วุฒิศักดิ์

นักเขียน : วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์ :

บุคลิกเสียงที่ลำโพงถูกขับขานด้วย Dan D’Agostino Progression มีความฉะฉาน เที่ยงตรง ทรงพลัง

 ครั้งนี้ นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีอุปกรณ์ชุดใหญ่แวะเวียนมาให้ทดสอบครับ เป็นชุดปรี-เพาเวอร์แอมป์จาก Dan D’Agostino ผู้ผลิตเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ที่ครำหวอดอยู่ในวงการมาอย่างยาวนาน เผื่อบางท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า นาย Dan D’Agostio นี่ก็คือผู้ก่อตั้งและหัวหน้าทีมออกแบบของ Krell ที่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดีนั่นเอง โดยหลังปี 2009 เขาได้ออกมาทำเครื่องเสียงในชื่อ Dan D’Agostino ตามชื่อของตัวเอง ซึ่งคราวนี้เขาต้องพกความมั่นใจมากกว่าตอนที่ก่อตั้ง Krell แน่นอน ถึงได้กล้าเอาชื่อตัวเองมาตั้งเป็นแบรนด์สินค้าเลย

ก่อนอื่นคงต้องขอขยายความเรื่องสินค้าของ Dan D’Agostino ก่อน เพื่อให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของ Progression Preamp & Monoblock Amplifier ซึ่งถูกวางตำแหน่งทางการตลาดเป็นรุ่นเล็กสุดสำหรับการฟังเพลง (จริงๆ แล้วมี Classic Series ที่วางตัวไว้เป็นรุ่นเล็กกว่าของแบรนด์ แต่เป็นรุ่นที่ออกแบบมาสำหรับใช้งานในชุดดูหนังเสียมากกว่า เพราะมีแต่แอมป์ 2 และ 3 แชนเนลเท่านั้น) โดย Progression Monoblock ถือเป็นแอมป์รุ่นใหญ่ที่สุดในซีรี่ส์ Progression นี้ และมี Momentum เป็นซีรี่ส์สูงกว่า และก็เป็นรุ่นสูงสุด แต่ได้ข่าวว่าจะมีรุ่นใหม่ที่ใหญ่ขึ้นไปอีกออกมาเพิ่มอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นระดับ Cost no Object ไปแล้ว

 กลับมาที่ Progression Preamp & Monoblock Amplifier ที่ได้รับมาคราวนี้ ถึงแม้บอกว่าเป็นซีรี่ส์เล็กสุดสำหรับฟังเพลง แต่ด้วยค่าตัวทั้งชุดกว่า 2 ล้านบาท คงต้องไปเทียบกับรุ่นท็อปของหลายๆ ยี่ห้อแล้ว จุดเด่นแรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนของ Dan D’Agostino Progression ก็คือ งานตัวถังครับ ต้องบอกว่างานผลิตตัวถังอะลูมิเนียม CNC ที่เรียกได้ว่า “ขั้นเทพ” สวยงามระดับเดียวกับนาฬิกาสวิสจริงๆ หลายท่านอาจจะบอกว่า เดี๋ยวนี้แอมป์จีนก็ใช้ตัวถังอะลูมิเนียม CNC กันทั้งนั้นแล้ว ก็ต้องบอกว่า จริงครับ… เมื่อเห็นจากรูปภาพ คงไม่แตกต่างกันมาก แต่เมื่อเห็นตัวจริงๆ อย่างใกล้ชิดแล้ว ต้องบอกว่า “งานคนละชั้นกันจริงๆ” งานตัวเครื่องภายนอกดูดีมีชาติตระกูล เทียบชั้นแอมป์รุ่นท็อปของแบรนด์ไฮเอ็นด์อื่นๆ ได้อย่างสมศักดิ์ศรี โดย Progression Preamp เป็นปรีแอมป์ที่มีการออกแบบให้เป็นสองตัวถังวางซ้อนกัน โดยด้านล่างเป็นภาคจ่ายไฟที่มีเมนสวิตช์อยู่ด้านหลังเครื่อง และมีสายไฟเฉพาะที่สามารถถอดได้เพื่อเชื่อมต่อกับตัวปรีแอมป์ที่ถูกออกแบบให้ซ้อนอยู่ด้านบน เมื่อวางรวมกันแล้วดูสวยงามดี นอกจากนี้ Progression Preamp ยังสามารถเพิ่มโมดูล DAC เข้ามาได้ แต่น่าเสียดายที่ตัวที่ได้รับมาทดสอบเป็นแบบธรรมดา ยังไม่มีการเพิ่มบอร์ด DAC เข้ามา อินพุตปกติมี 2 RCA (มีช่องที่เขียนว่า Phono แต่พบว่าเป็นช่องที่ไม่ได้มีภาคขยายหัวเข็มติดมาให้ เพียงแต่กำหนดชื่อให้สะดวก หากจะต่อปรีโฟโนจากภายนอก และช่อง AUX ก็เป็นช่องอินพุตธรรมดา) ในส่วนของ XLR มีด้วยกัน 4 ช่อง โดยจะเป็น Theater 1 ช่อง ซึ่งช่องนี้จะบายพาสโวลุ่มเพื่อใช้งานร่วมกับชุดดูหนัง ดังนั้นต้องระวังหน่อย ถ้าเอาแหล่งสัญญาณอื่นไปต่อ จะทำให้ลำโพงเสียหายได้ ส่วนอีก

3 ช่องเป็นช่องสำหรับแหล่งสัญญาณบาลานซ์ปกติ ในส่วนของเอาต์พุตมีความแปลกกว่าปรีแอมป์ ทั่วไปเล็กน้อย ตรงที่ให้เอาต์พุตแบบ XLR มาถึง 2 ชุด เป็น Zone 1 และ 2 ซึ่งสามารถเลือก เปิดใช้งานช่องใดช่องหนึ่ง หรือเปิดทั้งสองช่อง เมื่อต้องการเล่นไบแอมป์ก็สามารถทำได้ แต่ไม่มี ช่องเอาต์พุต RCA มาให้เลย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะทาง Dan D’Agostino มั่นใจในการ ออกแบบทางเดินสัญญาณแบบบาลานซ์เท่านั้น ที่จะสามารถให้คุณภาพได้สูงสุดอย่างที่เขา ต้องการ ซึ่งตัวเพาเวอร์แอมป์ Progression Monoblock ก็รองรับอินพุต XLR เท่านั้นเช่นกัน

ในส่วนของ Progression Monoblock จัดเป็นแอมป์ขนาดใหญ่มากตัวหนึ่ง น้ำหนัก ข้างละห้าสิบกว่ากิโลกรัม ที่มาของน้ำหนัก ที่มากมายขนาดนี้ เนื่องจากถูกออกแบบให้มี กำลังขับระดับ 500 วัตต์ที่ 8 โอห์ม และสามารถ เพิ่มเป็นเท่าทวีคูณไปได้เรื่อยๆ อย่างน้อยจนถึง 2,000 วัตต์ที่ 2 โอห์ม ตามที่ผู้ผลิตแจ้งมา การจะ ได้มาซึ่งกำลังขับระดับนี้จำเป็นต้องมีภาคจ่ายไฟ ที่ยิ่งใหญ่อลังการงานสร้างอย่างแน่นอน

Dan D’Agostino ระบุว่า ภายใน Progression Monoblock แต่ละข้างบรรจุไว้ด้วยหม้อแปลง ขนาด 3,000 VA และยังใช้ตัวเก็บประจุคุณภาพ สูงที่มีขนาดความจุรวมถึง 400,000 ไมโครฟารัด!!! บอกตามตรง ผมก็เพิ่งเคยเห็นแอมป์ที่ออกแบบ มาใช้ภายในบ้านพักอาศัยที่ใช้ตัวเก็บประจุมาก ขนาดนี้เป็นครั้งแรก นอกจากภาคจ่ายไฟที่ใหญ่โต ขนาดนี้แล้ว ตัววงจรเองก็ต้องใช้เอาต์พุต ทรานซิสเตอร์ที่สามารถจ่ายกระแสได้สูงเช่นกัน และนอกจากจะเลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสมแล้ว ยังต้องใช้หลายๆ ตัวทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยกัน จ่ายกระแสให้ได้ตามที่ลำโพงต้องการ ซึ่งภายในของ Progression Monoblock แต่ละข้างก็ใช้ เอาต์พุตทรานซิสเตอร์มากถึง 48 ตัวต่อข้าง อาจจะฟังดูเหมือนง่าย ก็แค่เอาทรานซิสเตอร์ หลายๆ ตัวมาต่อขนานกัน แต่ปัญหาคือทรานซิสเตอร์แต่ละตัวจะมีสเปกเบี่ยงเบนจาก ที่ระบุมาเล็กน้อย เมื่อต้องการนำมาใช้ร่วมกัน จึงต้องทำการแม็ตซ์ค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ของ ทรานซิสเตอร์แต่ละตัวที่ใช้ในแอมป์ตัวเดียวกัน ให้เหมือนๆ กัน ถ้าเป็นแอมป์ตัวเล็กๆ ที่ใช้ไม่กี่ตัว ก็คัดอุปกรณ์ได้ไม่ยาก แต่เมื่อจำเป็นต้องคัด ทรานซิสเตอร์ 48 ตัว (เข้าใจว่าเป็น PNP และ NPN อย่างละ 24 ตัว) ให้ทำงานเข้าขากันได้พอดี คิดเอาแล้วกันครับ ว่าเขาต้องซื้อทรานซิสเตอร์ กี่ตัวมานั่งวัดค่าที่ละตัวเพื่อแยกกลุ่มใส่ตะกร้า หลายๆ ใบไว้ จนกระทั่งตะกร้าใดตะกร้าหนึ่งได้ ครบ 48 ตัวเพื่อเอามาทำเพาเวอร์แอมป์หนึ่งข้าง!!! คราวนี้คงหายสงสัยแล้วนะครับ ว่าน้ำหนักตัว เกือบหกสิบกิโลมาจากอะไร

คุณภาพเสียง

ในช่วงแรกของการทดสอบ Progression Preamp และ Monoblock Poweramp ถูกจับ คู่กันเป็นระยะเวลาหนึ่ง เมื่อมั่นใจดีแล้วว่าเครื่อง พร้อมฟังอย่างจริงจังแล้ว ก็เริ่มทดสอบด้วยเสียง T-Rex ในแผ่น Telarc The Great Fantasy Adventure Album พบว่าเสียงเดินมีความถี่ ลงลึกต่ำแผ่เป็นระรอกคลื่นตามพื้นมาได้ค่อนข้าง ดีมาก ถึงจะยังไม่เหมือนแรงกระเพื่อมตามพื้นที่ สั่นเมื่อวัตถุใหญ่ๆ อย่างรถสิบล้อวิ่งผ่านจริงๆ ตามธรรมชาติของคลื่นกลจริงๆ แต่ก็พบว่า ชุดของ Progression ทำได้ใกล้เคียงมากๆ สิ่งที่สังเกตได้อีกอย่างคือ รูปวงด้านกว้างที่มี ความโดดเด่นกว่าด้านลึกอยู่เล็กน้อย กับแนวเพลง ร้องอย่างเพลง Lover Never Dies จากละครเพลงชื่อเดียวกันที่เป็นภาคต่อของ Phantom of the Opera สามารถตรึงอารมณ์คนฟังได้ดี ถ้าจะมีจุดที่น่าจะไปได้อีกก็คงเป็นในส่วนของความกังวานในเนื้อเสียงร้องที่น่าจะยังไปได้อีก หากมีเส้นสายมาลองจับคู่เพิ่ม หรือไม่ก็อาจจะยังสงวนในส่วนนี้ไว้เป็นทีเด็ดของรุ่นใหญ่อย่าง Momentum ก็เป็นได้ ซึ่งตรงส่วนนี้ เมื่อได้ฟังกับแผ่นต่างๆ ที่หลากหลาย พอจับประเด็นได้ว่า Progression ยังเป็นแอมป์ที่มีบุคลิกคล้ายๆ Krell ให้ได้ยินอยู่บ้าง คือมีพละกำลังเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแบบแอมป์โซลิดสเตทชั้นดี แต่ความกังวานของเสียงกลางต่ำที่เป็นตัวเสริมความรู้สึกอิ่มฉ่ำอย่างเครื่องหลอดดูย่อหย่อนไปหน่อย แต่ก็เป็นเรื่องที่สมควรเข้าใจได้ ก็ทั้งปรีและแอมป์มันเป็นโซลิตสเตทล้วนๆ ไม่มีหลอดปนในช่วงไหนตลอดทางเดินสัญญาณเลย

หลังจากนั้น ลองจับแยกคู่ พบว่าแอมป์ Progression Monoblock ไปกันได้ดีกับปรีแอมป์อ้างอิงมาก ซึ่งสาเหตุในส่วนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเครื่องไหนดีกว่ากันโดยตรง แต่เป็นในเรื่องของการออกแบบที่แต่ละยี่ห้อมีแนวทางที่ต่างกัน โดยต้นทางดิจิทัลที่ใช้อ้างอิงจะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเมื่อเลือกแรงดันสัญญาณขาออกเป็น 6V ซึ่งบ่อยครั้งก็พบว่าสูงเกินกว่าที่ปรีแอมป์รับได้ก็จะเกิดอาการเสียงเครียดเกร็งแข็งขึ้นมาได้ ส่วนเมื่อปรับเป็น 2V จะสามารถใช้งานได้ดีกว่า แต่การสวิงไดนามิกของดนตรีเป็นอิสระน้อยลง เหมือนเพลงที่ใส่คอมเพรสเซอร์เพื่อควบคุมความดังให้เท่าๆ กันตลอดเพลง ก็จะเสียความเป็นธรรมชาติของน้ำหนักดัง-เบาที่เป็นไดนามิกของเพลงไป ตรงจุดนี้ปรีแอมป์อ้างอิงมีการออกแบบมารองรับสัญญาณที่มีความแรงระดับ 6V ได้ดีกว่า เพราะสามารถเลือกเกนขยายของปรีแอมป์เป็น 0dB ได้ คือไม่มีการขยายแรงดันเลย ทำหน้าที่บัฟเฟอร์ขยายกระแสอย่างเดียว ในขณะที่ Progression Preamp ก็ปรับเลือกได้ แต่เป็นการเลือกระหว่าง +8 กับ +14dB ซึ่งถ้าใช้กับแหล่งโปรแกรมต้นทางทั่วไปที่ออกแบบมาให้มีแรงดันสัญญาณที่ 1V – 2V ทั่วๆ ไปก็น่าจะลงตัวกว่า

เมื่อพบอาการเช่นนี้แล้ว จึงพบว่าเมื่อนำProgression Mono­block มาต่อกับปรีอ้างอิงที่มีการจับคู่กับต้นทางได้ลงตัวกว่าก็จะกลายเป็นเสือติดปีกไปเลย รายละเอียดรายล้อมตัวโน้ตที่เคยรู้สึกว่าย่อหย่อนไปหน่อย และขนาดของรูปวงทั้งด้านกว้างและลึกที่เคยตื้นมากกว่ากว้างอยู่เล็กน้อย เรื่องเหล่านี้หายไปหมดสิ้น ในแผ่น Chick Corea: Rendezvous in New York นอกจากเสียงปรบมือตอนต้นแผ่นที่มีความเหมือนจริงของเสียงที่มีเนื้อมีหนังของคนจริงๆ มากระทบกัน ไม่ได้ดังแปะๆ แบบฝนตกแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมากว่าทุกครั้งที่เคยฟังแผ่นนี้คือ ความถี่ย่านต่ำทั้งเสียงของเบส และความหนักแน่นของเสียงกลอง เรียกได้ว่าแปลกหูไปจากเดิมไม่น้อยทีเดียว เหมือนกับว่าคราวนี้ทั้งมือเบส มือกลอง ได้รางวัลเป็น Super Car คันงามกันเลย ตั้งใจเล่นผิดหูผิดตาขึ้นเป็นอย่างมาก แม้กระทั้งเครื่องเป่าที่ไม่เคยมีความโดดเด่นก็กลับมีชีวิตชีวาขึ้นมาอย่างน่าประหลาด เรียกได้ว่า ก่อนหน้านี้ แผ่นนี้จะออกแนว Piano Hero คือเปียโนเด่นกว่าเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ แต่เมื่อได้ Progression Monoblock ที่มีพละกำลังเหลือเฟือมาขับลำโพงอ้างอิงให้ถ่ายทอดเสียงที่ถูกบันทึกมาได้อย่างหมดจด ก็พบความน่าฟังของไลน์ดนตรีชิ้นอื่นๆ ในวงขึ้นมาทันที

แม้กระทั่งแผ่นบ้านๆ อย่าง Bird Mini Marathon มือเบสและมือกลองก็ยังเล่นได้หนึบ แน่น เข้าขากันดีอย่างที่ควรจะเป็น มีแผ่นจำนวนหนึ่งที่เมื่อถึงคราวที่ต้องลองแอมป์ใหญ่ๆ ว่าคุมลำโพงได้เด็ดขาดแค่ไหน ก็มักถูกหยิบขึ้นมาฟัง อย่างเช่น X-Japan Dahlia ที่ต้องการพละกำลังในย่านเสียงต่ำที่รุนแรงรวดเร็วเป็นอย่างมาก เพราะการเหยียบกระเดื่องอย่างรวดเร็ว ถ้าแอมป์ขับออกมาไม่ได้ดีก็จะเกิดอาการเบสบาง เสียงเจี๊ยวจ๊าว หรือเบสช้ามั่วรวนซ้อนทับกันจนฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งในคราวนี้ Progression Monoblock ได้แสดงถึงพลังที่เด็ดขาดได้อย่างน่าสนใจ คือถึงแม้มีความรู้สึกว่าหัวเสียงกระเดื่องเบาไปนิด แต่ก็มีความสด รวดเร็ว แยกแยะได้ดี ทั้งยังมีความรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนมาตามพื้นที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนด้วย แสดงว่าแอมป์น่าจะให้กำลังออกมาได้ดี แต่อาจจะยังมีการไม่เข้าขากันเล็กน้อยกับเครื่องชิ้นอื่นๆ ในระบบ ทำให้ความถี่แถวๆ ที่เป็นหัวเสียงกระเดื่องยังไม่อัดออกมาเป็นลูกๆ กระแทกอกอย่างที่ควรคาดหวังว่ามันต้องขับออกมาได้สุดๆ แต่ไม่ใช่ว่า Progression ไม่มีแรงแน่นอน เพราะสามารถถ่ายทอด Infrasound หรือแรงสั่นสะเทือนตามพื้นออกมาได้ดีกว่าแอมป์ตัวอื่นๆ ที่เคยฟังมากับลำโพงอ้างอิงทีเดียว ถ้ามีเวลาได้ลองหยิบยืมอุปกรณ์อื่นๆ มาลองให้ทั้งชุดเข้าขากันพอดี น่าจะให้ผลเป็นที่น่าพอใจเป็นที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเปลี่ยนมาเป็น the Imperial Marching ในแผ่น Telarc Great Film Fantasies ที่เสียงเครื่องเป่ามีความยิ่งใหญ่เกรียงไกร และกลองใหญ่อัดออกมาเป็นลูกๆ ได้อย่างทรงพลังเป็นที่น่าพอใจมาก กับแผ่น Royal New Orleans Jazz Celebration เสียงเครื่องเป่ามีความน่าสนใจกว่าทุกครั้ง เนื่องจากสามารถรับรู้ถึงลักษณะเสียงที่แตกต่างกันของเครื่องเป่าแต่ละชิ้นที่ได้อย่างชัดเจนขึ้น คือตอนแรกรู้สึกว่าโทนเสียงโดยรวมของเพลงฟังดูนุ่มนวล ออกแนวหม่นๆ ลงจากที่เคยรู้สึกปกติ แต่พอมีเสียงเครื่องเป่าที่ให้เสียงโทนสว่างแผดสดขึ้นมา ก็พบว่ามันก็มีความสดถูกต้องดีอย่างที่ควรจะเป็น แสดงว่าไม่ได้เป็นที่แอมป์มีโทนเสียงหม่นมัวแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะ Progression สามารถถ่ายทอดรายละเอียดของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นได้เป็นตัวของมันเอง ชัดเจนมากๆ เรียกได้ว่าเสียงเครื่องเป่าที่ได้ยินจากลำโพงอิเล็กโทรสแตติกก็มีความสดได้ ไม่จำเป็นต้องไปนึกอยากฟังลำโพงฮอร์นเลยทีเดียว นับว่าแอมป์สามารถควบคุมลำโพงได้อยู่หมัดดีจริงๆ และเมื่อฟังเสียงเสียงกลองและเครื่องเคาะต่างๆ ก็พบว่ามีความสดเด็ดขาดดีเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าน่าประทับใจมาก

หลังจากพูดถึงแผ่นที่เน้นโชว์พลังกันมาเยอะแล้ว ลองเปลี่ยนมาเป็นแผ่นที่มีเสียงร้องกันบ้าง กับแผ่น Beoga Live at Stockfisch Studio เสียงไวโอลินและแอ็กคอร์เดียนเป็นตัวเด่น และในบางแทร็กมีเสียงนักร้องสาว ซึ่งเสียงร้องที่ถูกขับขานออกมาจาก Progression ไม่ใช่แนวปรุงแต่งให้เอาใจนักฟังแบบหลงเสียงนางที่ชอบเสียงฉ่ำๆ หวานหยดย้อยแบบฟังแผ่นไหน นักร้องคนไหน ก็เสียงเหมือนกันไปหมด เสียงร้องที่ได้จาก Progression เป็นแบบตรงไปตรงมา คือไม่ได้ไปปรุงมันจนหวานเกินจริง แต่จะนำเสนอความรู้สึกถึงรายละเอียดการร้อง ความรู้สึกเป็นสามมิติของเสียงแต่ละเสียง ทำให้เราอยากติดตามมากกว่าที่จะฟังผ่านๆ เอาหวานเข้าว่าอย่างเดียว นับว่าน่าประทับใจมากสำหรับแอมป์ Progression Monoblock ที่มีความเที่ยงตรง ทรงพลัง และตลอดการใช้งานไม่พบว่ามีความร้อนสะสมให้รู้สึกมากเกินจำเป็นเลย ตลอดการใช้งานไม่ว่าจะเปิดเพลงหรือหนัง ที่เรียกร้องกำลังขับจากแอมป์มากน้อยเพียงใด ก็พบว่าตัวเครื่องแค่มีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิห้องเล็กน้อยเท่านั้น

สรุป

บุคลิกเสียงที่ลำโพงถูกขับขานด้วย Dan D’Agostino Progression มีความฉะฉาน เที่ยงตรง ทรงพลัง ทำให้การฟังเพลงมีความรู้สึกนึกถึงการฟังลำโพงประเภท Far Field Studio Monitor ชั้นดีที่ขับด้วยแอมป์กำลังขับเหมาะสมเข้าชุดกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังได้เข้าถึงไดนามิกของเพลงที่มีความเป็นธรรมชาติของดนตรีที่แท้จริงๆ ซึ่งจากการประเมิน ถ้าหาก Dan D’Agostino Progression สามารถขับลำโพงอ้างอิงของผมที่ตัวสูงท่วมหัวกว้างเท่าๆ ประตูบ้านได้หมดจดขนาดนี้ น่าจะมีลำโพงน้อยคู่มากๆ ที่ Dan D’Agostino Progression จะขับได้ไม่หมด ที่สำคัญ แต่ละคู่คงมีค่าตัวเลยหน้า Dan D’Agos­tino Progression ไปหลายเท่าตัวทีเดียว ซึ่งถ้าท่านมีเงินพอซื้อลำโพงขนาดนั้น ท่านคงต้องมองไปที่ Dan D’Agostino รุ่นใหญ่แทนแล้วครับ แต่สำหรับผม แค่ Dan D’Agostino Progression ที่มีงานตัวถังระดับนาฬิกาสวิสที่ยากจะปฏิเสธในความสวยงาม และเสียงที่เที่ยงตรง ทรงพลังหาตัวจับได้ยาก ก็สมควรเรียกว่าเป็นแอมป์ระดับอ้างอิงที่มีศักดิ์ศรีแอมป์ไฮเอ็นด์อย่างเต็มภาคภูมิแล้วครับ. ADP

นิตยสารAudiophile Videophile ฉบับที่ 255