ชุมพล

นักเขียน : ดร.ชุมพล มุสิกานนท์

ในบรรดาสายสัญญาณทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Interconnect, Speaker, Digital, Microphone ดูเหมือนว่าผู้ผลิตสายเคเบิลไม่เคยให้ความสำคัญกับสายโฟโน หรือที่บางทีเรารู้จักกันในนาม “สายท้ายอาร์ม” กันสักเท่าใด ทั้งที่จริงแล้ว สัญญาณเสียงที่ถูกส่งมาจากหัวเข็มนั้นมีความเบามาก เพียงแค่ระดับมิลลิโวลต์เท่านั้นเอง ดังนั้น หากสายสัญญาณมีความต้านทานสูง หรือมีค่าการเหนี่ยวนำสูงๆ ย่อมจะส่งผ่านสัญญาณออกไปได้ไม่เต็มที่ สายท้ายอาร์มหรือสายโฟโน จึงควรถูกออกแบบมาเป็นพิเศษให้มีความต้านทานต่ำและมีการชีลด์ป้องกันการรบกวนสัญญาณภายนอกได้ทั้ง RFI และจากไมโครโฟนิกด้วย

ปัจจุบันเครื่องเล่นแผ่นเสียงหลายยี่ห้อผลิตออกมาให้ถอดเปลี่ยนสายโฟโนได้ โดยมีแจ๊ค RCA ตัวเมียติดมากับแท่นเครื่อง และมีขั้วต่อกราวด์อยู่ใกล้ๆ กัน แบบนี้เราสามารถอัพเกรดสายโฟโนได้ตามใจชอบเลยครับ สาย Tara Labs: Apollo Phono ก็เข้าข่ายนี้คือ เป็นสายโฟโนที่มีหัวแจ๊ค (ล็อกได้) ชนิด RCA ไม่ใช่ DIN ใช้กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่มีขั้วต่อ RCA เท่านั้น และที่แปลกมากๆ คือ มันไม่มีสายกราวด์มาให้ด้วยครับ ดังนั้น เมื่อคุณใช้สายรุ่นนี้กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ฮัมเวลาไม่ต่อสายกราวด์ คุณก็ต้องมีสายที่ผ่านสัญญาณได้เร็วๆ อีกเส้นหนึ่งไว้ต่อเป็นกราวด์จากเครื่องเล่นแผ่นเสียงไปลงที่โฟโนสเตจ หรือ Head Amp 

ดูจากรูปลักษณ์ของสาย Apollo แล้ว ไม่มีอะไรพิสดาร ตัวสายถูกรวบมาเป็นเส้นเดี่ยว แยกออกมาเป็นซ้าย/ขวา ตรงส่วนต้นสายและท้ายสาย คงมีเฉพาะตัวหัวแจ๊ค RCA ตัวผู้ที่บ่งบอกความไม่ธรรมดาของสาย เพราะมันเป็นแจ๊คชนิดที่ล็อกติดกับ RCA ตัวเมียได้ และที่ผิวสัมผัสเคลือบทองเอาไว้ ตามสเปกที่ Tara Labs เปิดเผย บอกว่า ตัวนำทำมาจากทองแดงบริสุทธิ์ 99.9999% ปลอดออกซิเจนในเนื้อโลหะ ส่วนโครงสร้างจะเป็นชนิดใดนั้น มิได้ระบุให้ทราบ แหม!!! เอากับเขาสิ สมกับเป็นสายโฟโนระดับเริ่มต้นจริงๆ ข้อมูลจากเว็บไซต์บอกแต่เพียงว่า สายรุ่นนี้ประกอบในอเมริกา และรับประกันตลอดชีพครับท่าน!!! และนอกจากนี้ หากท่านประสงค์จะใช้กับขั้วต่อชนิด XLR ทางบริษัทก็มีไว้ให้เป็นทางเลือกด้วยครับ

สาย Apollo ที่ได้รับมายาว 1 เมตร ฉนวนภายนอกสีดำ (หนังงู) มีน้ำหนักไม่มาก ดัดตัวได้ดีครับ ผมทดสอบกับเครื่องเล่นแผ่นเสียง Music Hall 9.1 ซึ่งมีขั้วต่อสาย Phono ชนิด RCA ตัวเมียอยู่ที่ท้ายเครื่อง โดยใช้สายกราวด์ส่วนตัวของผม หัวเข็ม Benz Micro Wood SL, สายสัญญาณ Apollo ต่อเข้ากับ Step Up Transformer ของ EAR MC-4 แล้วออกจาก MC-4 ไปเข้าปรีโฟโน TS Audio รุ่น TS-45 ซึ่งทำโดยอาแป๊ะซิจ๋อ (ปรีแอมป์ตัวนี้รับได้แต่ MM เท่านั้น จึงต้องใช้ SUT มาขยายสัญญาณในระยะแรกก่อน) 

ในการทดสอบ ผมฟังสลับสาย Apollo กับสายสัญญาณอีกยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งผมซื้อมาจากต่างประเทศ เนื่องด้วยมันได้รับคำชมมากว่าเป็นสายโฟโนที่ดี เพียงแค่เพลงแรกจากแผ่นเสียง La La Land เท่านั้นแหละครับ เล่นเอาผมหูผึ่งเลย เพราะผมได้ยินเสียงที่ชัดถ้อยชัดคำมากกว่าเดิม รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องเงี่ยหูฟัง กลายเป็นมาเต็มแบบไม่ต้องตั้งใจฟังเอาเป็นเอาตาย โหย… นี่แค่คาบของการทดสอบนะครับ สิ่งต่อไปที่ผมเสาะหาคือ แล้วมันป้องกันการรบกวนได้ดีแค่ไหน เพราะว่าจะส่งผลไปกับความสงัดของพื้นเสียง คุณสมบัตินี้สำคัญมากสำหรับคนที่เล่นแผ่นเสียง เพราะยิ่งหัวเข็มคุณดี ปรีโฟโนคุณดี มันมีโอกาสที่จะถ่ายทอดสัญญาณรบกวนเข้ามาขยายออกทางลำโพงได้ง่ายมาก การแม็ตชิ่งสายต่างๆ ในระบบแผ่นเสียงค่อนข้างต้องคำนึงถึงคุณสมบัติการป้องกัน การรบกวนมากกว่าเครื่องเล่นซีดีด้วยซ้ำไป Tara Labs: Apollo สอบผ่านในข้อนี้ครับ เวทีเสียงถือว่าสงัด แบ็กกราวด์น้อยส์อยู่ในระดับยอมรับได้ ซาวด์สเตจขึ้นรูปเป็นสามมิติ แต่ยังไม่โฟกัสตำแหน่งชัดเป๊ะ

ที่ควรจะพิจารณาต่อไปคือ ดุลน้ำเสียงครับ บอกก่อนเลยว่า สายรุ่นนี้ไม่บ้าเบส ไม่เน้นความดุเดือดเลือดพล่าน แต่ให้มีดีเทลอย่างสมบูรณ์แบบ และมีความสดใส เปิดเผยที่ฉายแววออกมาทุกครั้งที่ฟัง ไดนามิกดี สวิงได้กว้าง ไม่มีอั้นตื้อ เสียงกลางเป็นธรรมชาติ ชัด แต่ไม่ขึ้นขอบ มีความอิ่มในเนื้อเสียงปานกลาง ไม่บางและไม่หนาจนเกินไป ผมลองกลับทิศของสายฟังดู ปรากฏว่าเนื้อเสียงฟังดูเข้มข้นขึ้น แต่เวทีจะหดตัวแคบลง และรายละเอียดที่เคยเป็นจุดเด่นกลับกลายเป็นธรรมดาไป

แล้วสายรุ่นนี้เหมาะกับหัวเข็มบุคลิกแบบไหน? ผมนึกถึง Shure M-447 หรือ Grado Black ขึ้นมาทันทีเลย ไม่มี Audio Technica รุ่น Carbon (Rega สั่งผลิต) หรือจะเป็นยี่ห้อ/รุ่นอื่นๆ ที่เสียงเข้มๆ หน่อย น่าจะเข้ากันได้ดีครับ แต่หากว่าใช้กับหัวเข็มที่โทนเสียงค่อนไปทางแหลมใสอาจจะทำให้รู้สึกว่าเสียงบางได้ ยังไงๆ บทสรุปของ Tara Labs: Apollo Phono คือ… สายโฟโนคุณภาพดี ราคาไม่แพง บุคลิกน้อย ความต้านทานต่ำเล่นกับเทิร์นเทเบิลได้หลากหลายครับ. ADP

ราคา 10,000 บาท
จัดจำหน่ายโดย บริษัท อินเวนทีฟ เอวี จำกัด (IAV)
โทร. 0-2238-4078-9

นิตยสาร Audiophile Videophile  ฉบับที่ 252