วุฒิศักดิ์

นักเขียน : วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์ :

Professional Monitor Company Limited หรือที่รู้จักกันในชื่อ PMC อันที่จริงแค่ชื่อบริษัทก็คงบ่งบอกแนวทางได้ชัดเจนครบถ้วนแล้ว โดย PMC เป็นผู้ผลิตลำโพงอ้างอิงที่ใช้ในห้องบันทึกเสียงจากประเทศอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นในปี 1990 โดย Mr. Peter Thomas ซึ่งเคยทำงานให้กับ BBC และ Mr. Adrian Loader โดยเขามีความเชื่อว่า ลำโพงที่ดีต้องสามารถใช้เพื่อถ่ายทอดความเป็นศิลปะในงานที่ถูกบันทึกมา ไม่ว่าจะเป็นดนตรี หรือภาพยนตร์ได้ในทุกขั้นตอน ซึ่งหมายถึง ลำโพงตัวเดียวกันต้องมีความเที่ยงตรงเพื่อใช้ในขั้นตอนการบันทึกเสียง ตลอดจนขั้นตอนการทำมาสเตอร์ มาจนถึงการใช้ฟังในห้องของผู้ฟังตามบ้านได้เป็นอย่างดี เพื่อให้ผู้ฟังสามารถได้ยินในสิ่งที่ผู้สร้างงานศิลป์ต้องการสื่ออกมา ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะลำโพงที่ดีควรฟังดนตรีได้ดีในทุกๆ แนวเพลง และยังต้องดูหนังได้ดีอีกด้วย เพราะลำโพงที่ดีก็ไม่ควรไปปรุงแต่งอะไรเกินจริง มันควรทำหน้าที่แค่ส่งผ่านสิ่งที่ศิลปินต้องการบันทึกมา ให้ออกมาได้ตรงตามความตั้งใจของศิลปินเท่านั้น ไม่ได้ขึ้นกับว่าจะเป็นเพลงแนวไหน หรือหนังอะไร เหมือนถ้าเปรียบกับจอภาพ เขาก็ไม่เห็นบอกว่า จอนี้แต่งสีมาเหมาะกับหนังดราม่า อีกจอเหมาะกับหนังแอ็กชั่นซะที่ไหน ก็เห็นใช้จอเดียวดูหนังทุกเรื่องกันเป็นปรกติ เรื่องเสียงก็ควรเหมือนกัน เสียงลำโพงที่ออกมาดี มันก็แค่ต้องให้เสียงของดนตรีแต่ละแนว หนังแต่ละเรื่อง ออกมาอย่างที่คนทำตั้งใจจะให้เราได้ยินเพียงเท่านั้น ถึงจะเรียกได้ว่าดีจริง

โดยลำโพงรุ่นแรกของทาง PMC ที่ออกมาในปี 1991 คือ BB5-A ที่ถูกออกแบบให้มาเพื่อใช้ติดตั้งในสตูดิโอของ BBC ในหลายๆ ที่ นอกจากนี้ยังมีติดตั้งใน Metropolis Studios อีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงถูกใช้งานอยู่ และได้ผ่านการใช้เป็นลำโพงอ้างอิงเพื่อผลิตผลงานเพลงชั้นยอดของศิลปินระดับโลกมาอย่างมากมายตลอดเวลายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าไม่จำเป็นต้องใช้การตลาดที่หวือหวา หรือดีไซน์แต่งหน้าทาปากให้เกินจริง เพื่อเรียกร้องความสนใจแต่ประการใด เพียงแค่ปล่อยให้ผลงานที่ผ่านมาแสดงถึงคุณภาพทั้งในด้านของคุณภาพเสียง และความทนทานที่พิสูจน์ด้วยการรองรับการใช้งานในแบบมืออาชีพมาเป็นสิบๆ ปีได้เป็นอย่างดี

เคล็ดลับที่ทำให้ชื่อเสียงของ PMC โด่งดัง และได้รับความไว้วางใจจากสตูดิโอบันทึกเสียงจำนวนมาก คือการใช้การออกแบบตู้ลำโพงในแบบที่เรียกว่า Advanced Transmission Line ที่ PMC นำมาใช้ในลำโพงทุกรุ่นที่ผลิต โดยเป็นการต่อยอดมาจากการออกแบบ Transmission Line ธรรมดาที่มีมานานแล้ว แต่โดยส่วนมากจะมีแค่หลักการคร่าวๆ และหวังผลการคำนวณที่แม่นยำได้ค่อนข้างลำบาก ซึ่งทาง PMC ได้ศึกษาอย่างละเอียด และนำมาใช้ได้เป็นอย่างดี

โดยหลักการคร่าวๆ ของลำโพง Transmission Line คือแนวคิดการหน่วงเวลาให้เสียงที่ออกมาจากด้านหลังของกรวยลำโพงไม่มาหักล้างกับเสียงหลักที่ออกมาจากหน้าลำโพง ด้วยการใช้ท่อทางเดินยาวๆ ซึ่งจะเป็นท่อตรง หรือพับย้อนไปมาก็ได้ บางครั้งจึงถูกเรียกว่า “ลำโพง เขาวงกต” เพราะหากจะออกแบบให้ทำงานที่ความถี่ต่ำๆ ซึ่งมีความยาวคลื่นมากๆ ท่อก็ต้องมีความยาวมากตามไปด้วย สูตรโดยทั่วไปคือ ความยาวท่อเท่ากับ ¼ ความยาวคลื่นต่ำสุดที่จะให้ลำโพงใช้งาน

จากในรูปจะเห็นว่า แม้เป็นลำโพงสองทางวางขาตั้งตัวเล็กๆ ถ้าใช้หลักการ ATL ก็ต้องมีทางเดินเสียงที่พับไปมายาวเป็นเมตร โดยหากเป็นลำโพง TL ทั่วๆ ไป ซึ่งหากต้องการที่จะให้ทำงานลงไปได้ถึง 20Hz ต้องใช้ตู้ที่มีท่อยาวถึงราวๆ 4.3 เมตรเลยทีเดียว ซึ่งต่อให้พับท่อไปมาหลายทบก็ยังมีขนาดใหญ่อยู่ดี แต่ด้วยองค์ความรู้ระดับ Advance Transmission Line จาก PMC จึงสามารถออกแบบให้ใช้ทางเดินในตู้ที่ยาวเพียงแค่ 3 เมตรเท่านั้น ในการตอบสนองความถี่ต่ำลงไปได้อย่างราบเรียบจนถึง 20Hz นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราไม่ค่อยได้เห็นผู้ผลิตรายอื่นใช้ตู้แบบ TL ในช่วงเสียงเบส (ในช่วงเสียงกลางและแหลม พอมีให้เห็นบ้าง) เพราะถ้าไม่ได้มีความชำนาญในระบบนี้อย่าง PMC ตัวตู้ต้องเป็นท่อตรง ซึ่งจะมีขนาดใหญ่ขึ้นอีกมากเลยทีเดียว หรือถ้ามีการพับท่อไปมาก็จะทำนายผลได้ยาก อาจจะให้เสียงออกมาไม่ตรงกับที่หวังไว้เท่าไหร่

สำหรับลำโพงที่ได้รับมาทดสอบในครั้งนี้เป็นรุ่น MB2 SE ซึ่งต้องขออธิบายก่อนว่า อนุกรม SE หมายถึง ลำโพงที่ถูกออกแบบมาให้ใช้ในบ้าน ความแตกต่างจากกลุ่มที่ใช้ในสตูดิโอที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การทำผิวตู้เป็นลายไม้สวยงามเข้ากับการตกแต่งบ้าน แทนที่จะเป็นสีดำด้านแบบที่นิยมใช้ในห้องบันทึกเสียง โดย MB2 SE ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็เป็นเหมือนการย่อส่วนลำโพงระดับตำนานอย่าง BB5-A ให้เล็กลงมาเล็กน้อย เพื่อให้เหมาะสมกับห้องที่มีขนาดเล็กลงมา เนื่องจากว่าทั้งสองรุ่นมีแนวทางการออกแบบแทบไม่แตกต่างกัน คือเป็นลำโพงสามทางที่ดูเหมือนลำโพงตั้งพื้นที่มีฐานยกสูงขึ้นจากพื้น เนื่องจากตัวตู้มีขนาดใหญ่มากระดับน้องๆ ตู้เย็น จนไม่น่าจะเรียกว่าเป็นลำโพงวางขาตั้งแล้ว แต่ก็ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ตั้งลงบนพื้นตรงๆ เพราะจะทำให้ตัวขับเสียงกลางและแหลม อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำเกินไป จึงต้องจัดวางบนขาตั้งที่ออกแบบมาคู่กัน ซึ่งเข้าใจว่าทางตัวแทนจำหน่ายขายมาเป็นเซ็ตพร้อมลำโพงเรียบร้อยพร้อมใช้งานแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อ หรือสั่งทำขาตั้งมาเพิ่มแต่อย่างใด

ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง MB2 SE และ BB5 SE อยู่ที่การใช้วูฟเฟอร์ขนาด 12 นิ้ว ในรุ่น MB2 SE และ 15 นิ้ว ในรุ่น BB5 SE โดยเสียงกลางเป็นหน้าที่ของตัวขับเสียงชนิดซอฟต์โดมขนาด 3 นิ้ว ที่นับว่าเป็นตัวขับเสียงระดับตำนานของวงการเครื่องเสียงตัวหนึ่งทีเดียว ส่วนเสียงแหลมก็เป็นซอฟต์โดมเช่นกัน เพื่อความต่อเนื่องในการถ่ายทอดน้ำเสียง โดยเลือกใช้โดมผ้าขนาด 1 นิ้ว และอีกส่วนหนึ่งก็คือ หากเป็นรุ่น SE ธรรมดา คือลำโพง Passive ทั่วไป สามารถใช้แอมป์ตัวเดียวขับลำโพงทั้งตู้ได้เหมือนลำโพงบ้านปรกติที่เราคุ้นเคย ส่วนถ้าเป็นรุ่นที่มีตัว A ต่อท้าย หมายถึงลำโพงที่ขายเป็นเซ็ตมาพร้อมแอมป์ โดยในรุ่นเล็กๆ ก็มีแอมป์ยึดติดมาที่หลังตู้ลำโพงเลย เพียงแค่ต่อสายสัญญาณจากปรีแอมป์ และสายไฟ มาเข้าที่หลังลำโพงก็ฟังเพลงได้เลย แต่ถ้าเป็นในรุ่นใหญ่ๆ อย่าง MB2-A SE ก็จะขายมาเป็นเซ็ต ซึ่งตัวตู้ยังหน้าตาเหมือนกับ MB2 SE ที่ได้รับมาทดสอบคราวนี้ แต่ภายในตู้ไม่มีวงจรตัดแบ่งความถี่ใดๆ อยู่เลย ขั้วต่อลำโพงท้ายตู้จะต่อตรงเข้ากับตัวขับเสียงเลย แล้วทาง PMC จะมี Active Crossover และแอมป์ สำหรับขับแต่ละตัวขับเสียงแยกมาให้ต่างหาก ซึ่งทั้งตัวครอสโอเวอร์และแอมป์ ต่างก็ออกแบบมาให้ใช้เป็นชุดเดียวกัน ดังนั้นไม่แนะนำให้เอาแอมป์อื่นมาต่อใช้งาน (อย่าซน!!!) เพื่อให้ได้เสียงอย่างที่ผู้ออกแบบตั้งใจออกมา

เนื่องจาก MB2 SE ที่มาในคราวนี้เป็นลำโพงพาสซีฟทั่วไป จึงสามารถต่อเข้ากับชุดอ้างอิงของผมได้เหมือนลำโพงทั่วไป โดยขั้วต่อสายลำโพงด้านหลังตู้มีมาให้ 3 ชุด รองรับการต่อ Tri-wire ซึ่งในส่วนนี้มีการแถมจั๊มเปอร์มาให้ แต่เท่าที่ลอง เริ่มแรกด้วยการใช้จั๊มเปอร์ที่แถมมา เอาสายลำโพงเข้าขั้วลำโพงที่ระบุไว้เป็น Woofer เสียงที่ออกมามีอาการติดหยาบเล็กน้อย จึงแนะนำว่าควรใช้สายลำโพงไตรไวร์หรือหาจั๊มเปอร์คุณภาพเดียวกับสายลำโพงมาต่อใช้งานจะหวังผลได้มากกว่า ในคราวนี้ ผมได้ใช้สายลำโพง Transparent Opus single wire ต่อเข้าที่ขั้วลำโพงสำหรับเสียงกลาง และใช้ Reference MM jumper ต่อจากขั้วเสียงกลางไปแหลม ซึ่งทำให้เสียงกลางและแหลมต่อเนื่องเนียนน่าฟังดีมาก ตัวขับเสียงกลางที่เป็นซอฟต์โดมขนาด 3 นิ้ว ที่บางคนเรียกเล่นๆ ว่า “โดมซาลาเปา” ฉายแววออกมาอย่างชัดเจน และในช่วงแรกที่ยังใช้จั๊มเปอร์แถมในช่วงเสียงเบสอยู่ เบสจึงยังบางๆ นิดๆ แต่เนื่องจากหาจั๊มเปอร์รุ่นเดียวกันไม่ได้ ผมจึงใช้แค่ยี่ห้อเดียวกัน ซึ่งก็ได้ความกลมกลืนกันดีขึ้นมากกว่าจั๊มเปอร์แถมอีกระดับหนึ่ง เบสมาดีมากขึ้น มีความกลมกลืนกำลังดี ดังนั้น แนะนำเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าจะเล่น แนะนำให้ใช้จั๊มเปอร์ที่มีคุณภาพเดียวกับสายลำโพงต่อใช้ทั้งหมด แล้ว MB2 SE จะฉายแววขึ้นมาอีกเยอะเลยทีเดียว

คุณภาพเสียง

เริ่มต้นทดสอบฟังเสียงของ PMC MB2 SE ด้วยแผ่น Ayako Hosokawa อัลบั้ม to Mr. Wonderful เสียงร้องมีความอิ่มเข้มกำลังดี ในช่วงที่โหนเสียงขึ้นไปให้มีความดังมากก็ไม่มีอาการจัดกร้าวขึ้นมาให้ได้ยิน หัวเสียงเปียโนมีความคมชัดตามสไตล์แผ่น TMB แต่มีอีกส่วนที่มีความน่าสนใจมากกว่าทุกครั้งคือ เสียงแซ็กโซโฟนที่มีความโดดเด่นกว่าทุกครั้ง คือมีความสดแบบการเป่าจริง แต่ก็แสดงถึงความหม่นๆ นุ่มๆ ในเนื้อเสียงที่เกิดจากตัวแซ็กโซโฟนที่มีคราบไคล เสียงจะกลมๆ มนๆ ตามแนวแจ๊ส ไม่แผดแปร๋น สดจัด กัดหู แบบปรกติ ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ก็ไม่ได้ แปลกอะไร แผ่นแจ๊สหลายๆ แผ่นก็ให้เสียงแซ็กฯ โทนนี้ เพียงแต่คราวนี้ สัดส่วนของเสียงต่ำที่เป็นเสียงลมผ่านท่อของตัวเครื่องเป่า เสียงสดที่ต้องมีของเครื่องเป่าทองเหลือง และสัดส่วนของความกลมมนในน้ำเสียงที่เกิดจากคราบไคลของตัวแซ็กฯ มันแค่ลงตัวกันพอดีๆ เท่านั้นเอง

ต่อด้วยแผ่น Stanislas Deriemaeker: the two Organ of Antwerp Cathedral พอดีว่าก่อนหน้าที่จะได้ทดสอบ PMC MB2 SE ผมได้ไปเที่ยวที่วิหารแห่งนี้มาพอดี เลยได้แผ่นซีดีติดมือกลับมาด้วย เมื่อมีโอกาสได้ลองลำโพง Transmission Line ก็ต้องหาแผ่นที่มีเพลงที่เล่นออร์แกนท่อมาลองให้ได้ โดยแผ่นนี้มีจุดที่น่าสนใจตรงมีการใช้ออร์แกนทั้ง 2 หลังที่อยู่ในวิหารแห่งนี้ โดยแบ่งเป็นเพลงแรกๆ เล่นจากออร์แกนที่ใหม่กว่า โทนเสียงจะสดสว่างกว่า แต่ก็มีความรู้สึกถึงการมีฐานเสียงที่บางกว่า และอีกส่วนคือความเด็ดขาดในการหยุดของแต่ละโน้ตดูจะช้านิดๆ เพราะเมื่อเพลงที่เล่นเร็วๆ หน่อย มีความรู้สึกว่า หางโน้ตที่ควรจะหยุดเพื่อเปิดช่องให้โน้ตต่อไป กลับหยุดไม่ค่อยทันทีเท่าไหร่ ทำให้หัวโน้ตต่อไปมีอาการควบรวมกันนิดๆ ไม่เคลียร์เท่าออร์แกนเครื่องเก่าหลังใหญ่ที่ใช้บรรเลงในแทร็กหลังๆ ที่ได้ทั้งพลังฐานเสียงความถี่ต่ำที่เติมเต็มความยิ่งใหญ่น่าฟังระดับลงลึกถึงระดับเกิดอาการขนลุกเลยทีเดียว และอย่างที่บอก ออร์แกนท่อตัวใหญ่ที่อายุมากกว่า ดูเหมือนมีระบบกลไกที่ทำงานได้รวดเร็วเด็ดขาดกว่า เวลาเล่นเร็วสามารถติดตามโน้ตได้ชัดเจนกว่า ซึ่งตรงนี้ ผมไม่ได้กำลังรีวิวแผ่นซีดีที่ซื้อมานะครับ แต่กำลังจะบอกว่า จุดเด่นของลำโพงแบบ Transmission Line ที่ออกแบบมาได้ดีจะมีเบสที่ลึก และลงลึกได้แบบสะอาด มีรายละเอียดชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะได้ยินจากลำโพงชนิดอื่น และ PMC MB2 SE ก็ไม่ทำให้ผิดหวังในเรื่องนี้จริงๆ ให้เบสที่ลงลึกและสะอาดสุดจริงๆ กับแผ่น Maitrise Notre-Dame de Paris ที่บันทึกในวิหาร Notre-Dame ในปารีส ออร์แกนที่นี่ไม่ได้เน้นความถี่ต่ำให้รู้สึกขนลุกแบบที่ Antwerp แต่จะออกแนวสงบเยือกเย็น เข้ากับเสียงร้องของคณะผสานเสียงได้เป็นอย่างดี

หากงบประมาณถึง และกำลังมองหาลำโพงที่มีเสียงกลมกล่อม มีเบสที่มีคุณภาพ นี่เป็นลำโพงที่ต้องไปฟังให้ได้ แล้วจะได้เข้าใจถึงคำว่า Professional Monitor อย่างแท้จริง

และเมื่อเริ่มเข้ามาที่เพลงที่มีความถี่ต่ำมากๆ ผมก็นึกถึงซาวด์แทร็ก Pirate of the Caribbean โดยเฉพาะภาค Dead Man’s Chest ที่มี เดวี่ โจนส์ เล่นออร์แกนท่อด้วย ทั้งยังมีสารพัดเสียงต่ำจากเครื่องสายที่สีกันอย่างเมามัน แถมยังมีซาวด์ประกอบที่ระทึกใจมาก โดยเฉพาะแทร็ก the Kraken ที่ต้องบอกว่าอเมื่อเจอกับลำโพงที่ให้เสียงต􀄞ำได้ลึก และสะอาดแบบนี้ ต้องบอกว่าถึงใจมาก และไม่ได้มีดีแค่เสียงเบส แต่เสียง Music Box ในเพลง Davy Jones ก็มีรายละเอียดที่ดี มีหัวเสียงชัดเจน มีพลัง รู้สึกได้ถึงการดีดตัวของแถบโลหะตามกลไกของ Music Box แถมยังมีความหม่นในน้ำเสียงเข้ากับเมโลดี้ของเพลงที่ดูเศร้าๆ ได้ เป็นอย่างดี ต้องบอกว่าแผ่นนี้เข้าทาง MB2 SE อย่างแรง จนอดนึกไม่ได้ว่า ถ้าได้ดูภาคนี้ในห้องโฮมฯ ที่ลง PMC ชุดใหญ่ไว้ทั้งชุดจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่พอนึกรวมๆ ราคาลำโพงเลยต้องตัดใจ ถ้าจะหาโอกาสฟังได้ยากเต็มที ต้องเป็นห้องประเภท Cost no Object หรือสตูดิโอมิกซ์เสียงระดับโลกเท่านั้น ถึงจะมีโอกาสได้เห็นลำโพงระดับนี้

ว่าแล้วก็ข้ามมาที่เพลงที่ต้องการเสียงเบสที่กระชับ สะอาด รวดเร็ว อย่าง X-Japan: Dhalia กันบ้าง พบว่า PMC MB2 SE สามารถให้เสียงกลองสองกระเดื่องทำDouble Stroke ได้รวดเร็ว ชัดเจน เคลียร์ ไม่มีมั่วปนกันแม้แต่น้อย เพียงแต่ว่าพลังความกระแทกกระทั้นอาจยังไม่ถึงใจนัก ตรงนี้อาจเกิดได้จาก 3 ปัจจัย อย่างแรก… จั๊มเปอร์ที่ต่อไปวูฟเฟอร์ 12 นิ้ว ยังไม่ใช่ระดับเดียวกันกับสายลำโพง หรือ สอง… อาจเป็นเพราะแอมป์ Mark Levinson No. 336 ที่ผมใช้ทดสอบอาจจะยังเล็กไปนิด เพราะดูจากสเป็กกำลังขับสูงสุดของลำโพงที่ยังมากกว่าแอมป์อยู่เล็กน้อย สุดท้าย… อาจเป็นที่ห้องขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 7 เมตร สูง 3 เมตร ใหญ่เกินลำโพงไปนิด (ถ้าได้พี่เบิ้มอย่าง BB5 XBD-A ที่มีวูฟเฟอร์ 15 นิ้ว 2 ดอกต่อข้าง และมาพร้อมแอมป์ขับยกชุดมาจากโรงงาน ไม่ต้องใช้จั๊มเปอร์ คงไม่ต้องคาใจเรื่องนี้)

นอกจากนี้มีอีกสิ่งหนึ่งที่รู้สึกได้จากหลายๆ แผ่นที่ได้ฟัง ในช่วงแรกก็ไม่ค่อยมั่นใจ แต่ฟังไปฟังมาแล้วเริ่มชัดขึ้นคือ เรื่องของความถูกต้องของเฟสเสียงเบส ซึ่ง PMC ให้ได้เที่ยงตรงมาก คือเพลงที่มีเบสเป็นเฟสปรกติก็มีความรู้สึกว่ามีรูปวงที่แคบกว่า และในบางเพลงที่มีการใช้เอฟเฟ็กต์ปรับแต่งเฟสเสียงเบสเพื่อให้เป็นเสียงแบบ Out of phase เพื่อจำลองความรู้สึกโอบล้อม ก็จะรู้สึกได้ชัดเจนกว่าทุกครั้ง คือในลำโพงทั่วไปก็สามารถรับรู้ถึงเรื่องนี้ได้อยู่ เพียงแต่ว่าในคราวนี้ ขนาดรูปวงรู้สึกถึงความกว้างที่แตกต่างกันในแต่ละเพลงแต่ละแผ่นได้มากขึ้นกว่าที่เคยชิน ที่ว่าไม่แน่ใจ เพราะตอนแรกๆ มีอาการรู้สึกว่า บางเพลงรูปวงมันแคบผิดปรกติชอบกล เปลี่ยนแผ่นเปลี่ยนเพลงไปเรื่อยๆ จนเริ่มจับทางได้ว่า เพลงที่รู้สึกว่าแคบ จริงๆ มันก็ไม่ได้แคบมากมาย เพียงแต่ว่าเพลงที่มีเสียงเบสกว้างๆ มันรู้สึกได้ถึงความกว้างที่มากกว่าเดิม และในแต่ละเพลงก็สามารถแสดงความแตกต่างที่ถูกบันทึกมาได้ชัดเจนกว่าที่เคยชิน จึงเป็นสาเหตุให้รู้สึกว่า บางเพลงมันแคบๆ ชอบกล จริงๆ ต้องบอกว่า มันสามารถแจกแจงความใหญ่โตของขนาดรูปวงในแต่ละเพลงให้เห็นได้ชัดขึ้นมากกว่า

ต่อมา จากควันหลงที่เพิ่งได้ไปดูคอนเสิร์ตฉลองครบรอบ 25 ปีของอัลบั้ม Image and Words ของ Dream Theater ที่เล่นเอาใจแฟนเพลงมากแบบเล่นครบอัลบั้ม 8 เพลงติด เรียงเพลง

เหมือนในซีดีเป๊ะ เมื่อฟังผ่าน PMC ที่ความดังระดับ Rock Concert (วัดคร่าวๆ ด้วยมือถือ ราว 95dB ที่จุดนั่งฟัง) พบว่ายังทำงานได้เป็นอย่างดี เสียงกลางแหลมยังคงมีความราบเรียบ ไม่ออกอาการเครียด เสียงกระเดื่องของ Mike สะอาด อัดออกมาเป็นลูกๆ แม้กระทั่งเบสหกสายของ John ก็สามารถติดตามโน้ตได้เป็นอย่างดี ลำโพงสามารถคุมโทนบาลานซ์ได้เป็นอย่างดี ไม่มีการส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวออกมาให้ได้ยิน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเฮดรูมที่กว้างของชุดตัวขับเสียงกลางแหลมซอฟต์โดมคู่นี้ ที่แม้เจอกับสัญญาณความแรงสูงๆ ก็ยังรับมือได้เป็นอย่างดี ที่ผมลองที่ระดับความดังขนาดนั้น เนื่องจากต้องการรู้ว่า PMC MB2 SE จะรับมือกับการถ่ายทอดอารมณ์เพลงได้ทุกแนวจริงอย่างที่ผู้ออกแบบกล่าวอ้างหรือไม่ เพราะในหลายๆ ครั้ง พบว่า ลำโพงหลายๆ คู่ที่มีเสียงน่าฟัง เมื่อเล่นกับเพลงร้องหรือเพลงเบาๆ ทั่วไปสามารถฟังได้ดี แต่เมื่อเพลงมีความซับซ้อนมากขึ้น หรือแนวเพลงที่ต้องการระดับความดังมากขึ้น ลำโพงหลายๆ คู่จะแสดงข้อจำกัดออกมา คือเร่งความดังขึ้นแล้ว กลาง แหลม จะโด่งนำหน้าเบส ทำให้โทนเสียงโดยรวมบางลง เกิดอาการเจี๊ยวจ๊าว ขาดความน่าฟัง พอฟังเบาก็ไม่เข้ากับแนวเพลง แต่กับลำโพงมอนิเตอร์ชั้นดีต้องไม่มีข้อจำกัดในเรื่องนี้ เพราะเขาออกแบบมาให้ใช้กับทุกแนวเพลงอยู่แล้ว ซึ่ง PMC MB2 SE ก็เป็นข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

และต่อมากับแผ่นที่เสียงร้องมีโอกาสติดขึ้นขอบจัดจ้านได้ง่าย อย่างเช่น Jocelyn B. Smith: Here I Am พบว่าเสียงร้องกลมกล่อมน่าฟังดีมาก มีรายละเอียดการร้องให้ติดตามความตั้งใจในการเปล่งเสียงร้องแต่ละพยางค์ได้เป็นอย่างดี เสียงเปียโนหลังใหญ่ เสียงเบสอิ่มหนา ไม่พบอาการสดจัดขึ้นขอบเลย ฟังได้ดีมาก เบสสะอาดลงได้ลึก ใหญ่โต เป็นลำโพงที่ไม่ต้องง้อแอมป์หลอดมาเติมความอิ่มหวานเลย จับคู่กับแอมป์โซลิดสเตทกล้ามโตที่ปั๊มเบสสะอาดๆ ออกมาเป็นฐานเสียงให้ได้ เซ็ตตำแหน่งลำโพงให้ดี ไม่ให้เสียงขึ้นขอบ แค่นี้ก็ได้เสียงอิ่มเข็มข้นน่าฟังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สรุป

จากนิยามของ Studio Monitor ที่หลายคนเกรงกลัวว่าจะเป็นเสียงแนวแข็งทื่อ ไม่มีความอ่อนช้อย หรือเสียงค่อนข้างบาง จัดจ้าน กัดหู คงต้องบอกว่าอาจมีความเป็นไปได้เมื่อท่านฟัง Near Field Monitor ตัวเล็กๆ บางรุ่นที่ขาดเรื่องฐานเสียงต่ำที่มีคุณภาพมาช่วยเสริมความอิ่มเอมน่าฟัง แต่ถ้าท่านเคยมีโอกาสฟัง Far Field Monitor ตัวใหญ่ๆ ที่ให้เบสสะอาดครบเครื่องอย่าง PMC MB2 SE รวมถึงเสียงกลางแหลมที่ออกแบบให้มีเฮดรูมกว้างมาก รองรับไดนามิกได้ทั้งดังและเบา ตอบสนองความดังระดับดนตรีสดจริงๆ ในทุกๆ แนวเพลงได้อย่างสบายๆ โดยไม่ส่ออาการเครียดเค้น ท่านจะพบว่า PMC MB2 SE มีความกลมกล่อมน่าฟังที่หาไม่ได้ในลำโพงเล็ก หรือแม้กระทั่งลำโพงตั้งพื้นตัวใหญ่ๆ ก็ใช่จะให้เบสที่สะอาดลงลึกได้แบบที่ PMC MB2 SE แสดงออกมาได้ และด้วยเทคโนโลยี ATL ที่ PMC มีความชำนาญอย่างหาตัวจับได้ยาก ทำให้เป็นลำโพงที่มีเสียงเบสที่มีคุณภาพสูงมาก มีทั้งความสะอาดชัดเจน ลงได้ลึกถึงใจ เพียงแค่เลือกขนาดลำโพงให้เหมาะสมกับขนาดห้องก็จะได้ทั้งคุณภาพ และปริมาณเบสที่ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากอีกครั้งหนึ่ง

หากงบประมาณถึง และกำลังมองหาลำโพงที่มีเสียงกลมกล่อม มีเบสที่มีคุณภาพ นี่เป็นลำโพงที่ต้องไปฟังให้ได้ แล้วจะได้เข้าใจถึงคำว่า Professional Monitor อย่างแท้จริง. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่  248