ธีรวัฒน์

นักเขียน : ธีรวัฒน์ โชติสุต, teerawatj@hotmail.com

ช่วงนี้ต้องยอมรับว่า ผมค่อนข้างติดใจในคุณภาพเสียงลำโพง ENIGMAcoustics เป็นพิเศษ นับตั้งแต่ได้มีโอกาสลองฟัง ซูเปอร์ทวีตเตอร์ Enigma Sopranino ยอมรับเลยว่า ยิ่งกว่าโดนป้ายยาเสียอีก เมื่อได้ลองก็ติด ถ้าถอดออก อารมณ์อยากฟังเพลงหายไปเยอะทีเดียว ความรู้สึกนั้นก็ยังสืบทอดมาถึงลำโพง ENIGMAcoustics Apocalypse AP1 เช่นกัน

            ผมค่อนข้างชื่นชมการออกแบบของ ENIGMAcousics เป็นอะไรที่ไม่เหมือนใคร และไม่ได้ยอมเดินตามความนิยมเท่าไหร่ แต่ชอบสร้างความแปลกใหม่จนกลายเป็นผู้นำสร้างความนิยมใหม่ๆ ขึ้นมาแทน

มาร์แชล ลี เขามีมุมมองอะไรที่แตกต่างจากนักออกแบบลำโพงคนอื่นๆ ดูจาก ENIGMAcoustics Sopranino เป็นตัวอย่าง บริษัทผู้ผลิตลำโพง แต่สินค้าตัวแรกที่ออกมาคือ Super Tweeter หลายปีหลังจากนั้นจึงผลิตลำโพงวางขาตั้งออกมาขายอย่างเป็นทางการ คือ Enigma Mythology M1 ซึ่งก็กลายเป็นลำโพงระดับตำนานของวงการทันทีเช่นกัน

            จากความสำเร็จของ Enigma Mythology M1 จึงถ่ายทอดมาสู่ลำโพงอนุกรมใหม่ที่ชื่อว่า Apocalypse Series นั่นก็คือ Enigma Apocalypse2 และ Enigma Apocalypse1 หลังจากนี้ขอเรียกย่อๆ ว่า Enigma AP2 และ Enigma AP1 ตามลำดับครับ

            Enigma AP2 อธิบายง่ายๆ คือ… การถอดหัวจาก Enigma Mythology M1 คือถอดทุกอย่างออกมา แล้วเอามาใส่ในร่างใหม่ ตัวตู้ใหม่ เพื่อทำให้ราคาถูกลงมา โดยที่ไม่รวมซูเปอร์ทวีตเตอร์ Enigma Sopranino และขาตั้ง ที่อยากได้ต้องแยกซื้อต่างหาก

ส่วนลำโพง Enigma AP1 จะพัฒนาแยกออกมาแตกต่างออกไป ไม่ใช่การถอดรูปแบบมาจาก Enigma M1 แต่เป็นการพัฒนาต่อยอดยกระดับมาจาก Enigma M1 จึงทำให้ Enigma AP1 น่าสนใจอย่างยิ่ง

            Enigma AP1 เป็นลำโพงแบบสองทาง ใช้ทวีเตอร์ขนาด 34 มม. มิดเรนจ์/เบสยูนิตขนาด 150 มม. ทวีตเตอร์สามารถทำงานตั้งแต่ย่านความถี่ 1100Hz จนถึง 20000Hz ทางผู้ออกแบบระบุว่า นี่คือลำโพงสองทางที่ให้เสียงเหมือนลำโพงสามทาง และมีความผิดเพี้ยนของสัญญาณต่ำมากๆ หากเราไปดูสเปกของลำโพงวางขาตั้งอื่นๆ ถ้าใช้ทวีตเตอร์ขนาด 1 นิ้ว จุดตัดความถี่ของครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กจะประมาณ 3000Hz แต่ Engima AP1 เลือกจุดตัดความถี่ที่ 1100Hz และโอเวอร์ไซส์ขนาดของทวีตเตอร์ให้ใหญ่กว่าปกตินิดหน่อย โดยที่ผลิตทวีตเตอร์ขึ้นมาเอง ไม่ได้สั่งแบบ OEM จากยี่ห้อไหนเลย จึงทำให้การตอบสนองของลำโพงคู่นี้ครบเครื่อง เสมือนว่ากำลังฟังลำโพงสามทาง

            ความใส่ใจในการผลิตยังลงลึกไปถึงจุดเล็กจุดน้อยต่างๆ อาทิ สกรูเป็นทองแดงชุบทองเพื่อช่วยเรื่องการลดเรโซแนนซ์ในจุดยึด ในส่วนแผงยึดทวีตเตอร์และมิดเรนจ์/เบสก็เป็นอะลูมิเนียมที่หนาถึง 25 มม. ส่วนตรงทวีตเตอร์ก็มีลักษณะเป็นแบบที่เรียกว่า Shallow Horn Profile เพื่อให้มุมการกระจายของย่านความถี่เสียงสูงกว้างมากยิ่งขึ้น และมีพลังงานในการกระจายคลื่นเสียง ลำโพงมีความไว 83dB แต่ก็ไม่ได้ขับยากเลย อินทิเกรตแอมป์หลอดขนาด 12 วัตต์ก็ยังขับได้สบาย

แม็ตชิ่งและเซ็ตอัพ

น้อยนักที่จะเจอลำโพงที่ให้เสียงดีและไม่ค่อยวุ่นวายในเรื่องการเซ็ตอัพตำแหน่งมากนัก ถึงมีพอร์ตออกด้านหลังก็จัดวางได้ง่าย แต่ไม่ก็ควรวางชิดผนังด้านหลังมากนัก ยอมรับว่า ลำโพงวางขาตั้งมูลค่าเกินแสนจะมาวางมั่วๆ แล้วคาดหวังจะให้เสียงออกมาดีนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง

            แต่เรื่องนี้ใช้ไม่ได้กับ Enigma AP1 เพราะลำโพงคู่นี้ถึงแม้วางตำแหน่งที่ยังไม่ลงตัว หรือลองวางชั่วคราวเพื่อเปิดเพลงฟังเล่นๆ ไปก่อน เสียงยังออกมาดีมากๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก ยอมรับว่าเขาออกแบบลำโพงได้ยอดเยี่ยมมาก แต่แน่นอนว่าการใส่ใจในการจัดวางตำแหน่งลำโพงที่ดีย่อมให้เสียงออกมาดีมากยิ่งขึ้นไปอีก

            ในบรรดาลำโพงวางตั้งทั้งหมดที่ผมได้มีโอกาสทดสอบ Engima AP1 เป็นลำโพงที่ใช้เวลาเบิร์นอินค่อนข้างนานมาก  คือต้องนวดลำโพงกัน 300 ชั่วโมงขึ้นไป จึงจะสัมผัสคุณภาพเสียงที่ดีจาก Enigma AP1 ก่อนถึงระยะเวลาพ้นเบิร์นอินนั้น  เสียงของ Engima AP1 จะออกหน่วงๆ ไปทางหนาหน่อย ให้ลองจับความใสของเสียงในครั้งแรกๆ ที่แกะกล่อง ความใสกระจ่างของย่านความถี่กลางสูงยังสัมผัสได้ไม่มาก ฉะนั้นอย่าเพิ่งผิดหวังในตัวลำโพง ซึ่งครอสโอเวอร์ตัดที่ความถี่ 1100Hz น่าจะให้อะไรมากกว่านี้ แต่พอยิ่งเบิร์นไป ยิ่งนวดลำโพงนานๆ ไป ความใสกระจ่างของเสียงเริ่มมีมาเรื่อยๆ น้ำหนักของย่านความถี่เสียงต่ำก็จะเริ่มแผ่ออกมากยิ่งขึ้น บรรยากาศและฮาร์โมนิกส์ของเสียงก็เริ่มมามากยิ่งขึ้นเช่นกัน

ในการเบิร์นลำโพง ผมย้ำมาตลอดคือ ผมไม่แนะนำหรือสนับสนุนให้ใช้แผ่นเบิร์นทั้งหลายในการเบิร์นลำโพงเพื่อต้องการให้ลำโพงเข้าที่เข้าทางเร็วขึ้น ยิ่งลำโพงแพงๆ ไม่แนะนำเลยครับ เหตุผลส่วนหนึ่งให้มองว่า การเบิร์นลำโพงคือการให้กรวยลำโพงมีการขยับตัวมันเองจากสนามแม่เหล็ก ซึ่งมาจากส่วนที่เราเรียกว่า Voice Coil ตัดกับสนามแม่เหล็ก การใช้แผ่นเบิร์นไม่ได้บอกว่าลำโพงจะพ้นเบิร์นเร็วขึ้นและให้ประสิทธิภาพที่ดี การเปิดเพลงที่หลากหลายแนวเพื่อใช้เบิร์นลำโพงให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าการใช้แผ่นเบิร์นเยอะมาก ในการเบิร์นอินลำโพง ผมจะสร้าง playlists สำหรับการเบิร์นเครื่องเสียงโดยเฉพาะ ซึ่งมีเพลงหลากหลายแนวอยู่ใน playlists นี้

            Engima AP1 ไม่ใช่ลำโพงที่จุกจิกเรื่องมาก สามารถเล่นกับแอมป์ทั่วไปได้แทบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแอมป์กำลังมากหรือน้อย ก็ให้เสียงออกมาดีเหมือนกัน ไม่ได้เจาะจงว่า หากต้องการให้เสียงออกมาดีต้องเป็นแอมป์แบบนั้น ชนิดนั้น กำลังขับเท่านั้นเท่านี้ สำหรับ Engima AP1 นี่ไม่เลยครับ แอมป์อะไรก็ขับได้ทั้งหมด ยิ่งใช้แอมป์ที่ดีมีคุณภาพ เสียงก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก แต่ไม่แนะนำอย่างเดียวคือ ไม่ควรใช้กับแอมป์ที่มีกำลังขับสูงๆ และแอมป์ที่มีเกนเสียงที่สูงมากเกินไป เพราะเสียงจะออกมาไม่เพราะเลย ถ้าแอมป์นั้นมีกำลังขับไม่เยอะ แต่เสียงมีเกนเยอะมากเกินไป เสียงก็ไม่เพราะเช่นกัน

พวกแอมป์เกนเสียงสูงสังเกตอย่างไร คือถ้าเปิดโวลุ่มไม่มาก แต่เสียงดังมากเกินไปไกลแล้ว อะไรทำนองนี้ เหตุผลที่ผมบอกว่าแอมป์เกนเสียงสูงๆ ไม่เหมาะกับ Enigma AP1 ก็เพราะว่า Engima AP1 เป็นลำโพงที่ให้บรรยากาศและฮาร์โมนิกส์ออกมาดีมาก ถือว่าเป็นจุดขายและจุดเด่นของ Enigma AP1 เลยก็ว่าได้ ถ้าเราใช้แอมป์มีเกนเสียงสูงมากเกินไปจะทำให้จุดเด่นของลำโพงในเรื่องนี้ด้อยลง ลำโพงดีๆ ก็กลายเป็นลำโพงธรรมดาทั่วไปเลย ถ้าเปิดเบาแล้วเสียงดังมากเกิน บรรยากาศและฮาร์โมนิกส์ของเสียงก็หายไปเลย

            อินทิเกรตแอมป์ที่ผมใช้ร่วมในการทดสอบนั้น ผมลองทั้งอินทิเกรตแอมป์หลอด Audiospace: Mini Galaxy I, C.E.C: 3300R C3 RED หรือ Roksan: Blak ก็สามารถขับให้เสียงออกมาดีได้ทั้งหมด ไม่ได้รู้สึกว่าแอมป์กำลังขับน้อยจะขับได้ด้อยกว่า เพียงแต่ว่ามีลักษณะบางอย่างเท่านั้นที่แตกต่างกันออกไป นั้นก็หมายความว่าต้องอาศัยการเซ็ตอัพลำโพงเข้ามาช่วยเช่นกัน

            Enigma AP1 เมื่อใช้กับแอมป์ที่มีกำลังขับสูงมากขึ้น และเกนขยายไม่ได้สูงมากนัก คุณภาพเสียงก็ยิ่งให้ออกมาดีมากขึ้น เพราะในช่วงท้ายของการทดสอบ ผมมีโอกาสลองขับด้วยปรีแอมป์-เพาเวอร์แอมป์ของ Burmester เสียงออกมาดีมากๆ พละกำลังและรายละเอียดให้ออกมาดีกว่าเดิมอย่างมาก เสียงร้องที่ให้ออกมายิ่งน่าฟังขึ้นไปอีก

ในการทดลองฟังตลอดเวลานั้นผมจะใช้อินทิเกรตแอมป์หลอด Audiospace Mini Galaxy I สลับกับอินทิเกรตแอมป์ C.E.C. 3300 C3 RED ส่วนสายลำโพงที่ใช้งานก็จะแปรเปลี่ยนไปตามขนาดและชนิดของอินทิเกรตแอมป์ที่นำมาใช้ครับ หากเป็นอินทิเกรตแอมป์หลอด Audiospace: Mini Galaxy I ผมก็ใช้สายลำโพงขนาด 1.5 sq.mm หากเป็นอินทิเกรตแอมป์ C.E.C: 3300R C3 RED ผมก็ใช้สายลำโพงขนาด 4 sq.mm

คุณภาพเสียง

            ถ้าจะถามว่า ในซิสเต็มเครื่องเสียง อะไรที่มีเสน่ห์น่าหลงใหลมากที่สุด ผมบอกได้เลยก็คือ ลำโพง ยิ่งในซิสเต็มเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย แล้วมีลำโพงสลับเข้ามาเปลี่ยนให้ทดสอบลองฟังไปเรื่อยๆ นั้น ยิ่งได้ยิน ยิงได้สัมผัสถึงเสียง ถึงเสน่ห์ของลำโพงแต่ละคู่ได้หลายมากยิ่งขึ้น ก็เหมือนกับการเลือกซื้อกีตาร์โปร่งสักตัว กีตาร์แต่ละตัวก็มีเสน่ห์ของเสียงที่แตกต่างกันออกไป เหมือนการเลือกกีตาร์โปร่งคุณภาพดีๆ อย่างเช่น Taylor, Martin, Takamine และ Gibson Les Paul การเลือกกีตาร์ในระดับตัวเลข 6 หลักสักตัวนั้นไม่ง่ายนัก ขึ้นอยู่กับเราว่าชอบเล่นสไตล์ไหน เล่นอย่างไร

            ลำโพงก็เช่นกัน Enigma AP1 มีนักเล่นสอบถามผมค่อนข้างมาก และที่สำคัญคือ มักให้เทียบกับ Dynaudio Special Forty ค่อนข้างบ่อยทีเดียว ถ้ามองกันในลำโพงระดับเรนจ์ราคา 100,000 – 200,000 บาท ก็เหมือนกับการเลือกซื้อกีตาร์ซึ่งเป็นคู่กัด มีการเทียบกันเนืองๆ ระหว่าง Martin กับ Taylor แต่ผมคงไม่เทียบกันตรงๆ อยากให้ลองพิจารณากันเอง หลังจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป

            ในบรรดาลำโพงวางขาตั้งที่ผมได้ลองเล่นมาทั้งหมดยี่สิบกว่าปี ENIGMAcoustics มีอะไรให้แปลกประหลาดใจ และประทับใจอยู่เสมอ นับมาตั้งแต่ซูเปอร์ทวีตเตอร์ Enigma Sopranino จนมาถึงลำโพงอย่าง Enigma AP1 ก็ได้สร้างความประทับใจอย่างมากมายเช่นกัน

Enigma AP1 ออกแบบแตกต่างจาก Engima AP2 เพราะ Engima AP2 เหมือนร่างทรงของ ENIGMAcoustics MYTHOLOGY M1 และตัดอ็อปชั่นออกเพื่อให้จับต้องได้ง่ายมากขึ้น และไม่มีทั้งซูเปอร์ทวีตเตอร์ Engima Sopranino และขาตั้งที่ออกแบบมาคู่กัน

            ความแตกต่างของลำโพง Enigma ซึ่งแตกต่างจากลำโพงวางขาตั้งยี่ห้ออื่นๆ ก็คือ การออกแบบให้จุดตัดความถี่ของวงจรครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กอยู่ที่ 1100Hz ซึ่งการออกแบบเช่นนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่มีมาตั้งแต่สมัยลำโพง ENIGMAcoustics  Mythology M1 จนมาถึง Enigma AP1 ก็ยังยึดแนวทางเช่นนี้อยู่              

การเลือกออกแบบให้จุดตัดของความถี่ครอสโอเวอร์ที่ 1100Hz ทำให้ทาง ENIGMAcoustics หาทวีตเตอร์ในตลาดมาใช้งานยากขึ้น เพราะจะต้องหาทวีตเตอร์ซึ่งสามารถรองรับการตอบสนองความถี่เสียงกว้างมากขึ้น ในเมื่อไม่สามารถหาทวีตเตอร์ในท้องตลาดทั่วไปจากผู้ผลิตทวีตเตอร์ดังๆ หลายยี่ห้อได้ ก็ทำขึ้นมาเองเสียเลย

ซึ่งการคิดแบบนี้ ผมว่าถูกต้องแล้ว อย่างเช่น ทวีตเตอร์ Dynaudio Esotar ถึงแม้ว่าลำโพงดังหลายๆ ยี่ห้อเลือกมาใช้  แต่ก็ไม่เหมือนกับเสียงจากลำโพง Dynaudio เลยเสียทีเดียว

            Enigma AP1 จึงมีเสียงที่เป็นตัวตนของตนเองสูงมากทีเดียว ชนิดที่ว่าไม่มีโอกาสจะได้ยินจากลำโพงวางขาตั้งยี่ห้ออื่นๆ เลย และทวีตเตอร์ของ Enigma AP1 ก็เป็นคนละตัวกับที่ใช้ใน Engima M1 และ Enigma AP2

            เมื่อจุดครอสโอเวอร์ตัดต่ำลงมาที่ 1100Hz ลำโพง Enigma AP1 จึงให้เสียงตัวโน้ตแต่ละโน้ตมีอิสระอย่างชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากลำโพงวางขาตั้งที่ผมเคยทดสอบก่อนหน้านี้

            ที่ผ่านมา… ลำโพงวางขาตั้งหลายคู่ หากแอมป์ที่ใช้มีกำลังขับน้อยๆ เสียงจากลำโพงจะแออัดช่วงความถี่กลางๆ ค่อนข้างมาก ฟังแล้วอึดอัดเล็กๆ ต้องอาศัยการเซ็ตอัพลำโพงเข้าช่วยมาชดเชยในเรื่องนี้ แต่นั้นคือการแก้ไขในเงื่อนไข ณ ตรงนั้น แต่หากจะแก้จริงๆ คือ… ต้องแก้ที่ต้นเหตุ โดยการเปลี่ยนแอมป์ให้มีกำลังขับสูงขึ้นอีก

จุดนี้ Enigma AP1 จึงสร้างความแตกต่างออกมาได้อย่างชัดเจน เมื่อใช้แอมป์กำลังน้อยก็ขับได้สบาย เสียงไม่อึดอัด  ส่วนหนึ่งผมมองว่าคือข้อดีของการเลือกจุดตัดความถี่ต่ำลงมาที่ 1100Hz เพราะความถี่เสียงเหนือจุดตัดความถี่มากกว่า 1100 Hz ขึ้นไป ถูกผลักให้ขับโดยทวีตเตอร์ ก็จะทำให้เสียงชัด โปร่ง โล่งมากยิ่งขึ้น จุดเด่นอีกอย่างของ Enigma AP1 คือ ถึงแม้ว่ากำลังขับของแอมป์ไม่ได้มาก แต่เบสที่ออกมาจาก Enigma AP1 ถือว่าไม่น้อยเช่นกัน

            ในซิสเต็มที่ผมใช้งาน ณ ตอนนี้เป็นซิสเต็มเดียวกันที่ผมใช้ทดสอบลำโพง Totem: Signature One และ Dynaudio: Special Forty โดยที่ Totem: Signature One มีจุดตัดครอสโอเวอร์ที่ 2500Hz ส่วน Dynaudio: Special Forty มีจุดตัดครอสโอเวอร์ที่ 2000Hz และ Enigma AP1 มีจุดตัดครอสโอเวอร์ที่ 1100Hz ในแง่ของความมีอิสระของตัวโน้ตในแต่ละย่านความถี่เสียงแล้ว Enigma AP1 จึงทำได้โดดเด่นมากกว่า เสียงแต่ละเสียงมีความอิสระและโล่งมากกว่า เนื้อเสียงของย่านความถี่เสียงสูง ซึ่งใช้ทวีตเตอร์ขนาด 35 มม. หรือประมาณ 1.33 นิ้ว จึงให้เนื้อเสียงและไดนามิกของเสียงออกมาสมบูรณ์เต็มที่มากกว่า แต่ถ้าจะถามหาในเรื่องความใสละเอียด ฟังแล้วรู้สึกว่าหวานละเมียดสักหน่อยนั้น ทวีตเตอร์ Esotar จากลำโพง Dynaudio: Special Forty ดูมีภาษีดีกว่าหน่อยในแง่นี้

            จากผลงานเพลงของ Henry Mancini: The Music From Peter Gunn, Eastman Wind Ensemble: The Civil War จากค่าย Mercury Living Presence และ Gisle Kverndokk Symphonic Dance: Stavanger Symphony Orchestra, Ken-David Masur ลำโพง Enigma AP1 ถ่ายทอดบทเพลงออกมาได้อย่างดีมาก ถือว่าเป็นลำโพงวางขาตั้งที่ถ่ายทอดคุณภาพเสียงผลงานเพลงทั้งสามชุดออกมาได้ดีอย่างสุดๆ

            Enigma AP1 ให้เสียงดนตรีดังลอยออกมาเป็นอิสระมากกว่าลำโพงวางขาตั้งอื่นๆ ลำโพงคู่อื่นนั้นเสียงช่วงความถี่กลางต่ำจึงฟังดูขุ่นกว่าหน่อย เหมือนเรามองภาพผ่านกระจกหน้ารถในช่วงเช้าๆ ที่มีฝ้าเกาะอยู่ริมกระจกด้านล่าง และเหมือนการขับรถมองผ่านกระจกหน้ารถที่ติดฟิล์มเซรามิก 40% ซึ่งแสงภายนอกจะมืดและทึบสักหน่อย ดูแล้วไม่ใส ยิ่งมีฝ้ามาเกาะกระจกด้วยแล้ว ยิ่งลำบากเลย

แต่สำหรับ Engima AP1 ให้เสียงในทุกย่านความถี่หลุดออกมาเป็นอิสระทั้งหมด ทุกอย่างชัดเจน เต็มไปด้วยรายละเอียดต่างๆ เหมือนการขับรถที่ไม่มีฝ้ามาเกาะบนขอบกระจกด้านหน้า และกระจกหน้าก็ไม่ได้ติดฟิล์มติด 40% แต่เป็นฟิล์มรถแบบใสมากกว่า ทุกอย่างเคลียร์ สัมผัสได้ถึงรายละเอียดของเสียงหมดทุกอย่าง

            คำว่า “ใส” ของโดมทวีตเตอร์ผ้าไหมกับโดมโลหะนั้นแตกต่างกัน ทวีตเตอร์โดมผ้าไหมซึ่งผมชื่นชอบว่าใส ให้เนื้อเสียงและไดนามิกของเสียงออกมาดีมากนั้น เท่าที่ฟังมาผมชอบอยู่สองยี่ห้อคือ Esotar ของ Dynaudio และทวีดเตอร์โดมผ้าไหมของ Higuphon ซึ่งถือว่าให้คุณภาพเสียงที่ดี แต่หลังจากนี้ก็จะมีลิสต์เพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งคือ ทวีตเตอร์ของ ENIGMAcoustics ซึ่งทาง ENIGMAcoustics ผลิตขึ้นมาเองได้ดีมากๆ

            จากเพลงที่ผมเอ่ยถึงข้างต้นบันทึกมาในเกนเสียงที่ต่ำ จะเป็นตัววัดคุณภาพของลำโพงได้เป็นอย่างดี ในยามที่เสียงดนตรีแผ่วเบานั้น ตัวลำโพงจะยังถ่ายทอดรายละเอียดและความชัดเจนออกมาได้ดีหรือเปล่า

            ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นก็คือ Enigma AP1 ให้ผลออกมาน่าชื่นใจมากที่สุดในแง่ของความอิสระ รายละเอียด และความชัดเจนของแต่ละโน้ตแต่ละเครื่องดนตรี Enigma AP1 เหนือกว่าลำโพงเล็กทุกคู่ที่ผมทดสอบมา เสียงที่เกิดขึ้นเหมือนไม่ได้ออกมาจาก Enigma AP1 เลย เสมือนดังขึ้นมาระหว่างลำโพง แล้วแผ่ล้อมรอบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

            หลายท่านอาจจะนึกสงสัยว่า แตกต่างถึงขนาดนั้นเลยเหรอ ขอบอกว่า มันแตกต่างกันอย่างนั้นจริงๆ ให้นึกถึงการเลือกซื้อกีตาร์ กีตาร์ระดับเริ่มต้นราคาหลักพันต้นๆ เทียบกับระดับหลักหมื่นกลางๆ หรือค่อนไปข้างหลักหมื่นปลาย อย่าง Taylor, Martin และ Takamine ก็ย่อมให้เสียงแตกต่างกัน หรือกีตาร์โปร่งของ Taylor, Martin และ Takamine ก็ย่อมให้เสียงแตกต่างกันเช่นกัน

            มีนักเล่นชอบถามบ่อยมากว่า ลำโพง Dynaudio: Special Forty กับ Enigma AP1 เสียงแตกต่างกันมากมายหรือเปล่า ผมก็บอกว่าแตกต่างกันเช่นกัน ขึ้นกับว่าเราชอบเสียงแบบไหนมากกว่า หรืออย่างลำโพง Unison Research: Max Mini ซึ่งผมเคยทดสอบ หรืออย่าง Totem: Signature One เสียงก็แตกต่างกันเช่นกัน ไม่มีใครเหมือนใคร อย่างไรคุ้มค่ามากกว่ากัน มันขึ้นกับความชอบของแต่ละคนมากกว่าว่าชอบเสียงสไตล์แบบไหน

            แต่ผมไม่ได้กำลังรีวิวลำโพงเพื่อจะบอกว่า ผมชอบลำโพงคู่ไหน แต่กำลังจะบอกว่า เสียงจาก Engima AP1 แตกต่างจากลำโพงคู่อื่นอย่างไร

            นอกเหนือจากเรื่องลำโพง Enigma AP1 ให้โน้ตแต่ละโน้ตในแต่ละย่านความถี่แยกออกมาได้อย่างอิสระ ไม่ได้กองรวมกันเหมือนลำโพงคู่อื่นๆ ลำโพงบางคู่รู้สึกว่าเสียงแหลมแยกแยะเป็นอิสระมากกว่ากลางต่ำ แต่ Enigma AP1 จะแยกได้อย่างอิสระในทุกย่านความถี่เสียงเลย ข้อเด่นต่อมาของ Engima AP1 คือ บรรยากาศและฮาร์โมนิกส์ของเสียง

            Enigma AP1 ให้ความต่อเนื่องของความถี่เสียงดีมาก เหมือนกำลังฟังลำโพงฟลูเรนจ์ที่ให้เสียงออกมาครบเครื่องอย่างมาก ไม่ได้รู้สึกเหมือนย่านใดย่านหนึ่งโดดเด่นขึ้นมา หรือมีเสียงรอยต่อระหว่างความถี่เสียงเลย และไม่ได้เป็นเพราะการตอบสนองแบบราบเรียบจนฟังดูแฟลตๆ ฟังเนื่อยๆ ไม่มีชีวิตชีวาอะไรแบบนั้นนะครับ

            ทุกอย่างกลมกลืนกันดีมาก ลำโพงบางคู่เสียงแหลมพุ่งมากกว่าความถี่เสียงอื่นๆ ฟังแล้วรู้สึกว่าแหลมมันสาดออกมาด้วยเรนจ์ความดังของเสียงที่มากกว่า ลำโพงบางคู่เหมือนความถี่ต่ำพุ่งมากกว่าความถี่สูง เบสล้นเด่นขึ้นมาเลย ลำโพงบางคู่ชูเสียงกลางโดยการโรลออฟแหลมตอนบนและต่ำตอนล่างลง ลำโพงที่หาความสมดุลไม่ได้ 100% จึงยากนักที่จะให้บรรยากาศและฮาร์โมนิกส์ของเสียงออกมาได้ครบทั้งหมดในทุกย่านความถี่เสียง แต่สำหรับ Enigma AP1 ให้ออกมาเหนือกว่าข้างต้นทั้งหมด  เสียงที่ออกมานั้นเป็นไปตามซิสเต็มและซอฟต์แวร์ที่ใช้งาน

แผ่นซีดีของ Patricia Barber: Modern Cool เป็นชุดที่ผมชื่นชอบมากที่สุดของ Patricia Barber การมิกซ์เสียงการทำมาสเตอร์นั้น ทำให้ผมใช้แผ่นนี้อ้างอิงเวลาทดสอบเสียงบ่อยมาก แต่หลายครั้งลำโพงบางคู่ก็ทำให้รู้สึกน่าเบื่อ ทำให้ไม่อยากฟังเช่นกัน แทร็กที่ฟังบ่อยมากคือ แทร็กแรก “Touch of Trash” กับแทร็กที่สาม “You & The Night & The Music”  ซึ่งใช้ทดสอบเรนจ์เสียง, ไดนามิกหัวโน้ต และการตอบสนองความถี่เสียงของลำโพงได้เป็นอย่างดี

เมื่อพูดถึงเสียงกลองและเสียงเบสจากสองเพลงนี้ Enigma AP1 ทำออกมาได้ดีคือ ไม่พยายามฝืนอะไรที่ใหญ่เกินพอดีไป ถามว่ากรวยลำโพงมิดเรนจ์/เบสขนาด 150 มม. ให้ออกมาได้ขนาดนี้ ถือว่าดีเลยครับ

พูดถึงลักษณะของเบสก่อนนะครับ ปริมาณของเนื้อเสียงเบสให้เนื้อเสียงที่แน่น และมีน้ำหนักของเสียงที่ดีมากๆ คือไม่ได้รู้สึกว่าเบสน้อย เบสบาง อิมแพ็คแรงกระแทกของหัวโน้ตความถี่ต่ำให้ความแรงและไดนามิกของเสียงที่ดีเลย หัวโน้ตไม่ได้ซอฟต์เพราะทุกโน้ตเต็มไปด้วยพละกำลัง และให้สเกลเสียงที่ใหญ่ด้วยเช่นกัน การแผ่ของความถี่ต่ำตอบสนองได้เป็นอย่างดี สามารถสัมผัสได้ถึงคลื่นความถี่ต่ำ ซึ่งคลื่อนมายังตัวเราตามจังหวะตัวโน้ตเพลงได้อย่างชัดเจนเช่นกัน

เบสมีความสะอาดและตอบสนองได้อย่างฉับไว ส่วนหนึ่งเกิดจากการตัดความถี่ของครอสโอเวอร์ที่ต่ำลงมา จึงไม่ต้องแบกภาระมากมาย ทำให้กรวยมิดเรนจ์/เบสตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว เสียงช่วงความถี่กลางต่ำจึงมีรายละเอียด สะอาด และตอบสนองได้อย่างรวดเร็วฉับไว ตรงนี้คือสิ่งที่ทำให้ Enigma AP1 แตกต่างจากลำโพงวางขาตั้งอื่นๆ เนื่องจากในแทร็กต่างๆ ของแผ่นนี้ ลำโพงอื่นๆ ให้ความหนักแน่นของเบสไม่ได้ให้หัวเสียงที่คม เสียงแออัดจนไม่สามารถแยกแยะเสียงดนตรีอื่นๆ ได้อย่างชัดเจนเหมือนอย่างที่ Enigma AP1 ให้ออกมา

ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม Enigma AP1 อย่างมากทีเดียว เพราะสามารถคงรายละเอียด บรรยากาศและฮาร์โมนิกส์ของเสียงออกมาได้ครบทุกย่านความถี่เสียง ลำโพงหลายคู่ที่พยายามจะให้เสียงออกมาเกินลิมิตของตัวลำโพง คือพยายามให้เสียงออกมาใหญ่ล้นเกินตัว ฟังดูหวือหวา แต่เมื่อฟังนานๆ จะทราบว่า ในความใหญ่คือความกลวง เนื่องจากความหนักแน่น ความคมเข้มของหัวเสียงแทบไม่มีเลย ออกมามนๆ ไดนามิกพละกำลังของหัวโน้ตหนักไปทางหนาๆ มากกว่า รายละเอียด บรรยากาศก็แทบหายไป และทำให้ย่านความถี่กลางต่ำกลบรายละเอียดของความถี่กลางสูง จึงฟังดูเสมือนว่าย่านความถี่กลางสูงดูด้อยลงไป

            ในบรรดาลำโพงวางขาตั้งงทั้งหลายนั้น Enigma AP1 คือลำโพงอีกรุ่นหนึ่งที่จะขึ้นทำเนียบลำโพงวางขาตั้งที่ให้เสียงร้องน่าฟังมากที่สุด

            ไม่ว่าฟังเสียงร้องแนวไหน Enigma AP1 จะทำให้เราสัมผัสถึงคุณภาพของเสียงร้องได้มากยิ่งขึ้น ให้คุณภาพเสียงร้องดีมากๆ ทั้งในแง่ของรายละเอียด เนื้อเสียงร้องที่ลอยออกมาจาก Enigma AP1 นั้น ทำให้ฟังแล้วเคลิ้มได้ทุกแนวเพลงแนวดนตรีเลยทีเดียว ผมชอบการตอบสนองความถี่เสียงของ Enigma AP1 ซึ่งให้เสียงออกมากลมกลืนกันดีมากๆ ทุกอย่างเชื่อมต่อกันแทบไม่มีรอยปริเกิดขึ้นระหว่างช่วงคาบเกี่ยวความถี่เสียงเลย ฟังเหมือนการฟังลำโพงดอกเดียวแบบฟลูเรนจ์ที่ให้เรนจ์เสียงกว้าง  ผมชอบตรงไดนามิกของเสียงร้องที่ออกมาเต็มมากๆ ไม่มีการกดไดนามิกของเสียงร้องเลยแม้แต่น้อย ไดนามิกของเสียงร้องจึงออกมาเต็มมากๆ

            อธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ถ้าลำโพงเสมือนนักร้องที่มาร้องเพลงให้เสียงร้องเหมือนของพี่โป่ง – หินเหล็กไฟ เนื้อเสียงของพี่โป่งจะสากหยาบเล็กๆ เสียงมีพลัง มีเนื้อเสียงหนาเข้ม และคีย์เสียงที่โหนขึ้นไปได้สูงมาก นักร้องบางคนเนื้อเสียง ความหนา ความสาก ความหยาบของเนื้อเสียงได้ แต่คีย์เสียงสูงไม่ได้ บางคนเสียงสูงได้แต่ความหนาพลังของเสียงร้องไม่ได้ บางคนไม่ได้เลยทั้งเสียงสูงและเนื้อเสียง แต่ฟังเพราะ

            ถ้าลำโพง Engima AP1 เปรียบเสมือนนักร้อง ก็คือนักร้องมากความสามารถที่ถ่ายทอดเสียงของนักร้องออกมาได้อย่างสมบูรณ์ 100% ไม่ว่านักร้องท่านนั้นจะมีโทนเสียงสูง กลางหรือต่ำลงไป จะใส่เทคนิคการร้องแพรวพราวขนาดไหนก็เก็บรายละเอียดถ่ายทอดมาได้อย่างหมดจด ซึ่งถ้าจะนำไปเป็นลำโพงมอนิเตอร์ก็จะได้ลำโพงมอนิเตอร์ที่ให้เสียงออกมาถูกต้องเป๊ะๆ

            สิ่งที่ Enigma AP1 ทำได้ดีอีกอย่างคือ เรนจ์เสียงกว้างมาก บางจังหวะของเสียงร้องจึงรู้สึกได้ว่า โน้ตมันกระแทกออกมาแรงกว่า มีพละกำลังมากกว่า และที่สำคัญคือด้วยการออกแบบการเลือกวัสดุของตัวลำโพงไม่ได้ไปกดไดนามิกของเสียง เสียงจึงมีความชัดเจน เป็นตัวเป็นตน ถ่ายทอดทุกอย่างออกมาได้หมด เสียงสะอาดและความเพี้ยนต่ำมาก ตั้งแต่ฟังมาผมไม่รู้สึกว่ากำลังฟังเสียงจากลำโพงเลย เหมือนเสียงดังขึ้นมาเองระหว่างผนังของห้อง ทั้งเวทีด้านลึกและด้านกว้างก็รู้สึกเหมือนลึกและกว้างอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นกัน

บทสรุป

            ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองที่ผมมีโอกาสทดสอบลำโพง ENIGMAcoustics ครั้งแรกคือ การทดสอบลองฟังซูเปอร์ทวีตเตอร์  Engima Sopranino ที่สร้างความแตกต่างจนกลายเป็นเสียงชื่นชมทั่วโลก จนมาถึงครั้งนี้ได้มีโอกาสทดลองฟัง ENIGMAcoustics Apocalypse1 ก็ยังสร้างความประทับใจได้อย่างมากเช่นกัน

            ENIGMAcoustics Apocalypse1 กล้าที่จะสร้างความแตกต่าง และเป็นความแตกต่างที่ให้ผลออกมาดีอย่างมากอีกด้วย ไม่ว่าการออกแบบให้ครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์กมีจุดตัดความถี่ต่ำลงมาที่ 1100Hz การออกแบบผลิตทวีตเตอร์และมิดเรนจ์/เบสยูนิตขึ้นมาเอง เพื่อตอบสนองความต้องการที่อยากได้มากกว่า

            Enigma AP1 แตกต่างจาก Enigma AP2 เพราะ Enigma AP2 คือร่างทรงของ Enigma M1 เพียงแต่ถอดรูปร่างเสียใหม่ ไม่มี SuperTweeter และขาตั้งมาให้ แตกต่างจาก Engima AP1 ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่เลย เพื่อให้จับต้องได้มากขึ้น ในขณะที่คุณภาพเสียงก็ไม่ได้ลดทอนลงไปเช่นกัน

            ดูราคาลำโพงในช่วง 100,000 – 200,000 บาท แข่งขันกันเดือด ไม่มีใครยอมใครกันเลย ใครสาวกใครก็จะชื่นชอบชนิดไม่ยอมเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่นเช่นกัน แต่นั้นก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้มาใหม่อย่าง Enigma AP1 ซึ่งสร้างความแตกต่างและน่าสนใจได้มากกว่าชนิดว่าเจ้าที่เดิมไม่สามารถแข่งขันได้ในบางด้านเช่นกัน

            ในแง่ความไพเราะน่าฟัง Enigma AP1 ให้เสียงร้องที่ออกมาน่าฟังอย่างมาก ทั้งในแง่ของเนื้อเสียง รายละเอียดและไดนามิก เสียงร้องไม่ได้จม แต่ผลักให้เสียงร้องมีความโดดเด่นน่าฟัง ใครกำลังมองหาลำโพงที่ให้เสียงร้องที่น่าฟัง Enigma AP1 คือหนึ่งในลำโพงที่ให้เสียงร้องน่าฟังมากๆ เพราะนี่คือลำโพงวางขาตั้งที่ให้เสียงร้องออกมาชัดมากๆ ไม่มีเสียงที่อมเนื้อให้หนามากจนเกินไป ถือเป็นลำโพงวางขาตั้งที่ให้เสียงร้องออกมายอดเยี่ยมมาก

            ด้านเนื้อเสียงต่ำ Enigma AP1 ก็ถ่ายทอดออกมาได้ดีทั้งแรงปะทะ ไดนามิก และบรรยากาศ อีกทั้งบรรยากาศและฮาร์โมนิกส์ของย่านความถี่เสียงสูงก็เป็นอะไรที่โดดเด่นอย่างมากเช่นกัน การจัดวางลำโพงการเซ็ตอัพไม่ยุ่งยาก และแอมป์ที่ใช้ขับก็ไม่ต้องกังวลว่าจะหาคู่ได้ยากเช่นกัน จึงเป็นเหตุให้ Enigma AP1 คือลำโพงที่อยากแนะนำเป็นอย่างยิ่งในชั่วโมงนี้ และจะเป็นลำโพงที่หนึ่งในดวงใจไปอีกนานเลยครับ. ADP

ราคา 180,000 บาท

นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท K. Studio จำกัด
โทร.  085-489-7606

SPECIFICATIONS