ๆ ลงได้ลึกพอสมควร มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ตกหล่น ความใส (Transparency) ของ Cary ตัวนี้ เปรียบประดุจเหมือนแสงแดดยามบ่ายที่สว่าง แต่ไม่ร้อนแรงเท่ากับตอนเที่ยง มีความอบอุ่นปนอยู่ระคนกับความกังวานฉ่ำนิดๆ คล้ายกับแอมป์วินเทจระดับไฮเอนด์อยู่หลายส่วน แต่ก็ไม่ถึงกับขนาดอิ่มเนื้อแบบเพาเวอร์แอมป์หลอดสุญญากาศ

ขยับไปฟังเสียงจากแผ่นเสียงที่ส่งเข้ามาทางสาย RCA กันบ้าง ความต่อเนื่องลื่นไหล และกลมมนของหัวเสียงจะแตกต่างไปจาก Input XLR แบบฟังออกชัดเลยครับ แบบไหนดีกว่า ผมว่าขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละท่าน แต่อย่างไรซะ การต่อสาย XLR น่าจะดีในแง่ที่ว่าท่านจำเป็นต้องลากสายยาวเกิน 3 เมตร เพราะกำลังสัญญาณจะสูญเสียไปในสายน้อยกว่าชนิด RCA ครับ แต่หากเดินสายสั้นๆ ช่วง 1 – 2 เมตรแล้ว นักเล่นเครื่องเสียงหลายท่านบอกว่า ชอบบุคลิกเสียงของสาย Coaxial มากกว่า

ในการทดสอบ ผมยิ่งปักหมุดไปที่ว่า ภาคขยายสัญญาณและภาคปรีแอมป์ของ Cary SI-300.2d มีลักษณะเสียงออกไปทางแนวอุ่น (Warm) มีเนื้อมีหนังไม่ผอมบาง มีกลางต่ำคอยหล่อเลี้ยงไว้ ไดนามิกสวิงได้กว้าง เบสใหญ่มีปริมาณพอดีๆ การนำเสนอออกไปทางสุภาพนุ่มนวลอยู่บ้าง อันเนื่องมาจากเสียงแหลมที่ฟังสบายมาก ไร้เกรนหยาบกระด้างสิ้นเชิง การลากหางเสียงหรือลูกตวัดที่มักจะได้ยินได้ฟังจากแผ่นเสียง หรือ Transport + DAC ระดับสูงเท่านั้น มีมาปรากฏให้สัมผัสกันด้วย บรรยากาศและแอมเบี้ยนต์ดี เวทีเสียงสงัด แสดงอาณาเขตแน่นอน ชัดเจน อิมเมจขึ้นรูปเป็นตัวเป็นตนมีขนาดพอดีไม่เล็กไม่ใหญ่ ฟังโดยรวมไม่รู้สึกว่าเป็นเสียงที่มาจาก ฟอร์แมตดิจิทัล

ผมไม่ได้ทดสอบการอัพแซมปลิ้งของเครื่อง เนื่องจากข้อจำกัดในตัว Macbook แต่เท่าที่ทดสอบภาค DAC มาถึงตรงนี้ ผมให้มันสอบผ่านด้วยคะแนน 9 : 10 ซึ่งถือว่าสูงมากครับ ในการทดสอบภาครับบลูทูธ ผมใช้ iPhone 6 เล่นเพลงผ่านแอพ Muze เสียงดรอปลงมาจากการเล่นไฟล์เพลงด้วย Macbook พอสมควร เนื่องจากคุณภาพของไฟล์ในโทรศัพท์เป็นหลัก ยิ่งไฟล์ที่เป็น MP3 แล้ว เสียงอู้อี้ไปหน่อย แต่ฟังก์ชันในการเชื่อมต่อกันนี่ทำงานลื่น ไม่มีผิดพลาดครับ

สรุป

Cary SI-300.2d เป็นอินทิเกรตแอมป์ + DAC สมัยใหม่ที่ให้มาครบทั้งสมรรถนะและคุณภาพเสียง การใช้งานไม่ยุ่งยาก แม้แต่มนุษย์อะนาล็อกเช่นผมยังใช้มันได้ เมนูคำสั่งต่างๆ เข้าถึงง่าย เสียงที่จูนเอาใจหูของคนส่วนใหญ่ อบอุ่น มีเบส มีแหลม รายละเอียดดี ไม่พุ่งสาดเสียดแทงหู แถมด้วยกำลังขับตั้ง 300 วัตต์ต่อข้าง ผมล่ะนึกถึงลำโพงที่กลางแหลมดีๆ เบสแน่นๆ ไม่เน้นปริมาณ ความไวสัก 88 – 91dB ซึ่งมีตัวเลือกมากมายในท้องตลาด แนะนำให้ไปลองฟังครับ. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 255