วุฒิศักดิ์

นักเขียน : วุฒิศักดิ์ ชื่นมีเชาว์

Acoustic Energy AE520 ถือเป็นลำโพงรุ่นใหญ่ที่สุดจากผู้ผลิตที่อยู่คู่วงการมานานกว่า 30 ปี อย่าง Acoustic Energy

ถ้าพูดถึง Acoustic Energy ก็ต้องนึกถึงลำโพงระดับตำนานอย่าง AE 1 ลำโพงเล็กที่ให้เสียงกลางได้ดีจนได้รับรางวัลจากสื่อต่างๆ มากมาย โดยส่วนตัวผมไม่เคยมีโอกาสได้เล่น AE 1 เป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็เคยได้ยินเสียงตามงานโชว์อยู่บ้าง ก็พอจำได้ลางๆ ว่าเป็นลำโพงที่เน้นการแจกแจงรายละเอียดในย่านเสียงกลาง โดยไม่ได้เน้นเบสให้ใหญ่เกินตัว

มาในคราวนี้ ผมมีความต้องการจะลองฟังรุ่น AE520 มาก ด้วยเหตุผลบางประการคือ ผมชอบแนวทางการออกแบบตัวขับเสียงที่ใช้วัสดุเดียวกันในแต่ละย่านความถี่ เพราะมักพบว่าสามารถให้ความต่อเนื่องของเสียงแต่ละย่านความถี่ได้อย่างน่าสนใจ เช่น B&W Nautilus และ Vivid Audio ที่ใช้ตัวขับเสียงเป็นอะลูมิเนียมทุกย่านความถี่

นอกจากนี้ ผมเคยมีความสงสัยมานานแล้วว่า ทำไมถึงแทบไม่เคยเห็นทวีตเตอร์ที่ทำจาก Carbon Fiber เลย ทั้งๆ ที่ในทางทฤษฎีแล้ว Carbon Fiber เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงต่อน้ำหนักสูงกว่าอะลูมิเนียมมาก ซึ่งถึงตรงนี้หลายท่านอาจสงสัยว่า แข็งแล้วมันดียังไง ก็ต้องบอกว่า ถ้าให้แบ่งแนวทางการออกแบบโดมของทวีตเตอร์ก็จะออกแบ่งเป็น 2 กลุ่มคร่าวๆ กลุ่มแรกเรียกว่า Soft Dome” หรือที่เราเรียกกันว่า “โดมผ้า” ซึ่งก็เหมารวมพวกโดมพลาสติกอย่างไมล่าเข้าไปด้วย แนวทางนี้ใช้วัสดุที่อ่อนนุ่ม เบา เพื่อให้เมื่อโดมขยับตัวด้วยความเร็วสูงมากๆ แล้ว โดมจะต้องเสียรูปเป็นเรื่องธรรมดา แต่การเสียรูปในวัสดุนุ่มๆ มันก็จะถูกเนื้อวัสดุซึมซับพลังงานไป ทำให้เสียงมีความเพี้ยนแบบนุ่มนวลน่าฟัง เราจึงพบว่า ซอฟต์โดมให้เสียงแหลมที่นุ่มนวลน่าฟัง

ในขณะที่ Hard Dome” (AE520 เลือกเดินมาทางนี้) หรือบางที่ก็เรียก “โดมโลหะ” ซึ่งส่วนมากก็เป็น… อะลูมิเนียม, ไทเทเนียม รวมถึงงพวกโดมแข็งๆ ทั้งหลายไปจนถึงโดมเบอริลเลียมและโดมเพชร ซึ่งแนวทางนี้จะออกแบบโดมไม่ให้เสียรูปในขณะขยับตัว จึงต้องใช้วัสดุที่มีความแข็งแรงมากกว่าเพื่อให้โดมสามารถถ่ายทอดพลังงานออกมาได้เที่ยงตรงกว่า

แต่วัสดุทั้งหลายในโลกนี้ไม่ได้เป็นไปตามอุดมคติที่เราต้องการ ดังนั้น เวลาที่มันทำงานหนักๆ ก็ยังคงเสียรูปอยู่ และการเสียรูปนั้นก็ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นความเพี้ยนทางเสียงให้เราได้ยิน จึงทำให้เราพบว่า พวกโดมโลหะที่ออกแบบมาได้ไม่ดีพอ มักให้เสียงจัดจ้านบาดหู ซึ่ง Carbon Fiber ถือเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีความแข็งแรงมากกว่าอะลูมิเนียมในน้ำหนักเท่ากัน มันจึงเป็นวัสดุที่ผมมีความสนใจอยากจะฟังเสียงเมื่อถูกนำมาทำเป็นโดมทวีตเตอร์มาก ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจยุคนี้ที่นักเล่นหลายๆ  ท่านได้รับผลกระทบกันมากบ้างน้อยบ้าง การที่จะได้ทดสอบลำโพงที่ราคาจับต้องได้จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

รูปลักษณ์และการออกแบบ

Acoustic Energy AE520 เป็นลำโพงตั้งพื้น 3 ทาง ขนาดกลางๆ ออกแบบให้ใช้มิดเรนจ์ขนาด 125 มม. (ราวๆ 5 นิ้ว) กรวย Carbon Fiber จำนวน 2 ตัว ประกบอยู่บน-ล่างของทวีตเตอร์ 1 นิ้ว โดม Carbon Fiber ในลักษณะ MTM ซึ่งเท่าที่สำรวจรอบๆ ตู้ พบพอร์ตด้านหลังเพียงช่องเดียว อยู่ใต้แนวที่ติดตั้งของมิดเรนจ์ ผมเข้าใจว่า ส่วนของมิดเรนจ์ทั้ง 2 ตัว น่าจะอยู่ในตู้ปิด แต่มีการคาดโครงหรือแบ่งปริมาตรภายในหรือไม่นั้น ไม่ทราบได้

ในส่วนของวูฟเฟอร์ทำจาก Carbon Fiber เช่นกัน และถึงแม้มีขนาด 125 มม. เท่ากัน หน้าตาดูภายนอกเหมือนกัน แต่ทางผู้ผลิตอธิบายไว้ว่า ระบบแม่เหล็กและขอบสไปเดอร์ที่ใช้ยึดภายในต่างกัน  เพื่อให้เหมาะกับการทำงานในย่านความถี่ต่ำ โดยใช้จำนวน 3 ตัว ติดตั้งอยู่ด้านหน้าตู้ และมีพอร์ตแบนๆ แบบสลอตอยู่ด้านหลัง ซึ่งพอร์ตแบบนี้ทาง AE ออกแบบเพื่อให้ลดการเกิดความแปรปรวน หรือลมวนของการเคลื่อนที่ของอากาศในท่อ

อีกส่วนที่เป็นจุดที่น่าสนใจคือ ผนังตู้ที่ประกอบด้วยวัสดุต่างชนิดซ้อนกันเป็นชั้น คือเป็น MDF 2 ความหนาประกบกัน โดยมีไส้กลางเป็นชั้นยางหนา 3 มม. ซึ่งการออกแบบตู้ลักษณะนี้คล้ายๆ ที่เราทำผนังบ้านกันเสียง กันความร้อน ด้วยการก่อผนัง 2 ชั้น มีช่องว่าตรงกลาง แล้วใส่พวกไยแก้วไว้ตรงกลางครับ คือพลังงานเสียงเมื่อวิ่งผ่านตัวนำที่มีความหนาแน่นต่างกัน มันจะเกิดการหักเห และเมื่อมีตัวนำหลายชั้นที่มีความหนาแน่นต่างกันในแต่ละชั้น มันก็จะหักไปหักมา ทำให้พลังงานเสียงบางส่วนสลายไปในแต่ละชั้นของตัวนำ จึงทำให้ตู้แบบนี้ป้องกันเสียงได้ดีกว่าตู้ที่เป็น MDF ที่มีความหนาเท่ากัน

อีกส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมความหล่อให้กับ AE520 คือ ฐานอะลูมิเนียมที่ออกแบบให้พอดีกับตัวตู้ แล้วเซาะร่องเป็นที่ติดตั้งสไปก์ขนาดใหญ่ดี ขาดูสวย มีตัวปิดเกลียวให้ดูเรียบร้อย แต่พบว่าปรับสูงต่ำได้ไม่เยอะนัก แค่พอให้ลำโพงตั้งได้มั่นคงบนพื้น แต่ถ้าพื้นห้องเอียงเทระดับอาจไม่พอปรับให้ความสูงของ ทวีตเตอร์ทั้งสองข้างสูงในระดับหูเท่ากันเป๊ะๆ ในกล่องมีจานรองสไปก์ขนาดเล็กมาให้ด้วย ก่อนประกอบฐานจะเห็นชั้นยางดำๆ บางๆ ระหว่างผนังตู้ 2 ชั้น เมื่อประกอบฐานเสร็จ ตัวตู้ดูสูงเพรียว เรียบร้อย ไม่ถึงกับหรูหราระดับลำโพงไฮเอ็นด์ แต่ก็สวยงามสมราคา

คุณภาพเสียง

โดยในส่วนของการทดสอบเรื่องเสียง เนื่องจาก AE520 เป็นลำโพงรุ่นสูงสุดจาก Acoustic Energy ดังนั้น ในคราวนี้ผมค่อนข้างจะเคี่ยวในการทดสอบมากเป็นพิเศษ เพราะผมถือว่า ลำโพงรุ่นใหญ่สุดของค่ายควรต้องเป็นเหมือนคำประกาศความมุ่งมั่น เป็น Statement ที่รวบรวมองค์ความรู้ของผู้ผลิตมาผลิตผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้น เมื่อมีลำโพงแนวนี้เข้ามา ผมจะให้คะแนนยากเป็นพิเศษ และคาดหวังความเป็น State of the Art จากเครื่องเหล่านั้น ไม่ว่าจะถูกตั้งราคามาถูก แพง เท่าไหร่ก็ตาม ดังนั้น มันจะถูกประเมิณคุณภาพเสียงกับเครื่องที่มีราคาสูงกว่าหลายๆ เท่าตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในการทดสอบนี้ AE520 จะถูกประเมิณตามมาตรฐานนี้

โดยช่วงแรก ถึงแม้ได้รับแจ้งมาว่า ลำโพงได้ผ่านการใช้งานพ้นระยะเบิร์นอินมาบ้างแล้ว แต่พบว่า หากตำแหน่งที่ตั้งยังไม่ลงตัว เสียงจะออกมาในโทนสด เสียง ส ซ ของเสียงร้องค่อนข้างชัดเกินจริง เสียงกลางก้องเล็กๆ เหมือนนักร้องป้องปากร้อง  เบสบางๆ แต่เมื่อลงตัว แหลมจะกลมกลืนกันกับกลางได้ดี สะอาด มีรายละเอียดย่านเสียงกลางที่เที่ยงตรงดี สามารถรับรู้ลีลาการร้องของนักร้องแต่ละคนที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี เบสมีพอสมตัว เมื่อมองจากวูฟเฟอร์ 125 มม. (ราว 5 ¼”) 3 ตัว รวมพื้นที่กรวยได้เทียบเท่าวูฟเฟอร์ 9” 1 ตัว แต่ต้องเข้าใจว่าอาจมีข้อจำกัดด้านระยะชักบ้าง เอาเป็นว่า ควรจะคาดหวังเบสได้ใกล้เคียงวูฟเฟอร์ 8” สัก 1 ตัว

นอกจากนั้นยังพบว่า เน้นที่การส่งต่อเสียงที่ต่อเนื่องกับย่านกลาง คืออารมณ์เหมือนลำโพง full range ชั้นดีที่เด่นย่านเสียงกลางเป็นหลัก ในส่วนของเสียงแหลมที่ได้จาก carbon fiber tweeter บุคลิกออกมาทางทวีตเตอร์โดมโลหะมากกว่าโดมผ้า ย่านปลายบนสุด หางระยิบระยับ อาจไม่เน้นทอดยาวมากนัก เน้นที่แรงปะทะของหัวเสียงที่ฉับไว แข็งแรง เป็นธรรมชาติ ให้สามารถรับรู้ถึงความแตกต่างของเสียงที่เกิดจากเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ กัน โดยเฉพาะเครื่องเคาะที่สามารถรับรู้ถึงเสียงที่บ่งบอกได้ว่า วัสดุชนิดไหนกำลังกระทบกันให้เกิดเสียงขึ้นมา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทาง AE เลือกใช้ carbon fiber ที่มีความแข็ง และน้ำหนักเบา ทำให้ตอบสนองสัญญาณเฉียบพลันได้ดี และเนื่องจากเป็นวัสดุเดียวกันกับเสียงกลาง ทำให้ความกลมกลืนต่อเนื่องของเสียงทำได้ดีมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า ทำไม? เราถึงไม่เห็น carbon fiber tweeter ในท้องตลาดมากอย่างที่ควรจะเป็น

ในส่วนของเบสอาจไม่เน้นอัดมาให้จุกอก ให้มาแค่พอให้รับรู้ถึงโน้ตเพลงอย่างครบถ้วน มีความสะอาด สามารถติดตามรายละเอียดโน้ตเบสได้ดี เมื่อนั่งที่ปลาย 3 เหลี่ยมด้านเท่า เบสมีปริมาณเพียงพอ  แต่เมื่อออกนอกแนวตำแหน่งนั่งฟัง เบสจะลดลง เมื่อเล่น SACD ของนักเปียโนแจ๊ส Chic Corea อัลบั้ม  Rendezvous in New York พบว่า เสียงร้องดูเด่นกว่าเปียโน เพราะหากเทียบกับลำโพงที่เหนือกว่านี้จะพบว่า AE520 ยังคงมีข้อจำกัดด้านความพลิ้วกังวานของเส้นสายเปียโนที่ถูกเคาะ คือให้หัวโน้ตซึ่งติดตามได้ดี แต่หางยังห้วนๆ ไปนิด และบอดี้ของเนื้อไม้ที่รู้สึกถึงตัวเปียโนยังย่อหย่อนไปบ้าง เสียงคนดูปรบมือ ไม่ถือว่าบางเปาะแปะเป็นเสียงฝนตก แต่ก็ยังไม่ถึงกับรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของเนื้อกระทบกัน  เรียกว่าทำได้ดีในระดับราคานี้ แต่ไม่สามารถเทียบชั้นลำโพงที่แพงกว่ามากๆ ได้

หลังจากนั้นได้ลองกับเพลงหลากหลายแนว พบว่าเพลงที่มีไดนามิกดังเบาต่างกันมากๆ ยังเจอข้อจำกัดบ้าง ที่หากเปิดให้ช่วงดังไม่ดังเกินไป จะพบว่า ช่วงปรกติเบาไปนิด แต่ถ้าเปิดให้ช่วงปรกติดังกำลังดี (เทียบเคียงการฟังดนตรีสดทั่วไป) พบว่า ท่อนที่โหมดังขึ้นมา พบความเพี้ยนให้สังเกตุได้ แปลว่าดังเกินที่ลำโพงจะรับได้ ดังนั้น เพลงคลาสสิกที่บันทึกมาโหดๆ ไดนามิกกว้างมากๆ และช่วงโหมดังจัดๆ อาจจะเกินความสามารถ AE520 ไปหน่อย แต่ต้องไม่ลืมว่า ผมทำการทดสอบในห้องขนาดราว 5×7 เมตร และขับด้วยแอมป์ 600 วัตต์ ซึ่งถือเป็นงานที่เกินความสามารถของ AE520 ไปหน่อย ถ้าเป็นห้องขนาด 3.5×5 ถึง 4×6 ดูจะลงตัวมากกว่า

หลังจากนั้นได้เปลี่ยนมาฟังแผ่นเสียง โดยเริ่มต้นด้วยแผ่นเสียงของนักร้อง Rebecca Pidgeon อัลบั้ม the Raven เสียงร้องเนียนน่าฟังดี มีความเป็นอะนาล็อกมากๆ เสียงเครื่องเคาะมีหัวเสียงกระชับ น้ำหนักกำลังดี ส่วนเสียงเบสต่ำๆ ครางๆ ในบางโน้ตที่เคยพบในบางชุดก็ไม่มีให้ได้ยิน คือเบสมีความกระชับมีรายละเอียดของโน้ตดนตรีให้ติดตามได้พอดีๆ แต่สำหรับบางท่านที่ชอบเบสต่ำๆ ล้นๆ นิดๆ ในอัลบัมนี้ที่เคยเสริมให้ลำโพงเล็กฟังดูเสียงใหญ่อาจต้องผิดหวัง เพราะ AE520 ไม่ปรุงแต่งเสียงเหล่านั้นมาให้

แผ่น Disney Ultimate Hits Vol.2 ซึ่งมีทั้งเพลงเก่าและใหม่ปนๆ กัน AE520 ก็มีความเที่ยงตรงเพียงพอที่จะถ่ายทอดข้อบกพร่องของแทร็กจากภาพยนตร์เก่าๆ อย่าง Chim Cher-ee จาก Marry Poppin ก็ไม่เนียนแบบ I see the light จาก Rapunzel ที่ใหม่กว่ากันหลายสิบปี หรือแม้กระทั่ง Remember me จาก Coco ที่ถึงแม้พยายามเลียนแบบซาวด์สมัยเก่า ก็จะพบว่าต่างจากการบันทึกสมัยเก่าจริงๆ แต่สิ่งที่แต่ละเพลงมีเหมือนกันคือ เสียงร้องทั้งชายและหญิงที่มีโทนเสียงน่าฟัง มีความหล่อ ความสวยในน้ำเสียง โดยเฉพาะ When she love me ที่ร้องโดย Sarah McLachlan เพลงประกอบภาพยนตร์ Toy Story 2 ที่ถ่ายทอดทั้งความรู้สึก สุข คิดถึง เหงา เศร้า ผสมกันออกมาได้อย่างลงตัว AE520 ก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างดี ไม่ได้ปรุงแต่งเสียงให้สวยเกินจริงจนไปทำให้อารมณ์เพลงกลายเป็นโลกสวยเกินจริงจนความเหงาเศร้าหายไป เรียกว่าส่วนผสมของความเทียงตรงกับการปรุงแต่งเสียงกลางให้น่าฟังถูกผสมมาได้ลงตัวดีมากจนเป็นจุดเด่นของลำโพงคู่นี้

และเนื่องจากในระหว่างทดสอบ ผมได้ข่าวการล่วงลับของนักร้องหญิงที่ชื่นชอบอย่าง Helen Reddy ประกอบกับบุคลิกของ AE520 ที่ค่อนข้างโดดเด่นย่านเสียงร้อง จึงขอหยิบงานเพลงของ Helen Reddy มาทดสอบด้วยแผ่นเสียงชุด No way to treat a lady ซึ่งผมบังเอิญได้มาในสภาพดี สมัยที่เดินทางไปอังกฤษ ด้วยราคาเพียง 1 ปอนด์เท่านั้น

สิ่งที่สร้างความประทับใจให้ผม นอกจากเสียงร้องที่รู้สึกมีความเหน่อๆ นิดๆ อย่างคุ้นเคยแล้ว ยังมีเสียงกระเดื่องกลอง และการเดินเบสที่มีปริมาณกำลังดี คือเพลงป๊อปสมัยนั้น กระเดื่องกลองจะถูกบันทึกให้ใหญ่นิดๆ หัวไม่คมมาก ออกแนวนุ่มๆ ใหญ่ๆ และเบสไฟฟ้าก็คุมโทนให้สดใส กระชับ มีรายละเอียดหัวโน้ตที่ติดตามได้ดี หางเสียงไม่ทอดลงลึกจนเกิดอาการกวนเสียงอื่นๆ ซึ่ง AE520 สามารถให้ความถูกต้องในส่วนนี้ได้มากกว่าที่คาด คือมีน้ำหนักกระเดื่องที่แน่นกระชับ ไม่หนักจนจุกอก  และไม่บางจนโดนเครื่องดนตรีอื่นกลบ สามารถติดตามโน้ตเบสได้เป็นอย่างดี มีความนุ่มนวลเป็นฐานของเพลงให้เกิดความรู้สึกสนุกในเพลงเร็ว และอบอุ่นในเพลงช้า นอกจากกระเดื่อง ก็ยังบ่งบอกถึงลักษณะเสียงกลองสแนร์บอดี้ไม้ที่มีโทนเสียงนุ่มนวลกว่าโลหะด้วย ซึ่งเพลงในสมัยนั้น มักนิยมใช้สแนร์ที่ค่อนข้างหนาเพื่อให้ความถี่เรโซแนนซ์ที่เป็นเสียงบอดี้กลองเป็นความถี่ต่ำ เพื่อให้เสียงสแนร์อิ่มหนากว่าเพลงสมัยใหม่ จริงๆ ผมก็เพิ่งมารู้จัก Helen Reddy ตอนที่ได้แผ่นเสียงมาเมื่อราว 15 ปีที่แล้ว ซึ่งนักร้องที่ผมได้ฟังในวัยเด็กจริงๆ ล้วนล่วงลับไปนานแล้ว อย่าง the Carpenters จึงขอหยิบมาปิดท้ายกับแผ่นรวมเพลงชุด the single 1969-1973 พบว่าการบันทึกเสียงต่างจาก Helen Reddy ตรงที่เน้นเสียงร้องและเครื่องดนตรีที่เป็นเมโลดี้ต่างๆ ทั้งพวกเครื่องเป่าและคีย์บอร์ด ให้เด่นขึ้นมามากกว่า และลดบทบาทของเสียงกลองและเบสลง แสดงว่า AE520 เป็นลำโพงที่มีความเที่ยงตรงดี จึงสามารถถ่ายทอดความแตกต่างของแนวทางการมิกซ์เสียงของศิลปินแต่ละคน แม้มาจากยุคใกล้เคียงกัน

จริงๆ ผมเพิ่งมารู้จัก Helen Reddy เมื่อตอนที่ได้แผ่นเสียงมาเมื่อราว 15 ปีที่แล้ว ซึ่งนักร้องที่ผมได้ฟังในวัยเด็กจริงๆ จะล่วงลับไปนานแล้ว อย่าง the Carpenters จึงขอหยิบมาปิดท้ายกับแผ่นรวมเพลงชุด the single 1969-1973 พบว่า การบันทึกเสียงต่างจาก Helen Reddy ตรงที่เน้นเสียงร้อง และเครื่องดนตรีที่เป็นเมโลดี้ต่างๆ ทั้งพวกเครื่องเป่าและคีย์บอร์ดให้เด่นขึ้นมามากกว่า และลดบทบาทของเสียงกลองและเบสลง แสดงว่า AE520 เป็นลำโพงที่มีความเที่ยงตรงดีที่สามารถถ่ายทอดความแตกต่างของแนวทางการมิกซ์เสียงของศิลปินแต่ละคน แม้มาจากยุคใกล้เคียงกัน

จริงๆ ผมกะจะจบการทดสอบ AE520 แล้ว แต่ก็ได้ข่าวการจากไปของมือกีตาร์ระดับตำนานอย่าง Eddie Van Halen อีกคน จึงอยากจะหยิบยกผลงานขึ้นมาฟัง ประกอบกับนึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้ลองขับ AE520 ด้วยแอมหลอดเลย เลยต้องไปยก Cary V12 มาจากอีกชุดที่อยู่อีกห้องเข้ามาประจำการแทน Classe’ CA-M600 พบว่ากำลังขับ 50 วัตต์ triode ก็เพียงพอสำหรับขับ AE520 ได้สบายๆ แล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องเบสช้าอหรือบางมากผิดปรกติ ด้วยความที่ตอนลองกับแอม 600 วัตต์ เบสก็เน้นกระชับ ไม่ลงลึกมากมายอยู่แล้ว พอเป็นหลอด ใจจริงอยากให้มีเบสช้าๆ แถมๆ มานิดๆ ตามประสาแอมแดมปิงค์ต่ำกว่า แต่ก็ไม่มี ยังคงความกระชับฉับไวติดตามโน้ตเบสได้ดีเช่นเคย (ขับง่ายดี) เสียงกลางที่เคยเป็นจุดเด่น เมื่อเจอแอมหลอดยิ่งเด่นขึ้นไปอีก เสียงร้องของ David Lee Roth กับกีตาร์ของ Eddie ยิ่งฟังได้ถึงรายละเอียดลูกโซโล่ทุกเม็ด น่าจะถูกใจมือกีตาร์ที่อยากจะแกะเพลงเล่นจริงๆ เพราะทุกอย่างชัดเจนเหมือนกับมีแว่นขยายมาซูมให้เห็นเฉพาะกีตาร์จริงๆ

ระหว่างที่ยกแอมป์มาต่อใหม่ๆ เปิดเครื่องอุ่นหลอดก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอได้ฟังเพลง “กุมภาพันธ์” ผ่าน Spotify กลับต้องสะดุดกับการแจกแจงรายละเอียดเสียงร้องจนทำให้ต้องฟังซ้ำ การถ่ายทอดอารมณ์ และเสียงที่มีติดแหบเล็กๆ ในบางคำ รวมทั้งเสียง echo ที่จงใจใส่มาให้รู้สึกถึงความเคว้งคว้าง เศร้า สามารถได้ยินชัดกว่าที่คุ้นเคย นับว่าเหนือความคาดหมายมากทีเดียว

ปิดท้ายการลองเล่น AE520 กับแอมป์หลอดด้วยแผ่นเสียง เพลง Angle จาก Sarah McLachlan ที่ดังจากเพลงประกอบภาพยนตร์ City of Angle พบว่า เสียงเปียโนใหญ่โตเกินคาด คือเมื่อเสียงบอดี้ของตัวเปียโนไม่ได้เป็นความถี่ต่ำมากๆ AE 520 ก็สามารถให้บอดี้ที่ใหญ่อย่างที่ควรเป็น เสียงเครื่องสายคลอเบาๆ ก็มีให้ได้ยิน ถึงไม่สามารถให้รายละเอียดออกมาได้หมด แต่ก็ทำได้ดีในระดับราคานี้ เสียงร้องฟังออกถึงการร้องในสตูดิโอที่มีรายละเอียดการใส่เอฟเฟ็ครีเวิร์บที่จะต่างจากการร้องในสถานที่ที่มีเสียงก้องสะท้อนตามธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ AE520 สามารถแจกแจงรายละเอียดส่วนนี้ออกมาให้ได้ยิน

สรุป

Acoustic Energy AE520 เป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดกลางที่สามารถถ่ายทอดเสียงย่านกลางที่อุดมไปด้วยรายละเอียดที่มีความน่าฟังได้อย่างน่าสนใจ ถึงแม้การเป็นลำโพงรุ่นสูงสุดจากผู้ผลิตมากประสบการณ์จะทำให้ผมปรับเกณฑ์การประเมิณไว้สูงลิ่ว ซึ่งถ้าเทียบกับลำโพงระดับ State of the Art แบบไม่จำกัดค่าตัวจะพบว่า AE520 ถูกประเมิณว่า ปลายแหลมกับเบสลึกอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ชดเชยได้ด้วยคุณภาพเสียงกลางที่ดี กับเสียงเบสที่กระชับฉับไว แหลมต้นมีความกระชับฉับไวและไม่คมแข็ง เหมาะสำหรับห้องขนาดไม่เกิน 4×6 เมตร และขับได้ง่าย ซึ่งถ้าตัดเรื่องความคาดหวังของการเป็นเรือธงของค่ายที่ควรจะต้องมีความเป็นที่สุดในทุกด้านออกไป แล้วเรามอง AE520 เป็นลำโพงตั้งพื้นขนาดกลางที่ราคาค่าตัวระดับ 1-2 แสน จะพบว่า AE520 เป็นลำโพงที่มีจุดแข็งที่โดดเด่นมากในระดับราคานี้ ภาพรวมทำได้ดีเกินค่าตัว การออกแบบเรียบหรูดูดี นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากในราคานี้ ซึ่งถ้าในอนาคต Acoustic Energy มีลำโพงรุ่นใหญ่ขึ้น ที่สามารถตอบสนองช่วงความถี่ได้กว้างขึ้น โดยสามารถรักษาคุณภาพย่านเสียงกลางที่แจกแจงรายละเอียดแบบเจือความน่าฟังนิดๆ ได้อย่างลงตัว และเบสที่สะอาดกระชับฉับไวไว้ได้ในระดับที่ AE 520 ให้ได้ ลำโพงคู่นั้นน่าจะเป็นหนึ่งในลำโพงระดับ State of Art ที่พร้อมท้าชนกับลำโพงทุกคู่ในทุกระดับราคาได้อย่างแน่นอน  ADP

ราคา 150,000 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท โคไนซ์ อีเล็คโทรนิค จำกัด
โทร. 0-2276-9644