วุฒิศักดิ์

นักเขียน :  วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์ :

 หลังจากตั้งแต่ต้นปีมาได้เล่นทั้งลำโพงใหญ่ แอมป์ใหญ่ มาแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่ต้องได้เล่นเส้น-เล่นสายกับเขาบ้าง แถมยังเป็นเส้นสายประเภท “เส้นใหญ่” ด้วย แต่ไม่ได้เป็นในความหมายในทางไม่ดีที่คนใหญ่คนโตชอบเอาความสนิทสนมเกรงใจของคนที่มีหน้าที่ที่ต้องทำมาเอื้อประโยชน์ส่วนตน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจที่ทุกคนในสังคมต้องร่วมมือกัน ช่วยกันขจัดให้หมดไป บ้านเมืองจะได้เจริญสมเป็นยุค 4.0 ซะที นอกเรื่องแค่นี้พอดีกว่า กลับมาเรื่องเครื่องเสียง เรื่องเพลง ที่เราทำแล้วสบายใจ ไม่เดือดร้อนใครดีกว่า

เส้นสายในคราวนี้มาพร้อมกันถึง 2 เส้น เรียกว่า “เส้นเล็ก” กับ “เส้นใหญ่” ก็น่าจะไม่ผิด เพราะจริงๆ แล้วทั้งสองเส้นที่ได้รับมาคือสายของ Audience รุ่น Au24 SX ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นสูงสุดในขณะนี้แล้ว เพียงแต่ว่าในรุ่น Au24 SX นี้มีการแบ่งเป็นรุ่นย่อยคือ Au24 SX ธรรมดา ซึ่งเป็นสายขนาดใหญ่ที่ใช้ตัวนำทองแดงชนิด OCC ที่มีความบริสุทธิ์ระดับ 6N (99.9999%) ขนาด 10 AWG ซึ่งทางผู้ผลิตแจ้งว่าเป็นการใช้ตัวนำขนาด 13 AWG จำนวน 2 เส้น ต่อขาเพื่อรวมกันให้มีพื้นที่หน้าตัดเทียบเท่าสายขนาด 10 AWG (AWG มาจาก American Wire Gauge ซึ่งเป็นมาตรฐานการบอกขนาดสายไฟของทางอเมริกา โดยตัวเลขน้อยๆ หมายถึงสายที่มีขนาดพื้นที่หน้าตัดใหญ่ๆ และตัวเลขมากๆ จะเป็นสายที่มีหน้าตัดเล็กๆ ซึ่งขนาดสายมีผลต่อปริมาณกระแสไฟที่สามารถผ่านสายไปได้) โดยสายรุ่น Au24 SX ธรรมดาเหมาะสำหรับเครื่องที่ต้องการใช้กระแสไฟมากๆ เช่น เพาเวอร์แอมป์ เป็นต้น และ Audience มีสายอีกรุ่นที่ออกแบบมาให้ใช้กับเครื่องที่ต้องการกำลังไฟน้อยๆ คือรุ่น Au24 SX MP ซึ่ง MP ย่อมาจาก Medium Power โดยแต่ละขาใช้ตัวนำขนาด 13 AWG เส้นเดียว ออกแบบมาเพื่อใช้กับเครื่องที่กินกำลังไฟไม่เกิน 200 วัตต์ เช่น พวกเครื่องเล่นต่างๆ หรือแม้กระทั่งปรีแอมป์ เป็นต้น ในส่วนนี้ Audience ไม่ได้แจ้งไว้ว่า ทำไมเครื่องที่กินไฟน้อยต้องใช้สายเส้นเล็ก

ประเด็นนี้ ในวงการเครื่องเสียงบ้านเราก็มีหลายกลุ่มที่มีแนวคิดต่างกัน บางกลุ่มเชื่อแนวทางคล้ายๆ Audience ที่บอกว่า เครื่องที่กินกำลังเยอะต้องใช้สายเส้นใหญ่ ส่วนเครื่องที่กินกำลังน้อยต้องใช้สายเส้นเล็ก ซึ่งเหตุผลมักจะอธิบายด้วยเรื่องของน้ำเสียง สปีดของเสียงที่ได้เร็วหรือช้า เป็นคุณภาพในเชิงนามธรรมของเสียง บ้างก็อธิบายไปเปรียบเทียบกับสายยาง ถ้าสายใหญ่แต่ใช้น้ำน้อย น้ำจะวิ่งไม่เต็มสาย ผมฟังแล้วก็งงๆ ว่า น้ำกับไฟฟ้าไปเกี่ยวกันตรงไหน

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมีความเชื่อว่า ขนาดสายที่แนะนำตามตารางขนาดสาย AWG เป็นปริมาณกระแสสูงสุดที่สายเบอร์นั้นๆ จะส่งได้อย่างปลอดภัย แต่ถ้าสายใหญ่ขึ้น นำกระแสได้มากกว่าที่เครื่องต้องการเยอะๆ มันก็ไม่ได้มีอะไรเสียหาย นอกจากเปลืองวัสดุ ทำให้ราคาแพง ออกแนวขี่ช้างจับตั๊กแตนเฉยๆ ดังนั้น กลุ่มหลังเชื่อว่า สายที่ดีที่เกิดจากการเลือกวัสดุ การออกแบบโครงสร้างที่ดี มันก็ต้องใช้ได้ดีกับทั้งเครื่องที่กินกำลังไฟเยอะและกินกำลังไฟน้อย เรียกได้ว่า สายที่ดีใส่เครื่องไหนมันก็ต้องดี เอาเป็นว่าผมคงไม่ฟันธงไปว่า แบบไหนถูก แบบไหนผิด เพราะแม้แต่ฝั่งผู้ผลิตเอง ในแต่ละยี่ห้อก็ยังมีความเชื่อในเรื่องนี้ต่างกันอยู่เช่นกัน

กลับมาที่สาย Audience รุ่น Au24 SX ที่ได้รับมาในคราวนี้ มาครบทั้ง 2 รุ่น หน้าตาภายนอกเหมือนกันหมด ยกเว้นตัวหนังสือบนท่อหด โดยรุ่น Medium Power มีตัว MP ต่อท้ายชื่อ Au24 SX เพิ่มขึ้นมา ส่วนที่น่าสนใจที่เห็นจากภายนอกก็มีในส่วนของหัวท้ายปลั๊กทั้งด้านตัวผู้และ IEC ที่ใช้ของ Furutech รุ่นท็อปอย่าง FI-50 NCF ที่เป็น Nano Crystal Fiber ซึ่งแค่ราคาของหัวท้ายรุ่นนี้ก็เกินหมื่นไปไกลแล้ว เรียกได้ว่าจัดหนัก สมเป็นสายรุ่นเรือธงของทาง Audience จริงๆ อีกส่วนที่น่าสนใจที่เห็นได้จากภายนอกคือ ปลอกหุ้มสาย ที่เรามักเรียกติดปากกันว่า หนังงู เป็นตาข่ายสีดำหุ้มอยู่ด้านนอกสุด โดยปกติจะเป็นตาข่ายพลาสติก แต่ใน Au24 SX ดูคล้ายผ้า เข้าใจว่าเป็นพวกวัสดุธรรมชาติคล้ายพวกผ้าฝ้าย ตรงจุดนี้เท่าที่เคยได้ลองทำสายไฟเล่นเองมาบ้าง พบว่าชนิดของวัสดุที่นำมาทำเป็นฉนวนอยู่รอบๆ สายจะมีผลต่อการกระจายตัวของสนามแม่เหล็กที่เกิดจากการไหลของกระแสไฟฟ้าผ่านตัวนำในสาย ซึ่งสมบัติทางไฟฟ้าของวัสดุแต่ละชนิดนี้เรียกว่า ค่า Dielectric ซึ่งแต่ละวัสดุมีค่าไม่เท่ากันจึงมีผลต่างกันไป เสียงที่ได้ก็ต่างกันไปด้วย ทาง Audience ก็ได้เลือกวัสดุที่มีเสียงตรงตามความต้องการในจุดนี้

ส่วนสุดท้ายที่เป็นข้อมูลที่น่าสนใจในเรื่องของโครงสร้างภายในสาย Au24 SX คือ… เรื่องของการชีลด์กันสัญญาณรบกวน โดยปกติ เรามักจะเห็นในสายสัญญาณ อย่างเช่นสาย RCA หรือสาย Coaxial ที่มีเส้นตัวนำอยู่ตรงกลางด้านใน แล้วมีตาข่ายตัวนำหุ้มเป็นปลอกอยู่ด้านนอก ตาข่ายนี้ไม่ได้ใช้นำสัญญาณ แต่ใช้ต่อลงกราวด์เพื่อให้สัญญาณรบกวนจากภายนอก เมื่อวิ่งมาถึงสายก็จะถูกตาข่ายนี้ดักจับลงกราวด์ไปก่อน ไม่เข้าไปกวนตัวนำสัญญาณภายใน อันนี้ลองเล่นดูที่บ้านง่ายๆ ก็ได้ครับ ลองเอาฟอยล์ห่อปลาเผามาห่อโทรศัพท์มือถือไว้ แล้วต่อสายไฟลงกราวด์ รับรองมือถือจะขึ้นไม่มีสัญญาณแน่ๆ ซึ่งในเรื่องของการชีลด์นี้ Audience บอกว่า จากการทดลองในอดีต เขาพบว่า สายไฟเอซีไม่สมควรทำการชีลด์ เพราะจะทำให้เสียงขาดไดนามิก ไม่มีความน่าฟัง แต่ในตอนที่ออกแบบ Au24 SX เขาพบว่า หากทำการชีลด์เฉพาะตัวนำขากราวด์จะได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก คือสามารถป้องกันสัญญาณรบกวนได้ดี โดยไม่เสียไดนามิกเสียงไป ดังนั้น ในสาย Au24 SX จึงมีการชีลด์เฉพาะเส้นที่เป็นกราวด์เท่านั้น นับเป็นการออกแบบโครงสร้างสายที่แปลกใหม่ดี

การทดสอบและคุณภาพเสียง

การทดสอบในคราวนี้ เนื่องจากว่าแอมป์อ้างอิงหลักของผมถอดเปลี่ยนสายไฟหลังเครื่องไม่ได้ และแอมป์ที่ส่งมาทดสอบเวลาไล่เลี่ยกันก็เป็นแอมป์โมโนบล็อก แต่ผมมีสายไฟ Au24 SX กับ Au24 SX MP อย่างละเส้น ในส่วนของสาย Au24 SX MP ก็ง่ายๆ เสียบเข้าปรีแอมป์ Mark Levinson No.32 ก็จบ แต่ของ Au24 SX เนื่องจากมีเส้นเดียว เลยต้องเอามาต่อแอมป์ Cary V12 ที่สามารถเปลี่ยนสายไฟได้แทน ซึ่งจากกำลังขับแบบหลอด Push Pull 100 วัตต์/ข้าง ก็น่าจะเหมาะสมกับกำลังเกิน 200 วัตต์ อย่างที่ทาง Audience แนะนำไว้ให้ใช้รุ่น Au24 SX แล้ว เพราะเราต้องไม่ลืมว่า แอมป์ 100 วัตต์ 2 ข้าง มันก็ 200 วัตต์เข้าไปแล้ว แถมแอมป์หลอดประสิทธิภาพก็ต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น ตัวภาคจ่ายไฟมันกินไฟเกิน 200 วัตต์ไปไกลเลยทีเดียว แต่ด้วยกำลังแค่นี้ เอามาขับลำโพงอ้างอิงประจำห้องก็ไม่ค่อยรุ่ง จึงต้องเปลี่ยนลำโพงเป็น XAV Small One HQX ลำโพงเล็กเสียงดีที่เป็นมิตรกับแอมป์ขึ้นมาเยอะ

ในช่วงแรกก็ต่อตามคำแนะนำของผู้ผลิต สาย Au24 SX MP ต่อเข้าปรีแอมป์ จับคู่กับ Au24 SX ที่เพาเวอร์แอมป์ ใช้งานทั้งสองเส้นพร้อมกัน สำหรับผลที่ได้ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ความคาดหวังจากสายไฟเอซีราคาค่าตัวระดับเลขหกหลัก มันควรจะเป็นแบบไหนแน่ หลายคนอาจคาดหวังเสียงที่มีบุคลิกชัดเจน แบบที่เรียกว่า เสียบปุ๊บอย่างกับเปลี่ยนเครื่องเสียงไปคนละชุดเลย มีโทนเสียง มีแนวทางเสียงของตัวสายชัดเจน ไม่ว่าจะไปเสียบเครื่องไหน แต่ในความเห็นส่วนตัว ผมไม่ค่อยชอบสายแนวนั้น เพราะมันเป็นเครื่องปรุงรสจัดจ้านที่ไปกลบรสของส่วนประกอบทุกอย่างในชุดเครื่องเสียงจนหมด ผมชอบสายที่มีความเป็นกลาง ไม่แสดงบุคลิกมากจนเกินไปมากกว่า

เป็นตัวเลือกที่ให้โทนเสียงที่มีความเป็นกลาง มีความสามารถในการสื่อถึงความเป็นดนตรีที่ถูกบันทึกมาภายในแผ่นเพลงได้เป็นอย่างดี

ซึ่งเสียงของ Audience Au24 SX และ Au24 SX MP ก็เป็นไปในแนวทางนี้ คือเสียงมีความกลมกล่อม ฟังง่ายดี ไม่รู้สึกถึงอาการเน้นเสียงช่วงไหนมากขึ้นมาจนผิดสังเกต แต่มีความรู้สึกผ่อนคลายอยู่ในน้ำเสียงเล็กน้อย คือไม่ใช่สายที่เน้นความชัดเป๊ะแบบเห็นเป็นตัวตนสามมิติอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ก็ใช่ว่าเป็นเสียงที่ขุ่นมัว หรือมีม่านหมอก คือเสียงจากคู่ Au24 SX MP และ Au24 SX เป็นเสียงที่มีความเที่ยงตรง เพียงแต่เติมความผ่อนปรน ผ่อนคลาย ลงในน้ำเสียง สนามเสียงยังคงมีความกว้างขวางอย่างที่ควรจะเป็น ชิ้นดนตรีต่างมีตำแหน่งถูกต้อง แต่ไม่ได้เน้นช่องว่างให้เห็นระยะห่างของเครื่องแต่ละชิ้นให้รู้สึกเวิ้งว้างเกินจริง Au24 SX จะนำเสนอในรูปของความต่อเนื่องกลมกลืนเป็นผืนเดียวกันของสนามเสียง ตรงนี้แล้วแต่คนชอบ ถ้าชอบเป็นสามมิติชัดเป๊ะแบบเห็นน้ำลายนักร้องกระเด็นไปทางไหนกี่หยดอาจจะไม่สะใจเท่าไหร่ แต่ถ้าเสพภาพรวมของความเป็นดนตรีที่ยืนเล่นอยู่ในวงเดียวกัน ทั้ง Au24 SX MP และ Au24 SX ก็ไม่ได้ขาดตกบกพร่องอะไรในเรื่องนี้ ถือว่านำเสนอความเป็นดนตรีได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่ผมสนใจจริงๆ ในการทดสอบครั้งนี้ กลับเป็นเรื่องของแนวคิดที่ว่า เครื่องกำลังน้อยต้องใช้สายเส้นเล็ก และเครื่องกำลังเยอะต้องใช้สายเส้นใหญ่ ซึ่งปกติจะลองได้ค่อนข้างยาก เพราะโดยทั่วไปสายเล็กกับสายใหญ่ที่ได้เอามาลอง จะเป็นคนละรุ่น คนละยี่ห้อ แน่นอนว่า วัสดุ โครงสร้างการจัดเรียงตัวนำและปัจจัยทุกอย่าง มันไปคนละเรื่อง คนละทิศ คนละทางกันโดยสิ้นเชิง ในคราวนี้ได้มีโอกาสลองสายรุ่นเดียวกันจากผู้ผลิตเดียวกัน วัสดุตัวนำเดียวกัน โครงสร้างสายแบบเดียวกัน ต่างกันแค่ขนาดหน้าตัดของตัวนำเรียกว่าน่าจะใกล้เคียงกันมากที่สุดเท่าที่จะหาได้แล้ว

โดยผมเริ่มต้นด้วยการต่อใช้ชุดอ้างอิงเดิมๆ เปลี่ยนเฉพาะสายไฟเข้า dCS Paganini DAC จุดเดียว เริ่มจาก Au24 SX ก่อน เหตุที่เลือกเปลี่ยนสายไฟตรงจุดนี้ เพราะถ้าเป็นเครื่องที่กินกำลังไฟเกิน 200 วัตต์ ผลก็เป็นที่คาดเดาได้ว่า เส้นใหญ่อย่าง Au24 SX ต้องจ่ายกระแสให้ได้กำลังมากกว่า Au24 SX MP เป็นอย่างแน่นอน แต่กับ DAC ที่กินไฟไม่ถึง 200 วัตต์ ซึ่งถ้าเชื่อผู้ผลิตก็ต้องเลือกใช้ Au24 SX MP แต่ถ้าเชื่อตามแนวคิดว่า สายที่ใหญ่กว่าไม่ควรส่งผลเสียทางเสียงอะไรกับเครื่อง หรือถ้าเชื่อว่ายิ่งใหญ่ยิ่งดี การใช้ Au24 SX ก็ควรจะให้ผลที่ดีกว่า

ผมเริ่มจาก Au24 SX ก่อน กับแผ่นง่ายๆ อย่าง Bird Mini Marathon สิ่งที่ผมชอบในสายเส้นนี้คือ ความหนาของช่วงเสียงตั้งแต่กลางต่ำลงไป สิ่งที่สังเกตได้คือ เสียงการเล่นเบสไฟฟ้ากับกระเดื่องกลอง มันมีความรู้สึกกลมกลืนเข้าขากันมากกว่าปกติ ถ้าเป็นคนเล่นดนตรีอาจจะเรียกว่า เบสมันหนึบ หรือ กรูฟมันดี แนวว่าฟังแล้วมัน โยกตัวตามได้นั่นหละครับ ฟังแล้วรู้สึกเหมือนนักดนตรีมืออาชีพที่เล่นเข้าขากันเป็นอย่างดี มองตาก็รู้ใจอะไรประมาณนั้น แต่เมื่อสลับเปลี่ยนมาเป็น Au24 SX MP สิ่งที่สังเกตได้คือ เสียงย่านกลาง อย่างเช่นเสียงร้องมีความโดดเด่น มีการแยกแยะรายละเอียดได้ชัดเจนกว่า กลับมาที่เรื่องความเข้าขากันระหว่างมือเบสกับมือกลอง เริ่มรู้สึกว่าเหมือนมือเบสเปิดตู้แอมป์ดังเกินหน้ามือกลองไปนิด คือเราสามารถได้ยินหัวเสียงของโน้ตเบสชัดขึ้น แต่ความกลมกลืนกันแบบอยากโยกตัวตามจะลดลง แสดงถึงปริมาณของเสียงเบสต่ำๆ ที่เป็นฐานเสียงของดนตรีที่ลดลง ทำให้โทนเสียงที่ได้มีโทนสว่าง ติดตามรายละเอียดได้ดีขึ้นแต่มีความอิ่มแน่นของฐานเสียงต่ำที่ลดลง ถ้าเป็นชุดเครื่องเสียงที่มีปัญหาเรื่องโทนเสียงเดิมบวม ช้า หนา ทึบ ไม่ค่อยมีรายละเอียด การเลือกใช้งาน Au24 SX MP เข้าไปในส่วนที่เป็นเครื่องที่กินไฟไม่มาก เช่น CD Player, DAC หรือแม้กระทั่งปรีแอมป์ น่าจะช่วยเติมความสดใสเข้ามาในระบบได้บ้าง แต่ถ้ากับชุดที่เดิมมีโทนเสียงค่อนไปทางสว่างไสว รายละเอียดระยิบระยับ แต่ขาดฐานเสียงมาหล่อเลี้ยงเติมเต็มความน่าฟัง การเลือกใช้งาน Au24 SX ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า

สรุป

ทั้ง Au24 SX และ Au24 SX MP เป็นสายไฟที่มีคุณภาพดี มีการออกแบบที่ดี ใช้วัสดุที่มีคุณภาพ สมเป็นรุ่นเรือธงจากผู้ผลิตสายรายเก๋าอย่าง Audience ที่มีจุดเด่นอยู่ที่โทนเสียงที่มีความเป็นกลาง ไม่เน้นย่านไหนเป็นพิเศษ ซึ่งหมายถึง มันไม่ได้เป็นเครื่องปรุงรสจัดที่ใส่เข้าไปกลบปัญหาความไม่เข้ากันของอุปกรณ์ชิ้นต่างๆ ในระบบ แต่จะเป็นสายที่มีคุณภาพในด้านการให้ความเป็นดนตรีมีความน่าฟัง โดยในระบบที่นำสาย Audience Au24 SX หรือ Au24 SX MP มาใช้ต้องมีการเลือกเครื่องต่างๆ ในระบบให้เขาขากันดีอยู่แล้ว คือชุดมีความลงตัวดีแล้ว เพียงต้องการสายที่มาทำให้ทุกเครื่องในระบบทำงานอย่างที่มันควรจะเป็น ไม่ไปสร้างบุคลิกเข้าไปกวนบุคลิกเครื่องเดิมๆ

Audience Au24 SX และ Au24 SX MP เป็นตัวเลือกที่ให้โทนเสียงที่มีความเป็นกลาง มีความสามารถในการสื่อถึงความเป็นดนตรีที่ถูกบันทึกมาภายในแผ่นเพลงได้เป็นอย่างดี โดยที่ Au24 SX เป็นสายที่สามารถใส่ได้ทุกจุดในระบบ ถ้าจุดประสงค์คือความต้องการกำลังขับ หรือต้องการฐานเสียงต่ำที่มีปริมาณอิ่มหนาน่าฟัง แต่หากใส่ Au24 SX เข้าไปทั้งระบบแล้ว รู้สึกว่าอิ่มหนามากเกินไปอาจจะลองเปลี่ยนเอา Au24 SX MP เข้าไปในบางจุด น่าจะช่วยเติมความสดใสเข้ามาในระบบให้มีความลงตัวได้กำลังดีครับ. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 254