ธีรวัฒน์

นักเขียน : ธีรวัฒน์ โชติสุต

Group Test ชุดเครื่องเสียงถูกและดี ยังมีอยู่ในโลก

ในการทดสอบเครื่องเสียงแบบจัดชุด มีโอกาส ผสมไม่ลงตัวสูงมาก แต่สำหรับครั้งนี้ อุปกรณ์ทั้งหมด ถูกส่งมาจาก Conice Electronics ซึ่งเป็นตัวแทน จำหน่ายทั้ง NAD และ PSB จึงหมดห่วงไปได้เปลาะ หนึ่งเกี่ยวกับการมิสแมตช์ของอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน จุดประสงค์หลักในการจัดชุดนี้คือ เอาใจสมาชิกชมรม “ฉลากซื้อ ประหยัดทรัพย์” เสียบ้าง หลังจากที่ผม เขียนทดสอบแต่ของแพงราคาหลักแสนมาหลายเพลา แล้ว บัดนี้ สมควรแก่สภาพเศรษฐกิจของสยาม ประเทศที่สุดแสนจะฝืดเคือง มิใยที่ผู้บริหารประเทศ จะพูดกรอกหูอยู่ตลอดเวลาถึงความมั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน แต่เงินในกระเป๋าของเราท่านก็ยังมีอยู่เท่าเดิม จะให้ซื้อแอมป์ตัวละหลายล้าน ลำโพงหลายแสน สายเคเบิลแสนกลางมาใช้ ก็ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะ ไหนจะค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าเทอมลูก เอาเป็นว่า ถ้าคุณไม่ใช่ระดับเศรษฐีมีเงินเป็นร้อยเป็นพันล้าน ผมว่าช่วงนี้คุณคงไม่อยากจะใช้เงินกับสินค้าฟุ่มเฟือย เสียเท่าไหร่หรอก ดังนั้น ชุดเครื่องเสียงสามชิ้นนี้ น่า จะตอบสนองความต้องการของคุณได้ เพราะสนน ราคาของมันคิดรวมๆ แล้ว สี่หมื่นบาทมีทอนเท่านั้น!!! บวกค่าสายลำโพง สายสัญญาณ สายไฟดีๆ อีกสักเส้น เต็มที่ก็ห้าหมื่นบาท (ไม่รวมขาตั้งลำโพง) คุณภาพ เสียงที่ได้รับนั้น ดีอย่างน่าตกใจครับ แน่นอนล่ะว่า มัน คงไปสู้ชุดเครื่องเสียงราคาเป็นแสนเป็นล้านไม่ได้ แต่เมื่อ พิจารณาว่าระดับความแตกต่างกับสัดส่วนของจำนวน เงินที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นแล้ว เป็นอะไรที่น่าคิดมากครับ ว่าเงินแค่สี่ห้าหมื่นนี่ เราควรจะโอเคกับมันแล้วหรือยัง และถ้าหากเพิ่มอุปกรณ์เสริมบางตัวเข้าไปนี่จะช่วยได้ อีกมากน้อยขนาดไหน? มาหาคำตอบกันครับ

เริ่มด้วยสเปกที่สำคัญของอุปกรณ์แต่ละตัวก่อน ครับ

NAD: C 516BEE เป็นรุ่นที่ออกมาแทน 515BEE การใช้งานง่าย ควบคุมด้วยรีโมตคอนโทรล ปิดไฟหน้า ปัดได้ ภาค DAC ใช้ CIRRUS LOGIC Delta/Sigma 24/192 เล่นได้ทั้ง CD, MP3, WMA ขนาดเครื่อง กะทัดรัด กว้าง 435 มม. สูง 70 มม. ลึก 249 มม. หนัก 3.5 กก. ตอบสนองความถี่ 20Hz – 20kHz ที่+/-0.5dB, ความเพี้ยนโดยรวม <0.01%, Channel Separation >90dB, สัญญาณขาออก 2.2 + 0.1 โวลต์

NAD: C 326BEE อินทิเกรตแอมป์ที่สืบทอด ความยอดเยี่ยมมาจากรุ่น 3020 วงจร Power Device ออกแบบโดย Bjorn Erik Edvardsen มีระบบ Distortion Cancelling และที่ ลื มไม่ ได้ คื อSoft Clipping กำลังขับ 50 วัตต์/ข้าง มีช่องเสียบ หูฟัง ปรับทุ้มแหลมได้ หม้อแปลงทอรอยดัล, มีช่อง Subwoofer (Mono) Out, ช่องเสียบสายไฟ IEC ถอดเปลี่ยนได้ กินไฟน้อยมากแค่ >1W ในโหมด สแตนด์บาย

ลำโพง PSB: ALPHA P5 ลำโพงวางขาตั้ง 2 ทาง ตู้เปิด วูฟเฟอร์เส้นผ่าศูนย์กลาง 5” ทวีตเตอร์ อะโนไดซ์อะลูมิเนียม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.75” มีเวฟไกด์ช่วยควบคุมมุมกระจายเสียง ขั้วต่อสาย ลำโพงซิงเกิลไวร์ชุบทอง การตอบสนองความถี่ 55 – 21,000Hz อิมพีแดนซ์ 8 โอห์ม ความไวเฉลี่ย 87dB รองรับกำลังขับ 10 – 90 วัตต์ ทวีตเตอร์วาง อยู่ด้านล่าง วูฟเฟอร์อยู่บน

ในการทดสอบ ผมใช้สายสัญญาณ AUDIO­QUEST KING COBRA (Cryogenic) สายไฟเอซีEntreq เข้าที่อินทิเกรตแอมป์ ลำโพงวางบนขาตั้งไม้ เสาเดี่ยว กรอกทรายละเอียด รองใต้ลำโพงด้วย ทิปโทเตี้ย 3 ตัว โดยหงายเอาปลายแหลมขึ้น ปลั๊กพ่วง FX Audio (ตัวละสามพันกว่าบาท) สายไฟจากปลั๊ก ผนังมาที่ปลั๊กพ่วง Zensonice: Cloud X สายไฟเข้า เครื่องเล่นซีดีนั้นถอดเปลี่ยนไม่ได้ครับ ติดมากับ เครื่องแบบตายตัวเลย แต่ได้ทำการกลับขั้วเช็ก ทิศทางให้ถูกต้องก่อนฟังทดสอบ เพื่อให้เสียงดีที่สุด อย่างที่ควรจะเป็นครับ และแน่นอนว่า การเบิร์นอิน เป็นสิ่งที่ต้องกระทำหลังจากเวลาผ่านไป 20 ชั่วโมง เสียงเริ่มจะเข้าที่ ผ่านไปอีก 10 คราวนี้เสียงนิ่ง ไม่มี การเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นอีก ผมจึงเริ่มฟังทดสอบ จริงจัง เริ่มด้วยเพลงคลาสสิกบรรเลงด้วยเครื่องดนตรี หลายสิบชิ้น แต่ยังไม่ใช่เพลงที่รุนแรงอึกทึกครึกโครม มากนัก เพื่อทดสอบคุณภาพเกี่ยวกับดุลน้ำเสียงของ เครื่องเสียงโดยรวมก่อน บอกได้เลยว่าเซอร์ไพรส์ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเบสคุณภาพที่ชุดเครื่องเสียง ชุดนี้ให้ออกมา มันมีทั้งน้ำหนัก ปริมาณ แรงปะทะ และรายละเอียดที่ดี ฟังเสียงเดินเบสออกมาได้เป็น ทีละโน้ตเลยครับ ในแผ่นที่บันทึกเสียงเบสออกมา หนักหน่วงเป็นลูกใหญ่มาก อย่าง Bella Sonus แทร็กที่ 1 และ 7 ยัง “ควบคุม” ดุลน้ำเสียง และรักษาอาการคงอยู่ของแรงสั่นกระเพื่อม(เบาๆ)ของเบสเอาไว้ได้ เปรียบประดุจว่ากำลังใช้ลำโพงที่มีขนาดไดรเวอร์ใหญ่กว่านี้ พอใช้แผ่นนี้ทดสอบ ผมสงสัยว่าตัวตู้ลำโพง PSB P5 จะสั่นมากไหม เลยเอามือไปจับตู้ลำโพงขณะทีเปิดเพลงอยู่ ผลปรากฏว่า ผมรู้สึกว่าตู้มันสั่นจริง แต่ถ้าหากเราพยายามจะหยุดความสั่นนั้นด้วยการจับตู้ลำโพงไว้แน่นๆ กลับกลายเป็นว่าเสียงแย่ลง ตรงนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกประหลาดใจเลยครับ เพราะลำโพงหลายต่อหลายยี่ห้อก็ถูกออกแบบมาให้ตู้ลำโพงสั่น เพื่อสร้างเรโซแนนซ์มาเสริมกับเสียงหลักที่กำเนิดมาจากตัวไดรเวอร์ ซึ่งลำโพงประเภทนี้จะมีผนังตู้ที่ไม่หนาและแข็งแรงมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นลำโพง PSB ที่ Paul Barton ซึ่งเป็นผู้ออกแบบลำโพงที่เก่งกาจมากที่สุดคนหนึ่งในโลก ออกแบบแล้ว รับประกันได้ครับ

สำหรับการทำลำโพงให้ทวีตเตอร์วางอยู่ล่างวูฟเฟอร์อยู่ข้างบน เพื่อให้ลำโพงส่งเสียงได้ดี ไม่ว่าจะวางแบบ ON หรือ OFF Axis ก็ตาม เรื่องแบบนี้ ผมว่านักออกแบบลำโพงทุกคนทราบหมด แต่การจะทำออกมาให้ได้เสียงพอดีๆ นั้น ไม่ง่ายครับ

ผลจากการทดสอบ ลำโพง PSB: Alpha P5 ทำได้ดีจริงครับ ไม่น่าเชื่อว่า เงินไม่ถึงหมื่นสามารถซื้อลำโพงที่ให้เสียงดีแบบนี้ได้ ข้อติติงคงมีอยู่เพียงประการเดียวคือ วัสดุที่ใช้นั้นดูธรรมดาไปหน่อย ผิวของลำโพงไม่ใช่ผิวไม้แท้ ขั้วต่อหน้าตาธรรมดา ตัวตู้สี่เหลี่ยมอนุรักษนิยม แต่รับรองว่าพอฟังเสียงแล้วคุณจะลืมเรื่องนี้ไปได้เลยครับ

คุณสมบัติเสียงกลาง โฟกัสดี ชัดเจน ยังไม่ถึงขนาดขึ้นขอบ การฟังแบบ Near-field โดยไม่โทอินลำโพงดูจะลงตัวที่สุด ฟังเสียงร้องรู้สึกว่ามีความชัดและนิ่ม อาจจะเป็นผลมาจากแอมป์ที่ใช้ส่วนหนึ่งด้วย ผมได้ยินรายละเอียดที่ครบถ้วน ไม่มีอะไรตกหล่นเลยครับ บุคลิกของเสียงกลางในชุดนี้ยืนคนละมุมกับความอิ่มหวานหนานุ่มครับ ผมว่ามันให้เสียงกลางที่ใกล้เคียงความเป็นจริง ทิ้งรอยต่างๆ ไว้บริเวณขอบเสียง ชนิดที่ไม่ถึงกับนวลเนียนละเอียด หากแต่มีความเปิดเผยแบบที่ไม่ได้เอาใจหู ที่จะฟังเพลงอะไรก็ออกแนวนุ่มหวานไปหมดคุณสมบัติทางด้านเสียงแหลม ผลการรวมตัวของอุปกรณ์ทั้งสามชิ้น เสียงแหลมยังไม่ใช่จุดเด่น แล้วก็ไม่ใช่จุดด้อย มันออกมากลางๆ กั๊กๆ หน่อย จะว่าฟังง่ายก็ใช่ครับ คือในส่วนของ Resolution นั้น ยังมีปรากฏออกมาครบถ้วนกระบวนความ แต่ยังไม่แสดงความพิเศษออกมาให้ถึงกับตาถลนหล่นออกมาจากเบ้าอะไรแบบนั้น

เสียงเครื่องเคาะโลหะ Roll off เร็ว และให้มวลเสียงไม่เข้มข้นเท่าไหร่ เดาว่าถ้าใช้เครื่องเล่นซีดี รุ่นใหญ่ขึ้นหน่อย อย่าง NAD 540 น่าจะช่วยได้อีกเยอะครับ

คุณสมบัติทางด้านไดนามิกสอบผ่านครับ สวิงได้กว้างตลอดย่าน ส่วนคอนทราสต์ยังไม่ค่อยจะออกลีลาท่าทางสักเท่าไหร่ อิมเมจและซาวด์สเตจนั้นดีจนต้องเขียนถึงเลย กล่าวคือ ในประการแรก… อิมเมจมีสเกลที่ไม่ได้เล็กตามตัวดอกลำโพงไปด้วย ประการที่สอง… การขึ้นรูปของมัน แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นหลุดลอยออกมาจากฉากหลังเป็นสามมิติ แต่ต้องยอมรับว่า มันให้ความรู้สึกเป็นที่เป็นทาง อะไรวางอยู่ตรงไหน ชนิดที่ไม่ต้องเพ่งพินิจกันมากก็รับรู้ได้แล้ว รูปวงจะโดดเด่นไปในแนวกว้างมากกว่าแนวลึกครับ

ผมลองฟังแผ่นซีดี อัลบั้ม 13 สามเสน เวอร์ชั่น 1:1 Direct from Master (แผ่นทองไครโอเจนิก) เพลง “เดิน” เสียงกระดิ่งผูกคอวัว แพนจากซ้ายไปขวาอย่างต่อเนื่อง ลอยตัวออกมาจากตู้ลำโพงได้ เสียงดีดสายกีตาร์ในเพลงอื่นๆ ชัด มีความเป็นเป็นธรรมชาติ และให้อารมณ์เพลงได้ดีมาก เอาใหม่ คราวนี้ผมลองเล่นแผ่นซีดี Commercial ยุคใหม่ๆ อย่างแผ่นของ John Mayer และ Bruno Mars พบว่าเข้ากันได้ดีมาก แผ่นพวกนี้บันทึกเสียงมาค่อนข้างแรง เน้นหัวเสียงชัดเจน ไดนามิกไม่ได้กว้างมาก ในขณะที่แหลมตื้นๆ จะมีปริมาณค่อนข้างมาก เมื่อนำมาเล่นในชุดที่ให้เสียงแบบเป็นกลางอย่างชุดที่ทดสอบนี้ จึงได้ผลออกมาชนิดที่น่าพอใจ

เมื่อทดสอบแบบไม่ใช้อุปกรณ์เสริมไปแล้ว ผมเกิดความสนใจใคร่รู้ว่า เครื่องเสียงชุดนี้เมื่อใส่อุปกรณ์เสริมเข้าไป มันจะช่วยยกระดับเสียงขึ้นไปได้อีกแค่ไหน อย่างแรกเลย ผมนำเอา Footers ของ HiFi Stay รุ่น Soft Jelly 3 ลูก มารองใต้เครื่องเล่นซีดี NAD C 516BEE (หน้า 1 หลัง 2) เสียงมาอีกประมาณ 20% ทั้งเบสทั้งแหลมดีขึ้น เวทีเสียงยกตัวลอยเหนือลำโพง อิมเมจหลุดตู้ขาดเลยครับ ขั้นต่อไปผมนำเอาแผ่นทับเครื่องของ XAV ที่ทำขายมานานจนเลิกทำไปแล้ว มาวางทับบนอินทิเกรตแอมป์ NAD C 326BEE ได้แบ็กกราวด์สงัด รู้สึกว่าสนามเสียงต่างๆ ได้ยินชัดเจนขึ้น ที่น่าพอใจสุดคือ ไดนามิกคอนทราสต์ดีขึ้นครับ

ที่จริงผมแอบทดลองเปลี่ยนสายลำโพงคุณภาพสูงเข้าไปด้วย แต่เนื่องจากราคาของมัยไปไกลเกินกว่าอุปกรณ์หลักๆ รวมกัน เลยขออนุญาตไม่เขียนถึง เอาเป็นว่า ชุดเครื่องเสียงชุดนี้ “ขุน” ขึ้นจริงๆ เนื่องจากพื้นฐานของเขาดีอยู่แล้ว การเพิ่มนู่นเติมนี่เข้าไปจึงช่วยให้คุณภาพเสียงพัฒนาขึ้นในทางที่ดี ชนิดที่ว่าต่อไปได้เรื่อยๆ จนวันหนึ่งคุณอาจจะใจกล้าขนาดควักแอมป์ออกมาโมดิฟายนั่นแหละครับ แต่ถ้าไม่อยากยุ่งยากมาก เอาแค่ 3 ชิ้น สแตนดาร์ด บวกกับสายไฟ สายสัญญาณ และสายลำโพง ที่ดีปานกลาง ก็สามารถตอบโจทย์ของชุดเล็ก แต่ให้ความพอใจสูงได้แล้ว. ADP

นิตยสาร Audiophile Videophile ฉบับที่ 266