ชุมพล

นักเขียน : ดร.ชุมพล มุสิกานนท์

เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ฟังได้กับเพลงหลากหลายแนวจริงๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ชอบเพลง Pop, Jazz, คลาสสิก, ลูกทุ่ง สนนราคาค่าตัวจัดว่า

ไม่ถูกไม่แพง เมื่อเทียบกับคุณภาพเสียง

หลังจาก MIRACORD 90 ซึ่งออกมาฉลองโอกาสที่ ELAC ทำเครื่องเสียงออกมาขายได้ 90 ปีแล้ว บริษัทเยอรมันเจ้านี้ก็ได้ผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงรุ่นน้อง ราคาย่อมเยาตามมา หากคุณสงสัยว่าตัวเลข 70 มันเกี่ยวอะไรกับ ELAC ด้วย ผมบอกเลยว่า มันคือปีที่ ELAC ผลิตเครื่องเล่นแผ่นเสียงออกมาจำหน่ายเป็น

 ครั้งแรก นั่นคือ ค.ศ. 1948 ซึ่งนับจนถึงปี ค.ศ. 2018 ได้ 70 ปีพอดิบพอดี แหม! ฝรั่งนี่ช่างคิดเหลือเกินนะครับ ไอ้ผมน่ะคิดไปว่ามันเกี่ยวข้องกับ ค.ศ.1970 ที่คนนิยมเล่นแผ่นเสียงกันทั่วโลก 555 ด้วยความจริงข้อนี้อาจจะทำให้หลายท่านแปลกใจ เพราะว่าเราท่านก็รู้จัก ELAC ในฐานะของผู้ผลิตลำโพงเท่านั้น แม้ว่าภายหลัง ELAC จะขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ออกไปทำเครื่องเล่น STREAMING และกำลังจะทำสายเคเบิลออกมาขายด้วย!!! แต่ใครจะไปคิดว่า ในอดีต ELAC เคยทำเครื่องเล่นแผ่นเสียงชนิดขับเคลื่อนด้วยสายพาน ซึ่งคุณภาพไม่น้อยหน้ายี่ห้ออื่นๆ เลย ทั้งยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น

MIRACORD 70 เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงประเภทหล่อเรียบ บอดี้ด้านข้างเป็นสเตนเลสสตีล เงาวับ ส่วนด้านบนของตัวถังสีดำผิวเปียโน มันไม่มีระบบสปริงรองรับการสั่นสะเทือน หรือจะเรียกว่า “แท่นแบบตาย” ก็ไม่ผิดครับ เครื่องจะติดตั้งโทนอาร์ม และหัวเข็มยี่ห้อออดิโอเทกนิก้า รุ่น AT95E มาให้เสร็จ (ชาวบ้านนิยมเรียกหัวเข็มรุ่นนี้ว่า หัวเขียว ครับ)

รูปร่างของ MIRACORD 70 จัดว่าค่อนข้างบาง วางอยู่ในห้องดูแล้วไม่เทอะทะแน่นอน ตัวแท่น (Plinth) ทำจากไม้ MDF หนัก 11 กก. แสดงว่าเนื้อมวลอัดแน่นใช้ได้เลย ส่วนสำคัญอีกส่วนคือ Platter ทำด้วยแก้วหนาและหนัก 2.6 กก. มีการพ่น Black Ceramic ไว้ที่ด้านล่างของ Platter เพื่อจูนเรโซแนนซ์ของแก้วอีกที ด้านบนของ Platter เป็น Mat ทำด้วยสักหลาดสีดำหนาประมาณ 2.5 มม. ซึ่งผมแนะนำว่าควรเปลี่ยนเป็น Mat ชนิดไม้คอร์กหนาเท่าเดิม เสียงจะดีขึ้นเยอะเลย

ระบบขับเคลื่อนเป็นสายพานคล้องกับมอเตอร์ และ Sub-Platter เพื่อมาหมุน Platter แก้วด้านบนอีกทีหนึ่ง การเปลี่ยนรอบหมุนจาก 33 1/3 ไปเป็น 45 rpm ทำด้วยการเปลี่ยนร่องคล้องสายพานที่ Pulley ซึ่งคุณต้องยก Platter ออกมาก่อน ระบบแบริ่งมาตรฐานแกนเหล็กสเตนเลสหมุนอยู่บนลูกบอลเซรามิก ทำงานได้เรียบและไร้เสียงรบกวน ตรงนี้เป็นจุดใหญ่ใจความของเครื่องเล่นแผ่นเสียงจุดหนึ่งเลยครับ

มอเตอร์ที่ใช้นั้นส่งตรงมาจากโรงงาน Premotec มั่นใจได้เลยว่ารอบตรง อาการสั่นค้างไม่ส่งผลต่อเสียง ELAC ไม่ประหยัดในส่วนที่เป็นหัวใจของเครื่องเล่นแผ่นเสียงครับ

โทนอาร์มแบบแขนตรงแกนเดียวทำด้วยอะลูมิเนียม Headshell ติดตายตัว ถอดเข้า-ออกไม่ได้ แต่การติดตั้งหัวเข็มได้เผื่อที่ไว้สำหรับติดตั้งหัวเข็มที่คุณภาพสูงกว่า AT95E แล้วครับ การตั้งน้ำหนักแรงกดหัวเข็ม (VTF) และการตั้งค่า Anti-Skating ปรับได้ที่ท้ายอาร์ม อ้อ… ลืมบอกไปว่า อาร์มเขามีให้สีดำเพียงสีเดียวครับ ที่บั้นท้ายของ MIRACORD 70 คุณจะพบขั้วต่อ RCA ชุบทองสองตัว และขั้วสายดิน นั่นหมายความว่า มันทำมาให้คุณสามารถอัพเกรดสายโฟโนได้ ถึงแม้ว่าสายที่ ELAC แถมมาให้มีคุณภาพสูงในระดับแล้วก็ตามที นอกจากนั้น ทางด้านขวามือเป็นช่องเสียบสายไฟเข้าที่มาจากอะแดปเตอร์ สวิตช์เปิด-ปิดการทำงานต้องใช้มือคลำเอา อยู่ด้านหน้าใต้ขอบซ้ายของเครื่องครับ เจ้าเครื่องนี้มิได้ให้ฝาครอบกันฝุ่นมาให้ด้วย (เป็นอ็อปชั่นเสริม) หากคุณสนใจจะหามาใช้งาน ทางโรงงานได้เจาะรูเสียบแกนของฝาครอบไว้แล้ว ลองสอบถามตัวแทนจำหน่ายดูครับ ว่าสนนราคาเป็นเท่าไหร่ ขนาดของเครื่องจัดว่าน่ารักพอดีๆ สูงจากพื้น 140 มม. กว้าง 465 มม. ลึก 365 มม. ที่ใต้เครื่องมีขายางรองไว้ทั้ง 4 มุม

การติดตั้ง MIRACORD 70 สำหรับผู้ที่พอจะมีประสบการณ์ ผมคิดว่าไม่เกิน 20 นาที นับตั้งแต่เริ่มแกะกล่องครับ สิ่งที่คุณต้องตั้งคือ VTF และ Anti-Skating ซึ่งตามสเปกของโรงงานระบุว่าให้ตั้ง VTF 1.5 กรัม แต่ผมพบว่า โดยส่วนตัวผมชอบตั้งน้ำหนักแรงกดที่ 1.65 กรัมมากที่สุดครับ

ในภาคโฟโนสเตทนั้น ผมใช้ตัวใหม่เอี่ยมของ TS Audio ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก PH1 คุณภาพเสียงดีกว่ากันมาก แต่เอาต์พุตเบา ต้องเร่งโวลุ่มที่ปรีแอมป์ขึ้นมาอีกเล็กน้อย สลับกับ Graham Slee Reflect X ที่ใช้อยู่ประจำตัวหลังนี่แพงกว่าตัวแรก 3 เท่าครับ ในการทดสอบ ผมใช้สายแถมที่ ELAC ให้มาในกล่อง เสียบต่อจากเครื่องมาเข้าโฟโนสเตจ แล้วออกจากโฟโนสเตจด้วยสาย Audioquest Columbia ซึ่งส่งไปไครโอเจนิกมาแล้ว อุปกรณ์เครื่องเสียงที่ใช้ประกอบการทดสอบหลักๆ ในครั้งนี้เป็นชุดปรี-เพาเวอร์ X02 และ X120A ของ XAV, ลำโพง Reference 3A Episode (รุ่นเก่าที่มีซูเปอร์ทวีตเตอร์ Murata), สายไฟ Zensonice และ Fono Acustica, ปลั๊กรางกรองไฟ Audioquest NRG-1000, ซับวูฟเฟอร์ REL T-9i, สายเคเบิล Life Audio รุ่นมดแดง, สาย Viarad และสายลำโพง Zonotone 7700, ใช้ตัวรองหัวปลั๊กของ Furutech NCF Booster 1 ตัว รองสายสัญญาณอีก 1 ตัว

ผลการทดสอบ

หลังจากที่ใส่ตุ้มถ่วงน้ำหนัก ทำการบาลานซ์อาร์ม ตั้งน้ำหนักกดของหัวเข็ม และปรับตั้งค่า Anti-Skating แล้ว ผมลองฟังแผ่นเสียง Blow Up สังกัด Three Blind Mice เสียงดีตั้งแต่แวบแรกเลย อย่างไรก็ตาม เพื่อความแน่นอน ผมต้องเปิดเล่นไปเรื่อยๆ จนครบ 80 ชั่วโมงก่อน ซึ่งก็เป็นความทรมานอย่างหนึ่ง เพราะ MIRACORD 70 เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงระบบ Manual พอเล่นเพลงจบหน้าแล้ว ต้องคอยยกอาร์มกลับไปวงบนที่พักอาร์ม ไม่งั้นมันจะตีกับ Spindle อยู่อย่างนั้น ซึ่งเครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับ Hi-End ทั้งหมดจะเป็นระบบ Manual ผมยังไม่เคยเห็นเครื่องระดับสูงที่ทำออกมาเป็นระบบออโต้เลย ที่จริงน่าจะมีบ้างนะครับ

ระหว่างที่อยู่ในช่วงของการเบิร์นอิน ผมสังเกตว่า เสียงมีการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่นิ่งขึ้น และไม่มีอาการสะบัดขึ้นลง ดุลน้ำเสียงเปลี่ยนน้อยมาก คือ ทุ้ม-กลาง-แหลม มันแทบไม่ต่างกับครั้งแรกที่ลงเข็มเลย จะมีที่เป็นจุดสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ การเชื่อมต่อและการทอดตัวออกไปของหัวและท้ายเพิ่มยาวขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องแปลกพอสมควรครับ ในคาบแรกของการทดสอบ ผมใช้ Mat สักหลาดที่โรงงานให้มา พบว่าตอนยกแผ่นออกมีคราบละอองฝุ่นติดมากับแผ่น บางครั้งไอ้สักหลาดนี่ดูดติดมากับแผ่นเสียงอีกด้วย ไม่น่าพิสมัยเลย ดังนั้น ผมจึงเปลี่ยนไปใช้ Mat ไม้คอร์กหนาเท่าแผ่นสักหลาด เพื่อที่มุม VTA จะได้ไม่เคลื่อน และมันก็ทำให้เสียงดีขึ้นมากพอสมควร ที่สำคัญคือ ไม่สะสม Static เหมือนสักหลาดอาการยกแผ่นแล้ว Mat ติดขึ้นมาด้วยหายสนิทเลย นับว่าเป็นสิ่งที่แนะนำอย่างยิ่งสำหรับท่านที่ยังใช้ Mat รองแผ่นเป็นสักหลาดอยู่ เปลี่ยนเสียเถิดครับ

หลังจากที่เปิดเครื่องเล่นแผ่นอยู่นานประมาณ 50 ชั่วโมง แล้วผมพบว่าบุคลิกเสียงไม่มีความเปลี่ยนแปลงอีก จึงถึงเวลาจะฟังทดสอบจริงจัง

เริ่มต้นด้วยอัลบั้มเพลง Pop Rock ของ ควินซี โจนส์ ในอัลบั้ม The Dude แผ่นนี้ได้รับรางวัลแกรมมี่มาด้วย แผ่นที่ผมฟังเป็นแผ่นเสียงปั๊มแรก ผลิตในอเมริกา สุ้มเสียงค่อนข้างหนักแน่น จังหวะจะโคนมีทั้งเร็วและช้า ที่สำคัญคือ มีเพลงร้อง Just Once ของ เจมส์ อินแกรม ด้วย ซึ่ง Miracord ทำได้ดีมากในเพลงร้องตามคาด เสียงกลางทุ้ม เนียน มีรายละเอียด เบสลงได้ลึก และมีปริมาณที่น่าพอใจ จังหวะดีมาก การปรับน้ำหนักแรงกดหัวเข็มแค่ 0.5 กรัม ทำให้เสียงเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ผมพบว่ากับเพลงแนวๆ นี้ อย่างเช่นของคณะ Earth Wind & Fire มันไปกันได้ดีเหลือเกิน ตรงจังหวะของย่านแหลมตอนกลางที่เป็นจุดวิกฤติของแผ่นที่อัดมาไม่ดีมาก ซึ่งหัวเข็ม MC จะฟ้องออกมาชัดเลยว่ามันไม่สมบูรณ์แบบ พอมาฟังกับหัว AT-95E กลายเป็นว่าช่วยประสานลากจูงกันไปได้แบบไม่มีเสียว อาการ Rumble ที่มีและส่งผลให้ดอกลำโพงขยับตัวสั่นเป็นเจ้าเข้าก็น้อยมากครับ ยิ่งฟังเพลง Pop ยุค ’80s ทั้งหลาย ผมก็ยิ่งชอบ MIRACORD 70

ลองฟังแผ่นเพลงร้องที่บันทึกมาดีๆ อย่าง Carol Kidd สังกัด Linn Records บ้าง ผมได้ยินเสียงของป้าแครอลหวานใส เสียงเปียโนมีความกังวาน ย้ำหัวโน้ตชัดเจน เบสมีมวลหนักแน่น รวมทั้งจำแนกโน้ตแต่ละตัวออกมาได้ด้วย เสียงแหลมพลิ้วหวาน มีความกังวานพอดีๆ โดยไม่ทอดประกายออกไปยาวไกลมาก

ผมลองเล่นแผ่นเสียงที่ไดนามิกเรนจ์กว้างหน่อย อย่างแผ่น Breaking Silence: Janis Ian ของค่ายอะนาล็อกโปรดักชัน สวิงได้กว้างเกินความคาดหมาย การที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเสียงเบาๆ ไปจนถึงช่วงที่จัดว่าดังและแรงนั้น มีความเป็นอิสระ เปิดกว้าง โฟกัสชัดเจน ไม่มีการตีกลบกันในรายละเอียด เช่น เสียงของเครื่องดนตรีสแนร์ และกีตาร์ซึ่งเล่นเบาๆ อยู่ในอัลบั้มนี้ ถูกถ่ายทอดออกมาได้ราวกับเล่น Turntable + หัวเข็มราคาแพงมากๆ ความสามารถในการแทร็กกิ้งหรือการเกาะร่องแผ่นเสียงทำได้ดีมาก ไม่พบอาการสะดุด ตกร่อง หรือผิดปกติใดๆ ตลอดเวลาที่ทดสอบ

คนที่เล่นหัวเข็ม MM มักจะไม่กล้าคุยเรื่องเกี่ยวกับเวทีเสียงและอิมเมจเหมือนกับพวกหัวเข็ม MC ต้องยอมรับครับว่า ถ้าคุณซีเรียสกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง หัวเข็ม AT-95E อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เนื่องจากมันแสดงเวทีเสียงที่กว้างและลึกพอรู้สึกได้ หากแต่ไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้เล่นอยู่ตรงไหน หรือจัดระนาบชั้นหน้าหลังกันอยู่อย่างไร คือมันจะบอกได้ว่า อะไรอยู่ซ้าย/ขวา/กลาง/หน้า/หลัง แต่ถ้าจะลงลึกถึงขนาดว่าจำลองห้องอัดเสียงมาไว้ในห้องฟัง หรือปรากฏการณ์ “You are there” แล้วล่ะก็ มันยังไปไม่ถึงขั้นนั้นครับ

วงท้ายการทดสอบด้วยคลาสสิกวงใหญ่ Pictures An Exhibition แผ่น RCA Living ปั๊มหลังแล้วครับ ตอนแรกนึกว่าจะไปไม่รอด แต่กลับกลายเป็นว่า มันให้ไดนามิกคอนทราสต์หนักเบาอ่อนแก่ได้อย่างยอดเยี่ยม คุณสมบัติในการจำแนก Timbre นั้น ดีเกินราคาไป ย้ำ… เกินราคาครับ แผ่นนี้เล่นกับเทิร์นฯ หลายตัวแล้วแป๊กครับ เสียงไม่ได้เรื่องเลย แต่กับ MIRACORD 70 กลับให้เสียงที่สมจริง ลื่นไหล ต่อเนื่อง สปีดเที่ยงตรง มีรายละเอียดของชิ้นดนตรีชัดเจนครบถ้วน

และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ แผ่นเสียงเพลงไทย คราวนี้ตัวแทนคือ เพลงอภิรมย์ 2 และ แผ่นลูกทุ่งไฮไฟ ฟังสบาย ไม่มีเสียงจี่ฮัม ดุลน้ำเสียงเรียบ ไม่มีย่านใดโด่งล้ำหรือหลุบหาย มีความหวานปะปนอยู่ในน้ำเสียง ฟังรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน!!!

บทสรุปสำหรับ ELAC MIRACORD 70 คือ มันเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ฟังได้กับเพลงหลากหลายแนวจริงๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่ชอบเพลง Pop, Jazz, คลาสสิก, ลูกทุ่ง สนนราคาค่าตัวจัดว่าไม่ถูกไม่แพง เมื่อเทียบกับคุณภาพเสียง เพราะมันทำให้ผมต้องคิดใหม่ว่า… ฟังหัวเข็มราคาตัวละสองพันกว่าบาท ยังให้เสียงออกมาได้ขนาดนี้ แล้วถ้าหากได้เปลี่ยนหัวเข็ม MM ระดับดีกว่าอย่าง Shelter 201 หรือ Grado Gold เข้าไป ผมว่า นี่จะเป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่น่าจับตามองมากที่สุดเครื่องหนึ่งในยุคนี้เลยครับ. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 262